รวมปาฐกถาภาษาไทย
ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง สิทธิเสรีภาพของประชาชน
กับกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน โดย ฯพณฯ
นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานคณะกรรมาธิการพิจารณา
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๒ (ปาฐกถาพิเศษในการสัมมนาเรื่อง
บทบาทของตำรวจในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนตามแนวทางรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พ.ศ. ๒๕๔๐ ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๒) ท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ท่านอุปทูตแคนาดาประจำประเทศไทย ท่านวิทยากร และท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน ผมรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญให้มาแสดงปาฐกถาในเรื่องที่มีความสำคัญที่สุดในเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวโยงกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ก่อนที่ผมจะเข้าประเด็น เมื่อพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนกับกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันนั้น
ผมใคร่ขอใช้โอกาสนี้ได้กล่าวถึงกระบวนการและวิธีการใช้ความคิดในเรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
หลายท่านคงจำได้ว่า ตอนที่ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญและมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญนั้น
ค่อนข้างจะเกิดความฮือฮามากในสังคมไทย เริ่มต้นจากการที่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการหรือสมาชิกสภาร่างขึ้นมา
ซึ่งนับแต่วันแรกนั้น ก็ได้ส่งสัญญาณให้กับสังคมไทยว่า จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาในอดีตนั้น
จากการที่เรามีระบอบประชาธิปไตยมากว่า ๖๕ ปี ตอนนั้น เหตุการณ์ในสังคม วิธีคิดของคนไทยก็ได้เปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ
ในบางแง่บางมุมก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปในทางบวก ในบางแง่บางมุมก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ
แต่สิ่งหนึ่งที่สอดคล้องกับความคิดหรือกระแสความคิดของสังคมของโลกคือ ประชาชนคนไทยเริ่มตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะมีส่วนร่วม
ความต้องการที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจก็ดี ในกระบวนการพิจารณาก็ดี หรือในกระบวนการตรวจสอบก็ดี
อันนั้นเป็นสิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปทางการเมืองของเมืองไทย เพราะฉะนั้นบุคคลที่ได้รับเลือกตั้งโดยทางอ้อมก็มาอยู่ในสมาชิกเป็นสมาชิกสภาร่างนั้น
ก็สะท้อนให้เห็นหลักการของการมีส่วนร่วมคือการมีประชาชนเป็นตัวตั้ง สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาข้ามคืนหรือเกิดขึ้นมาอย่างฉับพลัน
แม้แต่การเขียนหรือการพิจารณาร่างแผน ๘ ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเมื่อ ๔ - ๕ ปีก่อน
จุดเริ่มต้นก็อยู่ที่ประชาชนเช่นเดียวกัน เป็นแผนพัฒนาของไทยฉบับแรกที่ให้ความสำคัญกับคน
ให้ความสำคัญกับบุคลากร และเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องเริ่มต้นจากคน คนหรือมนุษย์ในสังคมไทยนั้น
เริ่มมีความหมายมากขึ้น ๆ แต่ความหมายของคนนั้นคืออะไร ความหมายของคนนั้นเราอาจเริ่มต้นจากสิ่งปรากฏการณ์ขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยเหมือนกัน
ที่เรามีการพูดถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ถ้าเผื่อเราคำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์แล้ว
คนหรือมนุษย์ในสังคมทุกสังคมก็ย่อมจะต้องมีสิทธิและเสรีภาพ คนที่มีศักดิ์ศรีก็ต้องมีสิทธิและเสรีภาพ
คนก็มีหัวใจและมีสมอง แต่คำว่า สิทธิเสรีภาพ นั้น ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเป็นหลักประกันเป็นครั้งแรกที่ได้มีการเสริมสร้างความเข้มข้นในเรื่องของสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสรีภาพส่วนบุคคล รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เขียนค่อนข้างจะชัดเจน
หลายท่านในอดีตหรือหลายท่านที่นั่งอยู่ ณ ที่นี้ ก็ยังอาจจะมีความแคลงใจหรือมีความเป็นห่วงเหมือนกันว่าในแง่ของตำรวจนั้น
ความสมดุลมันอยู่ที่ใด เพราะตำรวจก็มีหน้าที่ที่จะปราบปรามอาชญากรรม ขณะเดียวกัน
นักวิชาการ นักมนุษยวิทยา หรือผู้ที่มิใช่เป็นตำรวจ ก็อาจจะมองหรือให้ความสำคัญกับในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพมากกว่าความสำคัญในเรื่องของการปราบปรามอาชญากรรม
แต่ปัญหานี้มิได้เกิดขึ้นในสังคมไทยแต่ประเทศเดียว ในสังคมที่เจริญแล้ว ในสังคมที่มีอารยธรรมมาช้านาน
หรือในสังคมที่ได้มีการวิวัฒนาการในเรื่องการกำหนดหลักนิติธรรมต่าง ๆ นั้น ก็ยังเป็นประเด็นที่ยังถกเถียงกันอยู่เสมอ
และยังเป็นปัญหาที่กรมตำรวจหรือตำรวจแห่งชาติของทุก ๆ ประเทศก็ยังประสบอยู่ และก็ยังเป็นปัญหาที่ประชาชนที่ฝักใฝ่ในเรื่องสิทธิเสรีภาพ
ในเรื่องของการคุ้มครองของเสรีภาพ เขาก็ยังมีปัญหาอยู่ เพราะฉะนั้นคำตอบจะไม่อยู่ที่ว่าความสมดุลจะอยู่ที่ใด
ความสมดุลนั้นขึ้นอยู่ที่สถานการณ์ ขึ้นอยู่ที่พื้นที่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ
ความสมดุลนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีศรัทธา มีความเชื่อถือตำรวจ และเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อตำรวจเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งมีกำหนดขอบเขตที่แน่นอน
และต้องทำงานด้วยความรับผิดชอบ ในชีวิตของผม ไม่ว่าจะเป็นในราชการ ในวงการธุรกิจ
หรือในวงการเมือง ผมถือตลอดมาว่าปัญหาต่าง ๆ ของสังคมนั้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ
ปัญหาการเมือง ปัญหาอะไรต่าง ๆ ปัญหาสังคม ความศรัทธา ความเชื่อถือ เป็นส่วนที่สำคัญมากในการที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้น
ความวุ่นวายต่าง ๆ ในสังคม ความยุ่งเหยิง ความสับสนในความคิด การกล่าวหา การป้ายสี
การทำลาย สิ่งเหล่านี้ถ้าเราไม่สร้างศรัทธา ไม่สร้างความเชื่อถือขึ้นในสังคมแล้ว
โอกาสที่จะแก้ปัญหาค่อนข้างจะยากมาก รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่จะต้องถือได้ว่าเป็นนวัตกรรม
เรามีมาแล้ว ๑๕ หรือ ๑๖ ฉบับ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ความสำคัญและเป็นจุดเด่นอยู่ ๓
ประการ ประการแรก การเสริมสร้างสิทธิเสรีภาพของประชาชน
การให้ความคุ้มครองกับสิทธิเสรีภาพ และการบังคับใช้สิทธิเสรีภาพนั้น แต่ในขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ตระหนักถึงว่า
สิทธิและเสรีภาพนั้นมิใช่มีโดยไม่มีขอบเขต เมื่อมีสิทธิก็ต้องมีหน้าที่ เมื่อมีเสรีภาพก็ต้องมีความรับผิดชอบ
แต่สิ่งที่ยากก็คือใครจะเป็นผู้ตัดสิน ใครจะเป็นผู้ชี้ขาดว่าจุดไหนสิทธิและหน้าที่จะมาพบกัน
หรือ ณ จุดไหนเสรีภาพและความรับผิดชอบจะมาพบกัน อันนี้ก็ขึ้นอยู่ที่คุณธรรม และจริยธรรมประจำจิตใจของแต่ละคน
ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจแห่งชาติ หรือไม่ว่าจะเป็นประชาชน ประการที่สอง
ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ย้ำก็คือเรื่องของการสร้างระบบการเลือกตั้งใหม่ ระบบการเลือกตั้งที่มีมาในอดีตนั้นก่อให้เกิดปัญหาต่าง
ๆ นานา แต่ก็ไม่ใช่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะแก้ปัญหาได้หมด การแก้ปัญหานั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบทกฎหมายอย่างเดียว
แต่ขึ้นอยู่ที่จิตใจของนักการเมือง ขึ้นอยู่กับที่จิตใจของประชาชนผู้เลือกตั้ง ประการที่สาม
ที่นำมาใช้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือ ระบบการตรวจสอบ อันนี้ค่อนข้างจะใหม่สำหรับเมืองไทย
ท่านได้กรุณากล่าวถึงคำหนึ่งที่ผมใช้เมื่อตอนสมัยผมเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อประมาณ ๗
ปีที่แล้ว นั่นคือคำว่า โปร่งใส ซึ่งเป็นการแปลมาเป็นภาษาไทยง่าย ๆ จากคำว่า transparent
หรือ transparency แต่ที่มาฮือฮากันมากหน่อยก็คือผมใช้บ่อยหน่อย แต่ในการที่ผมมาใช้คำว่า
โปร่งใส นั้นเป็นการใช้โดยเหตุผลทางการเมืองด้วย เพราะตอนที่ผมเข้ามาเป็นนายกฯ
นั้น ผมถือว่าผมไม่มีฐานอำนาจแต่อย่างใด ผมก็มาโดยบังเอิญ เข้ามาโดยอุบัติเหตุ และถ้าเผื่อมองในบางแง่บางมุมแล้ว
ผมเข้ามาครั้งแรกนั้น เข้ามาโดยไม่ชอบธรรมด้วย ไม่ได้เข้ามาตาครรลองของรัฐธรรมนูญ
ไม่ได้เข้ามาจากการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นจากจุดนั้น ที่ผมรู้ว่าในสายตาของคนจำนวนไม่น้อย
มองว่าผมเข้ามาโดยไม่ชอบธรรม ยิ่งเป็นความจำเป็นสำหรับผมและเป็นความรับผิดชอบของผมโดยตรงที่จะต้องเสริมสร้างความชอบธรรมในตัวผมให้ประชาชนทราบ
อันนั้นเป็นจุดผลักดันให้ผมคำนึงมากถึงความเชื่อถือที่ประชาชนจะมอบให้กับผมในระหว่างที่ผมทำงานอยู่
ถ้าหากว่าเราไม่มีฐานทางด้านการเมือง ฐานทางด้านทหาร สิ่งที่จะได้ศรัทธาจากประชาชน
สิ่งที่จะเรียกความเชื่อถือจากประชาชนได้คือ การให้ประชาชนเขามองเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำไปในฐานะนายกรัฐมนตรีที่อาจจะมาโดยไม่มีความชอบธรรมนั้น
ทำไปโดยพื้นฐานของความถูกต้องในสายตาของบุคคลผู้นั้น การตัดสินใจ การดำเนินมาตรการต่างๆ
ซึ่งอาจจะมีข้อผิดพลาดนั้น ต้องอยู่บนมูลฐานของข้อเท็จจริง ต้องอยู่บนมูลฐานของคุณธรรมและจริยธรรม
และหลายครั้งหลายคราวต้องอยู่บนฐานของมโนธรรมของตัวเองด้วย แต่เรื่องของคุณธรรม
จริยธรรม มโนธรรมนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอย ๆ บางสิ่งบางอย่างอธิบายไม่ได้ จับไม่ได้
เห็นไม่ได้ มันจะต้องมีกลไก มันจะต้องมีตัวชี้อะไรบางอย่างที่ทำให้ประชาชนเขามีความเชื่อถือ
มีศรัทธาว่าสิ่งที่เราพูดถึงเรื่องคุณธรรม จริงธรรม มโนธรรมนั้น ไม่ได้พูดเฉพาะในเรื่องของภาษาฝรั่งที่เรียกว่าเป็น
abstract idea เท่านั้น แต่มันเป็นสิ่งที่จะจับได้ เห็นได้ แตะต้องได้ เพราะฉะนั้นกลไกที่เราจะต้องใช้นั้นก็จะต้องเป็นกลไกที่ประชาชนเข้าใจ
จึงได้เกิดมีคำว่า โปร่งใส ขึ้นมา หลายครั้งหลายคราวผมพูดในอดีตเพราะคนเราเผื่อว่าทำอะไรในห้องที่เปิดเผย
ในห้องที่มีแสงสว่างให้ทุกคนเห็นว่าเรากำลังทำอะไร การกล่าวหานินทา ครหานินทา การใส่ไฟ
การป้ายสี มันจะยากมาก แต่ถ้าเผื่อทำอะไรลับ ๆ เมื่อไหร่ ในมุมมืด ในใต้โต๊ะ ปิดหน้าต่างปิดประตูไม่ให้คนนอกเข้ามาเห็น
ไม่ให้คนข้างนอกเข้ามาตรวจสอบ เราจะไม่สามารถ สร้างศรัทธา สร้างความเชื่อถือ ได้ ในชีวิตการบริหารของผมนั้น
ผมให้ความสำคัญกับความเชื่อถือมาก และความเชื่อถือนี้ไม่ใช่ความเชื่อถือที่เราคิดว่าคนอื่นเขาก็มีความเชื่อถือกับเรา
เราไม่สามารถตั้งตัวเองเป็นกรรมการตัดสินได้ว่า สิ่งที่เราทำนั้นประชาชนควรจะเชื่อถือเรา
ความเชื่อถือ ความศรัทธาจะเกิดขึ้นจากผู้อื่น และเขาจะมาบอกเราว่าเขาเชื่อถือเรา
แต่ไม่ใช่ว่าเราไปบอกเขา ในสังคมไทยเราพูดถึงเรื่องบารมี การสร้างบารมี ไม่ใช่ว่าผมไม่เห็นความสำคัญในวัฒนธรรมไทยว่าบารมีเป็นสิ่งสำคัญ
แต่ในสายตาของผม การสร้างบารมีนั้นมิได้มีความสำคัญเทียบเท่าการสร้างความเชื่อถือ
ขาดความเชื่อถือ ขาดความเชื่อมั่น ขาดศรัทธาไปเสียอย่างแล้ว บารมีไม่มีความหมาย เพราะบารมียังผูกโยงกับตำแหน่ง
บารมียังผูกโยงกับพวกพ้อง บารมียังผูกโยงกับอำนาจของเงิน แต่ความเชื่อถือ ความศรัทธา
ความเชื่อมั่นที่เรามีต่อผู้หนึ่งผู้ใด มีต่อหน่วยงานราชการใดนั้น มิได้ขึ้นอยู่ที่อำนาจ
มิได้ขึ้นอยู่ที่เงิน มิได้ขึ้นอยู่ที่พวกพ้อง แต่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนคนนั้น
ว่าเขาทำงานด้วยความถูกต้องหรือเปล่า มีความโปร่งใสแค่ไหน กล้ารับผิดชอบในการตัดสินใจหรือเปล่า
เคารพกฎหมาย เคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นอย่างไร ก็เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของการปฏิรูปการเมือง
ซึ่งในใจของผมแล้วมันไม่ใช่เรื่องของการปฏิรูปการเมือง จริง ๆ แล้วเป็นการปฏิรูปความคิด
เพราะความคิดของคนในสังคมไทยเราใช้ระบบการปกครองประชาธิปไตยมาเป็นเวลาหกสิบกว่าปี
ล้มลุกคลุกคลาน บางครั้งก็เรียกประชาธิปไตยเต็มใบ บางครั้งก็ครึ่งใบ แต่ความเข้าใจในหลักการของประชาธิปไตยของเราก็ยังไม่ถ่องแท้
ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้งอย่างเดียว ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของการมีสิทธิออกเสียงอย่างเดียว
ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของการมีสภาแต่อย่างเดียว ประชาธิปไตยมิได้ขึ้นอยู่กับอะไร
ๆ อีกหลายประการที่เป็นเพียงแต่วิธีการ แต่เราจะเป็นประชาธิปไตยได้ก็ต่อเมื่อเรามีความรู้สึกในจิตวิญญาณของเราเองว่า
ฉันเป็นเจ้าของประเทศ ความเป็นเจ้าของประเทศ ความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยซึ่งเขียนในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ย่อมก่อให้เกิดความรู้สึกว่า
เมื่อเราเป็นเจ้าของ เราต้องหวงแหนอำนาจของเรา เรารักอำนาจที่เรามอบให้กับผู้แทน
และเราจะต้องดูแลว่าอำนาจที่เรามอบให้เขาไปนั้น เขาไปใช้ในทางที่ถูกต้อง เพราะอำนาจคืออะไร
อำนาจคือความรับผิดชอบ การมีอำนาจนั้นมิได้หมายความว่าจะใช้ได้อย่างพร่ำเพรื่อ หรือใช้ไปโดยไม่มีเหตุผล
หรือใช้ไปโดยไม่มีขอบเขต หรือใช้ไปโดยไม่มีความรับผิดชอบ ยิ่งมีอำนาจเท่าใด ความรับผิดชอบยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
เพราะฉะนั้นการใช้อำนาจนั้นจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็คือว่าเราต้องใช้อำนาจตามความเหมาะสม
และใช้ได้ด้วยความรับผิดชอบ ใช้แล้วไม่ไปกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของบุคคล เมื่อพูดถึงเรื่อง
สิทธิเสรีภาพของประชาชนกับกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เราก็จะต้องเข้าใจว่า
สิทธิเสรีภาพ นั้นเป็นเพียงแต่เป้าหมาย (ends) ที่รัฐธรรมนูญมุ่งประสงค์ เรื่อง
กระบวนการยุติธรรม เป็นเพียงพาหะ (Vehicle) หรือเป็นวิธีการที่จะนำไปสู่จุดนั้น
เพื่อนำให้สังคมไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการ ดังนั้นถ้าหากจะกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็น
ธรรมนูญแห่งเสรีภาพ ก็คงจะไม่ผิด ในการใช้อำนาจรัฐทุกประเภท
