รวมปาฐกถาภาษาไทย
ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ยุทธศาสตร์การเตรียมเยาวชนสู่อนาคต
โดย นายอานันท์ ปันยารชุน วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๓๘ ณ จังหวัด
เชียงราย ท่านประธานสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย
และผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญมาบรรยายเรื่อง
ยุทธศาสตร์การเตรียมเยาวชนสู่อนาคต ต่อท่านทั้งหลายซึ่งมีทั้งครูอาจารย์และผู้ปกครอง
ที่จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเยาวชนของเราให้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต ก่อนที่จะมีการพิจารณายุทธศาสตร์การเตรียมเยาวชนสู่อนาคตนั้น
เริ่มแรกจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์และคาดการณ์ถึงสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงในอนาคตทั้งในระดับโลกและระดับประเทศที่จะมีผลกระทบต่อเยาวชน
เพื่อให้สามารถกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาได้เหมาะสมและสอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว การวิเคราะห์พลวัตการเปลี่ยนแปลงในที่นี้
แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ได้แก่ - การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ
เนื่องจากระบบเศรษฐกิจไทยเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเปิด
(Open Economy) ทำให้สังคมเศรษฐกิจไทยผนวกเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสังคมเศรษฐกิจโลกด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้นการวิเคราะห์พลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลกจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยที่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
ๆ ของโลกที่มีผลต่อประเทศไทย ได้แก่ ประการที่หนึ่ง
กระแสการเปลี่ยนแปลง ของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ที่เป็นไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว
ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้น ณ สถานที่หนึ่ง ๆ สามารถสื่อสารไปถึงสถานที่อื่น ๆ ได้ในระยะเวลาอันใกล้
เปรียบเสมือนอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน หรือที่เรียกว่า Global Village พัฒนาการของระบบเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสาร
คมนาคมและสารสนเทศ นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระแสโลกาภิวัตน์มีผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น
การที่สื่อต่าง ๆ สามารถกระจายเข้าสู่คนทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงนั้น
จะมีผลกระทบต่อรูปแบบค่านิยมทางสังคม การดำรงชีวิตและรสนิยมในการบริโภคของคนอย่างมาก
ความฉับพลันในเรื่องข่าวสารข้อมูลดังกล่าวจึงทำให้เกิดวิวัฒนาการทางความคิด ซึ่งจะเป็นทั้งในทางที่ดีและไม่ดี
มีการเรียนรู้และรับสิ่งใหม่ ๆ ที่เข้ามาและทอดทิ้งสิ่งเก่า ๆ อาจกล่าวได้ว่า การขยายตัวของโลกาภิวัตน์ที่ถูกส่งเสริมโดยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น
จะไม่ถูกจำกัดขอบเขตเฉพาะการเชื่อมโยงด้านการค้า การลงทุน การเงินหรือบริการเท่านั้น
แต่จะครอบคลุมถึงสิ่งที่จับต้องไม่ได้ คือการเชื่อมโยงทางด้านแนวความคิด ค่านิยม
และวัฒนธรรมอีกด้วย ธุรกิจบันเทิงข้ามชาติ และธุรกิจโฆษณาในปัจจุบันมีส่วนกัดกร่อนวัฒนธรรมดั้งเดิมของประเทศไทยอย่างมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กและเยาวชน เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกระแสดังกล่าวเหล่านี้
ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นด้าน Fast food เทป ภาพยนตร์
คอนเสิร์ต แฟชั่น มีความเฟื่องฟูมาก เพราะสามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของวัยรุ่นได้
