รวมปาฐกถาภาษาไทย

ถ้อยแถลงของ ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน
เรื่อง “การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่:
เพื่อประโยชน์ของแม่และเด็กและของสังคมไทยโดยรวม”
เนื่องในโอกาส พิธีรับมอบใบประกาศรับรอง
เป็นโรงพยาบาลสัมพันธ์แม่ลูก ของโรงพยาบาลสมิติเวช
วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๒
ณ โรงพยาบาลสมิติเวช

ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี
แขกผู้มีเกียรติทั้งหลาย

     ผมมีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้มาร่วมในพิธีรับมอบใบประกาศรับรองการเป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก ของโรงพยาบาลสมิติเวช ร่วมกับท่านทั้งหลายในวันนี้ และในฐานะที่ผมเป็นทูตพิเศษของยูนิเซฟ ผมรู้สึกภูมิใจ ที่ได้เห็นโรงพยาบาลเอกชน เช่น โรงพยาบาลสมิติเวช เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุน ส่งเสริมการเลี้ยงลูก ด้วยนมแม่ ด้วยการปฏิบัติอย่างจริงจัง และเปี่ยมด้วยสำนึกแห่งความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งนับว่าเป็นก้าวที่สำคัญยิ่ง

     การได้รับยกย่องเป็น “โรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก” นั้นหมายความว่า โรงพยาบาลสมิติเวช ส่งเสริมและสนับสนุน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการ ให้อาหารทารกที่เหมาะสมที่สุด และเป็นการประกันการมีชีวิตอยู่รอด การคุ้มครอง และการพัฒนาของเด็ก ดังนั้นโรงพยาบาลสมิติเวช จึงต้องปฏิบัติตามบันได ๑๐ ขั้น สู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งกำหนดขึ้นร่วมกัน โดยองค์การยูนิเซฟ และองค์การอนามัยโลก และส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามทั่วโลก บันไดสิบประการ ดังกล่าว เป็นที่ยอมรับกันว่าช่วยให้มารดามีความรู้และทักษะในการให้นมลูกได้อย่างถูกต้อง และมีความสุขต่อการให้นมลูก

     สตรีและครอบครัวทุก ๆ ครอบครัว ย่อมหวังที่จะให้ในสิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูกเสมอ ทั้งนี้ ไม่มีข้อสงสัยใด ๆ เลยว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการให้อาหาร ลูก ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของวิทยาศาสตร์สังคม หรือเศรษฐกิจก็ตาม พนักงานทุกคนของโรงพยาบาลสมิติเวชต้องภูมิใจในภารกิจของตน ที่ได้มีโอกาสบอกให้สตรี ได้รับรู้ ถึงประโยชน์ของนมแม่ และได้ช่วยให้สตรีที่เป็นแม่ มีความสุขในการให้นมลูก และซาบซึ้งถึงคุณค่าของของขวัญอันล้ำค่าจากธรรมชาติของสตรีชิ้นนี้ แน่นอนว่า การตัดสินใจในขั้นสุดท้าย ว่าจะให้นมแม่แก่ลูกหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับตัวสตรีเอง และควรจะขึ้นอยู่กับสตรีตลอดไป แต่การตัดสินใจนั้น จะต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ พอเพียง

     การเลี้ยงดูเด็กนั้น เช่นเดียวกับการลงทุนทางทรัพยากรมนุษย์อื่น ๆ ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของสังคม มิใช่เฉพาะของพ่อแม่เพียงลำพัง เด็กในวันนี้คืออนาคต ของพวกเรา ดังนั้นจึงเป็นผลประโยชน์ของพวกเราเองทุกคน ที่จะได้ช่วยให้พวกเขาได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ ยูนิเซฟเตือนให้เราระลึกว่า นี่มิใช่เป็นเพียงความต้องการ พื้นฐานของเด็กเท่านั้น แต่ยังเป็นสิทธิอันพึงมีพึงได้ของเขาด้วย เด็กมีสิทธิที่จะรับ “ทางสาธารณสุขที่สูงที่สุดเท่าที่จะหาได้” และมีสิทธิที่จะได้รับ “มาตรฐานของ การดำรงชีวิตที่เพียงพอสำหรับการพัฒนา ด้านร่างกายสมอง จิตใจ ศีลธรรม และสังคมของเด็ก” การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีส่วนให้ได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าว

     เด็กที่ได้กินนมแม่จะล้ำหน้าเด็กอื่น ๆ ไปหลายก้าว ในการที่จะได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ ได้มีการชี้ให้เห็นว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นกระบวนการที่สำคัญ ที่นำไปสู่การ “เปิดสวิตช์สมองของเด็ก” และการเริ่มกระบวนการการเรียนรู้ กระบวนการดังกล่าว อาจเอื้อให้เกิดการเพิ่มพูนสติปัญญาของเด็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วย นมแม่ และอธิบายได้ว่าทำไมเด็กที่กินนมแม่ จึงมีความเป็นตัวของตัวเอง และมั่นใจในตนเอง เมื่อเติบโตเป็นวัยรุ่นและผู้ใหญ่

     ถึงกระนั้นก็ตาม การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ยังเป็นสิ่งที่ทำกันได้ยากลำบากอยู่นั่นเอง ในขณะที่น้อยคนนักที่จะสามารถปฏิเสธประโยชน์ของนมแม่ได้ แต่คนจำนวนมากยัง เคลือบแคลงความเป็นไปได้ในการให้นมแม่แก่ทารก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสตรีทำงาน จริงอยู่ที่ประเทศไทยมีกฎหมายที่อนุญาตให้สตรีลาคลอดได้ ๓ เดือนโดยได้รับ เงินเดือนทั้งในภาครัฐและเอกชน แต่มีสตรีเพียงร้อยละ ๕๐ โดยประมาณเท่านั้นที่ใช้สิทธินี้เหตุผลก็คือถ้าหากสตรีใช้สิทธินี้อาจทำให้เจ้านายเลือกปฏิบัติ หรือจ้างสตรี น้อยลง เราจะต้องไม่ยอมให้การกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นในภาคเอกชน ดังนั้นจะต้องมีระบบในการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือเจ้าหน้าที่ แรงงานอย่างทั่วถึง

     มีกี่ครั้งที่ท่านทั้งหลาย เคยเห็นสตรีให้นมทารกในที่สาธารณะคงจะน้อยครั้งเต็มที ผมจึงสงสัยว่าเป็นเพราะในบ้านเราเมืองเรา เห็นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเรื่องน่าอายหรือ ผมหวังเหลือเกินว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะนอกเหนือจากการให้กำเนิด ซึ่งเป็นของขวัญอันล้ำค่าของความเป็นแม่แล้ว การให้นมแม่แก่ลูก ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดความสุขอย่างลึกซึ้งที่สุด ที่สตรีจะพึงหาได้ให้ตัวเอง และให้แก่ลูกของตน

     บริษัทผลิตนมผงต่างแข่งขันกันที่จะจำหน่ายสินค้าของตน ทุ่มเงินมหาศาลในการโฆษณา และการตลาด ประชาชนก็เสียเงินทองซื้อนมผง และยังมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น ค่าไฟในการอุ่นชงนม รวมทั้งกระบวนการทำความสะอาดต่าง ๆ ที่ตามมา โดยที่ทำไปทั้งหมดนี้แล้ว เด็กก็ไม่ได้รับโภชนาการที่ดีเท่านมแม่ และถ้าหากเด็กเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา ไม่ครอบครัว หรือรัฐบาล หรือนายจ้างเอง ก็จะต้องเป็นผู้เสียเงินค่ารักษา ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนี้ประชาชนจึงเป็นผู้รับในบางครั้ง และบางครั้งก็รัฐบาล นอกจากนี้ เด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ อาจจะเรียนรู้ช้ากว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเด็กอื่น ๆ ที่กินนมแม่ และอาจจะต้องการความเอาใจใส่จากครูมากกว่า พวกเขาอาจจะเรียนไม่ได้ดีนักหรือไม่ได้งานดี ๆ ทำ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ตามมาก็คือ พวกเขาก็อาจจะหาเงินได้น้อยสำหรับตัวเองและครอบครัว ซึ่งอาจเอื้อประโยชน์แก่เศรษฐกิจและการพัฒนาของชาติได้น้อยกว่า ถ้ามองในแง่นี้ ผลเสียของการที่ไม่ให้นมแม่แก่ลูก จึงมหาศาลและเป็นผลระยะยาว ทั้งหมดนี้ใครคือผู้ที่ได้ประโยชน์ นายจ้างที่เห็นแก่ตัว และบริษัทผลิตนมผงนั่นเอง คนอื่น ๆ นอกเหนือจากนั้นล้วนเสียประโยชน์ทั้งสิ้น ดังนั้นจึงจำเป็นและสำคัญมาก ที่เราจะต้องพยายามสนับสนุน ให้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์สากล ว่าด้วยการควบคุมการตลาด ของผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแม่อย่างจริงจังโดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

     เมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ที่ซับซ้อนดังกล่าว พวกเราจึงควรร่วมกันแสดงความยินดี แก่โรงพยาบาลสมิติเวช ผู้บริหารและพนักงานทุกคนที่มีส่วนช่วยให้สังคมดีขึ้น ผมมั่นใจเหลือเกินว่า ความพยายามของโรงพยาบาลสมิติเวช จะเป็นที่ชื่นชม และมีคุณค่าต่อสตรีทุกคน และครอบครัวทุกครอบครัว ที่มารับการบริการ และข้อคำแนะนำจากโรงพยาบาล ผมรู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงนี้และยินดีที่จะสนับสนุนโรงพยาบาลสมิติเวช ในวิถีทางใด ๆ ก็ตามที่ทำได้ด้วยบทบาทของทูตพิเศษของยูนิเซฟ ผมจะทำหน้าที่ประกาศให้เป็นที่รับรู้กันว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อเด็กแต่ละคน ต่อครอบครัว และต่อสังคม ผมจะรวมพลังเสียงกับองค์การอนามัยโลก องค์การยูนิเซฟ และองค์กรอื่น ๆ สนับสนุนความพยายาม ในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และโรงพยาบาลสายสัมพันธ์ เพื่อที่จะได้มีส่วนทำให้โลกของเราดีขึ้น