รวมปาฐกถาภาษาไทย

คำกราบบังคมทูลรายงานสรุปการสัมมนา
“ปัญหาท้าทายสังคมไทย: ใครจะได้อะไร? อย่างไร?”
ประธานสภาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ในการประชุมวิชาการประจำปี ๒๕๓๖
วันเสาร์ที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๓๖

ขอกราบพระราชทานกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้า นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานสภาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ขอพระราชทานพระราชวโรกาสกราบบังคมทูลรายงานสรุปการสัมมนาประจำปี ๒๕๓๖ ดังต่อไปนี้

การประชุมครั้งนี้ได้ระดมความคิดจากหลายฝ่าย ภาคแรกเป็นการพิจารณาถึงผลกระทบทางสังคมวัฒนธรรมของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสังคมไทย ช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมาและแนวโน้มในอนาคต ส่วนภาคที่สองเป็นข้อเสนอในเชิงนโยบาย

ภาคแรกนั้นพอสรุปได้ดังนี้

ในช่วงเวลาประมาณสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ถูกดึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจและการเมืองโลกอย่างเต็มตัว ยังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ไพศาลต่อการดำเนินชีวิตของคนไทย รัฐบาลไทยเร่งรัดให้สังคมไทยกระโจนเข้าไปเป็นสังคมอุตสาหกรรม เร่งสร้างความปรารถนาให้คนไทยทั่วไปมีชีวิตอย่างทันสมัยตามอย่างสังคมตะวันตก

ผลกระทบทางสังคมได้หยั่งลึกลงอย่างรุนแรงและรวดเร็วโดยเฉพาะในชนบท สังคมชนบทที่เคยเลี้ยงตัวเองได้ด้วยทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ และมีพลังในการดูแลสวัสดิภาพชีวิตของตนเอง เปลี่ยนบทบาทมาอยู่ที่ท้ายขบวน คอยเป็นบริวารให้แก่ภาคอุตสาหกรรม และระบบเศรษฐกิจเชิงทุนนิยม การผลิตเชิงพาณิชย์มีสัดส่วนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ชาวชนบทสามารถพึ่งพิงตนเองได้น้อยลงทุกที

จากเนื้อหาของรายงานและการอภิปราย พอสรุปได้ว่าประเด็นของผลกระทบที่สำคัญทางสังคมมีดังนี้

  1. การเสื่อมสลายของสถาบันสังคมในท้องถิ่น
  2.      ในชนบทไทยสมัยก่อน สถาบันทางสังคมในแต่ละท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการสร้างและพิทักษ์รักษาคุณภาพชีวิตของผู้คน หมู่บ้านในภูมิภาคต่าง ๆ จะมี “แก่บ้าน” บ้าง ผู้อาวุโสในหมู่บ้านบ้าง เป็นผู้นำที่ลูกหลานในหมู่บ้านเชื่อฟัง และให้ความเคารพยำเกรง มีการจัดการรักษา และการแบ่งปันการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การใช้ป่า แหล่งน้ำ และที่ดิน นอกจากนั้นโครงสร้างครอบครัว ความเป็นญาติกัน และการพึ่งพากันและกันในขั้นตอนต่าง ๆ ของการทำการเกษตร ได้มีส่วนสร้างระเบียบในการดำเนินชีวิตของชุมชน และเป็นสายใยให้เกิดความเอื้ออาทรระหว่างชาวบ้านด้วยกัน

         สถาบันสังคมเหล่านี้ ล้วนเสื่อมกำลังลง “แก่บ้าน” ถูกแทนที่ด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้อาวุโสกลายเป็นคนเชยไม่ทันสมัย ครอบครัวและเครือญาติถูกกระทบจนระส่ำระสาย เมื่อไม่สามารถเลี้ยงตัวได้ด้วยการเกษตร และสมาชิกต้องออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน

  3. คนบางกลุ่มประสบชะตากรรมที่ลำบากมากขึ้น
  4.      ผู้หญิงเคยมีตำแหน่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อชีวิตของหมู่บ้านในชนบท เนื่องจากในอดีต เขย มักจะย้ายมาอยู่ในบ้านของพ่อตา และทำนาในที่ของผู้หญิง ผู้หญิงจึงเป็นตัวเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างญาติภายในหมู่บ้าน แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมและการเติบโตของเมืองนั้น อาศัยแรงงานของผู้หญิงในชนบท มาทำงานโรงงาน เป็นโสเภณีและงานบริการต่าง ๆ สูงมาก ในกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงนี้ ผู้หญิงซึ่งเคยเป็นคนสำคัญของหมู่บ้าน ต้องกลายมามีสถานภาพอันต่ำต้อย ในสถานบริการทางเพศบ้าง โรงงานบ้าง ทำงานในสภาพที่เลวร้ายและเก็บรายได้อันน้อยนิดส่งให้พ่อแม่ในชนบทเพื่อทดแทนบุญคุณ

         นอกจากผู้หญิงแล้ว ชาวนารายเล็ก ก็เป็นกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในฐานะลำบาก การผลิตที่นับวันแต่จะใช้ทุน ทำให้พวกที่มีทุนเดิมอยู่แล้วปรับตัวได้ดีกว่า ชาวนารายเล็กจึงประสบปัญหามาก และรายที่ปรับตัวไม่สำเร็จก็จะสูญเสียที่ทำกิน กลายเป็นแรงงานรับจ้างในชนบทและในเมืองต่อไป

  5. การเกิดขึ้นของคนกลุ่มใหม่ในสังคม
  6.      ในขณะที่คนบางกลุ่ม เป็นผู้อาวุโสของหมู่บ้าน ผู้หญิงหรือชาวนาเล็ก ๆ ที่เคยมีบทบาทสำคัญในชีวิตชนบท ถูกเบียดจนตกเวทีไปก็มี คนอีกกลุ่มหนึ่งที่โตขึ้นมา คนเหล่านี้คือ “เจ้าพ่อ” ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น พ่อค้าหรือนักลงทุน เจ้าพ่อเหล่านี้มักจะพัฒนาเครือข่ายความสัมพันธ์และมีลูกน้องอยู่ในตำบลและหมู่บ้านต่าง ๆ เจ้าพ่อเป็นผู้ที่สามารถสะสมความมั่งคั่งขึ้นมา ในช่วยการพัฒนา และเป็นผู้ที่ชาวบ้านจำเป็นต้องพึ่งพิง เนื่องจากการขยายตัวของรัฐเข้าไปในหมู่บ้านนั้น เป็นการขยายเพื่อนำเอาทรัพยากร มาเป็นประโยชน์แก่ภาคอุตสาหกรรมและคนในเมือง แต่มิได้ขยายเพื่อดูแลสวัสดิการแก่ชีวิต ของคนชนบท

         ทางด้านในเมืองซึ่งเป็นหัวขบวนของการพัฒนานั้นคนกลุ่มสำคัญที่เติบโตขึ้น คือคนชั้นกลาง คนชั้นกลางนี้มีหลายอาชีพ หลายระดับฐานะ เช่น นักอุตสาหกรรม นักธุรกิจ นักวิชาชีพ ผู้มีการศึกษาและมีทักษะที่เป็นที่ต้องการสำหรับชีวิตใหม่ คนเหล่านี้เป็นผลผลิตของความทันสมัย มีความปรารถนาและความสามารถในการสะสมความมั่งคั่งสูง รวมทั้งได้พัฒนาวัฒนธรรมของกลุ่มตน เช่น การให้คุณค่าแก่ความเป็นส่วนตัว การมีชีวิตที่อิสระจากชุมชน เครือญาติซึ่งเป็นวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่งที่มิได้มีรากมาจากวัฒนธรรมของสังคมเกษตร คนชั้นกลางได้มีบทบาทในการปรับเปลี่ยน ระบบการเมืองให้เปิดกว้างเสรีขึ้น และได้เข้าไปมีบทบาทในการบริหารประเทศผ่านทางระบบการเมืองและการเลือกตั้ง โลกทัศน์และวัฒนธรรมที่มีความเป็นสากลสูง กำลังแพร่หลายออกไปยังคนกลุ่มอื่น

  7. ช่องว่างที่มีหลายมิติ

     สังคมไทยภายหลังสี่ทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นสังคมที่มีช่องว่างในหลาย ๆ ด้านทางด้านสังคมเศรษฐกิจนั้น ช่องว่างระหว่างรายได้และโอกาสในชีวิต ระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคเกษตร ระหว่างเมืองกับชนบทนั้นเป็นที่ทราบกันดีอยู่ แต่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไทยได้ทำให้เกิดช่องว่างที่น่ากลัวอีกชนิดหนึ่ง คือ ช่องว่างระหว่างทัศนะที่ใช้ในการมองโลก และการให้คุณค่ากับสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกัน คนชนบทในอดีตให้ความสำคัญแก่ พี่น้องพรรคพวกผู้ใหญ่ เพราะการดำเนินชีวิตของพวกเขาต้องพึ่งพิงคนเหล่านี้ ในขณะที่คนชั้นกลางในเมืองให้ความสำคัญกับตัวเอง หรือหลักการความถูกต้อง ซึ่งจำเป็นในการบริหารองค์กรขนาดใหญ่ ช่องว่างทางความคิดนี้เป็นที่มาของความขัดแย้งหลายประการในสังคมไทยปัจจุบันเช่น ความขัดแย้งว่าการเมืองไทยควรจะมีลักษณะอย่างไร การพัฒนาประเทศต่อไปควรจะมีแนวทางอย่างไร ศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมควรได้รับการทะนุบำรุงอย่างไร

      ความอยุติธรรมอย่างยิ่งในสังคมไทย คือ การที่สามารผูกขาดทัศนะในการมองโลกได้ ในขณะที่ทัศนะของคนบางกลุ่มถูกเพิกเฉยละเลยโดยสิ้นเชิง

     ในภาคที่สองของการสัมมนา เป็นการนำเสนอภาพของอนาคตและข้อคิดเกี่ยวกับการวางนโยบายสำหรับอนาคตทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคม กฎหมายและการเมืองซึ่งมีข้อสรุปดังต่อไปนี้

     ทางด้านเศรษฐกิจนั้น เศรษฐกิจโลกมีผลกระทบ ไม่เฉพาะแต่เศรษฐกิจไทยเท่านั้น แต่จะกระทบพฤติกรรมทางการเมืองด้านนโยบาย และโยงต่อไปถึงด้านอื่น ๆ ด้วย ผลกระทบจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในสังคมไทยนั้น แตกต่างกันในกลุ่มคนต่าง ๆ เช่น คนชนบท คนเมือง คนจน คนรวย ดังนั้นนโยบายการพัฒนาต้องเปิดโอกาส “ทางเลือก” ให้แก่กลุ่มคนที่ขาดศักยภาพและโอกาสที่จะได้รับประโยชน์เต็มที่

     ทางด้านสังคมการเสื่อมกำลังของชุมชนและครอบครัว เรียกร้องให้รัฐมีบทบาทในการจัดการ สวัสดิการสังคม แต่ที่ผ่านมานโยบายสวัสดิการสังคมไม่ได้รับการตอบสนองในระดับการปฏิบัติ จึงควรส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดองค์กรประชาชน ที่เป็นอิสระจากราชการควรมีการกระจายอำนาจให้ชุมชนและประชาชนในท้องถิ่น ในด้านการบริหารการคลัง สวัสดิการ และการเมืองท้องถิ่น

     ทางด้านกฏหมายที่ผ่านมากฏหมายไทยเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มคนที่มีอำนาจต่อรองสูง ข้อเสนอในการปรับปรุง คือประการแรก กฎหมายน่าจะมีบทบาทในการกำหนดกรอบการสร้างกติกาที่เป็นธรรมในสังคม ประการที่สอง จะต้องมีการขยายการมีส่วนร่วมของคนหลายกลุ่มมากขึ้นในการออกกฎหมาย ประการที่สาม ทั้งตัวบทกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมควรมีความโปร่งใสมากขึ้น

     ทางด้านการบริหารราชการ การทำงานของราชการยังมีความเป็นเอกเทศสูง ขาดความโปร่งใสและขาดการตรวจสอบจากภายนอก ในขณะเดียวกันความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจและธุรกิจ ตลอดจนความซับซ้อนทางเทคนิคของกิจการงานต่าง ๆ ก่อให้เกิดปัญหาในการทำงานของราชการ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับปรุงคุณภาพความรู้ประสิทธิภาพและค่าตอบแทนของราชการ

     การสัมมนาเช่นนี้ย่อมมีข้อจำกัด เนื่องจากประเด็นทางสังคมมีเนื้อหากว้างขวางมาก ขีดจำกัดทางด้านเวลาและรูปแบบของการประชุม ย่อมทำให้ไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันและยังไม่สามารถหาวิถีทางปฎิบัติอย่างชัดเจนได้

     แต่การสัมมนานี้ ก็ได้ชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาที่ผ่านมานั้น ได้สร้างความทันสมัยและชีวิตที่สะดวกสบายอิสระเสรีขึ้น แต่ก็ได้สร้างช่องว่างอันล้ำลึก ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมขึ้นในสังคมไทย และเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องนำไปถกเถียงอภิปรายต่อไปอีกในวงการต่าง ๆ

     บัดนี้ได้วาระอันเป็นอุดมฤกษ์แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระราชวโรกาสพระราชทานพระราโชวาท เพื่อเป็นศิริมงคลและเป็นแนวทางปฏิบัติให้เกิดผลและเพื่อปิดการประชุมในครั้งนี้

     ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม