รวมปาฐกถาภาษาไทยสัมมนาเฉลิมพระเกียรติ
เรื่อง บทวิจารณ์พระราชนิพนธ์พระมหาชนก โดย นายอานันท์
ปันยารชุน วันเสาร์ที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๐ ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน คุณมีชัย วีระไวทยะ
ท่านนายกสภา ได้กล่าวถึงชีวิตของผมในรูปแบบต่าง ๆ ตอนที่แนะนำ เป็นความจริงที่ว่าผมใช้ชีวิตในหลายรูปแบบ
เป็นชีวิตในราชการอยู่ ๒๓ ปี เป็นชีวิตไปทำธุรกิจอยู่ ๑๖ ปี และก็ยังมีอีกชีวิตหนึ่งที่ไม่เคยคาดฝัน
นั่นคือชีวิตในระบอบการเมือง แต่ก็ยังมีอีกชีวิตหนึ่งที่ได้รับอุปโลกน์ให้มาดำรงอยู่
นั่นคือชีวิตของการ เป็นผู้เสนอหรือเป็นผู้วิจารณ์พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในสี่ชีวิตนั้นก็มีความเสี่ยงแตกต่างกันไป แต่ชีวิตที่เสี่ยงมากที่สุดก็คือ
ชีวิตการเป็นนักวิจารณ์พระราชนิพนธ์ของพระมหากษัตริย์ไทย เพราะว่าตั้งแต่เกิดมา ถึงแม้ว่า
จะเป็นคนชอบอ่านหนังสือ แต่ก็ไม่เคยเขียนหรือวิพากษ์วิจารณ์หนังสือของใคร ยิ่งมาได้รับอุปโลกน์ขึ้นมาให้วิจารณ์หนังสือของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว
นั่นอัตราเสี่ยงค่อนข้างจะ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ จะผิดจะถูกอย่างไรก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน
และก็คงจะไม่มีโอกาสทราบได้ว่าสิ่งที่ตัวเองมาเสนอหรือวิจารณ์นั้น เป็นการเสนอ ข้อมูลถูกต้องสมบูรณ์หรือเปล่า
อย่างไรก็ดี เมื่อมาทำหน้าที่นี้แล้วก็พยายามจะใช้ชีวิตตรงนี้ให้คุ้มค่า
หนังสือพระราชนิพนธ์ พระมหาชนก นั้น ผมอยากจะขอเล่าประวัตินิดหนึ่งก็คือว่า
เป็นพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงใช้เวลาค่อนข้างจะนาน และจริงอยู่ตัวพระราชนิพนธ์นั้นไม่ได้มีความยาวหรือสับสนหรือยุ่งยากมากมายแต่ท่านใช้เวลา
๑๙ ปี หลังจากที่ได้ไปฟังพระธรรมเทศนาใน ๑๙ ปี นั้น ใช้ในเรื่องของ การคิดมากกว่าในเรื่องของการประดิษฐ์ถ้อยคำ
ในเรื่องของการทำให้หนังสือนั้นสมบูรณ์แบบ ทั้งในเนื้อเรื่อง เนื้อหา คำพูด รูปภาพ
และสิ่งต่าง ๆ ที่จะมาทำให้หนังสือนี้ มีความขลัง มีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นเรื่องธรรมะที่ใครก็ตามที่อ่านแล้ว
ซึ่งในการอ่านนั้นอาจจะใช้เวลา ๓๔๓๕ นาทีเท่านั้น แต่ถ้าได้อ่านหลาย ๆ ครั้งจะได้ซึมซาบถึง
ทุกแง่ทุกมุมที่พระองค์ท่านได้ทรงประพันธ์ขึ้นมา แล้วไปนึกย้อนหลังถึงพฤติกรรมของพระองค์ท่านที่ได้ครองสิริราชสมบัติมาเป็นเวลา
๕๐ ปี นั้น ใครก็ตามที่ได้อ่าน ๒ ครั้ง ๓ ครั้งแล้ว หรือทุกทีที่กลับมาอ่านใหม่นั้น
ผมคิดว่าคน ๆ นั้นจะได้ข้อมูลอะไรบางอย่าง หรือข้อคิดอะไรบางอย่างที่จะทำให้เราเข้าใจพระเจ้าอยู่หัวของเราดีขึ้น
