รวมปาฐกถาภาษาไทย

รัฐธรรมนูญของเรา
โดย นายอานันท์ ปันยารชุน
อดีตนายกรัฐมนตรี
วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๑

รัฐธรรมนูญ มีความสำคัญอย่างไร ทำไมประชาชนจึงต้องเดินตาม

     เรามีรัฐธรรมนูญมา ๑๕ ฉบับแล้ว แต่ที่ผ่านมาในความรู้สึกของคนไทยเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญนั้นเรามักจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัวเกินไป ในอดีตการเขียนรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่อยู่ในอำนาจ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับอำนาจและเป็นผู้ที่ใช้อำนาจนั้นเป็นผู้เขียน เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญในอดีตก็จะเป็นมุมมองของคนที่มีอำนาจการเขียนกติกาเพื่อตัวเองนั้นก็คงจะมีความรู้สึกบางสิ่งบางอย่างจะชักจูงในรัฐธรรมนูญในอดีตนั้นให้เกื้อกูลการมีอำนาจต่อไป แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้เป็นการเขียนจากมุมมองของสามัญชนโดยทั่วไป เป็นการเขียนจากมุมมองของคนเดินถนน คนที่อาจจะไม่มีความรู้ทางกฎหมาย ไม่มีความรู้ทางด้านการปกครองแต่อย่างน้อยเป็นมุมมองของคนที่จะต้องอยู่ภายใต้กติกา ซึ่งจะต้องใช้บังคับทั่วประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่เราอาจจะเรียกได้ว่าเป็น "รัฐธรรมนูญของประชาชน" หรือเป็น "รัฐธรรมนูญของเรา" เพราะว่ากระบวนการการเขียนนั้นเป็นการเขียนโดยอาศัยความคิดอ่านของสามัญชน จริงอยู่ผู้ร่างอาจจะเป็น ผู้ที่ทรงคุณวุฒิทางด้านกฎหมาย ทางด้านการปกครอง ทางด้านรัฐศาสตร์และในส่วนหนึ่งก็เป็นตัวแทนของจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งมาจากอาชีพที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทนายความ นักธุรกิจครู อาจารย์ กสิกร แต่ทุกสิ่งทุกอย่างของรัฐธรรมนูญหรือหัวใจของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนความต้องการของประชาชน

     รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของการเขียนกติกาสูงสุดของประเทศ ถ้าจะยกตัวอย่างว่ารัฐธรรมนูญมีความสำคัญอย่างไร ก็อาจจะเปรียบเทียบได้ว่าเหมือนกับการเล่นกีฬาทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเล่นฟุตบอล เล่นบาสเกตบอล เมื่อใครเข้าไปเล่น คนที่เข้าไปเล่นในเกมนั้นก็จะต้องอยู่ภายใต้กติกา อาจจะมีกรรมการตัดสิน แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะมีกรรมการตัดสินภายใต้กติกา ฉันใดฉันนั้น ประเทศเราก็ต้องต้องสร้างระบบทางการเมือง มีโครงสร้างทางด้าน การเมือง รัฐธรรมนูญนี้ก็สามารถจะทำให้กติกาของการบังคับใช้ พฤติกรรมของผู้ที่อาสาสมัครเข้ามาอยู่ในวงการการเมืองไม่ว่าจะทำผ่านทางเลือกตั้งก็ดี หรือจะผ่านทางการแต่งตั้งเข้าไปอยู่ในองค์กรการตรวจสอบก็ดี ทุกคนจะต้องใช้กติกาเดียวกัน และเป็นกติกาที่ตัวเองไม่ได้เขียนเอง แต่เป็นกติกาที่คนจำนวนหนึ่งซึ่งมีจำนวนมากภายในประเทศ จากความหลากหลายในด้านความคิด ความหลากหลายทางด้านพื้นฐาน ความหลากหลายทางด้านประสบการณ์เอาเข้ามาผสมผสานกันให้เป็นกติกาที่เราคิดว่าเป็นธรรมกับสังคม เป็นกติกาที่สร้างสรรค์ให้สังคมทางการเมืองนั้นเป็นสังคมที่มีความบริสุทธิ์ผุดผ่องมากกว่าในอดีต เป็นสังคมทางการเมืองที่จะนำพาให้รัฐบาลมีประสิทธิภาพ มีเสถียรภาพ และเป็นสังคมทางการเมืองที่จะพึงดูแลสิทธิและหน้าที่ของประชาชนให้อยู่ในขอบเขต ให้อยู่ภายใต้กติกา

เมื่อได้รัฐธรรมนูญที่ดีมาแล้ว ประชาชนจะต้องมีหน้าที่อย่างไรต่อไปอีก หรือไม่

     ถึงแม้จะมีรัฐธรรมนูญที่เราคิดว่าค่อนข้างจะสมบูรณ์แล้ว แต่มิได้หมายความว่าหลายสิ่งหลายอย่างในสังคม ความไม่ดีความบกพร่องหรือความเหลวไหลจะสิ้นหรือสูญหายไปแม้รัฐธรรมนูญจะเป็นกติกาสูงสุด แต่การที่จะบังคับใช้รัฐธรรมนูญนี้ให้มีผลในทางที่สมบูรณ์ ก็ต้องอาศัยกระบวนการสิ่งอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระบวนการเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ ผมต้องขอย้ำว่าต้องสอดคล้องกับเจตนารมณ์ไม่ใช่สอดคล้องกับถ้อยคำ ต้องสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในขณะเดียวกันนอกเหนือจากกฎหมายประกอบ หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่จะต้องตามมาภายใต้กติกาใหม่แล้ว องค์กรตรวจสอบที่มีการจัดตั้งขึ้น ก็จะต้องได้คนที่ดี คนที่มีคุณวุฒิ คนที่มีประสบการณ์ คนที่มีความซื่อสัตย์สุจริตเข้ามาอยู่ในองค์กรตรวจสอบนั้นด้วย แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่มีความสิ้นสุด เราจะต้องอาศัยวัฒนธรรมทางการเมืองที่เราจะต้องสร้างขึ้นมาใหม่ เราจะต้องอาศัยทัศนคติของคนไทยด้วย อย่างที่ผมกล่าวตั้งแต่แรกว่า ที่ผ่านมาคนไทยส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ห่างไกลจากตนเอง ไม่มีความสำคัญกับชีวิตประจำวันของตนเอง ไม่สามารถทำให้ชีวิตของตนเองดีขึ้นมาได้ หรือเหมือนเป็นเศษกระดาษแผ่นหนึ่ง ซึ่งเขาไม่ได้ให้ความเอาใจใส่ หรืออ่านแล้วไม่รู้เรื่อง ไม่มีการติดตาม แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เราพยายามจะสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง ที่จะให้คนที่อาสาเข้าไปอยู่ในทางการเมืองนั้นมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นกว่าในอดีต มีความซื่อสัตย์สุจริต เราจะต้องพยายามติดตามกระบวนการเหล่านี้ รัฐธรรมนูญจะมีชีวิตได้ก็ต่อเมื่อคนที่ทำให้เกิดการคลอดขึ้นมา คนที่ให้ความคิด คนที่มีส่วนร่วมในการร่าง คนที่มีส่วนร่วมในการความคิดอ่านต่าง ๆ ที่ไปปรากฎเป็นหลักฐานอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้น กระบวนการเหล่านี้จะต้องสืบต่อไป ไม่ใช่ว่าเขียนรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็เสร็จไปคนไทยมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องติดตามกระบวนการเหล่านี้ ติดตามให้เห็นว่า สิ่งที่ตามมาเพื่อทำให้รัฐธรรมนูญของเรานั้นเป็นฉบับที่สมบูรณ์มากกว่าในอดีต ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็ดี กฎหมายต่าง ๆ ก็ดีที่เกิดมาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ องค์กรตรวจสอบสิ่งเหล่านี้คนไทยจะต้องติดตาม ติดตามเป็นกระบวนการที่ยั่งยืน เป็นสิ่งที่ไม่รู้จบ ทัศนคติ เก่า ๆ ที่เราเคยมีจะต้องเปลี่ยนไป วัฒนธรรมทางการเมืองต่าง ๆ ที่เคยอยู่ในเกมส์การเมืองในอดีตที่เป็นพฤติกรรมของนักการเมืองที่เป็นพฤติกรรมของประชาชนโดยทั่วไปก็จะต้องเปลี่ยนไปด้วย เพราะฉะนั้นทุกอย่างจะต้องมีวิวัฒนาการ ผมมีความค่อนข้างจะมั่นใจว่าสังคมไทยน่าจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้เป็นผลจากการที่เราทำให้คนไทยตื่นตัวในการเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้คนไทยตื่นตัวของการมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้คนมีส่วนร่วมในกระบวนการปกครองของภาครัฐ กระบวนการที่จะควบคุมการใช้อำนาจของผู้ที่อยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจเหล่านี้ เป็นกระบวนการที่เราทุกคนจะต้องพยายามสืบต่อเจตจำนงและดูแลว่ากติกาใหม่นั้นที่จะนำไปใช้นั้นเป็นกติกาที่มีผลบังคับใช้ด้วยความเป็นธรรม

     เรียบเรียงจากการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๔๑ และได้นำออกอากาศในรายการสารคดีให้ความรู้ประชาชน เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ชุด “รัฐธรรมนูญของเรา” จัดทำโดย สถาบันกฎหมายอาญาร่วมกับสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง ๑๑