รวมปาฐกถาภาษาไทย
ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง สังคมไทยกับการแก้ปัญหาความยากจน
โดย นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ๕ กันยายน
๒๕๔๒ ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง ปกติวันหยุด
วันอาทิตย์ ผมจะไม่รับงานที่ไหนเพราะเป็นวันครอบครัว แต่สำหรับวันนี้ผมรู้สึกยินดีที่จะได้มาพบปะพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานเก่า
ๆ คุณรตยาหรือคุณไพบูลย์ก็ดี รวมทั้งได้มีโอกาสมาเห็นความก้าวหน้า ความเติบโตของโครงการพัฒนาชุมชนเมืองตลอด
๗ ปีที่ผ่านมา คนไทยตั้งแต่โบราณมามักยอมรับความจนว่าเป็นเรื่องของบุญของกรรม
เราเกิดมาจนเพราะชาติที่แล้วเราทำไม่ดี หรือเราเกิดมารวยเพราะว่าเราทำดีมาในชาติอดีต
ผมไม่ทราบข้อเท็จจริงอยู่ที่ไหน แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าเราจนในชาตินี้เพราะเราไม่ทำดีในชาติก่อน
หรือเราต้องทำดีในชาตินี้เพื่อรวยในชาติหน้า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ส่วนตัวผมไม่ได้คิดถึงเพราะเราไม่มีทางพิสูจน์และไม่มีทางรู้ได้
แต่ผมรู้อยู่อย่างเดียวว่า คนที่จนหรือความยากจนนั้นไม่จำเป็นต้องจนอยู่ตลอดชีวิต
และความยากจนนั้นมีวิธีการที่จะแก้ไขและผ่อนบรรเทาไปได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจิตใจของแต่ละบุคคลด้วย แต่ถ้าเราพูดถึงความยากจนของสังคม
ความยากจนของสังคมไม่ได้มีอยู่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น เราเปิดโทรทัศน์ดู เราฟังข่าวต่างประเทศเราก็จะเห็น
ความเดือดร้อนและอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่างที่ทารุนและรุนแรงมากกว่า ความยากจนจะปรากฎอยู่ในสังคมอื่นโดยทั่วไป
สำหรับเมืองไทยผมเห็นว่าเรายังโชคดี เรายังเป็นชาติที่มีความเอื้ออาทร มีสังคมที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
และไม่มีภัยธรรมชาติที่ทำให้ความยากจนนั้นมีความทารุณกรรมยิ่งขึ้น ไม่มีแผ่นดินไหว
ไม่มีไต้ฝุ่น ไม่มีภูเขาไฟระเบิดและไม่มีสงครามกลางเมือง เพราะสิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนสภาพของความจนความรวยได้ทันที
แต่ทุก ๆ สังคมไม่มีสังคมใดไม่มีความบกพร่อง ไม่มีสังคมใดที่จะดีเลิศร้อยเปอร์เซนต์
ผมเคยใช้เวลาในต่างประเทศมาเป็นเวลานาน
เคยอยู่ในสหรัฐอเมริกามา ๑๒ ปีผมเห็นความจนในสหรัฐอเมริกามาแล้ว สำหรับผู้ที่ไม่เคยไปหรือไม่ได้ติดตามข่าวสารก็อาจจะนึกว่า
สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นเมืองที่ร่ำรวยที่สุดในโลก มีรัฐบาลที่เข้มแข็งบริหารราชการเป็น
มีภาคธุรกิจที่เข้มแข็งมีประชาชนที่มีคุณภาพ แต่ในจำนวนประชากร ๒๕๐ ล้านคน ก็มีจำนวนไม่น้อยกว่า
๑๐ ล้านคน ที่ยังอยู่ในข่ายที่เขาเรียกว่ายากจน ผมเคยอยู่ในเมืองนิวยอร์กเป็นเมืองที่มีประชากรกว่า
๑๐ ล้านคน ผมเคยเห็นความจนที่นั่น เป็นความจนที่น่าทุเรศยิ่งกว่าความจนในเมืองไทย
เพราะสภาพอากาศเขาไม่เหมือนกับเมืองไทย ของเราเครื่องนุ่งห่มไม่ต้องการมากมายเท่าไหร่
แต่ผมเห็นคนจนในนิวยอร์กที่เวลาหน้าหนาวไม่มีเสื้อผ้าไม่มีเสื้อคลุม ต้องเอาหนังสือพิมพ์เป็นเล่ม
