รวมปาฐกถาภาษาไทย

ปาฐกถา เรื่อง คุณธรรมและจริยธรรม ดร. ป๋วย
โดย นายอานันท์ ปันยารชุน
อดีตนายกรัฐมนตรี
วันพุธที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๒
ธนาคารแห่งประเทศไทย

ท่านผู้มีเกียรติ

คุณป๋วยเป็นบุคคลที่เรียบง่ายและมีจิตใจเปี่ยมไปด้วยความกรุณาปรานีต่อคนโดยทั่วไป ไม่เคยกล่าวว่าร้ายใครในเรื่องส่วนตัว ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับคุณป๋วยล้วนแล้วแต่ยืนยันว่าเป็นบุคคลที่น่าเคารพและรักนับถืออย่างแท้จริง ผมไม่เคยได้ยินบุคคลที่เคยทำงานกับคุณป๋วยจะกล่าวหาว่าเป็นบุคคลที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือไม่เป็นบุคคลตัวอย่าง มิหนำซ้ำเพื่อนของผมที่เคยใกล้ชิดกับคุณป๋วยต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นผู้ใหญ่ที่น่ารัก ยิ่งอยู่ด้วยกันนานขึ้น ยิ่งทวีความรักและเคารพมากขึ้น

ทั้ง ๆ ที่คุณป๋วยไม่ใช่บุคคลที่ร่ำรวยด้วยทรัพย์สมบัติ แต่ท่านได้พยายามช่วยเหลือบุคคลต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ คุณป๋วยเป็นข้าราชการตัวอย่างที่ไม่ยอมรับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนนอกเหนือไปจากตำแหน่งประจำตำแหน่งเดียว เช่นเวลาทำงานที่สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง เงินเดือนจะรับเพียงตำแหน่งเดียว เงินเดือนประจำตำแหน่งอื่น ๆ และค่าตอบแทนฐานะกรรมการคณะต่าง ๆ คุณป๋วยจะนำมาตั้ง เป็นกองทุนสวัสดิการช่วยเหลือข้าราชการชั้นผู้น้อยในหน่วยงานนั้น ๆ โดยกำหนดให้ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับเงินสวัสดิการจำนวนมากกว่าผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่า วิธีการนี้เลยเป็นหลักที่ข้าราชการกระทรวงการคลังที่ใกล้ชิดคุณป๋วย ถือปฏิบัติกันต่อมา แต่คงจะเลิกปฏิบัติไปแล้วในยุคปัจจุบัน

ตลอดทั้งชีวิตราชการคุณป๋วยได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ มากมาย และมีโอกาสที่จะสะสมทรัพย์สินอย่างมากมาย แต่ก็ไม่เคยมีใครมาอ้างได้ว่าท่านได้มีพฤติกรรมมิชอบมิควรแต่ประการใด ตรงกันข้าม บางคนที่ไม่เป็นมิตรกับท่าน กลับยกความไม่ยอมหาประโยชน์ใส่ตนเองของคุณป๋วย มาโจมตีหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ หรือไม่ใช่คนไทยที่สมบูรณ์ เมื่อเริ่มรับราชการที่กรมบัญชีกลาง และสำนักงานปลัดกระทรวงการคลังนั้น คุณป๋วยเดินทางจากบ้านที่ซอยอารีย์ ถนนพหลโยธิน ด้วยจักรยาน ๒ ล้อ มีข้าราชการกระทรวงการคลังเล่าสู่กันฟังว่า ท่านจะมายังที่ทำงานซึ่งสมัยนั้นอยู่ในพระบรมราชวัง เหงื่อไหลไคลย้อย ท่านจะมีกระเป๋าหนังเก่า ๆ ใบหนึ่ง ในนั้นจะมีเสื้อเชิ้ตตัวหนึ่งและเน็คไทเส้นหนึ่งและผ้าขนหนูผืนหนึ่ง พอมาถึงก็จะยกกระเป๋าเข้าที่ทำงานแล้วเปิดเอาผ้าขนหนูไปที่ก๊อกน้ำชั้นล่าง แล้วชุบน้ำให้เปียก แล้วนำมาเช็ดที่หน้าและลำคอและแขน พอสะอาดเรียบร้อยแล้วก็เปลี่ยนเสื้อที่มุมห้องใหญ่แห่งหนึ่ง ทำอย่างนี้เป็นประจำ จนท่านปลัดกระทรวงสมัยนั้นสั่งให้ทำอ่างล้างหน้าที่ชั้นสองใกล้ ๆ ห้องทำงานของคุณป๋วย เพื่อความสะดวกของคุณป๋วย และข้าราชการผู้อื่นก็ได้อาศัยใช้ไปด้วย เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความสมถะของคุณป๋วย และความเอ็นดูและการเห็นคุณค่าของคุณป๋วย ในสายตาของผู้ใหญ่ของกระทรวงการคลังสมัยนั้นเป็นอย่างดี

มีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อสมัยท่านเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ห้องทำงานของท่านเปิดรับบุคคลต่าง ๆ อยู่เสมอ เช่นครั้งหนึ่งมีคนเห็นพนักงานคนสวนของธนาคาร สวมเสื้อกล้ามเก่า ๆ และขาด ๆ ตัวหนึ่ง พร้อมทั้งนุ่งกางเกงขาสั้นค่อนข้างกะรุ่งกะริ่ง นั่งบนเก้าอี้ตรงหน้าโต๊ะทำงานของคุณป๋วย พูดคุยอย่างไม่มีประหม่าแต่ประการใด คุณป๋วยก็พูดจาด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ภายหลังผู้ใหญ่ในธนาคาร เรียกคนสวนมาบอกว่าจริงอยู่ท่านผู้ว่าฯ ไม่ว่าหรอกจะมาพบกับท่าน แต่ขอให้แต่งตัวสุภาพกว่านี้ได้มั้ย? ความหนักใจของผู้ที่ดูแลผู้มาติดต่อกับคุณป๋วยก็คือ จะทำอย่างไรให้คุณป๋วยมีเวลาทำงานบ้างในเวลาราชการ เพราะจะมีคนมาพบหรือปรึกษาหารืองาน หรือเรื่องส่วนตัวกับท่านอยู่เรื่อย ๆ จนท่านต้องทำงานเวลาเลิกงานแล้วทุกวัน อย่างไรก็ตามผมทราบมาว่า หากเป็นบุคคลที่สนิทสนมกับท่าน ท่านจะให้พูดสนทนาไป และท่านจะก้มหน้าทำงานไป โดยสามารถแบ่งความสนใจได้สองด้านพร้อมกันไป หรือในบางขณะเห็นว่า งานค่อนข้างยุ่งยากต้องเพ่งเล็งให้ความสนใจเป็นพิเศษ ก็ขอให้หยุดสนทนาชั่วคราว และเมื่อพิจารณาวิเคราะห์งานเบื้องหน้าลุล่วงไปได้แล้ว ก็จะได้พูดคุยกันต่อไป ด้วยความสามารถเช่นคุณป๋วยจึงสามารถทำงานได้อย่างทันเวลา และก็สามารถเจรจาพาทีรวมทั้งช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ที่มาติดต่อด้วยเป็นอย่างดีพร้อม ๆ กันไป ความเมตตาต่อผู้ร่วมงานด้วยเป็นที่กล่าวกันอย่างกว้างขวาง เพื่อนผมคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เมื่อมาทำงานใหม่ได้ไม่ถึงเดือน เกิดโชคดีได้รับมอบหมายให้ดูแลงานชิ้นหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลบางประการ ไม่ได้มีบทบาทมากมายประการใด แต่คุณป๋วยได้นำเข้าร่วมประชุมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมัยนั้น เมื่อคุณป๋วยอธิบายชี้แจงถึงปัญหาและวิธีแก้ไขจนเป็นที่ยอมรับในที่ประชุมเรียบร้อยแล้ว ท่านหันมาหาเพื่อนผมซึ่งนั่งสงบเสงี่ยมเจียมตัวอยู่เบื้องหลังของท่าน แล้วกล่าวแนะนำว่า เป็นบุคคลที่มีส่วนร่วมศึกษาเรื่องนี้เป็นอย่างมาก (ซึ่งเกินความเป็นจริง) ทำให้ผู้ใหญ่สมัยนั้นรู้จักเพื่อนผมและเรียกไปใช้งานพิเศษอื่น ๆ ต่อไป นิสัยของคุณป๋วยที่คอยยกย่องและส่งเสริมผู้ร่วมงานกับท่านเป็นนิจเช่นนี้ หาได้ยากจริง ๆ ในวงจรราชการไทย มิหนำซ้ำเวลาการวิเคราะห์ของผู้ร่วมงานผิดพลาดไปบ้าง คุณป๋วยก็จะชี้แจงสอนให้พิจารณาใหม่ไปในทางที่ถูกต้องตามหลักการ จนเป็นที่กระจ่างต่อผู้ร่วมงาน ครั้นพอคุณป๋วยเสนอผลงานกลับยกย่องว่า ผู้ร่วมงานนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญต่อความสำเร็จของงานนั้น ๆ โดยมิได้กล่าวถึงแม้แต่น้อยว่าท่านได้แก้ไขความบกพร่องของการวิเคราะห์ของผู้ร่วมงานไปอย่างใดบ้าง

