รวมปาฐกถาภาษาไทย

คำบรรยายพิเศษ
เรื่อง “ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน”
โดย ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน
อดีตนายกรัฐมนตรี
วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๑
กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

ส่วนหนึ่งของ Amartya Sen Lecture Series ว่าด้วย “การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
โดยสมาคม Cambridge สมาคม Oxford และกลุ่ม Harvard แห่งเบลเยียม

 

ท่านศาสตราจารย์ Amartya Sen
คุณ Marc Bihain แห่ง ING Bank,
คุณ Willem Van Der Geest,
แขกผู้มีเกียรติ,
ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ,

     ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนข้อสังเกตเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่ยั่งยืนในเวทีปราศรัยแห่งนี้ ซึ่งตั้งชื่อตามนักปราชญ์ นักคิด และผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ นอกจากนั้นท่านยังได้รับการยกย่องอีกจากผลงานเมื่อไม่กี่ปีที่แล้วในฐานะเป็นประธานร่วม United Nations Panel on Human Security

     ศาสตราจารย์ Sen ได้สร้างแรงบันดาลให้พวกเราทุกคนด้วยการนำเสนอข้อคิดสำคัญๆ ซึ่งให้ความหมายใหม่ต่อมิติเชิงจริยธรรมของปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่เร่งด่วนแห่งยุค

     หนึ่งในข้อคิดที่สำคัญยิ่งของศาสตราจารย์ Sen คือเรื่อง สมรรถนะ ซึ่งจัดให้เสรีภาพของมนุษย์เป็นหัวใจของการวิพากษ์เกี่ยวกับการพัฒนา

     ในเรื่องของประชาธิปไตย ศาสตราจารย์ Sen เคยตั้งข้อสังเกตว่า “ไม่เคยมีทุพภิกขภัยร้ายแรงใดเกิดขึ้นในประเทศที่เป็นเอกราช มีประชาธิปไตย และมีสื่อที่ค่อนข้างเสรี”

     ในยุคปัจจุบัน อันเป็นยุคที่การมุ่งหากำไรมักอยู่เหนือข้อพิจารณาเรื่องความเป็นธรรม ความเท่าเทียม และสิทธิเสรีภาพ แนวคิดของศาสตราจารย์ Sen ว่าด้วยการพัฒนา ซึ่งเกี่ยวโยงกับเสรีภาพของมนุษย์ ความเป็นประชาธิปไตย และสื่อที่เสรี เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมจริงๆ

     เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง นาย Francis Fukuyama ได้เสนอว่าจุดจบของประวัติศาสตร์ใกล้มาถึงแล้ว แต่นี่เวลาได้ล่วงเลยมากกว่า 15 ปีแล้ว ชัยชนะของประชาธิปไตยก็ยังไม่สมบูรณ์

     บางประเทศได้ผันแปรตัวเองไปจากแนวทางประชาธิปไตยเสรีนิยมไปสู่แนวทางที่เป็นอำนาจนิยมมากขึ้น บางรัฐบาลก็ยังคงประสบความสำเร็จพอสมควรในการรักษาระบอบการเมืองที่ปราศจากประชาธิปไตย แต่สามารถตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจของประชาชนได้ ในขณะเดียวกัน หลายประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยก็ยังมีปัญหาด้านความรับผิดชอบต่อประชาชนและธรรมาภิบาล

     เรื่องนี้ถ้ามองอย่างผิวเผิน ก็ออกจะน่าแปลกใจ ประชาธิปไตยมีข้อดีที่เห็นชัดถึงขนาดนี้ไม่น่าจะมีปัญหาในการหยั่งรากลงทั่วโลก แต่สำหรับหลายประเทศ “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” ยังคงเป็นอุดมการณ์ที่ดูเหมือนอยู่แค่เอื้อมแต่ไปไม่ถึงสักที

     ต้นเหตุหลักอยู่ที่การต่อสู้ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง อริสโตเติลเคยประกาศว่า “หากเสรีภาพและความเท่าเทียมดังที่บางคนคิดมีอยู่ในประชาธิปไตยเป็นหลัก มันจะเกิดขึ้นได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อทุกคนเข้าไปมีส่วนร่วมในรัฐบาลมากที่สุด”

     ในยุคปัจจุบัน เราเผชิญคำถามที่สำคัญยิ่ง

  • เหตุใดประชาธิปไตยจึงดูเปราะบางนัก

     มีปัจจัยที่มีจำเป็นอย่างใดบ้างสำหรับประเทศหนึ่งๆ ในการที่จะไปให้ถึงจุดที่สามารถธำรงไว้ซึ่งประชาธิปไตยอย่างยั่งยืนได้ผมขอให้แง่คิดจากประสบการณ์ของผมในการเป็นนายกรัฐมนตรีที่มุ่งมั่นจะสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน

     ผมขอเริ่มด้วยคำพูดของ มหาตมะ คานธี เกี่ยวกับธาตุแท้ของความเป็นประชาธิปไตยว่า “วิญญาณของประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยัดเยียดจากภายนอกได้ แต่เป็นสิ่งที่ต้องมาจากข้างใน“ กล่าวคือประชาชนต้องเป็นผู้ต้องการประชาธิปไตยเอง

     ในยุโรปส่วนใหญ่ วิวัฒนาการของประชาธิปไตยเป็นไปอย่างเชื่องช้าและเลี้ยวลดคดเคี้ยว ประวัติศาสตร์ของยุโรปนั้นเกลื่อนไปด้วยสงครามกลางเมือง การปฏิวัติและระบอบเผด็จการ แต่ประชาธิปไตยก็หยั่งรากจนได้และในปัจจุบันก็ไม่มีระบอบการปกครองอื่นใดมาแข่งขันท้าทายกับประชาธิปไตยได้ในยุโรป

