รวมปาฐกถาภาษาไทย

ปาฐกถาพิเศษ
เรื่อง การพัฒนาคนและสังคมในทศวรรษหน้า
โดย นายอานันท์ ปันยารชุน
วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙
ณ อาคารฐานเศรษฐกิจ กรุงเทพฯ

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

     ในวันนี้ผมต้องขอขอบคุณหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าสภาพัฒน์ ที่ได้กรุณาเชิญผมให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสัมมนาเรื่อง “คนกับการพัฒนาชนบท” โดยเฉพาะได้ให้เกียรติผมมากล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การพัฒนาคนและสังคมในทศวรรษหน้า” ซึ่งนับเป็นหัวข้อเรื่องที่สำคัญและเหมาะสมสอดคล้องกับยุคสมัยในขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ ๒๑ ที่กำลังจะมาถึงนี้

     วันนี้ผมจะขอพูดหลายเรื่องครับ แต่การพูดของผมนั้นคงจะมีลักษณะเป็นการคิดดัง ๆ มากกว่า เพราะหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมจะพูดในวันนี้ไม่ใช่ผมเป็นเจ้าของความคิด แต่เป็นสิ่งที่ผมอยากจะพูด เป็นสิ่งที่ผมอยากกระตุ้นจิตสำนึกตลอด กระแสความคิดของท่านผู้มีเกียรติในที่นี้ ซึ่งหวังว่าจะบังเกิดเป็นความคิดร่วมกัน จนสามารถนำไปสู่ขั้นการปฏิบัติในระยะต่อไป

     ท่านผู้มีเกียรติครับ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมจะพูดนี้ คงไม่ใช่เรื่องถูกต้องหรือสมบูรณ์ทั้งหมด แต่อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่ผมพูดไปนั้น เมื่อท่านกลับไปบ้านในวันนี้แล้วนำไปคิดต่อ นำไปสานต่อ ผมถือว่าผมได้ทำหน้าที่สมบูรณ์ในระดับหนึ่งแล้ว

     ในปัจจุบัน ผมยังได้รับเกียรติเรียกว่า “อดีตนายก” แต่ก่อนผมไม่ค่อยชอบว่า ทำไมต้องอดีตนายก แต่ฟัง ๆ ไปแล้ว ผมชอบ “อดีต” นะครับเพราะเป็นการย้ำอยู่ตลอดเวลาว่า ผมเป็นคนในอดีต ในเรื่องของตำแหน่ง ในเรื่องของการทำงาน แต่ผมจะไม่เป็นคนในอดีต ในเรื่องของ “ความคิด” ทั้งนี้ความคิดความอ่านของผมจะไม่ได้ผูกพันกับเวลาไม่ว่าจะเป็นอดีตหรือปัจจุบัน แต่เป็นความคิดความอ่านที่ผมอยากจะเห็นให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

     เมื่อดูภาพสังคมไทยโดยรวมแล้ว ผมเห็นว่า เป็นสังคมที่มีส่วนดีอยู่มาก เป็นสังคมที่เราจะต้องอุ้มชูต่อไป แม้ในสังคมจะมีหลาย ๆ สิ่งที่บกพร่องมีจุดอ่อน บางกลุ่มในสังคมมักจะเอารัดเอาเปรียบ ความยากจนของคนในชนบทที่รอคอยรับการแก้ไขไม่น้อยกว่า ๑๐ ล้านคน ความอยุติธรรมก็ยังมีอยู่มากในสังคมนี้ แต่โดยส่วนรวมแล้ว ผมยังเห็นว่าเป็นสังคมที่ก้าวหน้าพอประมาณเป็นสังคมที่ให้ความสุขความเจริญแก่คนไทยส่วนใหญ่

     ไม่มีสังคมใดในโลกนี้ที่มีความดี ความถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สังคมทุกสังคมในโลกนี้เป็นสังคมที่มีชีวิต ความมีชีวิตของสังคมนั้นแหละครับที่ทำให้เรามีมันสมองที่ทำให้เราคิดอ่าน แต่ความคิดอ่านจะต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและข้อมูลที่สมบูรณ์ครบถ้วน มองเห็นผลประโยชน์ร่วมกัน และทำผลประโยชน์ร่วมกัน การเอาแต่ใจตัวเอง คิดแต่ประโยชน์ตัวเองข้างเดียว มองเข้าข้างพรรคพวกพ้องทั้งหลายเป็นสิ่งที่ผมไม่อยากเห็น เราเกิดมาในสังคมที่ต้องการเปลี่ยนแปลง เราเกิดมาในสังคมที่ต้องการให้วันพรุ่งนี้ ดีกว่าวันนี้ วันมะรืนดีกว่าพรุ่งนี้

     ท่านผู้มีเกียรติครับ การพัฒนาประเทศไทยในระยะ ๓๐ - ๔๐ ปีที่ผ่านมานั้น เราประสบกับความสำเร็จในการยกฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยให้สูงขึ้นกว่าเดิมประมาณ ๓๐ เท่า จากรายงานของธนาคารโลก (World Bank Atlas 1996) ที่ตีพิมพ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ชี้ว่าในช่วงระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๘๕ - ๑๙๙๔ นั้น ประเทศไทยมีอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริงที่สุดในโลก และมีบทวิจารณ์จากนักวิชาการจำนวนมากว่า ภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๐ หรืออีก ๒๕ ปี ข้างหน้าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะใหญ่โตเป็นอันดับ ๘ ของโลก ใหญ่กว่าเศรษฐกิจของประเทศอังกฤษและเศรษฐกิจของประเทศฝรั่งเศสเสียอีก

     การที่เรามีเศรษฐกิจโตขึ้นมานั้น กล่าวกันว่า เป็นเพราะโดยพื้นฐานแล้วสังคมไทยมีลักษณะที่เปิดกว้าง มีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ดีพอสมควร ประกอบกับที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการทุ่มเทการลงทุนด้านบริการพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การปรับโครงสร้างทั้งทางด้านการเกษตร และทางอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง และเรายังมีนักธุรกิจ นักลงทุนที่มีความสามารถ จึงทำให้เศรษฐกิจของเราโตขึ้น

     แม้เรามีความเจริญทางเศรษฐกิจค่อนข้างไปเร็ว มีขนมเค้กใหญ่ขึ้นจริง ดังที่มีการเปรียบเทียบกันอยู่บ่อย ๆ แต่ปัญหาที่เป็นอยู่คือ มีคนได้กินกันทั่วถึงหรือเปล่า ขนมเค้กที่โตขึ้นแบ่งกันกินอยู่แต่ในกลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุดเพียง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ นับวัน ๆ คนกลุ่มนี้ มีแต่จะได้รับก้อนเค้กที่ใหญ่ขึ้น หรือถ้าดูตามสถิตินะครับ คนไทยที่อยู่ในระดับที่เรียกว่าจน เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว ก็มี ๑๐ ล้านคน ปัจจุบันก็ยังมีอยู่กว่า ๑๐ ล้านคน ตัวเลขไม่ได้ลดลงไป จริงอยู่มาตรฐานการครองชีพของคนจนเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วกับขณะนี้ อาจจะเปลี่ยนไป แต่มาตรฐานความจนนั้นก็จะเพิ่มสูงขึ้นไปทุก ๆ ปี เช่นเดียวกัน

     การคาดหมายเศรษฐกิจของไทยว่าจะใหญ่เป็นอันดับ ๘ ของโลกจะเป็นจริงขึ้นมาได้อย่างไร ตราบใดที่การพัฒนาของไทยยังเป็นไปเหมือนในอดีตยังใช้ระบบเดิม ยังใช้ความคิดเดิม ไม่มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่มีการปรับปรุงคุณภาพคน เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารให้ก้าวทัน สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ ผมคิดว่าเราคงยากที่จะไปถึงจุดนั้น

      สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะกล่าวคือ ทุกประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมักจะมีปัญหาสังคมตามมามากมาย ถ้าหากเรามองแต่ทางด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว ไม่ได้มองด้านสังคม จะเกิดปัญหาความขัดแย้งทางสังคมภายในประเทศมากขึ้น แต่ถ้ามองแต่ทางด้านสังคมเพียงด้านเดียวก็จะมีปัญหาหนัก ถ้าไม่มีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจควบคู่กันไป ดังนั้นการพัฒนาที่ถูกต้องก็คือการดำเนินการไปพร้อม ๆ กันแบบ “เดินสายกลาง”

     ประเด็นสำคัญที่คนในสังคมไทยจะต้องช่วยกันพิจารณา คือทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดความร่วมมือจากทุก ๆ ฝ่ายในสังคมให้หันมาเดินสายกลางพร้อม ๆ กันได้ ทำอย่างไรจึงจะทำให้นักธุรกิจ นักอุตสาหกรรมของไทยเรา มีความรู้สึก ความนึกคิด จิตวิญญาณทางด้านความรับผิดชอบ “ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม” กันมากขึ้น กล่าวคือ การดำเนินธุรกิจหรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจใด ๆ ต้องคำนึงถึงต้นทุนทางด้านสังคม ต้นทุนทางด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อมมากกว่าในระยะที่ผ่านมา ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนกลุ่มนี้ นึกอยู่เสมอว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำไปได้สร้างปัญหาให้กับสังคมไทยเพิ่มขึ้นหรือเปล่า หรือสิ่งที่ทำไปนั้นจะเป็นการช่วยสังคมให้ดีขึ้น

     ในขณะเดียวกัน กลุ่มทางด้านนักคิด นักสร้างสรรค์สังคม NGO หรือกลุ่มใด ๆ ที่เน้นเรื่องทางสังคม ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขการสร้าง “ผลประโยชน์เพื่อส่วนรวม” และ “ผลกำไรทางเชิงธุรกิจ” เพราะถ้าหากไม่มีการสร้างกำไรทางด้านเศรษฐกิจ ก็ไม่สามารถเอาเงินมาช่วยทางด้านสังคมได้ จะเลือกไปทางหนึ่งทางใดไม่ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนไทยในสังคมยึดทาง “สายกลาง” เป็นแนวทางหลักในการพัฒนาประเทศ

     ในความคิดเป็นของผม นอกจากเราต้องพยายามสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สามารถทำให้เรายืนอยู่บนเวทีโลก โดยรัฐบาลเป็นเพียงผู้กำกับดูแลให้ภาคเอกชนเข้าดำเนินการไป อย่าไปควบคุมเขา ลดการผูกขาดผลประโยชน์ด้านอุตสาหกรรม ให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ให้มีคนกินเค้กที่โตขึ้นกันมากขึ้น ดูแลผลประโยชน์ของผู้อุปโภคบริโภค สร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม แล้วเรายังต้องการสังคมที่สงบสุข มีเสรีภาพ มีความยุติธรรม เราต้องการเห็นคนทุกคนมีโอกาส และความสามารถในการประกอบอาชีพ เราต้องการเป็นคนไทยมีครอบครัวที่อบอุ่น อยู่ภายใต้ชุมชนที่เข้มแข็ง ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทั้งระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ

     ท่านผู้มีเกียรติครับ ประเทศไทยในยุคปัจจุบัน ที่เรากำลังเผชิญอยู่คือ คนไทย สังคมไทย โดยทั่วไปยังขาดการเรียนรู้ การคิด การวิเคราะห์ เรามีช่องว่างในเรื่องของความคิดอ่านหรือแนวความคิดและค่านิยมต่าง ๆ ระหว่างชาวกรุงกับชาวชนบท ความเอื้ออาทรที่เคยมีต่อกันลดลง คนไทยมุ่งไปสู่วัตถุนิยม บริโภคนิยมมากขึ้น สังคมไทยคลายพลังลง การแยกแยะความดี ความเลว ความถูก ความผิด ความเหมาะ ความควรในสังคมรอบตัวเราไม่ออก คุณค่าของวัฒนธรรมไทย คุณธรรม ภูมิปัญญาที่ดีแต่เก่าก่อนถูกมองข้ามไป คุณภาพชีวิตของคนไทยในภาพรวมด้อยกว่าประเทศคู่แข่งขัน ระบบและกลไกลต่าง ๆ ทางสังคมรวมทั้งระบบราชการยังไม่สามารถก้าวได้ทันกับสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดสภาพปัญหาความขัดแย้งกันในสังคมเพิ่มขึ้น

     คนไทยในชนบท นับเป็นคนในสังคมที่ยังขาดโอกาสได้รับการพัฒนาความรู้ ความสามารถ โดยเฉพาะ “กลุ่มเด็กในวัยเรียน” ยังขาดโอกาสในการศึกษาต่อสูงกว่าชั้นประถมเป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับเด็กในเขตเมือง และช่องว่างดังกล่าวนับวันจะถ่างกว้างยิ่งขึ้น หากพวกเรายังไม่ให้ความสนใจที่จะแก้ไขอย่างจริงจังต่อไป

     สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้กลายเป็นโจทย์ที่ทำให้ทุกคนต้องหันมาทบทวนบทบาทของตนเอง รวมทั้งทิศทางในการพัฒนาคนและสังคมของประเทศว่า เราพร้อมแล้วหรือยังกับการเผชิญปัญหาทางสังคมที่ท้าทายที่เกิดขึ้นจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกและของสังคมไทย

     ผมเป็นคนมองโลกในแง่ที่ดี และผมมีความแน่ใจว่าปัญหาของสังคมไทยนั้น ไม่ได้หนักหน่วงไปกว่าปัญหาของสังคมอื่น ๆ ในโลก หรือในประเทศที่พัฒนาแล้ว เจริญแล้ว ในชีวิตของผมเมื่ออยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั้งในอังกฤษ อเมริกาหรือในแคนาดา ที่ผมเดินทางไป ผมได้สัมผัสกับปัญหาต่าง ๆ ของประเทศดังกล่าวมากมาย จึงได้ตระหนักว่าปัญหาในประเทศชาติของเรา ไม่ได้มีความแตกต่างหรือมีลักษณะที่แก้ไขไม่ได้ ขอแต่เราต้องมีความมั่นใจในตัวเอง ต้องยึดถือคุณธรรมมีความอดทน รวมทั้งต้องกล้าคิด กล้าที่จะเปลี่ยนสังคมในทางสันติ

     ผมเชื่อในเรื่องของ “การเปลี่ยนแปลง” ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงเพื่อที่ต้องการจะให้เปลี่ยนแปลง แต่เปลี่ยนแปลงเพื่อที่จะได้ปรับตัวเองให้เข้ากับสังคมปัจจุบันกับสังคมในอนาคต ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมปัจจุบัน แต่เปลี่ยนแปลงให้ทันกับสังคมใน ๑๐ ปี ๒๐ ปี ข้างหน้า

     ในสายตาของผม การที่เราจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาสังคมได้นั้น เราต้องมุ่งไปพัฒนา “คน” ทุกกลุ่มเป้าหมายในสังคม มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตสิ่งแวดล้อม คุณภาพทางการศึกษาของคนทุกกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะที่ผมอยากเน้นคือ ใน “กลุ่มเด็กในวัยเรียน” ที่เป็นความหวังและอนาคตของประเทศชาติ

     แต่ปัญหาขณะนี้คือระบบการศึกษาของไทยยังเป็นระบบที่ยังตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและของโลกไม่ทันการณ์ ยังเป็นระบบที่ยึดติดกับธรรมเนียมประเพณีเก่า ๆ ยังเป็นระบบที่ไม่มีการเปิดเพียงพอที่จะให้กระแสความคิดอื่น ๆ ที่จะปรับปรุงคุณภาพของคนไทยเพื่อรองรับกับสถานการณ์ของสังคมไทยในภายหน้าได้

     ระบบการศึกษาของไทยที่ผ่านมา ยังไม่สามารถนำระบบสังคมไทยไปสู่สังคมที่มีจริยธรรม คุณธรรมไปสู่การแข่งขันทางเศรษฐกิจของโลกหรือของภายในประเทศไทยยังเป็นระบบที่ไม่สามารถที่จะผลิตคนดีให้แก่สังคมได้เพียงพอ และความสามารถในอดีตที่จะผลิตคนเก่งก็ลดน้อยลงไปด้วย

     ปัญหาประการหนึ่งคือ รัฐยังควบคุมระบบการศึกษาอย่างค่อนข้างจะแน่นแฟ้น คุณภาพทางด้านการศึกษาของเรายังด้อยอยู่มาก การศึกษาในระบบโรงเรียนประถม มัธยม วิทยาลัยเทคนิค มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ยังด้อยพัฒนามาก หรือการศึกษานอกระบบยังด้อยพัฒนามาก

     ทิศทางที่ผมอยากจะเป็นคือ ระบบการศึกษาของไทยต้อง “เปิด” มากกว่านี้ ต้อง “โปร่งใส” มากกว่านี้ รัฐจะต้องมีทิศทางที่แน่นอนว่าจะผ่อนคลายการควบคุม ไปสู่สถานภาพเพียงแต่ทำหน้าที่กำกับดูแล ระบบใดก็ตามที่รัฐเข้าไปควบคุมมากเกินขอบเขต ผมคิดว่ามีแต่ทางเสีย รัฐจะต้องเปิดให้ประชาชนหรือท้องถิ่นเข้ามาดูแลในเรื่องการศึกษาหรือการพัฒนาคนและสังคมด้านอื่น ๆ ของเขามากขึ้น คนในกระทรวงศึกษาฯ ในมหาวิทยาลัย จะต้องเปลี่ยนความคิด คนที่อยู่นอกวงการศึกษาที่สามารถจะเกื้อกูลอำนวยระบบการศึกษาให้ดีจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ผมอยากเห็นคนรวยในเมืองไทยเอาเงินมาตั้ง “มูลนิธิเพื่อการศึกษา” อย่าง เมืองนอกเขาทำกัน เช่น มูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ มูลนิธิฟอร์ด อเมริกาเจริญได้เพราะคนลงทุนด้านการศึกษา ปัจจุบันเมืองไทยก็มีมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

     สังคมไทย จะต้องมีการลงทุนทางด้านการศึกษากันอย่างจริงจัง ต้องมีการปฏิรูประบบและ โครงสร้าง ต้องมีการปฏิรูปหลักสูตร ความคิดความอ่านของผู้ปฏิบัติงานและครูบาอาจารย์ สังคมใดก็ตามที่มีความพึงพอใจในระบบการศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบัน และไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงปรับปรุง ปฏิรูปแล้ว สังคมนั้นไม่มีทางเจริญได้ การเปลี่ยนแปลงในลักษณะข้างต้นอาจต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงกระแสความคิดจากภายนอกเข้ามากระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น

     เราจะเห็นได้ว่าประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรปทุกประเทศ เขาจะพูดถึงเขาจะทบทวนศึกษา อภิปรายกันอยู่เสมอว่าระบบการศึกษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นเหมาะสมกับสภาวการณ์กับในอนาคตอันใกล้หรือเปล่า หลักสูตรต่าง ๆ ที่เราใช้จะต้องมีการปรับปรุงอยู่เสมอ วิธีการต่าง ๆ ที่เราใช้ในอดีต ก็จะต้องปรับปรุงอยู่เสมออย่าไปยึดถือของเก่า ๆ และมิใช่ว่าของเก่า ๆ หรือความคิดเก่า ๆ นั้นจะไม่ดี หลายอย่างเป็นสิ่งที่ดี และเป็นสิ่งที่ถูกต้องกับสภาวการณ์ เมื่อ ๑๐ ปี ๓๐ ปี ที่แล้ว แต่ปัจจุบันเราจะต้องคิดกันว่าทำอย่างไรที่จะจัดวางโครงสร้าง วางระบบ วิธีการต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ปัจจุบันและเหมาะสม สอดคล้องกับทิศทางของสังคมไทยที่จะเดินไปข้างหน้า ในระยะ ๑๐ ปี ๒๐ ปี ข้างหน้า

     สังคมไทยจะต้องมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาอุตสาหกรรม ให้ยกระดับคุณภาพที่สูงขึ้น สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้มากขึ้น โดยมี “กลไกทางเศรษฐกิจ” ให้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้น รวมทั้งต้องมีการสร้าง “กลไกทางสังคม” ในการสร้างกระแสจิตสำนึกความรับผิดชอบทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของแต่ละคน แต่ละครอบครัว แต่ละชุมชนดี ขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ทุกคนในสังคมมีความสุขร่วมกัน

     ผมยอมรับครับ การเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของง่าย จะต้องใช้เวลา ๑๐ ปี ๒๐ ปี แต่ถ้าหากเราไม่เริ่มต้นวันนี้ เราจะถ่วงไปเรื่อย ๆ การเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาคุณภาพคนและสังคมอย่างสงบก็ยิ่งเป็นไปได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน เราอย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง เราจะต้องมีการสร้าง “กระแสของสังคม” ให้มีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์บนพื้นฐานของความบริสุทธิ์ใจ และบนพื้นฐานของการที่ไม่มีอคติไม่ว่าทั้งในสิ่งเก่า ๆ หรือสิ่งใหม่ ๆ

     สุดท้ายที่ผมอยากจะกล่าวต่อไปคือ แม้เราจะมีการร่างแผนพัฒนาคนและสังคมออกมาสวย เป้าหมายสวย มีแผนงานสวย แต่ถ้าเรายังใช้กลไกรัฐบาลที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง หน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคนและสังคม ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาฯ สาธารณสุข มหาดไทย กระทรวงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ยังไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงานใหม่ รวมทั้งยังไม่เปิดโอกาสให้ประชาชน ชุมชนในท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเอกชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมกันคิด ร่วมกันทำอย่างจริงจังแล้ว การพัฒนาคนและสังคมตามแผนที่ได้มีการร่างกันไว้ ก็คงอยู่แต่ในความฝันเท่านั้น

     สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยุคใหม่ ได้หันมาให้ความสนใจในเรื่องการพัฒนาคนและสังคม และได้เชิญผมมาเป็นประธานอนุกรรมการชุดนี้ ซึ่งคณะอนุกรรมการได้ช่วยกันร่างแผนพัฒนาคนและ สังคมที่ดีมากออกมาฉบับหนึ่ง จะใช้เป็นแนวทางหลักของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ ต่อไป แต่แผนนี้จะได้รับการนำไปปฏิบัติมากน้อยแค่ไหนคงเป็นเรื่องที่เราจะต้องติดตามผลให้ชัดต่อไป

     ผมอยากจะขอฝากข้อคิดเห็นทั้งหมดนี้ให้ท่านไปประกอบการพิจารณาและคิดต่อไป เพื่อความยั่งยืนสถาพรของสังคมไทยด้วยครับ