ๆ ยัดเข้าหน้าอกผมเห็นคนจนในนิวยอร์กนอนข้างถนนมากกว่าที่ผมเห็นคนไทยนอนข้างถนน ผมเห็นคนจนในนิวยอร์กที่นอนอยู่ในตึกร้างแล้วถูกหนูกัดตาย ที่ผมเอาเรื่องนี้มาพูดไม่ได้หมายความว่าเมืองไทยดีกว่าหรือว่าเราควรสบายใจได้
ในสังคมที่เราต้องการความยุติธรรมนั้น เราไม่สามารถเปรียบเทียบความยากจนได้ว่า ของเราจนน้อยกว่าเขาหรือคนจนของเราน้อยกว่าเขา
หรือคนจนของเราหรือความยากจนของเรานั้นดีกว่า อันนั้นไม่ใช่ประเด็นที่เราอยากพูด
แต่ประเด็นที่ผมอยากย้ำก็คือว่า อย่าอาลัยตายอยาก ความจนอย่างหนึ่งเกิดจากสภาพสิ่งแวดล้อม
แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากตัวเราเอง เป็นภาวะทางด้านจิตใจมากกว่า จนที่ใด จนที่ไหน จนระดับใด
เรามีความเพียงพอไหม เรามีความพอใจไหม เรามีความพอดีไหม ปัญหาความยากจนของเมืองไทยนั้นมีมาช้านานและจะมีต่อไปเป็นปัญหาที่จะไม่มีทางแก้สำเร็จได้
เพราะเมื่อประเทศมีความมั่งคั่งมากขึ้น เศรษฐกิจรุ่งเรืองมากขึ้น ระดับที่เราจะบอกว่าคนจนอยู่ที่ใด
ระดับนั้นก็จะสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่อันนั้นเป็นเพียงตัวเลข คนทำมาหากินมีรายได้เดือน
ๆ ละ ๒,๐๐๐ บาท อันนั้นจนหรือเปล่า ขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับว่าเขามีที่อยู่อาศัยหรือเปล่า
เขามีลูกกี่คน เขาชอบการพนันหรือดื่มเหล้าหรือเปล่า แต่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใด ทุกรัฐบาลก็บอกว่าฉันช่วยคนจน
ฉันจะช่วยคนจน จะหาทางแก้ไข แต่ความจริงใจและจริงจังนั้นอยู่ที่ไหน ผมอยู่ในระบบราชการมา
๒๓ ปี แล้วก็ออกมาอยู่ภาคธุรกิจ ผมได้เห็นทั้ง ๒ ด้านจะเห็นทั้งความดีและความบกพร่อง
แต่เมื่อมาเกี่ยวข้องกับงานทางด้านการเมือง โดยเฉพาะงานด้านร่างรัฐธรรมนูญนั้น ผมได้เห็นสัจธรรมอะไรบางอย่าง
เป็นสิ่งที่ผมถือว่าเป็นชีวิต เป็นประโยชน์กับชีวิตของผม เพราะเป็นสิ่งที่ผมเรียนรู้ด้วยตนเอง
เรียนรู้ด้วยการสัมผัสด้วยตัวเองและเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นคำตอบ เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาความยากจนของสังคม อะไรคือสิ่งที่ผมเรียนรู้
ทุกรัฐธรรมนูญที่เรามีมา ๑๕ ฉบับ ก่อนที่จะถึงฉบับนี้นั้น จะพูดถึงอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย
หลายครั้งหลายคราวเราก็มีการถกเถียงกันว่าควรแก้ไขคำพูดนี้เป็นอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนหรือไม่
นักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์ นั่งเถียงกันทางทฤษฎี ว่าอะไรจะเหมาะสมที่สุด ผมคิดว่าผมโชคดี
ผมไม่ใช่นักรัฐศาสตร์ และนักนิติศาสตร์ ในสายตาของผมไม่ว่าจะใช้คำว่า อธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทยหรืออธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย
ผมคิดว่าความหมายมันใกล้เคียงกันสำหรับสามัญชนที่เดินอยู่ตามถนน สำคัญอยู่ที่ว่าประชาชนมีโอกาสได้ใช้อำนาจอธิปไตยมากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้ก็คือ
นักการเมืองที่เราเลือกเข้าไป เลือกผิดบ้าง เลือกถูกบ้าง เลือกดีบ้าง เลือกเลวบ้าง
พวกนั้นก็เป็นเพียงตัวแทนของเราเท่านั้น บางครั้งตัวแทนของเราก็ทำได้ดี บางครั้งและบ่อยครั้ง
ตัวแทนของเราก็ทำไม่ดีและไม่ดีเป็นอย่างมาก ปัญหาอยู่ที่ว่าชีวิตของคนเรานั้นเรามีสิทธิในชีวิตของตัวเราแค่ไหน
เราเป็นมนุษย์ เรามีศักดิ์ศรีของตัวเราเอง ซึ่งเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ และเมื่ออำนาจอธิปไตยมาจากเราและเป็นของเรา
สิ่งที่คนไทยจะต้องเรียนรู้ต่อไปว่า ถ้าเผื่ออำนาจอธิปไตยมาจากเราและเป็นของเรา แล้วเราจะทำอะไรกับมัน
เราจะปล่อยให้เป็นอย่างที่ผ่านมา ๖๕ ปี แล้วหรือ ผมเรียนรู้ว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่เรียนรู้พอใช้
ถ้าเผื่อเราสนใจ ๗ - ๘ ปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า กลไกทางการเมืองไม่ดีขึ้นเท่าไหร่
คุณภาพทางด้านการเมืองอาจไม่ดีขึ้นเท่าไหร่ คุณภาพทางราชการอาจไม่ดีขึ้นเท่าไหร่
แต่คุณภาพของบุคคลและของชุมชนดีขึ้นผิดหูผิดตา สิ่งนี้เป็นกำลังใจให้กับพวกเรา ที่อยากร่วมทำงาน
เป็นหุ้นส่วนกัน ทำงานด้วยกัน มีความคิดในแนวทางเดียวกัน แก้ปัญหาของสังคม แก้ไขปัญหาของชุมชน ผมพัวพันกับระบบราชการมานาน
ผมมีความนับถือและเชื่อถือราชการในระดับหนึ่ง แต่ผมไม่เชื่อว่าราชการจะแก้ปัญหาของเราได้เบ็ดเสร็จ สัจธรรมอันที่สองที่ผมคิดได้
ที่ผมได้ค้นพบจากประสบการณ์ คือ ในสังคมทุกชาติ นับวัน นับวัน รัฐบาลจะต้องเล็กลงไป
ปัจจุบันเรามีรัฐบาลที่ใหญ่มาก มีข้าราชการเต็มบ้านเต็มเมือง ปัญหาก็ไม่ได้ทุเลาลงไป
คอรัปชั่นก็มีมากขึ้น การใช้อำนาจในทางที่ผิดมีมากขึ้น และการหลอกกลวงประชาชนก็มีมากขึ้น
ความจริงใจในสังคมไทยก็น้อยลงไป มีอยู่ทางเดียวครับ คือการปฏิรูประบบราชการ ให้เป็นหน่วยงานที่กะทัดรัด
ที่เล็กลง ที่มีอำนาจน้อยลงไป มีความรับผิดชอบน้อยลงไป งบประมาณน้อยลงไป จะต้องเปลี่ยนระบบควบคุมมาเป็นระบบส่งเสริม
สนับสนุนดูแล แต่ไม่ใช่ดูแลแบบอย่างเจ้านาย ไม่ใช่ปกครองจากผู้ใหญ่มายังเด็ก ไม่ใช่ปกครองตามโรงเรียน
ไม่ใช่ปกครองหรือสั่งสอนให้คนต้องการอำนาจ ให้นับถืออำนาจ ให้เคารพเงิน แต่ต้องเป็นระบบที่ให้โอกาสกับคน
เป็นระบบที่ส่งเสริมโอกาสกับคน เป็นระบบที่เมื่อมองเห็นคนแล้ว ต้องลืมตำแหน่งของเขา
ลืมฐานะ มองเห็นใครก็เห็นว่า เป็นผู้ชาย เป็นผู้หญิงหรือเป็นเด็กเท่านั้น เป็นคนดีหรือไม่
เป็นคนเก่งหรือไม่ ไม่ใช่มองเห็นใครมองว่า เขาเป็นรัฐมนตรี เป็นอธิบดี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
เศรษฐีคหบดี เจ้าสัว เราต้องเริ่มมองคนว่าพวกเราคือมนุษย์ปุถุชนทั่วไป ความพยายามในอดีตที่จะเข้าไปแก้ปัญหาความยากจนหรือปัญหาของคนจนนั้นมันพัวพันกับเรื่องมากมายนานาประการ
แต่ผมนึกถึง เรื่องปัจจัยสี่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย อันนี้เป็นความคิดดั้งเดิมว่าคนเราต้องอาศัยปัจจัยสี่
อาหารนั้นแน่นอน เครื่องนุ่งห่มก็แน่นอน ยารักษาโรคมีความจำเป็นและที่พักอาศัย ในปัจจัยสี่นั้น
ในบางอย่างอาศัยระบบราชการหรือรัฐบาลดำเนินการได้ แต่บางอย่างต้องพึ่งตนเอง แต่ผมอยากเติมปัจจัยอันใหม่เข้าไป
เพราะผมคิดว่า อันนั้นคือ เหตุสำคัญของความยากจน เหตุสำคัญที่เราจะไม่ทำให้สามารถผละตัวเองออกจากความยากจนได้ในสังคมปัจจุบันหรือโลกปัจจุบัน
ปัจจัยที่ ๕ คือ การศึกษา เพราะถ้าหากไม่มีรากฐานทางด้านการศึกษาแล้ว โอกาสของคนเราที่จะผละตัวเองออกจากเวทีความจนนั้นค่อนข้างจะยาก วิธีการแก้ปัญหาความยากจน