     หากเราถือว่าการให้สิทธิทุกคนลงคะแนนเลือกตั้งเป็นจุดสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตยในโลกตะวันตก เราก็จะพบว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งหมดอย่างกว้างขวางเพิ่งเกิดขึ้นมาแค่ 100 กว่าปีเท่านั้น

     ในกระบวนการวิวัฒนาการทางการเมือง คนเราต้องปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกทั้งปัญหาต่างๆ นานา เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ

     ในระยะยาว ระบอบประชาธิปไตยจะสามารถปรับตัวในกระบวนการวิวัฒนาการได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อมีเสาหลักที่แข็งแรงพอ

     ในยุคปัจจุบันเราอาจเปรียบเทียบประชาธิปไตยได้กับสูตรคำนวณซอฟท์แวร์ที่สามารถผลิตผลลัพธ์ทางการเมืองที่ดีที่สุดสำหรับสังคมใดก็ได้ โค้ดสำหรับซอฟท์แวร์ทางการเมืองนี้เก่าแก่หลายศตวรรษ แต่เพื่อความสะดวกเราอาจถือเอกสารแมกนา คาร์ตา (Magna Carta) ของอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1215 เป็นจุดเริ่มต้น

     เป็นที่เชื่อกันว่าประชาธิปไตยนั้นดีกว่า มั่นคงกว่า มีเหตุมีผลกว่า มีประโยชน์และมีความชอบธรรมมากกว่าระบบการปกครองอื่นใด

     Winston Churchill ได้กล่าวอย่างเหมาะสมว่า “ไม่มีใครเสแสร้งว่าประชาธิปไตยมีความสมบูรณ์หรือดีเลิศประเสริฐศรีไปหมดหรอก จริงๆ แล้ว เคยมีผู้กล่าวว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่เลวที่สุด ถ้าไม่นับระบอบการปกครองอื่นๆ ที่ถูกนำมาทดลองใช้บ้างเป็นครั้งคราว”

     จากประสบการณ์ของผม จำเป็นต้องมีเสาหลักอย่างน้อยจำนวนหนึ่งสำหรับรองรับโครงสร้างพื้นฐานของประชาธิปไตย ถ้าเราคิดจะสร้างสะพานก็ต้องยึดตามหลักวิชาวิศวกรรม แต่การสร้างประชาธิปไตยไม่เหมือนกับการสร้างสะพาน เพราะไม่ใช่วิทยาศาสตร์ แต่เป็นศิลปะของการทำเท่าที่จะทำได้

การศึกษาและการแพร่ความรู้

     ประชาธิปไตยเริ่มต้นด้วยปัญญาของผู้ลงคะแนนเสียง ไม่ว่าปัญญานั้นจะได้มาอย่างไรก็ตาม ที่ผมพูดอย่างนั้นหมายความว่าผู้ลงคะแนนเสียงต้องเข้าใจประเด็นปัญหาที่ตนเผชิญอยู่และทางเลือกที่ตนมี ผู้ลงคะแนนเสียงจะต้องเข้าใจด้วยว่าตนมีหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างไรบ้างภายใต้ระบบประชาธิปไตย และมีหนทางที่จะแสดงออกว่าตนต้องการอะไรในกระบวนการประชาธิปไตย

     หัวใจของประชาธิปไตยจะเต้นได้ก็ด้วยการมีส่วนร่วมของพลเมืองทุกคนในการใช้สิทธิของตน อย่างแรกคือสิทธิในการหยิบยกประเด็นต่างๆ ที่ตนห่วงกังวลให้บรรจุอยู่ในวาระทางการเมือง และอย่างที่สองคือการเลือกคนที่ตนรู้สึกว่าจะตอบสนองข้อห่วงกังวลของตนได้ดีที่สุดในกระบวนการการเมือง

     นอกเหนือจากการทำหน้าที่พลเมืองอย่างรับผิดชอบโดยการลงคะแนนเสียงแล้ว ประชาธิปไตยต้องมีพลเมืองที่มีความรู้เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่ชุมชนและสังคมของตนกำลังเผชิญอยู่ในยุคแห่งโลกาภิวัตน์และอิทัปปัจจยตานี้

     ปัญหาท้าทายอย่างหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศคือการจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้การศึกษาตอบสนองต่อชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันมากขึ้น ให้เปลี่ยนจากการเน้นการท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทองไปสู่การรู้จักคิดอย่างสร้างสรรค์และเป็นตัวของตัวเอง และขยายขอบข่ายโครงการการศึกษาให้ไปถึงเด็กผู้หญิงและสตรีที่ยากจน

     ผมยินดีที่เห็นความก้าวหน้าด้านความเท่าเทียมระหว่างเพศในการส่งเสริมการศึกษาสำหรับทุกคน ความก้าวหน้าเช่นนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีในการสร้างผู้ลงคะแนนเสียงที่มีความรู้จำนวนมากพอที่จะเป็นเชื้อเพลิงให้กระบวนการประชาธิปไตยก้าวหน้าต่อไป

     จุดเด่นอย่างหนึ่งของเอเชียคือเป็นภูมิภาคที่ได้ผลิตสตรีที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลและประมุขรัฐจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยจำนวนไม่น้อย พัฒนาการที่น่ายินดีในไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือความพยายามของเอเชียใต้ที่จะให้มีความเสมอภาคทางเพศในกระบวนการประชิปไตยโดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมาจากการเลือกตั้งมีสัดส่วนหนึ่งเป็นสตรี จึงถึงเวลาแล้วที่ทั้งภูมิภาคจะต้องเร่งรัดส่งเสริมความก้าวหน้าของเด็กผู้หญิงและสตรีเพื่อให้พวกเขามีส่วนร่วมในระดับรากหญ้ากว้างขวางขึ้น

     การศึกษาและการเผยแพร่ความรู้ในฐานะทรัพย์สินสาธารณะเป็นวิธีสำคัญที่ทำให้กระบวนการประชาธิปไตยเป็นพลังเข้มแข็ง ต้านทานไม่ให้ผู้ปกครองประเทศใช้อำนาจในทางที่ผิด

     ในเอเชียเช่นเดียวกับในตะวันตก ประชาธิปไตยไม่ได้มาจากเพียงผ่านหีบเลือกตั้ง การต่อสู้ที่แท้จริงเกิดขึ้นในท้องถนนโดยนักศึกษา ชาวนา แรงงาน และประชาชนทั่วไปที่ออกมาเดินขบวนเพื่อแสดงความไม่พอใจ

     ในเอเชียนี้เอง มหาตมะ คานธีได้พัฒนาแนวคิดการต่อสู้ด้วยสันติวิธีเพื่อเป็นขบวนการเปลี่ยนแปลงการเมือง ในช่วงห้าทศวรรษหลังจากนั้น ก็ได้มีการเดินขบวนประท้วงเกิดขึ้นในสาธารณะรัฐเกาหลี มีพลังประชาชนแผ่กระจายไปทั่วอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และประเทศอื่นๆ เปลวไฟของประชาธิปไตยยังคงส่องสว่างอยู่ในเอเชียใต้ ซึ่งมีจำนวนผู้ลงคะแนนเสียงมากที่สุดและกระตือรือร้นที่สุดในโลก

     เพื่อให้ประชาธิปไตยมีชีวิต ประชาชนต้องอย่าปล่อยตัวเองให้ตั้งอยู่ในความประมาท แต่ละชุมชน แต่ละที่ทำงาน แต่ละโรงเรียน ต้องมีโครงการที่จะส่งเสริมประชาธิปไตยในระดับรากหญ้า

     ผู้มีสิทธิมีเสียงที่ไม่สนใจและนิ่งเฉยย่อมตกเป็นเหยื่ออย่างง่ายดายให้กับกลุ่มจัดตั้งใดๆ ก็ตามที่หวังยึดอำนาจด้วยกำลังหรือการหลอกลวงตบตา ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่เผด็จการเบ็ดเสร็จ

     ในเอเชียส่วนใหญ่ ซึ่งเน้นเรื่องความสามัคคีและการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเป็นค่านิยมสำคัญ สิ่งที่ท้าทายเราคือว่าทำอย่างไรจึงจะยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ การชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสีย และความเห็นที่ไม่ลงรอยกัน โดยถือว่าทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งในการเติบใหญ่ของกระบวนการประชาธิปไตยในบริบทของเอเชีย

เสาหลักของประชาธิปไตย

     ในทัศนะของผม โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของประชาธิปไตยมีเสาหลักอยู่ 7 เสา อันได้แก่ การเลือกตั้ง ขันติธรรมทางการเมือง การปกครองด้วยกฎหมาย เสรีภาพในการแสดงออก ความรับผิดชอบต่อประชาชนและความโปร่งใส การกระจายอำนาจ และประชาสังคม

การเลือกตั้ง

     ก่อนอื่น การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมสร้างความชอบธรรมให้กับประชาธิปไตยโดยป้องกันบุคคลหรือกลุ่มคนเล็กๆ ในสังคมไม่ให้ยัดเยียดผลประโยชน์เฉพาะตัวให้ประชาชนแบกรับ ไม่ควรมีบุคคลใดหรือคนกลุ่มใดมีสิทธิผูกขาดอำนาจเหนือกระบวนการเลือกตั้ง

     พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือสำคัญของระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีแบบแผนพื้นฐานที่เป็นกรอบให้กับชุมชนทางการเมืองและกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ประชาชน และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างศูนย์อำนาจต่างๆ

     ในสังคมประชาธิปไตยพรรคการเมืองสามารถจัดตั้งขึ้นมาและหาเสียงได้โดยปราศจากการข่มขู่คุกคาม บางประเทศกำหนดให้พรรคการเมืองมีเสียงสนับสนุนในระดับหนึ่งเป็นอย่างน้อยก่อนที่จะลงเลือกตั้งได้ ทุกพรรคการเมืองจะต้องได้รับโอกาสใช้สื่อเสรีและวิธีอื่นๆ เพื่อเผยแพร่แนวทางของพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง กระบวนการเลือกตั้งจะต้องได้รับการกำกับดูแล สังเกตการณ์และดำเนินการโดยองค์กรอิสระซึ่งมักจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง

     อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งสามารถโกงกันได้ เสียงก็ซื้อกันได้ และเป็นที่น่าเสียดายที่นักการเมืองที่ลงพื้นที่เฉพาะในช่วงการเลือกตั้งเพื่อสร้างฐานอำนาจและถ่ายภาพกับประชาชน กลายเป็นภาพที่คุ้นเคยกันในหลายประเทศ

     รัฐบาลจะสิ้นสุดความชอบธรรมลงก็ต่อเมื่อไม่สามารถสะท้อนความต้องการของพลเมืองได้ และหากเกิดขึ้นรัฐบาลก็สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่บางครั้งก็อาจใช้กำลังและการข่มขู่คุกคามเพื่อหวังยึดครองอำนาจต่อไป และการเลือกตั้งอาจถูกเลื่อนออกไปหรือบ่อนทำลาย

     ถึงแม้การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่จำเป็นและเป็นมิติที่เห็นชัดที่สุดของระบบประชาธิปไตย แต่ก็ยังคงมีตัวอย่างของการทุจริตในการเลือกตั้งเพื่อส่งเสริมผลักดันการปกครองแบบอัตตาธิปไตยและทรราช ดังนั้นการเลือกตั้งในตัวเองไม่ได้เป็นหลักประกันว่ามีประชาธิปไตย

