รวมปาฐกถาภาษาไทย

คำปราศรัย
เรื่อง ความสามารถทางการแข่งขันกับอนาคตไทย
โดย นายอานันท์ ปันยารชุน
อดีตนายกรัฐมนตรี
วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ. ศ. ๒๕๔๓
ณ ที่ประชุมใหญ่ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย

สวัสดีท่านสมาชิกสมาคมทุกท่าน


ในระยะสองถึงสามปีหลังนี้ มีการพูดกันอย่างกว้างขวางในประเด็น ความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า ไทยมีอันดับของความสามารถนี้ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ตัวอย่างได้แก่ ไทยอยู่อันดับที่ ๓๓ ในขณะที่สิงคโปร์และมาเลเซีย อยู่อันดับที่ ๒ และ ๒๕ ตามลำดับ หากความเป็นจริงเป็นเหมือนเช่นอันดับความสามารถ ประเทศไทยคงต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจก่อนในปรัชญาความคิดพื้นฐานของความสามารถทางการแข่งขัน


เหตุใดประเทศจึงต้องแข่งขันกัน เหตุผลพื้นฐานก็คือ เพื่อปรับมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชากรให้สูงขึ้น โดยปกติก็วัดกันจากผลผลิตมวลรวมประชาชาติ และอาจจะนำเอาเรื่อง การเปรียบเทียบกำลังการซื้อ (Purchasing Power Parity) มาเกี่ยวข้องบ้าง อย่างไรก็ตามการวัดตามแนวนี้ ยังไม่อาจจะครอบคลุมถึงปัจจัยทางด้านสังคมได้ จึงเริ่มมีการกล่าวถึงการเติบโตที่ยั่งยืน (Sustainable Growth) อันครอบคลุมถึงการเติบโตในปัจจุบัน จะต้องมีผลดีถึงประชากรรุ่นถัด ๆ ไปด้วย


อาจจะมีความสงสัยเช่นกันว่า ระหว่างรัฐบาลกับภาคเอกชน ส่วนใดมีผลต่อความสามารถทางการแข่งขันมากกว่ากัน ในความเป็นจริงแล้วผู้ที่แข่งขันคือภาคเอกชน ทั้งนี้เป็นตามแนวคิดพื้นฐาน ของนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิค ที่พิจารณาในเรื่องผลผลิตอันได้แก่ ที่ดิน ทุน ทรัพยากรธรรมชาติ และแรงงาน แต่เมื่อสังเกตจากความเกี่ยวข้องของภาครัฐ ไม่ว่าประเทศใดก็ตามจะพบว่า ภาครัฐมีบทบาทมากทีเดียว ในเรื่องความสามารถทางการแข่งขันนี้ ทั้งนี้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ให้เพื่อประโยชน์ต่อการลงทุนจากต่างประเทศ หรือ Foreign Direct Investment อันจะมีผลต่อการเลือกทำเลที่ตั้งของการผลิต และต่อเนื่องถึงการส่งเสริมการส่งออก ทั้งนี้จะมีผลโดยตรงต่อความมั่งคั่งของชาติสืบไป


ที่กล่าวมาจากเบื้องต้นทั้งหมด คือ ภาพรวมอย่างกว้างของเรื่อง ความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งท่านสมาชิกฯ จะเห็นได้ว่ามีความสลับซับซ้อนอยู่ในตัวเองอยู่มาก ดังนั้นเมื่อสถาบันเพื่อการพัฒนาการจัดการนานาชาติหรือที่เรียกว่า International Institute For Management Development (IMD) จัดทำการสำรวจเพื่อวัดผลความสามารถทางการแข่งขัน จึงเป็นสิ่งที่น่าจะทำได้ยาก ถึงแม้ว่าจะมีการวัดเป็น ๘ ปัจจัยหลัก อันได้แก่ รัฐบาล โครงสร้างพื้นฐาน ภาวะการเงิน เศรษฐกิจท้องถิ่น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บุคลากร การจัดการ และ ความเป็นนานาชาติ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การวัดจากปัจจัยดังกล่าวนี้ อยู่บนพื้นฐานของแนวคิด ที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นทางใดก็ตาม ก็จะส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขันได้ โดยในเรื่องแรกคือ Attractiveness และ Aggressiveness ในที่นี้หมายถึงการที่ประเทศจัดความสัมพันธ์ต่อชุมชนนานาชาติ หากประเทศใดอยู่ในกลุ่ม Aggressiveness ก็จะมุ่งมั่นในการส่งออก หรือไปลงทุนในต่างประเทศ เช่น เยอรมัน ญี่ปุ่น เกาหลี ในทางตรงกันข้าม ไอร์แลนด์ และสิงคโปร์ ได้ประสบความสำเร็จ ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

อีกประเด็นได้แก่ Proximity แนวคิดมาจากพื้นฐานของการปกป้องเศรษฐกิจท้องถิ่น ในขณะที่ แนวคิดเรื่อง Globality มีความแตกต่าง ในการส่งเสริมการแข่งขันโดยเฉพาะเรื่องราคา


ประเด็นที่น่าสนใจคือ เรื่องของ Asset and Process ในความหมายก็คือ บางชาติที่มีทรัพยากรมากมาย อาทิ อินเดีย บราซิล รัสเซีย ก็มิได้หมายความว่า จะแข่งขันได้อย่างดี เมื่อเทียบกับประเทศที่มีกระบวนการในการเปลี่ยนรูปแบบทรัพยากรนั้น อาทิ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และ สวิตเซอร์แลนด์


