รวมปาฐกถาภาษาไทย
ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ความโปร่งใสและธรรมรัฐ โดย
นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย (TI
Thailand) ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ท่านอธิการบดี คณาจารย์
นักศึกษา และท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ระหว่างพักอยู่ในห้องรับรอง
ผมได้เรียนถามท่านอธิการบดี (อาจารย์จุรี) ว่าวันนี้อยากให้ผมพูดเรื่องอะไรและในทำนองไหน
ผมเป็นคนมีกรรมอยู่อย่าง คือชอบได้รับเชิญไปพูด แล้วถ้าดูชีว ประวัติของผมแล้ว ผมเป็นคนไม่พูดเท่าไรในอดีต
อาจจะเริ่มนิสัยเสียตอนมาประจำเป็นคณะทูตถาวรสหประชาชาติ ทำงานอยู่ในคณะทูตถาวรแล้ว
ต่อมาเป็นผู้แทนถาวรไทย ความจำเป็นต้องพูดทั้งในห้องประชุมและนอกห้องประชุมมีอยู่เสมอ
นิสัยเสียครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นตอนรับเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เกิดอุบัติเหตุอีก ความจำเป็นต้องพูดตามที่ต่าง
ๆ พูดไปพูดมาคนนึกว่าผมพูดได้ทุกเรื่อง ในฝ่ายที่ผมเป็นรัฐบาลนั้น การพูดไม่ใช่เป็นเพียงแค่ศิลปะเท่านั้น
แต่การไปพูดนั้นจะมีความสำคัญต่อชีวิตของคนเรา และชีวิตของสังคมมาก เพราะการไปพูดคือการสื่อความเข้าใจ
การสื่อความหมาย การสื่อวิธีความคิด และการสร้างความเข้าใจ เช่น การสร้างความเข้าใจระหว่างสามีภรรยา
การสร้างความเข้าใจระหว่างพ่อแม่และลูก ระหว่างเพื่อนฝูง ระหว่างบุคคลในสังคม แต่การพูดมีหลายเรื่องด้วยกัน
พูดในเรื่องที่เป็นสาระ และพูดในเรื่องที่ไม่เป็นสาระ สมัยผมเป็นนายกรัฐมนตรี
ผมไม่มีฐานอำนาจไปสู้กับทหารก็ไม่ได้ ไปสู้กับกระบวนการทางการเมืองก็ไม่ได้ ผมมาตัวเปล่าและก็ได้อาศัยสื่อต่าง
ๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัย ที่ผมจะไปสื่อความคิด ความเข้าใจของผม
วิธีการบริหารของผม แนวทางของนโยบายของรัฐบาลของผม อันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ผู้บริหารงานการเมืองของประเทศชาติในขณะนั้น
เป็นทั้งหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องสื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจว่า รัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่
กำลังคิดอะไรอยู่ กำลังวางแผนอะไรอยู่และประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูล ถึงแนวทางความคิด
ถึงวิธีการ ถึงกระบวนการ และวัตถุประสงค์บั้นปลายของนโยบายต่าง ๆ ระยะนั้นเกิดคำใหม่ขึ้นมา
คือคำว่า โปร่งใส อันนี้ก็เหมือนกันคือตัวนายกฯ มาโดยอุบัติเหตุ คำว่า โปร่งใส
ก็มาโดยอุบัติเหตุเหมือนกัน เพราะบางครั้งบางคราว ภาษาไทยเราไม่สามารถหรือเราไม่เคยมีคำบางคำที่มันถ่ายทอดความหมายของวิธีคิด
หรือวัฒนธรรมความคิดของต่างประเทศฉันใดฉันนั้น ก็มีคำไทยหลายคำที่สะท้อนถึงความหมายความเข้าใจ
วิธีการคิดและวัฒนธรรมความคิดของเมืองไทยซึ่งต่างประเทศไม่มี อันนั้นคือความแตกต่างของวัฒนธรรมและวิธีการคิด
แต่ในโลกที่เราอยู่นั้นถ้าเราพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเราต้องถือว่าเป็นสิทธิสากลแล้ว
มันต้องเลิกเถียงกันได้แล้วว่าสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นที่ไหนจังหวัดใดของประวัติศาสตร์ของโลก
มาจากฝ่ายตะวันออกหรือตะวันตก มาจากทางเหนือหรือทางใต้ แต่กระบวนการสร้างความคิดและสร้างความเข้าใจ
ให้ความคิดของหลาย ๆ วัฒนธรรมเข้ามาสู่จุดเดียวกัน เข้ามาอยู่ขอบเขตหรือวงกรอบเดียวกันนั้นต้องใช้เวลาฉันใดฉันนั้น
อะไรก็ตาม ที่มันสะท้อนถึงอารมณ์ สะท้อนถึงความรู้สึก สะท้อนถึงแนวคิดของคนในเอเชีย
หรือของคนไทย โดยเฉพาะถ้าคุณค่าของเขาไม่มีว่าเขาจะเป็นผิวขาว ผิวน้ำตาล ผิวอะไร
ชาวต่างประเทศเขาไม่มี หลายอย่างเขามีเราก็ไม่มี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เราขาดไปนั้นจะเป็นความบกพร่องที่เราต้องรับกรรมไปตลอดชีวิต
เพราะหน้าที่ของมนุษย์และหน้าที่คนแต่ละประเทศ แต่ละสังคมคือ การเรียนรู้การใช้วิถีชีวิตและใช้วิถีความคิดนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าที่เคยมีมาในอดีตนำไปสู่สิ่งซึ่งเราไม่เคยมีมาในอดีต
หรือนำไปสู่สิ่งซึ่งอาจเคยมีบ้างแล้วในอดีตในวัฒนธรรมเดิม แต่พยายามปรับปรุงแก้ไขให้มันสอดคล้องกับประวัติศาสตร์
วัฒนธรรมและคุณค่าของสังคมนั้น ในสังคมต่างประเทศที่มีอารยธรรมบางอย่าง เขาก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่สืบทอดกันมา
จนบัดนี้กลายเป็นคุณค่าของสังคมทางสากลโลกแล้ว พูดแต่ดั้งเดิมความคิดเป็นประชาธิปไตย
ความมีส่วนร่วมของประชาชน การมีตัวแทนของประชาชนในการปกครองก็เกิดขึ้นหลายศตวรรษทางด้านตะวันตก
ทางด้านตะวันออกแม้แต่ในประเทศไทยก็ยังมิใช่จะไม่มีความคิดทางด้านประชาธิปไตย
ความคิดด้านประชาธิปไตยของเมืองไทยก็มีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยความคิดที่ว่าผู้บริหารต้องฟังเสียงคนอื่น
ต้องรับรู้ความคิดเห็นและข้อสังเกตของผู้อื่น ตั้งแต่สมัยของพระเจ้ารามคำแหงมีการติดกระดิ่งไว้ที่หน้าพระราชวัง
อันนั้นก็เป็นลักษณะการแสดงออกด้านหนึ่งของสังคมไทยที่สะท้อนให้เห็นถึงว่าแม้แต่พระเจ้าแผ่นดินเมื่อ
๗๐๐ กว่าปีมาแล้ว หรือเกือบ ๘๐๐ กว่าปีมาแล้ว ทั้ง ๆ ที่มีอำนาจสูงสุด อำนาจสมบูรณาญาสิทธิราช
ก็ยังเข้าพระทัยว่า การบริหารที่ดี การปกครองที่ดีนั้น ใช้อำนาจอย่างเดียวไม่ได้
จำเป็นต้องรู้ถึงทุกข์สุขของประชาชน จำเป็นจะต้องฟังความคิด ข้อสังเกตและข้อเรียกร้องของประชาชน
จำเป็นต้องให้ความยุติธรรมต่อสังคม จำเป็นต้องให้ความยุติธรรมต่อประชาชน และที่สำคัญที่สุดคือ
จำเป็นต้องให้ประชาราษฎร์เข้าถึงพระองค์ท่าน ไม่ต้องผ่านอำมาตย์ ไม่ต้องผ่านขุนนาง
ไม่ต้องผ่านเจ้านาย เราย้อนหลังถึงประวัติศาสตร์ไทยเราจะเห็นว่าความเฉลียวฉลาดของพระเจ้าแผ่นดินโบราณ
ทั้ง ๆ ที่มีอำนาจสมบูรณ์ ทั้งที่ระบบการปกครองและความยินยอมของประชาราษฎร์นั้น พระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจสูงสุดจะทำอะไรก็ได้
แต่พระองค์ท่านยังคำนึงถึง
- การได้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง
- การปกครองด้วยความเป็นธรรม
- สิทธิของประชาราษฎร์ที่จะเข้าถึงผู้มีอำนาจและผู้ที่ใช้อำนาจ
อันนี้เป็นเหตุการณ์เกือบ
๘๐๐ ปีมาแล้ว และเป็นการแสดงสะท้อนถึงความรู้สึกเป็นประชา-ธิปไตยของคนไทยในหลายศตวรรษ
ที่ผ่านมาเราผ่านการปกครองสุโขทัย ศรีอยุธยา ๓๐๐ กว่าปีมาถึงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ กว่าปี
วิวัฒนาการของการปกครองเปลี่ยนไป ผมไม่ค่อยให้เกียรติการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ
๒๔๗๕ เท่าไร แต่ผมให้ความสำคัญและให้ความนิยมชมชอบ ถึงวิวัฒนาการที่เปลี่ยนไปที่สะท้อนถึงความรู้สึกและความหวังของประชาชน
ในราชวงศ์จักรี ก็ได้มีวิวัฒนาการ เราจะเห็นได้จากประวัติศาสตร์ของเรา ถ้าเราไปเรียนหนังสือตามโรงเรียนจะบอกว่า
เมืองไทยนั้นปกครองด้วยระบบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยพระเจ้าแผ่นดิน แต่จริงแล้วในทางปฏิบัติไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งท่านทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน หลังจากที่ได้ทรงบวชอยู่ในวัดมา
ผมเข้าใจว่าเกือบ ๒๐ ปี รัชกาลที่ ๔ ท่านได้วางรากฐานไว้ที่นำไปสู่การปกครองการบริหารราชการแผ่นดินที่ทันสมัยมากขึ้น
ท่านทรงศึกษาด้วยตัวเอง ท่านเรียนรู้ด้วยตัวเอง และการที่ท่านอยู่ในสมณเพศเป็นเวลาเกือบ
๒๐ ปี ท่านเข้าถึงประชาชน และประชาชนเข้าถึงท่าน ท่านรู้ว่าตอนนั้นอะไรเป็นอะไร ในสังคมไทยมันไม่มีม่านกั้นระหว่างพระองค์ท่าน
ตอนสมัยท่านเป็นพระอยู่กับประชาชน เมื่อท่านขึ้นมาครองราชย์แล้ว ท่านเรียนรู้ต่าง
ๆ นำวิทยาการมา แต่ตอนนั้นโดยเฉพาะตอนปลายรัชกาลที่ ๔ จะขึ้นรัชกาลที่ ๕ พระเจ้าแผ่นดินแทบไม่มีอำนาจ
มีอำนาจแต่ในนาม แต่ในทางปฏิบัติแล้วอำนาจขี้นอยู่กับขุนนางขึ้นอยู่กับสมเด็จเจ้าพระยาต่าง
ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คงเป็นคนดี แต่นั่นคือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ แต่ถัด ๆ ไปพอพระเจ้าแผ่นดินในนามคือสมบูรณาญาสิทธิราชเริ่มต้นจากรัชกาลที่
๔ นั้นพระเจ้าแผ่นดินปกครองไม่ใช่แต่เพียงสมบูรณาญาสิทธิราชอย่างเดียว จุดกำเนิดของการใช้ธรรมรัฐหรือธรรมาภิบาล
นั้นก็เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ได้เกิดขึ้นจากเมืองนอก ไม่ได้เกิดจากสังคมข้างนอกด้วย
ที่สังคมตะวันตกเขาก็เกิดขึ้นไป วิธีคิดอาจคล้ายคลึงกัน แต่ผลทางด้านปฏิบัตินั้น
แตกต่างกันไป ของเราพระเจ้าแผ่นดินสมบูรณาญาสิทธิราช ตอนนั้นยังไม่มีกลไกของรัฐหรือกลไกของสังคม
ที่จะเกิดการคานอำนาจซึ่งกันและกันได้ ในตอนนั้นไม่มีกลไกของรัฐหรือกลไกของสังคมที่จะก่อให้เกิดความโปร่งใสหรือให้ข้อมูลโดยสมบูรณ์