ขันติธรรมทางการเมือง

     เสาหลักที่สองคือ ขันติธรรมทางการเมือง การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมไม่ได้เป็นการมอบสิทธิให้กดขี่หรือกีดกันกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ลงคะแนนเสียงให้ฝ่ายรัฐบาล และก็ไม่ได้หมายความว่าเสียงข้างมากจะมีสิทธิปล้นสิทธิเสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือชีวิตของเสียงข้างน้อยได้

     ถ้าจะให้ประชาธิปไตยคงอยู่ได้ในระยะยาวก็ต้องมีขันติธรรม ถ้ากลุ่มเสียงข้างน้อยไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างเที่ยงธรรมจากระบวนการการเลือกตั้ง ก็จะไม่สามารถมีความสงบสุขได้ การขาดความสงบสุขจะทำให้ความพยายามทั้งปวงที่จะเป็นประชาธิปไตยไร้ผล

     ในหลายประเทศ มีตัวอย่างของการให้สินรางวัลกับผู้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนพรรครัฐบาล และทอดทิ้งหรือลงโทษผู้ที่ลงคะแนนเสียงให้พรรคฝ่ายตรงข้าม การแจกจ่ายอาหาร น้ำและทรัพยากรต่างๆเพื่อการพัฒนาล้วนเคยถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือควบคุมให้ชนะการเลือกตั้งมาแล้วทั้งสิ้น

     การเมืองภายหลังการเลือกตั้งอาจเป็นโทษต่อผู้แพ้ โดยอาจเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งมองว่าการมีส่วนร่วมของเสียงข้างน้อยเป็นอุปสรรค แทนที่จะหาทางโน้มนำฝ่ายค้านเข้ามาถกหารือกันอย่างมีเหตุผลและแม้แต่อาจนำท่าทีของฝ่ายค้านเข้าไปบรรจุเป็นนโยบายรัฐบาลหากสมควร

     ขันติธรรมเป็นเรื่องของการยอมรับความหลากหลายในสังคม โดยเริ่มจากการปลูกฝังเลี้ยงดูในวัยเยาว์ ถ้าเราสอนให้ผู้เยาว์เชื่อในหลักการผู้ชนะกินรวบ ก็เท่ากับว่าเรากีดขวางการพัฒนาของประชาธิปไตย แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เยาวชนควรต้องเรียนรู้ว่าในการเลือกตั้งสิ่งที่ฝ่ายที่ชนะได้รับไปคือหน้าที่ที่จะรักษาส่งเสริมฉันทามติที่สมดุลในสังคม การสร้างความสมดุลดังกล่าวนี้ก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง

หลักนิติธรรม

     เสาหลักที่สามของประชาธิปไตยคือหลักนิติธรรม มีการถกเถียงมากมายถึงความหมายของคำนี้ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือความเกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดระหว่างหลักนิติธรรมและประชาธิปไตย

     เมื่อกระบวนการทางการเมืองกำกับด้วยกฎหมายและกรอบระเบียบกฎเกณฑ์ ราษฎรก็จะสามารถพิจารณาได้ว่ารัฐบาลถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และสามารถหาคำตอบต่อคำถามหลักๆ เช่น :

  • รัฐบาลปกครองตามหลักกฎหมายหรือไม่ หรือถือหลักว่าตนได้รับการยกเว้นจากกฎเกณฑ์ที่ไม่สะดวกบางข้อ
  • ลำดับขั้นตอนการดำเนินงานของรัฐบาลคงเส้นคงวาและอยู่ภายใต้กฎหมายหรือไม่ หรือว่ารัฐบาลดำเนินการตามอำเภอใจ จับกุมผู้คนที่คัดค้านนโยบายของตนและลิดรอนเสรีภาพของบุคคลเหล่านั้นโดยไม่เคารพสิทธิที่พวกเขาพึงมีตามกฎหมาย

     ในช่วงต้นๆ ผมได้กล่าวถึงความสำคัญของ แมกนา คาร์ตา เอกสารประวัติศาสตร์ฉบับนั้นได้จารึกหลักที่ว่ารัฐจะต้องเคารพสิทธิตามกฎหมายทั้งหมดที่บุคคลพึงมี habeas corpus เป็นหลักการสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในแมกนา คาร์ตา habeas corpus ป้องกันการจับกุม กักขัง และประหารชีวิตตามอำเภอใจของรัฐ โดยกำหนดว่าการกระทำดังกล่าวโดยรัฐต้องมีเหตุผลทางกฎหมายและเคารพสิทธิตามกฎหมายของบุคคลที่ถูกกักกัน

     ชนชั้นทางการเมืองที่ยอมรับว่าการกระทำใดๆ โดยรัฐต้องเป็นไปตามครรลองของกฎหมายจะยอมรับประชาธิปไตยมากกว่า การบังคับใช้หลักนิติธรรมอย่างถูกต้องเป็นการป้องกันความพยายามใดๆ ที่จะทำลายเสรีภาพ ยึดทรัพย์สิน หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน และยังหมายความว่ากฏเหล่านั้นมีผลต่อราษฎรทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

     เมื่อการบังคับใช้หลักนิติธรรมอ่อนแอ การฉ้อราษฎร์บังหลวงก็เฟื่องฟู การติดสินบน การจ่ายเงินใต้โต๊ะ การฮั้วประมูล การออกนโยบายที่เอื้อต่อครอบครัวหรือพวกพ้อง ล้วนเป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ ในสถานการณ์เหล่านี้ผู้ที่มุ่งบังคับกฎหมายอาจเผชิญกับการข่มขู่คุกคามหรือตอบโต้แก้แค้นก็ได้

     ประชาธิปไตยจะผิดเพี้ยนไม่ทำงานเมื่อข้าราชการ ตุลาการ นิติบัญญัติ ภาคเอกชน ตำรวจ และทหารล้วนใช้อำนาจที่ตนมีอยู่เพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับตนเองและเอื้อประโยชน์ส่วนตนบนความทุกข์ยากของประชาสังคม  ถึงแม้จะมีกฎหมาย การฉ้อราษฎร์บังหลวงก็เป็นตัวบั่นทอนหลักนิติธรรม

     ความเป็นกลางของภาคตุลาการเป็นฐานหลักอย่างหนึ่งของหลักนิติธรรม หากผู้พิพากษาใช้กฎเกณฑ์ชุดหนึ่งสำหรับผู้ที่มีอำนาจวาสนา และใช้อีกชุดหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่มีสิ่งเหล่านั้น ระบบการเมืองและยุติธรรมทั้งหมดก็จะตกต่ำเสื่อมเสีย เซาะกร่อนความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลในการให้ความยุติธรรม

     หลักนิติธรรมย่อมมีรากฐานอยู่ในระบบค่านิยมทางศีลธรรมจรรยา ในแอฟริกาใต้เป็นเวลาหลายสิบปีได้มีหลักนิติธรรมภายใต้กรอบระบบ apartheid ซึ่งเป็นระบบกฎหมายที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสีผิว ภายใต้ระบบการเมืองและกฎหมายที่ปกป้องสิทธิของประชาชน คนที่มีสีผิวสีใดสีหนึ่งไม่สามารถใช้มันกีดขวางความยุติธรรมได้ ความยุติธรรมและความเสมอภาคเกี่ยวโยงโดยตรงกับความยั่งยืนของประชาธิปไตย โดยทั่วไปแล้ว หากหลักนิติธรรมถูกครอบงำ ชื่อเสียงในความเป็นประชาธิปไตยพร้อมกับความชอบธรรมของรัฐบาลก็จะพลอยเสียหายไปด้วย ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะใช้ข้ออ้างอย่างไรก็ตาม

     หลักนิติธรรมยังมีหน้าที่สุดท้ายอีกหนึ่งอย่าง ในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ เช่นของไทย รัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนดกรอบและความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันปกครองต่างๆ ในระบบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยจะทำงานได้ผลดีที่สุดก็เมื่อสถาบันและเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ระบบที่มีกลไกตรวจสอบถ่วงดุล

     หลักนิติธรรมเป็นตัวกำหนดขอบเขตของการแทรกแซงทางการเมืองในกระบวนการตัดสินใจ เมื่อมีนิติธรรมประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของระบบและขึ้นอยู่กับกฎหมายเดียวกัน ในขณะที่ผู้ปกครองก็ไม่ได้เป็น “เจ้าของ” ของระบบ

     เพื่อให้หลักนิติธรรมทำงานเป็นผล มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เกียรติภูมิและอิสรภาพของฝ่ายตุลาการและระบบยุติธรรมทั้งหมดจะต้องปลอดจากการกดดันโดยอิทธิพลหรือการแทรกแซงที่ผิดกฎหมาย

เสรีภาพในการแสดงออก

     เสาหลักที่สี่อันทำให้ประชาธิปไตยยั่งยืนคือเสรีภาพในการแสดงออก สิ่งที่บุคคลสามารถกล่าว ตีพิมพ์ แจกจ่าย และพูดคุยเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าระบบการเมืองเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด สื่อมวลชนที่อิสระเสรีเป็นตัวชี้วัดของเสรีภาพในการแสดงออก ระบบอินเตอร์เน็ตที่ไม่ถูกเหยียบย่ำโดยการควบคุมของรัฐก็เป็นอีกตัวหนึ่ง

     รัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือเป็นแบบอื่น น้อยรายนักจะมีความสัมพันธ์ที่สบายใจอย่างแท้จริงกับสื่อมวลชนเสรี  แต่ไม่ว่าจะมีข้อเสียเพียงใด สื่อมวลชนเสรีซึ่งสนับสนุนโดยอินเตอร์เน็ตที่ไม่ถูกปิดกั้น เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการให้ข้อมูลข่าวสารกับสาธารณะโดยเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยที่ทำงาน  แม้ในสังคมที่มีประชาธิปไตยมานาน รัฐบาลก็ยังอาจพยายามจัดการใช้สื่อเพื่อประโยชน์ของตนเอง รัฐบาลมักพยายามชี้นำการตีความข่าวเพื่อผลักดันวาระของตนและเจือจางอำนาจของสื่ออิสระ

     เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เปิดทางให้มีการขยายตัวของการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารพร้อมกับพื้นที่สำหรับวาทกรรมสาธารณะอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน  อินเตอร์เน็ตได้ปฏิวัติการมีส่วนร่วมในการอภิปรายและดำเนินการทางการเมือง และได้เกื้อกูลให้เกิดชุมชนออนไลน์ขึ้นมามากมาย  ในขณะเดียวกันโทรศัพท์มือถือก็ทำให้การติดต่อส่งข้อมูลข่าวสารกระทำได้อย่างทันท่วงที

     ในประเทศที่ยึดแนวทางอำนาจนิยม เสรีภาพของข้อมูลข่าวสารเป็นภัยอันใหญ่หลวงสำหรับรัฐบาล เสรีภาพที่มากับสื่อสมัยใหม่นี้สามารถเข้าถึงได้โดยเพียงไม่กี่คลิกไปยังเว็บไซท์ เช่น YouTube และ blog ต่างๆ ปรากฏการณ์ใหม่ๆ เหล่านี้ทำให้รัฐบาลควบคุมข้อมูลข่าวสารได้ยากขึ้นมาก

