รวมปาฐกถาพิเศษ

เรื่อง "ห่วงใยสังคมและสิ่งแวดล้อม…ภาพลักษณ์ใหม่ของธุรกิจไทย"

โดย ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน
ประธานสภาสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
เนื่องในงาน Dinner Talk วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2549
ณ ห้องคอนเวนชั่นเซนเตอร์ โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ

ในปัจจุบัน เราต้องยอมรับว่าประชาคมโลกกำลังเผชิญกับปัญหาจากการพัฒนาที่ขาดสมดุลซึ่งเป็นผลพวงจากการมุ่งพัฒนา ในเชิงเดี่ยวที่ให้ความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียว โดยมุ่งหวังเพื่อให้ปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาด้านอื่นๆ ตามมา แต่ความเป็นจริงเกิดผลในทางตรงกันข้าม เมื่อมองไปรอบๆ ตัวเราจะเห็นได้ว่าโลกกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตทั้งทางด้านสังคม จริยธรรม หรือแม้แต่วิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์เราเองทั้งสิ้น

ถ้าเรามองย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรม กรอบแนวคิดในการพัฒนาที่มุ่งให้เกิดความมั่งคั่งร่ำรวย ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันของโลกตะวันตกที่หล่อหลอมมาจากปรัชญาและประวัติศาสตร์ที่พัฒนามาเป็นลำดับ ทำให้มนุษย์ต้องการชีวิตที่สุขสบาย มีเสรีภาพในการแสวงหาความมั่งคั่งร่ำรวยโดยอาศัยความก้าวหน้าทางวิทยาการ ทำให้การผลิตเพื่อยังชีพเปลี่ยนไปเป็นการผลิตเพื่อการค้า ในขณะเดียวกันรูปแบบการผลิตในแบบอุตสาหกรรมได้ผลักดันให้มนุษย์คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ขึ้นมาเพื่อตอบสนองให้ทันต่อการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคการผลิต ทำให้มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้มากขึ้นและเร็วขึ้น เรามีเครื่องมือที่ใช้ตัดไม้ทำลายป่าได้เร็วขึ้น เทคโนโลยีการขุดเจาะทำให้เรานำน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมาใช้ได้อย่างสะดวกสบายเพิ่มขึ้น ปัจจุบันปริมาณการใช้น้ำมันของโลกเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับเมื่อ 50 ปีที่แล้ว1 การใช้อย่างสิ้นเปลืองประกอบกับวิกฤตราคาน้ำมันทั่วโลกซึ่งตอนนี้ราคาเพิ่มขึ้นกว่า 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว นับเป็นบทเรียนให้เราได้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติให้มากขึ้น

เนื่องจากปัจจุบันพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ถูกนำมาใช้อย่างสิ้นเปลืองเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการที่ไม่รู้จบสิ้นของมนุษย์ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเรากำลังหยิบยืมทรัพยากรของรุ่นลูกรุ่นหลานมาใช้ เหมือนการกู้ยืมเงินกองทุนมาใช้ ถ้าเราสามารถบริหารจัดการเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เราก็จะสามารถนำเงินนั้นกลับคืนกองทุนเพื่อให้ผู้อื่นกู้ยืมนำไปใช้เป็นทุนต่อได้อย่างยั่งยืน แต่ถ้าทุกคนที่กู้ยืมเงินมาบริหารขาดทุนไม่มีเงินคืนให้กองทุน นอกจากเราจะเดือดร้อนเป็นหนี้สินแล้ว ยังทำให้กองทุนขาดเงินหมุนเวียนให้กู้ยืมต่อไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติก็เช่นกัน ถ้าเรายังใช้อย่างไม่รู้คุณค่า ใช้อย่างฟุ่มเฟือยและขาดประสิทธิภาพ เราจะไม่หลงเหลืออะไรไว้ให้ลูกหลานของเราในอนาคต

นอกจากนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาที่ผ่านมามิใช่มีเพียงต่อปริมาณของทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังลดลงอย่างรวดเร็วเท่านั้น แต่วิถีบริโภคนิยมบนพื้นฐานของการเบียดเบียนฐานทรัพยากร ยังได้เข้าไปทำลายถึงรากฐานความสัมพันธ์ขององค์ประกอบย่อยต่างๆ ในระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกันอยู่อย่างสลับซับซ้อนให้เสียสมดุลจนยากที่จะฟื้นคืนดังเดิม เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ในศตวรรษที่ 20 นั้นโลกเรามีอุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ย 0.6 องศาเซลเซียส มีการคาดการณ์ว่าหากเรายังไม่ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศแล้ว ในศตวรรษที่ 21 อุณหภูมิจะสูงขึ้นอีก 1.4-5.8 องศาเซลเซียส2 อุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทั้งการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล ภาวะความแห้งแล้ง พายุฝน น้ำท่วม ซึ่งระบบนิเวศได้ส่งสัญญาณเตือนเรามาหลายครั้งหลายหนแล้ว ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราจะสังเกตได้ว่า โลกเราเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งพายุไต้ฝุ่นที่พัดถล่มหลายประเทศในภูมิภาคเอเซีย หรือพายุแคทรีน่าที่สหรัฐอเมริกาที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล ซึ่งภัยพิบัติเหล่านี้เชื่อว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกนั่นเอง

ปัญหาดังกล่าวนั้นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าผลร้ายการพัฒนาที่ขาดสมดุลนั้นกำลังย้อนกลับมาทำร้ายเรา หากเรายังคงติดอยู่กับกับดักของ การพัฒนาที่หลงทาง ปัญหาเหล่านี้ก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยเองก็หนีไม่พ้นกับดักของการพัฒนาที่ขาดสมดุลดังกล่าว โดยภาครัฐได้มุ่งเน้นการพัฒนาโดยยึดถือวิถีชีวิตที่หรูหราทันสมัยของประเทศพัฒนาแล้วมาเป็นแบบอย่างที่ต้องพัฒนาตามให้ทัน ทั้งความมั่งคั่งร่ำรวยและสะดวกสบายเพียบพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีและเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ในระยะของ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 จนสิ้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 จึงมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดในช่วงนั้น ทำให้เราได้เห็นอัตรา การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) เป็นตัวเลข 2 หลัก เช่น ในระยะของแผนที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ GDP ของประเทศมีการเติบโตถึงร้อยละ 10-11

แนวโน้มการพัฒนาดังกล่าว ทำให้เกิดปรับเปลี่ยนโฉมหน้าของภาคอุตสาหกรรมของไทยจากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าไปสู่การผลิตที่ มุ่งเน้นการส่งออก ประเทศไทยได้เน้นการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมเพื่อก้าวไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม โดยให้ความสำคัญต่อกลไกตลาดเสรีและการลงทุนจากต่างประเทศ เงินทุนจำนวนมหาศาลถูกนำไปใช้ในธุรกิจที่สามารถทำกำไรสูงและคืนทุนเร็ว เช่น ตลาดหุ้น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการสร้างสินเชื่อ ตลาดหุ้นไทยเคยมีอัตราการซื้อขายสูงถึง 1,700 จุด จนกระทั่งถึงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540

การพัฒนาประเทศในลักษณะที่พึ่งพาต่างประเทศจนสุดตัวโดยอาศัยการใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรและแรงงานเช่นนี้ ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศถูกใช้ไปอย่างมหาศาลเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและตอบสนองความต้องการของตลาด ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบนิเวศธรรมชาติอย่างประมาณค่าไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันก็สร้างมลภาวะที่ส่งผลกระทบต่อ คุณภาพชีวิตของประชาชนโดยตรง จนกลายเป็นวิกฤติทั้งในด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้ว่าในภาพรวมนั้นดูเหมือนว่าประเทศของเรามีการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่เมื่อพิจารณาให้ดี จะพบว่าความร่ำรวยนี้อยู่ในมือของคนจำนวนน้อยเท่านั้น ในขณะที่คนส่วนใหญ่ยังคงตกอยู่ในความยากจนและขาดแคลน ความแตกต่างระหว่างคนรวยและคนจนนั้นกลับยิ่งเพิ่มมากขึ้น ทุกวัน หรืออาจกล่าวในอีกนัยหนึ่งคือคนรวยนั้นรวยยิ่งขึ้นในขณะที่คนจนนั้นกลับยิ่งจนลง เนื่องจากประชากรที่ร่ำรวยนั้นเป็นเจ้าของทรัพย์สินส่วนใหญ่ในประเทศ มีอำนาจในการปกครอง มีโอกาสและศักยภาพในการเข้าถึงทรัพยากร

