รวมปาฐกถาภาษาไทย

(คำแปล)

“เต๋าแห่งการพัฒนา : การบริหารเศรษฐกิจและธรรมาภิบาลในเอเชีย”
ปาฐกถาครบรอบหนึ่งปีของมูลนิธิเอเชีย-ยุโรป
โดย นายอานันท์ ปันยารชุน
อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย
๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑

อารัมภบท

ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญมาแสดงปาฐกถาในวาระครบรอบหนึ่งปีของสถาบันเอเชีย-ยุโรป

ในปีที่มีเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้นมากมาย ก็ยังอุ่นใจอยู่บ้างที่มูลนิธิ หรือที่เรียกย่อว่า ASEF ได้ผ่านพ้นหลักหนึ่งปีไปแล้ว

เอเชียและยุโรปต่างเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ แต่กระแสการไหลของความคิดและความรู้มักจะเป็นไปในทิศทางเดียว เวทีนี้จึงเป็นโอกาสอันเปรียบมิได้ที่เราจะสามารถแก้ไขจุดบกพร่องนั้นและเรียนรู้จากกันและกันเพื่อที่จะได้เข้าใจกันดีขึ้น

เนื่องจากหัวข้อที่อยู่ในใจทุกคนระยะนี้คือวิกฤตการณ์เศรษฐกิจเอเชีย ถ้าหากผมจะเริ่มโดยไม่กล่าวถึงเรื่องนี้ก็คงจะดูกระไรอยู่

ในชั่วเวลาเพียงครึ่งปี สิ่งที่เรียกกันว่าปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของภูมิภาคซึ่งสร้างสมมาเป็นหลายสิบปีได้หยุดชะงักลง

ความเป็นไปได้ของศตวรรษเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเคยมองกันว่าจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน บัดนี้กลับเป็นเครื่องหมายคำถามที่ค้างอยู่ในอากาศ

สิ่งที่เราดำเนินการต่อไปจากจุดนี้จะตัดสินว่าปัญหาที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบันเป็นเพียง “หลังเต่า” ลดความเร็ว หรือว่า “ปาฏิหาริย์เอเชีย” จะกลายเป็นเพียงเชิงอรรถในตำราประวัติศาสตร์

ตัวผมเองเชื่อว่าพื้นฐานของภูมิภาคยังเข้มแข็งพอที่จะให้มีการฟื้นตัวได้ภายในระยะเวลาอันสมควร แต่ทั้งนี้มีข้อแม้ว่าเราจะต้องดำเนินตามเส้นทางที่ถูกต้อง

เส้นทางถูกต้องที่ว่านั้นเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างดุเดือดอยู่แล้วในหมู่ผู้ที่คงแก่เรียนมากกว่าผม ดังนั้นวันนี้ผมตั้งใจที่จะกล่าวถึงอีกคำถามหนึ่งซึ่งไม่ได้มีความสำคัญย่อหย่อนไปกว่านั้น แต่มักจะถูกปัดไปอยู่ขอบข้างของการโต้เถียง นั่นคือ ทำอย่างไรเอเชียจึงจะดึงเอาบทเรียนที่เจ็บปวดจากวิกฤตการณ์นี้มาใช้วางรากฐานการพัฒนาระยะยาวซึ่งสมดุล เสมอภาค และยั่งยืนได้

ผมถามคำถามนี้เพราะว่าการพัฒนาไม่ได้หมายความถึงการเจริญเติบโตอย่างเดียว

เราเห็นมาแล้วว่าการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วนั้นอาจเกิดขึ้นได้แม้ว่าการพัฒนาด้านอื่นๆ ยังคงล้าหลังอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความเป็นธรรมในสังคม การกระจายรายได้อย่างเสมอภาค หรือการบริหารสิ่งแวดล้อมอย่างถูกหลัก