เราทุกคนทราบดีว่าพระเจ้าอยู่หัวของเรานั้น เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบบรัฐธรรมนูญ
ท่านไม่มีความอิสระในหลาย ๆ ประการที่ประชาชนชาวไทยทั่วไปมี ท่านต้อง ดำรงชีวิตของท่านอยู่อย่างระมัดระวัง
ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถึงแม้พระองค์ท่านจะทรงมีพระราชอำนาจหรือจากที่ได้ทรงมีพระราชจริยาวัตรมา
๕๐ ปีนั้น ได้สร้างสมพระบารมีมาอย่างที่เรียกว่าคนไทยทุกคนยอมรับด้วยความเต็มใจ แต่แม้กระนั้นก็ตามไม่ว่าจะเป็นพระราชอำนาจทางด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ
หรือ พระบารมีที่พระองค์ท่านทรงมีอยู่เหนือหัวจิตหัวใจของคนไทยทั้งหลาย ก็ไม่ใช่เป็นของง่ายนักที่คนไทยจะได้ซาบซึ้งถึงบุคลิกภาพของพระองค์ท่าน
ความคิดความอ่าน ของพระองค์ท่าน
หนังสือเล่มนี้ในสายตาของผม
เป็นหนังสือซึ่งสะท้อนถึงข้อคิด ถึงพระราชจริยาวัตรของพระองค์ท่าน ถึงการกระทำต่าง
ๆ รวมทั้งการปกครองประเทศ และพสกนิกร ของพระองค์ท่าน เราเคยได้ยินถึงทศพิธราชธรรม
อันนั้นเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรานั้นได้ทรงครองราชย์มาด้วยทศพิธราชธรรม
ถ้าเรามองดูเหตุการณ์ต่าง ๆ ระยะ ๕๐ ปีนั้น ภาพจะปรากฏออกมาชัดเจนยิ่งขึ้นว่าสิ่งที่เราพูดว่าทศพิธราชธรรม
ซึ่งบางครั้งมันออกมาในรูปของนามธรรม แต่ถ้าเรา สามารถนำไปโยงในประวัติศาสตร์ ๕๐
ปีที่ผ่านมาเราจะซาบซึ้งมากขึ้นว่า ทศพิธราชธรรมที่เราพูดถึงอยู่นี้ เมื่อออกมาเป็นภาคปฏิบัติแล้ว
และโยงไปกับเหตุการณ์ต่าง ๆ เราก็จะเข้าใจพระองค์ท่านดีขึ้น
การเสนอเรื่องพระราชนิพนธ์พระมหาชนกนี้
ก่อนที่ผมจะพูดในรายละเอียดหรือแสดงความเห็นส่วนตัวในการแปลความหมายต่าง ๆ กระผมอยากจะขออัญเชิญ
พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สื่อมวลชน ตอนที่เปิดตัวพระมหาชนกครั้งแรก ณ ศาลาดุสิดาลัย
สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๓๙ พระองค์ท่านทรงรับสั่งว่า หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยหลายส่วน
ประกอบด้วยส่วนที่เป็นภาษาไทยที่มาจากพระไตรปิฏก ซึ่งเอาตรงมาจากพระไตรปิฏกที่แปลเป็นภาษาไทย
ส่วนที่สองเอามาดัดแปลง เพื่อให้ตัวหนังสือบางอย่างหรือคำบางคำที่ไม่ตรงกับความคิดในสมัยนี้
ก็ได้ดัดแปลงไปบ้าง เป็นภาษาที่อาจจะดูแปลกไปหน่อยในบางส่วน เพราะว่าต้องให้เข้าใจว่าเรื่อง
เป็นเรื่องเก่าโบราณนับเวลาไม่ได้ ภาษาก็จะต้องให้โบราณหรืออาจจะเป็นปริศนาบ้าง ฉะนั้น
ถ้าใครรู้ภาษาอังกฤษ บางทีก็จะต้องมาดูภาษาไทย เพื่อจะให้เข้าใจว่าภาษา อังกฤษเขาว่าอย่างไร
คนที่รู้ภาษาไทยบางทีก็จะต้องไปดูภาษาอังกฤษ จะได้รู้ว่าภาษาไทยเขาว่าอย่างไร
