รวมปาฐกถาภาษาไทย
คำบรรยาย เรื่อง การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
โดย นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการแม่บทด้านสิทธิมนุษยชน
ในการสัมมนา ณ โรงแรมมหานคร กรุงเทพ (นิกโก้) วันอังคารที่ ๒๓
มีนาคม ๒๕๔๒ ณ โรงแรมมหานคร กรุงเทพ (นิกโก้) ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ท่านผู้เข้าร่วมสัมมนา และท่านผู้มีเกียรติ ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญจากกระทรวงยุติธรรมให้มาบรรยายเรื่อง
การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ในวันนี้ ผมเชื่อว่าทุกท่านในที่นี้
มีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ดังนั้นผมจึงขอบรรยายโดยสรุปตามเวลาอันมีจำกัด
เพื่อฝากข้อคิดเห็นหรือข้อสังเกตบางประการ อันอาจเป็นประโยชน์แก่การสัมมนาดังต่อไปนี้ (๑)
ข้อพิจารณาประการแรกคือ ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
เมื่อองค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ ๑๐
ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ ต้องนับว่าเป็นเอกสารรับรองสิทธิมนุษยชนที่สำคัญที่สุดของของมวลมนุษยชาติปฏิญญานี้ถึงแม้จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายโดยตรง
แต่สหประชาชาติก็ได้อาศัยอ้างอิงในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศต่าง
ๆ ตลอดมา นับแต่นั้นมา
สิทธิมนุษยชนซึ่งเคยถือกันมาช้านานว่าเป็นเรื่องภายในของประเทศที่จะให้หรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ตามที่รัฐจะเห็นสมควร
กลายมาเป็นสิทธิระหว่างประเทศที่ทุกประเทศจะเข้ามาร่วมกันสอดส่องดูแลและแทรกแซงแก้ไขเยียวยากรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศใดประเทศหนึ่ง
โดยประเทศนั้น ๆ จะอ้างว่าเป็นเขตอำนวยภายในของตน (Domestic Jurisdiction) ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว ดังจะเห็นได้จากสหประชาชาติได้เข้าแทรกแซงเพื่อยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายครั้งเช่น
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในบอสเนียเฮอร์เซโกวิน่า หรือในโคโซโวเป็นต้น การจัดตั้งศาลอาญากรสงคราม
เพื่อดำเนินคดีกับผู้มีส่วนร่วมทำผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในบอสเนียเฮอร์เซโกวิน่า
ในประเทศรวันดา รวมทั้งการริเริ่มจะให้มีการดำเนินคดีกับอดีตผู้นำเขมรแดงที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชาชน
ในสมัยที่เขมรแดงมีอำนาจปกครองกัมพูชาระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๘ - ๒๕๒๒ รวมทั้งการที่กลุ่มประเทศ
สหภาพยุโรปไม่ยินยอมให้ผู้นำพม่าเดินทางเข้าประเทศของตนเนื่องมาจากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศนั้นอย่างรุนแรงเป็นต้น ปัจจุบันประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน
ได้กลายมาเป็นหัวข้อสำคัญในการเจรจาทางการเมือง การค้าระหว่างประเทศ เช่น กรณีของสหรัฐอเมริกากับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
หรือการร่วมกันงดซื้อจากประเทศที่ใช้แรงงานเด็กหรือสตรีที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนเป็นต้น นอกจากนั้น
สหประชาชาติยังได้จัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศ อันมีผลก่อให้เกิดพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ
เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามหลักการแห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอีกหลายฉบับ
เช่น อนุสัญญาว่าด้วย สิทธิเด็ก สิทธิสตรี ผู้ใช้แรงงาน เป็นต้น ฯลฯ ประเทศไทยเราก็ได้เข้าร่วมเป็นภาคีข้อตกลงระหว่างประเทศดังกล่าวแล้วหลายฉบับ
เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก สตรี ผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวันที่ ๑๐
กันยายน ๒๕๓๕ ขณะที่ผมเป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมืองและทางการเมือง
ค.ศ. ๑๙๖๖ ของสหประชาชาติซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันตามกฎหมายและมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ต่อมา ได้ทราบว่าประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีกติกาฉบับนี้และมีผลตามกฎหมายเมื่อวันที่
๒๙ มกราคม ๒๕๔๐ นอกจากนั้น ยังได้ทราบว่าประเทศไทยดำริจะเข้าเป็นภาคีข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอื่น
ๆ เพิ่มขึ้นอีก นับว่าเป็นความก้าวหน้าทางด้านสิทธิมนุษยชนที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ดี
ผมมีข้อสังเกตว่า การเข้าเป็นภาคีข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนดังกล่าวมานี้
การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจะประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่มีข้อพิจารณาอย่างน้อย
๓ ประการ คือ ประการแรก
เมื่อเราเข้าเป็นภาคีข้อตกลงอันมีผลตามกฎหมายแล้ว เราต้องมีความตั้งใจและจริงใจที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีอย่างจริงจังด้วย
เพราะมิฉะนั้นแล้ว การเข้าเป็นภาคีก็จะมีผลเพียงการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาชาวโลกเท่านั้นแต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติซึ่งนับเป็นการสูญเปล่าอย่างน่าเสียดาย
ตัวอย่างเช่น เราควรตรวจสอบดูกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ว่าขัดหรือแย้งกับพันธกรณีหรือไม่หากพบว่าขัดหรือแย้งก็ควรหาทางยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยเร็ว
หรือถ้าเราจะตรากฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับขึ้นในอนาคต เราก็ควรดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลให้มากที่สุด
เป็นต้น ประการที่สอง
ปัจจุบันนี้เรายังไม่มีหน่วยงานกลางหรือองค์กรกลางที่จะทำหน้าที่ติดตามดูแลสอดส่องว่า
เมื่อเราเข้าเป็นภาคีข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว เราได้ดำเนินการต่าง
ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีมากน้อยเพียงใดองค์กรกลางนี้อาจจะจัดตั้งขึ้น ทั้งฝ่ายบริหารและทางฝ่ายนิติบัญญัติ
เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามมาตรา ๑๙๙ - ๒๐๐ แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วยก็ได้
เพื่อตรวจสอบไปพร้อม ๆ กัน อันจะช่วยให้การติดตามดูแลสอดส่อง ครอบคลุมได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประการที่สาม
การเข้าเป็นภาคีข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนนั้น เราต้องตั้งเป้าหมายว่าจะให้เข้าสู่มาตรฐานสากล
ตามเจตนารมณ์ของข้อตกลงนั้น ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราไม่ควรอ้างว่า เราจะปฏิบัติเท่าที่เห็นสมควร
หรือแบบไทย ๆ ดังที่การพูดกันอยู่เสมอทั้งในสังคมไทยและหลายประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะการมีความคิดเช่นนี้จะมีผลกระทบต่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมิให้ประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ
และจะก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ (Discrimination) อันเป็นข้อห้ามที่สหประชาชาติถือว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
รวมทั้งรัฐธรรมนูญฯ ๒๕๔๐ ก็ได้บัญญัติห้ามการเลือกปฏิบัติไว้ด้วยเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ดี
การจะบรรลุผลได้มากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับศักยภาพของประเทศนั้น ๆ ด้วยว่าจะเอื้ออำนวยเพียงใดด้วย
สหประชาชาติก็ยอมรับว่าแต่ละประเทศมีขีดความสามารถไม่เท่ากัน แต่ทุกประเทศจะต้องตั้งเป้าหมายไว้ตรงกัน
คือ ต้องพัฒนามาตรการต่าง ๆ ภายในประเทศและร่วมมือกันระหว่างประเทศ ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้ดีที่สุด
เท่าที่จะสามารถกระทำได้ (๒) ข้อพิจารณาประการที่สองคือ
เราควรตรวจสอบการพัฒนามาตรการต่าง ๆ อันจำเป็นภายในประเทศของเราเองว่าในอดีตเราได้ทำอะไรไปบ้าง
ปัจจุบันสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเป็นอย่างไร และในอนาคตเราควรทำอย่างไร
เพื่อให้การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสมตามเจตนารมณ์ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ผมมีข้อสังเกตว่า
ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย มีความแตกต่างกับหลายประเทศ ทั้งในทวีปเอเซียหรือทางตะวันตก
นั่นก็คือ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในอดีต มักจะเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิประชาชนโดยองค์กรรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ
แต่การละเมิดสิทธิโดยประชาชนด้วยกันเองมีน้อยมาก ทั้งนี้เพราะวัฒนธรรมหรือสภาพสังคมไทยมีบทบาทในเรื่องนี้
- เราไม่เคยมีปัญหาการเลือกปฏิบัติเรื่องเชื้อชาติ ขณะที่บางประเทศ
เช่นประเทศรวันดา ในทวีปอาฟริกาได้มีการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ระหว่างชนเผ่าฮูตูกับชนเผ่าตุ๊ดซี่
ชาวทมิฬกับชาวสิงหลในศรีลังกา ชาวเซิร์บกับคนเชื้อสายแอลเบเนียนในโคโซโว
- เราไม่เคยมีปัญหาเรื่องผิวเหมือนสหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย หรือแอฟริกาใต้
- เราไม่เคยมีปัญหาเรื่องศาสนาเหมือนยิวและมุสลิมในตะวันออกกลางคาทอลิกและโปรเตสแตนต์
ในไอร์แลนด์เหนือ ฮินดูกับสิกข์ในอินเดีย หรือปัญหาระหว่างชาวคริสต์กับชาวมุสลิม
ที่มีเหตุฆ่าฟันกันในบางพื้นที่ของอินโดนีเซียปัจจุบัน
- เราไม่มีปัญหาเรื่องภาษาเหมือนแคนาดาระหว่างประชาชนที่พูดภาษาเหมือนแคนาดาระหว่างประชาชนที่พูดภาษาอังกฤษ
กับประชาชนที่พูดภาษาฝรั่งเศสในรัฐควีเบก ถึงขนาดจะขอแยกดินแดน ฯลฯ
ในอดีต
เราเคยมีปัญหาการก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนใน ๔ จังหวัดภาคใต้ แต่เป็นเรื่องการเมืองโดยตรง
ชาวไทยที่นับถือพุทธกับชาวไทยที่เป็นมุสลิมสามารถอยู่ร่วมกันโดยปกติสุข ไม่มีการก่อเหตุรุนแรงระหว่างประชาชนด้วยกันการก่อการร้ายใน
๔ จังหวัดภาคใต้ในอดีตและในปัจจุบัน จะเป็นเรื่องที่กระทำต่อเจ้าหน้าที่รัฐหรือทรัพย์สินของรัฐทั้งสิ้น
และแม้จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นเป็นบางครั้งในประเทศไทย เช่นเหตุการณ์รุนแรง ๑๔
ตุลาคม ๒๕๑๖ หรือพฤษภาคม ๒๕๓๕ ก็เกิดขึ้นชั่วระยะสั้น ๆ และเหตุการณ์ก็กลับเป็นปกติอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี
ปัญหาการละเมิดสิทธิโดยเอกชนต่อเอกชนในประเทศไทยได้เพิ่มมากขึ้นแล้ว เช่น การใช้แรงงานเด็ก
สตรีโดยผิดกฎหมาย การค้าประเวณี การค้าเด็กหรือผู้หญิง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราควรติดตามอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เหตุผลสำคัญยิ่งประการหนึ่ง
ที่ทำให้สังคมไทยมีความปกติสุขไม่มีการเลือกปฏิบัติหรือการก่อเหตุร้ายรุนแรง ก็เพราะมีสถาบันกษัตริย์ที่มั่นคงและเที่ยงธรรม
และเป็นจุดรวมหัวใจของคนไทยทุกคน ทุกคนมีความเทิดทูนบูชาต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเหมือนกัน
ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นอบอุ่น ไม่มีการเลือกปฏิบัติในระหว่างคนไทยด้วยกันเอง
หรือกับคนต่างชาติที่มาพำนักตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย และเป็นลักษณะพิเศษของสังคมไทยที่เป็นมาตั้งแต่โบราณกาล
ซึ่งเราควรมีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและลักษณะสังคมไทยดังกล่าวนี้ เท่าที่ผมได้ติดตามการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยพบว่า
ได้เป็นไปโดยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับ เช่น เราได้ประกาศใช้กฎหมายใหม่ ๆ หลายฉบับเพื่อส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นจำนวนมาก
เช่น - เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ
๕ ครั้งสำคัญเพื่อรับรองสิทธิของหญิงให้เท่าเทียมกับชาย
- การประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๔๐ และพระราชบัญญัติการค้าเด็กและสตรี
พ.ศ. ๒๕๔๐
- การเสนอพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
พ.ศ.
ตามมาตรา ๑๙๙ - ๒๐๐ แห่งรัฐธรรมนูญฯ ๒๕๔๐
- การยกเลิกกฎ
ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่ห้ามสตรีดำรงตำแหน่งข้าราชการบางตำแหน่ง
- การแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา
จำเลย หรือนักโทษให้มีสภาวะดีขึ้น
- การประกาศใช้พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่
พ.ศ. ๒๕๒๖
- การประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ประเทศไทยประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้มาจากการร่างอย่างเป็นประชาธิปไตย
โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางมากที่สุดเท่าที่เคยมีการยกร่างรัฐธรรมนูญในประเทศไทย (๓)
ข้อพิจารณาประการที่สามคือ การจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการแม่บทแห่งชาติด้านสิทธิมนุษยชน จากข้อเท็จจริงดังได้กล่าวแล้ว
จะเห็นได้ว่าการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้มีความสำคัญมากขึ้นตลอดเวลา และประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อบทบาทด้านนี้โดยดำเนินการเป็นได้ผลเป็นที่น่าพอใจตามสมควร
โดยภาครัฐและภาคเอกชนต่างร่วมมือกันในการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา อย่างไรก็ดี
การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ยังมีลักษณะต่างตนต่างทำ โดยมิได้มีการประสานงานทางด้านการจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการเท่าที่ควรอาทิ
การคุ้มครองสิทธิเด็กและสตรี มีองค์กรภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี
กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานอัยการสูงสุดฯลฯ
การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อม มีองค์กรภาครัฐหลายแห่งเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร ฯลฯ สิทธิมนุษยชนด้านการศึกษา
มีหน่วยงานภาครัฐเกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร องค์การปกครองท้องถิ่นอื่น
ๆ ทบวงมหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลมีความอิสระในการดำเนินการตามกฎหมาย
ฯลฯ การดำเนินงานที่มีลักษณะต่างคนต่างทำดังกล่าวนี้
ทำให้การกำหนดนโยบายแผนปฏิบัติการ การกำหนดเป้าหมาย การติดตามประเมินผล ฯลฯ ขาดความชัดเจน