การพัฒนานั้น หากเราจะอุปมาอุปมัยแบบเอเชีย ก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องของหยินกับหยาง เป็นเรื่องที่จะต้องหาความสมดุลให้ได้ระหว่างสิ่งที่เราให้ความสำคัญทัดเทียมกันหลายๆ อย่าง ซึ่งการเจริญเติบโตเป็นเพียงหนึ่งในนั้น

เนื่องจากเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายเหลือเกิน การพูดคลุมๆ โดยรวมก็อาจจะกว้างเกินไป ดังนั้นข้อสังเกตของผมส่วนใหญ่จะดึงมาจากกรณีของประเทศไทย และก็เป็นไปได้ว่าข้อสังเกตบางข้อของผมอาจจะประยุกต์ใช้ในกรณีอื่นได้ แต่ในส่วนนั้นผมขอให้ท่านผู้ฟังได้โปรดวินิจฉัยเอาเองก็แล้วกัน

ทบทวนอดีต ทบทวนตัวเอง

ได้มีหลายท่านตั้งข้อสังเกตว่าวิกฤตการณ์การเงินของไทยเป็นพรที่จำแลงมา

ในความเห็นของผม ผลดีที่สุดจากวิกฤตการณ์คือเป็นการบังคับให้เราต้องพินิจพิจารณาตัวเองมากขึ้น

บัดนี้เมื่อเราได้เรียนรู้ความจริงด้วยตัวเองแล้วว่าตลาดโลกอาจโหดร้ายได้เพียงใด เราก็ควรอยู่ในสภาพจิตใจอันเหมาะสมที่จะแก้ไขจุดอ่อนต่างๆ ในระบบของเราซึ่งละเลยกันมานานตั้งแต่สมัยเศรษฐกิจเฟื่องฟู

การประเมินตัวเองนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เนื่องจากทางเลือกที่เราตัดสินใจในวันนี้จะเป็นตัวกำหนดวิถีทางการพัฒนาของเราในระยะยาว

ถ้าเราย้อนกลับไปดูว่าเราเริ่มจากตรงไหนและมายืนอยู่ตรงไหนในปัจจุบัน ก็จะเห็นชัดว่าเราจำเป็นต้องหาทางเลือกใหม่ๆ

ตอนที่เอเชียตะวันออกเริ่มเร่งพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ ๑๙๕๐ นั้นยังไม่มีบทสรุปแน่ชัดว่าตลาดเสรีหรือการวางแผนจากส่วนกลางเป็นระบบที่ดีกว่า

เนื่องจากเรามีแรงงานราคาถูกจำนวนมากและอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เราจึงดำเนินนโยบายการค้าและการลงทุนซึ่งมองออกไปข้างนอก และค่อยๆ ปรับเศรษฐกิจของเราเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตลาดโลก

ผลก็คือเศรษฐกิจของเราเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมาก ความสำเร็จของเอเชียตะวันออกได้รับการขนานนามจากนักวิเคราะห์และผู้สังเกตการณ์ชาวตะวันตกว่าเป็นปาฏิหาริย์และถูกหยิบยกเป็นตัวอย่างสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในส่วนอื่นๆ ของโลก

แต่ในขณะเดียวกันที่เราเจริญเติบโต การพัฒนาของเราก็เริ่มบูดเบี้ยว พวกเราหลายคนรักความฟุ่มเฟือยมากกว่าประสิทธิภาพ อัตราการเติบโตที่สูงมากกว่าการกระจายรายได้อย่างเที่ยงธรรม และกำไรเร็วๆ มากกว่าความยั่งยืน

สำหรับประเทศที่แสวงหาทางออกจากความยากจน ทางเลือกเหล่านี้ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว สิ่งที่เราทำจริงๆ ก็คือการพยายามไล่กวดให้ทันประเทศอื่นโดยต้องบีบย่อระยะเวลาทำสิ่งต่างๆ ที่ตะวันตกต้องใช้เวลาเป็นร้อยๆ ปีให้สำเร็จภายในเพียงไม่กี่ทศวรรษ