พระองค์ท่านทรงรับสั่งว่า หนังสือเล่มนี้โดยเฉพาะสำหรับศิลปินที่เขียนรูป
และจากรูปของหนังสือนั้น เข้าใจว่าต้องคิดมากและต้องเหน็ดเหนื่อยอย่างมาก เพราะว่า
เป็นงานพิเศษ การแสดงออกมาซึ่งความคิดหลักของชาดกนี้ ชี้ให้เห็นว่าความเพียรต้องมี
และสำคัญที่สุดว่า คนเราจะทำอะไรต้องมีความเพียร แม้จะไม่เห็นฝั่งก็ต้อง ว่ายน้ำต่อไป
และมีคำตอบอยู่ว่าทำไมต้องว่ายน้ำถึงฝั่ง มีประโยชน์อย่างไร มีประโยชน์เพราะว่าถ้าหากไม่เพียรไม่ว่ายน้ำเจ็ดวันเจ็ดคืน
ก็จะไม่ได้พบเทวดา คนอื่นไม่มี ความเพียรที่จะว่ายน้ำก็จม เป็นอาหารของปลาของเต่าไปหมดแล้ว
ฉะนั้น ศูนย์กลางของหนังสือเล่มนี้คือ ความเพียร โดยไม่นึกถึงว่าจะได้ประโยชน์อะไร
หรือได้ผลอะไร
สรุปแล้วพระองค์ท่านรับสั่งว่า
ศูนย์กลางของหนังสือพระราชนิพนธ์เล่มนี้ คือ ความเพียร ความวิริยะอุตสาหะ ที่พระองค์ท่านได้ใช้ปรัชญานี้มาตลอดชีวิตของ
พระองค์ท่าน โดยเฉพาะระหว่างครองราชย์อยู่ ๕๐ ปี เพียรพยายามโดยไม่หวังผลตอบแทน หรือผลประโยชน์อะไร
เพียรพยายามเพราะสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง อันนั้นคือ เป็นลักษณะของผู้นำ ลักษณะของผู้จัดการ
คือทำหรือจัดการให้ถูกต้อง และลักษณะของผู้นำคือทำในสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งใดก็ตามที่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องเป็นเรื่องที่ชอบ
ธรรมสิ่งนั้นก็จะทำไป อย่างที่ได้กล่าวแล้วว่าพระราชนิพนธ์นี้อาศัยข้อมูลจากชาดกเป็นเรื่องของพระพุทธเจ้า
ชาดกนั้นเป็นเรื่องที่เป็นเรื่องราวของพระพุทธเจ้า เมื่อครั้ง เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์
เป็นมนุษย์บ้าง เป็นอมนุษย์บ้าง เทวดาบ้าง สัตว์บ้าง เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมะแก่ผู้ใด
จะยกชาดกซึ่งเป็นนิทานอิงธรรมะมาเล่า เป็นวิธีการสอนแบบอิงนิทานธรรมะแทนที่จะสอนธรรมะโดยตรง
ชาดกนั้นมี ๒ ประเภท ชาดกในนิบาต ชาดกนอกนิบาต ชาดกนั้นมีบทบาทสำคัญในสังคมพุทธศาสนามาตั้งแต่โบราณกาล
ปรากฏหลักฐานในลายปูนปั้นที่เจดีย์ จุลประโทนในนครปฐม และเสมาหินทางภาคอีสาน ในสมัยถัดมาก็พบแผ่นดินจารึกสลักลายเส้นเรื่องชาดก
ที่มณฑปวัดศรีชุม สุโขทัย และลายปูนปั้นที่วิหารวัดไหล่ ลพบุรี ในยุคถัดมาก็พบเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องชาดกต่าง
ๆ สืบมาตามลำดับ รวมทั้งมีประเพณีการสวด ประเพณีการเทศน์มหาชาติ เป็นต้น
ในบรรดานิบาตชาดกทั้งหมด เรื่องพระมหาชนกมีความน่าสนใจ
และแตกต่างจากเรื่องอื่น ๆ ๒ ประการ ประการแรกเป็นเรื่องพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสวยชาติเป็นนาย