ไม่มีกลไกของรัฐในอันที่จะก่อให้เกิดความรับผิดขอบในการตัดสินใจของตนเอง ไม่ว่าการตัดสินใจนั้นจะอยู่บนมูลฐานของความตั้งใจดี
หรือตั้งใจที่ไม่ดี ถ้าเผื่อตั้งใจไม่ดี ก็ต้องมีการลงโทษเข้าตะราง ถ้าเป็นความตั้งใจที่บริสุทธิ์
แต่เกิดความผิดพลาดก็ยังต้องมีความรับผิดชอบในทางด้านการเมืองและด้านอื่น เมื่อกลไกเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย
แต่ทางด้านพระเจ้าแผ่นดินนั้นได้สร้างกลไกขึ้นมา มิใช่กลไกที่เห็นเป็นรูปธรรม ไม่ได้ตั้งกรม
ไม่ได้ตั้งกอง ไม่ได้ตั้งสำนักงาน ไม่ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแต่เกิดระบบที่เรียกว่าทศพิศราชธรรม ทศพิศราชธรรมคือ
วิธีปฏิบัติตนเองของพระเจ้าแผ่นดิน ๑๐ ประการ ถ้าเราไปอ่านเรื่อง ทศพิศราชธรรมแล้วจะเห็นได้เลยว่า
อันนั้นคือรากฐาน และเป็นของจริงของแท้ในสังคมไทย ไม่ได้นำเข้ามา เป็นของจริงของแท้ที่เกิดขึ้นจากจิตสำนึกของพระเจ้าแผ่นดิน
ว่าการมีอำนาจและการใช้อำนาจนั้นมีความจำเป็นต้องมีเกณฑ์อะไรบางอย่างที่จะควบคุมการปฏิบัติหรือการประพฤติตนเอง
ทศพิศราชธรรมอันนี้ผมถือว่าเป็นบ่อเกิด เป็นจุดเกิดของ Good Governance
ในเมืองไทยที่เราอาจแปลว่า ธรรมรัฐ หรือ ธรรมาภิบาล
เราอาจใช้คำว่า Royal Good Governance อันนี้มีความสำคัญมากทั้งในแง่ประวัติศาสตร์
และในแง่วัฒนธรรมความคิด เพราะส่วนใหญ่ในประวัติสังคมของทุก ๆ ประเทศ ผู้ที่มีอำนาจและผู้ใช้อำนาจนั้นจะไม่ออกกฎเกณฑ์หรือตรากฎหมายอะไรก็ตามที่จะควบคุมการใช้อำนาจของตนเอง
ส่วนใหญ่การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางความคิด การสร้างกลไก ใหม่ ๆ การแบ่งปันอำนาจจะไม่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ใช้อำนาจนั้นมีความเมตตา
มีความกรุณาดี พอที่จะนึกถึงผลประโยชน์ของประชาราษฎร์ แต่ทศพิศราชธรรมนั้นเกิดจากเบื้องบนเพื่อมาใช้ประโยชน์กับเบื้องล่างให้เบื้องล่างได้ประโยชน์ที่สุด
แต่เมืองไทยที่ผ่านมานั้นเราจะได้เห็นพระเจ้าแผ่นดินของเมืองไทยทรงปฏิบัติตัวอยู่ในทศพิศราชธรรม
แต่ด้านอื่นล่ะ ทางด้านการเมือง ทางด้านธุรกิจหรือแม้แต่ทางด้านมหาวิทยาลัยเอง และคนไทยกี่คนที่ศึกษาให้ลึกซึ้งว่าทศพิศราชธรรมที่จริงคืออะไร
และจะสามารถนำมาใช้ปฏิบัติกับชีวิตส่วนตัว กับชีวิตการงานของตนเองได้อย่างไร ตั้งแต่ผมเกิดมา
๙ สิงหาคม ๒๔๗๕ ตั้งแต่เด็กแล้ว ภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง แต่คำแรกที่ผมได้ยินในสังคมของครอบครัว
ในโรงเรียน คือคำว่า คอรัปชั่น (Corruption) คุณพ่อผมซึ่งเคยรับราชการตั้งแต่สมัยรัชกาลที่
๖ เคยเล่าให้ผมฟังในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ฉ้อราษฎร์บังหลวงก็มี ท่านได้เอ่ยชื่อเจ้าพระยาสองสามคนให้ผมฟังด้วย
ตอนผมเด็ก ๆ ว่าพระยาสองสามคนนั้น ชื่อเสียงไม่ค่อยดีมีปัญหา พระเจ้าอยู่หัวทรงกริ้วมาก
เพราะมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงและสิ่งที่ผมจะจำไว้ตลอดชีวิตคือว่าคุณพ่อผมพูด สิ่งหนึ่งว่าสมัยพ่อถ้าข้าราชการถูกพระเจ้าอยู่หัวกริ้ว
หรือมีชื่อเสียงออกไปว่าฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่จำเป็นต้องมีใบเสร็จ พระยาหรือเจ้าพระยาคนนั้นจะอายขายหน้าเข้าหน้าใครไม่ติด
เพียงแต่พระเจ้าอยู่หัวทรงกริ้วเท่านั้น ข้าราชการคนนั้นจะอาย ถึงได้มีศัพท์ว่า อายเอาหน้า
แทบซุกแผ่นดิน อันนี้เป็นค่านิยมของสังคมไทยในอดีตซึ่งเป็นค่านิยมที่ดี
เรามีคำว่าหิริโอตตัปปะ ความละอายใจจากการที่เราทำอะไรไม่ถูกต้อง ไม่ต้องพูดถึงว่าทำอะไรผิดกฎหมาย
เพราะปัญหาคอรัปชั่นผิดแม้แต่ในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม แต่คุณค่าของสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปในระยะ
๑๐๐ ปี จากการที่เรียกว่าความละอายใจ ความที่หน้าบางไม่หน้าด้าน การมีหิริโอตตัปปะมันเปลี่ยนแปลงไปเร็วจนกระทั่งปัจจุบันนี้
พอเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นก็พูดเป็นเรื่องตลกว่า มันไม่มีบิล เช็คบิลไม่ได้ ไม่มีใบเสร็จรับเงินนั้น
เป็นวิวัฒนาการที่ผมมองว่าเป็นวิวัฒนาการย้อนหลังกลับไปสู่ยุคหิน คุณค่าของสังคมดี
ๆ ที่เรามีอยู่ในอดีต เราลืมไปแล้วหรือเรามองแล้วหรือว่าที่คนโกงกินเป็นคนฉลาด สังคมไทยมองแล้ว
หรือว่าคนโกงกินและมีตำแหน่งคือคนที่เราต้องเคารพ ที่เราต้องไหว้ สังคมไทยปล่อยให้โรคคอรัปชั่นเป็นเนื้อร้ายที่เมื่อ
๘๐ - ๙๐ ปีอาจเกิดขึ้นที่นิ้วหรือที่ขา แต่ในปัจจุบันนี้โรคคอรัปชั่นในเมืองไทย มันเป็นเนื้อร้ายที่เข้าไปแทบทุกชิ้นส่วนของร่างกายแล้ว
เราปล่อยปะละเลยเรื่องนี้มาเป็นเวลานานแล้วและประเทศไทยสังคมไทยจะอยู่รอดหรือไม่รอดก็เพราะปัญหาคอรัปชั่น
เพราะประเทศใดก็ตามปล่อยให้เนื้อร้ายนี้ลามปามไปถึงหัวสมองเมื่อไร มันก็สายเกินไปที่จะแก้ไข
ที่ผ่านมาเราทำอะไร คนไทยบ่น นินทา พูดเป็นเรื่องขำ ทั้ง ๆ ที่เรารู้ว่าคนนั้นโกง
คนนั้นกิน สังคมทำอะไรบ้าง และไม่ใช่เรื่องที่เรานั่งสนทนากันในงานสังคมหรือในวงการมหาวิทยาลัยหรือตามงานอื่น
ๆ ถ้าเผื่อคนในสังคมไม่ลุกขึ้นมาช่วยแก้ปัญหานี้ ปัญหาคอรัปชั่นจะไม่หมดไป และจะช่วยกันแก้ไขอย่างไร
เมื่อสี่ห้าวันที่คนไทยคงจะต้องตื่นตัวบ้างนะครับ ที่เราได้รับเกียรติเป็นอย่างสูง
ที่จากการสำรวจของ Transparency International ที่จัดลำดับว่าเมืองไทยนั้นมีคอรัปชั่น
ต้องเรียกว่าเกือบสูงสุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคนี้ สิงคโปร์ไม่ต้องไปพูดถึง เขามีชื่อเสียงดี
แต่เมื่อ ๖๐ ปีก่อน เขาก็มีปัญหาคอรัปชั่นของเขาอย่างมาก และไม่น้อยกว่าเมืองไทยแต่เขาทำสำเร็จ
ฉะนั้นเราต้องตั้งต้นตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราต้องมีจิตมุ่งมั่นว่าปัญหานี้เป็นปัญหาที่คนสร้าง
ถ้าเผื่อเป็นปัญหาที่คนสร้างเราก็ต้องแก้ได้ ใครก็ตามที่สนใจเข้ากระบวนการในอันที่จะแก้ปัญหาคอรัปชั่นให้มันน้อยลงไป
ๆ ได้เรื่อย ๆ ต้องมีจิตมุ่งมั่นว่าสิ่งนี้แก้ไขได้และเป็นสิ่งที่ต้องทำ ดูตัวอย่างสิงคโปร์
ประเทศเพื่อนบ้านเรา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์เขาดีกว่าเราทั้งนั้น มันน่าอายแค่ไหน ถ้าจัดอันดับ
เมืองไทยที่ ๘ ในเรื่องนั้น ที่ ๑๒ ในเรื่องนั้น แต่นี่มีแต่ลดลงหมด สิ่งที่เคยดีเคยงามเมื่อสามสิบสี่สิบห้าสิบปีก่อน
เดี๋ยวนี้ก็เสื่อมลงหมด ในความเสื่อมนั้น ความเสื่อมของสังคม มันก็เกิดขึ้นจากความเสื่อมของจิตใจ
ความเสื่อมทางด้านคุณธรรมและจริยธรรม เราไปโทษใครเขาไม่ได้ ยิ่งขณะนี้ประชาชนพลเมือง
๖๑ ล้านคน ให้มีคนดี ๕๘ ล้านคน มีคนไม่ดี ๓ ล้านคน มันก็เหม็นเน่าไปทั้งกลุ่ม ไม่ใช่ว่าคนดีไม่มี
ไม่ใช่ว่าคนเก่งไม่มี ไม่ใช่ว่าคนเก่งและคนดีไม่มี แต่คนไทยส่วนใหญ่มองปัญหานี้เป็นปัญหานอกตัว
และถ้าตามความคิดของเราปัญหานี้ไม่ใช่ของเรา คนไหนที่โกงเขากินเขารับบาปของเขาเอง
เขาต้องใช้กรรมด้วยตัวของเขาเอง แล้วมันปรากฏเห็นไหมครับ ปรากฏเห็นทันตาเหมือนกันว่าหลายคนที่เรารู้ต้องรับบาปในชีวิตนั้นเอง
มันพิสูจน์อะไรบางอย่าง แต่ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่ว่าผู้ที่โกงกินเขารับบาปหรือยัง
เขารับในชาตินี้หรือรับในชาติหน้า เขารับตามสัดส่วนความผิดที่เขาทำหรือเปล่า ประเด็นไม่ได้อยู่ที่นี่
ประเด็นที่คนไทยจะต้องคิดก็คือว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ผมไม่มีความสุขหรือไม่มีความสบายใจ
ไม่มีความสุขใจที่เห็นว่าคน ๆ หนึ่ง นาย ก โกงกินเป็นอย่างมากล้างผลาญทุกอย่างแล้วเขารับกรรมในชีวิตเขา
ผมก็ยังสงสารภรรยาเขาซึ่งอาจไม่รับผิดชอบก็ยังอาจจะสงสารลูกเต้าเขา ซึ่งอาจไม่รับผิดชอบหรือรับผิดชอบด้วย
แต่ก็อาจมีบางครอบครัวเลวทั้งพ่อทั้งลูกอันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาต้องรับผิดชอบส่วนตัวหรือเปล่า
ประเด็นอยู่ที่ว่าโรคการกินการโกงนั้น มันเป็นโรคของสังคมที่บั่นทอนการบริหารที่ดี
ที่บั่นทอนทรัพยากรของชาติที่เป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวง ในการที่ประเทศนั้น สังคมนั้น
ในการที่จะแก้ปัญหาของตนเองได้ อันนั้น เป็นโจทย์ที่เขาต้องคิดอย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว
เราต้องถือว่ามันเป็นโรคของสังคม เป็นโรคของประเทศชาติที่ต้องได้รับการเยียวยา วิธีแก้ไข
วิธีต่อต้าน วิธีป้องกันต้องเอามาคิดกัน ผมไม่มียาวิเศษ ที่จะบอกสังคมได้ว่าจะต้องต่อต้านอย่างไร
แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำคือต้องมีการเริ่มสร้างกลไก ในระดับบริหาร เริ่มสร้างกลไกในระดับสังคม
กลไกที่จะต่อต้าน กลไกที่จะควบคุมและให้เกิดการลดน้อยลงไป อะไรที่จะช่วยได้ เราดูตัวอย่างง่าย
คนเราเวลาจะทำผิด ไม่อยากให้คนเห็นหรอกครับ ถ้าคนคนนั้นรู้ว่าคุณธรรมคืออะไร อะไรผิดอะไรถูก
คนที่ไม่รู้ว่าอะไรผิด อะไรถูกนั้นมันกล้าทำทั้งนั้น ทั้งในห้องมืดและในที่โปร่งใส
เพราะเขาไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรชอบหรือเขาแกล้งไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรชอบ ฉะนั้นเราจะเห็นอะไรหลาย
ๆ อย่างในสังคมที่เกิดความกร่างขึ้นมา ไม่ใช่ว่าเขาต้องการกร่างแต่เขามองไม่เห็นว่าสิ่งที่เขาทำ
สิ่งที่เขาพูดนั้นมันบาดหมางสายตาบาดหมางน้ำใจคนไทยแค่ไหน พวกนี้เราต้องถือว่าเปลี่ยนสันดานเขาไม่ได้
แต่มีบางพวกที่อาจไม่ได้ตั้งใจที่อาจหลงทางที่อาจมีความจำเป็นในชีวิตบางครั้งบางคราว
ในบางตอนที่น่าเห็นใจหรือที่อาจจะตั้งใจดีแต่ถูกนำไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง อันนั้นเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลและก่อนที่จะสร้างกลไก
ผมต้องพูดเรื่องนี้ และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะว่าให้มีกลไกดีอย่างไรถ้าคนไทยในสังคมไทยโดยเฉพาะรุ่นใหม่
ๆ ไม่รู้ว่าคุณธรรมอยู่ที่ไหน หรือจริยธรรมคืออะไร ไม่รู้ผิดไม่รู้ชอบ ไม่รู้ถูกไม่รู้ผิด
ไม่มีความละอายใจ สิ่งเหล่านี้จะได้จากไหนต้องได้จากครอบครัวก่อน ต้องได้จากพ่อแม่จะได้จากการสั่งสอนรึเปล่า
ส่วนหนึ่งได้จากการสั่งสอน แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดจะได้จากการที่ลูกเห็นว่าพ่อแม่นั้นปฏิบัติอย่างไร
เด็กจะได้รับการประทับใจที่ลึกซึ้งที่สุดจะยืนนานที่สุด ถ้าเด็กเห็นการปฏิบัติตัวของพ่อแม่
ความประพฤติของพ่อแม่ และความสำคัญของพ่อแม่ เพราะฉะนั้นในสังคมไทย สถาบันครอบครัว
ซึ่งกำลังสลายไปจะเป็นโดยเหตุผลทางธรรมชาติ เหตุผลทางเศรษฐกิจอะไรก็แล้วแต่สิ่งที่จะเสริมสร้างเรื่องคุณธรรม
เรื่องจริยธรรมทางด้านครอบครัวนั้นลดน้อยลงตามลำดับ ในขณะเดียวกันพ่อแม่อาจปฏิบัติตัวไม่ดี
ผมต้องขอยอมรับว่าเป็นคนหนึ่งหัวค่อนข้างโบราณในเรื่องบางเรื่อง ผมดูละครโทรทัศน์ในเมืองไทย
ผมก็ดูไปด้วยความสลดใจเหมือนกัน พอไปพูดมากคนก็บอกว่าผมเป็นคนไม่เข้าใจสังคมไทย ผมถามว่าเพราะอะไรเขาบอกว่าที่คนชอบละครน้ำเน่า
เพราะว่ามันสะท้อนภาพที่แท้จริงของเมืองไทย สะท้อนภาพที่แท้จริงของการวิธีการปฏิบัติระหว่างพ่อแม่และลูก
ผมขอเถอะถ้าเป็นเช่นนั้น ผมขออยู่ในโลกของความโง่มากกว่าหรืออยู่ในโลกของความไม่เป็นจริง
หรืออยู่ในโลกที่สมัยผมเป็นเด็ก ๆ อยู่ ผมไม่ได้ล้าสมัย ผมมีลูกมีหลาน แต่บางสิ่งบางอย่างผมทนไม่ได้ ความทันสมัยกับสังคม
ความทันสมัยในความคิดนั้น มันคนละอย่างกับความต้องการทันสมัย เหมือนอย่างวิธีปฏิบัติของสังคม
ข้างนอกสังคมตะวันตกในบางสังคม แต่อย่าไปคิดว่าสังคมตะวันตก ที่เราคิดว่าเขาเป็นอย่างนั้น
ไม่ใช่การไปเลียนแบบเขา เราไปเลียนแบบที่ไม่ดี เราไปเลียนแบบความประพฤติของค่านิยมของชนกลุ่มน้อย
ของสังคมเล็ก ๆ ในตะวันตกเท่านั้น อย่าไปคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเห็นในหนังที่เห็นตามที่ต่าง
ๆ นั้นเป็นวัฒนธรรมของเขาทั่วประเทศ ไม่ใช่แล้วเราอย่าไปเลียนแบบเขา เราต้องคิดดีพอแล้ว
บางสิ่งบางอย่างที่เป็นของคนไทยในอดีตที่มันไม่ดี มันไม่งาม มันก็ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องมานิยมชมชอบในปัจจุบัน
เราต้องมีวิถีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งไม่ดีเป็นสิ่งที่ดีให้ได้ ในเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมต้องเกิดขึ้นจากครอบครัว
ต้องเกิดจากพ่อแม่ เกิดจากพี่น้องเกิดจากครู ผมเคยออกรายการโทรทัศน์ครั้งหนึ่งเป็นรายการทางด้านการเมืองแล้วคนถามผมว่ากินตามน้ำคอรัปชั่นไหม
ผมฟังแล้วสะอึก แต่ผมเข้าใจว่าผู้ถาม ถามด้วยความตั้งใจไม่ใช่ถามเพราะความโง่ คำตอบผมคือว่ากินตามน้ำก็คอรัปชั่น
เหนือน้ำก็คอรัปชั่น ใต้น้ำก็คอรัปชั่น กินคอมมิชชั่นก็คอรัปชั่น กินล่วงหน้าก็คอรัปชั่น
กินให้หลังก็คอรัปชั่นทั้งนั้น ผมหวังว่าสังคมไทยคงไม่มาถามนะครับว่ากินตามน้ำคอรัปชั่นไหม
แต่ตัวเราเองเราจะต้องรู้ว่าอะไรผิดอะไรชอบในการปรับปรุงตนเอง มาถึงการสร้างกลไกผมอ้างถึงทศพิศราชธรรมผมพูดถึงหลายสิ่งหลายอย่างสมัยการปกครองสมัยนั้นพระเจ้ารามคำแหง
วิธีที่จะป้องกันคอรัปชั่นสิ่งแรกคือหลักนิติธรรม เราต้องมีระบบ Rule of Law หลักนิติธรรมคืออะไร
คือต้องมีกฎหมายที่เป็นธรรม ไม่ใช่กฎหมายอย่างบางฉบับในปัจจุบัน กฎหมายจะมีความศักดิ์สิทธิ์จะต้องเป็นกฎหมาย
ที่ไม่ใช่จะให้ความยุติธรรมอย่างเดียว จะต้องเป็นความยุติธรรมที่จะต้องแฝงธรรมะเข้าไปด้วย
และจะต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ไม่ใช่สิ่งที่ออกมาแล้วยี่สิบปีสามสิบปี
ในปัจจุบันจะเป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่หลัก Rule of Law นี้สำคัญ และสำคัญที่สุดคือว่าทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายด้วยความเสมอภาค
ถ้าเผื่อนาย ก กับนายอานันท์กระทำสิ่งเดียวกัน และนาย ก ถูกตัดสินจำคุก ๑๐ ปี แต่นายอานันท์รอดตัวมาอันนี้ไม่ถูก
เพราะฉะนั้นภายใต้กฎหมาย ภายใต้ Rule of Law ภายใต้หลักนิติธรรมนั้นคนไทยทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติด้วยความเสมอภาค
ตำแหน่งฐานะต้องไม่มาเกี่ยวโยง อันที่สองผมพูดถึงสมัยพระเจ้ารามคำแหงติดกระดิ่งนี้คือเรื่องข้อมูล
เรื่องของความโปร่งใส ผมพูดถึงว่าใครก็ตามที่อยากทำผิด ก็อยากทำในที่มืด ๆ ไม่อยากให้คนเห็น
บางครั้งความละอายใจก็เกิดขึ้นบ้าง ผมเคยถูกตำรวจหยุดรถผม แล้วบอกว่าคนขับรถผมขับรถผิดช่อง
แล้วไถเงิน ๑๐๐ บาท พอดีผมมีปัญหาคนขับรถซื่อ ๆ หน่อย เวลาผมไปไหนผมจะต้องบอกคนขับรถเสมอว่าอย่าทำผิดกฎจราจร
แล้วก็ถ้าเผื่อตำรวจเรียกหยุดรถละก็อย่ามาอ้างชื่อผม ถ้าเผื่อผมนั่งอยู่ข้างหลังผมจะไม่ช่วยเหลืออะไรเขาให้เป็นหน้าที่เขา
วันนั้นผมจะต้องไปงาน ซึ่งผมไปสายไม่ได้ ก่อนหกโมงเย็นเล็กน้อยขับรถมาจากบ้านมาถึงสี่แยกที่ตัดกันระหว่างอโศกกับเพชรบุรีตัดใหม่
ซึ่งกำลังมีการซ่อมหรือมีการสร้างทางรถไฟเป็นการใหญ่ คนขับรถรู้ว่าผมต้องไปถึงสถานที่นั้นประมาณ
๑๘.๑๕ น. ขณะนั้นมีเวลาอีก ๒๐ กว่านาที พอดีเป็นวันอาทิตย์ ผมบอกว่ามีเวลาขับสบาย
ๆ แต่ก็อย่างว่าเขาไปเข้าช่องผิด แทนที่จะไปเข้าช่องตรง เขาเห็นว่าทางซ้ายรถไม่ค่อยติด
เขาไปเข้าช่องซ้ายซึ่งต้องเลี้ยวซ้าย ตามกฎจราจรความผิดก็เป็นของเขา พอขับผ่านสี่แยกไปก็มีตำรวจคนหนึ่งขี่มอเตอร์ไซด์ออกมา
อันนี้เป็นการเตือนสติสถานีตำรวจที่คุมพื้นที่นั้นด้วย คนขับรถผมถูกโบกให้หยุดรถ
ผมเป็นคนที่ว่าเวลาไปไหนเสื้อจะไม่ใส่ จะแขวนไว้ในรถ แล้วผมนั่งอยู่ข้างหลังเสื้อก็จะบังหน้าผม
ผมสังเกตดูคนขับรถหยุดรถแล้วเปิดประตูรถออกไป ตำรวจบอกว่าผิดช่อง ช่องนี้ต้องเลี้ยวซ้ายไม่ใช่ช่องตรง
ขอดูใบขับขี่ คนขับรถผมก็มีความปอด บอกว่าพี่ ๆ ตกลงได้ไหม ผมก็ฟังอยู่ตลอดเวลา ตำรวจก็คงไม่พูดอะไรมากคงพยักหน้าผมไม่เห็น
เพราะมันพลบค่ำพอดีมีเสื้อผมบังหน้า ได้ยินตำรวจบอกว่าเอาใบขับขี่มา ผมก็มองเห็นอยู่
คนขับรถผมเอาเงินให้แต่คนขับรถผมไม่ชินกับการให้เงินสินบนเท่าไร ผมได้ยินเสียงตำรวจอย่างแน่ชัด
ผมนึกขำอยู่ในใจ อ้าวทำไม ทำอย่างนี้ล่ะคนก็เห็นหมดซิ แล้วคนขับรถผมบอกว่าขอโทษครับพี่
คนขับรถก็เอาเงินสด ๑๐๐ บาทใส่ในใบขับขี่ แล้วตำรวจพูดว่าคราวหน้าอย่าทำอีกนะไปได้
ตอนนั้นผมเป็นนายก ๒ หน เป็นประธานกรรมการบริษัทมาหลายปี ไม่เคยมีครั้งไหนที่ผมตัดสินใจไม่ถูกว่าจะทำอย่างไร
เป็นจังหวะในชีวิตของผมที่คิดอย่างหนักว่า หนึ่ง ผมลดกระจกลงมาให้ตำรวจเห็นหน้าผมแล้วก็ขอชื่อเขาไปรายงานนายเขาแล้วก็บอกว่า
อย่าทำอีกนะ หรืออาจต้องใช้เวลาอีก ๑๕ - ๓๐ นาทีแล้วทำให้ตำรวจคนนั้นตกใจมาก หรือ
สอง ไม่ทำอะไรทั้งสิ้นรับรู้ในการที่คนขับรถผมให้เงินเขา ๑๐๐ บาท แล้วก็ให้เขาขับรถไปถึงงานตามกำหนดเวลา
ใช้เวลาตัดสินใจอยู่นาน สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมคิดว่าปล่อยไปก่อน เพราะว่าไม่ต้องการไปงานสาย
จำเป็นต้องไปถึงเวลา งานนั้น คิดว่าตำรวจไถเงิน ๑๐๐ บาท ป่านนี้เขาอาจไถได้อีกซัก
๕๐๐ บาท เขาคงไม่ได้ทุกวัน ไถเดือนละสัก ๔ ครั้ง เขาอาจได้ผลประโยชน์ไปในเดือนนั้น
๔,๐๐๐ - ๕,๐๐๐ บาท เขาอาจมีลูกหลายคน เมียเขาอาจจะเจ็บ ถ้าเกิดเล่นงานตำรวจคนนี้
ซึ่งก็น่าเล่นงานแล้วเรามองว่าคนเดินตามถนนหรือคนที่ขี่รถเบนซ์สวย ๆ หรือคนที่ใส่สายสะพายงาม
ที่ปล้นราษฎรเป็นพัน ๆ ล้าน ยังลอยนวลอยู่ได้และยังเป็นที่ยอมรับนับถือของสังคมไทย
ถ้าเกิดผมทำในตอนนั้นนายตำรวจคนนั้นโดยเฉพาะผมเป็นคนฟ้อง หรือตั้งข้อกล่าวหาเขา ชีวิตราชการของตำรวจคนนั้นหรือชีวิตครอบครัวเขาอาจสลายไปเลย
จากการที่ผมไปจับเขาได้ว่า เขาไถเงินจากคนขับรถผมไป ๑๐๐ บาท อันนี้เป็นสิ่งที่ผมชั่งใจอยู่อย่างมากว่าจะทำหรือไม่ทำ อันนี้ไม่ใช่นอกเรื่องเล่าจากความจริง
และความรู้สึกว่าแม้แต่คอรัปชั่นมันก็มีลักษณะที่แตกต่างกันมาก ผมไม่ได้พูดถึงคอรัปชั่นของการไถเงิน
๑๐๐ บาท ทั้งที่ผมรู้ว่ามันผิด ดังนั้น เราต้องสร้างกลไกมีหลักนิติธรรม สร้างความโปร่งใสต้องให้ข้อมูล
ปัจจุบันเรามีพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารแล้วประชาชนรู้ไหม ประชาชนใช้สิทธิและใช้ประโยชน์จากพระราชบัญญัตินี้หรือเปล่า
การประมูลราคาก็ดี การกระทำสัญญาต่าง ๆ ก็ดี โดยเฉพาะสัญญาซื้อขายจากหน่วยราชการต่าง
ๆ เราใช้ประโยชน์จากการที่ต้องได้รับข้อมูลหรือเปล่า ถ้าเผื่อประชาชนในสังคมไทยไม่ตระหนักถึงกฎหมายใหม่
ๆ ที่เรามีอยู่ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารและอื่น
ๆ ที่จะตามมาอีก บ่นข้างหลังเฉย ๆ ไม่ได้หรอกครับ นินทาไม่ได้ หัวเราะไม่ได้ เราต้องใช้สิทธิของเรา
สิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญ เราต้องมีส่วนรู้เห็น เราต้องกระโจนเข้าไปในเวที ในอันที่จะทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น
ในอันที่จะทำให้เกิดการได้รับข้อมูลข่าวสารของรัฐมากขึ้น ที่ผ่านมาผมเป็นนายกฯ ครั้งที่
๒ เป็นโชคดีของผม ครั้งแรกเราออกพระราชบัญญัติค่อนข้างจะมากหลายสิ่งหลายอย่างกระทบกระเทือนผลประโยชน์และความผาสุกของสังคม
ผมเป็นคนไม่ค่อยมีรากฐานเดิมในเรื่องของการบริหาร ผมไม่รู้หรอกครับว่าหลังพระราชบัญญัติออกแล้วจะไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีกฎกระทรวงออกมา
ผมกลับไปหนที่สองไปถามดูปรากฎว่า นายอานันท์ ไปแล้ว มันคงไม่กลับมาอีกแล้ว อุบัติเหตุ
๒ ครั้งในชีวิตไม่ควรจะมี ผมกลับมาปรากฏว่าพระราชบัญญัติออกไป ไม่มีกฎกระทรวงออกหรือกฎกระทรวงออกมาบิดเบือนด้วย
ผมกลับไปครั้งที่ ๒ สี่เดือนหลังนั้นต้องไปเร่งหน่วยราชการต่าง ๆ ไปดูแลให้เขาออกกฎกระทรวงเป็นครั้งแรก
คณะรัฐมนตรีมีมติซึ่งปัจจุบันผมไม่ทราบว่ามีการทำตามหรือเปล่าว่ากฎกระทรวงนั้น ต้องติดให้ประชาชนได้รับทราบตามอำเภอ
ตามตำบล ตามหน่วยงานราชการทั้งหลาย เพราะมิฉะนั้นถ้าคนไปบอกว่าตามกฎหมายสิทธิเป็นอย่างนี้
ข้าราชการจะบ่นบอกว่ามันขัดกับกฎกระทรวง เริ่มต้นอย่าให้ราชการหลอกเราได้ว่ากฎกระทรวงนั้น
ไม่ตรงกับกฎหมาย กฎกระทรวงนั้นอยู่บนมูลฐานของตัวกฎหมาย ถ้าอ้างกฎกระทรวงมาก ๆ ต้องขอดู
ประชาชนต้องขอดู สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสิ่งเล็กสิ่งน้อย แต่เป็นสิ่งที่เราต้องสอนให้คนไทย
สังคมไทยรู้ว่าสิทธิของเรามีอะไร สิทธิภายใต้กฎหมาย สิทธิของการเป็นมนุษยชนและเราต้องรักศักดิ์ศรีของตนไว้
เราต้องสร้างกลไก ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้สร้างกลไกขึ้นมามาก เป็นกลไกที่สร้างองค์กรอิสระที่จะตรวจสอบที่จะคานอำนาจ
ที่จะให้เกิดความโปร่งใสและให้เกิดการลงโทษ รัฐธรรมนูญมีคณะกรรมการเลือกตั้ง เพื่อดูความโปร่งใส
ดูความใสสะอาด ซึ่งจะดูได้มากแค่ไหน ผมไม่ค่อยแน่ใจ เรามีคณะกรรมการ ปปช. ปราบปรามคอรัปชั่น
มีตุลาการรัฐธรรมนูญ อาจมีศาลปกครอง อาจจะมีคณะกรรมการการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งขับสู้อยู่มานานกว่าจะออกมาเป็นพระราชบัญญัติในปัจจุบัน
เหนื่อยเพราะศรีธนญชัยเยอะเหลือเกินในเมืองไทย วิ่งกันขวักไขว่ รถติดเต็มในกรุงเทพฯ
อาจยังไม่แน่นหนาในทางบางแห่งที่เป็นทางสัญจรของพวกศรีธนญชัยทั้งหลาย แต่ต้องทำและดูแลองค์กรอิสระให้เขา
อิสระจริง มีคนดี ๆ เข้าไปอยู่จริง และเขาทำตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเลิกคิดเถอะครับว่า
รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสามารถแก้ปัญหาของสังคมไทยทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้ ไม่มีสังคมใดที่การแก้ปัญหานั้นจะอาศัยตัวบทกฎหมายแต่อย่างเดียว
อังกฤษก็เป็นประชาธิปไตยที่ค่อนข้างสูงค่อนข้างจะมากเป็นที่นิยมชมชอบ เขายังไม่มีรัฐธรรมนูญที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร
ถ้าเราลองคิดว่าประเทศอังกฤษ ซึ่งใช้ระบอบประชาธิปไตยที่ค่อนข้างสมบูรณ์ประเทศหนึ่งในโลกแล้ว
เขาไม่มีรัฐธรรมนูญที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร แล้วมองย้อนประเทศใดก็ตามที ซึ่งมีรัฐธรรมนูญที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วทุกอย่างมันจะเรียบร้อยก็ไม่จริงเสมอไป
เพราะว่าสังคมนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบอบ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวรัฐธรรมนูญอย่างเดียว
มันต้องขึ้นอยู่กับการที่เราจะต้องสร้างกลไกในสังคมต่าง ๆ ให้เกิดการคานอำนาจ ให้เกิดความโปร่งใส
ให้เกิดความรับผิดชอบ มีหลักนิติธรรม และที่สำคัญที่เราเองยังไม่ค่อยมีคือมีสื่อ
สื่อที่อิสระ สื่อที่เป็นธรรม และสื่อที่ไม่หากินจากสังคมในทางมิชอบ สื่อที่ไม่มีการคอรัปชั่น
เพราะว่าถ้าสังคมนั้น ไม่มีสื่อที่มีความเป็นอิสระ ไม่มีสื่อที่มีความกล้า ไม่มีสื่อที่ยืนหยัดในหลักการ
ในการต่อสู้เรื่องคอรัปชั่น เราก็ขาดอุปกรณ์ไปอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องหวังว่าจากการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
จากการตื่นตัวของประชาชนมากขึ้น จากการที่เราสร้างวัฒนธรรม ความคิดซึ่งเขียนในรัฐธรรมนูญว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย
ถ้าเราอยากเป็นเจ้าของ เราจะต้องหวงแหน เราต้องต่อสู้สิทธิของความเป็นเจ้าของ ความเป็นเจ้าของประเทศ
เราต้องแสดงออกถึงความต้องการของเรา ทั้งในทางด้านสิทธิและความชอบธรรมที่จะเข้าไปร่วมในกระบวนการการเมือง
ซึ่งในกระบวนการการเมืองในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการเลือกตั้งอย่างเดียว การเลือกตั้งเป็นเพียงส่วนหนึ่งแต่คนไทยทุกคนที่เป็นเจ้าของประเทศ
ถ้าเราไม่มีจิตสำนึกในเรื่องนี้ ว่าเราจะใช้สิทธิของการเป็นเจ้าของประเทศอย่างไร
จะใช้สิทธิของการควบคุม และกำหนดวิธีการที่เข้ามีส่วนร่วมในการพิจารณา มีส่วนร่วมในการตัดสินใจและรับผิดชอบร่วมกัน
ถ้าเราไม่แสดงจิตสำนึกอันนี้ ไม่เข้าไปอยู่ในวงจร เราเท่ากับตัดอนาคตของตนเอง เราอย่าไปโทษใคร
อย่าไปโทษ IMF อย่าไปโทษฝรั่ง อย่าไปโทษคนนั้น อย่าไปโทษคนนี้ เราต้องโทษตัวเอง
ถ้าเราอยากเห็นลูกหลานเราอยู่ในสังคมที่ดีขึ้น สังคมที่ยังเก็บความดีงามของสังคมไทยในอดีต
สังคมที่เป็นอิสระมาตั้งแต่ดั้งเดิมกว่า ๗๕๐ ปี สังคมที่มีความเอื้ออาทรกัน เราต้องเริ่มทำและทำอย่างจริงจัง
และผมไม่ได้พูดแบบพูดพล่อย ๆ ผมอายุ ๖๗ แล้วปีนี้ และผมเห็นเมืองไทยมาทุกมุมทุกด้าน
วันก่อนผมเจอลูกเพื่อนคนหนึ่ง เด็กอายุ ๒๔ มีบริษัทเล็ก ๆ ของเขาทำทางด้านเกี่ยวกับโฆษณา
ทำ TV Production ซึ่งหากินส่วนใหญ่เกี่ยวกับหน่วยราชการ เพราะว่าหน่วยราชการหลายหน่วยมีงบประมาณในการซื้อเวลาหรือมอบหมายให้ทำ
เด็กคนนี้พูดกับผมอย่างเศร้าว่าคุณลุงผมอยู่ในงานนี้มาสองปีครึ่ง ผมต้องติดต่อหน่วยงานราชการตลอดเวลา
ผมยังไม่เคยเห็นเลยว่ามีหน่วยราชการใดที่ไม่โกง อันนี้เป็นปัญหาที่พวกคุณทั้งหลายต้องไปขบคิดเอาเอง
ผมบอกได้อยู่ ๒ - ๓ อย่าง - ต้องแก้ไข
ต้องทำอย่างจริงจัง พยายามเปลี่ยนวัฒนธรรมความคิด โดยเฉพาะเห็นว่าปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาส่วนตัวไม่ใช่ปัญหาประหัตประหาร
แต่เป็นโรคของชาติ โรคของสังคมต้องได้รับการเยียวยาต้องแก้ไข มิฉะนั้นชีวิตอยู่ไม่รอด
อย่าไปคิดนะครับว่าลัทธิหรือการปกครองคอมมิวนิสต์ ในรัสเซียก็ดี ในที่ต่าง ๆ ก็ดี
มันถึงความหายนะ เพราะเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์ จริง ๆ แล้วหายนะ เพราะเรื่องคอรัปชั่น
ส่วนใหญ่เป็นปัญหาของชาติที่สำคัญมากต้องแก้ไขอย่างจริงจัง
- เราต้องเริ่มสร้างกลไกต่าง ๆ ต้องดูแลกลไกที่ผมพูดถึงนั้นเป็นกลไกที่สามารถปฏิบัติงานได้จริง
เพิ่มเติมหน่อย
- เราต้องเริ่มมีกลุ่มในสังคมต่าง
ๆ ที่เราเรียกว่าหมู่คณะหรือองค์กรของภาคประชาชน เรามีสายงานด้านสิ่งแวดล้อมมากแล้วและเขาทำได้ดี
สายงานขององค์กรหรือชุมชนที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจังหวัดแพร่ น่าน และต่างจังหวัดเขาทำได้ดีมาก
เราต้องมีกลุ่มคณะหรือองค์กรต่าง ๆ ดูแลเรื่องคอรัปชั่น ในการสร้างกระแสความคิดของสังคมและเสนอแนะแนวทาง
ประเทศอิตาลีซึ่งรู้ว่าเป็นประเทศที่มีคอรัปชั่นมากที่สุดในโลก
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เขาต้องใช้วิธีเปลี่ยนความคิด และวัฒนธรรม ผมไปอิตาลีบ่อยเหมือนกัน
แต่ครั้งหนึ่งเมื่อสี่ห้าปีมาแล้ว ผมเจอเพื่อนอิตาลีคนหนึ่งเขาบอกว่าค่อนข้างมีการเปลี่ยนแปลงวิถีความคิด
เพราะสมัยก่อนคนอิตาเลียนก็เหมือนคนไทยทุกอย่างตามสบาย คอรัปชั่นในอิตาลีมีมาก คอรัปชั่นในกระบวนการทางการเมือง
ในภาคเอกชน แต่เมื่อสี่ห้าปีเป็นครั้งแรกที่นักการเมืองคนหนึ่ง มีชื่อเสียงโกงกินเดินไปที่ไหนคนจะ
Boo ในถนนเป็นครั้งแรกในอิตาลีในสังคมไทยผมยังไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้ สิ่งนี้ในภาษาฝรั่ง
เรียกว่า Social Sanction เราไม่ต้องทำอะไรมากหรอกครับ เลิกไหว้กันซะที เราจะได้ไม่เสียกำลังยกมือขึ้นบ่อยครั้งในแต่ละวัน
แต่ต้องทำและต้องทำโดยเร็วและทำอย่างไม่ยับยั้งและทำให้เกิดผล |