ท่านที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ย่อมทราบดีว่าการบีบย่อข้อมูลให้มีขนาดเล็กลง หรือที่เรียกว่า compression นั้น ปกติจะทำโดยการตัดข้อมูลที่ไม่สำคัญหรือซ้ำซ้อนออกไป แต่ในกรณีของเรา สิ่งที่เราตัดออกไปนั้นไม่ใช่สิ่งที่ไม่สำคัญหรือซ้ำซ้อน

แม้ว่าจากภายนอกจะดูเหมือนว่าเราไล่กวดประเทศอื่นทางด้านเศรษฐกิจได้ทัน แต่ความสำเร็จนั้นมักได้มาจากการเสียสละด้านการพัฒนาสังคมและการเมือง

เมื่อเศรษฐกิจพังลงมาเราจึงตระหนักว่าสถาบันหลายอย่างของเราไม่พร้อมที่จะเผชิญความท้าทายของยุคโลกาภิวัตน์ ขณะที่โลกได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกล้ำ แต่ทว่าสถาบันทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของเรากลับก้าวตามไม่ทัน

ประสิทธิภาพ การอุปถัมภ์ และการบริหารเศรษฐกิจ

การปฏิรูปทั้งระบบซึ่งเอเชียต้องทำหากยังจะครองความเป็นเอกต่อไปในยุคโลกาภิวัตน์นั้นจะไม่เกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืน ซึ่งยิ่งทำให้จำเป็นที่กระบวนการนี้จะต้องเริ่มโดยเร็ว

การแข่งขันระหว่างประเทศกำลังพัฒนาได้เข้มข้นขึ้น โดยมีผู้เล่นรายใหม่ๆ ในเศรษฐกิจโลก แต่ละประเทศก็โฆษณาขายแรงงานราคาถูก ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และกฎหมายที่เป็นมิตรต่อนักลงทุน

ส่วนในโลกตะวันตก แรงหนุนทางการเมืองสำหรับสิทธิประโยชน์พิเศษทางการค้าหรือความช่วยเหลือพิเศษสำหรับประเทศกำลังพัฒนานับวันมีแต่จะหายากขึ้น

วิธีเดียวที่เราจะอยู่รอดในระยะยาวได้คือโดยการปรับปรุงประสิทธิภาพ และกุญแจสู่การปรับปรุงประสิทธิภาพก็คือการบริหารเศรษฐกิจให้ดีกว่าเดิม

พูดอย่างนี้ฟังดูเหมือนกำปั้นทุบดิน ดังนั้นเราควรชัดเจนว่ามันเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง มีปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นอุปสรรค อะไรบ้างที่เป็นตัวส่งเสริม

สิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคคือความเฉื่อยทางสถาบัน

ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของเอเชียถูกเรียกว่าเป็นปาฏิหาริย์เพราะมันตั้งอยู่บนกรอบทางสถาบันซึ่งมักจะขัดต่อหลักเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี เช่น การแทรกแซงอย่างเข้มข้นจากรัฐ นโยบายอุตสาหกรรมซึ่งกำหนดโดยรัฐ และเครือข่ายสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างภาครัฐกับธุรกิจ เป็นต้น

แต่ก็อย่างว่า ไม่มีอะไรสำเร็จเท่ากับความสำเร็จ ตราบใดที่เศรษฐกิจยังคงรุดหน้าอยู่เรื่อยๆ สถาบันที่รองรับการเจริญเติบโตของเอเชียก็ทำงานได้ดีพออยู่หรอก แต่เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ขึ้น จุดอ่อนต่างๆ ก็ถูกเปิดโปงให้โลกเห็นหมด และเมื่อระบบล้มเหลว การปฏิรูปก็ไม่ใช่แค่เรื่องของสมัยนิยมแล้ว แต่กลายเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างจริงจัง

ในกรณีของประเทศไทย การที่เรารวมตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่นไร้รอยต่อ แต่ได้สร้างการขัดแย้งภายในตัวเองซึ่งนำไปสู่ความด้อยประสิทธิภาพในระบบ

ในขณะที่เรารับระบบทุนนิยมตะวันตกมา แต่ก็ยังรักษาระบบเครือข่ายอุปถัมภ์แบบดั้งเดิมอยู่ ซึ่งเป็นระบบที่ใช้สายสัมพันธ์ส่วนตัวในการจัดสรรคุณค่าและทรัพยากร

สายสัมพันธ์ส่วนตัวนั้นอาจจะไม่มีพิษมีภัยอะไรก็ได้ แต่ถ้ามันกลายมาเป็นปัจจัยในเรื่องสาธารณะก็อาจเป็นภัยอย่างมหันต์ได้ เนื่องจากระบบอุปถัมภ์ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักความดีความชอบจึงทำให้มันมักเป็นบ่อเกิดของความด้อยประสิทธิภาพ พฤติกรรมแสวงค่าเช่าทางเศรษฐกิจ และการฉ้อราษฎร์บังหลวง

การบริหารทรัพยากรและวิถีแบบไทยๆ

อีกลักษณะหนึ่งของสังคมไทยที่จำต้องแก้ไขโดยรีบด่วนคือวิธีที่เราใช้และบริโภคทรัพยากร

ถ้ามีประเทศใดที่สามารถอยู่ได้โดยพึ่งตัวเอง ประเทศนั้นก็คือประเทศไทย ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าว

ในอดีตประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติจนเรื่องประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรไม่เคยเป็นประเด็น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อกรมป่าไม้ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ภาระหน้าที่ซึ่งกรมได้รับมอบหมายคือการดูแลการตัดป่าไม้มาใช้ประโยชน์ ไม่ใช่การอนุรักษ์ป่าไม้

สมบัติธรรมชาติของเราได้ลดลงไปไม่น้อยจากอดีต เนื่องจากเราเปลี่ยนรูปแบบการใช้ทรัพยากรจากเศรษฐกิจแบบยังชีพหรือบริโภคภายในประเทศไปสู่การป้อนตลาดโลก

นาข้าวที่อุดมสมบูรณ์รอบๆ กรุงเทพฯ ได้กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมและหมู่บ้านไปแล้ว อ่าวไทยก็ประสบปัญหาถูกทำประมงมากเกินไป ป่าไม้ของเราก็ร่อยหรอไปมากจนต้องมีการห้ามตัดป่าไม้

การบริหารทรัพยากรธรรมชาติอย่างผิดๆ ในยุคปัจจุบันไม่ได้หมายความว่าคนไทยไม่รู้จักแนวคิดเรื่องประสิทธิภาพหรือความยั่งยืน

อันที่จริงแล้วเรามีพลังดั้งเดิมซึ่งจำต้องฟื้นฟูและดึงออกมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาวิกฤตขณะนี้

เดิมทีก่อนที่เราเปิดใจให้กับลัทธิบริโภคนิยม การนำวัสดุกลับไปใช้ใหม่และการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดก็เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไทยเดิม การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนได้สร้างไว้ในระบบอยู่แล้ว แต่ละคนจะใช้ทรัพยากรเพียงเท่าที่จำเป็น ความร่ำรวยด้านวัตถุเป็นเรื่องรอง การทำบุญเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า ครอบครัวที่มีญาติพี่น้องอยู่ในครัวเรือนเดียวกันเป็นตะข่ายชูชีพทางสังคมอย่างดีสำหรับคนที่ดูแลตัวเองไม่ได้ เช่นคนชรา การสร้างสมความร่ำรวยมหาศาลก็ทำได้อยู่ แต่ไม่มีเหตุผลจูงใจมากมายอะไรที่จะต้องทำอย่างนั้น

การที่เราได้รู้จักกับความสุขของสังคมบริโภคได้เปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ไป สิ่งจูงใจคนไทยได้แปรเปลี่ยนจากการทำบุญไปเป็นการทำกำไรเพื่อให้สามารถสนองความต้องการที่จะมีสิ่งฟุ่มเฟือยในชีวิตได้

ผมไม่ได้อาลัยอาวรณ์ยุคสมัยที่ผ่านหายไปแล้ว โลกเราย่อมเปลี่ยนไปและไม่มีทางที่เราจะกลับไปเหมือนเดิมได้ ประเด็นของผมคือว่าในขณะที่เราพยายามเร่งรีบตามตะวันตกให้ทัน แต่บทเรียนทั้งที่เราเรียนจากตะวันตกและจากอดีตของเราเองกลับเป็นบทเรียนที่ไม่สมบูรณ์

ขณะที่ตะวันตกได้วิวัฒนาการกลไกเพื่อตรวจสอบและคานอำนาจเพื่อควบคุมความเกินพอดีของระบบทุนนิยม ความกระตือรือร้นของเราที่จะตักตวงผลประโยชน์จากทุนนิยมทำให้เรามองข้ามความสำคัญของกลไกเหล่านั้นไป

ในขณะที่ความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อสังคมได้เป็นเสาหลักของรัฐภิบาลในตะวันตกมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ในเอเชีย สายใยระหว่างอำนาจและเงินส่วนใหญ่ยังคงซ่อนเร้นจากสายตาประชาชน

เราได้มุ่งที่จะลอกเลียนวิถีทางของตะวันตกโดยไม่เข้าใจปรัชญาที่รองรับมันหรือว่ามันวิวัฒนาการมาอย่างไร

ในเวลาเดียวกัน เราก็โยนทิ้งธรรมเนียมการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนของเรา และสร้างระบบทุนนิยมพันธุ์ทางซึ่งใช้การอุปถัมภ์เพื่อให้ได้กำไรสูงสุด กลายเป็นสูตรสำหรับการพัฒนาที่ไม่สมดุลและไม่ยั่งยืน

ธรรมาภิบาลและการบริหารเศรษฐกิจ

เห็นได้ชัดว่าเราจำเป็นต้องมีการบริหารเศรษฐกิจที่ดีกว่านี้ และกุญแจก็คือธรรมาภิบาล

ผมต้องขอเน้นว่าธรรมาภิบาลมีความหมายมากกว่าการปกครองที่ดี มากกว่าการมีคนซื่อสัตย์และมีความสามารถอยู่ในตำแหน่งสาธารณะ

เราคนไทยมักรู้สึกอบอุ่นใจกับความแน่นอนที่มาจากการมีผู้นำเข้มแข็ง และเมื่อใดก็ตามที่ประเทศเราประสบปัญหา เราก็ใฝ่ฝันให้มีอัศวินขี่ม้าขาวเข้ามาช่วยพวกเรา

แต่ยุคแห่งการตัดสินใจแบบ “คุณพ่อรู้ดีที่สุด” ได้หมดไปแล้ว

แม้ว่ารัฐจะดูเหมือนว่ามีอำนาจน่าเชื่อถือ แต่ก็ไม่ได้รู้ดีไปทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันนี้ซึ่งตลาดมักจะสวนทางกับความพยายามของรัฐที่จะรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น รัฐบาลตามลำพังไม่มีทางทราบหรอกว่าโครงการเขื่อนจะกระทบชีวิตของคนที่อยู่ล่างน้ำหรือระบบนิเวศน์ในบริเวณนั้นอย่างไร

ถ้าเป็นการที่ต้องเลือกระหว่างสิ่งที่มีความสำคัญทัดเทียมกัน ผู้นำทางการเมืองก็มีสิทธิ์ที่จะทำให้เราผิดหวังได้พอๆ กับที่จะช่วยเราได้

ในประเทศกำลังพัฒนา บ่อยครั้งรัฐบาลมักจะตัดสินใจทางการเมืองและเศรษฐกิจซึ่งสวนทางกับประโยชน์สาธารณะ

ธรรมาภิบาลคือการวางกลไกเพื่อกำหนดว่าประโยชน์ของสาธารณะอยู่ตรงไหนและเพื่อให้มั่นใจว่าประโยชน์สาธารณะจะได้รับการตอบสนองเหนืออื่นใด นี่คือเหตุผลของขบวนการปฏิรูปการเมืองซึ่งกำลังเกิดขึ้นในประเทศเอเชียหลายประเทศ

เงื่อนไขจำเป็นสำหรับธรรมาภิบาล

ถ้าเราจะให้ธรรมาภิบาลเกิดขึ้นได้ จะต้องเกิดการปฏิรูปในหลายระดับ

รัฐบาลจะต้องตอบสนองต่อความต้องการจำเป็นของประชาชน และเพื่อที่จะทำเช่นนั้นได้ ก่อนอื่นรัฐจะต้องรับผิดชอบ

รัฐบาลที่ไม่ต้องอธิบายอะไรต่อใคร รัฐบาลที่ดำเนินการต่างๆ ได้โดยไม่มีการตรวจสอบ มีแนวโน้มมากกว่าที่จะใช้อำนาจในทางที่ผิดและเพิกเฉยต่อประโยชน์สาธารณะ

การถ่วงดุลและคานอำนาจเป็นหัวใจของความรับผิดชอบต่อสังคม

ในระบอบประชาธิปไตยตัวแทน เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะทำหน้าที่นี้ในสภานิติบัญญัติ

แต่เท่านั้นยังไม่พอ จะต้องมีการวางกลไกถ่วงและคานอำนาจตลอดทั่วทั้งสังคมเพื่อถ่วงดุลสถาบันที่ทรงอำนาจที่สุดของสังคม

จำเป็นต้องมีสื่อมวลชนที่อิสระและรับผิดชอบ ที่เป็นตัวแทนของความคิดเห็นกว้างขวาง เพื่อให้แน่ใจว่าทุกแง่มุมของประเด็นปัญหาได้เผยแพร่ให้ทราบกันอย่างเป็นธรรม

จะต้องมีการส่งเสริมให้กลุ่มประชาชนหรือ NGOs เกิดขึ้นมาและติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และให้ความรู้กับประชาชนและรัฐบาลเกี่ยวกับประเด็นที่ห่วงกังวล

เมื่อมีหลายช่องทางที่ประชาชนสามารถใช้แสดงออกความต้องการของเขาได้ ก็จะมีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นว่าแต่ละประเด็นจะได้มีการถกเถียงหารือกันทุกแง่มุมและสามารถหาทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้

เมื่อการตัดสินใจนโยบายสาธารณะทำกันอย่างลับๆ หรือโดยกลุ่มคนเล็กๆ เมื่อนั้นแหละสาธารณประโยชน์อาจจะเสียหายได้

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเช่นนั้น กระบวนการตัดสินใจจะต้องโปร่งใสและเปิดต่อการตรวจสอบ ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทั้งหมดที่เกี่ยวกับนโยบายและโครงการสาธารณะ

แน่นอน ธรรมาภิบาลจะไม่ก่อให้เกิดสังคมยูโทเปียที่งดงามสวยหรูได้ อันที่จริงแล้วอาจจะวุ่นวายด้วยซ้ำไป เสียงคนโต้เถียงกันอาจจะดังหนวกหูได้ เราจึงต้องระลึกไว้เสมอว่าทำไมจึงจำเป็นต้องมีธรรมาภิบาล

พวกเราทุกคนใฝ่ฝันอยากมีผู้นำแบบโซโลมอนซึ่งมีทั้งคุณธรรมและสติปัญญาล้ำลึกสามารถแก้ปัญหาทั้งปวงให้เราได้โดยไม่ต้องยุ่งยาก แต่ในความเป็นจริงผู้นำก็คือมนุษย์ซึ่งมีกิเลสและมีจุดอ่อนทั้งปวงที่มนุษย์ทั่วไปมี

ธรรมาภิบาลนั้นชดเชยจุดอ่อนของพวกเขาโดยการเปิดกระบวนนโยบายให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม

ประเทศไทยเองกำลังดำเนินการปฏิรูปอยู่เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาล

เมื่อปีที่แล้วเราได้ผ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งยกร่างโดยการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ของประชาชนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ในฐานะผู้ที่มีส่วนในกระบวนการยกร่าง ผมก็มีความหวังสำหรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมอยากจะคิดว่าต่อไปมันจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นสังคมประชาธิปไตยที่เปิดกว้าง สังคมที่ความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นเรื่องปกติมากกว่าเป็นข้อยกเว้น

ผมอยากคิดว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญจะทำให้สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของพลเมืองได้รับการคุ้มครองและค้ำประกันดีกว่าเดิม

ผมอยากคิดว่าการที่รัฐธรรมนูญปรับแก้กระบวนการเลือกตั้งจะช่วยลดการเมืองแบบหว่านเงินและการฉ้อราษฎร์บังหลวง และอยากคิดว่าการถ่วงคานตามรัฐธรรมนูญจะทำให้นักการเมืองมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น

แน่นอน รัฐธรรมนูญไม่ใช่กระสุนวิเศษที่จะแก้ปัญหาทั้งปวงของสังคมได้ภายในชั่วข้ามคืน สังคมทุกส่วนจะต้องอ้าแขนรับอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังรัฐธรรมนูญก่อนที่มันจะสร้างความแตกต่างได้

บรรษัทภิบาล

ธรรมาภิบาลไม่ได้หยุดอยู่แค่รัฐบาล เราจำเป็นต้องเรียกร้องความรับผิดชอบต่อส่วนรวมและความโปร่งใสจากบริษัทและผู้เล่นทุกรายที่มีอิทธิพลต่อสาธารณประโยชน์เกินสัดส่วน

ขึ้นชื่อว่าบริษัทก็ไม่ได้ปลอดจากการถูกใช้ในทางที่ผิดไปมากกว่ารัฐบาล แต่ถูกสังคมสอดส่องน้อยกว่า

ตามตรรกะของระบบอุปถัมภ์ บริษัทย่อมจะใช้เส้นสายให้มากที่สุดเพื่อปัดภาระต้นทุนต่างๆ ออกไปให้สังคมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมเช่นการสูญเสียทรัพยากรหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม

ในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ยิ่งเป็นเรื่องยากที่จะบังคับให้บริษัทรับผิดชอบต่อส่วนรวม

การทำบัญชีแบบยืดหยุ่นและสร้างสรรค์ บวกกับการตรวจสอบบัญชีแบบพอเป็นพิธีสามารถเนรมิตบัญชีงบดุลซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเลย อีกทั้งการประเมินค่าทรัพย์สินสูงเกินความจริงก็สามารถทำให้เกิดภาพที่ชวนไขว้เขวได้ ถ้าหากบริษัทมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับผู้มีอิทธิพลทางการเมืองก็สามารถเก็บโครงกระดูกไว้ในตู้ได้ต่อไปอย่างมิดชิด

ภาระการสอดส่องภาคเอกชนเพื่อหาความไม่ชอบมาพากลจึงไม่อาจปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐได้ ผู้ถือหุ้นและผู้บริโภคที่ชาญฉลาดจะต้องทำหน้าที่ป้องกันการกระทำผิดโดยบริษัท และหน้าที่นี้จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลตัวเลขเต็มที่เกี่ยวกับการทำงานของบริษัท

สรุป

วิกฤตการณ์ที่เผชิญหน้าเอเชียตะวันออกจริงๆ แล้วเป็นวิกฤตการณ์ในการปรับตัว

ที่มันแก้ยากก็เพราะถ้าหากเราจะปรับตัวให้ได้ดี เราจะต้องเลิกธรรมเนียมประเพณีและวิถีทางบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกับตลาดโลก

ถ้าเราหวังที่จะเฟื่องฟูในยุคที่ท้าทายนี้ ยิ่งมีการปฏิรูปเร็วเท่าไร ยิ่งเราเปิดสังคมเร็วขึ้นเท่าไร ยิ่งเราสร้างระบบที่มีความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อส่วนรวมเร็วเท่าไร ผลตอบแทนที่ได้มาก็จะยิ่งแน่นอนมากขึ้นเท่านั้น

จริงอยู่ว่ามีหลายคนเลือกที่จะวาดภาพวิกฤตการณ์ในแง่ของชาตินิยม และแย้งว่าก็ไม่ใช่การเปิดเสรีและการเปิดประเทศต่อตลาดการเงินโลกนั่นหรือที่ทำให้เราตกอยู่ในที่นั่งลำบากเช่นนี้

การโทษอิทธิพลภายนอกเป็นการมองปัญหาอย่างง่ายเกินไปและสะท้อนว่าเรายังอ่อนด้อยในการคิดเชิงวิเคราะห์

ผมหวังว่าผมพูดชัดแล้วว่าต้นเหตุของวิกฤตการณ์ไม่ใช่การที่เรารวมตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตลาดโลก แต่เป็นการที่เราไม่สามารถรักษาความสมดุลระหว่างเป้าหมายทางการพัฒนาที่มีความสำคัญไล่เลี่ยกันต่างหาก

ประสบการณ์นี้สอนให้รู้ว่ามิอาจมีการเปิดเสรีได้หากไร้วินัย ไม่มีการลงทุนได้หากไร้ความเสี่ยง

โลกนี้ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์ครบถ้วน ไม่มีอะไรที่เป็นของตาย

ในยุคดิจิตัล เรามิอาจมองโลกเป็นขาวดำได้ หรือแม้แต่เป็นสีเทาเฉดต่างๆ ก็ตาม เราต้องตระหนักว่ามีเป็นล้านๆ สี และใครเล่าจะเป็นผู้ชี้ขาดว่าสีไหนสวยที่สุด

ความชาตินิยมที่เราต้องมีไม่ใช่ความชาตินิยมแบบไร้เหตุผล แต่ต้องเป็นความชาตินิยมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิดและเหตุผล

วัฒนธรรมไทยเรามีหลายปัจจัยที่จะช่วยให้เราก้าวไปถึงการพัฒนาแบบยั่งยืนได้ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ยังมีจุดอ่อนในนิสัยหลายประการที่อาจกีดขวางเส้นทางของเราได้

พลังทั้งหลายทั้งมวลที่หล่อหลอมสังคมเราจะต้องออกมาในที่แจ้งเพื่อร่วมกันสร้างวิสัยทัศน์ว่าเราต้องการจะไปสู่จุดมุ่งหมายใดและจะไปถึงที่นั่นได้อย่างไร

เราจะต้องเรียนรู้การแลกเปลี่ยนทัศนะกันอย่างมีอารยธรรม ยอมรับฟังซึ่งกันและกันและมีความเมตตาต่อกันและกัน

ธรรมาภิบาลเปิดโอกาสให้ความหลากหลายของเราสามารถสะท้อนออกมาในนโยบายได้

ธรรมาภิบาลเป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับการจัดการทรัพยากรของชาติเราอย่างมีประสิทธิภาพ และเปิดโอกาสให้เราพึ่งตัวเองหรือพึ่งพาซึ่งกันและกันได้มากเท่าที่เราต้องการ

เนื่องด้วยธรรมาภิบาลเป็นเรื่องของการเลือกอย่างไรจึงจะสะท้อนความต้องการแท้จริงของสังคม มันจึงเป็นทางตรงที่สุดที่จะให้พลังดั้งเดิมของเอเชียเชื่อมประสานกับข้อเรียกร้องของเศรษฐกิจโลกได้