จะอยู่ใน ๓ ระดับ ในระดับแรก ต้องเรียกว่า เป็นระดับของชาติหรือระดับของรัฐ ระดับที่สอง
ระดับท้องถิ่น ระดับที่สาม ระดับตัวเราเอง ผมไม่มีความรู้พอที่จะพูดถึงนโยบายหรือมาตรการหรือประสบการณ์ในอดีต
แต่สิ่งที่ผมพูดจะเป็นสิ่งที่ผมคิด คิดอยู่ในขณะนี้ เริ่มต้นในเรื่องระดับชาตินั้น
ผมคิดว่ารัฐต้องกำหนดนโยบายแน่นอนและเด่นชัดว่ารัฐและหน่วยราชการนั้น ไม่ควรเป็นเจ้าของเรื่องทุกเรื่องที่เกี่ยวกับความยากจน
รัฐไม่มีหน้าที่แก้ไขปัญหาทุกปัญหา และรัฐไม่มีความสามารถเพียงพอ รัฐต้องกำหนดให้แน่นอนว่า
สิ่งใดที่ตัวเองต้องรับผิดชอบโดยตรง วางลำดับก่อนหลังและให้งบประมาณเพียงพอ ผมมองว่ารัฐสมัยใหม่หรือสังคมไทยนั้น
สิ่งที่รัฐจะต้องให้คำตอบที่แน่นอนกับประชาสังคม คือ รัฐต้องจัดหาและให้บริการ เรื่องการศึกษาและการรักษาพยาบาล
เราอาจมีโรงเรียนเอกชน และเราอาจมีโรงพยาบาลเอกชน แต่จริง ๆ แล้วในเรื่องของการศึกษากับการรักษาพยาบาลนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐโดยตรง
เรามีกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข ที่ส่วนใหญ่ก็ทำดี แต่หลายครั้งที่ทำเสียมาก ปัญหาคอรัปชั่นใหญ่
ๆ ที่เราได้ยินจากแหล่งข่าวต่าง ๆ ก็พัวพันกับทั้งด้านกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข
และถ้าจะพูดถึงความยากจนในชนบท กระทรวงเกษตรฯ ของเรา ก็ยังอยู่ในลักษณะที่ทำงานไม่สมบูรณ์
ส่วนหนึ่งก็อาจจะเกิดจากการจัดการในระดับการเมืองที่ไม่ดี อีกส่วนหนึ่งก็อาจจะเกิดจากการจัดการของระบบงานไม่ดี
แต่นอกเหนือจากเรื่องการศึกษา การรักษาพยาบาลและการเกษตรแล้ว สิ่งที่รัฐต้องปฏิบัติและจะต้องปฏิบัติโดยรวดเร็วด้วย
คือ การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายต่าง ๆ ที่ขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับป่าสงวน
เรื่องที่ดิน เรื่องอะไรต่าง ๆ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เน้นถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน
เน้นถึงความจำเป็นที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดตัดสินใจและกำหนดมาตรการต่าง
ๆ ระดับที่สอง
คือ ระดับชุมชน ถ้าเราเน้นถึงการมีส่วนร่วม เราเน้นถึงความเป็นเจ้าของ ประชาชนต้องมีความรับผิดชอบในเรื่องนี้
วันนี้ก็เป็นสักขีพยานอันหนึ่งที่เห็นว่าพลังของประชาชน พลังของชุมชน พลังของเครือข่ายและพลังของคนที่ต้องการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองนั้นปรากฏเด่นชัด
เราต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาความยากจนในระดับชุมชน ในระดับท้องถิ่นช่วยกันสร้างองค์กร
สร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันไม่ว่าในเรื่องเกษตร ในเรื่องการให้กู้ยืมเงินและในเรื่องหนี้สิน ในระดับที่สาม
คิดว่ามีความสำคัญมากที่สุด เพราะระดับที่สองจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีระดับที่สาม นั่นคือระดับของตัวเราเอง
เราจะต้องรู้ว่าความยากจนนั้นเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ ถ้าหากเรามีความเพียรพยายาม มีความมานะอดทน
เพิ่มพูนความรู้และการเรียนรู้ ไม่เกียจคร้านไม่มีอบายมุข ในอันที่จะทำลายตัวเองหรือทำลายชีวิตครอบครัวตัวเอง
ไม่ว่าเรื่องการพนัน ยาเสพติดหรือการดื่มเหล้า ถ้าเผื่อสภาพจิตใจของเราพร้อมที่จะต่อสู้กับอุปสรรคที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้
ในเรื่องของความยากจน ถ้าเผื่อเรารู้ว่าปัญหาอยู่ที่ใดและเรามีความหมั่นเพียร มีความพยายามมีความอดทนที่จะแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง
เริ่มต้นด้วยตัวเอง และถ้าทุกคนมีสภาพจิตใจไปในแนวนี้ ถ้าต้องการช่วยตัวเอง เราก็ช่วยคนอื่นด้วย
และเมื่อเราช่วยคนอื่นแล้วมันก็เกิดสภาวะของการรวมตัว ของการรวมกลุ่ม ของการรวมชุมชน
และของการสร้างเครือข่ายทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์อันเดียวกัน อันนั้นคือการขจัดความยากจนออกจากตัวเอง
และการขจัดความยากจนออกจากสังคมของเราในชีวิตของเรา ถ้าเราคอยพึ่งผู้อื่น
พึ่งระบบราชการ พึ่งพี่น้อง พึ่งเพื่อนฝูง อันนั้นไม่ใช่เป็นการเริ่มต้นที่ถูกต้อง
การเริ่มต้นที่ถูกต้องคือการเริ่มพึ่งตัวเอง ตรวจสอบตัวเอง แก้ไขตัวเอง ต่อสู้ด้วยตัวเอง
ถ้าเผื่อเราต่อสู้เพื่อตัวเองแล้ว ในไม่ช้าจะมีคนอื่นเข้ามาร่วมต่อสู้กับเรา พลังของชุมชน
พลังของเครือข่าย พลังของความคิดจะทำให้พวกเราฝ่าฟันอุปสรรคในชีวิตไปได้อย่างรวดเร็วและด้วยสวัสดิภาพ และในโอกาสนี้
ผมจึงรู้สึกยินดีที่ได้มาพบพวกท่านทั้งหลาย และที่มานี้ไม่ใช่มาให้กำลังใจกับพวกท่านเท่านั้น
แต่ผมถือว่าผมมาวันนี้ผมได้ประโยชน์ ได้ประโยชน์กับตัวเราเอง เพราะได้เห็นสิ่งที่เป็นจริง
ได้เห็นสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นคุณค่าของสังคม และได้เห็นสิ่งที่ผมคิดว่าจะเป็นค่านิยมต่อไปในสังคมไทย เราอาจมีความเชื่อถือว่า
ถ้าเผื่อเราสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ หรือส่วนรวมของประเทศแล้ว ความมั่งคั่งเหล่านี้จะค่อย
ๆ กระจายลงไปสู่เบื้องล่าง เบื้องล่าง คือ ผู้ที่ยากจน แต่ตามข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ความมั่งคั่งที่เราสร้างให้ประเทศหรือสังคมนั้น ประโยชน์ส่วนใหญ่จะได้กับผู้ที่มีฐานะดีแล้ว
มีธุรกิจดีแล้ว มีอำนาจดีแล้ว แต่จะไม่หลุดไหลลงไปที่เบื้องล่างที่สุด เพราะฉะนั้น
๔๐ ปีที่ผ่านมาช่องว่างระหว่างคนจนในสังคมไทยกับคนรวยมันมากขึ้นมากขึ้น ที่ผ่านมาการสร้างความมั่งคั่งของประเทศนั้นเราจะดูตัวเลขทางเศรษฐกิจ
ตัวเลขอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ตัวเลขการเติบโตการส่งออก ตัวเลขอัตราการเติบโตของรายได้ประชาชาติ
ดูตัวเลขหมด ดูตัวเลขจนลืม ลืมว่าตัวเลขนั้นกับภาวะสภาพจิตใจของมนุษย์ กับภาวะสภาพจิตใจของสังคมมันไม่เกี่ยวโยงกันเลย
ลืมไปว่าความมั่งคั่งนั้นสร้างได้ แต่ความมั่งคั่งหรือความร่ำรวยของสังคมนั้นก็จะมีผลกระทบทางด้านลบเกิดกับสังคมเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาเป็นไปได้ว่าเราให้ความสำคัญกับตัวเลขทางเศรษฐกิจมากเกินไปโดยไม่คิดถึงผลกระทบ
หรือปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคม ยกตัวอย่างง่าย ๆ เราบอกว่าเราจะต้องแปรสภาพเมืองไปให้เป็นรัฐที่มีอุตสาหกรรม
แต่การสร้างอุตสาหกรรมอยู่แต่ในเมืองหลวงหรืออยู่แต่ในปริมณฑล มีผลทำให้ชาวต่างจังหวัด
ชาวชนบทเข้ามาหางานทำ เพราะความยากจนนั้นคืออะไร ความยากจน คือ การไม่มีรายได้ ดังนั้นจะแก้ปัญหาความยากจนง่าย
ๆ คืออะไร คือสร้างงาน รัฐบาลก็นึกว่ารัฐบาลสร้างงานคือการไปเปิดโรงงานที่นั่น มีธุรกิจที่นี่
คนต่างจังหวัดก็มากัน คนต่างจังหวัดมาก็แยกกับครอบครัว มาถึงมาอยู่ที่ที่เขาก่อสร้าง
ลูกก็ไม่มีโรงเรียน ปัญหาสังคมตามมาลำดับ ชุมชนแออัดมีพันกว่าแห่งในกรุงเทพฯ เกิดปัญหายาเสพติด
เกิดปัญหาทางเพศ เกิดปัญหาต่าง ๆ นานา เพราะฉะนั้นต้องถึงเวลาที่บอกว่า
เศรษฐกิจกับสังคมนั้นเกี่ยวพันกัน ถ้าเรามองถึงเรื่องของการพัฒนา อย่าไปคิดว่าพัฒนาเศรษฐกิจด้านหนึ่งและพัฒนาสังคมด้านหนึ่งว่าจะต้องผสมผสานว่าพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กันไป
จริง ๆ แล้ว คือ พัฒนาการเมืองเศรษฐกิจ สังคม ควบคู่กันไปหมดไม่มีอะไรสำคัญกว่าอะไร
สำคัญเท่ากันไปหมด และผูกโยงกันไปหมด แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่
๘ นั้นเริ่มเปลี่ยนทิศทางการมองแต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ มามองถึงการสร้างคุณภาพของคนในสังคม
แผนที่ ๙ ผมยังไม่รู้ว่าจะออกมาอย่างไร แต่ผมรู้อยู่อย่างหนึ่งว่าในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมานั้น
มีมาตราอยู่หนึ่งมาตราว่าให้มีการแต่งตั้ง สภาที่ปรึกษา ให้เป็นองค์กรที่มาจากประชาชนโดยตรง
องค์กรนี้ที่จะตั้งขึ้น คือ สภาที่ปรึกษาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เป็นการเขียนบ่งชัดว่า
ตัวแทนจะต้องมาจากภาคประชาชน ไม่ใช่มาจากภาคราชการ และจะเป็นตัวแทนจากด้านต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็นเกษตร ประมงหรือแม้แต่คนจนอะไรก็แล้วแต่ สิ่งสำคัญก็คือว่า เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย
ที่สภาที่ปรึกษาฯ นั้นถึงแม้จะไม่มีอำนาจในการตัดสินใจแต่จะมีความรับผิดชอบในการเสนอข้อคิดเห็น ฝ่ายรัฐ
ฝ่ายราชการ ฝ่ายนักการเมืองอาจเขียนแผนขึ้นมาได้ แต่แผนนี้จะต้องได้รับการทบทวนจากสภาที่ปรึกษาฯ
สภาที่ปรึกษาฯ มีสิทธิ์จะออกความเห็น ตั้งข้อสังเกตแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่า
ความเห็นของสภาที่ปรึกษาฯ หรือ ข้อสังเกตของสภาที่ปรึกษาฯ รัฐจะต้องรับ แต่อย่างไรรัฐจะต้องรับฟัง
อันนี้เป็นความคืบหน้านะครับ ผมเข้าใจว่าแม้แต่สำนักงานสภาเศรษฐกิจและสังคมของเมืองไทย
ก็เริ่มเปลี่ยนทิศทางในแนวความคิดเก่า ๆ แล้วว่า จริง ๆ แล้วไม่มีประเทศไหน กี่ประเทศที่วางแผนระดับชาติ
สมัยก่อนใครวางแผนระดับชาติต้องถือเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ถ้าเผื่อเราบอกว่าเราจะเป็นประเทศเสรี
ประเทศที่จะเข้าไปอยู่ในวงการนานาชาติทางด้านการค้า ทางด้านการเศรษฐกิจ การวางแผนไม่จำเป็นต้องมากมายอะไร
ยิ่งวางแผนพัฒนามากผมว่ายิ่งมีปัญหามาก แต่ถ้าเผื่อจะวางแผน ผมอยากจะเห็นการวางแผนที่จะให้ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริง บางคำถามจากชาวชุมชน
ดิฉันอยากจะกราบเรียนถามว่า
ในมุมมองของท่าน ท่านคิดว่า รัฐบาลจะดูแลสังคมคนจนอย่างไร โดยเฉพาะ ชุมชนแออัดริมทางรถไฟด้วยค่ะ
ขอบพระคุณค่ะ คุณสมจิตร พลตรี ประธานกลุ่มออมทรัพย์ชุมชนเทพารักษ์ตอนปลาย
ตัวแทนของเครือข่ายสหชุมชน นครเมืองขอนแก่น ความศรัทธากับการเมืองซึ่งผมคิดว่าอันตราย
ส่วนหนึ่งเขาอาจจะมองว่าระบบการเมืองของเราไม่มีความจริงใจและไม่มีความจริงจัง สนใจอยู่อย่างเดียว
สนใจว่า จะได้รับเลือกตั้งหรือไม่ บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนของคนจน เป็นลูกชาวนา
ชาวไร่ มาจากพื้นที่ต่างจังหวัดที่กันดาร มาจากตระกูลที่ยากจน เมื่อวันหนึ่งที่ตัวเองมีอำนาจมีบ้านห้าหลังสิบหลัง
ไปไหนได้รับเกียรติ บางทีลืมตัว ลืมตัวแล้วยังอ้างอยู่ตลอดเวลาว่า ฉันมาจากคนจน ฉันมาจากความยากจน
เพราะฉะนั้นรู้เรื่องคนจนดีกว่านั้นไม่จริง ผมยังไม่อาจพูดรายละเอียด
เพราะการที่ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีอำนาจ มันพูดง่ายก็ต้องเห็นใจคนที่มีตำแหน่งมีอำนาจ
เขาต้องรับผิดชอบด้วย ผมว่าในอดีตที่เราพลาดคือว่าความแออัดในชุมชนและแออัดในเรื่องความมั่งคั่งด้วย
คือยกตัวอย่าง กทม. ของเรา สมัยผมเด็ก ๆ ผมขี่จักรยานไปเรียนหนังสือ วันเสาร์-อาทิตย์
ผมกับเพื่อน ๆ สามารถขี่จักรยานไปโรงหนัง ไปตามที่ต่าง ๆ ได้ โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกรถชน แต่ปัจจุบันนี้ความแออัดไม่ได้แออัดที่ชุมชนแออัดเท่านั้น
แออัดทั้งกรุงเทพฯและสิ่งที่ร้ายที่สุด คือ ความมั่งคั่ง ทรัพยากรของชาตินั้นจะรวมตัวกันอยู่แต่ที่ในเมืองเท่านั้น
เพราะว่าเราคอยตามแก้ปัญหา รถมากขึ้นก็เลยต้องสร้างถนนมากขึ้น รถมากขึ้นก็ต้องมีที่จอดรถมากขึ้น
ทุกโครงการที่ต้องเสียเงิน เสียทรัพยากรของชาติ จำนวนมากมายอยู่ที่กรุงเทพฯ หมด เพื่อนผมคนหนึ่ง
เขามีความคิดแปลก ๆ หน่อย เขาบอกวิธีแก้ปัญหารถติดในเมืองไทยง่ายนิดเดียว กทม. ควรจะออกระเบียบเลยว่า
ใครก็ตามที่สร้างอาคาร ๑๐ ชั้น ๒๐ ชั้น ๓๐ ชั้น ในปัจจุบันต้องมีที่จอดรถ ตามจำนวนเท่าไหร่
วิธีการ คือว่าอยากสร้าง ๒๐ ชั้น สร้างไป ขออย่างเดียว ห้ามสร้างที่จอดรถ ถ้าเผื่อห้ามสร้างที่จอดรถเมื่อไหร่
อาคารนั้นหากินไม่ได้ เพราะคนที่จะมาทำงาน หรือมาตั้งสำนักงาน หรืออะไรที่อาคารนั้นจะไม่มีที่จอดรถ
ความอยากที่จะสร้างอาคาร ๓๐ ชั้น ๔๐ ชั้น จะหมดไป ผมคิดว่าสิ่งที่ต้องทบทวนกันใหม่ก็คือ
ต้องขอประทานโทษ ถ้าผมจะใช้คำว่า ต้องคุมกำเนิดการเติบโตของกรุงเทพมหานคร ต้องคุมกำเนิด
ต้องสร้างงานในชนบทให้มากขึ้น เอาคนในชุมชนแออัดกลับไปท้องถิ่น สร้างงาน ไปสร้างความเจริญในท้องถิ่น
สร้างเศรษฐกิจในท้องถิ่น สร้างสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ให้กับท้องถิ่นสร้างโรงเรียนดี
ๆ ในชนบทในต่างจังหวัด ต้องคุมกำเนิดกรุงเทพทั้งหมดทุกด้านต้องมีมาตรการส่งเสริมให้โรงเรียนดี
ๆ ในกรุงเทพฯ คุมกำเนิดการเติบโตในกรุงเทพแล้วไปเกิดสาขาที่ต่างจังหวัด สร้างภาวะความเป็นอยู่ในต่างจังหวัดให้ดีขึ้น
ที่คนในกรุงเทพเขาอยากไปอยู่ต่างจังหวัดเพราะอากาศดีกว่า เพราะมีโรงเรียนให้ลูกเรียน
เพราะมีโรงพยาบาลที่ทันสมัย เพราะ-มีบริการต่าง ๆ เพราะจริง ๆ แล้วรัฐต้องเป็นผู้สร้างและให้บริการสิ่งเหล่านี้ ถ้าเผื่อรัฐทุ่มเทการให้บริการทางด้านการศึกษา
การสาธารณสุข กับต่างจังหวัดให้ดีทัดเทียมกับกรุงเทพฯ ผมแน่ใจครับ คนที่มาจากต่างจังหวัดหรือคนที่อยู่กรุงเทพฯอยากจะไปอยู่ต่างจังหวัดมากขึ้นแน่นอน
ใครอยากอยู่กรุงเทพฯ บ้างเวลานี้ อากาศก็ไม่บริสุทธิ์ ปีนี้คนเป็นหวัดเป็นกันคนละเดือนสองเดือนนะครับ
นับวันนับวันจะเลวลงเลวลง จริงอยู่อาจจะมีมาตรการแก้ไขหลายอย่าง น้ำมันเบนซินต้องไม่มีสารตะกั่วพยายามกำจัดฝุ่น
แต่ทุกอย่างมันสายไปเพราะมันใหญ่เกินไปแล้ว ใหญ่เกินไปที่จะบริหาร ใหญ่เกินไปที่อยากจะอยู่ กรุงเทพฯ
นี่ผมว่าคุมกำเนิดไม่ต้องสร้างตึกไปได้อีก ๑๐ ปี สร้างอยู่อย่างเดียว คือ เคหะ ที่อยู่อาศัยให้กับคนยากจนทุกแห่ง
รัฐบาลไหน ๆ ก็ตาม นโยบายสำคัญเวลาเขาขึ้นเป็นรัฐบาลเขาจะบอกเลยว่า ปีนี้จะสร้างงานเท่าไหร่
เขาจะสร้าง เคหะให้คนจำนวนกี่หมื่นกี่แสนได้อยู่ รัฐบาลไม่เคยพูดเรื่องนี้ รัฐต้องให้ความเอาใจใส่กับชีวิตความเป็นอยู่ของคนธรรมดาคนเดินข้างถนนมากกว่าในอดีต
สวัสดีค่ะ ดิฉันอยากให้ท่านได้เล่าว่า
สถานการณ์การพัฒนาประเทศโดยรวม ในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบในด้านบวกและด้านลบ ต่อชาวคนจนในเมืองอย่างไรบ้างค่ะ
พันทิพย์ บุตรตาล ตัวแทนจากชาวชุมชนแออัดกรุงเทพฯ อย่างที่ผมได้เรียนเมื่อครู่นี้นะครับว่าถ้าเผื่อเราให้ความเอาใจใส่ในเรื่องของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ของการแปรสภาพเป็นสังคมอุตสาหกรรม คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าทุกอย่างจะกระจุกอยู่ที่กรุงเทพ
กระจุกอยู่ในเมืองในเขตเทศบาล สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือว่าที่ผ่านมาเราชอบดูความเจริญเติบโตในเรื่องรายได้ของประชาชนหรือรายได้ของประชาชาติ
แต่เราไม่ได้มีมาตรการที่แท้จริงที่เด่นชัดในเรื่องของการกระจายรายได้ ในเรื่องของการแบ่งปันผลประโยชน์ของทรัพยากรของชาติมันคล้าย
ๆ โดยจิตวิญญาณยังไงไม่ทราบ เวลาจะทำอะไร โดยจิตวิญญาณแล้วจะต้องไปให้ผลประโยชน์กับคนเบื้องบนมากกว่าคนข้างล่าง
เกือบจะเป็นอุปนิสัยของผู้บริหารราชการการแผ่นดินของเมืองไทยไปแล้ว ผมก็ไม่ทราบมันเกิดขึ้นจากอะไร
แต่ทุกอย่างมันกระจุกมันแออัดอยู่ข้างบนหมด และถ้าเผื่อความแออัดอยู่ข้างบนนั้น เป็นความแออัดที่ทุกคนเขาได้ประโยชน์กันทั้งนั้น
แต่ความแออัดข้างล่างนั้นเป็นความแออัดที่ทุกคนเสียประโยชน์ คือคนที่อยู่ข้างล่าง
มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราจะต้องเปลี่ยนค่านิยม ที่เราอาจต้องเปลี่ยนวิธีความคิด ปัจจุบันก็มีความพยายามหลายประการที่จะดัดแปลง
เปลี่ยนแปลงตัวรัฐธรรมนูญที่แท้จริงให้มันบิดเบือนไป เปลี่ยนอะไรเปลี่ยนได้เปลี่ยนความคิดคนเปลี่ยนยาก
โดยเฉพาะวิธีคิด จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังคิดไม่ออกว่าทำไมต้องมีพระราชบัญญัติต่อต้านคอมมิวนิสต์อยู่
บางสิ่งบางอย่างที่เรามองเห็นมันไม่น่าจะคิดอย่างนั้นแต่เขาก็ยังคิดไป คนไทยบางคนอาจยังคิดต้องการสู้รบกับพม่าอยู่
หรือยังคิดว่าภัยคอมมิวนิสต์นี่อันตรายเหลือเกิน เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นเรื่องที่ผมหนักใจในสังคมไทย
ว่าทำอย่างไรที่เราจะพยายามที่จะแก้ไข ปรับปรุงวิธีคิดของคน วิธีแก้ไขก็คือต้องใช้เวลา
ต้องใช้เวลา ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงง่าย ๆ เปลี่ยนกฎหมาย เปลี่ยนกฎเกณฑ์ ง่ายกว่า เปลี่ยนวิธีคิดต้องเริ่มจากปฏิรูปการศึกษาก่อน
|