     ข้อเท็จจริงก็คือว่า แม้กระทั่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็มักพยายามเหลือเกินที่จะปั้นแต่งมติมหาชนให้ไปในทิศทางที่ตนต้องการ ไม่ว่าผ่านสื่อโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ หรืออินเตอร์เน็ต  การที่รัฐควบคุมหรือมีอิทธิพลเหนือข้อมูลข่าวสารนั้น พวกเราควรจะหยุดและคิดเรื่องนี้ให้ดีๆ แม้หน้าตาของประชาธิปไตยอาจดูสดใส แต่หากเสรีภาพของข้อมูลข่าวสารและของสื่อถูกคว้านจนกลวง ก็เท่ากับว่าประชาธิปไตยถูกบั่นทอน  ประชาชนจึงต้องคอยเฝ้าระวังตลอดเวลาเพื่อให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุล ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากกฎหมายในหลายประเทศที่ประชาธิปไตยกำลังพัฒนาไม่ได้ส่งเสริมเสรีภาพของข้อมูลข่าวสารและไม่ให้ความสำคัญต่อสื่อมวลชน

     เสรีภาพในการแสดงออกถือว่าสำคัญพอที่จะบรรจุในปฏิญญาสากลสิทธิมนุษยชน หัวข้อ 19 ระบุว่า “ทุกคนมีสิทธิในความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างเสรี สิทธิดังกล่าว รวมถึงเสรีภาพที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และที่จะแสวงหา ได้รับ และถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารและความคิดผ่านสื่อใดๆ ก็ได้โดยไม่จำกัดพรมแดน”

     หากพลเมืองไม่มีสิทธิในการแสดงออกในกระบวนการทางการเมือง ก็จะไม่มีรัฐบาลใดที่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน อย่างไรก็ดี ไม่มีสังคมประชาธิปไตยใดที่มีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสมบูรณ์

     กุญแจสำคัญคือการชั่งให้เกิดความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของชาติและสังคม เพื่อสร้างและรักษาระดับการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในสังคมซึ่งจำเป็นเพื่อทำให้การมีส่วนร่วมในประชาธิปไตยมีความหมาย และในขณะเดียวกันก็ต้องขีดเส้นซึ่งนำบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเข้าไปพิจารณา แต่ละประเทศกำหนดขอบเขตของเสรีภาพในการแสดงออกไว้แตกต่างกัน แต่สิ่งที่สำคัญคือขอบเขตดังกล่าวต้องไม่ถูกอิทธิพลทางการเมืองนำไปใช้ในทางที่ผิดเพื่อจำกัดไม่ให้สาธารณะตรวจสอบนโยบายและการกระทำที่มีผลกระทบต่อบูรณภาพของผลประโยชน์สาธารณะ เช่น หากกฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาททำให้คนไม่กล้าเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลหรือการฉ้อราษฎร์บังหลวง ก็เป็นการทำให้ประชาธิปไตยเสื่อม

     ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของการให้ทุกเสียงมีสิทธิได้แสดงออก เสียงเหล่านั้นอาจขัดกันเอง บางเสียงอาจมีความรู้มากกว่าเสียงอื่น บางเสียงอาจเป็นความเห็นส่วนตัว ซุบซิบนินทาหรือคาดเดา ทั้งหมดนี้คือตลาดแห่งความคิด ซึ่งก็เหมือนตลาดทั่วไปตรงที่สินค้าแต่ละอย่างมีคุณค่าไม่เท่ากัน ตราบใดที่สถาบันต่างๆ ของเราทำให้คนสามารถรู้จักวิธีประเมินคุณค่าของความคิดในตลาดนี้ รู้จักคัดเอาความคิดที่ไตร่ตรองเข้มงวดมาใช้ รู้จักปฏิเสธความคิดที่สุกเอาเผากิน ไม่เพียงแต่ประชาธิปไตยจะยั่งยืนเท่านั้น แต่จะเจริญงอกเงยขึ้นอีกด้วย

     โดยที่มีทั้งอินเตอร์เน็ต โลกาภิวัฒน์ และการสื่อสารมวลชน ตลาดแห่งความคิดนี้ดึงความคิดมาจากแหล่งต่างๆอย่างหลากหลาย ไม่ใช่เพียงจากประเทศประชาธิปไตยประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แม้ว่าตลาดนี้จะไม่สามารถสร้างขึ้นมาและควบคุมโดยรัฐอย่างง่ายดาย แต่ก็คงไม่มีรัฐบาลใดปลอดโปร่งใจทีเดียวกับการใช้วิธีปิดปากผู้ที่ไม่เห็นด้วยหรือผู้ที่แฉการกระทำผิดของรัฐบาล

ความรับผิดชอบต่อสาธารณะและความโปร่งใส

     เสาหลักที่ห้าของประชาธิปไตยคือ ความรับผิดชอบต่อสาธารณะและความโปร่งใส ซึ่งหมายความว่าสถาบันของรัฐและบุคคลในสถาบันเหล่านั้นต้องรับผิดชอบในการกระทำของตน รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อประชาชนที่เลือกรัฐบาลนั้นเข้ามา นอกจากนี้ ยังต้องรับผิดชอบต่อฝ่ายตุลาการที่อิสระหรือสถาบันที่เป็นกลางอื่นๆ ที่ตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบการกระทำของรัฐบาล การตัดสินใจใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายด้านการเกษตร การกำหนดราคาน้ำมัน หรือบริการสาธารณสุข จะต้องไม่ทำไปเพื่อผลักดันวาระของกลุ่มผลประโยชน์เหนือกว่าผลประโยชน์สาธารณะ