ขณะที่วัฒนธรรม ประเพณี และคุณค่าแบบไทย ๆ เริ่มสูญหายไปตามลำดับ ดังนั้น
เมื่อต้องอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ จึงจำเป็นต้องมีการเรียนรู้ตลอดเวลา เพื่อขวนขวายแสวงหาความรู้ใหม่ให้สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงในทุกด้านได้
เยาวชนไทยในอนาคตจึงต้องมีสติปัญญาและความรู้ความสามารถในการเลือกรับ กลั่นกรองและใช้สื่อและเทคโนโลยีที่เข้ามาในทุกทิศทางได้อย่างเหมาะสม
มีความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายและเลือกปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ขณะเดียวกันไม่ละเลยวัฒนธรรมและค่านิยมที่ดีงามแบบไทย
ๆ อีกด้วย ประการที่สอง กระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกเข้าสู่ยุคการค้าเสรีมากขึ้น
เนื่องจากลัทธิสังคมนิยมล่มสลายในระยะที่ผ่านมา โลกกำลังเปลี่ยนแปลงเป็นโลกไร้พรมแดน
(Borderless World) ในลักษณะที่มีการลดกฎเกณฑ์หรือขั้นตอนในด้านต่าง ๆ เพื่อเปิดประตูการค้า
การลงทุน ตลอดจนการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างเสรีมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น
การเจรจาของข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้าหรือ GATT การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจต่าง
ๆ เช่น เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) รวมทั้งความร่วมมือในระดับภูมิภาค
เช่น การจัดตั้งสามเหลี่ยม IMT-GT (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle)
หรือการจัดตั้งหกเหลี่ยมเศรษฐกิจ (ไทย-จีน-พม่า-ลาว-กัมพูชา และเวียดนาม) เป็นต้น ขณะเดียวกัน
การแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า การลงทุน และการเกษตร
จะเป็นไปอย่างเข้มข้นและรุนแรงมากขึ้นด้วยอีกนัยหนึ่ง ในอนาคต ความได้เปรียบของประเทศทั้งหลายจะขึ้นอยู่กับศักยภาพของเทคโนโลยีและกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถและทักษะฝีมือสูงมากกว่าจะขึ้นอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติเหมือนสมัยก่อน
ประเทศที่มีกำลังคนที่มีศักยภาพจะสามารถพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุดหน้าได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาความได้เปรียบของประเทศไทยในปัจจุบัน จะพบว่าค่าแรงงานของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านโดยเปรียบเทียบ
ทำให้มีการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติไปยังประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าว
เช่น เวียดนาม จีน เป็นต้น ดังนั้น ภายใต้ภาวะการแข่งขันตามแนวทุนนิยมจึงกดดันให้ประเทศไทยต้องปรับตัวโดยมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีทักษะฝีมือสูงขึ้น
เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีสูงขึ้นด้วย
- การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมภายในประเทศ
สภาพสังคมไทยยังมีลักษณะทวิภาค
(Dualism) มีการขยายตัวแบบขาดดุลยภาพ กล่าวคือ ถึงแม้ว่าในระยะที่ผ่านมาผลสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องโดยเฉลี่ยกว่าร้อยละ
๗ ต่อปี และรายได้ต่อหัวของประชากรจะเพิ่มขึ้นเป็น ๖๐,๐๐๐ บาทต่อปี แต่ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญบางประการที่จะมีผลต่อการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเยาวชนในอนาคต
ดังนี้ - ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้
ยังคงมีอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกลความเจริญและในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสประเภทต่าง
ๆ คนในกรุงเทพฯ มีรายได้สูงกว่าคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึง ๑๑.๙ เท่า ประกอบกับภาครัฐไม่สามารถจัดบริการพื้นฐานทางสังคมได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพเพียงพอ
ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำของคุณภาพชีวิตของคนขยายตัวกว้างขึ้น เยาวชนไทยบางกลุ่มยังไม่สามารถเข้าถึงบริการในด้านต่าง
ๆ ได้ เช่น ขาดโอกาสในการศึกษาต่อ เป็นต้น
- ความบีบคั้นจากภาวะการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความจำเป็นในการดิ้นรนหาเลี้ยงชีพของประชาชน
ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวลดน้อยลง ประกอบกับกระแสการบริโภคนิยม ทำให้ค่านิยมแบบไทยดั้งเดิม
เช่น ความโอบอ้อมอารี เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน เริ่มสูญหายไป ก่อให้เกิดปัญหาต่าง
ๆ มากขึ้น เช่น ปัญหาการแย่งชิงเอารัดเอาเปรียบกัน ปัญหาครอบครัวแตกแยก ปัญหาแรงงานเด็กและปัญหายาเสพติด
ซึ่งพบว่าในจำนวนผู้ติดยาและสารเสพติดกว่า ๑.๒ ล้านคน เป็นนักเรียนนักศึกษาถึง ๗๑,๖๖๖
คน รวมทั้งปัญหาการค้าประเวณีและอื่น ๆ อีกด้วย
- ระบบการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นอยู่ทำให้เด็กและเยาวชนไม่ได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันเด็กไทยมีโอกาสรับการศึกษามากขึ้น แต่ยังมีเด็กในวัยเรียน (๓-๒๑
ปี) ประมาณ ๑๑ ล้านคน ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา ขณะที่นักเรียน นักศึกษาที่มีอยู่ขาดความคิดริเริ่ม
ขาดทักษะในการจะปรับตัวเข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
เยาวชนไทยยังขาดความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ขาดจิตสำนึกในหน้าที่ ขาดเจตคติในการทำงานร่วมกัน
รวมทั้งขาดสำนึกของความเป็นไทยอีกด้วย ทั้งนี้เนื่องจากส่วนหนึ่งเกิดจากการจัดการศึกษา
ยังเน้นในระบบโรงเรียนมากเกิน ไปเน้นการท่องจำมากกว่าการวิเคราะห์หาเหตุผล หลักสูตรขาดความยืดหยุ่นไม่เหมาะสมกับพื้นที่
เช่น ในชุมชนที่มีความผูกโยงโดยตรงกับเกษตรกรรม ฯลฯ นอกจากนั้น ปัจจุบันประเทศไทยยังประสบปัญหาการขาดแคลนกำลังคนในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญ
ๆ อีกเป็นจำนวนมาก และคุณภาพของการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงานยังไม่ดีเท่าที่ควร
ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขในอนาคต
อย่างไรก็ตามสังคมไทยยังมีศักยภาพในการพัฒนาบางประการ
เช่น - การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร
ทำให้มีสัดส่วนเด็ก-เยาวชนที่ต้องเลี้ยงดูลดน้อยลง ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมารัฐได้ลงทุนด้านการบริการพื้นฐานทางสังคมอย่างมาก
ทำให้บริการด้านการศึกษาและสาธารณสุขขยายตัวอย่างทั่วถึง นอกจากนั้น การที่รัฐบาลมีฐานะทางการคลังค่อนข้างมั่นคงและประชาชนมีรายได้สูงขึ้น
จึงคาดว่าในระยะ ๑๐-๑๕ ปีข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา
เพราะประเทศมีการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาทุ่มเทกับการพัฒนาได้อย่างเต็มที่
- ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อต่าง ๆ จะมีส่วนช่วยพัฒนาศักยภาพของคนไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม
เพราะสามารถนำสื่อต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์ให้คนมีความรู้มากขึ้น สามารถปรับตัวทันต่อเหตุการณ์และทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
การที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการแรงงานมากขึ้น ผู้ที่ได้รับการศึกษาสูงนั้นจะมีโอกาสได้รับค่าตอบแทนที่สูง
ทำให้เกิดแรงจูงใจให้เด็กและคนงานเข้ารับการศึกษา ฝึกอบรมมากขึ้น ประกอบกับกระแสประชาธิปไตย
และสิทธิมนุษยชนได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง จะทำให้สังคมมีการเฝ้าระวังและตรวจสอบปัญหาแรงงานเด็กอีกด้วย
- ในระยะที่ผ่านมาองค์กรทางสังคมต่าง ๆ ทั้งสื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน
ธุรกิจเอกชน ได้เข้ามาช่วยเหลือในการพัฒนาคนมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน
ดังนั้น ถ้าสามารถขยายเครือข่ายของพลังดังกล่าวได้อย่างจริงจัง จะมีโอกาสในการพัฒนาคนและสังคมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เมื่อพิจารณาถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับโลกและระดับประเทศแล้ว
จึงควรกำหนด วิสัยทัศน์ของการพัฒนาเยาวชนในอนาคต ไว้ดังนี้ เยาวชนไทยทุกคนจะต้องได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพทั้งกาย
ใจ สติปัญญาและความสามารถ เพื่อให้เป็นเยาวชนที่มีสุขภาพดี มีคุณธรรม มีคุณภาพ มีปัญญา
และมีวิจารณญาณ รู้เท่าทันโลก สามารถเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ และวัฒนธรรมต่างชาติที่หลากหลายได้ตลอดเวลา
ขณะเดียวกันสามารถสงวนรักษาคุณค่าทางวัฒนธรรมและค่านิยมที่ดีงามอันเป็นเอกลักษณ์ไทยไว้ได้ด้วย สำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนาเยาวชนในอนาคตนั้น
ควรประกอบด้วยยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ๆ ดังนี้ ๑)
ยุทธศาสตร์การพัฒนาสติปัญญาและกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่เป็นอยู่
จำเป็นต้องสร้างบุคคลที่มีทักษะในการเรียนรู้ เพื่อให้สามารถศึกษาและพัฒนาตนเองและสังคมได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตโดยมีแนวทางและมาตรการดังนี้
- การปฎิรูปกระบวนการเรียนการสอน ในหลักสูตรและรูปแบบที่หลากหลายควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารมวลชน
โดยเน้นการเรียนรู้จากของจริงในลักษณะ Learning how to learn และการสื่อสาร ๒ ทางระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน
(Two-way communication) เพื่อให้เยาวชนรู้จักคิดวิเคราะห์หาเหตุผล แก้ปัญหาและพัฒนาตนเองและสังคมได้
เรียนไปเพื่อให้รู้จักคิดด้วยตัวเอง เรียนไปเพื่อสามารถไปเรียนต่อด้วยตนเองได้ รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการวัดผลการเรียนและระบบการคัดเลือกเข้าเรียนในทุกระดับ
เพื่อให้เยาวชนสามารถพัฒนาขีดความสามารถของตน ได้ตามความถนัดและความสนใจ ทั้งนี้กระบวนการเรียนการสอน
ต้องเสริมสร้างให้เยาวชนมีทักษะและโลกทัศน์สากลที่จะสามารถเข้าใจและสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมโลกได้
ยกตัวอย่างเช่น ความรู้ในภาษาต่างประเทศ มีพื้นฐานเพื่อรองรับวิธีการปลูกพืชไร่สมัยใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิผล
และเทคโนโลยีใหม่ต่าง ๆ เช่น Internet, E-mail เป็นต้น รวมทั้งทักษะในการทำงานเป็นทีมอีกด้วย
ขณะเดียวกันเยาวชนจะต้องได้รับความรู้ความเข้าใจในเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นและคุณค่าแบบไทย
ๆ เช่น การเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน เป็นต้น
- การพัฒนาคุณภาพการศึกษาในทุกระดับ ให้มีมาตรฐานและลดความเหลื่อมล้ำในคุณภาพการศึกษาระหว่างเมืองและชนบท
โดยเน้นให้ความสำคัญกับการขยายโอกาสการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างน้อยระดับมัธยมศึกษาตอนต้นให้แก่เยาวชน
โดยเฉพาะในกลุ่มด้อยโอกาส เช่น เยาวชนในภาคเกษตร เยาวชนพิการ เยาวชนเร่ร่อน เป็นต้น
เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาแรงงานเด็กและโสเภณีเด็ก ขณะเดียวกันจะต้องมีการส่งเสริมเยาวชนที่มีสติปัญญาเป็นเลิศให้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
- การพัฒนาคุณภาพกำลังคนและการพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างกว้างขวาง
มีประสิทธิภาพและเพียงพอต่อความต้องการ โดยเร่งการผลิตกำลังคนระดับกลางและสูงในสาขาที่จำเป็น
เช่น ผู้เชี่ยวชาญทางเกษตรกรรมและหัตถกรรม วิศวกร ช่างเทคนิค นักบัญชี นักกฎหมาย
นักวิทยาศาสตร์ เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเกษตรอุตสาหกรรมและบริการที่ทันสมัย
ขณะเดียวกันส่งเสริมการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน แก่เยาวชนรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในลักษณะของการปฎิบัติได้จริงมากกว่าการเรียนรู้ตามทฤษฎี
รวมทั้งการฝึกฝีมือเพิ่มทักษะแก่เยาวชนที่ทำงานอยู่แล้วให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น
และสอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาอีกด้วย นอกจากนั้นจะต้องสนับสนุนการวิจัย
และพัฒนาที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ โดยเน้นให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือผนึกกำลังในการดำเนินงานต่าง
ๆ มากขึ้น
๒) ยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพอนามัย การพัฒนาเยาวชนให้มีพฤติกรรมที่ดีทั้งกายและใจจะต้องมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคมากขึ้น
โดยเน้นการให้ความรู้ในการบริโภคอาหารอย่างเหมาะสม เนื่องจากในปัจจุบันเยาวชนในเมืองมักประสบปัญหาภาวะโภชนาการ
เนื่องจากบริโภคอาหารที่เป็น Junk Food มากเกินไป ขณะที่เยาวชนชนบทบางพื้นที่ประสบปัญหาทุพโภชนาการ
นอกจากนั้นจะต้องมีการส่งเสริมให้เยาวชนออกกำลังกาย เล่นกีฬา ดนตรี เพื่อคลายเครียด
และมีการจัดนันทนาการที่ถูกหลักอนามัย การส่งเสริมให้เยาวชนมีพฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัย
เพื่อป้องกันปัญหาการติดเชื้อเอดส์ รวมทั้งการให้ความรู้ในด้านพฤติกรรมการบริโภคยาที่ถูกต้อง
เช่น ยาม้า ยาเสพติด บุหรี่ สุรา เป็นต้น ตลอดจนจะต้องสร้างจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนแก่เยาวชนอีกด้วย
เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุจากความประมาทที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้บริโภคและการจัดบริการสาธารณสุขแก่เยาวชนให้มีคุณภาพและทั่วถึงอีกด้วย ๓) ยุทธศาสตร์การพัฒนาจิตใจและวัฒนธรรม
การพัฒนาเยาวชนในอนาคตให้เป็นคนดี มีคุณธรรม
มีจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม รวมทั้งรักและตระหนักถึงความสำคัญของเอกลักษณ์ไทย
ควบคู่ไปกับการรู้จักวัฒนธรรมสากลที่หลากหลายนั้น จะต้องเน้นการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของเยาวชน
ให้สามารถเลือกรับและกลั่นกรองสื่อและข้อมูลที่เข้ามาได้อย่างเหมาะสม การพัฒนาและส่งเสริมสื่อคุณภาพ
เพื่อรณรงค์เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องค่านิยมที่ดีงาม การใช้หลักธรรมของแต่ละศาสนาเพื่อพัฒนาจิตใจและเยาวชน
โดยเน้นการเข้าใจถึงแก่นแท้ของศาสนา มากกว่าการงมงายกับเรื่องไร้เหตุผล รวมทั้งการส่งเสริมการเรียนรู้และถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นแก่เยาวชนรุ่นใหม่
ตลอดจนการอนุรักษ์และสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรม ที่มีคุณค่าในสาขาต่าง ๆ อีกด้วย ๔) ยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพของครอบครัวและชุมชน
เนื่องจากครอบครัวเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดในการพัฒนาเยาวชนถ้าครอบครัวมีความอบอุ่นมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและมีความพร้อมทางสังคมที่จะอบรมเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวแล้ว
โอกาสที่สมาชิกในครอบครัวจะเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพย่อมมีสูงมาก ดังนั้น จึงควรเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของครอบครัวโดยการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง
ๆ แก่คู่สมรส และบิดามารดา เพื่อให้สามารถมีบทบาทและหน้าที่อย่างเหมาะสม เช่น การให้ความรู้ด้านครอบครัวศึกษาและการอบรมเลี้ยงดูบุตร
การให้ความคุ้มครองแก่ครอบครัวในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การขยายเวลาลาคลอด การจัดบริการแนะแนวให้คำปรึกษาหรือปัญหาครอบครัว
ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัววิกฤต เช่น ครอบครัวไร้คู่ ครอบครัวยากจน เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน จะต้องเน้นให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาเยาวชนมากขึ้นด้วย
โดยเน้นให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในการเป็นแหล่งเรียนรู้แก่เยาวชนทั้งในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษา
เช่น การมีส่วนร่วมกำหนดหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับความพร้อม และความต้องการของแต่ละพื้นที่การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ของชุมชนในด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น
การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม การสร้างวัฒนธรรมชุมชน เพื่อสร้างจิตสำนึกและวิถีชีวิตประชาธิปไตยแก่เยาวชน
และการพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ เพื่อให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
รวมทั้งการทำหน้าที่เป็น Community Welfare ในการดูแลเยาวชนและครอบครัวที่มีปัญหาอีกด้วย ๕) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม
ในสังคมไทยยังมีเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสในลักษณะต่าง
ๆ อยู่จำนวนมาก เช่น เยาชนยากจน เยาวชนพิการ เป็นต้น รวมทั้งเยาวชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มวิกฤตที่เกิดจากปัญหาในด้านต่าง
ๆ เช่น เยาวชนติดเชื้อเอดส์ ติดยาเสพติด โสเภณีเด็ก เป็นต้น จึงเป็นภารกิจและหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะต้องให้ความช่วยเหลือเพื่อให้เยาวชนเหล่านี้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตตนเองให้สูงขึ้นและดำรงชีพอยู่ในสังคมได้เป็นปกติสุข
โดยจะต้องเน้นการพัฒนารูปแบบบริการสังคมต่าง ๆ ที่มีอยู่ เช่น บริการการศึกษา บริการสาธารณสุข
ฯลฯ ให้กลุ่มเยาวชนด้อยโอกาสเหล่านี้ สามารถเข้ารับบริการได้อย่างทั่วถึง เพียงพอ
ต่อเนื่องและมีคุณภาพ รวมทั้งจะต้องมีการส่งเสริมให้องค์กรทางสังคมทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือเยาวชนเหล่านี้ด้วย
เช่น สถาบันครอบครัว ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดอบอุ่น สถาบันศาสนาที่ต้องปรับปรุง สื่อมวลชน
ธุรกิจเอกชน NGO ฯลฯ ยุทธศาสตร์การเตรียมเยาวชนสู่อนาคตตามที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นภารกิจ
(MISSION) อันยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าใจถึงสถานการณ์และบทบาทของแต่ละฝ่าย
เพื่อประสานแนวคิดและการทำงานร่วมกันได้อย่างเหมาะสม ปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษา
คือ - ต้องร่วมมือ ร่วมใจ ทำกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
- แนวทางความคิด และทิศทางการปฏิบัติ อาจหลากหลาย และแตกต่างกันไป จึงต้องมีการพิจารณาร่วมกันโดยไม่มีอคติ
ไม่ระแวง หรือชิงดีชิงเด่น
- ศึกษาและรับรู้ความคิดและข้อมูลจากภายนอก
โดยผสมผสานหรือยึดถือค่านิยมและจุดเด่นของสังคมไทยไว้
- ยุทธศาสตร์การศึกษา และผลลัพธ์ที่จะได้มา มิใช่มุ่งมั่นทำขึ้นเพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
แต่เป็นการวางพื้นฐานให้ประเทศชาติเป็นสังคมที่ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา รายได้
และภูมิปัญญา เป็นสังคมที่มีคุณภาพ และสามารถดูแลปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าในอดีต
จุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ผมอยากให้เกิดขึ้นคือการเริ่มจากทุกท่าน
ที่ได้มาร่วมประชุมสัมมนาในวันนี้ เนื่องจากท่านทั้งหลายเป็นผู้ที่ใกล้ชิด ดูแลและมีอิทธิพลอย่างมากต่อทัศนคติ
ความคิดและแนวทางการดำรงชีวิตของเยาวชน ที่จะเป็นพลังสำคัญในการช่วยกันพัฒนาประเทศของเราให้เจริญก้าวหน้าอย่างมีศักดิ์ศรีในเวทีโลกได้ |