วาณิช ซึ่งต้องกระทำกิจการของตนด้วยวิริยะอุตสาหะ และประการที่ ๒ เป็นเรื่องที่กล่าวถึงประเทศสุวรรณภูมิ
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงให้เห็นว่า สุวรรณภูมิคือดินแดนของประเทศไทยในปัจจุบันนั่นเอง
ถ้าพูดถึงเรื่องพระมหาชนกนั้น คำว่า ชนก นั้นแปลว่า
พ่อ ที่ผมเข้าใจว่าในสมัยหนึ่งนั้นเวลาเราพูดถึงพระเจ้าแผ่นดินของเราอย่างพ่อขุนรามคำแหง
และใน ประวัติศาสตร์ของไทยนั้น คำว่า พ่อ หรือพระเจ้าแผ่นดินนั้น ก็คงจะใช้ในความหมายเดียวกันได้
เมื่อตอนที่ผมได้รับมอบหมายให้ไปที่แฟรงเฟิร์ตบุ๊กแฟร์ เมื่อประมาณ ๔-๕ เดือนที่ผ่านมา
เพื่อไปเสนอเรื่องพระมหาชนกนั้น เผอิญหยิบหนังสือบนเครื่องบินการบินไทยฉบับหนึ่ง
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ซึ่งปัจจุบันสยามรัฐนั้น ก็พยายามเอา บทความบทเขียนในอดีตของ
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ มาลงพิมพ์ซ้ำ ซึ่งอ่านแล้วได้ประโยชน์ จะโดยบังเอิญอย่างไรไม่ทราบ
ผมกำลังจะไปเสนอเรื่อง พระมหาชนก ก็ไปอ่าน บทความที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ท่านเคยเขียนไว้
และท่านพูดอยู่ตอนหนึ่งว่ารากภาษาของไทยคือ บาลี สันสกฤต มันก็ใกล้เคียงกับรากภาษาของภาษายุโรป
คำว่า ชนก ซึ่งแปล ว่า พ่อ แต่คำภาษาอังกฤษ คำว่า ชนก ซึ่งแปลว่าพ่อ หรือที่อาจจะหมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน
ชนก ภาษาอังกฤษคือคำว่า King ภาษาเยอรมัน Konig ซึ่งสำเนียงอาจจะ คล้ายคลึงกัน ว่ามาจากรากฐานคำ
ๆ เดียวกัน
พระมหาชนกฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่
๙ มีลักษณะเด่น แตกต่างจากฉบับเดิมหลายประการในข้อแรกก็คือ เป็นการรื้อฟื้นธรรมะเรื่องความเพียรมาแสดงใหม่
เพราะสังคมยุคปัจจุบันค่อนข้างจะย่อหย่อนในเรื่องของความเพียร ในการรื้อฟื้นธรรมะเรื่องความเพียรมาแสดงใหม่นั้น
พระองค์ท่านได้ทรงดัดแปลงเนื้อเรื่องให ้เหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน ทรงปรับปรุงภาษาจากพระอรรถกถาชาดกให้กระชับ
ง่ายต่อการเข้าใจ และอ่านแล้วมีสีสันขึ้น ทรงมีจินตนาการที่นักเขียนพึงมี สร้างสรรค์การ
เดินเรื่องให้ตื่นเต้นน่าอ่าน เช่น กำหนดให้ปูทะเลเป็นผู้ช่วยพระเอก เป็นต้น และเป็นที่มาของมหาวิทยาลัยปูทะเล
อันเทียบได้กับการเพี้ยนเสียงมาจากโพธิยาลัย คือ การรวบรวมเผยแพร่ความรู้ที่วัดโพธิ์
กรุงเทพฯ และยังได้ทรงพิจารณาว่าการสอนธรรมะจะต้องใช้ศิลปินในระดับชาติ ๘-๙ ท่านมาช่วยเขียนภาพประกอบเรื่อง
เป็นศิลปะไทยร่วมสมัยเช่นเดียวกัน ทรงพระราชดำริให้ออกแบบจัดหน้าบทพระราชนิพนธ์เป็นแบบหนังสือเทพนิยายแบบฝรั่ง