อีกประเด็นที่มีผลโดยตรงต่อการแข่งขันคือ การยอมรับความเสี่ยง และความผูกพันทางสังคม (Individual Risk and Social Cohesiveness) ประเทศที่มีประชากรยอมรับความเสื่ยง จะส่งเสริมการเปิดการค้าเสรี การปรับบทบาทของรัฐบาล ตัวอย่างได้แก่ อังกฤษ อเมริกา ในขณะนี้ หลายประเทศในยุโรป ยังคงยืนอยู่บนความผูกพันในสังคมเป็นหลัก


ทั้งหมดนี้เป็นภาพรวม ๆ ของประเด็นความสามารถทางการแข่งขัน ในอดีตเขาอาจจะพิจารณาเพียงไม่กี่ประเด็น เมื่อพูดถึงเรื่องความมั่งคั่ง และสมบูรณ์พูนสุขของประชากรภายในประเทศ แต่ปัจจุบันในโลกของความซับซ้อนของธุรกิจ การเงินและเทคโนโลยี ทำให้แนวความคิดของเศรษฐกิจไร้พรมแดน (Borderless Economy) เป็นประเด็นหนึ่งที่เราจะต้องพิจารณาอย่างละเอียด เพื่อส่งเสริมความสามารถของไทยให้แข่งขันกับประเทศอื่นได้ ผมจึงขอเสนอให้ท่านสมาชิกฯ พิจารณาประเด็นต่อไปนี้ เพื่อส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขันของไทยในระยะยาว


ประเด็นแรก คือ เรื่องการปรับตัวให้สอดคล้องกับการแข่งขันในกรอบของ New Economy ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาเสริมความสามารถของบุคลากร ดังนั้นในภาพกว้าง ไทยจะต้องเร่งเรื่องการเปิดเสรีโทรคมนาคม เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างสมบูรณ์แบบ และทำให้โครงสร้างพื้นฐานของไทยมีความแข็งแกร่ง สามารถแข่งขันได้กับประเทศอื่น ๆ เราควรจะพิจารณาการรวมหน่วยงานของรัฐ ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และโทรคมนาคมไว้ด้วยกันเพราะสองเทคโนโลยีนี้กำลังรวมเป็นหนึ่งเดียว ดังที่ท่านสมาชิกทราบดีทางด้านผลกระทบทางด้านอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน


ประเด็นที่สอง การส่งเสริมการศึกษา ภายใต้แนวความคิดของการจัดการ ความรู้คือ Knowledge Management ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้มีการเตรียมไว้แล้ว ได้แก่ในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร การจัดการด้านความรู้นี้ จะมีผลกระทบในแนวกว้างในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา การศึกษาอย่างต่อเนื่องของพนักงานในองค์กรต่าง ๆ สิ่งนี้จะมีผลให้ไทยมีความสามารถทางการแข่งขันได้ในระยะยาว


ประเด็นที่สาม คือ ปัจจัยทางการเมือง ซึ่งน่าจะมีความแน่นอนมากขึ้น เนื่องจากกฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ในหลายประเด็น ที่ทำให้ผู้ปกครองประเทศไม่อาจดำเนินการเพื่อประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษได้ เมื่อปัจจัยทางการเมืองมั่นคง ภาครัฐควรที่จะให้ความสำคัญ เรื่องความสามารถทางการแข่งขันโดยระบุชัดและวัดผลได้ว่า หน่วยงานใด กระทรวงใด จะต้องดูแลเรื่องอะไร โดยอาจจะยึดถือ ๘ ประเด็น ที่ทางสถาบันพัฒนาการจัดการนานาชาติใช้เป็นหลักก็ได้


ประเด็นที่สี่ คือ ด้านการปรับโครงสร้างทางการเงิน ให้สอดคล้องต่อตลาดการเงินโลก เพื่อจะสามารถรักษาความสามารถทางการแข่งขันไว้ได้


ประเด็นต่อมา คือ การแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น หรือการฉ้อราษฎร์บังหลวง ซึ่งดูเหมือนจะมีความรุนแรง ซับซ้อนมากขึ้น สาเหตุด้านหนึ่งจะมาจาก การที่สังคมไทยเป็นสังคมอุปถัมภ์ ในหลายโอกาส คนไทยเราจึงมักจะตีขลุมว่า เรื่องที่อาจจะเป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้น อันที่จริงเป็นเพียงการช่วยเหลือพวกพ้องตามปกติ แนวความคิด Good Governance ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางในขณะนี้ ก็คือเรื่องจริยธรรมที่สังคมไทยได้อบรมบ่มนิสัยตลอดมา การที่เราสามารถแก้ไข หรือลดความรุนแรงของการฉ้อราษฎร์บังหลวง จะลดต้นทุนธุรกิจ ทำให้พันธมิตรทางธุรกิจและเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีความมั่นใจในประเทศไทย อันจะนำไปสู่ความสามารถทางการแข่งขันที่ดีขึ้น


ประเด็นสุดท้าย คือ การปรับตัวของภาครัฐ โดยรวมถึงรัฐวิสาหกิจ ให้มีการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยมีการปรับกระบวรการทำงาน และนำเทคโนโลยีมาใช้ด้วย


ความสามารถทางการแข่งขันนี้ เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง ที่เราจะพิจารณาอย่างโดดเดี่ยวจากปัจจัยอื่น ๆ ไม่ได้ แต่เมื่อเรามีความเข้าใจและพร้อมที่จะแก้ไข เราก็ควรจะเริ่มต้นทั้งภาครัฐและเอกชน ในการเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้ดีขึ้น ๆ ไป