เรื่องราวที่คุณป๋วยเคยคัดค้านแนวความคิดหรือข้อเสนอแนะของผู้มีอำนาจเหนือกว่า มีหลายต่อหลายเรื่องด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่นธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง (สหธนาคาร) นำเงินตราต่างประเทศที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนต่ำกว่าท้องตลาด ไปในทางที่ผิดจากเจตนารมณ์ของการอนุมัติพิเศษครั้งนั้น และมีความผิดจะต้องถูกปรับหลายสิบล้านบาท (ซึ่งสมัยนั้นเป็นยอดเงินเป็นพัน ๆ ล้านบาทในปัจจุบัน) มีผู้มีอำนาจมาก ๆ ในคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นหลายคนพยายามจะให้คุณป๋วย ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้ เปลี่ยนแนวทางให้ยกประโยชน์ให้แก่ธนาคารนั้นโดยไม่ต้องเสียค่าปรับ แต่คุณป๋วยไม่ยอมทั้งที่ได้มีการเจรจาหลายครั้ง บุคคลที่มาเจรจาล้วนแล้วมียศสูงสุดในกองทัพบก กองทัพอากาศและกรมตำรวจ สมัยนั้น ผลสุดท้ายคุณป๋วยเสนอสรุปให้ธนาคารนั้นเสียค่าปรับตามกฎระเบียบที่ใช้บังคับในขณะนั้น และคณะรัฐมนตรีก็ให้ความเห็นชอบตามเสนอ ผลลัพธ์คือ คุณป๋วยได้ทำหน้าที่เป็นรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่สั้นที่สุด คือประมาณ ๗ เดือน และเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ท่านขอลาออกจากราชการเพื่อไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยลอนดอน แต่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (คุณพระบริภัณฑ์ยุทธกิจ) มีความเอ็นดูและเห็นประโยชน์ของคุณป๋วย ในฐานะข้าราชการ จึงขอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้คุณป๋วยไปเป็นที่ปรึกษาการคลังประจำเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน จากการที่มิได้ขาดจากการเป็นข้าราชการของคุณป๋วยในครั้งนี้ จึงทำให้ราชการไทยได้รับประโยชน์จากคุณป๋วยต่อมาอีกมากมาย