โดยเฉพาะที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งก็คือ คนที่มีความสามารถและศักยภาพแต่ขาดจริยธรรม ใช้ความสามารถเพื่อสร้างความร่ำรวยให้ตนเอง โดยมองแต่ ผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่จะยิ่งทำให้ช่องว่างของสังคมขยายกว้างออกไปทุกขณะ และนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน

จากบทเรียนของการพัฒนาที่ขาดดุลยภาพ การพัฒนาในระยะหลังจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งดำรงไว้ซึ่งสมดุลทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ระยะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 ซึ่งผมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งให้ความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยได้มีการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 เพื่อให้การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกับได้จัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมขึ้นเพื่อสนับสนุนกิจกรรมด้านนี้อีกด้วย

ในขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ได้มุ่งเน้นการพัฒนาคนซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมโดยมีคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เพื่อพัฒนาให้คนมีคุณธรรมจริยธรรม รวมทั้งรู้จักและเคารพในสิทธิหน้าที่ของตนและผู้อื่น โดยมองประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความสามัคคีและลดกระแสความขัดแย้งในสังคม จนกระทั่งในปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 ซึ่งได้อัญเชิญแนวพระราชดำริในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบในการพัฒนา เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันตัวเองและสร้างระบบสังคมและเศรษฐกิจที่พึ่งพาตัวเองได้ โดยการพัฒนาดังกล่าวจะต้องอยู่บนพื้นฐานของสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์และระบบนิเวศด้วย

การปรับทิศทางในการพัฒนาประเทศในระยะที่ผ่านมาทำให้ระดับการพัฒนาในมิติต่างๆ มีความสมดุลมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการยกระดับ การพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศ จากการศึกษาดัชนีการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยในปี 2548 พบว่า ในภาพรวมการพัฒนามิติสิ่งแวดล้อมมี แนวโน้มที่ดีขึ้น แม้ว่าปัญหาจะยังอยู่ในภาวะวิกฤตแต่ลดความรุนแรงลง สำหรับมิติด้านสังคมนั้นพบว่า ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ยังมีความก้าวหน้าในการพัฒนาศักยภาพมนุษย์และการสร้างการมีส่วนร่วมไม่มากเท่าที่ควร ในขณะที่มิติเศรษฐกิจในระดับมหภาคนั้นมีเสถียรภาพ แต่คุณภาพการเติบโตภายในประเทศและการกระจายรายได้ยังมีแนวโน้มไม่ดีนัก ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องที่เราทุกคนจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน

การพัฒนาเพื่อคงไว้ซึ่งสมดุลของคุณภาพสิ่งแวดล้อม การเติบโตด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นมิอาจเกิดขึ้นได้เลย หากไม่มีการจัดระบบสัมพันธภาพของอำนาจ ความรู้และฐานทรัพยากรอย่างเหมาะสมระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชนและภาคธุรกิจ เพื่อให้การวางรากฐานการพัฒนามีดุลยภาพ เสมอภาคและยั่งยืนได้ระยะยาว ดังนั้น ภาคธุรกิจเองนั้นจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศในกรอบของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในฐานะที่ผมเองก็อยู่ในภาคธุรกิจ จากทักษะ ประสบการณ์และการปรับตัวเรียนรู้ ทำให้ภาคธุรกิจไทยสามารถพัฒนาตนเองมีให้มีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง ผมเชื่อในศักยภาพของผู้ประกอบการที่จะแสดงบทบาทนำและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ

จากกระแสของการพัฒนาที่ยั่งยืนในสังคมโลก ปัจจุบันกระแสของการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความคิดที่เน้นผลกำไรเป็นเป้าหมายสูงสุดของการดำเนินธุรกิจได้เริ่มอ่อนแรงลง ระบบเศรษฐกิจที่ยึดถือความคิดนี้เป็นความคิดหลัก จะทำให้ธุรกิจแสวงหากำไรโดยละเลยต่อศีลธรรม จริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในทางกลับกัน กระแสที่เริ่มชัดเจนและทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่ แนวความคิดที่ว่าผลสำเร็จทางธุรกิจนั้นไม่สามารถวัดจากเพียงผลประกอบการ หากองค์กรธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้นจะต้องสามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของสังคมที่มีต่อองค์กรด้วย เนื่องจากธุรกิจที่เอารัดเอาเปรียบนั้นก็ไม่สามารถอยู่ได้ หากได้รับการต่อต้านจากชุมชนและสังคมซึ่งเป็นผู้บริโภค ดังนั้น "ความรับผิดชอบต่อสังคม" จึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นที่ภาคธุรกิจต้องใส่ใจและพัฒนาธุรกิจของตนเองบนพื้นฐานของความรับผิดชอบ เพื่อให้ธุรกิจและสังคมสามารถพัฒนาเติบโตไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน

แนวความคิดเรื่องของธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ปัจจุบันแนวความคิดดังกล่าวได้มีการนำมาปฏิบัติอย่างแพร่หลาย โดยล่าสุดนั้นได้มีการจัดทำร่างมาตรฐาน ISO26000 ซึ่งที่เป็นมาตรฐานเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว และจะมีการนำมาใช้ในเร็วๆ นี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานใหม่ของสังคมธุรกิจโลกที่ต้องดำเนินธุรกิจให้มีความโปร่งใส ชอบธรรมและอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบ

สำหรับประเทศไทยเองนั้น ภาคธุรกิจได้เริ่มแสดงถึงเจตจำนงในการรับผิดชอบต่อสังคมมากมาเป็นเวลานานแล้วเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น คณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไทยหรือ (Thailand Business Council for Sustainable Development: TBCSD) ซึ่งขณะนี้ผมเป็นประธานคณะกรรมการอยู่ โดยคณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไทยนั้นเป็นการรวมตัวขององค์กรธุรกิจชั้นนำเพื่อส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งได้มีการดำเนินงานต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 13 แล้ว โดยเราได้ให้การสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในหลายด้าน เช่น โครงการสนับสนุนการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตรพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการร่วมกับกรมศิลปากร มีเป้าหมายใน การจัดตั้งกองทุนรักษ์อยุธยา เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานอนุรักษ์และพัฒนารวมทั้งร่วมบูรณะโบราณสถานที่ไม่อยู่ในงบประมาณของรัฐบาล การดำเนินการดังกล่าวนั้นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของภาคธุรกิจไทยที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ โดยไม่ต้องรอให้ภาครัฐดำเนินการเพียงฝ่ายเดียวและแสดงถึงความมุ่งมั่นในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่เกื้อหนุนภาคธุรกิจตลอดมา

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลักการของ CSR ได้มีการนำมาปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ แต่คำจำกัดความของ "ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ" นั้นก็ยังมิได้กำหนดแน่ชัดลงไป หรืออีกนัยหนึ่งเราอาจมองได้ว่า แนวทางดังกล่าวนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ในการร้อยเรียงเชื่อมโยงคุณค่าและวิสัยทัศน์ของธุรกิจและสังคมเข้าไว้ด้วยกัน โดยประยุกต์ให้เหมาะสมกับองค์กรธุรกิจและบริบทของสังคม ดังนั้นการดำเนินการด้าน CSR ในองค์กรธุรกิจจึงมีความหลากหลายแตกต่างกันออกไป

หากถามว่า ธุรกิจจะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมบูรณ์ได้อย่างไร? เราอาจพิจารณาจากบันได 3 ขั้น ได้แก่

บันไดขั้นแรก: การพัฒนาตนเองเพื่อดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

บันไดขั้นที่ 2: การสร้างชุมชนน่าอยู่และสังคมเข้มแข็ง และ

บันไดขั้นที่ 3: การใช้สื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ซึ่งจะขอกล่าวในรายละเอียดดังต่อไปนี้

บันไดขั้นแรก: การพัฒนาตนเองเพื่อดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

ธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมนั้นต้องไม่เป็นธุรกิจที่เบียดเบียนสังคมและสิ่งแวดล้อม หากธุรกิจของเรายังคงใช้ทรัพยากรของประเทศอย่างสิ้นเปลืองโดยไม่เห็นความสำคัญ หรือโรงงานของเรายังคงปล่อยมลพิษที่เป็นอันตรายสู่สิ่งแวดล้อมและชุมชน ถึงแม้ว่าเราจะใช้เงินมากมายในการดำเนินกิจกรรมต่อสังคมมากเพียงใดก็ตาม เราคงไม่สามารถกล่าวอ้างได้เต็มปากว่าธุรกิจของเราเป็นธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง ดังนั้นเราจึงต้องเริ่มจากการมองเข้ามาสู่ภายในองค์กรก่อนว่า ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถบูรณาการหลักการของความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าสู่กระบวนการทางธุรกิจของเราได้อย่างเหมาะสม? เพื่อพัฒนาตัวเองให้กระบวนการทางธุรกิจขององค์กรเป็นไปบนพื้นฐานของความยั่งยืนทั้งในด้านธุรกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดลัอมจากกระบวนการทางธุรกิจ ซึ่งสามารถทำได้ในหลายรูปแบบ ทั้งการใช้ระบบการจัดการ ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ISO14000 หรือระบบการจัดการสำหรับโรงงานขนาดกลางและขนาดย่อม (Environmental Management System for Small and Medium-scaled Enterprises: EMS for SMEs)

นอกจากนั้นยังรวมถึงแนวทางการป้องกันมลพิษที่แหล่งกำเนิด เช่น การลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย การลดการใช้น้ำและพลังงาน การปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดของเสีย เป็นต้น โดยการดำเนินการดังกล่าวนี้ไม่เพียงแต่เป็นการลดผลกระทบจากภาคธุรกิจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้วยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและลดการสูญเสียในองค์กรไปพร้อมกันด้วย ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีในการแสดงให้เห็นว่า การดูแลสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ใช่ภาระของผู้ประกอบการ แต่ในทางกลับกัน การดำเนินงานที่ดีนั้นจะให้ผลตอบแทนกลับคืนสู่ผู้ประกอบการด้วย หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการดำเนินการที่ทุกฝ่ายสมประโยชน์ (Win-Win Solution) ซึ่งปัจจุบันภาคธุรกิจจึงมีการตื่นตัวในเรื่องนี้เป็นอย่างมากและได้มีการดำเนินการอย่างแพร่หลาย ทั้งผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นผู้นำในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในการป้องกันมลพิษและลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต เช่น

  • บริษัท Dupont สหรัฐอเมริกา ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการใช้สารเคมีโดยการใช้การล้างหัวฉีดน้ำแรงดันสูงแทนการล้างด้วยสารละลายหรือสารเคมีเป็นพิษ และนำสารละลายและสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่
  • บริษัท Xerox ได้ปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อนำสารที่สกัดจากเปลือกส้มมาใช้แทนสารละลายที่เป็นพิษ

บันไดขั้นที่สอง: การสร้างชุมชนน่าอยู่และสังคมเข้มแข็ง

ปัจจุบันหลายองค์กรโดยเฉพาะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้ก้าวข้ามผ่านบันไดขั้นแรก ซึ่งเป็นการพัฒนาตัวเองให้เป็นองค์กรที่อยู่ร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างสอดคล้องกลมกลืน โดยไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อชุมชนและสังคมแล้ว ในขณะเดียวกันองค์กรเหล่านี้ก็ได้มองออกไปสู่ภายนอกและประสานเชื่อมโยงองค์กรเข้าสู่ชุมชนและสังคม ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญของภาคธุรกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน บนพื้นฐานแนวคิดที่ว่าธุรกิจนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ หากเปรียบองค์กรธุรกิจเป็นเหมือนเรือ ชุมชนและสังคมในฐานะของผู้บริโภคนั้นเปรียบเสมือนกับน้ำที่ช่วยพยุงเรือนั่นเอง ถ้าไม่มีน้ำช่วยหนุนส่ง เรือก็ไม่สามารถแล่นไปได้ ดังนั้น การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและสังคมจึงไม่เพียงแต่ส่งผลดีเพียงการคืนกำไรให้กับสังคมเท่านั้น การดำเนินการดังกล่าวยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาวด้วย

การพัฒนาชุมชนและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม ซึ่งนับเป็นการดำเนินงานที่พัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของการเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างภาคธุรกิจและสังคม เพื่อให้สามารถอยู่การอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งองค์กรธุรกิจหลายแห่งได้แสดงความมุ่งมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมสังคมในหลายรูปแบบ ทั้งการสร้างศักยภาพชุมชนในการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การสร้างเสริมจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน หรือการพัฒนาเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชม เนื่องจากไม่ใช่เพียงแต่เป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม แต่เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างศักยภาพให้กับชุมชน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว ตัวอย่างที่ดีในการทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสังคมนั้น ขอยกตัวอย่างเช่น

  • โครงการลูกโลกสีเขียวของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งสนับสนุนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
  • กิจกรรมเพิ่มผลผลิตการประมงในลำน้ำมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
  • กิจกรรมดูนกของบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
  • โครงการกองทุนสิ่งแวดล้อมของกลุ่มบริษัทโตโยต้า
  • โครงการอนุรักษ์ป่าชายเลนของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นต้น

กิจกรรมดังกล่าวนั้นเป็นตัวอย่างบางส่วนที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพขององค์กรธุรกิจไทย ในการสร้างสรรค์และบูรณาการคุณค่าขององค์กรเข้าสู่บริบทของการเกื้อกูลสังคมได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ หนังสือ "การสร้างสังคมน่าอยู่ => กับการทำธุรกิจกับสิ่งแวดล้อม: ผู้บริหารไทยใส่ใจชุมชนและสิ่งแวดล้อม" ที่อยู่ในมือของท่านในขณะนี้นั้น เป็นหนังสือที่ได้รวบรวมกรณีศึกษาขององค์กรต่างๆ ที่ดำเนินการตามหลักการของธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมที่ประสบความสำเร็จที่อาจจุดประกายการดำเนินงานดังกล่าวให้แพร่หลายได้มากยิ่งขึ้นต่อไป

บันไดขั้นที่สาม: การใช้สื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

นอกจากการดำเนินงานทั้งการปรับปรุงองค์กรและการเชื่อมโยงเข้าสู่ชุมชนแล้ว ในการใช้สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์นั้นก็เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสื่อสารจากองค์กรไปสู่สังคม ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานขององค์กรและแสดงเจตจำนงในการรับผิดชอบต่อสังคมเท่านั้น ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเตือนให้สังคมหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคมให้มากขึ้นด้วย เนื่องจากการใช้สื่อโฆษณาที่สร้างสรรค์สังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กรนั้น นับเป็นการบรรลุประโยชน์ทั้งสองทาง กล่าวคือ สามารถเป็นสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อตอบสนองเป้าหมายในเชิงธุรกิจเพื่อสร้างความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคและสร้างความโดดเด่นเหนือคู่แข่ง แต่เมื่อพิจารณาอีกมุมหนึ่ง เรายังเห็นได้ว่าสื่อโฆษณานั้นยังทำหน้าที่เป็นสื่อแห่งการเรียนรู้ที่เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างแพร่หลายและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากในปัจจุบันเราอยู่ในยุคของข้อมูลข่าวสาร การบริโภคสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์หรือวิทยุจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม ทำให้สื่อประชาสัมพันธ์มีศักยภาพใน การสร้างผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างที่เราคาดไม่ถึง

ดังนั้นการสร้างสรรค์สื่อประชาสัมพันธ์ที่มีคุณภาพจึงเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งสื่อสร้างสรรค์นั้นจะเป็นเสมือน การศึกษานอกโรงเรียนที่นำเสนอข้อมูลและปลูกฝังแนวความคิดที่ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างแนบเนียน ซึ่งผลที่ตามในระยะยาวคือ กลุ่ม ผู้บริโภคมีความตระหนักหรือมีจิตสำนึกในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งเยาวชนไทยที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างรู้คุณค่า ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมจะช่วยขับเคลื่อนให้สังคมตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของตน อันจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ยั่งยืนของทุกภาคส่วนได้ต่อไปในระยะยาว

ท้ายสุดนี้ ผมอยากจะขอย้ำให้เราไม่ลืมจากบทเรียนของการพัฒนาที่ผ่านมาว่า การพัฒนานั้นไม่ได้หมายความถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องพัฒนาทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล คิดว่าถึงเวลาแล้วที่องค์กรธุรกิจของไทยจะต้องสร้างบทบาทนำในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งวางกติกาแห่งจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิสูจน์ว่าการทำธุรกิจที่เคารพในจริยธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงในระยะยาว ไม่ใช่การทำธุรกิจเพียงฉาบฉวยที่เน้นผลกำไรแต่ทำร้ายสังคม ซึ่งถ้าสังคมอยู่ไม่ได้ ธุรกิจจะอยู่ได้อย่างไร?

อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของความมุ่งมั่นและตระหนักต่อความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้ภาคธุรกิจสามารถแสดงศักยภาพในการดำเนินงานที่รับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างเหมาะสมและก่อให้เกิดความเกื้อกูลและสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างธุรกิจกับชุมชนและสังคม ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

ขอบคุณครับ