     ความรับผิดชอบต่อสาธารณะและความโปร่งใสในแก่นแท้แล้วมีวัตุประสงค์เดียวกัน คือเพื่อคุ้มครองพลเมืองจากนโยบายที่หลงทางหรือการตัดสินใจที่ให้ประโยชน์แก่คนไม่กี่คนแต่ทำให้คนจำนวนมากต้องเสียประโยชน์  เมื่อใดที่หลักการทั้งสองนี้สั่นคลอน ก็จะเป็นสัญญาณเตือนภัยว่าธรรมาภิบาลกำลังตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง และกระบวนการประชาธิปไตยได้ชะงักงันไป

การกระจายอำนาจ

     เสาหลักที่หกตั้งอยู่บนการให้อำนาจทางการเมืองแก่ระดับท้องถิ่นหรือระดับจังหวัด  ยิ่งรัฐบาลอยู่ใกล้ประชาชนที่ต้องปกครองมากเพียงใด รัฐบาลก็จะยิ่งตอบสนองต่อประชาชนได้มากเพียงนั้น  ขณะเดียวกัน เพื่อให้ประชาธิปไตยที่มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสามารถทำงานได้ ก็จะต้องมีการกระจายอำนาจในเรื่องของเงินสนับสนุน ทรัพยากรด้านอุปกรณ์สิ่งของและบุคคล ตลอดจนขีดความสามารถของสถาบันด้วย

     การกระจายกระบวนการการเมืองออกจากส่วนกลางก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะลดการรวมศูนย์อำนาจและอิทธิพลของกลุ่มพลังทางการเมือง  พลเมืองจะมีความตื่นตัว สนใจและพร้อมที่จะ มีส่วนร่วมในประชาธิปไตยมากขึ้นเมื่อพวกเขามองเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเสมือนเพื่อนบ้านและเห็นว่าสิ่งที่เขามีส่วนได้ส่วนเสียเป็นเรื่องใกล้ตัว

     เราจะเห็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของความเชื่อมโยงระหว่างประชาธิปไตยกับชีวิตประจำวันของพลเมืองได้ในระดับท้องถิ่น  การอยู่ในพื้นที่ที่ใกล้ชิดในละแวกเดียวกันมีประโยชน์ทำนองเดียวกันกับชุมชนออนไลน์ในเศรษฐกิจแห่งความรู้  ประชาชนที่มีผลประโยชน์และค่านิยมร่วมกันจะแสดงและแลกเปลี่ยนความเห็นและความรู้ จะโน้มน้าวกันและกัน  สิทธิของพลเมืองในการชุมนุมและการมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่นจะช่วยบ่มเพาะประชาธิปไตยให้อยู่ยืนยาวในสังคม

     การตั้งพรรคการเมืองในระดับท้องถิ่นช่วยทำให้การสร้างประชาธิปไตยแบบผู้แทนเป็นไปได้ง่ายขึ้น การมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่นของผู้ลงคะแนนเสียงและผู้สมัครที่มาจากเขตหรือจังหวัดเดียวกันจะสร้างความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมให้แก่กระบวนการประชาธิปไตย  การปกครองระดับท้องถิ่นจะเป็นสนามฝึกซ้อมให้แก่ผู้นำของชาติในอนาคต

ประชาสังคม

     ประชาสังคมเป็นเสาหลักสำคัญเสาที่เจ็ด  ประชาสังคมที่แข็งขันจะเริ่มบทบาทของการมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับรากหญ้า  เวทีชุมชน ชมรม กลุ่มนักรณรงค์เรื่องต่างๆ องค์กรการกุศล สหกรณ์  สหภาพ กลุ่มนักคิดและสมาคมล้วนจัดอยู่ภายใต้กรอบประชาสังคม  กลุ่มเหล่านี้เป็นยานพาหนะในการมีส่วนร่วมที่จะนำไปสู่การมีประชาธิปไตยระดับรากหญ้าที่ยั่งยืน โดยมีความเข้มข้นในแง่ของความรู้สึกต้องการเป็นอาสาสมัคร ความสนใจร่วมกัน และค่านิยมเหมือนกัน อันเป็นแกนสำหรับการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล สร้างกรอบแนวคิด และผลักดันแนวคิด

     ความเข้มแข็งของประชาธิปไตยอาจวัดได้โดยดูว่ามีประชาสังคมที่แท้จริงเพียงใดและพลเมืองมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะมากน้อยเพียงใด  ประชาสังคมเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญสำหรับการถกเถียงกันด้วยสติปัญญาในเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสาธารณะ  ประชาสังคมยังเป็นกลไกให้ทัศนะส่วนรวมของพลเมืองสามารถมีส่วนกำหนดและโน้มน้าวนโยบายของรัฐบาลได้  และจากการที่ต้องนำข้อถกเถียงและข้อมูลเข้าสู่เวทีสาธารณะเพื่อใช้เป็นบริบทในการพิเคราะห์นโยบาย รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยก็จำเป็นต้องนำเสนอข้อโต้แย้งหรือปรับเปลี่ยนท่าที การแลกเปลี่ยนในลักษณะนี้เป็นสิ่งดีสำหรับประชาธิปไตย และเป็นที่ชัดเจนว่า เมื่อกระบวนการพิจารณาภายในระบบการเมืองยอมรับบทบาทของประชาสังคม ก็เท่ากับว่าได้ตกลงยอมให้ประชาชนได้มีบทบาทในการตรวจสอบการตัดสินใจของรัฐบาล ประชาสังคมที่ตื่นตัวจึงทำให้มีการตัดสินใจที่รอบคอบมากขึ้นในสังคมประชาธิปไตย

     หลายประเทศมีประวัติศาสตร์ของระบบอุปถัมภ์ทางการเมือง โดยหัวหน้าของกลุ่มการเมืองจะสร้างกลุ่มผู้ตามของตนที่มีความภักดีต่อตัวบุคคลมากกว่าต่อพรรคการเมืองหรือความเชื่อ เมื่อใดที่เกิดอย่างนี้ขึ้น ประชาธิปไตยก็ไม่สามารถอยู่อย่างยั่งยืนได้ง่ายนัก

คุณสมบัติความเป็นผู้นำ

     เสาหลักต่างๆ ของประชาธิปไตยที่ผมได้กล่าวถึงมานี้ เป็นสิ่งที่จำเป็นแต่ยังไม่เพียงพอหากขาดผู้นำที่จะมาสร้างและธำรงรักษาเสาหลักของประชาธิปไตยเหล่านี้

     คุณสมบัติของความเป็นผู้นำสำหรับประชาธิปไตยที่ยั่งยืนจะพบได้ในบุคคลที่ดำรงตนด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใสและรับผิดชอบในสิ่งที่ตนทำ เป็นบุคคลที่สามารถสร้างฉันทามติ มีใจที่เปิดกว้างและเป็นธรรม  ยึดมั่นต่อความยุติธรรมและส่งเสริมประโยชน์สาธารณะ  มีขันติธรรมรับฟังท่าทีของฝ่ายที่ตรงข้ามกัน แน่นอน มักมีการพูดกันว่าประชาธิปไตยเป็นวิธีปกครองที่ยุ่งเหยิงวุ่นวาย และวิสัยมนุษย์ก็มีข้อบกพร่องมากมาย คำกล่าวทั้งสองนี้มีความจริงอยู่ แต่ขณะที่เรายอมรับข้อจำกัดของเราเอง เราก็ควรพยายามหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดในอดีตและมองไปสู่รุ่นผู้นำในภายภาคหน้าที่จะสามารถสานต่อโดยเรียนรู้จากบทเรียนของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนคนธรรมดา

สรุป

     ผมได้กล่าวถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับเสาหลักต่างๆ ที่ค้ำจุนโครงสร้างของประชาธิปไตยที่ยั่งยืนแล้ว

     ในการเสริมสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ประเทศชาติจะต้องมุ่งความพยายามไปที่การสร้างระบบที่ให้อำนาจแก่ประชาชน ไม่ใช่เฉพาะผ่านสิทธิในการลงคะแนนเสียงเท่านั้น แต่โดยปลูกฝังบรรทัดฐาน สถาบันและค่านิยมที่สนับสนุนสิทธิดังกล่าวและทำให้สิทธินั้นมีความหมาย

     สิ่งที่จะทำให้ประชาธิปไตยยั่งยืนคือ ความตระหนักร่วมกันว่า แม้ว่าประชาธิปไตยจะห่างไกลความดีเลิศประเสริฐศรี แต่ทางเลือกอื่นยังห่างไกลเสียยิ่งกว่า บางสังคมตระหนักในสัจธรรมนี้เร็วกว่า บางสังคมตระหนักช้ากว่า บางสังคมก็กำลังทดลองดูว่าจะสามารถนำเฉพาะบางส่วนของประชาธิปไตยมาใช้ เช่นธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบ โดยไม่ต้องรับภาระของการเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบได้หรือไม่

     ผมขอให้สังคมเหล่านั้นโชคดี ตราบใดที่พวกเขาแสดงความยึดมั่นต่อสวัสดิภาพและความกินดีอยู่ดีของประชาชนในภาพกว้างและจัดหาบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนได้ ประชาชนส่วนใหญ่ก็คงจะพึงพอใจกับสถานะที่เป็นอยู่และไม่ประท้วง

     ในบางประเทศที่ระบอบประชาธิปไตยยังไม่แข้มแข็งแบบนี้ ประเด็นหนึ่งที่พวกเราได้เปรียบก็คือ ความรู้สึกผิดหวังของประชาชนกับประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน บุคคลที่ได้รับเลือกตั้งมา แทนที่จะสนองและปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ กลับสนองประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวก อ้างสิทธิที่จะบงการในนามของคนส่วนใหญ่ เหยียบย่ำสิทธิของคนกลุ่มน้อย จนตนเองกลายเป็น “สาธารณชน” เสียเอง ไม่ใช่ “ผู้แทน” อีกต่อไป

     ในช่วงประมาณสามทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีแนวโน้มไปสู่ประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วมโดยตรงมากขึ้น ซึ่งในสังคมประชาธิปไตยที่อยู่ตัวแล้ว แนวโน้มนี้อาจเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่การเดินจากระบอบอัตตาธิปไตยไปสู่ประชาธิปไตยที่มวลชนมีส่วนร่วมนั้นนับว่าเป็นการกระโดดก้าวใหญ่

     สิ่งที่สำคัญคือ เมล็ดของประชาธิปไตยจะต้องงอกเงยจากภายในแต่ละสังคมเอง จึงจะได้รับการยอมรับและดำเนินไปได้  สังคมแต่ละแห่งจะต้องหาทางออกจากความขัดแย้งต่างๆ และจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆ ด้วยตนเอง

     ประสบการณ์ในทุกที่เน้นให้เห็นถึงความเปราะบางของประชาธิปไตย แม้ว่าในบางแห่งที่อาจดูเหมือนอยู่ตัวแล้ว ประชาธิปไตยก็อาจถูกแทรกแซงได้โดยเฉพาะในยามที่มีวิกฤต  ผมไม่เชื่อว่าจะมีประชาธิปไตยแห่งใดที่เข้มแข็งจนปลอดภัยจากความละโมบและความมักใหญ่ใฝ่สูงของมนุษย์   ในการบ่มเพาะและทำให้ประชาธิปไตยยั่งยืนนั้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากประชาธิปไตยจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องมัน ประชาชนคนธรรมดาจะต้องระแวดระวังและชาญฉลาด สำหรับมนุษยชาติประวัติศาสตร์ยังไม่ได้จบสิ้นลง การต่อสู้เพื่อผลักดันและต่อต้านประชาธิปไตยจะยังคงดำเนินอยู่ต่อไปอีกนาน