เป็นที่น่าประหลาดใจที่ความดีและความสามารถของคุณป๋วยนี่เอง กลับทำให้จอมพลสฤษดิ์ (ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่สุดคนหนึ่ง ที่พยายามจะให้คุณป๋วยเปลี่ยนแนวทางพิจารณาเกี่ยวกับการปรับธนาคารพาณิชย์แห่งนั้นในเรื่องกระทำความผิด เรื่องเงินตราต่างประเทศ) เห็นคุณค่าของคุณป๋วย ระหว่างที่พักรักษาตัวอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ถึงกับเชิญไปพบหลายครั้ง และเมื่อกลับมาปฏิวัติเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล ก็ขอให้คุณป๋วยกลับเมืองไทย รับตำแหน่งสำคัญ ๆ หลายตำแหน่ง เช่นเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณคนแรกของประเทศไทย เป็นที่ปรึกษาประจำกระทรวงการคลัง เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดตั้งสภาพัฒน์ฯ และต่อมาเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ฯลฯ ในระยะเวลานั้นคุณป๋วยได้ทำงานชิ้นสำคัญ ๆ หลายประการ แต่ที่น่าจะกล่าวถึงคือความกล้าหาญของคุณป๋วยในการคัดค้านเรื่องไม่ชอบมาพากล ทั้ง ๆ ที่ทราบว่าเป็นเรื่องที่จอมพลสฤษดิ์มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แต่จอมพลสฤษดิ์ก็เป็นผู้ใหญ่พอ ที่มิได้วางโทษคุณป๋วยทั้งทางตรงและทางอ้อมแม้แต่ประการใด และก็ให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปตามที่คุณป๋วยเสนอขึ้นมาทุกครั้งไป หรือมิฉะนั้นก็ยุติการดำเนินงานต่อไป เมื่อเห็นมีการทักท้วงจากคุณป๋วย หรือจากส่วนราชการที่คุณป๋วยเป็นหัวหน้า หรือเป็นที่ปรึกษาในขณะนั้น มาเดี๋ยวนี้ผมคิดว่า เราคงจะเห็นความกล้าหาญเช่นนี้ไม่ได้ง่ายนัก และในขณะเดียวกันเราก็คงจะเห็นผู้มีอำนาจประพฤติตามแบบจอมพลสฤษดิ์กับคุณป๋วยไม่ได้ง่ายนักเช่นเดียวกัน

ผมรู้จักเพื่อนฝูงหลายคนที่เคยทำงานกับคุณป๋วยผมกล้าพูดได้ว่าไม่มีใครเลยจะไม่ได้รับประโยชน์ ในการพัฒนาความรู้และความประพฤติ ตลอดจนหลักการในการทำงานและในการครองชีวิตของตน โดยที่ซึมซับจากความใกล้ชิดกับคุณป๋วย ความไม่พยายามคาดร้ายกับใครนั้น คุณป๋วยมีอยู่อย่างสมบูรณ์ ดูจากเรื่องที่คุณป๋วยเล่าในเรื่องทหารจำเป็น (เสรีไทย) ในเนื้อเรื่องท่านมิได้เคยกล่าวถึง การที่ท่านถูกต่อยและเตะ เมื่อตอนถูกจับหลังจากที่โดดร่มลงในบริเวณ อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท แต่กลับกล่าวถึง เรื่องที่ท่านประทับใจในความกรุณาปรานีของคนไทยด้วยกัน ทั้ง ๆ ที่ถูกปลุกปั่นให้รังเกียจ “พลร่ม” ว่าเป็นคนขายชาติ คุณป๋วยกลับจำได้ว่า เมื่อตอนถูกล่ามโซ่ติดกับเสาไม้กลางศาลาการเปรียญในวัดวังน้ำขาว มีผู้คนมาดูมากมาย บางคนก็มานั่งบนพื้นศาลาจ้องมองดูเป็นเวลานาน ๆ นับชั่วโมง บ้างก็กล่าวคำหยาบคาย แต่ที่คุณป๋วยจำได้แม่นที่สุดก็คือ เวลาเจ้าหน้าที่ม่อยหลับตอนบ่าย ๆ มีหญิงอายุค่อนข้างมาก กระเถิบเข้ามาใกล้และนั่งดูอยู่นานถึงสองชั่วโมง โดยเอามือกอดเข่านิ่งอยู่ แล้วพูดกับคุณป๋วยว่า “พุทโธ่ หน้าเอ็งเหมือนลูกข้า” พอคุณป๋วยถามว่า “ลูกของป้าไปไหน” ก็ตอบว่า “ถูกเกณฑ์ทหารไปนานแล้วไม่รู้ว่าไปอยู่ที่ไหน” คุณป๋วยเล่าว่าเสียงอันเยือกเย็นซึ่งแสดงถึงน้ำใจของหญิงผู้นี้ ทำให้คุณป๋วยตื้นตัน และรู้สึกว่าได้มีรสหวานอันเป็นรสแห่งความรักของมารดาห้อมอยู่ในศาลานั้น คุณป๋วยเล่าอีกว่ายังระลึกถึงบุญคุณของตำรวจสองคน ที่ควบคุมคุณป๋วยว่า หลังจากอยู่ด้วยกันสองถึงสามวัน พอถึงเขตเมืองของอำเภอวัดสิงห์ และจะต้องถูกคุมขัง ณ สถานีตำรวจเป็นครั้งแรก อุตส่าห์เอาเงินรวมกันได้ ๑๒ บาท มาให้เพื่อใช้เป็นประโยชน์ใน ๒ - ๓ วันข้างหน้า (ขอให้ระลึกว่า ในขณะนั้นข้าวราดแกงจานหนึ่งราคาไม่เกิน ๒๐ สตางค์) และยังจำได้ว่าเมื่ออยู่ในที่กรงขังของสถานีตำรวจแล้ว ยังทำไข่ต้มมาให้กิน ยังแถมบอกว่า อาหารที่ราชการให้นั้นคงจะพอสำหรับทำให้หิวต่อไปอีก

คุณป๋วยมีอารมณ์ขันอย่างแท้จริง แม้กระทั่งในยามสิ่งแวดล้อมค่อนข้างจะมืดมนอนธการ เช่นในตอนถูกล่ามโซ่กับนักโทษอื่นอีกสองคน เพื่อเดินทางจากสถานีตำรวจอำเภอวัดสิงห์ มายังท่าเรือยนต์ เพื่อเดินทางต่อไปยังเขตเทศบาลเมือง จังหวัดชัยนาท ท่านข้าหลวงประจำจังหวัด ซึ่งเดินทางมายังอำเภอวัดสิงห์ เพื่อคุม “พลร่ม” ไปยังเมืองชัยนาทแล้วจะเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ แอบมาพูดอย่างกระดากว่า “หวังว่าคงไม่รังเกียจ” ขณะที่จะมีการล่ามโซ่ตรวนกัน! หรือเมื่อตอนนั่งห้อยเท้าในช่องกระโดดในเครื่องบิน พร้อมที่จะไถลตัวกระโดดลงในท่ามกลางความมืด คุณป๋วยนั่งอยู่ประมาณหนึ่งชั่วโมง ซึ่งท่านรู้สึกว่า จะเป็นหนึ่งปี คำนึงถึงชีวิตและมรณะ แต่จากช่องกระโดดนั้นลมเย็นกระโชกพัดเข้ามาอยู่ตลอดเวลา คุณป๋วยเลยพยายามนึกว่า คงจะมีประโยชน์สำหรับจะทำให้คุณป๋วยและพรรคพวกที่จะกระโดดร่มในคราวนั้น แน่ใจว่าที่ที่จะลงไปนั้นไม่ใช่นรกเพราะว่าไม่มีเปลวเพลิงอันร้อนมีแต่ลมเย็นเท่านั้น

ท้ายที่สุดนี้ผมขอนำคำสดุดีที่คุณป๋วยประพันธ์ขึ้นเพื่อระลึกถึง คุณเกษม ศรีพยัคฆ์ ผู้ซึ่งเป็นบุคคลตัวอย่างอีกท่านหนึ่ง

“มนตรีศรีพยัคฆ์ยอดคน           ญาติมิตรปวงชน

ไทยเศร้าจิตอนิจจา

ท่านผู้ถือสัตย์หัทยา           เข้มแข็งแรงกล้า

ยึดธรรมสัมนาจารี

ว่าการธนาคารชาติดี            รักษาหน้าที่

มิหนีมิหน่ายผ่ายภาร

บำรุงกรุงไทยไพศาล      สมบัติศฤงคาร

สิท่านขัดสนจนทรัพย์

น้อมจิตเทิดธรรมคำนับ           ยังชีวีดับ

เกียรติศัพท์เลื่องหล้าถาวร”

กาพย์ฉบัง ๑๖ นี้หากเปลี่ยนชื่อคุณเกษม ศรีพยัคฆ์ เป็นคุณป๋วยก็เหมาะสมกันดี แต่ทว่า เราคงจะต้องยอมรับว่า ธนาคารกรุงไทยมิได้ไพศาลไปด้วยสมบัติศฤงคารอีกต่อไปแล้ว