ไม่มีเอกภาพ และอาจเกิดความขัดแย้งหรือซ้ำซ้อนกันได้เสมอ ทำให้การดำเนินงานไม่สามารถบรรลุได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น
รัฐบาลจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการแม่บทด้านสิทธิมนุษยชน
โดยเชิญผมเป็นประธานกรรมการ ซึ่งผมก็ได้ตอบรับด้วยความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติยิ่ง
บัดนี้คณะอนุกรรมการยกร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการแม่บทด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งคณะกรรมการแห่งชาติฯ
แต่งตั้งได้ดำเนินการยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้โดยได้รับความร่วมมือจากท่านผู้ทรงคุณวุฒิหลายฝ่าย
ได้เสียสละเวลาร่วมแรงร่วมใจเขียนแผนแม่บทนี้ขึ้นโดยไม่ได้รับข้อตอบแทนแต่อย่างใด
นับเป็นเรื่องที่น่ายกย่องสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง (๔)
สรุป ในทัศนะของผมเห็นว่าการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย มีแนวโน้มไปในทางที่ดีมากยิ่งขึ้น
และองค์ประกอบสำคัญที่มีส่วนสนับสนุนให้ประสานความสำเร็จ อย่างน้อยควรมีดังต่อไปนี้คือ
- การให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษาแก่ประชาชนทั้งในการเรียนรู้ในระบบตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา
และการเรียนรู้ทั่วไป เช่น การศึกษานอกโรงเรียน การศึกษาตามอัธยาศัย โดยผ่านสื่อต่าง
ๆ เพราะหากประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ ก็จะช่วยให้การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนก้าวเข้าสู่มาตรฐานสากลเร็วยิ่งขึ้น
ประเทศที่ประสบความสำเร็จทางด้านสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันต่างมีปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ
ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพอย่างจริงจัง และใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือตามกฎหมายต่าง
ๆ อย่างถูกต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม เคารพสิทธิผู้อื่น ไม่ละเมิดกฎหมาย
แต่ถ้าประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิเสรีภาพและใช้อย่างไม่ถูกต้องหรือตามอำเภอใจ
เราก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จในเรื่องนี้
- การให้ความสำคัญแก่สิทธิมนุษยชนศึกษาที่ได้แก่บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วยงาน
เพราะการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย มักจะเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
หากได้มีการศึกษาสิทธิมนุษยชนอย่างถูกต้อง จะช่วยยับยั้งมิให้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างได้ผลและเจ้าหน้าที่รัฐจะให้ความสำคัญแก่การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอยู่ตลอดเวลา
เมื่อปี
พ.ศ. ๒๕๓๕ ขณะที่ผมเป็นนายกรัฐมนตรีคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้มีการศึกษาอบรมสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแก่เจ้าหน้าที่รัฐ
และให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบเป็นต้น
นอกจากนั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติให้มีการจัดตั้งกลไกระดับชาติ เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยตรง
ซึ่งปัจจุบันก็คือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตาม ม. ๑๙๙ - ๒๐๐ แห่งรัฐธรรมนูญฯ
๒๕๔๐ นั่นเอง - การให้ความสำคัญแก่การพัฒนากระบวนการตรวจสอบ
สอบสวนความรับผิดชอบ และแก้ไขเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ทั้งที่เป็นกลไกในกระบวนการยุติธรรม กลไกทางบริหาร กลไกของชุมชน กลไกทางด้านสื่อมวลชน
ฯลฯ โดยร่วมประสานงานไปพร้อม ๆ กัน จะทำให้กระบวนการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นไปอย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ
มากยิ่งขึ้น
ท้ายสุดนี้
ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติแม่บทด้านสิทธิมนุษยชน
ผมขอขอบคุณผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน ที่ได้สละเวลาอันมีค่ามาร่วมพิจารณาและให้ความเห็นวิเคราะห์แผนแม่บทด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งจัดทำเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
ความเห็นหรือข้อเสนอแนะของท่าน ย่อมมีคุณค่าและมีประโยชน์ยิ่งต่อคณะกรรมการฯ เพื่อจักได้นำไปประกอบการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่างแผนแม่บทฉบับนี้
ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นและเอื้อต่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สมตามเจตนารมณ์ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน |