รวมปาฐกถาภาษาไทย

ปาฐกถาพิเศษ
เรื่อง ธรรมรัฐกับการจัดการป่าไม้ไทยให้ยั่งยืน
โดย นายอานันท์ ปันยารชุน
ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
พิธีเปิดงาน “ป่าเฉลิมพระเกียรติ: ป่ายั่งยืน”
จัดโดย กรมป่าไม้
การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๑
ณ อาคารสำนักงานใหญ่ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมมีความยินดีมากที่ได้มาพบกับทุกท่านในวันนี้ และจะดีใจเป็นอย่างยิ่ง ถ้าหากการประชุมครั้งนี้จะมีผลให้เกิดมีการผลักดันให้การจัดการป่าไม้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี สำหรับสิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ นับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อทุกท่าน ซึ่งผมถือว่ามีหน้าที่และส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการป่าไม้ของประเทศ ไม่ว่าท่านจะเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องโดยหน้าที่รับผิดชอบของการงาน หรือโดยหน้าที่ของประชาชนตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


เมื่อพูดถึงเรื่องของการจัดการป่าไม้ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม เนื่องจากระบบการจัดการป่าไม้ของเรานั้นผูกติดอยู่กับระบบการเมืองการปกครองอันเป็นรอยต่อของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสังคม ดังนั้นการที่จะรื้อหรือเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการป่าไม้ที่ดำเนินการโดยรัฐมากว่า ๑๐๐ ปี นั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่าย ๆ


การจัดการป่าไม้แบบรวมศูนย์ของรัฐ


ในอดีต สำหรับประเทศมหาอำนาจตะวันตกนั้น ป่า คือ แหล่งรายได้หลักของรัฐ ที่สามารถตอบสนองงบประมาณประจำปีของรัฐได้ต่อเนื่อง ป่าจึงถูกจัดการโดยการแบ่งพื้นที่ป่าออกเป็นแปลงขนาดเท่า ๆ กัน จำนวนแปลงจะขึ้นอยู่กับจำนวนปีที่คาดว่าไม้นั้นจะโตพอที่จะตัดขายได้ เมื่อมีการล่าอาณานิคมในช่วงศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ ความคิดในการจัดการป่าไม้ในลักษณะนี้ได้แผ่ขยายเข้าสู่ประเทศต่าง ๆ ในแถบอเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเซีย ซึ่งเป็นดินแดนของป่าฝนเขตร้อนของโลกที่อุดมสมบูรณ์ และเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ


ในกรณีของประเทศไทยนั้น เมื่อเริ่มของยุคการจัดการป่าไม้สมัยใหม่คือ พ.ศ. ๒๔๓๙ นั้น มร. เอช. สเลด (Mr. H. Slade: อธิบดีกรมป่าไม้คนแรกของไทย) ได้มีจดหมายตั้งข้อสังเกตความบกพร่องของการจัดการป่าไม้ของไทย ถึงสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยไว้ว่า

การป่าไม้ทั้งหมดอยู่ในความยึดถือครอบครองของเจ้านายเจ้าของท้องที่แทนที่จะได้อยู่ในความดูแลและควบคุมของรัฐบาลกลาง และ

การทำป่าไม้เท่าที่เป็นอยู่นั้นยังไม่เป็นระเบียบที่ถูกต้อง กล่าวคือ ขาดหลักการเกี่ยวกับการคุ้มครองรักษาป่าไม้ให้อำนวยผลอย่างถาวร


ข้อสังเกตดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของแนวความคิดเกี่ยวกับการจัดการป่าของมหาอำนาจตะวันตกต่อนโยบายและการจัดการป่าไม้ของประเทศไทย กล่าวคือ ป่าไม้เป็นของรัฐและป่าไม้เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐด้วย


ดังนั้น การรวมศูนย์เพื่อจัดการป่าไม้โดยรัฐ ก็คือภาพสะท้อนของการปฏิรูปการปกครองของรัฐที่รวมศูนย์อำนาจการคลัง และการปกครองเข้าสู่ส่วนกลาง สร้างระบบราชการสมัยใหม่ (Modern Bureaucracy) และกองทัพประจำการ (Regular Army) ขึ้นมา ซึ่งท้ายที่สุดก็มีผลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมเปลี่ยนไป โดยรัฐเป็นฝ่ายลอยตัวขึ้นอยู่เหนือสังคมกลายเป็นองค์กรจัดตั้งของเจ้าหน้าที่ประจำการ (Career Officials) ซึ่งร่วมกันใช้อำนาจปกครองสังคมตามบรรทัดฐานที่สร้างขึ้นใหม่ โดยผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงจากรัฐ สมบูรณาญาสิทธิ-ราชย์สู่ยุคประชาธิปไตย รัฐก็ยิ่งผนวกเอาหน้าที่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม การบริการสังคม รวมทั้งการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเข้ามาเป็นหน้าที่หลักของรัฐ ทำให้บทบาทและหน้าที่ของรัฐเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก


จุดจบของป่า และการปรับตัวของรัฐและสังคม

ในการจัดการป่าไม้ภายใต้การควบคุมและการใช้ประโยชน์จากรัฐตลอด 100 กว่าปีที่ผ่านมา มีผลให้พื้นที่ป่าไม้ของประเทศ มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ จนเกือบจะเรียกได้ว่าอยู่ในขั้นวิกฤติในปัจจุบัน การลดลงของพื้นที่ป่าไม้อย่างมากมายนี้ย่อมสะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐในการจัดการป่าไม้ และอาจจะกล่าวได้ด้วยว่าทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ และทรัพยากรชายฝั่งทะเลก็อยู่ในสภาพคล้ายคลึงกัน ระบบการจัดการป่าไม้เท่าที่ผ่านมาจึงถือได้ว่าล้มเหลว


จากความล้มเหลวดังกล่าวนี้ จึงได้เกิดมีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญขึ้น โดยในยุคเทคโนโลยีการสื่อสารนี้ ประชาชนได้มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ได้รับบทเรียน และรับทราบทางออกในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ มากขึ้น “ภาคสังคม” ซึ่งเคยเฉื่อยชาจึงถูกกระตุ้นและได้มีความตื่นตัวมากขึ้นตามลำดับ เริ่มต้นจากภาคเอกชน (Private Sector) ที่เข้าไปมีบทบาทในโครงสร้างการตัดสินใจของรัฐ การก่อกำเนิดขององค์กรอาสาสมัครเอกชน (Voluntary Association) และหรือองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) จนเกิดเป็นเครือข่ายที่สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างรวดเร็วและใกล้ชิดด้วยระบบการติดต่อสื่อสาร ตัวอย่างที่เห็นได้ก็คือ ประชาชนจำนวนมากได้ลุกขึ้นมารับผิดชอบต่อตัวเองในการแสดงออกมาซึ่งสิทธิและหน้าที่โดยการรวมตัวกันเป็นกลุ่มต่าง ๆ เป็นกลุ่มออมทรัพย์ และกองทุนชุมชน ที่สามารถจัดสรรผลประโยชน์เพื่อการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนยังมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านมาด้วย


ในขณะเดียวกัน กระแส “ประชาสังคม” (Civil Society) ก็เป็นแรงกระตุ้นที่ผลักดันให้ภาคสังคม มีบทบาทและมีส่วนร่วมกับรัฐมากขึ้น ถือได้ว่าประชาสังคมเป็นการเคลื่อนไหวที่มีส่วนในการจำกัดขอบเขตอำนาจรัฐ ลดภาระหน้าที่ของรัฐ และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยเฉพาะในด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


บทบาทของประชาชน ชุมชน และองค์กรเอกชนในรูปแบบต่าง ๆ นั้นจะมีมากขึ้นอย่างแน่นอน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็มีแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องนี้


ในโอกาสนี้ จะขอสรุปถึงบางประเด็นและบางมาตราของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิและหน้าที่ของประชาชนและชุมชน


ประการแรก

ในด้านสิทธิและหน้าที่ของประชาชนและชุมชน ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า


- บุคคลมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการคุ้มครอง ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (มาตรา ๕๖) และสำหรับบุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมก็มีสิทธิดังกล่าวต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนเช่นกัน รวมทั้งสิทธิอนุรักษ์และฟื้นฟู จารีต ประเพณี ศิลปและวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น (มาตรา ๔๖)


นอกจากนี้ บุคคลยังมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจงเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐและมีสิทธิเสนอความเห็นเกี่ยวกับโครงการหรือกิจกรรมใด ๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นที่เกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นก่อนที่จะมีการอนุญาต หรือดำเนินการ (มาตรา ๕๙) และมีสิทธิฟ้องหน่วยงานของรัฐทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น หากไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


ประการที่สอง

ในด้านหน้าที่ของรัฐ ก็ได้ระบุไว้ว่า

สำหรับหน้าที่ของรัฐนั้น จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสงวน บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล ตลอดจนควบคุมและกำจัดภาวะมลพิษที่มีผลต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน (มาตรา ๗๙)

ส่วนองค์กรท้องถิ่นก็มีอำนาจหน้าที่ ในการส่งเสริมและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในเขตพื้นที่ (มาตรา ๒๙๐)


จะเห็นได้ว่า สิ่งที่ประชาชนและชุมชน รวมทั้งองค์กรท้องถิ่นได้มานั้น มีทั้งสิทธิและหน้าที่ซึ่งถือได้ว่าเป็นการได้มาเพราะการเรียกร้อง และเป็นความพยายามของหลาย ๆ ฝ่ายที่พยายามผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบการบริหารจัดการของรัฐ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรท้องถิ่น ได้รับสิทธิและอำนาจในการคุ้มครอง การรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ แต่ก็อยากจะชี้ให้เห็นว่าหากประชาชนเองยังไม่พัฒนาตนเอง ขาดความสำนึกและความเข้าใจ และขาดความรับผิดชอบ โอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการป่าไม้ให้เกิดประสิทธิภาพและยั่งยืนคงจะเกิดขึ้นไม่ได้


ธรรมรัฐกับการจัดการป่าไม้ไทย


แนวคิดของ “ธรรมรัฐ” (Good Governance) ที่มุ่งเน้นให้เกิดรัฐที่เป็นธรรมนี้ ได้มีการกล่าวถึงกันมากในปัจจุบันนี้ หากจะให้ชี้แจงถึงองค์ประกอบกันอีกครั้งหนึ่งนั้น ขอสรุปว่า จะต้องประกอบด้วย (๑) ความรับผิดชอบและความมีเหตุผลที่สามารถอธิบายได้ (๒) การมีส่วนร่วมของประชาชน (๓) ความสามารถที่จะคาดการณ์ได้ (๔) ความโปร่งใส และ (๕) ความเชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบทั้งสี่ข้างต้น และขอเพิ่มเติมอีกบางประการที่คิดว่าธรรมรัฐจะขาดเสียไม่ได้ นั่นก็คือ การมีระบบกฎหมายที่มีความยุติธรรมต่อทั้งสังคม และปัจเจกบุคคล และจะต้องมีผู้ใช้กฎหมายที่มีคุณธรรม จึงจะเห็นได้ว่าธรรมรัฐจะเกิดขึ้นได้นั้น นอกจากการมีรัฐบาลและระบบการบริหารที่ดีแล้ว จำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบของภาคสังคมที่มีคุณภาพและมีความเข้มแข็งด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีส่วนเป็นอย่างมากเพราะได้ให้ทั้งอำนาจและหน้าที่แก่ประชาชนและชุมชน โดยเฉพาะในเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งทรัพยากรป่าไม้ด้วย ดังนั้น จึงอยู่ที่เราในฐานะประชาชน จะลุกขึ้นมาร่วมพลังกันเพื่อช่วยปฏิรูปสังคมให้เกิดการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนต่อไป


ในสถานการณ์ปัจจุบัน คงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปที่จะถกเถียงกันว่า ธรรมรัฐจะรักษาและคุ้มครองทรัพยากรป่าไม้ของประทศได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมา การที่มีรัฐทำหน้าที่เป็นเจ้าของป่าไม้ และพยายามจัดการป่าไม้เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่ก็ประสบความล้มเหลวและยังได้สร้างปัญหาที่ซ้ำซาก และยุ่งยากมานาน ซึ่งสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ระบบการจัดการป่าไม้ที่ขาดประสิทธิภาพ และขาดความโปร่งใส รวมทั้งปัญหาคอรัปชั่นซึ่งดูเหมือนจะไม่ยอมเหือดหายไปจากสังคมไทย ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องยอมรับว่า ธรรมรัฐมิใช่เป็นเพียงแนวคิดหรืออุดมการณ์เท่านั้น แต่จะต้องเป็นแนวปฏิบัติที่จำเป็นที่จะต้องให้เกิดขึ้นให้ได้ในระบบโครงสร้างของการจัดการป่าไม้ของประเทศ


สิ่งที่เราจะต้องพยายามให้เกิดขึ้นให้ได้ก็คือ การจัดการป่าไม้ที่อาศัยความร่วมมือกันระหว่างประชาชน ชุมชนกับรัฐ คือประชารัฐ และจะต้องปฏิรูปและโครงสร้างการจัดการป่าไม้ให้มีความชัดเจน ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองไปถึงอนาคตของลูกหลาน และที่สำคัญจะต้องเป็นระบบที่เอื้อต่อการร่วมทำและการตรวจสอบซึ่งกันและกันได้ บนหลักวิชาการของการจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืน บนผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ประเทศชาติ ทั้งในด้านชีวภาพ กายภาพ สังคม และเศรษฐกิจโดยรวม


ผมอยากจะเรียนว่าในด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากนั้น มิได้จำกัดอยู่ที่ปัจเจกชนเท่านั้น แต่ยังมีองค์กรเอกชน กลุ่มชุมชนอื่น ๆ รวมทั้งหน่วยธุรกิจเหล่านี้ล้วนถือได้ว่า เป็นรากฐานของธรรมรัฐทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างกระแสประชาสังคม (Civil Society) ให้เกิดขึ้นในกระบวนการจัดการป่าไม้ด้วย ซึ่งอาจจะเริ่มต้นจากหมู่บ้าน หรือชุมชนเล็ก ๆ จนขยายและให้เกิดเป็นเครือข่ายที่กว้างขวางต่อไป เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นได้ก็จะช่วยเสริมสร้างให้เกิดธรรมรัฐในการจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืนได้


ผมอยากจะเน้นด้วยว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนจะเกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวางและยั่งยืนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างสิ่งจูงใจให้แก่ชาวบ้าน หรือประชาชน จะเป็นในรูปแบบของผลตอบแทนที่เป็นรายได้หรือตัวเงิน หรือการเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตของชุมชน เพราะจะเป็นไปได้ยากที่ผู้ที่ยังมีปัญหาเรื่องปากท้อง หรือไม่มีอะไรจะกินจะมาร่วมคิดร่วมทำในการอนุรักษ์ป่าไม้


เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมจะขอยกตัวอย่างโครงการพระราชดำริโครงการหนึ่งที่เชียงใหม่ ซึ่งได้ไปพบเห็นมาและเกิดความประทับใจมาก คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการนี้มุ่งศึกษาการพัฒนาป่าไม้ในพื้นที่ต้นน้ำลำธารโดยหลักการว่า “ต้นทางเป็นการศึกษาด้านป่าไม้ ปลายทางเป็นการศึกษาด้านประโยชน์ที่จะเกิดกับราษฎรอย่างแท้จริง” สำหรับงานด้านการป่าไม้นั้นก็มีการศึกษาวิจัยแบบครบวงจร ตั้งแต่การป้องกันพื้นที่ การปลูกและการบำรุง รวมถึงการวิจัยด้านสัตว์ป่า และด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ ส่วนงานอีกด้านหนึ่งซึ่งก็ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ก็คืองานด้านการสนับสนุนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน โดยเฉพาะด้านการจ้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นด้าน พืช สัตว์ และการประมง ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนโดยรอบของศูนย์ฯ จนในปัจจุบันประชาชน มีความอยู่ดีกินดี มีอาชีพที่มั่นคง และไม่ต้องบุกรุกทำลายป่า แต่มีส่วนช่วยดูแลรักษาป่าให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น


ผมมีความประทับใจในโครงการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ก็เพราะเชื่อว่า สิ่งที่เราควรจะทำในการจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืน ก็คือการปกป้องรักษาและฟื้นฟูป่าไม้ที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ป่าที่เหลืออยู่นี้มีความสำคัญต่อสภาวะสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะส่วนใหญ่เป็นป่าในพื้นที่ต้นน้ำ การที่จะรักษาป่าดังกล่าวนี้ได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือของชาวบ้าน และชาวบ้านจะร่วมมืออย่างจริงจังก็ต่อเมื่อเรามีสิ่งตอบแทนที่จะทำให้เขามีอยู่มีกินโดยไม่จำเป็นต้องไปเบียดเบียนป่า


แต่โครงการปลูกต้นหรือปลูกป่าก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความสำคัญ อย่างไรก็ตาม บทเรียนในอดีตที่ชี้ถึงข้อบกพร่องในเรื่องนี้มีอยู่มาก ผมจะไม่กล่าวถึงรายละเอียด เพียงแต่อยากจะชี้ว่าได้มีการปรับปรุงแก้ไขกันมาโดยตลอด ความพยายามครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น ก็คือ โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งถือเป็นการปฏิรูประดับปฏิบัติการครั้งสำคัญ โดยรัฐเองได้เปลี่ยนบทบาทจาก ผู้ปฏิบัติและผู้หยิบยื่น (Provider) มาเป็น ผู้สนับสนุน (Supporter) โดยสร้างทางเลือกและสร้างการมีส่วนร่วมให้กับประชาชน สิ่งที่น่าปรารถนาที่สุดคือ รัฐต้องปรับบทบาทมาเป็น ผู้เสริมสร้างพลัง (Empower) ซึ่งถือเป็นการกระจายอำนาจและจะเสริมสร้างพลังให้องค์กรประชาชน และภาคีที่เกี่ยวข้องให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการป่าอย่างจริงจัง และในที่สุดก็จะเกิดเป็นพลังทางสังคมโดยรัฐได้เป็นเพียงผู้ให้การสนับสนุนในด้านการให้ความรู้และคำแนะนำ การจัดเตรียมกล้าไม้ และการลดหย่อนภาษีสำหรับภาคเอกชนที่เข้ามาสนับสนุน ดังนั้น ภาคสังคมที่ไม่ค่อยมีบทบาทและปล่อยให้รัฐจัดการป่าไม้โดยลำพังก็เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่ภาคธุรกิจเอกชนเข้ามาให้การสนับสนุนเงินงบประมาณ และภาคประชาชนเองก็เข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกและดูแลป่าในพื้นที่ป่าทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม รูปแบบของการจัดการป่าไม้เช่นนี้ก็ยังคงประสบปัญหาการดำเนินการ และเท่าที่ผ่านมาก็มักจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้


ไม่ว่าจะจัดการป่าไม้ในลักษณะไหนก็ตาม สิ่งที่เราจะต้องให้ความสำคัญก็คือ บทบาทและความร่วมมืออย่างจริงจังและยั่งยืนของประชาชนและชุมชน เรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้จะต้องอาศัยเครื่องมือทางกฎหมายเข้ามาช่วยด้วย นั่นคือ เราจะต้องช่วยกันผลักดันพระราชบัญญัติป่าชุมชนให้ออกมาให้ได้ การเคลื่อนไหวเรื่องพระราชบัญญัติป่าชุมชนในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา ถือเป็นการปฏิรูปในระดับนโยบาย ที่เป็นกระบวนการหนึ่งของการพัฒนาประชารัฐที่ชัดเจน ในปัจจุบันร่างพระราชบัญญัตินี้ได้ผ่านการตีความจากสำนักงานกฤษฎีกาไปแล้ว และอยู่ในขั้นตอนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องนำเสนอแก่คณะรัฐมนตรีเพื่อขอมติเห็นชอบจาก ครม. จึงจะใช้เป็นกฎหมายต่อไปได้ กรณีของกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นความพยายามที่สร้างสรรค์ และเป็นแนวดำเนินการใหม่ในการทำร่างกฎหมาย โดยในกระบวนการร่างพระราชบัญญัตินั้น ภาครัฐโดยกรมป่าไม้ และคณะกรรมการนโยบายกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค (กนภ.) ซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นเลขานุการ ได้เปิดให้มีการรับฟังความเห็นจากสาธารณะ หรือทำประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวางเพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน เนื้อหาที่ปรากฏในร่างกฎหมายนั้นได้แสดงให้เห็นความพยายามที่จะทำให้เกิดความร่วมมือในการจัดการและดูแลป่า ตลอดจนการตรวจสอบการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคสังคมอยู่ในเกือบทุกมาตรา เมื่อกฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้น น่าจะคาดหวังได้ว่าการจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืนโดยประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจะประสบผลสำเร็จได้ในเวลาอันรวดเร็ว


รูปธรรมของความร่วมมือของหลาย ๆ ฝ่ายที่เกิดขึ้นนี้อาจไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาใช้ยืนยันว่า “ป่า”จะไม่ถูกทำลายลงไปอีก แต่สิ่งที่จะยืนยันได้ก็คือสังคมจะมีกระบวนการจัดการปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีกลไกการแก้ไขปัญหาที่ใช้ปัญญาและใช้ความร่วมมือกันมากกว่าการใช้กำลังและใช้อำนาจอย่างที่เคยเกิดขึ้น


อย่างไรก็ตาม คงจะต้องระลึกไว้เสมอว่า ธรรมรัฐ จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เองหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาคสังคม หรือจากประชาชนและชุมชน ซึ่งในที่สุดแล้ว “รัฐจะเป็นธรรม” หรือ “ภาคสังคมจะเข้มแข็ง” ได้นั้นย่อมมิอาจเกิดขึ้นได้จากการเพ้อฝัน และย่อมมิใช่จะอยู่แต่ในภาวะแห่งอุดมคติ หรืออุดมการณ์ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือของกลุ่มชนใดกลุ่มชนหนึ่ง หากแต่จะต้องเป็น “จิต” และ “วิญญาณ” ที่แทรกเข้าไปในวิถีชีวิตและวิถีปฏิบัติของทุกคน และทุกหมู่เหล่าที่เกี่ยวข้อง ธรรมรัฐจะต้องเกิดให้ได้ เพื่อการจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืน และเพื่อความอยู่รอดของสังคมไทย