มีทั้งความเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และมีรูปภาพประกอบไปตลอด อย่างที่เราดูวีดิทัศน์เมื่อสักครู่นี้เป็นการเล่าเรื่องให้เราฟัง
ภาพจะปรากฏมาอยู่ตลอดเวลา แต่ขณะเดียวกันก็ได้ปรับปรุงให้เป็นศิลปะ ร่วมสมัยเช่นเดียวกัน
ข้อแตกต่างข้อต่อไปคือการแก้ไขปรับปรุงทั้งหมดนั้น
นอกจากจะก่อให้เกิดความรื่นรมย์ในการอ่านแล้ว ยังปรารถนาให้น้อมนำเข้าถึงธรรมะอันเป็นแก่นของหนังสือ
ด้วย หนังสือจึงต้องทำให้เกิดรู้สึกความขลัง และให้มีสัญลักษณ์ยึดเหนี่ยวหากเกิดความท้อแท้
จึงโปรดให้สร้างเหรียญพระมหาชนก เป็นเหรียญคู่หนังสือด้วยเป็น ครั้งแรก และอาจจะเป็นครั้งเดียวที่ทรงประกอบพระราชพิธีชัยมังคลาภิเษกเหรียญศักดิ์สิทธิ์นี้
หนังสือเล่มนี้จึงถึงซึ่งความไพเราะทั้งในภาษา ความงดงามของภาพเขียนประกอบเรื่อง
และในธรรมะที่เป็นแก่นของเรื่อง ซึ่งเทียบได้กับหนังสือศักดิ์สิทธิ์ใน วัฒนธรรมชนชาติต่าง
ๆ และหนังสือนี้ก็จะเป็นหนังสือที่ศักดิ์สิทธิ์ของสังคมไทย ยิ่งไปกว่านั้น พระมหาชนกฉบับพระราชนิพนธ์ยังทรงแสดงให้เห็นว่าเป็นผลงานของ
พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถ
คนไทยส่วนใหญ่มองภาพพระเจ้าอยู่หัวว่าทรงพระปรีชาสามารถในเรื่องต่าง
ๆ ที่โด่งดังเป็นที่ทราบโดยทั่วไปทั้งในและนอกประเทศก็ในเรื่องของเป็นนักปกครอง เป็นช่างภาพ
เป็นนักดนตรี เป็นนักพัฒนา เป็นผู้ที่ทรงรอบรู้ในเรื่องของการเกษตร เรื่องน้ำ เรื่องดิน
เรื่องป่าไม้ ทรงรอบรู้เรื่องการศึกษา สาธารณสุข และอะไรต่อมิอะไร อีกหลายอย่าง
แต่เราไม่ค่อยซาบซึ้งถึงว่าพระองค์ท่านจะทรงมีบทบาททางด้านวรรณกรรม
ไม่ว่าในเรื่องของนายอินทร์ปิดทองหลังพระ หนังสือติโตและในปัจจุบันนี้ก็คือ พระมหาชนกฉบับพระราชนิพนธ์
แต่ความรอบรู้ของพระองค์ท่านนั้นยังแผ่กว้างออกไปอีก ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือฉบับนี้
เช่น การที่ทรงสามารถกำหนดที่ตั้งของเมือง โบราณในวรรณคดีเก่า ผลการวิจัยว่า ระยะทาง
๑ โยชน์ เป็นระยะทางแท้จริงเท่าไหร่กันแน่ โดยคำนวณจากระยะทางระหว่างทางเมืองโบราณเหล่านั้น
เทียบกับมาตรา วัดความยาวของอินเดีย ของไทยและของยุโรป เป็นต้น
แผนที่ฝีพระหัตถ์
๔ แผ่น ที่ทรงเขียนด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นเก่าส่วนพระองค์ แสดงให้เห็นถึงการรอบรู้ในศิลปศาสตร์สำหรับพระมหากษัตริย์
ซึ่งสามารถคำนวณ ทิศทางความเร็วของคลื่นลมและโหราศาสตร์ ทำให้การดำเนินเรื่องพระมหาชนกของพระองค์มีความสมจริงที่สามารถอธิบายให้คนรุ่นใหม่เข้าใจได้
ในฐานะกษัตริย์ แห่งสุวรรณภูมิ ก็ได้ทรงแสดงให้เห็นถึงความเจริญมั่งคั่งของดินแดนแห่งนี้
