รวมปาฐกถาภาษาไทย

ปาฐกถา
เรื่อง สังคมไทยยุค IMF
โดย นายอานันท์ ปันยารชุน
อดีตนายกรัฐมนตรี
จัดโดย ชมรมคณาจารย์วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
เนื่องในวาระสานต่อวัฒนธรรมไทย เดือนแห่งปีใหม่
วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๑
ณ โรงพยาบาล พระมงกุฏเกล้า

พล.ต หญิงวิไล: สวัสดีค่ะท่านผู้มีเกียรติ หัวข้อเรื่องที่เราจะได้รับฟังในวันนี้ ท่านประธานชมรมพูดไปแล้วขอพูดอีกครั้ง สังคมไทยในยุคไอเอ็มเอฟ สำหรับท่านวิทยากรที่ให้เกียรติรับเชิญมาในวันนี้ ท่านเป็นบุตรของมหาอำมาตย์ตรีพระยาปรีชานุสาสน์ และคุณหญิงปฤกษ์ (โชติกเสถียร) พี่สาวคนหนึ่งของท่านเล่าว่า ท่านเป็นคนใจเด็ดและเป็นนักสู้ ตั้งแต่สมัยอยู่กรุงเทพคริสเตียน ท่านเป็นบัณฑิตเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ท่านเป็นนักกีฬา ท่านเล่นสควอชเก่ง ท่านชอบดูรายการฟุตบอลทางทีวี แต่ดาราทีวีที่ท่านโปรดชื่อ เพ็ญพักตร์ ทุกคนคงจะรู้จักนะคะ เพ็ญพักตร์ผู้หญิงผมยาว ขาวบางและเซ็กซี่ ๒๓ ปีที่ท่านอยู่ในราชการ ท่านได้ผ่านตำแหน่งสำคัญ ๆ หลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น เป็นเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐอเมริกา เป็นเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ และตำแหน่งสูงที่ท่านได้รับก็คือ ปลัดกระทรวงต่างประเทศ แต่ใด ๆ ในโลกล้วนอนิจจัง ท่านถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ในรัฐบาลสมัยคุณธานินทร์ ท่านได้รับความกดดันและกระทบไปถึงครอบครัว ในที่สุดท่านก็ลาออกจากราชการในปี ๒๕๒๒ ท่านเข้าสู่วงการธุรกิจโดยร่วมงานกับบริษัทสหยูเนี่ยน ประสบความสำเร็จในชีวิตภาคธุรกิจเป็นอย่างดี เป็นประธานสภาอุตสาหกรรม เหตุการณ์หลัง รสช. ๒๕๓๔ ในราว ๆ ๑๒ ปีหลังจากที่ท่านลาออก ไม่มีใครคาดคิดว่า บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าฝักใฝ่คอมมิวนิสต์จะกลายมาเป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ที่ท่านปกครองบ้านเมืองอยู่ ท่านก็ทำให้กติกาหลายอย่างในสังคมมีความเป็นธรรมมากขึ้น ทำให้แนวทางเดินของสังคมไทยมีความสว่างและชัดเจนขึ้น ในปี ๒๕๓๕ ท่านต้องยอมรับเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ ๒ เมื่อเสร็จภารกิจของการเป็นรัฐบาล ท่านก็หันไปทุ่มเทเวลาให้กับงานสังคมอีก โดยเฉพาะงานด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการศึกษา และแสดงความคิดเห็นตลอดจนจุดยืนเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ท่านช่วยจุดประกายสร้างสรรค์ความคิดและปัญญาให้กับสังคมไทยมาโดยตลอด ในปี ๒๕๔๐ ท่านได้รับรางวัลแมกไซไซ ได้รับเลือกให้เป็นบุคคลดีเด่นแห่งปี ๒๕๔๐ แต่ก็คือเหตุการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์ยิ่งกว่านั้นก็คือเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ท่านได้รับเลือกให้เป็นประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพราะประชาชนมีส่วนร่วมเป็นอย่างมาก และที่สำคัญที่สุดคือ มีบทบาทสูงคนหนึ่งในการผลักดันให้รัฐธรรมนูญฉบับประวัติศาสตร์นี้ผ่านสภาได้ พวกเราคงจำสีเขียวตองอ่อนที่โบกไสวอยู่ระยะหนึ่งในปีที่แล้ว และเรายังคงจำเสียงเสนาะได้ว่า “รับครับ” ท่านเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่รู้จักกันดีว่า เป็นคนกล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ มีคุณธรรมเสียสละ และจองหอง คุณูปการที่ท่านได้ทำไว้กับบ้านเมือง ต่อให้เราเอาร้อยรางวัลหรือพันรางวัลมากำนัลท่าน ก็ไม่สามารถทดแทนท่านได้หมด ท่านผู้นี้คือ ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน

ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน: ท่านประธานชมรม ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย โดยเฉพาะแพทย์หญิงวิไล คุณหมอวิไล ผมได้ยินชื่อมาตั้งนานแล้ว เพราะภรรยาผมเองกับญาติพี่น้อง เพื่อน ๆ ไปหาคุณหมอตลอดเวลา ได้ยินชื่อกิตติศัพท์ว่า เป็นหมอ Physiotherapist ที่เก่งมาก ทำอะไรได้หลายอย่างที่ผมไม่คิดว่าหมอทางประเภทนี้ทำได้ ที่ทำให้คนไข้หาย แต่วันนี้ได้มาเห็นคุณหมอวิไลอีกมิติหนึ่งคือเป็นนักพูด นักโฆษณา ก็ขอขอบคุณมากครับที่ได้กรุณากล่าวคำแนะนำกับผม ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒ ที่ผมได้รับเชิญจากโรงพยาบาลพระมงกุฏฯ ให้มาเล่าสู่กันฟัง ครั้งแรกนั้นหลังจากที่พ้นจากตำแหน่งหน้าที่รัฐบาลอานันท์ ๒ ใหม่ ๆ เมื่อผมรำลึกถึงความหลังเมื่อคราวที่มาเมื่อประมาณ ๓ หรือ ๔ ปีนั้น ๔ หรือ ๕ สิ่งที่ผมประทับใจมากอยู่ก็คือว่า สมัยผมเป็นรัฐบาลนั้นผมพูดอยู่เสมอว่าผมเป็นตาบอดสี เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะเป็นรัฐบาลในยุค รสช. แล้วก็มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ แม่ทัพนายกองหลายท่านนั่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีของผม ผมก็ตาบอดสีเพราะไม่เห็นว่าเขาเป็นยศนายพลเอกหรือพลอากาศเอกแต่อย่างใด ถือว่าเป็นเพื่อนร่วมงานในรัฐบาล ทั้งนี้และทั้งนั้นเป็นการตั้งใจของผมที่ว่าคนเราที่จะทำอะไรกันแล้วต้องเริ่มต้นจากการปราศจากอคติซะก่อน เพราะว่าถ้าเผื่อไปมองว่าเป็นพวกเขาพวกเรา เป็นสีเขียว สีกากี หรือสีขาวอย่างของผมนั้น มันจะสร้างกำแพงขึ้นมาระหว่างมนุษย์ซึ่งกันและกัน และเป็นกำแพงที่สร้างขึ้นมาจากจิตใจเท่านั้น ซึ่งการทำงานต่าง ๆ หรือกระบวนการพิจารณาต่าง ๆ นั้น ก็อาจจะหวนเหหรือไขว้เขวได้ เมื่อผมมาพูดที่นี่เมื่อ ๔ ปีนั้น ผมก็มีความรู้สึกว่า นายทหารที่อยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ถึงแม้จะมีวิชาชีพเป็นแพทย์ แต่ก็ยังมีเครื่องแบบทหาร มียศทหาร ท่านเหล่านั้นก็ไม่ได้มองผมว่า ผมเป็นปฎิปักษ์กับทหาร หรือผมเป็นอะไรต่ออะไรที่คนหลายคนกล่าวหาผม เพราะฉะนั้นในแง่ของนายแพทย์ที่อยู่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ก็มองผมในลักษณะที่ตาบอดสีเช่นเดียวกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรา มีความร่วมใจกันในวันนั้นก็คือว่า พวกเราทุกคนได้ผ่านฟันฝ่าอุปสรรคอะไรบางอย่าง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อ ๖ – ๗ ปีที่แล้วมา เมื่อเดือนพฤษภาคมจากภาพอันหลอกหลอนอันนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่า ทำให้คนไทยหรือคนในกองทัพนั้นตั้งสติได้ ว่าเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นมาอีก ในประวัติศาสตร์ของไทย เหตุการณ์ที่เกิดจากความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันอย่างรุนแรง เหตุการณ์ซึ่งเกิดจากความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกันอย่างรุนแรง เหตุการณ์ซึ่งเกิดจากการตั้งตัวเป็นปฎิปักษ์ซึ่งกันและกันอย่างรุนแรง เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นจากแต่ละฝ่ายถือว่าฉันรักชาติแต่ผู้เดียว เพราะฉะนั้นเมื่อมีวิกฤตเมื่อเดือนพฤษภาคมเมื่อ ๖ ปีที่ผ่านมามันเป็นของธรรมดาครับ ที่วิกฤตนั้นจะต้องทำให้เกิดโอกาสขึ้นมาได้ มันอาจจะเป็นโชคดีหรือโชคร้ายของผม ที่ผมไปเกิดอีกครั้งหนึ่ง ในวิกฤตในวันนั้น แล้วเกิดไป ๑ ครั้ง ครั้งแรกก็ ๑ ปี ๔ เดือน แล้วก็มาเกิดอีกหนึ่งครั้งอีก ๔ เดือน ถ้าเผื่อเราย้อนหลังไปเมื่อ ๖ ปีที่แล้วนั้น แล้วไม่มีใครคาดหมายครับว่า เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๔ หรืออะไรผมจำไม่ได้แน่ ว่ามันจะเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไทย แต่มันก็เกิดไปแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ประทับใจผมคือว่า ความสามารถของคนไทยของสังคมไทย ที่จะเปลี่ยนวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสที่จะเรียนรู้บทเรียนต่าง ๆ ที่เราพลาดมาในอดีต หรือที่เรามีข้อบกพร่องในอดีต ซึ่งสามารถทำให้เราจรรโลงอยู่ในชีวิตของโลกได้ ฉันใดฉันนั้นในระยะ ๑ ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างน้อย เราก็เกิดวิกฤตขึ้นอีกวิกฤตหนึ่ง เป็นวิกฤตที่ไม่มีใครคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นกับเมืองไทย เป็นวิกฤตที่ส่งความรุนแรงมีผลกระทบต่อระบบการเงินการคลัง ต่ออุตสาหกรรมธุรกิจ ต่อสังคม และต่อพลเมืองในระดับที่รุนแรงที่สุด อาจจะเรียกว่ารุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยที่มีมา ไม่มีใครคาดฝันไว้ อาจจะมีหลายคนสามารถกล่าวด้วยความภูมิใจว่า คิดแล้วว่ามันจะต้องเกิดขึ้น คิดแล้วมันจะเกิดขึ้นเพราะ ๔ - ๕ ปีที่ผ่านมานั้น เราอยู่ในเศรษฐกิจที่ไม่มีรากฐานที่มั่นคง เป็นเศรษฐกิจที่ฟุ้งเฟ้อ เป็นเศรษฐกิจที่มีแต่ความโลภ ความโลภของฝ่ายเอกชนภาคธุรกิจ ความโลภของคนต่าง ๆ ในสังคมของเรา เศรษฐกิจที่ยอมปล่อยให้อำนาจของบริโภคนิยมขึ้นอยู่เหนือหัวใจเรา เศรษฐกิจที่สืบเนื่องมาจากการบูชาอำนาจ การบูชาตำแหน่ง และการบูชาคนที่ไม่ดีในสังคมไทย เศรษฐกิจซึ่งหลอกหลอน เศรษฐกิจที่ในระยะ ๒๐ - ๓๐ ปี อาจจะให้ตัวเลขที่ค่อนข้างจะดีเป็นตัวเลขด้านมหาภาค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอัตราการเจริญเติบโตของสินค้าขาออก หรือแม้แต่ตัวเลขที่บ่งให้เห็นชัดว่า เมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว คนไทยกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์อยู่ในลักษณะที่ว่ายากจน แต่บัดนี้หรือเมื่อปีที่แล้วจำนวนคนไทยอาจจะเหลือเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ที่อยู่ในระดับที่ยากจน แต่ในปีนี้คงจะมากขึ้นกว่า ๑๐ เปอร์เซ็นต์แน่นอน แต่เป็นเศรษฐกิจที่ให้ความหวังที่ให้ความสบายใจ ต่อประชาชนเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะประชาชนในระดับชั้นกลางและชั้นร่ำรวย เป็นเศรษฐกิจที่สามารถอ้างต่อชาวต่างประเทศได้ เป็นเศรษฐกิจที่ชาวต่างประเทศเองก็ชื่นชม เป็นเศรษฐกิจที่ชาวต่างประเทศเอง ธนาคารต่างประเทศเอง ก็อยากจะให้กู้เงิน แต่เป็นเศรษฐกิจที่รากฐานมิใช่เกิดขึ้นภายในสังคมไทย แต่เป็นเรื่องสืบเนื่องจากระบบที่นำไปสู่โลกาภิวัตน์ ซึ่งเราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่มา ณ จุดนี้ ณ วันนี้ คนไทยในสังคมไทยคงจะต้องทบทวนแล้ว ไม่ใช่ทบทวนว่า สิ่งที่เราทำมาในอดีต ๓๐ - ๔๐ ปีนั้น เป็นสิ่งที่ผิดหรือเป็นสิ่งที่ผิดพลาดทั้งหมด ไม่ใช่ผิด และไม่ใช่ผิดพลาด อาจจะเกินไป อาจจะเลยเถิดไป สิ่งที่ดีที่งามก็ปรากฏในสังคมไทยระยะ ๓๐ - ๔๐ ปีที่ผ่านมา แต่ทุกอย่างก็มีกาลและเวลามียุคและสมัย นโยบายหรือมาตรการที่อาจจะเป็นผลดีหรือเป็นสิ่งที่ดีงามเมื่อ ๑๐ - ๒๐ ปี ในปัจจุบันเราต้องมาทบทวนดูว่า สิ่งที่เคยดีเคยงามเมื่อ ๕ ปี เมื่อ ๑๐ ปี เมื่อ ๒๐ ปีนั้น ปัจจุบันคุณค่าเป็นอย่างไร เพราะสังคมเปลี่ยนไป กระแสความคิดเปลี่ยนไป วิชาความรู้เปลี่ยนไป ขณะนี้เราอยู่ในโลก เราไม่ได้อยู่ในโลกที่เดียวดาย ระบบเศรษฐกิจของเรา ด้วยความจำเป็นและด้วยการผลักดันถูกเกี่ยวโยงเข้าไปอยู่ในระบบเศรษฐกิจของโลก เราหนีความจริงข้อนี้ไปไม่ได้ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดในสังคมของโลก ก็คือ สิ่งที่เราเรียกว่า Information Technology การใช้คอมพิวเตอร์ การเคลื่อนไหวของเงิน ในอดีตนั้นถ้าใครเรียนเศรษฐศาสตร์ก็จะพูดอยู่เสมอว่า การทำธุรกิจหรือการทำอุตสาหกรรมนั้น จำเป็นจะต้องอยู่ใกล้สิ่งที่เราเรียกว่าวัตถุดิบ อยู่ใกล้จุดที่มีการคมนาคมที่สะดวก และอาจจะต้องอยู่ใกล้จุดที่เรานำสินค้าไปขาย เงินทุนก็หาภายในประเทศ แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจของโลกนั้นกลายเป็นระบบโลกาภิวัตน์ ในลักษณะที่ไม่มีพรมแดนแล้ว โดยเฉพาะในระบบการเงินการคลัง คนที่อายุระดับผมนั้น หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่า ในสมัยที่เราเป็นเด็กหรือหนุ่ม ๆ นั้น การเคลื่อนย้ายเงิน โดยเฉพาะเงินตราต่างประเทศนั้น มันลำบากยากเข็นอย่างไร ยิ่งในอดีตประเทศทั้งหลายมีกฎเกณฑ์ควบคุมเงินตรา การใช้เงินตราต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา สมัยผมเป็นเด็กไปเรียนต่างประเทศ ก.พ. รัฐบาลไทยก็ควบคุมว่าแต่ละปีแต่ละเดือนจะใช้เท่าไหร่ ใครจะไปต่างประเทศต้องขออนุญาตทางธนาคารชาตินำเงินออกไป ใครจะกลับเข้ามาก็อาจจะต้องเอาเงินไปคืนธนาคารชาติ และไม่ได้เกิดขึ้นในเมืองไทยเท่านั้นแม้แต่ในอังกฤษเองเมื่อ ๔๐ - ๕๐ ปี ก่อนคนอังกฤษจะไปเที่ยวยุโรป ก็อาจจะได้เงินตราต่างประเทศไปไม่เกิน ๑๐๐ ปอนด์ แต่ปัจจุบันมันไม่มีแล้ว ปัจจุบันการควบคุมแบบนี้ไม่มี นอกจากการควบคุมไม่มีแล้ว การเคลื่อนย้ายเราไม่ต้องไปปรากฎตัวที่ธนาคารชาติ และไม่ต้องไปปรากฎตัวที่ธนาคารพาณิชย์แล้ว เราเป็นเด็กหนุ่ม ๆ นั่งอยู่ที่วอลล์สตรีต ที่นิวยอร์ก หรือนั่งอยู่ที่ซิดนีย์ ที่ลอนดอน หรือนั่งอยู่ที่โตเกียวนั้น สามารถเคลื่อนย้ายเงินจำนวนมหึมาได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่ประเทศนั้น เพื่อไปทำการเคลื่อนย้ายเงิน ดังนั้นสภาพคล่องของระบบเงินตราต่างประเทศนั้นมีทั้งประโยชน์และสร้างปัญหา ถ้าเผื่อจะลำดับเหตุการณ์เราอาจจะบอกได้ว่าวิกฤตที่ผ่านมานั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ปี ๑๙๙๔ เป็นปีที่จีนเขาเริ่มปรับค่าเงินของเขา เขาลดค่าเงินเขา เขา depreciate เงินเขา เหตุผลก็คือว่าเขาต้องการที่จะผลิตสินค้าที่จะแข่งขันกับสินค้าจากประเทศในเอเซียได้ และในระยะที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าราคาสินค้าของจีนหรืออินโดนีเซียหรือบังคลาเทศนั้น ก็แซงหน้าราคาสินค้าของไทยได้เพราะค่าแรงเขาต่ำกว่า ค่าเงินเขาถูกกว่า นอกเหนือไปจากนั้นแล้วยังเป็นนโยบายของรัฐบาลอเมริกันที่อยากจะเห็นเงินเยนนั้นแข็งมากขึ้นเรื่อย ๆ หลายท่านคงจะจำได้ว่าเมื่อ ๕ ปีที่แล้วนั้น หนึ่งดอลลาร์อาจแลกเงินเยนได้ ๓๕๐ เยน หรือ ๓๐๐ เยน หรือเมื่อปีที่แล้วตกลงมาหรือเงินเยนแข็งขึ้นถึง ๘๕ เยน ปัจจุบันอยู่ระหว่าง ๑๓๐ - ๑๓๕ เยนต่อหนึ่งดอลลาร์ จากการที่จีนเขาลดค่าเงินเขา จากการที่เงินเยนแข็งขึ้น และจากการที่เศรษฐกิจของประเทศ เช่นอย่างประเทศไทยอยู่บนฟองสบู่ เพราะว่าไปทุ่มเงินที่เราได้มาถูก เงินดอลลาร์ที่เราได้มาถูกไม่ได้เข้าไปในวงการอุตสาหกรรม หรือธุรกิจที่เราเรียกว่า Productive Sector แต่นำเงินที่ถูกนั้น ที่ธนาคารต่างประเทศคะยั้นคะยอให้เรา และนำเงินที่ถูกนั้น ไปลงทุนในกิจการธุรกิจที่ตัวเองคิดว่าจะมีผลตอบแทนสูง แต่ลืมเรื่องกฎของ Supply and Demand ปัจจุบันนี่น่าอนาถนะครับ ขับรถกลางคืนในกรุงเทพฯ ผมจะชอบมองดูตึกต่าง ๆ ว่ามีตึกไหนบ้างที่มีไฟ ในสังคมที่ในปัจจุบันนี้ กรุงเทพฯ มีสลัมมีชุมชนแออัดประมาณ ๑,๔๐๐ ชุมชน ชุมชนที่อยู่ใต้สะพานกินทั้งฝุ่น กินทั้งอากาศที่เป็นพิษ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ชุมชนที่อยู่กับน้ำครำ ชุมชนในทางรถไฟ ชุมชนใต้ทางด่วน หรือแม้แต่ชุมชนคลองเตย พวกนี้เขาไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีน้ำที่บริสุทธิ์ใช้ ไม่มีอากาศและต่อไปอาจจะไม่มีงานทำด้วย แต่ในขณะเดียวกัน ตึกของเราสูง ๒๘ ชั้น ๓๕ ชั้น ว่างเปล่าเป็นป่าคอนกรีต มันน่าฉงนครับว่า ความยุติธรรมของสังคมนั้นอยู่ที่ไหน ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอดีตนั้น เป็นความเจริญเติบโตที่ให้ผลประโยชน์กับชนชั้นกลางและคนร่ำรวยตลอดมา ผมไม่ได้อิจฉาคนรวย ผมเชื่อว่าในโอกาสนั้นต้องให้กับคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโอกาสของการทำดี แต่นโยบายที่ผ่านมาซึ่งไม่ใช่ว่าผิดพลาด แต่นโยบายที่ผ่านมานั้น เป็นการเอื้ออำนวยให้คนที่มีเงินอยู่แล้วนั้น สามารถมีเงินมากขึ้นไปอีก และอันนี้ไม่ใช่นโยบายเศรษฐกิจเท่านั้น อันนี้เป็นสัจธรรมของสังคมไทย ที่เราไม่มีระบบการเมือง เราไม่มีระบบเศรษฐกิจ เราไม่มีระบบธุรกิจ และเราไม่มีระบบสังคมที่จะเอื้ออำนวย และเกื้อกูลให้คนไทยส่วนใหญ่นั้นสามารถเป็นคนดีได้ ไม่เอื้ออำนวยให้คนไทยส่วนใหญ่นั้นสามารถบอกความแตกต่างได้ว่าอะไรชอบอะไรไม่ชอบ อะไรผิดอะไรถูก ระบบการศึกษาของเราก็คร่ำหวอดมาก็ยังเป็นระบบที่ปิดอยู่ เป็นระบบที่มีแต่ท่องจำ ไม่ได้เป็นระบบที่จะเปิดโอกาสให้เด็กนั้นได้เรียนรู้ นอกจากเรียนรู้วิชาการตามหลักสูตรแล้ว ควรจะต้องเรียนรู้ชีวิตประจำวันด้วย เรียนรู้ชีวิตประจำวันของการอยู่ร่วมกัน ชีวิตประจำวันของการที่จะพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ชีวิตประจำวันที่ต้องมองถึงระเบียบวินัยการทำงานเป็นทีม การรู้จักว่าอะไรยุติธรรมอะไรไม่ยุติธรรม เพราะฉะนั้นมันถึงเวลาแล้วครับ ที่จะต้องมีการผ่าตัดครั้งใหญ่ในสังคมไทย และวิกฤตอันนี้เป็นโอกาสที่ดี โอกาสที่ดีที่เราแต่ละคนที่เราเรียกคนไทยในยุคไอเอ็มเอฟนี้มานั่งมองดูตัวเราเอง มานั่งมองดูคนที่อยู่ในกลุ่มพวกเรา ญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูง มานั่งดูองค์กรที่ตัวเองทำงานให้ มานั่งดูระบบที่ตัวเองอยู่ภายใต้ และมาดูสังคมไทยโดยเฉพาะชีวิตของคนเรานั้นถ้าเผื่อไม่ผิดไม่พลาด เราก็ไม่ได้เรียนรู้ แต่เราจะต้องเรียนรู้ว่า จะทำอย่างไรที่ข้อบกพร่องในอดีตนั้น จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต วิกฤตที่เรากำลังประสบอยู่นี้มาจากหลายปัจจัย หลายปัจจัยที่ผู้ที่ทรงคุณวุฒิ หรือผู้ที่รู้มากกว่าผมทางด้านเศรษฐศาสตร์ ทางด้านธุรกิจการค้า ทางด้านการเงิน สามารถพูดได้ดีกว่าหรือสามารถอธิบายได้ดีกว่า แต่ตามความเห็นของผมนั้น ไม่ว่าจะเกิดจากปัจจัยอะไร สิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ก็คือว่า ทุกอย่างเริ่มต้นด้วยการเมืองและจะต้องจบลงด้วยการเมือง ถ้าเผื่อเราดูวิวัฒนาการของความคิดอ่านหรืออุดมการณ์ทางการเมืองนั้น เราจะเห็นว่าวิวัฒนาการนั้นทำให้เกิดสิ่งบางอย่างขึ้น ที่เมื่อ ๓๐ - ๕๐ ปีนั้น เราไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ เริ่มต้นตั้งแต่การปฎิวัติบอลเชวิคในรัสเซีย ในต้นศตวรรษนี้ หรืออาจจะเริ่มต้นตั้งแต่สิ่งที่เขาเรียกว่า Industrial Revolution ในอังกฤษเมื่อ ๒๐๐ ปีที่ผ่านมา ทางด้านตะวันตกก็มีการเสริมสร้างอุดมการณ์ทางด้านการเมืองลัทธิทุนนิยม ซึ่งการจะพิสูจน์ว่าลัทธิทุนนิยมนั้น ถ้าเผื่อไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมแล้วจะกลายเป็นระบบที่กดขี่คนจน ไม่ให้โอกาสคนจนเท่าที่ควร ก็เกิดอุดมการณ์ทางการเมืองที่รัสเซียหรือที่สหภาพโซเวียต ว่าต้องการความเสมอภาคในเรื่องของการศึกษา ในเรื่องของโอกาสถึงความเสมอภาค แม้แต่ในเรื่องของความร่ำรวยที่ฝรั่งเศสนั้นก็มีมาพูดถึงอิสรภาพ Liberte’, E’galite’ ความเสมอภาคอันนี้เป็นอุดมการณ์ทางการเมือง แต่พอมาถึงภาคปฏิบัติแล้ว จุดจบของทั้งระบบทุนนิยม และจุดจบของระบบคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยมนั้น จุดจบก็คืออะไร หนึ่ง ไม่ว่าจะ……(เสียงขาดหายไป) ประเภทใดก็ตาม แต่ถ้าเผื่อผู้ใช้อำนาจผูกขาดอำนาจทางการเมืองนั้น ไม่แบ่งปันอำนาจให้กับประเทศ……..(เสียงขาดหายไป) สังคมนิยมก็เขียนได้สวยพอใช้……(เสียงขาดหายไป) เราก็จะเห็นได้ว่าบางอย่างก็เป็นสัจธรรม แต่เมื่อนำมาใช้ปฏิบัติแล้ว ความล้มเหลวนั้นไม่ได้อยู่ที่ลัทธิทางการเมือง ความล้มเหลวอยู่ที่เป็นรัฐบาลที่เผด็จการและฉ้อราษฎร์บังหลวง เอาเปรียบประชาชน ทางด้านทุนนิยมก็เช่นเดียวกันถ้าเผื่อไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ปลาใหญ่กินปลาเล็กหมด คนจนก็มีแต่เป็นแรงงานให้ เขาไม่สามารถประกอบธุรกิจอะไรได้เลยเพราะไม่มีเงินทุน ดังนั้นลัทธิทุนนิยมนั่นก็ต้องเปลี่ยนสภาพไป ถึงเกิดคำว่าต่อไปนี้ Capitalism หรือลัทธิทุนนิยมนั้นจะต้องเป็น Capitalism with Human Face คือให้มันมีจิตวิญญาณของการรับผิดชอบต่อสังคมด้วยฉันใดฉันนั้น Socialism เมื่อ ๒๐ - ๓๐ ปีก็เริ่มพูดกันว่า Socialism ก็ต้องมี Human Face เหมือนกัน จะต้องมีจิตวิญญาณเหมือนกัน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการแปรสภาพทุน ลัทธิทุนนิยมกับลัทธิคอมมิวนิสต์นั่นแหละเดินเข้ามาหาซึ่งกันและกัน และจากเรื่องของคอรัปชั่นก็ดี จากเรื่องของการเป็นเผด็จการก็ดี ทำให้สหภาพโซเวียตแตกสลายออกมาเป็นประเทศรัสเซีย ๑ ประเทศ และเป็นประเทศอิสระอีก ๑๐ หรือ ๑๑ ประเทศ ปัจจุบันนี้พรรคกรรมกรของอังกฤษ Labour Party ซึ่งตั้งขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่แล้วเพื่อชนชั้นกรรมาชีพ ก็เปลี่ยนสภาพไป สมัยก่อนพรรค Labour Party เข้ามาเป็นรัฐบาลเมื่อไหร่ จะต้อง Nationalise อุตสาหกรรม จะต้องทำการแปรสภาพอุตสาหกรรมของเอกชนให้เป็นของรัฐให้หมด ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นเหล็กกล้า ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน ไม่ว่าจะเป็นอะไรต่ออะไร ผลปรากฎว่าอย่างไร ด้วยความตั้งใจดีว่า ถ้าเผื่ออุตสาหกรรมเหล่านี้ ระหว่างอยู่ในมือของเอกชนนั้นมีผลกำไร ถ้าเผื่อเอามาเป็นของรัฐและมีผลกำไรเช่นนั้น ประโยชน์ต่าง ๆ ที่รัฐได้ จะได้ไปถึงทั่วประชาชนทุกพื้นที่โดยเฉพาะคนจน แต่กาลเวลาพิสูจน์ครับว่า ๔๐ ปี ๕๐ ปี ที่ผ่านมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ทุกครั้งที่พรรคกรรมกรเข้าเป็นรัฐบาล และมีการแปรสภาพธุรกิจอุตสาหกรรมเอกชนเป็นของรัฐ พอรัฐเอาไปทำแล้วขาดทุนตลอดเวลา ขาดทุนจนรัฐไม่สามารถรับภาระหนี้สิน รับภาระรายจ่าย และรับภาระเงินทุนหมุนเวียนได้ ในการเลือดตั้งครั้งที่แล้ว Tony Blair บอกไม่มีอีกแล้ว ถ้าเผื่อเข้าไปเป็นรัฐบาล ก็จะไม่แปรสภาพรัฐธุรกิจเอกชนเป็นของรัฐ ปล่อยให้เอกชนเขาทำไปเพราะเขามีวิธีการ เขามีกระบวนการที่นำผลประโยชน์มาสู่บริษัทนั้น และผู้ถือหุ้นและผู้ที่ทำงานมากที่สุด โลกเราเปลี่ยนไปมาก เมืองไทยเราเปลี่ยนหรือเปล่า ตอนผมช่วยร่างรัฐธรรมนูญ ผมก็ยังถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัว ลิดรอนพระราชอำนาจ เขียนมาตราต่าง ๆ ออกมา เพื่อเป็นการแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ ยังมีอยู่นะครับ จิตวิญญาณของการมองภาพอะไรที่เป็นขาวเป็นดำ จิตวิญญาณของการมองภาพว่า ทุกอย่างนั้นเป็นความตั้งใจ หรือเป็นแผนงานของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือคนอย่างนายอานันท์ยังมีอยู่ ปีนี้ ๒๕๔๑ มันแทบไม่มียุโรปตะวันออก ไม่มียุโรปตะวันตกแล้ว ในแง่ของลัทธิหรือความนิยมทางด้านการเมือง คำว่ายุโรปตะวันออกกับยุโรปตะวันตกนั้น เป็นเพียงแต่ชื่อที่แสดงถึงพื้นที่เท่านั้น พื้นที่ทางภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่ในสังคมเราในสังคมของเราในสถาบันอันสูงส่งยังมีเหลืออยู่ เพราะประเด็นขณะนี้ ประเด็นของโลก ปัญหาของโลกมิใช่การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง มิใช่การต่อสู้เพื่อครอบครองพื้นที่ สร้างอาณาจักรอาจจะมีการต่อสู้แข่งขันกัน ทั้งเรื่องการค้า เรื่องธุรกิจ ปัจจุบันทุกประเทศบอกฉันเป็นประชาธิปไตย รัสเซียเอง เขาก็ภาคภูมิใจว่าเขาเป็นประชาธิปไตย โปแลนด์ เชโกสโลวะเกีย ฮังการี แม้แต่จีนเอง ผมไปเมืองจีนมา ๑๒ - ๑๓ ครั้ง ตั้งแต่ครั้งแรก ค.ศ. ๑๙๗๕ ผมก็ไม่เคยคาดไม่เคยฝันครับว่า วันหนึ่งจีนจะอยู่ในสภาพเช่นนี้ การเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก จีนเดี๋ยวนี้เขาเรียกตัวเขาเองว่า Socialist Market Economy เขาก็ยังต้องย้ำชูธงคำว่า “Socialist” อยู่ตลอดเวลา แต่จริง ๆ แล้ว ทั้งจีน ทั้งเวียดนาม มันก็ไปทางด้าน Market Economy คือไม่เป็นเศรษฐกิจในระบบมีการวางแผนจากรัฐบาลกลาง แต่เป็นเศรษฐกิจที่อยู่ในระบบของการใช้กลไกของตลาดเป็นผู้ชี้นำ เพราะฉะนั้น ทุกประเทศเป็นประชาธิปไตย จะเป็นเต็มใบ ครึ่งใบ เสี้ยวใบ ระดับแตกต่างกันไป เป็นจริงไม่เป็นจริง แต่ทุกคนบอกว่าฉันเป็นประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นอันนั้นไม่ใช่เป็นปัญหาแล้ว ไม่ใช่เป็นทางเลือกว่า จะเป็นประชาธิปไตยหรือจะเป็นคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่แล้ว คำตอบคือว่า แค่นั้นพอไหม ในปัจจุบันการเป็นประชาธิปไตยให้เต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ให้เป็น ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ยังไม่พอเพราะนับวันนับวันทุก ๆ สังคม ประชาชนโดยเฉพาะประชาชนผู้ด้อยโอกาส และคนจนจะต้องถามอยู่เสมอว่า ฉันได้อะไรจากรัฐบาลประชาธิปไตยบ้าง ฉันได้อะไรบ้างจากสภา บางคนที่เอาง่ายหน่อยก็บอกว่า ฉันอยากได้ถนนจากรัฐสภา อยากได้สะพาน อยากได้บ่อน้ำจากคณะรัฐมนตรี แต่คิดให้ลึกซึ้งแล้วเขาต้องการมากกว่านั้น เขาต้องการศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เขาต้องการโอกาสที่จะให้ลูกเขาได้รับการศึกษา เขาต้องการสิ่งที่เราเรียกว่า บริการทางด้านแพทย์และพยาบาลที่รัฐช่วยส่วนหนึ่ง เขาต้องการให้รัฐนั้นสร้างงานให้เขา ทำให้เขาสามารถมีงาน ให้เขาสามารถมีเงินเดือน หรือค่าจ้าง เขาอยากมีบ้านของเขาเล็ก ๆ อาจจะอยากมีจักรยานสองล้อ หรือมอเตอร์ไซค์ อยากมีทีวี อยากมีตู้เย็น อยากมีอากาศที่บริสุทธิ์ อยากเห็นต้นไม้ อยากมีป่า อยากมีลำธาร อยากเห็นคลองที่สะอาด และมีแม่น้ำที่ใสที่มีปลาเวียนว่ายอยู่ได้ เขาอยากได้โอกาสที่ทัดเทียมกัน สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานของคนที่เกิดมา เป็นมนุษย์ที่มีสมองและมีสติ สิ่งที่เขาเรียกร้องไม่ได้เรียกร้องมากมาย นั้นคำถามคือว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถึงแม้จะเป็นฉบับประชาชน ซึ่งศูนย์กลางอยู่ที่เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน ของการสร้างคุณธรรม ของการสร้างจริยธรรม ของสถาบันการเมือง ของการวางขอบเขตอำนาจของผู้ใช้ให้เด่นชัด ให้มีระบบตรวจสอบ ให้มีสิทธิขั้นพื้นฐาน และให้มีอะไรอีกต่าง ๆ นานา คำถามว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้เขามีการศึกษา มีการพยาบาล มีบ้าน มีต้นไม้ มีลำคลองแม่น้ำ ได้อย่างที่เขาต้องการไหม ส่วนหนึ่งคือจุดเริ่มต้น แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่พอ เป็นเพียงแต่จุดเริ่มต้น เป็นเพียงแต่จุดประกาย แต่จะต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมทางด้านความคิดอีกต่าง ๆ นานาประเทศ ที่เขามีระบอบประชาธิปไตย ที่เขามีรัฐธรรมนูญ ที่มันผ่านการตรวจสอบมาเป็นเวลาหลายยุคชนแล้วนั้น สังคมเขายังต้องพยายามขวนขวายต่อไป ว่าสิ่งที่จะทำให้ประชาชนสามารถได้รับการตอบสนองจากรัฐ จากการปกครองที่ดีนั้นจะได้มาโดยวิธีอะไร มันถึงจะเกิดคำคำหนึ่งขึ้นในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Government ไม่ใช่รัฐบาล มัน Governance และมันไม่ใช่เป็นการปกครอง เพราะถ้าเกิดเราดูรากฐาน ระบอบประชาธิปไตยแล้วนั้น คือเป็นระบบของประชาชนเพื่อประชาชนและโดยประชาชน ที่เราผ่านมา ๖๕ ปีนั้น เราอาจจะพูดได้อย่างกระอ้อมกระแอ้มว่า เป็นของประชาชนเพื่อประชาชน แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เป็นคือ ไม่เคยเป็นของโดยประชาชนเลย พอเริ่มต้นจากความคิดว่า ทุกอย่างจะต้องปกครองจากข้างบน แม้แต่กรมในกระทรวงมหาดไทยก็เริ่มต้นด้วยกรมการปกครอง ทุกอย่างเป็นเขียนใบสั่งจากข้างบน ใบสั่งมาจากหน่วยกลาง ในสั่งมาจากกรุงเทพฯ คนกรุงเทพฯ รู้ดีทุกเรื่อง คนส่วนกลางรู้ดีทุกเรื่อง ผู้ใช้อำนาจรัฐก็ใช้จริง ๆ และไม่เคยมีความคิดที่จะแบ่งปันอำนาจนั้นให้กับประชาชนเลย เพราะฉะนั้นหัวใจของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือการมีส่วนร่วมของประชาชน การมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณา ในกระบวนการเรียนรู้ ในกระบวนการตัดสินใจ ข้อมูลจะต้องถึงประชาชน ไม่ว่าจะทำอะไร ถ้ากระทบกระเทือนประชาชน ประชาชนต้องมีส่วนร่วม เราอาจจะบอกได้ว่ายิ่งประชาชนมีส่วนร่วมมากเท่าไหร่ ยิ่งเกิดความวุ่นวาย ความสับสน สังคมไทยต้องการความสงบ สังคมไทยต้องการความมีระเบียบ หา strong man มาดีกว่าหาคนที่สังคมคิดว่าเป็นคนดีเป็นคนเก่งมาปกครองประเทศชาติดีกว่า คนคนนั้นแก้ปัญหาได้หมด อันนี้เป็นความคิดที่ผิด เราไม่ได้ต่อสู้เพื่อความดีรอดของสังคมไทยในระยะ ๕ ปี ๑๐ ปี แต่เรากำลังต่อสู้เพื่อให้สังคมไทยนั้นอยู่อย่างยั่งยืนและมั่นคง การที่จะอยู่อย่างยั่งยืนและมั่นคงนั้นจะไม่ต้องพึ่งคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ แต่จะต้องพยายามสร้างระบบ ระบบที่มีความถูกต้องมีความชอบธรรม ระบบที่ได้รับการยินยอมจากสังคมส่วนใหญ่ และจะเป็นระบบที่จะเกื้อกูลและเอื้ออำนวยให้คนดีคนเก่งเข้ามามีส่วนในการรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน ในการบริหารธุรกิจภาคเอกชน เพราะฉะนั้นระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นเพียงขาเดียว ต้องสร้างอีกขาหนึ่ง คือ ธรรมรัฐ ในสังคมต่างประเทศมีคำพูดหลายคำพูดที่ผมแปลเป็นภาษาไทยไม่ได้ เขาบอกว่าต้องมีการสร้างที่เรียกว่า Civil Society ด้วย Civil Society นี้คืออะไร เพราะที่ผ่านมานี้มันมีอยู่แต่ว่ารัฐ ซึ่งจริง ๆ ประทานโทษนะ คำว่า “รัฐ” นี่ ผมจำไม่ได้ว่าภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต คำว่ารัฐรวมถึงประชาชนด้วย “รัฐ” แม้แต่คำว่า “ธรรมรัฐ” ก็หมายถึงประชาชนด้วย แต่ใช้ไปใช้มา รัฐนั้นก็กลายเป็นรัฐจริง ๆ เป็นอำนาจของคนใช้อำนาจ ประชาชนไม่มีส่วนเลย นั้นเป็นเรื่องของรัฐและปัจเจกบุคคลเท่านั้น จริง ๆ แล้วอำนาจเป็นอำนาจเป็นของประชาชนหรือเป็นอำนาจมาจากประชาชน แต่ผู้ใช้อำนาจแทนประชาชนนั้นหลงลืมไป นึกว่าอำนาจนั้นเป็นของตัวเองมาจากต่างจังหวัดพอมาอยู่ในกรุงเทพฯ นาน ๆ เข้าก็ลืม ลืมต่างจังหวัด ลืมพื้นที่ เพราะฉะนั้นในสังคมนั้นมีอยู่สองขั้วเท่านั้นไม่พอครับเพราะที่ผ่านมารัฐรังแกประชาชน หรือที่ผ่านมาประชาชนบางทีก่อความวุ่นว่ายและความไม่เป็นระเบียบโดยไม่เข้าเรื่อง รัฐมีอำนาจมากเกินไป รัฐใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูก เป็นเผด็จการได้ ประชาชนมีอำนาจเต็มที่แต่เป็นอำนาจที่ไม่มีระเบียบ ก็สร้างความวุ่นวายให้กับสังคมซึ่งเสียหายมากเหมือนกัน อันนี้แล้วความจำเป็นจึงเกิดขึ้นเพราะถ้าว่าปล่อยให้รัฐกับประชาชนอยู่กันสองต่อสอง โอกาสจะตีกันมีมาก โอกาสที่จะพูดกันไม่เข้าใจมีมาก โอกาสที่จะนำไปสู่ความหายนะความวุ่นวายต่าง ๆ มีมาก เราต้องหาคนกลางขึ้นมาเพราะปัญหานับวันไม่ใช่ปัญหาการเมืองอย่างเดียว ปัญหาสังคม ปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย เราต้องพยายามสร้างสิ่งที่เรียกว่า Civil Society ด้วย Civil Society คืออะไรครับ Civil คือหากันชนมาไว้ ไม่ใช่ปัจเจกบุคคล แต่เป็นกลุ่มชุมชนเป็นประชาคมที่มีการก่อตั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการก็แล้วแต่ สิ่งที่เราเรียก Civil Society Organization เป็นสมาคม เป็นองค์กร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศาสนา เชื้อชาติ วัฒนธรรม ภาษา กีฬา สหกรณ์ สมาคมวิชาชีพ องค์กรสาธารณกุศล องค์กร NGO ทั้งหลาย สมาคมแม่บ้านทหารบก อะไรก็ได้ที่มีการวางตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อน ซึ่งองค์กรเหล่านี้ ถ้าเผื่อเกิดขึ้นมาและถ้าเผื่อมีการทำกิจกรรมนอกเหนือไปจากปัจจัยพื้นฐานแล้ว มันเป็นการสร้างระบบกันชนขึ้นมาครับ มันจะเป็นการสร้างขาที่สามขึ้นมา ระหว่างรัฐกับปัจเจกบุคคล เพราะองค์กรเหล่านี้โดยเฉพาะองค์กรชุมชนทางท้องถิ่น หรือแม้แต่สมาคมไม่ว่าจะเป็นสมาคมหอการค้า สมาคมอุตสาหกรรมโรตารี่ ไลอ้อนส์ อะไรก็แล้วแต่ เป็นการจัดตั้งองค์กรเป็นกลุ่มเป็นก้อนขึ้นมา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรที่ต้องการดูแลผลประโยชน์ของกลุ่มของตนเองก่อน ในขณะเดียวกันจะต้องใจกว้างพอที่จะต้องดูแลผลประโยชน์ของสาธารณชน ด้วยและองค์กรเหล่านี้ถ้าเผื่อมีเครือข่ายที่ดีและมีความตั้งใจดี เรามองถึงสาธารณประโยชน์มากกว่ามองถึงผลประโยชน์ของกลุ่มเฉพาะของตนเองก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ความขัดแย้งของสังคมไทยในอนาคตนั้น จะไม่นำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างรัฐและประชาชนทันที แต่จะเป็นสื่อกลางที่จะสามารถลดอุณหภูมิ หรือป้องกันการเผชิญหน้าหรือการประหัตประหารกันระหว่างรัฐกับประชาชนได้ และนอกเหนือไปจาก Civil Society แล้ว อะไรที่เราพูดถึง Governance Governance ที่มันเป็นทั้งระบบครับ ธรรมรัฐคือการสร้างขบวนการ เพราะธรรมรัฐคือการใช้อำนาจทางด้านการเมือง ทางด้านเศรษฐกิจ และทางด้านบริหาร ในการปกครองประเทศ แต่ธรรมรัฐนั้นมันเป็นกระบวนการ มันเป็น Process มันเป็นทั้งโครงสร้าง เป็นทั้งสถาบันที่จะนำไปสู่การบริหารที่ดีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนโดยเฉพาะ การบริหารที่ดีในการจัดการทรัพยากรของชาติ ธรรมรัฐก็ยืนอยู่บนสามขา การเมือง เศรษฐกิจ และบริหาร ธรรมรัฐ คือ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจสามขั้วโดยมีสาธารณประโยชน์เป็นหัวใจ ธรรมรัฐนั้นดีไม่ดี ธรรมรัฐดีแน่ เพราะคำว่าธรรมรัฐนั้นแปลจากคำว่า Good Governance ดังนั้นในสังคมไทยเราไม่ต้องมาเกี่ยงว่าธรรมรัฐนั้นดีไม่ดี ผมรับประกันได้ว่าดีแน่ เพราะมันแปลมาจากคำว่า Good Governance ปัญหาที่จะต้องถกเถียงก็คือว่า หนึ่งจะต้องเริ่มสร้างความเข้าใจ เพราะธรรมรัฐนี่คล้าย ๆ กับบอกว่าศาสนาดีไม่ดี ศาสนาดีทุกศาสนา แต่เราต้องมาทำความเข้าใจว่าเวลาเราพูดถึงพุทธศาสนานั้นคืออะไร คริสต์ศาสนาคืออะไร ศาสนาอิสลามคืออะไร นั่นดี ดีแน่ จำเป็นก็จำเป็น และก็ยังไม่มีประเทศไหนให้มีความเจริญรุ่งเรือง ให้มีความสมบูรณ์อย่างไรที่มีธรรมรัฐอย่างสมบูรณ์เพราะมันเป็นกระบวนการที่สร้างไม่เสร็จ ถ้าจะเปรียบเทียบอีกอย่างหนึ่งธรรมรัฐนั้นคืออะไร มันก็คล้าย ๆ กับสิ่งที่เราเรียกว่า พระมหากษัตริย์นั้น ปกครองประเทศชาติโดยใช้ทศพิธราชธรรม อันนี้ละครับคือ Good Governance ของพระมหากษัตริย์ คนไทยเรารู้จักคำว่าทศพิธราชธรรม เราก็ต้องรู้จักว่า Good Governance นั้น มันจะต้องสร้างให้เข้าสู่ระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ ระบบภาคเอกชน และระบบการบริหาร ถามว่าเมืองไทยมีได้ไหม มีได้ จะใช้เวลานานเท่าไหร่ เป็นสิบ ๆ ปีอย่างน้อย เพราะอะไรครับ เพราะมันต้องปรับโครงสร้างทั้งหมด วิธีการคิดทางด้านการศึกษา ต้องปฏิรูประบบราชการต้องปฏิรูปแม้แต่ภาคเอกชน ธรรมรัฐจะมีอะไรจะมีได้ขึ้นมาอย่างไร องค์ประกอบต้องมีหลายอย่าง ๗ - ๘ อย่าง คุณจะมี Good Governance ในเริ่มต้น คุณจะต้องมี rule of law สิ่งที่เราเรียกว่านิติธรรม การมีกฎหมายเฉย ๆ ไม่ได้พิสูจน์ว่าเรามี rule of law กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม กฎหมายที่ใช้บังคับไม่ได้ กฎหมายที่ล้าสมัย ล้าหลัง ไม่ทันกับเหตุการณ์ เพราะฉะนั้นเราต้องสร้าง rule of law คงจะต้องมีกฎหมายอีกหลายอย่างที่จะต้องนำมาใช้ ผมมองในแง่ของภาคธุรกิจเอกชน เราก็เริ่มจะต้องมีแล้ว จะต้องมีกฎหมายล้มละลายบริษัทล้มละลาย ต่อไปคงจะต้องมีกฎหมายลดการคอรัปชั่นภายในราชการ ทางธุรกิจภาคเอกชนยังมีกฎหมายอีกหลายประการที่จะต้องเกิดขึ้น กฎหมายการฟอกเงิน ควบคุมการฟอกเงิน กฎหมายที่จะปรับคุณภาพของผู้ตรวจสอบบัญชี ทั้งทางภาครัฐและทางภาคเอกชน คงจะต้องมีกฎหมายอีกหลายกฎหมายตามเข้ามา จะต้องเป็นกฎหมายที่ทันสมัย จะต้องเป็นกฎหมายที่สามารถแก้ไขปัญหาของสังคมในปัจจุบัน แต่มี rule of law เท่านั้นจะพอหรือไม่ มีนิติธรรมอย่างเดียวก็ไม่พอครับ ผู้ใช้กฎหมายต้องมีความเที่ยงธรรมด้วย ใครคือผู้ใช้กฎหมาย หนึ่ง ตำรวจ ซึ่งเป็นปัญหามากสำหรับเมืองไทย สอง อัยการ สาม ตุลาการ เพียงแต่ข้อแรกของธรรมรัฐนั้นบอกว่า เมืองไทยคงใช้เวลาอีกหลายสิบปี ถัดไปองค์ประกอบของธรรมรัฐอีก สิ่งแรกก็คือ ความโปร่งใส อะไรก็ตามที่ทำกันต่อหน้า ทำกันในห้องที่ไฟสว่าง การทำไม่ดีมันยากมากขึ้น อะไรที่ทำกันลับ ๆ ล่อ ๆ ทำใต้ดิน ใต้น้ำ ใต้โต๊ะ กระบวนการพิจารณาประชาชนไม่รู้เรื่อง โครงการต่าง ๆ โครงการมหึมาของชาติ ทำไปโดยประชาชนท้องถิ่นไม่รู้เรื่อง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต้องให้ประชาชนเข้าถึงข่าวสารข้อมูลโดยสมบูรณ์และทันเวลา ต้องให้เขามีโอกาสในการมีส่วนร่วม ถ้าเผื่อมีการเข้าถึงข้อมูลได้และมีส่วนร่วมได้ ความโปร่งใสก็จะเกิดขึ้น ทำไมจึงมีความสำคัญในเรื่องของความโปร่งใส เพราะในระบบเศรษฐกิจหรือแม้แต่ระบบการเมืองในปัจจุบันนี้ และพอพูดถึงระบบเศรษฐกิจ เราบอกเราใช้กลไกทางตลาด กลไกทางการตลาดจะทำงานโดยมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อมีข้อมูลที่สมบูรณ์และทันกับเหตุการณ์ ในยามเศรษฐกิจที่ดี เราไม่มีข้อมูลว่า ธนาคารชาติหรือกระทรวงการคลังทำอะไรไปบ้าง ทำไปเท่าไร ผลร้ายอาจจะเกิดขึ้น แต่ในยามเศรษฐกิจที่ดี ผลร้ายที่เกิดขึ้นนั้นมันไม่รุนแรง แต่ในยามเศรษฐกิจไม่ดี ถ้าข้อมูลไม่สมบูรณ์ ข้อมูลไม่ทันกับเหตุการณ์ ไม่ทันกับเวลา กลไกทางตลาดนั้นจะมีวิธีการที่ทำให้สถานการณ์นั้น ร้ายแรงมากไปกว่าที่เกิดขึ้นจริง เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อเราจะใช้ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเราเลี่ยงไม่ได้ ระบบเศรษฐกิจที่ผูกโยงกับเศรษฐกิจอื่น ๆ ระบบเศรษฐกิจที่มีการข่าวสารรวดเร็วเหลือเกิน ข้อมูลรวดเร็ว เงินตราต่างประเทศเปลี่ยนรวดเร็ว ถ้าเผื่อข้อมูลของฝ่ายไทยไม่สมบูรณ์และไม่ทันต่อเหตุการณ์แล้ว ตลาดจะมีปฏิกิริยาในทางแปลก ๆ และส่วนใหญ่จะเป็นปฏิกิริยาในทางแปลก ๆ ที่ทำความหายนะมากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นความจำเป็นต้องมีข่าวสารที่สมบูรณ์และทันกับเหตุการณ์ ทันกับเวลา ความจำเป็นจะต้องมีส่วนร่วม และความจำเป็นที่จะต้องมีความโปร่งใส ปัจจัยต่อไปของธรรมรัฐคืออะไร ที่จะต้องมีการตอบสนองความต้องการของประชาชนที่แท้จริงได้ อะไรก็ตามถ้าหากไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนที่แท้จริง หรือมองไม่เห็นสาธารณประโยชน์ ธรรมรัฐจะเกิดขึ้นไม่ได้ ปัจจัยอื่น ๆ คืออะไร คือสิ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Equity คือจะต้องมีโอกาสทัดเทียม กันและต้องได้รับความเสมอภาค จะต้องมีอะไรอีก จะต้องมี Predictability ต้องมีความคงเส้นคงวา จะต้องรู้ด้วยว่าอะไรถ้าเผื่อเกิดอย่างนี้อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเผื่อทำอย่างนี้แล้วอะไรจะเกิดขึ้น….(เสียงขาดหายไป) ค่อนข้างจะยาก เพราะคนไทยรู้จักคำว่ารับผิดชอบต่อหน้าที่ ซึ่งเราอาจจะแปลว่า Responsibility แต่พอถึง Accountability นั้น มันรากของภาษา ภาษาอังกฤษบอกว่า give account for อะไรที่จะต้องเสนอข้อแท้จริงว่าทำไมข้อมูลเป็นอย่างนี้ เราถึงตัดสินใจไปอย่างนี้ เราถึงมีพฤติกรรมอย่างนี้ เราถึงมีมาตรการอย่างนี้ ถ้าเผื่อเรามี Accountability ความผิดพลาดก็ยังเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเผื่อเป็นความผิดพลาด ที่เกิดจากใจบริสุทธิ์ในแง่ที่ภาษาฝรั่งเรียกว่าเป็น Misjudgement อันนั้นไม่ใช่ความผิดทางอาญา คนเรามีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจผิดได้ ถ้าเผื่อการตัดสินใจนั้นอยู่บนมูลฐานของข้อเท็จจริงที่ตัวเองได้รับ อยู่บนมูลฐานของความถูกต้องที่ตัวเองคิด และอยู่บนมูลฐานของความบริสุทธิ์ใจ แต่ถ้าเผื่อเป็นการตัดสินใจที่อยู่บนมูลฐานของผลประโยชน์ของตัวเอง ผลประโยชน์ของเพื่อนร่วมงาน ของเพื่อนฝูง ของญาติพี่น้อง อันนั้นผิด ผิดตามกฎหมาย แต่ Misjudgement ได้ไม่ผิด แต่เป็นการตัดสินใจผิดพลาด ซึ่งถ้าเผื่อเป็นการตัดสินใจผิดพลาดแล้ว ก็ต้องยอมรับผิดชอบ เราจะเห็นได้ว่าในสังคมญี่ปุ่น ความอายเขามีอยู่มากเหลือเกิน เพียงแต่เขาถูกกล่าวหาและยังไม่ได้มีการสอบสวน หรือตรวจสอบว่าเขาผิดจริงไม่จริง เขาถึงกับฆ่าตัวตายไปแล้ว เขาลาออก ประธานบริษัทที่ทำให้บริษัทขาดทุน เวลาเขาเรียกประชุมผู้ถือหุ้น ภาษาไทยต้องเรียกว่ากราบแล้วกราบอีก โค้งแล้วโค้งอีก ขอโทษโดยทางสาธารณชนต่อผู้ถือหุ้นว่าเขาผิดพลาดอย่างไร แล้วเขาขอลาออก รัฐมนตรีคมนาคมเกาหลี หรืออินเดีย หรือญี่ปุ่น รถไฟเขาชนกัน เครื่องบินบริษัทของชาติเขาตก เขาต้องรับผิดชอบทางด้านการเมือง ขอโทษกับประชาชนอีกที่ทำให้คนตายอีก ๒๐๐ คน เขาไม่ใช่เป็นนักขับเครื่องบิน เขาไม่ได้เป็นคนขับรถไฟเลย เขาไม่ได้ผิดอะไรเลย เขาไม่มีแม้แต่ส่วนหนึ่งในกระบวนการที่นำไปสู่ความผิดพลาด แต่เมื่อเขาถือว่าเขาเป็นรัฐมนตรี เขาต้องรับผิดชอบ เขาต้อง accountable ของเรานี่เฉยเลย ไม่เฉยเปล่า ซัดคนอื่นอีก เราอยู่กันโดยไม่มีความอายครับ ที่ผมบอกมาว่าตั้งแต่เด็กมาเราไม่รู้ว่า อะไรผิดอะไรชอบ อะไรถูกอะไรผิด เดี๋ยวนี้อายก็ไม่อาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมพูดมานี่ก็พยายามจะอธิบายบางอย่างว่าธรรมรัฐนี่คืออะไร และต้องมีองค์ประกอบอะไร มันไม่ใช่เรื่องของการที่จะทำได้พรุ่งนี้มะรืนนี้ เพราะจริง ๆ แล้วถ้าเผื่อจะทำสิ่งที่ผมพูดมาเป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง แต่เสร็จแล้วมันต้องมีการปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงองค์กรและสถาบันต่าง ๆ ด้วยองค์การของรัฐ สถาบันของรัฐ จุดที่เราจะนำไปสู่นั้นคืออะไร คือการที่มีรัฐบาลที่เล็ก ไม่ใช่ให้รัฐบาลกลางนั้น มีอำนาจเหนือหัวเราอยู่ตลอดเวลาทุกเรื่อง มันนำไปสู่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้อำนาจแก่เอกชน ให้อำนาจแก่องค์กรชุมชน รัฐบาลยิ่งเล็กเท่าไหร่ยิ่งดี รัฐบาลที่ควบคุมน้อยที่สุดยิ่งดี เพราะหน้าที่รัฐบาลคือการกำกับดูแล รัฐบาลไม่มีหน้าที่ในเรื่องของการทำธุรกิจ นับวันดูต่างประเทศเขา ที่ออสเตรเลีย แม้แต่คุกเขายัง privatise แล้ว ปรากฎว่านักโทษชอบให้บริษัทเอกชนดูแลเรื่องคุกเรื่องตารางดีกว่ารัฐดูแล และทำโดยมีการกำไรด้วย คุกในอังกฤษเขามีการตั้งคณะ แม้แต่เป็นคุกอังกฤษเขาก็ใช้คำ HM His Majesty prison ก็แล้วแต่เขาก็มี inspector เขามีคณะกรรมการซึ่งประกอบจากบุคคลภายนอก มาดูแลการจัดการคนคุกตารางของอังกฤษเขา อังกฤษในสมัยก่อนทุกอย่างต้องเป็นของรัฐหมด เดี๋ยวนี้ไม่ เป็นของเอกชน บางสิ่งบางอย่างที่รัฐไม่ควรทำอย่าไปทำ เราสร้าง bureaucracy เสียจน กรมตำรวจของเรามี ๒๐๐,๐๐๐ คน กระทรวงศึกษาของเราใหญ่ที่สุดในโลก คุมมันหมดหลักสูตร เครื่องแต่งตัว คอมพิวเตอร์ เวลาสอน สั่งไปหมดสั่งไปจากกระทรวงศึกษา ต่อไปนี้นักเรียนทั่วราชอาณาจักรเล่นกีฬา ๑๐ โมงเช้า ถึง ๑๑ โมงเช้าวันพุธ มันเรื่องอะไรการบริหารโรงเรียน มหาวิทยาลัย ต้องปล่อย เราต้องบอกว่าเป็น School-based คืออยู่ที่โรงเรียนกับอยู่ที่มหาวิทยาลัย ไม่ได้มาอยู่กับกระทรวงศึกษา เราเอาพวกนักศึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษามาเป็นข้าราชการหมด แล้วคุณก็รู้อยู่แล้วว่า ข้าราชการใครมีอำนาจมันสร้างกฎก่อน มันอาจจะต้องคิดเลยไปว่าโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหรือจากกองทัพบกก็แล้วแต่ ควรจะมีการจัดการอย่างอาชีพหรือเปล่า ต้องเริ่มคิดครับ เพราะรัฐรับภาระทั้งหมดไม่ไหว การดูแลสวนสาธารณะจำเป็นไหมที่หน่วยงานของรัฐต้องไปดูแล ให้เอกชนไปทำได้ไหม สร้างงานให้เขา เพราะฉะนั้นรัฐจะต้องเป็นรัฐบาลที่เล็กไม่ได้มีอำนาจเหนือหัวเรา ไม่ได้ควบคุมชีวิตเรา แต่ควรจะเป็นรัฐบาลที่ส่งเสริมและเอื้ออำนวยความสะดวก ในการนำไปสู่ความผาสุกความมั่งคั่งของประเทศชาติ คนต้องปกครองด้วยกันเอง อันนั้นคือรากฐานของประชาธิปไตย มันถึงจะเป็นระบอบของประชาชนเพื่อประชาชนและโดยประชาชน ความหมายมันถึงสมบูรณ์ขึ้น วันนี้ผมนำปัญหามาสู่ท่านมาก ก็ขอบคุณที่รับฟัง จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยนั้นไม่เป็นไร แต่ผมอยากที่จะเห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีจิตวิญญาณที่อยากปรับปรุงตัวเองอยู่ตลอดเวลา พยายามคิดอ่านหาหนทางที่จะแก้ไขสิ่งบกพร่อง เสริมสร้างสิ่งที่ดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราจะต้องเสริมสร้างแน่นอนคือ คนไทยนั้นจะต้องมีจิตวิญญาณของการรู้ว่าอะไรคือสาธารณประโยชน์ มากกว่าที่เป็นอยู่ในอดีต ขอบคุณ

คำถาม: การเปิดเสรีทางการเงินนั้น เกิดขึ้นในสมัยของ ฯพณฯ สาเหตุของ IMF นั้นมีรากฐานมาตั้งแต่สมัย ฯพณฯ ๑๐ ปีที่เรามีรัฐบาล ๙ ชุด รัฐบาลทุกชุดนั้นก็ควรมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ ไม่ทราบว่าท่านจะตอบคำถามนี้อย่างไร

ฯพณฯ อานันท์: คนไทยบางคนมีความเก่งในการที่จะดึงเรื่องบางเรื่องออกมาใช้เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ผมอยากเล่าอย่างนี้ครับ ผมก็ไป ในสมัยอานันท์หนึ่งก็ไป ผมค่อนข้างที่จะพิถีพิถันในการเลือกบุคคลในรัฐบาลผม ที่เป็นบุคคลที่มีจิตใจเสรี เพราะว่าคือต้องขอยอมรับว่า การที่เป็นรัฐมนตรีสมัยอานันท์หนึ่งนั้น มันค่อนข้างจะฉับพลันมาก สำหรับคนอย่างนายอานันท์ซึ่งไม่เคยเป็นรัฐมนตรีเลย หรือไม่เคยจะยอมรับตำแหน่งรัฐมนตรีใด ๆ ทั้งสิ้นในอดีต วันดีคืนดีไม่เคยเป็นรัฐมนตรี แล้วไปเป็นนายกเลย มันเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นผมมองว่าเป็นโอกาสมากกว่า ตอนผมเข้าไปนั้นมีปัญหาอยู่ ๒ ปัญหาที่ค่อนข้างจะหนักมาก เพราะเป็นผลสืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจฟองสบู่ ตอนนั้นจะจำได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่คิดว่า เศรษฐกิจเราฟูเฟื่อง หรูหราในสมัยรัฐบาลชาติชาย แต่ก็เป็นเศรษฐกิจที่ค่อนข้างจะหลอกตัวเองพอใช้ ปรากฏว่าอัตราการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เติบโตปีละ ๕๐ - ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ตอนผมเข้าไปนั้นมี ๒ ปัญหา คือ ปัญหาแรก คือบัญชีเดินสะพัดของรัฐ เป็นบัญชีเดินสะพัดที่ขาดทุนประมาณ ๗ เปอร์เซ็นต์ของ GDP ตามหลักของเศรษฐศาสตร์แล้ว บัญชีเดินสะพัดของรัฐถ้าเผื่อจะติดลบต่อ GDP นั้น ไม่ควรเกิน ๓ เปอร์เซ็นต์ แต่ผมเข้าไปนั้นมัน ๗ เปอร์เซ็นต์แล้ว ปัญหาที่สองคือ ปัญหาอัตราเงินเฟ้อ ตอนผมเข้าไปนั้นประมาณ ๕ เปอร์เซ็นต์นั้นหน้าที่แรกที่ผมจะต้องรีบทำคือจะต้องควบคุม หนึ่ง การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจาก ๗ เปอร์เซ็นต์ ให้ลดลงมา สอง คือควบคุมอัตราเงินเฟ้อ เราก็ใช้มาตรการทางการเงินการคลังหลายประการ โดยเฉพาะมาตรการทางด้านการเงินนั้น ๑ ปี ๔ เดือน ตอนที่ผมออกมาจากรัฐบาลอานันท์หนึ่งนั้น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดตกลงมา ๗ เปอร์เซ็นต์ เหลือประมาณ ๔.๒ และอัตราเงินเฟ้อนั้นตกลงมาจาก ๕ เปอร์เซ็นต์ เหลือประมาณ ๓.๕ นั่นเป็นภูมิหลังที่ผมอยากจะฝากไว้ ทีนี้จะตอบคำถามที่ผู้ถามถามผมไว้นั้น รัฐบาลผมเป็นรัฐบาลที่นิยมนโยบายเสรี หลายท่านที่เคยติดตามผมคงจำได้ว่าผมเคยพูดอยู่เสมอ ว่าการมีรัฐบาลเผด็จการหรือการมีรัฐบาลที่มีอำนาจอยู่กับกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะกลุ่มทหาร กลุ่มพ่อค้า นักธุรกิจ หรือกลุ่มนักการเมือง แต่ถ้าอำนาจนั้นอยู่เพียงแค่คนกลุ่มหนึ่ง การผูกขาดอำนาจทางการเมืองไม่ดีฉันใด การผูกขาดอำนาจทางด้านธุรกิจก็ไม่ดีฉันนั้น ผมเชื่อว่าการผูกขาดอำนาจใด ๆ ทั้งสิ้น การผูกขาดอำนาจทางการเมือง ให้กับคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มเล็ก ๆ การผูกขาดอำนาจเศรษฐกิจ หรือธุรกิจการค้ากับกลุ่มเล็ก ๆ ได้รับสัมปทานไปโดยไม่มีการแข่งขัน เป็นต้น หรือการผูกขาดอำนาจอะไรก็ตามในครอบครัว ในสังคม ถ้าเผื่อพ่อผูกขาดอำนาจในการปกครองลูกทั้งหมด หรือแม่ผูกขาดอำนาจก็ไม่ถูก ถ้าเราเริ่มต้นจากจุดนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือ การเปิดระบบการเมืองให้มันกว้างขึ้นมา อันนั้นคือการพยายามที่จะนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตย อันที่สองคือจะต้องตัดการผูกขาดด้านธุรกิจ ถ้าเผื่อไม่มีการแข่งขันแล้ว ผลประโยชน์ของผู้อุปโภคบริโภคจะไม่มีเลย การทำการค้านักธุรกิจทุกคน ถ้าเผื่อได้สัมปทานมาหรือได้การผูกขาดเหล้าก็ดี บุหรี่ก็ดี นั้นมันสบายมาก เหมือนทำงานไปได้วัน ๆ หนึ่ง มันมีกำไรอยู่เสมอ ไม่ต้องไปคำนึงถึงผู้บริหารงานนั้นเก่งไม่เก่ง การใช้จ่ายนั้นเป็นอย่างไร มันสะดวกมันง่าย แล้วตอนนั้นกระแสโลกก็ไปอยู่แล้ว เพราะทุกอย่างมันเริ่มเปิดมากขึ้น ๆ ตอนหลัง ๆ อาจใช้คำว่า Democracy น้อยลงไปด้วยซ้ำ เขาใช้คำว่า Open society ต้องมีระบบ Open Political Process ต้องเปิดระบบเศรษฐกิจ เปิดระบบการค้า ตอนที่ผมเข้าไปนั้น เริ่มมีการเจรจาสิ่งที่เขาเรียกว่า WTO หรือที่เราเรียกว่า Uruguay Round ตอนนั้นมันเห็นชัดว่า WTO ครั้งแรกที่เขามีที่ Tokyo Round ปี ๑๙๗๕ ตอนนี้เขามีที่ Uruguay Round ทำท่าจะไม่สำเร็จ แต่ผมบอกว่าอย่างไรสุดท้าย มันก็ต้องสำเร็จ สองยาม ตีหนึ่ง ตีสอง มันก็ต้องเสร็จวันนั้น แต่ตอนแรก ๆ มันแน่นอน ไปช้าและเกิดการถกเถียงกันมาก แต่ตอนนั้นมันเด่นชัดแล้วว่า ความหมายคำว่า ระบบเศรษฐกิจที่เปิดนั้น ที่ผ่านมาที่ทำที่ Tokyo มันเปิดแต่เฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม มันยังไม่เปิดสินค้าเกษตร แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ปี ๑๙๗๕ ที่ Tokyo Round นั้น มันยังไม่มีการพูดถึงระบบธุรกิจการเงินและการคลังเลย ตอนนั้นผมเห็นแล้วว่ามันจะต้องมีแน่ และ ๒ ปี ๓ ปีต่อมา เมื่อมีการเจรจาสำเร็จเรียบร้อย WTO ก็ออกมาแจ้งชัดว่า ระบบการเงินการคลังต้องเปิด นอกเหนือไปจากการตัดภาษี หรือลดภาษีขาเข้าขาออกของสินค้าอุตสาหกรรมมากขึ้นแล้ว แม้แต่การที่รัฐบาลผมลดภาษีนำเข้ารถยนต์นั้น ไม่ได้ทำไปโดยไม่รู้เหตุการณ์ จะมาอ้างว่าเนื่องจากนายอานันท์ปล่อยให้รถเข้ามามากมาย รถถึงติดมากนั้น มันคนละเรื่องกัน WTO Agreement เขาเขียนไว้ชัดว่าจะต้องลดลงเหลือเท่าไหร่ ตอนนั้นเมืองไทยเป็นประเทศที่เก็บภาษีรถยนต์มากที่สุดในโลก ประมาณ ๒๕๐ เปอร์เซ็นต์ ผมมาคิดดูแล้วว่า ถ้าเผื่อเราไม่เริ่มลดลงบ้าง ก่อนที่WTO จะต้องบอกว่าให้ลดภายใน ๓ ปี ๕ ปี ๗ ปี ถ้าเผื่อเราไม่ชิงลดก่อน อุตสาหกรรมรถยนต์ในเมืองไทย จะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกเลย เพราะไม่เคยทนต่อการแข่งขันได้ เพราะฉะนั้นที่ผมลดภาษีรถยนต์นำเข้ารถยนต์ ๒๕๐ เปอร์เซ็นต์ ตอนนั้นมันมากเกินไป มันมากเกินขอบเขต เราลดลงมาครึ่งหนึ่งจะเป็น ๑๐๐ หรือ ๑๒๐ เปอร์เซ็นต์ ก็แล้วแต่ โดยเหตุผล ๒ ประการ เพราะว่าภายใน ๕ ปี ๑๐ ปี WTO เขาบอกมาว่าจะต้องลดเหลือเท่าไหร่ นั่นคืออันแรก ฉะนั้นเราต้องเตรียมตัว ให้ผู้ประกอบรถยนต์ในเมืองไทยนั้นได้ตื่นตระหนักถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายใต้กติกาของโลก อันที่สอง ผมมองถึงประโยชน์ของผู้บริโภค ตอนนั้นจำได้ไหมว่าเมืองไทยเป็นสุสานรถยนต์เบนซ์ used car ของรถยนต์เบนซ์ ปีปีหนึ่งเราเอามาจากอังกฤษ เพราะอังกฤษเขาขับทางขวามือ ถนนของเขาอยู่ทางซ้ายเหมือนเรา ปีหนึ่งหมื่นกว่าคัน บริษัทผมซื้อรถเบนซ์ให้ผมนี่แปดล้านบาทตอนนั้น รถที่ใช้ในอังกฤษแล้ว ๕ ปี เมืองไทยเป็นสุสานรถที่ใช้แล้ว รถเบนซ์ที่ใช้แล้ว จะเต็มไปด้วยรถเบนซ์ที่ยุโรปเขาไม่ใช้ นอกจากนั้นผู้ประกอบรถยนต์ในเมืองไทย จะไม่มีสิ่งจูงใจที่จะทำธุรกิจด้านนี้ ให้มันมีประสิทธิภาพ และให้ผลประโยชน์แก่ผู้บริโภคมากกว่าในอดีต เพราะมันไม่มีการแข่งขัน รถญี่ปุ่นรถอะไรเข้ามาก็สู้รถที่ประกอบในไทยไม่ได้ เพราะมีกำแพงภาษีไว้ แต่ถ้าเผื่อให้ปล่อยให้มีโอกาสเลือกว่า จะให้นำรถจากญี่ปุ่นเข้ามาได้ด้วยแล้ว คุณภาพของรถที่ประกอบในเมืองไทย จะต้องดีขึ้น อันนี้เป็นเหตุผลหลักการใหญ่ แต่ถ้าเผื่อสภาพเศรษฐกิจไม่เปลี่ยนแปลงไป แล้วเกิดรถติดมากมายมันก็ช่วยไม่ได้ นายอานันท์ถูกด่านั้นไม่เป็นไรยอมรับได้ กลับมาเรื่องเปิดเสรี เรารู้อยู่แล้วว่า WTO เขาจะมาแบบนั้น กระแสของโลกมันมาแน่นอน มหาอำนาจเขาเป็นคนเขียนกติกาโลก เขาต้องการเปิดเพื่อเขาจะได้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศเหล่านี้ เราขัดอันนั้นไม่ได้ มันเป็นความจริงที่เราต้องยอมรับ เราไม่มีอำนาจและไม่มีบทบาทในการเขียนกติกาของโลกในตอนนั้น ขณะนี้ก็ยังไม่ค่อยมีเท่าไหร่ แต่เมื่อเขาเขียนอย่างนั้น เมื่อเป็นกติกาโลกแล้วเราบ่นได้เราเถียงได้แต่เราก็ต้องทำตามเพราะเราอยู่ในสังคมโลก ตอนที่ผมเปิดนั้น มันไม่ง่ายเหมือนว่าพอเปิดแล้วมันจะเป็นอย่างนี้ เพราะผมไม่คิดว่าวิกฤตของเราอันนี้มันเกิดขึ้นจากการเปิดระบบเสรี วิกฤตนี้มันเกิดขึ้นจากปัจจัยอื่นมากมาย เปิดระบบนี้ผมเปิดในทางทฤษฎีทั้งนั้น แต่รัฐบาลผมยังอยู่ไม่นานพอที่จะวางมาตรการรองรับ รัฐบาลชวน ๑ คุณธารินทร์เป็นรัฐมนตรีมีมาตรการรองรับ แต่ตอนหลังมีอีกหลายรัฐบาลไม่มีการนำไปใช้นั้นถ้าเผื่อบอกว่าทำไมเราถึงเจอเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น คำตอบ คือ ใช่ ผมคือ ผู้เริ่มเปิด แต่เปิดทางทฤษฎีเท่านั้น เรื่อง BIBF ต่าง ๆ มาทำรัฐบาลชวน ๑ คุณธารินทร์ ในการที่ให้ธนาคารต่างประเทศมาเปิดสาขาในเมืองไทย หรือสิ่งที่เขาเรียกว่า Bangkok International Banking Facility คือสามารถไปกู้ยืมเงินดอลลาร์อัตราดอกเบี้ยถูกได้และไม่มีการที่เรียกว่าการควบคุมหรือไม่มีการสร้างกฎเกณฑ์อะไรขึ้นมา ที่จะบรรเทาผลลบของด้านนี้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย แต่ผมออกมา ๖ ปีแล้ว เริ่มต้นแต่ในทางทฤษฎีแต่ยังไม่เริ่มปฏิบัติเลย ประเด็นที่สอง สิงคโปร์เขาเปิดมาตั้ง ๒๐ ปีแล้ว เขาเปิดมากกว่าเราเยอะ เขาไม่เป็นอะไรเลย เพราะ หนึ่ง คนเขาเก่ง คนเขาดี คนเขาซื่อ เขาสร้างกฎเกณฑ์เขาต่าง ๆ ผลลัพธ์ข้างเคียงที่มันลบ เขาสามารถควบคุมได้หมด ของเรานี่สิ่งที่เรียกว่าพลาดมากคือเมื่อเราเปิด ผมเปิดทางทฤษฎี ต่อมารัฐบาลอื่นเปิดทางด้านปฏิบัติ เมื่อเปิดแล้วเราไม่เปิดเต็มที่ จะพูดภาษาง่าย ๆ การเปิดระบบการเงินการธนาคารให้เป็นเสรี หมายความว่าให้ต่างชาติเข้ามาทำมาหากินได้ ให้เงินทุนเข้ามาได้สะดวกขึ้นต่าง ๆ ระบบเสรีหมายความว่า ระบบเสรีคือ การอาศัยกลไกทางตลาด คำว่า กลไกตลาดหมายความว่าอย่างไร กลไกทางตลาดนี้คงขึ้นอยู่กับ Demand Supply ราคาน้ำมันรัฐบาลเปิดเสรีเหมือนกัน หวังว่าน้ำมันหรือเวลาน้ำมันต่างประเทศแพงน้ำมันภายในก็ขึ้นได้ แต่ถ้าเผื่อราคาน้ำมันต่างประเทศต่ำ น้ำมันภายในก็ลดลงได้ ไม่ใช่บอกว่าลิตรละ ๑๐ บาท ก็ต้อง ๑๐ บาทตลอดชีวิต บางวันเราก็หวังให้เหลือ ๗ บาท บางวันอาจจะขึ้นเป็น ๑๒ บาท อันนั้นคือกลไกทางตลาด Demand Supply เมื่อเราใช้ระบบเสรีทางด้านการเงินแล้ว กลไกทางตลาดอย่างนี้หมายความว่า ธนาคารชาติหรือรัฐบาลไทยไปกำหนดอะไรไม่ได้ ขึ้นอยู่กับรอ Demand Supply อย่างเดียว ตลาดต้องการอย่างไร นอกจาก Demand Supply แล้ว ตลาดต้องการข้อมูลที่ถูกต้อง ข้อมูลที่สมบูรณ์แล้ว ตลาดมันจะ react ไปตามนั้น แต่เราลืมไปว่าเมื่อเราเปิดสิ่งเหล่านี้แล้วยังมีอีกอันหนึ่งที่เรายังไม่เปิดนั่นคืออัตรา Exchange Rate เรายังไป Fix อยู่ นั้นเผื่อถ้าเราเปิดด้านนี้ แล้ว Foreign Exchange Regime เราไม่เปิด ไม่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกทางตลาด แต่ไป Fix ว่าดอลลาร์หนึ่งจะต้อง ๒๕.๕๐ บาท อันนี้มันขัดกันอยู่ในตัว ด้านหนึ่งวิ่งขึ้นลงได้ อีกด้านหนึ่งกลับติดอยู่กับที่ จะติดกับดอลลาร์ หรือจะติดกับกระจาดเงินตราต่างประเทศที่เขาเรียกว่า Basket of Currency อะไรก็แล้วแต่ ถ้าอันนั้นไปกำหนด จะเกิดความยุ่งยากนั้นถ้าเผื่อเราไป Fix แล้ว สมัยก่อน Fix กับดอลลาร์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ต่อมาเรา Fix กับที่เขาเรียกว่า Basket of Foreign Currency ซึ่งก็ยัง Weight ของดอลลาร์มากกว่า แต่ธุรกิจการค้าของเราขึ้นอยู่กับอเมริกา และขึ้นอยู่กับญี่ปุ่นด้วย แต่พออัตรา Exchange ของอัตราดอลลาร์ กับเงินเยนมันผันแปรไปมาก ระหว่าง ๘๕ ไปถึง ๑๓๐ พอทางโน้นผันแปรไปแล้วเรายัง Fix อยู่ เราไม่ได้อาศัยกลไกทางตลาดแล้ว นับวันนับวันที่เราไป Fix อยู่ที่ ๒๕.๕๐ บาทนั้น มันไม่ถูกต้องกับข้อเท็จจริงแล้ว ในเมื่อเงินญี่ปุ่นมันตกไป ๔๐ เปอร์เซ็นต์ แต่เรายังตรึงเงินบาทอยู่กับดอลลาร์อยู่ ๒๕.๕๐ บาทนั้น ก่อนที่จะเกิด attack นั้น เราถูก Fund attack อยู่ ๓ ครั้ง อังกฤษเมื่อตอนที่เขาถูก attack เงินปอนด์ เมื่อปี ๑๙๘- เท่าไหร่จำไม่ได้ เขาใช้เงิน ๙ บิลเลี่ยนดอลลาร์ defend เงินปอนด์เขาแล้วเขาก็แพ้ แล้วเขายกธงขาวชูมือบอกว่ายอมแพ้ เขาDevalue เงินปอนด์ ของเราใช้ไป ๒๔ บิลเลี่ยนดอลลาร์ และมีอย่างที่ไหน อังกฤษนะครับเศรษฐกิจของเขาใหญ่กว่าของเราไม่รู้กี่สิบเท่า เขาใช้ ๘ หรือ ๙ บิลเลี่ยนดอลล่าร์ defend เงินปอนด์ และเขายอมแพ้ ของเราใช้ไป ๒๔ บิลเลี่ยนดอลลาร์ครับ และใช้อาจจะใช้โดยมีอำนาจทางกฎหมายด้วย แต่มันเป็นกฎหมายที่ล้าหลัง มันไม่มีการคานอำนาจ ไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีอะไรเลยหรือ ผมไม่ได้ว่าคนใดคนหนึ่งในธนาคารชาติ แต่อันนี้มันไม่มีธรรมรัฐ มันไม่มีกฎเกณฑ์ที่มันแน่นอน ไม่มีการคานอำนาจซึ่งกันและกัน มีแต่การใช้อำนาจอย่างเดียว เพราะตอนนั้นก่อนที่จะdefend เงินบาทนั้น Devalue เงินบาท ว่าดอลลาร์ ๒๕.๕๐ บาท เป็น ดอลลาร์เหลือ ๓๐ บาท ผมคิดว่าอาจจะผิดว่าตอนนั้นอาจจะตรึงอยู่ ยอมDevalue เสียตอนนั้นอาจจะตรึงอยู่ แต่ตอนนี้เหตุการณ์ผ่านไป เราพูดไม่ได้ครับว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ มันไม่ควรจะกลับมาย้อนว่า หนึ่ง จริง รัฐบาลผมเริ่มทางทฤษฎีเปิดระบบการเงินการคลัง สอง รัฐบาลต่อมาเปิดจริงทางด้านปฏิบัติ มีแผนงานเตรียมรับ มีมาตรการเตรียมรับ แต่อย่างไรไม่ทราบเหตุผล อย่างไรก็แล้วแต่ ไม่ได้มีการนำไปใช้ด้วยความรอบคอบ แต่จุดใหญ่ที่สุด ผมไม่คิดว่าการเปิดระบบเสรีเป็นการนำความหายนะมาสู่เมืองไทย จริงอยู่การเปิดระบบเสรี ประเทศที่เล็กอย่างเราคงจะเสียเปรียบมากกว่าได้เปรียบ แต่มันเป็นเรื่องของกระแสของโลก ที่จะต้องเดินไปทางนั้น แต่มันมีหลายอย่างที่เราควรทำ เราควรจะมีมาตรการ แม้แต่มาตรการของการปรับ ที่เรียกว่า unpact unpact ดอลลาร์บาท Exchange rate ออกมาเราไม่ได้ทำด้านหนึ่ง เราเปิดให้วิ่งไปวิ่งมาตามกลไกทางตลาด อีกด้านหนึ่งเราปิดตรึงไว้เลย ยิ่งตรึงเท่าไหร่ค่าของเงินไม่ตรงกับความจริงเลย

คำถาม: ดิฉันสนใจระบบการศึกษาของอังกฤษ อยากเรียนถามคุณอานันท์ว่า Summer Hill School ของอังกฤษ ซึ่งเป็นโรงเรียนตัวอย่างของอังกฤษ เขาปฏิรูปกันอย่างไร ถึงได้เป็นโรงเรียนตัวอย่าง เพราะว่าวันศุกร์ที่จะถึงนี้ ดิฉันต้องไปคุยปฏิรูปการศึกษา กับคุณหมอประเวศ และ ดร.สิปปนนท์อะไรพวกนั้น ก็อยากรู้เรื่อง Summer Hill ของอังกฤษ

ฯพณฯ อานันท์: ผมขอประทานโทษ ผมไม่รู้เรื่อง Summer Hill School เลย ผมนี่อาจจะรู้จัก…….

(เสียงขาดหาย)

ยังใช้ไม่ เหมือนกัน อย่างโรงเรียนที่ผมไปอย่างโรงเรียนเด็ก โรงเรียนมัธยมเขาเรียก Fourth Fifth, Upper Fifth แล้วก็ Remove แล้วถึงจะมี Sixth โรงเรียนผม Upper Fifth นี่เรียก Upper Fifth เป็นระดับที่เรียกว่า อาจจะถือว่า ม. ๖ แต่อีกโรงเรียนหนึ่งระดับนี้อาจจะไม่เรียก upper fifth เขาอาจจะเรียก Remove มันเรื่องของเขา เครื่องแบบเป็นเรื่องของเขา ระบบการศึกษา หลักสูตรการศึกษาเขาก็จัดของเขาเอง หนังสือ Textbook เขาก็จัดของเขาเอง เพราะเขาต้องการความหลากหลาย และให้แต่ละโรงเรียนเป็นคนเลือกว่า ควรจะใช้หนังสือของใคร มันก็จะเกิดการแข่งขันระหว่างผู้เขียนหนังสือ มันไม่ได้ผูกขาด ไม่ได้ผูกขาดธุรกิจการเขียนหนังสือวิชาการ และผูกขาดการพิมพ์ด้วย อันนี้แหละครับเป็นบ่อเกิดคอรัปชั่น อะไรก็ตามก็มีการผูกขาดทั้งนั้น เครื่องแบบนักเรียนก็เหมือนกัน หัวคะแนนได้ไปหมด เพราะฉะนั้นสิ่งที่จำเป็นที่สุด ต้องเริ่มที่กระทรวงศึกษา ผมเคยไปพูดตลก ๆ เขาจะชอบไม่ชอบตอนผมเป็นนายก ผมไปที่กระทรวงทบวงมหาวิทยาลัย ผมบอกว่าสิ่งแรกที่ผมอยากทำคือยุบกระทรวงของคุณ มันมีไปทำไม ผมกำลังช่วยตั้งมหาวิทยาลัยที่เรียกว่า Asian University Science and Technology ร่วมกับ Imperial College โอ้โห กระทรวงทบวงมหาวิทยาลัยเต็มไปหมดเขาไม่ดูเลยว่า ไอ้ความตั้งใจกับคนที่มาประกอบธุรกิจไม่ใช่ธุรกิจ มาประกอบเรื่องศึกษา เขามาตามตัวเลขครับ จะเปิดได้ต้องมีห้องสมุด ที่มีหนังสือ ๕๐,๐๐๐ เล่ม อันนี้แหละครับคือระบบราชการ ความคิดแบบราชการ ทำไมมหาวิทยาลัยที่มันจะเริ่มต้นเนี่ย มันต้องคิดถึงเรื่องตึกเรื่องห้องนอน เรื่องแล็บ หรืออะไรต่าง ๆ มันจะมีหนังสือหมื่นเล่ม หรือห้าหมื่นเล่ม ผมยังมองไม่เห็น ไม่ว่าจะทำอะไร อันนี้ผิดกฎนี่ อันนั้นผิดกฎนั่น แต่ไม่เคยมานั่งคิดครับว่า ไอ้กฎที่ตั้งขึ้น มันเป็นกฎที่ถูกต้อง กฎที่ดีหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้ ดังนั้นผมถึงเชื่อครับว่า รัฐบาลต้องเล็ก รัฐบาลต้องควบคุม รัฐบาลจะต้องเป็นเจ้าของและควบคุมน้อยที่สุด รัฐบาลจะต้องเป็น Facilitator จะต้องส่งเสริม โรงเรียนนี้ควรจะต้องเป็นเรื่องของท้องถิ่น เราต้องพยายามสร้างสถาบัน คณะผู้ปกครอง หรือคณะอะไรแล้วแต่ กรรมการบริหาร ที่อังกฤษเขา โรงเรียนรัฐของเขาอยู่ภายใต้ Local Education Authorities ผู้บริหารงาน ผู้บริหารท้องถิ่นเขาถึงจะรู้ หลักสูตรที่สอนที่สงขลากับหลักสูตรที่สอนที่เชียงราย มันไม่ควรจะต้องตรงกันทุกอย่าง สงขลาเป็นเมืองทะเลเป็นเมืองประมง เป็นเมืองร้อน เชียงรายเป็นเมืองเขา เป็นเมืองชาวเขา เป็นเมืองหนาว เป็นเมืองป่าไม้ จะต้องมีหลักสูตรที่เรียกว่า Optional Subjects ที่แตกต่างกันไป ทำไมการเล่นกีฬา เวลาเล่นกีฬาที่โรงเรียนที่สงขลาจะต้องตรงกับการเล่นกีฬาที่โรงเรียนที่เชียงราย มันเรื่องอะไรล่ะครับ ทำไมไปกำหนดวิถีชีวิตของคนเสียหมด ทำไมไปกำหนดพฤติกรรมของโรงเรียนทั้งหมด เขาอยากจะเล่นวันศุกร์บ่ายไป อีกโรงเรียนอยากเล่นพุธเช้า ก็ให้เขาเล่นไป มันแตกต่างอะไรกัน โรงเรียนนั้นอยากให้อ่านหนังสือเขียนโดยครูคนนี้ ก็ให้เขาอ่านไป ถ้าเผื่อไม่ดีคุณภาพเขาก็เสียเอง ดังนั้นกระทรวงศึกษาที่อังกฤษอเมริกา ส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งที่เขาสำคัญมาก คือเขาเรียกว่า Inspectors ทุก ๆ ๒ ปี เขาจะส่งพวกนี้ ซึ่งมีความเที่ยงธรรมไปตรวจสอบคุณภาพของโรงเรียน คุณภาพของหลักสูตร คุณภาพของการศึกษา คุณภาพของวิชาการ คุณภาพของ physical facilities ต่าง ๆ แล้วทำออกมาเป็นรายงาน แล้วเปิดเผยด้วย แต่ของเรานี้ไม่ได้ครับ คุมจิตใจหมด สั่งหมด สอนให้คนไทยเป็นทาส แล้วเป็นทาสแล้วยังเป็นทาสที่เลวอีก

(มีคำถามแทรก)

คำถาม: คือในเรื่องของธรรมรัฐ ทุกคนก็ต้องเห็นว่าดี อันนี้เป็นที่หวั่นเกรงกันมาก เพราะว่า คิดว่าประชาชนของเราจะพร้อมไหม คือประชาชนส่วนมากก็อยู่ในชนบท

ฯพณฯ อานันท์: อันนี้ผมเสียดาย คนไทยจำนวนไม่น้อย รวมทั้งพี่น้องเพื่อนฝูงบางคนนี่ ที่ยังพูดอยู่ตลอดเวลาว่า เมืองไทยประชาธิปไตยยังไม่พร้อม ยังไม่พร้อม ผมได้ยินมา ๖๕ ปี ไม่พร้อม เมื่อไรครับจะพร้อม

คำถาม: คืออย่างท่านว่า กระทรวงศึกษาก็ชื่อ ๆ อะไรนี้นะคะ

ฯพณฯ อานันท์: มันต้องพร้อม มันไม่ได้เปลี่ยนจุดเดียวครับ ไม่ต้องเปลี่ยนทั้งระบบเปลี่ยนทุกอย่างหมดครับ แต่เป็นการเปลี่ยนอย่างวิวัฒนาการ แต่เป้าหมายเราต้องรู้ว่าเราจะเดินไปทางไหน

คำถาม: คนชนบทเชื่ออะไรง่าย และเรื่องซื้อเสียงง่าย เราไม่กลัวว่าเขาจะซื้อเสียง

ฯพณฯ อานันท์: ผมว่าบางครั้งบางคราว แม้แต่สื่อของเราก็ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนะครับ ผมไม่ได้สัมผัสด้วยตัวเองโดยตรง แต่ผมมีเพื่อนฝูงที่อยู่ในกรม องค์กรเอกชนมาก องค์กรชุมชนของเมืองไทยนี่ ไม่ได้อ่อนแออย่างที่คนคิด ไม่ได้อ่อนแอ มีองค์กรชุมชนโดยเฉพาะองค์กรชุมชนทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างจะแข็งด้วย แล้วพวกนี้เขาไม่ขอความช่วยเหลือทางด้านการเงินเลย แต่ผมว่ามันต้องเริ่มต้น

(มีคำถามแต่ไม่ชัดเจน)

ฯพณฯ อานันท์: ผมว่าผมขอใช้คำพูดของประธานาธิบดี Roosevelt หน่อยได้ไหมครับว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในชีวิตคือความกลัว ผมขอประทานโทษ ผมจะต้องไปเป็นประธานที่ประชุมอีกที่หนึ่งนะครับ

พล.ต หญิงวิไล: ค่ะ ก็ขอบพระคุณท่านเป็นอย่างยิ่ง รู้สึกปลื้มใจ ดีใจที่ ฯพณฯ กรุณามาให้ความรู้แก่เรา ความจริงยังมีอีกหลายคำถามนะคะ แต่ไม่มีเวลา หวังว่าคงจะได้รับความอนุเคราะห์ในคราวต่อไปนะคะ ก็ขอเรียนเชิญท่านอาจารย์ เจ้ากรมแพทย์กรุณามอบของที่ระลึกให้ ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน ด้วยค่ะ