ซึ่งรวมทั้งอำนาจของตำรวจในกระบวนการยุติธรรม ก็ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สิทธิ และเสรีภาพของประชาชน ดังที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างชัดเจนในมาตราที่ ๒๖
กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ สิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลัก เป็นตัวตั้ง ส่วนการใช้อำนาจของรัฐไปกระทบสิทธิเสรีภาพดังกล่าวเป็นเพียงข้อยกเว้น
และต้องใช้อำนาจโดยอาศัยกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่รัฐสภาตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญ หากไม่มีอำนาจตามตัวบทกฎหมายที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
ก็จะไปจำกัดสิทธิเสรีภาพคนไม่ได้ ท่านผู้มีเกียรติครับ
ในระบอบประชาธิปไตยที่ปกครองด้วยกฎหมาย จึงถือหลักว่า เมื่อไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้
รัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะกระทำการมิได้ ซึ่งต่างจากรัฐเผด็จการซึ่งถือว่า เมื่อไม่มีกฎหมายห้าม
ย่อมทำได้ แม้ว่าเรื่องนั้นจะไปจำกัดตัดสิทธิของผู้อื่น ข้อที่สำคัญที่สุดอีกข้อหนึ่งก็คือ
แม้จะมีกฎหมายให้อำนาจไว้ แต่ถ้ากฎหมายนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญที่เป็นแม่บทแห่งกฎหมายทั้งปวง
กฎหมายที่ว่านั้นก็ใช้บังคับไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายใด
ๆ ก็ตามที่ออกมาในอดีตที่ขัดกับรัฐธรรมนูญย่อมเป็นโมฆะ กฎหมายที่ว่านั้นก็ใช้บังคับไม่ได้
ซึ่งหมายถึงผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญนั้นก็หมดอำนาจไปด้วย รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นธรรมนูญแห่งเสรีภาพ
จึงเป็นทั้งที่มาของอำนาจ และเป็นเครื่องจำกัดอำนาจไปในตัวด้วย อย่างไรก็ตาม การที่แต่ละคนมีสิทธิเสรีภาพ
การใช้สิทธิเสรีภาพของแต่ละคนย่อมไม่อาจไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่นประการหนึ่ง
และย่อมไม่อาจละเมิดสังคม ซึ่งเป็นที่รวมของคนทุกคนได้เป็นประการที่สอง หากคนใดคนหนึ่งใช้สิทธิเสรีภาพของตนไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น
หรือไปละเมิดสังคม อำนาจรัฐซึ่งเป็นอำนาจที่จะคุ้มครองคนอื่นและคุ้มครองสังคม ก็จะต้องมีบทบาทเข้ามาทำให้การละเมิดนั้นหยุดยั้งลง
และเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น อำนาจรัฐที่ว่านี้ ย่อมแสดงออกโดยผ่านกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ
ตั้งแต่ตำรวจผู้มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการละเมิดสิทธิคนอื่นและคุ้มครองสังคม
ไปจนถึงอัยการผู้มีหน้าที่นำตัวผู้กระทำผิดฟ้องศาล และศาลซึ่งทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาผู้กระทำผิด ดังนั้น
หากจะกล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือของสังคม ที่มอบให้รัฐไว้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคนแต่ละคนในสังคม
และคุ้มครองสังคมทั้งสังคมเองก็คงไม่ผิด เมื่อเป็นเช่นนี้
กระบวนการยุติธรรมจะเป็นที่มาของความเป็นธรรมของทุกฝ่ายได้ก็ต่อเมื่อกระบวนการยุติธรรมนั้นมีลักษณะดังต่อไปนี้ ประการแรก
กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ต้องยึดการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคนในสังคมเป็นเป้าหมาย
(ends) ที่จะให้บรรลุ เพราะสิทธิเสรีภาพของแต่ละคนเมื่อรวมกันทั้งหมดก็คือสิทธิเสรีภาพของสังคมทั้งสังคมนั้นเอง ประการที่สอง
กระบวนการยุติธรรมต้องใช้วิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพเสียเอง
พูดง่าย ๆ ก็คือ เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ชอบด้วยกฎหมายเพราะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคนทั้งหลายแล้วยังไม่พอ
วิธีการที่ใช้ยังต้องชอบด้วยกฎหมายและคุ้มครองสิทธิของผู้กระทำผิดด้วย โดยเฉพาะผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด
ดังนั้นแม้การปราบปรามยาเสพติดที่ทำลายสังคมจะเป็นเป้าหมายที่ตำรวจต้องดำเนินการก็ตาม
แต่ต้องใช้วิธีการตามกฎหมายในการปราบปราม จะใช้วิธีการนอกกฎหมาย เช่นสำเร็จโทษผู้ค้ายาเสพติดเสียเองไม่ได้
และจริง ๆ แล้ว ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ค้ายาเสพติด ตราบใดที่ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้ถูกกล่าวหาอยู่
กฎระเบียบทางกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า เขายังไม่มีความผิดจนกว่าจะต้องได้รับคำพิพากษา
เพราะฉะนั้นถ้าจะใช้วิธีการใด ๆ ที่จะสำเร็จโทษผู้ค้ายาเสพติดหรือผู้ถูกกล่าวหาว่าค้ายาเสพติด
ไม่ว่าจะเรียกศัพท์ภาษาอะไรก็แล้วแต่ วิสามัญฆาตกรรมหรืออะไร ก็เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำและเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชน
ถึงแม้ว่าจะมีความตั้งใจที่ดี แต่ความตั้งใจที่ดีจะไม่ลบล้างพฤติกรรมและการกระทำที่ผิดกฎหมาย
มันคล้าย ๆ กับการที่ว่าไปทำบุญที่วัด ซึ่งก็เป็นวัตถุประสงค์ที่ดี แต่ถ้าเผื่อไปปล้นเงินเขามาหรือลักทรัพย์เขามาเพื่อเอาไปทำบุญ
อันนี้ก็เป็นวิธีการที่ผิด สังคมประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นเสาหลักรับไม่ได้
ตำรวจที่ดีจึงต้องมีทั้งวัตถุประสงค์ที่ดีในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนและสังคม
และต้องใช้วิธีการที่ชอบในการไปให้ถึงวัตถุประสงค์นั้น ประการที่สาม
กระบวนการยุติธรรมที่ดีในระบอบรัฐธรรมนูญต้องมีความเท่าเทียมกันในการบังคับใช้กฎหมาย
ความเสมอภาคเท่าเทียมกันนี้ หมายถึงการไม่เลือกปฏิบัติ หากเราจับตาสีตาสาเพราะกระทำผิดกฎหมายได้
เราก็ต้องจับรัฐมนตรีและเศรษฐีได้เหมือนกัน กฎหมายจะเป็นธรรมและศักดิ์สิทธิ์ ก็ต่อเมื่อคนรู้สึกว่าเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน
ไม่ว่าจะมีฐานะเช่นใดในสังคม คำถามที่ท้าทายก็คือ
ในสังคมไทย ภายใต้การใช้กฎหมายของตำรวจไทย กฎหมายศักดิ์สิทธิ์สำหรับคนไทยทุกคนเท่าเทียมกันหรือไม่
มีการเลือกที่รักมักที่ชัง หรือมีการใช้อำนาจมืด หรือใช้อิทธิพลนอกระบบหรือไม่ หรือกฎหมายศักดิ์สิทธิ์สำหรับคนเดินถนนที่ไม่มีเส้นสาย
แต่กฎหมายอะลุ้มอล่วยให้กับเศรษฐีและผู้มีอำนาจเท่านั้น จริงหรือไม่ที่มีผู้กล่าวว่า
ขอทานเก็บขนุนริมคลองหลอดกินประทังชีวิต ถูกจับเพราะลักทรัพย์ของทางราชการ แต่มหาเศรษฐีมหาศาลหรือบุคคลที่อยู่ในวงการบริหารที่โกงเงินธนาคารและประชาชนเป็นหมื่นเป็นล้าน
รอดพ้นเงื้อมมือของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอย่างลอยนวล กระบวนการ
ยุติธรรม จะเป็นการสร้าง ธรรม ที่ ยุติ เพราะสมมติว่าต้องยุติเพียงเท่านี้
หรือจะสร้าง ความเป็นธรรม ให้เกิดขึ้นจริงในหัวใจ และการยอมรับของคนทุกคนในสังคม ประการที่สี่
กระบวนการยุติธรรมต้องเป็น อิสระ ทั้งจากภายนอกและจากภายใน อิสระจากภายนอก
หมายถึง อิสระจากอำนาจการเมืองและอำนาจบังคับบัญชา โดยเฉพาะศาลนั้น ต้องอิสระทั้งจากฝ่ายบริหาร
และต้องอิสระจากตุลาการด้วยกันเองด้วย ดังนั้น แม้ว่าฝ่ายบริหารบงการผู้พิพากษาไม่ได้
แต่ถ้าผู้พิพากษาด้วยกันเองยังบงการผู้พิพากษากันได้ ก็ถือว่าไม่มีอิสระ หรือถ้าตำรวจเองยังบงการตำรวจกันเองก็ถือว่าไม่มีอิสระ
รัฐธรรมนูญแยกศาลจากฝ่ายบริหารและคุ้มครองผู้พิพากษาจากการครอบงำของ ก.ต. ก็เพราะเหตุนี้เอง
แม้ตำรวจหรืออัยการก็เหมือนกัน โดยเฉพาะส่วนหนึ่งของการใช้กฎหมายไม่เท่าเทียมกัน
เพราะ นายสั่ง ใครเป็นนาย หรือเข้าถึงนายได้ ก็คือผู้กุมความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายไปในตัว อะไรคืออิสระจากภายใน
อิสระจากภายใน ในที่นี้หมายถึง อิสระจากอคติในใจของผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม
คืออิสระจากความรู้สึกอคติ (bias) เพราะรัก เพราะโลภ เพราะโกรธ หรือเพราะหลง อันทำให้การใช้กฎหมายขาดความเที่ยงธรรม
คนเราแม้อิสระจากภายนอกจะสูงเพียงใด แต่ถ้าภายในใจไม่อิสระ ก็คงเป็นการยากที่จะอำนวยความยุติธรรมให้สังคมได้ ประการที่ห้า
กระบวนการยุติธรรมที่ดี ต้องมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ภาษิตกฎหมายบทหนึ่งกล่าวว่า
ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือ การปฏิเสธความยุติธรรม (justice delayed, justice
denied) เพราะความล่าช้าเป็นที่มาของความไม่แน่นอน ความไม่แน่นอนเป็นที่มาของความไม่แน่ใจ
คือไม่แน่ใจในความยุติธรรมที่จะได้ นอกจากนั้นความล่าช้ายังเป็นที่มาของค่าใช้จ่ายที่สูงมหาศาล
จนกระบวนการยุติธรรมถูกล้อว่า โจทก์ จำเลย พิพาทแย่งโคนมกัน ชิงกันไป ชิงกันมา ไม่มีใครได้กินนม
นอกจากตำรวจและทนาย อันนี้ผมจำคนเขามานะไม่ได้คิดเอง ประการสุดท้าย
กระบวนการยุติธรรมต้องโปร่งใสและถูกตรวจสอบได้ คนในกระบวนการยุติธรรมก็คือคน
ไม่ใช่พระอรหันต์ที่หมดกิเลส หากไม่มีระบบที่โปร่งใสตรวจสอบจากคนภายนอก และคานการใช้อำนาจกันเองให้ดี
ก็ย่อมใช้อำนาจในทางที่ผิดได้ เหตุนี้รัฐธรรมนูญจึงกำหนดระบบตรวจสอบ ทั้งตำรวจ อัยการ
และศาลทั้งระบบ ตำรวจจะจับคน ต่อไปนี้ต้องมีหมายจากศาล
เว้นแต่มีเหตุให้จับได้โดยไม่มีหมาย เช่นทำผิดซึ่งหน้า จับแล้วต้องนำตัวไปศาลภายใน
๔๘ ชั่วโมง ตามมาตรา ๒๓๗ และเมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้อง
ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือผู้มีส่วนได้เสีย ขอตรวจสอบพยานหลักฐานพร้อมความเห็นของตำรวจ
อัยการได้ เพื่อตรวจสอบการทำงานของอัยการ ศาลต้องนั่งพิจารณาครบองค์คณะ
เพื่อให้ผู้พิพากษามากกว่าหนึ่งนาย คานการใช้อำนาจของผู้พิพากษาอื่น ระบบเหล่านี้มีขึ้น
เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมไทย คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคนในสังคม และคุ้มครองสังคมไทยได้อย่างเป็นธรรม
คือ สร้างการ ยุติ ที่สมมติโดยกฎหมายให้ เป็นธรรม ในความรู้สึก ในการยอมรับของคนในสังคมและนอกสังคม
ไปสู่วงการต่างประเทศและระหว่างประเทศ ท่านผู้มีเกียรติครับ
ท่านอาจจะรู้สึกว่าทำงานลำบากขึ้นกว่าเดิม และผมก็ต้องขอยอมรับว่าในบางกรณี รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็อาจจะสร้างปัญหาให้กับฝ่ายตำรวจได้เช่นเดียวกัน
ผมเองไม่ได้เป็นคนรอบรู้ และไม่ได้เป็นคนเขียนยกร่าง เป็นเพียงแต่ประธาน มันเป็นไปได้ครับว่าบางครั้งบางคราวในบางกรณี
ในบางฐานะ และในบางพื้นที่ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจจะสร้างปัญหาพอสมควร แต่ผมคิดว่าปัญหาเหล่านี้มันเป็นเรื่องของการท้าทายที่เราจะต้องพยายามแก้ปัญหาต่อไป
เราอาจจะมีความลำบากมากขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่เพราะที่ผ่านมาเราชินกับความ ง่าย
เราชินกับวิธีการเก่า ๆ เราชินกับประเพณีเก่า ๆ แต่เราต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าสังคมได้เปลี่ยนไป
ความคิดของสังคมเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะยากลำบากที่สุดสำหรับตำรวจไทย
ผมว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับมาตราใดมาตราหนึ่งในรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายที่เราเรียกว่ากฎหมายลูกสร้างปัญหาในทางปฏิบัติ
แต่สิ่งที่ยากที่สุดในการที่จะยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และในการนำไปใช้ปฏิบัตินั้นคือว่า
หลายสิ่งหลายอย่างนั้นเราต้องเปลี่ยนวิธีคิดของเรา วัฒนธรรมของความคิดเดิมนั้นต้องเปลี่ยน เมื่อตอนต้นปาฐกถา
ผมเอ่ยถึงการต้องเปลี่ยนความคิด ผมพูดถึงเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผมอ้างถึงมาตรา
๒๖ และผมกล่าวว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลัก เป็นตัวตั้ง ส่วนการใช้อำนาจของรัฐไปกระทบสิทธิเสรีภาพดังกล่าวเป็นเพียงข้อยกเว้น
ในอดีตวิธีความคิดของเราคือ อำนาจเป็นหลัก สิทธิเสรีภาพเป็นตัวรอง เป็นข้อยกเว้น
ฉันใดฉันนั้น เมื่อเรามีกฎหมายพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร อันนั้นก็เป็นการเปลี่ยนวิถีวิธีความคิดของคนไทยเหมือนกัน
ในอดีตนั้นข้อมูลข่าวสารของรัฐปกปิดหมด การเปิดเผยเป็นข้อยกเว้น วิธีคิดใหม่ในสังคมปัจจุบันที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและความต้องการของสังคมก็คือข้อมูลข่าวสารของรัฐต้องเปิดเผยทั้งหมด
ข้อยกเว้นคือ ปกปิดในบางกรณี อันนี้แหละครับเป็นสิ่งที่ยาก ผมว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่มาตราใดมาตราหนึ่ง
ปัญหาอยู่ที่ว่าสังคมไทยเราพร้อม ผู้ใช้อำนาจพร้อมหรือยัง ที่จะเปลี่ยนวิถีคิดของตนเอง
ซึ่งสิ่งเหล่านี้รัฐธรรมนูญกำหนดไม่ได้ รัฐธรรมนูญจะไปบอกให้เปลี่ยนความคิดอย่างนี้ไม่ได้
อันนี้เป็นวัฒนธรรมที่ค้างมาช้านาน ต้องพยายามเปลี่ยน ต้องพยายามศึกษา ต้องพยายามฝึกฝน
และต้องพยายามเข้าใจกระแสความคิดของสังคม และถ้าเผื่อเราสามารถเปลี่ยนวิถีคิดไปได้
เปลี่ยนวิธีการคิดไปได้ ผมแน่ใจครับ ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญก็ดี หรือปัญหาต่าง
ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยก็ดี จะเปิดโอกาสให้เรามีความสามารถหรือโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้เร็วและได้ดีกว่าในอดีต
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่มันจะต้องแลกเปลี่ยนกัน จะต้องสลัดความเคยชินในความ ง่าย ของการทำงานในอดีต
เพื่อแลกกับสิทธิเสรีภาพ และการยอมรับของสังคม ผมคิดว่าเป็นการแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่า
อาจจะยาก ยุ่งยาก สับสนในขั้นต้น แต่ระยะกลาง ระยะยาว จะเป็นประโยชน์กับทั้งตำรวจและประชาชน ข้อสำคัญประการหนึ่งก็คือ
ท่านก็เป็นพลเมืองคนไทยคนหนึ่ง และก็จะเป็นตลอดไปตั้งแต่เกิดจนตาย ตัวท่านเองท่านก็จะได้ประโยชน์ด้วย
ความเป็นข้าราชการตำรวจ อัยการ หรือศาล ที่มักทำให้เราลืมความเป็นพลเมือง ย่อมหมดไปเมื่อเราออกจากราชการ
อำนาจที่เราเคยมีก็หมด บริวารว่านเครือก็หาย ตอนนั้นนะครับ เมื่อเราเหลือแต่ความเป็นพลเมือง
ความเป็นประชาชนที่ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีอำนาจ รัฐธรรมนูญและกระบวนการยุติธรรมที่ดีที่รัฐธรรมนูญพยายามวางไว้
ก็จะเป็นโล่คุ้มกันเราจากการใช้อำนาจโดยมิชอบ เราต้องถอดหมวกตำรวจ
อัยการ ผู้พิพากษาเข้าสักวันหนึ่ง แต่เราไม่สามารถถอดหมวกความเป็นประชาชนหรือพลเมืองคนไทยได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างกระบวนการยุติธรรมที่สร้าง
ธรรม ให้ ยุติ สำหรับประชาชนพลเมือง ซึ่งรวมถึงท่านทุกท่าน ณ ที่นี้ และรวมถึงตัวกระผมเองด้วย |