ซึ่งเป็นที่ปรารถนาไปมาค้าขายของนานาประเทศตั้งแต่สมัยอดีตกาล เชื่อกันว่าใครก็ตามที่มา
ค้าขายกับสุวรรณภูมิแล้วจะร่ำรวยกลับไป ในเนื้อหาพระราชนิพนธ์ก็มีคติธรรมต่าง
ๆ มากมาย ซึ่งผู้อ่านแต่ละท่านย่อมมองเห็นได้หลากหลายต่างกัน อีกทั้งภาษาทั้งใน ๒
ภาษาที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นมา ก็มีศัพท์สำนวนที่น่าประทับใจ มีทั้งคำโบราณและคำสมัยใหม่
บางศัพท์เช่นคำว่า ทักษิณาวัตร ก็ทรงคิดคำภาษาอังกฤษขึ้นมาด้วยพระองค์เองว่า Dexterambulation
แต่ความที่พระองค์ท่านรู้สึกซาบซึ้งในธรรมะของความเพียรพยายามนั้น ก็มีพระราชประสงค์ให้เผยแพร่ธรรมะนี้ไม่ใช่ไปสู่แต่ประชาชนชาวไทยเท่านั้น
แต่ก็อยากที่จะ เห็นว่าให้คนต่างชาตินั้นได้รับรู้ถึงแก่นสารและสาระถึงธรรมะของคนไทย
จึงได้มีพระราชสำนวนเป็นภาษาอังกฤษด้วย และทรงพระราชอักษรเทวนาครี กำกับคาถาบาลี
ทุกคาถา ทำให้เราสามารถเทียบเคียงความหมายของทั้งสองภาษาได้เข้าใจชัดเจน
สิ่งที่ผมกล่าวนั้น เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าทำให้หนังสือหรือพระราชนิพนธ์มีความแตกต่างไปจากชาดกอื่น
ๆ พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก จึงสมควรอย่างยิ่งที่ได้มี การพิมพ์แผยแพร่ในมหามงคลวโรกาสเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษกแห่งรัชกาล
เพราะตลอด ๕๐ ปี แห่งการเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ทรงมีความเพียร
อย่างต่อเนื่องไม่เคยท้อถอย พระวิริยะบารมีของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อมพสกนิกรชาวไทยตลอดมา
เป็นแบบอย่างและเป็นสิริมงคลอย่างยิ่งแก่ ผู้บำเพ็ญปฏิบัติตามความเพียรพยายามที่มีอยู่ในพระองค์ท่าน
อันนั้นคือความเพียรพยายามที่จะให้ประชาราษฎร์ของพระองค์ท่าน ไม่ว่าจะถิ่นฐานใด เชื้อชาติใด
มีความ ผาสุก มีความเจริญโดยอาศัยวิชาการ อาศัยความรู้ อาศัยการเรียนรู้ อาศัยปัญญา
อาศัยสติ ซึ่งจะนำไปสู่ความสงบและความสุขที่แท้จริง
ความเพียรพยายามของพระองค์ท่านนั้น
เป็นความเพียรพยายามที่ไม่เคยปรากฏให้เห็นถึงความท้อถอย เป็นความเพียรพยายามต่อเนื่อง
เป็นความเพียรพยายามใน ทิศทางเดียว เป็นความเพียรพยายามไม่เกียจคร้าน เป็นความเพียรพยายามที่ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างสม่ำเสมอไม่บกพร่อง
เป็นความเพียรพยายามที่มีความเข้มแข็ง ไม่อ่อนแอย่อท้อ เป็นความเพียรพยายามที่สะท้อนถึงความเป็นผู้กล้าหาญ
กระทำในสิ่งที่ควร กระทำในสิ่งที่ชอบธรรม กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง และกระทำอย่างเดียว
เพื่อความผาสุกของประชาราษฎร์ และเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม
|