รวมปาฐกถาภาษาไทย

คำบรรยายพิเศษ
ของ นายอานันท์ ปันยารชุน
เรื่อง บทบาทและความรับผิดชอบของสื่อมวลชน
วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๓๙
ณ โรงแรมสยามซิตี้ ถนนศรีอยุธยา

ขอเริ่มด้วยการทบทวนความเป็นมาของสื่อ ในความหมายของสื่อทางเดียวสู่มวลชนคือหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ยังไม่ถึงสื่อสมัยใหม่ระดับอินเทอร์เน็ต

สื่อหนังสือพิมพ์ จัดว่าเป็นสื่อสู่มวลชนที่มาก่อน เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์เริ่มมีภาษาเขียนซึ่งอาจจะเขียนบนปล้องไม้ไผ่อย่างจีน บนผ้า บนหิน บนกระดาษ ซึ่งเมื่อเขียนแล้วก็คงต้องแขวนหรือตั้งไว้ในที่ที่สามารถให้คนอื่นหลายคนเห็นและอ่าน ในปี ค.ศ. ๑๕๖๒ ได้มีการพัฒนาการพิมพ์ตัวอักษรขึ้น เริ่มมีสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นการเผยแพร่ที่ผู้อ่านไม่ต้องมาอ่านในสถานที่ที่ให้สื่อ สามารถนำไปอ่านที่อื่นได้ และเริ่มมีสังคมผู้สร้างสื่อ (Agent France Presse) ในปี ๑๘๓๒ และมี AP, UPI, Reuters ตามมาภายหลัง จนหนังสือพิมพ์เป็นสิ่งที่ทั่วโลกใช้เป็นสื่อตลอดมาจนปัจจุบัน เป็นประสบการณ์ ๓๐๐ กว่าปี

ในต้นศตวรรษที่ ๒๐ ตั้งแต่ปี ๑๙๙๐ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกิดมีความเจริญขึ้นยิ่งใหญ่คือเป็นยุคของไอน์สไตน์ เอดิสัน เกิดมีไฟฟ้าใช้ ทำให้เกิดหลอดวิทยุสูญญากาศและเกิดสื่อวิทยุคลื่นกระจายเสียงในปี ๑๙๐๖ ใช้ในกรณีติดต่อในการเดินเรือ จนเป็นการกระจายเสียงสู่มวลชนในปี ๑๙๒๔ นับว่าชาวโลกมีประสบการณ์กับสื่อทางวิทยุมาประมาณ ๗๕ ปี

ไม่นานหลังจากการมีหลอดวิทยุสูญญากาศ ในปี ๑๙๓๐ บริษัท Dumont ก็พัฒนาหลอดภาพ ทีวีขึ้นในห้องปฏิบัติการ ทำให้เกิดสื่อกระจายภาพ หรือทีวี ในปี ๑๙๓๗ วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีของ ทีวี จากขาวดำเป็นทีวีสี เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง นับว่าชาวโลกมีประสบการณ์กับสื่อมาประมาณ ๖๐ ปี

หนังสือพิมพ์ก็ดี วิทยุก็ดี และทีวี ได้พัฒนาขึ้นเพื่อรับใช้มวลชนในแง่การให้ข่าวสารโดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือพิมพ์ พัฒนามาจากการแจ้งข่าวหรือประกาศในสถานที่ชุมชน จนเป็นการพิมพ์

แพร่ทั่วไป สิ่งที่สื่อคือข่าวสาร ต่อมาจึงมีการโฆษณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งขายยา ตามด้วยการขายผลิตภัณฑ์ทำนา เครื่องจักร เสื้อผ้า และสินค้าอื่น ๆ ซึ่งทำให้เกิดรายได้ต่อผู้ผลิตหนังสือพิมพ์ เมื่อความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น หนังสือพิมพ์ก็มีข่าวสังคม การเมือง และบันเทิงตามมา

ปัจจุบันหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยที่มีจำนวนขายมากที่สุด จะมีจำนวนหน้าเสนอเรื่องประเภท “ละครน้ำเน่า” วงการดารา กีฬา โฆษณา และพาดหัวด้วยข่าวการเมืองและอาชญากรรม สำหรับสื่อวิทยุ นอกจากวิทยุ จส. ๑๐๐ สถานีอื่นใช้เวลาส่วนมากในการกระจายเสียงเพลง สัดส่วนของข่าวสารหรือโปรแกรมที่มีสาระอยู่บ้าง เป็นสัดส่วนเวลาที่น้อย นอกจากสถานีที่รัฐต้องการใช้ให้เป็นเพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ากำลังถูกเปลี่ยนแปลงบ้างแล้วในปัจจุบัน ดังนั้นพอจะสรุปคร่าว ๆ ได้ว่า ในเรื่องของ ปริมาณ ประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับสื่อเกี่ยวกับการบันเทิงและละครน้ำเน่า กีฬา อาชญากรรม การเมือง และการโฆษณาต่าง ๆ จากสื่อทุกประเภทมาก แต่ข่าวสารด้านการศึกษา ความรู้ต่าง ๆ เชิงการพัฒนาทางสมองและจิตใจมีสัดส่วนปริมาณน้อยมาก

ทางด้านคุณภาพเล่า? สื่อสิ่งพิมพ์ เราอ่านข้อความและเห็นภาพนิ่ง สื่อวิทยุเราได้ยินได้ฟัง แต่ไม่เห็น สื่อโทรทัศน์เราได้ฟังและเห็น และได้เห็นภาพที่ไม่ใช่ภาพนิ่ง มีสีสันเหมือนธรรมชาติและชีวิตจริง หรืออาจจะเป็นภาพลวงตาที่จำลองโดยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เรียกกันว่า Multimedia virtual reality ดังนั้นคุณภาพในด้านความสามารถของสื่อ ที่จะส่งสื่อเข้าสู่ความสัมผัสของเรานั้น สามารถทำได้อย่างได้ผลที่สุด ถึงขนาดให้ผู้รับสื่อติดใจ เสียเวลารับสื่อเพิ่มขึ้นมาก และเรียกได้ว่าอยู่ภายใต้อานุภาพ การจูงใจของสื่อระดับเสพติด ซึ่งที่สำคัญที่สุดก็คือสื่อทางทีวีนี้เอง ตามด้วยสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งเริ่มจะมีรูปประกอบเชิงโหดร้ายและเย้ายวนแบบใหม่ ๆ ขึ้นมามาก แต่สื่อวิทยุก็มีผู้ฟังติดเป็นรายการ ๆ ไปเหมือนกัน

อานุภาพของสื่อเป็นความจริงที่แจ่มชัดขึ้นมาก ผู้ใดเป็นผู้ผลิตสื่อจึงเป็นผู้ที่มีอานุภาพสูงต่อปวงชน เพราะผู้รับสื่อมีพฤติกรรมเป็นผู้รับ “ของแจกฟรี” ทางวิทยุ และทีวีจนติดเป็นกิจวัตร และซื้อหนังสือพิมพ์ได้ในราคาไม่แพง คนจนมีสิทธิ์รับการบันเทิงและเลือกอ่านส่วนที่เขาชอบได้ดังนั้น การ “ขาย” สินค้าก็ดี ความคิดความเห็นก็ดี วัฒนธรรม จรรยาระบบใหม่ก็ดี จึงเป็นไปโดยกระบวนการซึมเข้าไปในความคิดและจิตใจของผู้บริโภคสื่อได้โดยผู้บริโภคไม่ตระหนักและคล้อยตามไปได้ง่าย แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีไทยในปัจจุบันก็ได้ว่าจ้างให้ผู้เชี่ยวชาญทางสื่อ เป็นผู้จัดการ “ขาย” ภาพพจน์ของตน เพราะเห็นความสำคัญในอิทธิพลของสื่อ

บทบาทและความรับผิดชอบของสื่อมวลชนอยู่ที่ไหน? ผู้ผลิตโปรแกรมต่าง ๆ ของสื่อ ไม่ว่าจะเป็นทีวี โปรแกรมรายการในวิทยุหรือข่าวสาร บทความในหนังสือพิมพ์ เป็นผู้ทรงอานุภาพในการปั้นแต่งความเชื่อ ความคิดของผู้บริโภคสื่อ รัฐควรจะยอมให้ผู้ผลิต/ดำเนินรายการสื่อมีสิทธิเสรีภาพ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ตามหลักเกณฑ์แล้วผู้ผลิต/ดำเนินรายการสื่อ ควรจะมีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ ปราศจากการควบคุมของรัฐซึ่งรัฐเองก็มีสิทธิ “ขาย” หรือแจกสิ่งที่จะเป็นสื่อต่อมวลชนได้เองด้วยแล้ว

ผู้ผลิตและดำเนินรายการสื่อ สมควรที่จะมีอานุภาพเต็มที่หรือไม่ เป็นประเด็นที่เราควรขบคิดกันอย่างผู้ใหญ่ เราไม่อยากเห็นเด็กอ่อนมีสิทธิเสพสุราด้วยเหตุผลใดหรือผู้ที่ผลิตและดำเนินรายการสื่อยังเป็น “เด็ก” อยู่หรือไม่ ใครจะเป็นผู้มอบสิทธิ ความรับผิดชอบหน้าที่ให้แก่ผู้เป็นสื่อมวลชน ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลว่าเขาเป็น “ผู้ใหญ่” พอเราคงเห็นชอบในหลักการว่า เขาควรจะควบคุมกันเอง หรือให้เป็นการแข่งขันว่าใครดีไม่ดี เป็นกระบวนการที่ทำให้สื่อมวลชนที่ไม่ดี ไม่มีความรับผิดชอบนั้น ค่อย ๆ หายไปเอง ในทางปฏิบัติจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ เมื่อเร็ว ๆ นี้หนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่ง นำรูปอนาจารของผู้หญิงที่ถูกอ้างว่าเป็นดาราชื่อดังผู้หนึ่งมาลงในหน้าปกนั้น สะท้อนความรับผิดชอบของผู้ผลิตสื่อในเชิงสร้างสรรค์หรือไม่?

ประเทศไทยเคยมีระเบียบ แบบแผน วัฒนธรรม จริยธรรม ของไทยเองที่กำลังถูกเปลี่ยนแปลงโดยสื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน สื่อภาพในเชิงโหดร้ายทารุณและลามกมีแพร่เพิ่มขึ้น การแต่งตัว ความคิด ความเชื่อถือ กำลังถูกอานุภาพสื่อคอยดัดแปลงให้เปลี่ยนไปในทางดีบ้างไม่ดีบ้าง ทั้งนี้แล้วแต่รากฐานความเชื่อถือของแต่ละบุคคล แต่แน่ละ รากฐานและความเชื่อถือของผู้ผลิต ผู้ดำเนินรายการสื่อเป็นปัจจัยสำคัญกว่าเราท่านธรรมดา ซึ่งไม่มีอานุภาพของสื่ออยู่ในมือ ดังนั้นเราท่านทุกคนที่มิได้เป็นผู้ผลิตหรือดำเนินรายการย่อมมีความรู้สึกเป็นห่วง อยากเห็นคุณภาพของสื่อที่ “แจก” ไปให้แก่ผู้บริโภคสื่อนั้น เป็นของที่ทรงอานุภาพในทางที่ดีหรือเรียกว่ามีคุณภาพ มีธรรมชาติไปในเชิงสร้างสรรค์ มิใช่ “ขาย” หรือ “แจก” สื่อไปในทางลบ โดยอ้างว่าเป็นเพียงต้องการสะท้อนสถานะภาพของสังคม โดยการเสนอรายการที่ทำให้สิ่งที่ไม่ดีเด่นชัดขึ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า สิ่งที่ดีให้ความรู้แก่ประชาชน ไม่ค่อยปรากฏในสื่อสู่มวลชนในปัจจุบันเรื่องเกี่ยวกับการศึกษา ความรู้ในธรรมชาติ การฝึกฝนให้ใช้ความคิดและเหตุผลฯลฯ มักไม่ได้รับโอกาสเป็นสื่อที่ควรให้แก่ผู้บริโภค ผู้ผลิตและดำเนินรายการจะอ้างว่าเพราะผู้บริโภคที่สนใจมีจำนวนน้อย แท้จริงแล้วผู้ผลิต/ดำเนินสื่อที่ตัวเองสนใจในด้านการศึกษาความรู้วิทยาศาสตร์การฝึกฝนเหตุผลต่างหากที่มีจำนวนน้อย เราน่าจะคิดว่าหากเราให้สื่อประเภทสร้างสรรค์ให้มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะสร้างจำนวนคนที่สนใจรับมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทำนองเดียวกัน หากผู้ผลิต/ดำเนินรายการสื่อยัง “ขาย” หรือ “แจก” สื่อที่ในทางบันเทิง วัฒนธรรม และความคิดต่างชาติ อาชญากรรมและการเมืองประเภทสกปรก ผู้บริโภคสื่อคือประชาชนที่มีแนวโน้มในเชิงลบอยู่แล้วก็จะมีมากขึ้นและรุนแรงขึ้น เพราะถูกกระตุ้นโดยซาบซึมทีละน้อยตลอดเวลา อีกประการหนึ่งผู้ผลิตสื่อจำนวนมากไม่สามารถหรือไม่เคารพในหลักเกณฑ์อาชีพของนิเทศศาสตร์ ในการแยกความจริง/ข้อมูลจากความเห็นของตน ทำให้สื่อที่ออกไปเป็นปัญหาของประเทศ ที่ประชาชนอาจถูกแบ่งแยกในแนวคิดโดยอานุภาพของผู้ผลิตสื่อที่ “แจก” ความเห็น แทนที่จะให้ข้อมูลหรือความจริง

ปัจจุบันระดับการศึกษาเฉลี่ยของประเทศไทยยังอยู่ในระดับการศึกษา ๔ ปี ส่วนมากอยู่ในระดับเพียงพออ่านออกเขียนได้ แต่ไม่มีความรู้เชิงตรรก วิทยาศาสตร์และความรู้พื้นฐานอื่น ๆ อีกมาก ความรู้ความคิดของเขาเหล่านั้นหลังจากการเรียนในโรงเรียนจะเพิ่มพูนขึ้นได้จากประสบการณ์ชีวิตของเขาเองและจากสื่อมวลชน จึงไม่เป็นที่แปลกใจว่า ตราบใดที่สื่อมวลชนยังเสนอสื่อทางไสยศาสตร์ ความเชื่อโชคลางของขลัง มวลชนชาวไทยก็ไม่สามารถตามวิวัฒนาการของมนุษย์ชนชาติอื่นในด้านความคิดที่มีเหตุผล รับรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในส่วนที่สมควรมาเป็นปัจจัยที่ทำให้การครองชีพดีขึ้นได้ การที่ไม่มีพื้นความรู้ทางธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ทำให้ชาวไทยส่วนใหญ่มีความเข้าใจผิด เห็นโทษเป็นคุณ เห็นคุณเป็นโทษในกรณีที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ในกรณีนี้ปัญหาที่ใหญ่กว่าการที่ประชากรไทยมีการศึกษาเฉลี่ยเพียง ๔ ปี ก็คือปัญหาที่ประชาคมสื่อมวลชนเอง มิได้มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เท่าที่ควร จึงไม่สามารถที่จะผลิตสื่อหรือดำเนินรายการในเชิงสร้างสรรค์ อธิบายความรู้ให้แก่ประชาชนได้ ในกรณีตัวอย่างที่ ดร. วิโรจน์ กล่าวถึง (ในการกล่าวนำประเด็นปัญหา) ว่า โปรแกรมทีวี ช่อง ๑๑ เมื่อ เวลา ๗.๑๖ น. ของวันที่ ๒๒ มกราคมศกนี้นั้น สอนเด็กประถมต้นให้ท่องว่า “มลภาวะเกิดจากความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” เป็นต้น ซึ่งเป็นสื่อที่ไม่ค่อยตรงกับความเป็นจริงและความถูกต้อง และไม่สร้างสรรค์ แทนที่จะชี้ว่ามลภาวะเกิดจากความไม่รับผิดชอบของผู้ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบางคนให้เห็นข้อแตกต่างว่า การใช้ไฟเพื่อหุงต้มหรือเผาบ้าน มิใช่ความถูกผิดของไฟ แต่เป็นความรับผิดชอบของผู้ใช้ไฟ

เนื่องจากท่านเป็นผู้ผลิตหรือดำเนินงานสื่อ เป็นผู้สอนที่มีอานุภาพยิ่ง การมีบทบาทเป็นผู้สอนที่ท่านปฏิบัติอยู่โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม โดยเป็นธรรมชาติของสื่อสู่มวลชนนั่นเอง และประชาชนเป็นนักเรียนของท่านจวบชั่วชีวิตของเขา ดังนั้น วิวัฒนาการของประเทศไทยตกอยู่ในอำนาจของท่านผู้ผลิตหรือดำเนินงานสื่อ มากกว่าอำนาจอื่นของรัฐเสียอีก เพราะท่านกำลังให้ความรู้ ความคิดต่อประชาชน โดยกระบวนการแทรกแซง ซาบซึมผู้รับไม่รู้ตัว บทบาทของท่านแท้จริงมิใช่เพียงสะท้อนสังคม แต่เป็นบทบาทของการปั้นแต่งความรู้ ความคิดของชาติ ผมจึงหวังว่าการสัมมนาในวันนี้ คงจะทำให้ท่านตระหนักถึงความรับผิดชอบและหน้าที่อันควรของท่าน เราชาวไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มชนที่พยายามพัฒนาประเทศผ่านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขอฝากความหวังไว้กับท่านที่จะช่วยกันในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้ประชาชนสามารถมีความรู้ มีปัจจัยเหตุผลที่จะรวมแรงใจกันพัฒนาประเทศในบรรยากาศของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่กำลังจะครอบคลุมประชากรทั้งโลกให้เทียมหน้าประเทศอื่นในสังคมโลกต่อไป