สารจากศาสตราจารย์ Jean-Louis Armand
อธิการบดี
สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย

     เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณแด่ ฯพณฯ นายอานันท์ ปันยารชุน เนื่องในโอกาสที่ ฯพณฯ ได้ให้เกียรติแก่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) รับดำรงตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการอำนวยการของสถาบันฯ ทางสถาบันมีความภูมิใจและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้พัฒนาเว็บไซต์แห่งนี้ มอบแด่ ฯพณฯ อันจะยังประโยชน์ใน การเผยแพร่ผลงาน ความสำเร็จ และความอุทิศตน ที่ ฯพณฯ มีให้ทั้งภาครัฐและเอกชน

     ฯพณฯ นายอานันท์ ปันยารชุน ได้รับเลือกเข้าดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการอำนวยการสถาบันฯ เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๓ โดยเป็นการดำรงตำแหน่งต่อจาก หม่อมหลวงพีรพงษ์ เกษมศรี อดีตราชเลขานุการส่วนพระองค์ในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ฯพณฯ นายอานันท์ ปันยารชุน นับเป็นประธาน คณะกรรมการอำนวยการคนที่ ๖ ของสถาบันฯ โดยผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการอำนวยการสถาบันฯในอดีตมีลำดับดังนี้ ฯพณฯ ดร.พจน์ สารสิน, ศาสตราจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์, ศาสตราจารย์ออสการ์ มาปัว, ฯพณฯ ดร.ถนัด คอมันตร์ และ หม่อมหลวงพีรพงษ์ เกษมศรี

     ฯพณฯ นายอานันท์ มีความสัมพันธ์กับสถาบันมาเป็นเวลานาน นับตั้งแต่ปี ๒๕๐๑ ซึ่งสถาบันยังมีฐานะเป็นวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาวิศวกรรมศาสตร์แห่งองค์การ สนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีโต้ หรือ สปอ.) และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ฯพณฯ ได้เดินอยู่เคียงข้างความก้าวหน้าของสถาบันโดยให้ความ ร่วมมือในกิจการต่าง ๆ ของสถาบันอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ชื่อเสียง และความเป็นเลิศทางวิชาการของเอไอที แม้ว่ายังมีหน้าที่ รับผิดชอบอีกเป็นจำนวนมากทั้งกิจการในประเทศและต่างประเทศ ฯพณฯ นายอานันท์ได้เคยกล่าวไว้ว่า เอไอทีไม่พึงทะเยอทะยานเพื่อเป็นดั่งเอ็มไอที (สถาบัน เทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซต) เนื่องจากเอไอทีไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะใช้สอยในการนั้นได้ เอไอทีต้องพัฒนาในทิศทางของตนเองโดยอิงกับข้อเด่นที่สถาบันมีอยู่ เอไอทีจะต้องมุ่งสู่ความเป็นเลิศ ทั้งในทางวิชาการ และทางการบริหาร แม้ว่าจะมีทรัพยากรจำกัด อีกทั้งยังมุ่งที่จะเป็นสถาบันด้านเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย เพื่อการนี้สถาบันจะต้องระบุปัญหาเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายให้แน่ชัดและหาแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างเร่งด่วน เราทุกคนจำเป็นต้องทบทวนสิ่งที่เราได้ทำมาใน อดีตและสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และนำข้อคิดที่ได้มาใช้ปรับปรุงการทำงานและหน้าที่ความรับผิดชอบที่มีต่อเอไอทีและอนาคตของสถาบันเสียโดยร่วมแรงร่วมใจกัน

    ภายใต้การนำของ ฯพณฯ นายอานันท์ ปันยารชุน ทางสถาบันได้มีการปรับโครงสร้าง และองค์ประกอบของคณะกรรมการอำนวยการสถาบันเพื่อให้เกิดความ เหมาะสม ปัจจุบัน เอไอทีสามารถยืนหยัดในฐานะสถาบันระดับนานาชาติได้อีกครั้ง เทียบได้กับเมื่อครั้งก่อตั้งสถาบันเอไอทีในปี ๒๕๐๔ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศของประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้งสถาบันทั้งแปดประเทศ ได้เข้าร่วมพิธีมอบปริญญาบัตรครั้งแรก ในฐานะสถาบันอิสระเพื่อการศึกษาในระดับสูงของภูมิภาค เอเชีย สถาบันฯ ได้เน้นความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภูมิภาค ภารกิจของสถาบันฯ คือสนองความจำเป็นเร่งด่วนของภูมิภาค และการพัฒนาทรัพยากรบุคคลตลอดจนงานวิจัยต่างๆเพื่อสนับสนุนการพัฒนาภูมิภาค เอไอทีได้ทบทวนบทบาทและมี เป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางทางวิชาการระหว่างภูมิภาคเอเชียกับสถาบันชั้นนำหลาย ๆ แห่งทั่วโลก โดยการดำเนินการยังคงเน้นที่ความต้องการที่แท้จริงของภูมิภาค และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ด้วยคณาจารย์กว่า ๒๐๐ คนจากนานาประเทศ เอไอทีได้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายทางวิชาการระดับนานาชาติโดยผ่านทางการแลกเปลี่ยน คณาจารย์และนักศึกษา ตลอดจนโครงการปริญญาคู่ควบ (dual degree programs) กับสถาบันชั้นนำทั่วโลก

    สถาบันเอไอทีได้เจริญเติบโตขึ้นอย่างสง่างาม พร้อมกันนั้นได้สร้างสมเกียรติประวัติอันน่าภาคภูมิใจในการให้บริการแก่ภูมิภาคเอเชียตลอดช่วงเวลาสี่ทศวรรษที่ผ่าน มา อันเป็นช่วงเวลาที่ระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก สถาบันสามารถก้าวทันความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้เป็นอย่างดี และยังคงดำรงฐานะ สถาบันที่ได้รับความเชื่อถือในการตอบสนองความต้องการของภูมิภาค ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเอไอทีได้แสดงให้เห็นว่าสถาบันสามารถที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทาย ใหม่ ๆ และสามารถพัฒนาตนเองให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วยิ่งได้ การกำหนดบทบาทและทิศทางของสถาบันในอนาคต จะต้องคำนึงถึงการศึกษา ในสาขาเทคโนโลยีที่กว้างขึ้นในภูมิภาคนี้ โดยสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันชั้นนำแห่งอื่น ๆ แนวทางที่เปลี่ยนไปนี้จะขยายโอกาสในการทำงานร่วมกัน อย่างแข็งขันกับมหาวิทยาลัยและสถาบันเหล่านั้นเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาในภูมิภาค

    ความเติบโตของการเรียนการสอน การวิจัย ตลอดจนโครงการความช่วยเหลือต่าง ๆ ของเอไอที สามารถเห็นได้ชัดเจนจากการขยายตัวครอบคลุมพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ นับตั้งแต่ผู้สำเร็จการศึกษารุ่นแรกจำนวนแปดคนของสถาบันในปี ๒๕๐๔ เป็นต้นมา จนกระทั่งวันนี้ เอไอทีได้ผลิตผู้สำเร็จการศึกษาซึ่งมาจากประเทศต่างๆทั่วโลก มากกว่า ๑๐,๐๐๐ คน ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีตำแหน่งสำคัญในภาคราชการ ภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนในภาคการศึกษา เอไอทีมีความพึงพอใจ เป็นอย่างยิ่งกับการที่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันฯ มากกว่าร้อยละ ๙๐ อาศัยและทำงานอยู่ในภูมิภาคเอเชีย

    สุดท้ายนี้ ในนามของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ขอถือโอกาสนี้แสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่ง ราชอาณาจักรไทย ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ในอันที่ได้ทรงอุปถัมภ์สถาบันด้วยดียิ่งเสมอมา นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสถาบัน อันทำให้สถาบันฯ สามารถก้าว ไปสู่การเป็นสถาบันการศึกษาระดับสูงของประเทศไทยและภูมิภาคที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติในปัจจุบัน

ศาสตราจารย์ Jean-Louis Armand
อธิการบดี
สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย