รวมปาฐกถาภาษาไทย
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ ๙ มิถุนายน
๒๕๔๓ นายอานันท์ ปันยารชุน วิพากษ์สื่อมวลชนไทย เรียกหาคุณธรรม-จริยธรรม หมายเหตุ
คำปาฐกถาพิเศษ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ในหัวข้อเรื่อง สื่อมวลชนกับธรรมาภิบาล
ให้กับมูลนิธิอิศรา อมันตกุล ณ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเย็นวันที่
๘ มิถุนายน ๒๕๔๓ หัวข้อแรก ที่จะพูดคือเรื่องสื่อมวลชนกับสังคมไทย
สื่อนั้นผมด่ามาเยอะแล้ว ส่วนสังคมไทยผมมองว่าคนไทยเป็นคนใจแคบ ถ้าใครเห็นว่าใครคิดไม่ตรงกันก็มักคิดว่าเป็นศัตรู
ผมก็พอมีศัตรูอยู่บ้างทั้งในที่ทำงานเดิม ที่กระทรวงการต่างประเทศและวงการธุรกิจ
แต่ผมไม่ได้หวังร้ายกับใคร ใครจะเลือกเป็นมิตรก็ถือเป็นคุณ แต่ถ้าจะเลือกเป็นศัตรูกับผม
ผมก็ไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงเขาได้ ในเรื่องธรรมาภิบาล
ช่วง ๔ - ๕ ปีที่ผ่านมา ผมพูดมาตลอด จนถูกมองว่ารับเอาความคิดจากเมืองนอก เพราะไปอยู่มานานจนทำให้ไม่รู้จักสังคมไทย
ในช่วงเดินทางกลับมาจากเมืองนอกใหม่ ๆ มีคนบอกว่าจะหางานทำได้อย่างไร เมืองไทยมีปัญหาเรื่องแปลภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทย
เพราะเราติดที่จะแปลเป็นภาษาบาลีเป็นภาษาสันสกฤต ผมเดินทางไปลาวเมื่อสองสามสัปดาห์ก่อน
แวะร้านอาหารและสั่งวิสกี้ชื่อ จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ มาดื่ม ผมสั่งทับศัพท์ไปเลย แต่บริกรของลาวเขาเรียกวิสกี้นี้ว่า
จอห์นนี่ย่างก้าว ระหว่างที่อยู่ในลาว
ได้เรียนรู้คำศัพท์อื่น ๆ อีกเยอะจนคิดว่าราชบัณฑิตของไทยน่าจะไปดูงานที่ลาวด้านการแปลภาษา ผมมองว่าในเรื่องธรรมาภิบาลนี้ไทยเป็นผู้วิวัฒนาการมาก่อนประเทศตะวันตก
โดยดูตั้งแต่การปกครองสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ผูกกระดิ่งไว้หน้าพระราชวังให้ประชาชนมาร้องทุกข์
และสมัยต่อมาพัฒนาการมาเรื่อย ๆ แสดงให้เห็นว่า กษัตริย์ของไทยตระหนักว่า การทำตามใจตัวเอง
ไม่เปิดใจให้กว้างรับข้อมูลจากแหล่งอื่น ไม่ใช่การบริหารที่ดี และหากศึกษาให้ดีแล้วหลักทศพิธราชธรรม
เป็นหลักความโปร่งใส เข้าถึงข้อมูลที่ดี เป็นหลักการในการนำเรื่องคุณธรรม จริยธรรมมาใช้ เราไม่ได้นำเรื่องธรรมาภิบาลจากต่างประเทศ
หลายครั้งคนไทยเราลืมของดี ๆ ที่มีอยู่ในประเทศชอบเห่อแต่ของนอก แม้แต่ระบอบประชาธิปไตยก็ไปรับมาจากเมืองนอก
แต่รับมาเพียงรูปแบบไม่ใช่ดูแก่นสารว่าสาระจะใช้อย่างไร เรื่องนี้คงสะท้อนมาจากอุปนิสัยคนไทยนั่นเอง ผมไม่ได้ศึกษาความเป็นมาของมูลนิธิอิศรา
อมันตกุล เพราะไปเรียนต่างประเทศมานานจึงไม่แตกฉานเรื่องงานเขียนของคนไทย แต่มีพ่อเป็นนักหนังสือพิมพ์ได้เล่าเรื่องความปราดเปรื่อง
ความอิสระมีศักดิ์ศรีของนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนหลายคน เช่น นายกุหลาบ สายประดิษฐ์
สำหรับนายอิศรา อมันตกุล นั้น ได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ผู้รักชาติ
รักประชาธิปไตย รักประชาชน ซึ่งนับวันคนไทยจะขาดหายตรงนี้ ทุกวันนี้
คนรักสถาบันพระมหากษัตริย์ ชาติ และศาสนา เป็นเรื่องถูกต้อง แต่พวกเราลืมประชาชน
การลืมประชาชนนั้นไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่เกิดมาตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง
พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่คณะราษฎร์อาจไม่ได้ตั้งใจแต่ในช่วงหลัง ๆ ทั้งข้าราชการจนกระทั่งนักการเมือง
นักธุรกิจ ลืมประชาชน แม้แต่สื่อมวลชนเองก็ลืมประชาชนด้วย แม้ว่าจะมีบ่อยครั้งมีคนแอบอ้างว่าทำเพื่อประชาชนโดยบอกว่า
ผมเป็นลูกชาวนาเกิดมาบนความยากจน เพราะฉะนั้นอย่ามาถามผมว่าความจนเป็นอย่างไร ผมเป็นคนค่อนข้างช่างสังเกต
นิสัยตรงนี้ทำให้ผมถึงอะไรหลายอย่าง เช่น ถึงสัจธรรม คุณธรรมและจริยธรรม ความรักประชาชนเป็นสิ่งที่เราต้องเร่งเสริมสร้างขึ้นมาใหม่
โดยเรารักประชาชนก็ต้องรักตัวเองด้วย แต่ไม่ใช่ว่ารักเพื่อประโยชน์ของตัวเอง แต่เป็นการรักประชาชนในฐานะที่เขาเป็นมนุษยชนด้วยกัน สื่อมวลชนในความหมายของผมคือสื่อที่จะเสนอข่าวสาร
แต่คำว่าข่าวสารเข้าใจง่าย บางครั้งปฏิบัติยาก เนื่องจากข่าวสารขึ้นอยู่กับผู้ที่มองสถานการณ์นั้น
ๆ ไม่ว่าจะในรูปหรือมุมมองใดก็ตาม แม้จะมองต่างมุม ในสถานการณ์เกิดขึ้นนั้นต้องอยู่บนข้อเท็จจริง
หากมองในแง่มุมหนึ่งก็เห็นในอีกแง่หนึ่งไม่ได้รายงานในส่วนนั้นไป ไม่ว่าจะเป็นมุมใดขอให้เป็นข้อเท็จจริงอันเดียวกัน
เพราะฉะนั้นข่าวสารคือการเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง การรายงานข่าวคนฆ่ากันหรือเด็กนักเรียนตีกัน
รายงานได้ง่ายแต่ในรายงานข่าวสิ่งที่ปรากฏหรือได้ยินมานั้นต้องอาศัยวิจารณญาณของสื่อมวลชนมาไตร่ตรอง
ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้องหรือไม่ สื่อมวลชนทุกสาขา
นอกจากรายงานในข้อเท็จจริงแล้ว ยังเป็นการให้ในเรื่องของบันเทิง กีฬา และสิ่งแวดล้อม
แต่ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นในแง่ใด สื่อมีบทบาทในการนำเสนอความจริงโดยไม่มีอคติแฝง ไม่ไปหาผลประโยชน์เข้าส่วนตัวหรือให้กับบริษัท
หรือเจ้าของสื่อ เมื่อผมพูดถึงธรรมาภิบาล
อยากจะเปรียบเทียบกับองค์รวมของคำว่าระบอบประชาธิปไตย หรือสังคมประชาธิปไตยที่เป็นเหมือนโต๊ะ
จะตั้งอยู่ไม่ได้หากไม่มีขาสี่ขา ถ้าโต๊ะมีสองหรือสามขาอาจตั้งอยู่ได้แต่ไม่มั่นคง
หากเอาของหนัก ๆ ไปวางไว้ก็ถูกรบกวนจากสิ่งใด ๆ รอบข้างอาจล้มลงได้ เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยที่ดีมีประสิทธิภาพจะต้องมีสี่ขา
โดยขาที่หนึ่ง รัฐธรรมนูญที่เรามีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่จริงแล้วในบางประเทศเช่นอังกฤษ
ไม่ได้มีรัฐธรรมนูญแต่มีจารีตประเพณีในการปฏิบัติ และได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้น อย่างไรก็ตามประเทศส่วนใหญ่ในโลกต่างมีรัฐธรรมนูญเขียนไว้
สั้นบ้างยาวบ้าง ผมเห็นว่าเรามีขาเดียวตลอด ๖๐ ปีที่ผ่านมา แต่เป็นขาที่ไม่ค่อยมั่นคงนัก
เพราะเป็นขาที่จัดตั้งโดยคนที่มีอำนาจในขณะนั้น เป็นขาที่มาจากกลุ่มบุคคลที่มีผลประโยชน์โดยตรง
ฉะนั้นตลอด ๖๐ ปีที่ผ่านมา ขานี้จึงง่อนแง่น เจอพายุก็จะล้ม แต่ก็มีคนเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาเรื่อย
ๆ โดยกลุ่มคนที่มีอำนาจ ดังนั้นประชาธิปไตยจึงไม่ลงถึงรากแก้วเสียทีเว้นแต่รัฐธรรมนูญปัจจุบัน
จะดีเลวอย่างไรคงได้พิสูจน์กันในวันข้างหน้า แต่ได้ชื่อว่าเขียนขึ้นมาบนหลักธรรมาภิบาล
เป็นรัฐธรรมนูญที่ชี้ทางออกของประเทศ เป็นการเขียนโดยใช้จิตวิญญาณของธรรมาภิบาลโดยแท้จริง
เช่นให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วยการประชาพิจารณ์ รับฟังความเห็น การส่งเสริมการอภิปรายถกเถียงของคนทุกกลุ่ม
ทุกพื้นที่ ทุกอาชีพ และในตัวมาตราต่าง ๆ
ของรัฐธรรมนูญ พูดถึงหลักธรรมาภิบาลนี้โดยตรง คือการบริหารโดยโปร่งใส ประชาชนรับทราบข้อมูล
และเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องรับหน้าที่ในการทำให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลนั้นด้วย แต่น่าเสียดายที่ประชาชนเองไม่ค่อยรู้จักใช้สิทธิดังกล่าว
และไม่สนใจที่จะใช้ด้วย ถึงได้มีพฤติกรรมแปลก ๆ เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าพวกเขามีเล่ห์เหลี่ยมหรือไม่หวังดี
แต่เนื่องจากผู้ที่อยู่ในอำนาจรัฐติดอยู่ในวงจรเก่า ๆ เห็นว่าถ้าหากเปิดข้อมูลของราชการออกไปแล้ว
จะต้องเซ็นเซอร์ปิดบังข้อมูลบางส่วนด้วยหมึกสีดำ เป็นการทำให้เกิดปัญหา อ่านแล้วไม่เข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้น
หากจะต้องทำตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้แต่คนมีอำนาจรัฐ ติดโยงกับสิ่งเก่า ๆ ก็ยิ่งจะเกิดปัญหา
เพราะเมื่อเปิดเผยเอกสารไม่ได้ คิดถึงตัวประชาชนที่ขอรับรู้ ไปดูข้อความดังกล่าวที่ไม่รู้เรื่อง
ก็อย่าเปิดเผยเสียดีกว่า ควรยึดหลักว่า ถ้าเปิดเผยแล้วต้องแน่ใจว่า
สิ่งที่ประชาชนเรียกร้องและต้องการทราบนั้น รัฐได้ทำหน้าที่โดยสมบูรณ์ ประโยชน์ของธรรมาภิบาลคือการตัดสินใจ
สังคมไทยไม่ค่อยจะแก้ปัญหา แต่ถ้าจะแก้กันทีไร ก็มักจะก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมา ถ้าแก้ปัญหาแล้ว
แต่เป็นการสร้างปัญหาขึ้นมาเพิ่มอีก ก็ถือว่าไม่ได้แก้อะไรเลย ขอให้มีปัญหาอย่างเดิมเสียดีกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เน้นเรื่อง
รูลออฟลอว์ (Rule of Law) กฎหมายต้องให้ความเป็นธรรมและยุติธรรมกับคนทุกคนในสังคม
ไม่ว่าผู้นั้นจะร่ำรวยมั่งคั่ง มีอำนาจอยู่ในพื้นที่ไหน หรือเชื้อชาติใดก็ตาม ถ้ามีหลักยุติธรรมก็เท่ากับมีความสมดุล
ทั้งธรรมาภิบาลและความยุติธรรม ประชาชนก็จะมั่นใจในกระบวนยุติธรรม และเขารู้แล้วว่า
ถ้าเกิดเรื่องนี้ขึ้นต่อไปจะเกิดอะไร รัฐธรรมนูญยังย้ำถึงความเป็นอิสระของระบบตุลาการ
ความเป็นอิสระของสื่อมวลชนที่ครอบคลุมถึงผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสื่อของรัฐตามมาตรา
๔๑ โดยเราหวังว่าการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน นอกจากจะอยู่ในขอบเขตของการทำงานแล้ว ยังมีความเป็นอิสระ
ปราศจากการครอบงำของบริษัท ของบรรณาธิการ หรือหัวหน้าข่าว เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญอาจจะเขียนออกมาสวย
แต่อาจมีปัญหาอยู่ ถ้าผู้ใช้รัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งตรวจสอบรัฐธรรมนูญยังไม่มีจิตวิญญาณในเรื่องนี้
ทำให้การตีความตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญบิดเบือนไป ผมยอมรับว่า
เรื่องนี้จะต้องให้เวลาเพราะเป็นของใหม่ แต่สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ รัฐธรรมนูญสร้างกลไกการคานอำนาจซึ่งกันและกัน
เพราะตลอด ๖๐ ปีที่ผ่านมา เรามีผู้มีอำนาจรัฐอยู่ในมือเพียงกลุ่มเดียว แต่ทุกวันนี้อาจเพิ่มเป็นหลายกลุ่ม
แต่ในที่สุดแล้ว กลุ่มอำนาจที่มาคานกันนี้ ยังถือว่าเป็นกลุ่มที่มีเครือข่ายเดียวกัน
ที่ครอบงำวิธีคิดของประชาชน ผมหวังว่ารัฐธรรมนูญจะสร้างเสาแรกได้ดีกว่าฉบับเก่า
ๆ และเสานี้ไม่ผุพังไป โดยการผุพังนั้นจะเกิดขึ้นได้สองประการคือ หนึ่ง คนเจตนาจะบิดเบือนที่จะปฏิบัติให้สอดคล้องกับบทบัญญัติ
และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และสอง ประชาชนไม่รู้จักใช้รัฐธรรมนูญ โดยในช่วงเริ่มต้นอาจตื่นเต้น
แต่พอมีจริง ถ้าประชาชนไม่ได้ติดตามเอาใจใส่ตรวจสอบรัฐธรรมนูญ เสานี้อาจผุพังได้ เสาที่สองคือประชาชน
โดยทำให้ประชาชนมีพลัง ด้วยการให้การศึกษาที่ดี ไม่เฉพาะการศึกษาในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยเท่านั้น
และในชีวิตจริง คนที่คดโกงกินประเทศ จำนวนไม่น้อยต่างมีการศึกษาดี และยิ่งถ้ามีการศึกษาดีเท่าไหร่ยิ่งมีความคิดซิกแซ็กเก่งที่จะเอาประโยชน์
ถือว่าอันตราย ดังนั้นจะต้องอบรมบ่มนิสัยเพิ่มเติมเข้ามาด้วย
สร้างให้คนมีอุปนิสัยที่ดี หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Character เข้าไปอยู่ในจิตใจ ว่าอะไรถูก
อะไรชอบไม่ชอบ โดยในจุดนี้จะต้องเรียนมาตั้งแต่เกิด ซึ่งครอบครัวเป็นหลักสำคัญในการถ่ายทอด
เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เกิดจากการท่องจำ แต่เป็นเพราะการปฏิบัติตัวของพ่อแม่พี่น้อง
เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก ผมไม่ห่วงเรื่องการหาวิชาความรู้
แต่ห่วงเรื่องการอบรมบ่มนิสัย ประชาชนหลักที่สองที่ดีได้จะต้องเข้าถึงข้อมูลที่สมบูรณ์และทันเวลา
ถ้าได้ข้อมูลมาหลังสถานการณ์เกิดขึ้นแล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้นข้อมูลนอกเหนือจากข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์แล้วจะต้องมีความหลากหลาย เสาที่สองที่มีนิสัยดี
มีความรู้ด้านวิชาการและนอกวิชาการ ไม่ใช่ได้ปริญญาบัตรแล้วตัวเองจะวิเศษกว่าคนอื่น
ผมมองว่าปริญญาไม่มีความหมายอะไรเลย เป็นเหมือนหนังสือเดินทางที่เบิกทางไปสู่ประเทศอื่น
หรือเบิกทางไปสู่การทำงาน ความรู้ในห้าปีก็ล้าสมัยไปแล้ว
การศึกษาถือว่าเป็นสิ่งที่เรียนไม่รู้จบ ผมว่าปัญหาของประเทศเกิดขึ้นเพราะมีนักกฎหมาย
โดยปัญหากว่าครึ่งหนึ่งมีสาเหตุมาจากนักกฎหมายทั้งนั้น อาจจะมากกว่าครึ่งด้วยซ้ำ
การออกพระราชบัญญัติมามากเท่าไหร่ยิ่งสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นมากเท่านั้น เพราะว่าเราสะสมของเก่า
กฎหมายที่ล้าสมัยไม่เป็นธรรมและไม่สร้างสรรค์ความยุติธรรมในสังคม เพราะฉะนั้นกฎหมายของไทย
ต้องสังคายนาใหญ่ เพราะถ้าไม่ทบทวนเปลี่ยนแปลงแก้ไข สังคมไทยก็จะล้าหลังมาก แต่ผมยังพอทนได้ แต่ถ้าสังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ยุติธรรม
ไม่มีหลักยุติธรรม นอกจากจะล้าหลังแล้ว กฎหมายจะล้าหลังด้วย สำหรับเสาที่สามคือหลักธรรมาภิบาลเรื่องความโปร่งใส
ความรับผิดชอบและการตัดสินใจ ไม่ใช่ว่ารับผิดชอบกับการกระทำของตัวเอง เพราะถ้าทำผิดอาจผิดโดยตั้งใจ
ก็ต้องนำขึ้นสู่ศาลลงโทษ แต่ถ้าผิดโดยบริสุทธิ์ใจไม่ได้ตั้งใจ การบังคับลงโทษจะลดลงตามลำดับ
แต่สังคมไทยในปัจจุบันไม่มี Accountability
อย่างมากก็ออกมาพูดกับสื่อว่า ผมผิด ผมขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ความเป็นอิสระและความเป็นกลางของระบบตุลาการ
ตำรวจไทยเป็นส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาในสังคมเป็นอย่างมาก ตามมาด้วยอัยการ ตุลาการและราชทัณฑ์
เสาที่สี่ ประชาสังคม เขาเรียกว่า Civil
Society ครอบคลุมกว้างกว่าองค์การที่นอกเหนือเอ็นจีโอทั่วไป โดยรวมถึงสหภาพแรงงาน
สภาอุตสาหกรรม หอการค้า สมาคมนักเรียนเก่า องค์กรทางศาสนาเป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยคานอำนาจซึ่งกันและกัน
แต่จะประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับ หนึ่ง ไม่มีใครมีอำนาจอยู่ในมือเพียงคนเดียว สอง
มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน เพื่อนำไปสู่สาธารณประโยชน์ โดยรัฐธรรมนูญต้องการให้มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น
แต่ต้องยอมรับว่ารัฐบาลกลางยังมีอำนาจอยู่มาก ฉะนั้นการจะปล่อยให้ผู้ที่คิดว่าอะไรคือประโยชน์ของสาธารณะ
คือรัฐบาลเท่านั้นคงจะไม่ได้ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมาจากพรรคการเมืองหลายพรรครวมกัน บางครั้งอาจจะแตกกัน
แต่ไม่ได้หมายความว่า จะแตกกันเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่เพราะขัดกันเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว
ดังนั้นภาคประชาชนต้องเป็นผู้คานอำนาจ ความคิดแตกต่างกันได้แต่ขออย่าให้แบ่งแยกประชาชน
ต้องยอมรับความคิดเห็นไม่ตรงกับเรา ถ้าสังคมไทยยังเชื่อ และชอบฟังแค่ข่าวลือ ก็ถือว่าเป็นกรรมของเรา
การไม่ยอมไตร่ตรองเลยว่าข่าวที่เราได้รับมาทั้งทางหน้าหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ ไม่ได้มองว่าเป็นการซุบซิบนินทา
สร้างสีสัน ใส่สีให้ข่าวตื่นเต้นเพื่อความมัน ให้คนเขาชกกันแบบมวยไทย โดยให้ฝ่ายหนึ่งล้ม สังคมประชาธิปไตยจะอยู่ได้ต้องหันมาคุยกัน
เมื่อคุยจบแล้วอาจมีความเห็นไม่ตรงกัน แต่อย่างน้อยก็จะสร้างระบบความเข้าใจซึ่งกันและกัน
เอื้ออาทรกัน ผมจำได้ว่า หมอประเวศ วะสี
เคยอวยพรในงานแต่งงานแห่งหนึ่ง บอกว่าคู่สามีภรรยาคงหลีกเลี่ยงเรื่องการทะเลาะกันได้ยาก
ถ้าเกิดขึ้นก็ขออย่าใช้เหตุผล แต่ขอให้ได้เถียงกันด้วยความรัก ความเอื้ออาทรต่อกัน
ถ้าโต้เถียงกันโดยต่างฝ่ายต่างยึดเหตุผลของตนเอง คงอยู่กันไม่รอด เพราะฉะนั้น จึงต้องมี
Tolerance (ความอดทน) เหมือนกับผมและภรรยา ต้องทนในแง่ไม่ดีซึ่งมีอยู่เยอะ แต่เราจงใจในการรักษาความเป็นสามีภรรยากันไว้
บางคนอาจชนะเพราะเบื่อที่จะโต้เถียง อย่างกรณีเขื่อนปากมูลตอนนี้ กำลังเถียงด้วยเหตุผล
โจทย์ที่ตั้งก็ไม่ถูก เพราะฉะนั้นการมีองค์กรภาคประชาสังคมร่วมกับประชาชน
ร่วมกับธรรมาภิบาล จะช่วยคานอำนาจและสร้างจุดที่จะทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยต้องยอมรับว่าแต่ละฝ่ายไม่ได้ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์
แต่ผมเชื่อว่าเกินห้าสิบเปอร์เซ็นต์แน่ สื่อเหมือนเงา
เป็นกระจกส่องให้รัฐได้ดูหน้าตัวเองว่าเป็นหน้ายักษ์หรือสวย หรือมีสิวมากน้อยแค่ไหน
ควรจะไปล้างหน้าหรือเปลี่ยนหน้าดีไหม สื่อคือกลไกที่สำคัญที่สุด เป็นกลไกหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย
ที่คอยผลักดันให้ความจริงปรากฏออกมา สื่อต้องขวนขวายหาความจริง ตรวจสอบการทำงานของรัฐ
และสื่อยังเป็นผู้ชี้นำความคิดของประชาชน เป็นผู้ก่อให้เกิด การวิพากษ์วิจารณ์ การโต้เถียงโต้แย้ง
และนำไปสู่การทำอะไรที่ทำให้เกิดประโยชน์สาธารณะ ดังนั้นสื่อมวลชนต้องถามตัวเองว่า
อำนาจที่มีอยู่ในมือ ได้ใช้ไปด้วยความเหมาะสมถูกต้อง หรือเป็นเพราะไปรับจ้างเขามาหรือไม่
เป็นการทำไปเพราะมีอคติ เพราะมองแต่ประโยชน์ตัวเอง มองแต่ความคิดของตัวเองโดยไม่ฟังความเห็นของคนอื่น การรายงานข่าวต้องเป็นข้อเท็จจริงเท่านั้น
แต่ตอนนี้มีการเติมสีเข้าไปเยอะ เช่นหนังสือพิมพ์ สิ่งที่ชัดเจนข่าวก็ควรเป็นข่าว
ส่วนที่เป็นสีสันก็ควรจะไปอยู่ในบทนำ ถ้าผมจะเขียนคอลัมน์ ผมจะใช้ชื่อจริงว่า นายอานันท์
จะผิดจะถูกอย่างไรก็พร้อมจะรับผิดชอบ จะไปติเตียนด่าว่าใคร ก็ต้องให้คนเขารู้ ไม่ต้องไปใช้นามแฝง ผมยอมรับว่าในอดีตจำเป็นต้องใช้นามปากกา
เพราะมีอำนาจรัฐบางคนอาจเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหากเปิดเผยอาจกระทบกับงานได้ แต่ในวันนี้ใครเขียนคอลัมน์กล้าเปิดเผยชื่อตัวเองไหม
ด่าใครกล้าบอกชื่อหรือไม่ กล้ายอมรับการกระทำของตัวเองหรือเปล่า ทุกวันนี้ผมไม่อ่านหนังสือพิมพ์ไทย
เพราะอ่านแล้วปวดหัวจนไม่อยากอ่าน ในคอลัมน์เดียวกันมีเรื่องห้าหกเรื่องปนกันไปหมด
หัวข่าวไม่ตรงกับเนื้อข่าว นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องให้คนเขาตีกัน เข้าใจผิดกัน เมื่อก่อนพ่อเคยเขียนบทความว่า
นักหนังสือพิมพ์เป็นชนชั้นอภิสิทธิ์ ไปนั่งฟังการประชุม ก็จะจัดที่นั่งให้เป็นพิเศษ
พอกลับไปเขียนข่าวตามอำเภอใจไม่ตรวจสอบว่าถูกผิด วรรณะของสื่อคือการเขียนความจริงไม่ใช่ไปตามกระแส
ถ้าเทียบกับหนังสือพิมพ์ในอังกฤษ บอกชัดเจนว่าเชียร์ใคร หรือเข้าข้างพรรคการเมืองไหน
ดูจากบทนำและคอลัมน์ แต่ในเนื้อข่าวจะไม่ทราบเลยว่าเข้าข้างใคร หนังสือพิมพ์มีความสำคัญและมีอำนาจมาก
เพราะคนอ่านมากขึ้น แต่ผมถามเสมอว่า ถ้าอ่านข่าวของเมืองไทยแล้วจะฉลาดขึ้นหรือไม่
ผมตอบว่าน้อยมาก บทความดี ๆ มีอยู่มาก แต่ข่าวยังอ่อน เคยถามนักข่าว ต่างบอกว่าอยู่ในฐานะลำบากเพราะการลงข่าวจะมากน้อย
หรือแต่งเติมอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับกองบรรณาธิการ ดังนั้นจีงอยากเรียกร้องให้ทุกคนเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์
เพื่อคานอำนาจและต้องมีคุณธรรม จริยธรรม |