รวมปาฐกถาภาษาไทย

คำกล่าวเปิดงานสัมมนาวิชาการประจำปี ๒๕๔๒
เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง
โดย นายอานันท์ ปันยารชุน
ประธานสภาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๒
ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ซิตี้ จอมเทียน ชลบุรี

ท่านผู้มีเกียรติ

ในฐานะประธานสภาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และในนามของคณะผู้จัดการสัมมนา ผมขอต้อนรับท่านผู้มีเกียรติเข้าสู่การสัมมนาวิชาการประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๒

การสัมมนาทางวิชาการประจำปีนี้ ผมถือว่าพิเศษกว่าทุก ๆ ปี คือพิเศษด้วยโอกาส ด้วยคณะผู้ร่วมจัดการสัมมนา และด้วยหัวข้อ

ความพิเศษประการแรกและถือว่าเป็นมงคลอย่างยิ่ง คือการที่คณะผู้จัดการสัมมนา ได้มีโอกาสร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนาที่ทรงคอยชี้นำ และเป็นแกนหลักในการแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ของประเทศในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติการณ์ทางการเมือง วิกฤติการณ์ภัยธรรมชาติ วิกฤติการณ์ทางสังคม เช่น ความยากจน และความอยู่ดีกินดีของประชาชนในประเทศ และล่าสุดพระองค์ได้พระราชทานแนวคิดปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ ท่ามกลางภาวะวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ได้มีการขบคิดกันในวงกว้าง และพิจารณาสานต่อเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศต่อไป ในโอกาสอันเป็นมงคลยิ่งนี้ ผมขอถือโอกาสในนามของทุกท่าน ร่วมน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัย ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

ความพิเศษประการที่สอง ได้แก่ คณะผู้ร่วมจัดการสัมมนา ปีนี้ก็เช่นเดียวกันกับทุกปี คือ TDRI ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิชัยพัฒนา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิชัยพัฒนาร่วมจัดการสัมมนาวิชาการประจำปีกับ TDRI นอกจากนี้ เรายังได้รับเกียรติและความร่วมมือจากหน่วยงานสำคัญ ๆ อีกถึง 3 หน่วยงาน คือ สภาวิจัยแห่งชาติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ NIDA และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าสภาพัฒน์ฯ

ความพิเศษประการที่สาม คือ หัวข้อการสัมมนา เรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งหน่วยงานที่ร่วมจัดการสัมมนาต่าง ๆ ก็มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาก่อนหน้าการประชุมนี้ ทางสภาวิจัยแห่งชาติได้มีการจัดเสวนาเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ: มุมมองของนักเศรษฐศาสตร์” ขึ้น ๒ ครั้ง โดยมีผู้แทนจาก TDRI สภาพัฒน์ฯ และ NIDA เข้าร่วมด้วย ทาง NIDA ก็ได้ทำการศึกษาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง สืบเนื่องจากการศึกษาของ NIDA เอง เกี่ยวกับเกษตรทฤษฏีใหม่ในปีก่อนหน้านี้ และสำหรับสภาพัฒน์ฯ ก็ได้มีการศึกษาเพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด ในการนำเอาแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาประกอบการกำหนดกรอบการพัฒนาประเทศ

คณะผู้ร่วมจัดการสัมมนามีความเห็นตรงกันว่า ควรจัดการสัมมนาเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน และมีความชัดเจนมากขึ้นในเชิงกรอบความคิด และการประยุกต์ใช้กรอบความคิดดังกล่าว เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป

เพื่อให้มั่นใจว่าการตีความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นไปตามแนวพระราชดำริ คณะผู้จัดการสัมมนาได้รับความกรุณาจาก ฯพณฯ องคมนตรี เชาวน์ ณ ศีลวันต์ ได้ร่วมประชุมกับผู้ทรงคุณวุฒิในทางเศรษฐกิจและสาขาอื่น ๆ มาร่วมกันประมวลและกลั่นกรอง พระราชดำรัสเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ต่อมาได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต นำบทความดังกล่าวไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตลอดจนประชาชนโดยทั่วไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขพระราชทาน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่ขอพระมหากรุณา ซึ่งถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น ผมขออัญเชิญปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาอ่าน ณ ที่นี้

“เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทาง สายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียงหมายถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผน และการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี”

ถ้าท่านได้พิจารณาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างละเอียด ก็จะเห็นได้ว่ามีความลึกซึ้งอย่างมาก แท้จริงแล้วพระองค์ท่านพระราชทานแนวความคิดด้าน “เศรษฐกิจพอเพียง” มาตั้งแต่เมื่อ ๒๕ ปีที่แล้ว เพียงแต่มิได้ทรงใช้คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ผมคิดว่าพระองค์ท่านใช้คำว่า “พอเพียง” โดยเติมคำว่า “เศรษฐกิจ” เข้าไป เพราะบริบทในการพระราชดำรัสในครั้งล่าสุดเมื่อ ๒ ปีที่ผ่านมานี้ คือวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดจากภาวะความไม่พอเพียง ไม่พอใจ และสำคัญที่สุด คือไม่พอประมาณ จนก่อให้เกิดปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและวิกฤติการณ์ในที่สุด

ในปี ๒๕๑๗ ช่วงที่สังคมไทยอยู่ในภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง และสังคมไทยมีปัญหาการกระจายรายได้ พระองค์ท่านทรงเน้นในพระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาว่า คนอื่นจะว่าเมืองไทยล้าสมัย เชย ไม่มีสิ่งที่ทันสมัย ก็ช่างเขา แต่ “เราอยู่พอมีพอกิน” และพระองค์ท่านได้ทรงทดลองโครงการและทฤษฎีต่าง ๆ เพื่อความพอมีพอกินของพสกนิกรเสมอมา เป็นที่น่าสังเกตว่าทรงเน้นคำว่า “พอ” มาโดยตลอด “พอมีพอกิน” “พอเพียง” และในกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาปี ๒๕๔๑ ก็ทรงเสริมคำว่า “พอดี” เพราะเมื่อเรารู้ว่าจุดใดคือ “พอ” เมื่อนั้นเราก็จะเกิดความพอใจ เมื่อรู้จักพอใจก็จะรู้จักความพอประมาณ เมื่อรู้จักพอประมาณก็จะรู้จักให้ เมื่อรู้จักให้ก็เริ่มเกิดการแบ่งปัน เกื้อกูลกัน เกิดความสงบในสังคม เกิดความเข้มแข็งในชุมชน เกิดศักยภาพ และท้ายที่สุด จะเกิดความมั่นคงและยั่งยืน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่ครั้งแรกในปี ๒๕๓๗ และมีพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในอีก ๓ ปีต่อมา มีหลายฝ่ายโยงเศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับภาคการเกษตรเป็นหลัก อันที่จริงเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาการดำเนินชีวิตที่ปรับใช้ได้กับทุกภาคเศรษฐกิจ เช่น ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเงินการธนาคาร เป็นต้น โดยให้การดำรงอยู่และการปฏิบัติตนมีพื้นฐานอยู่บนความพอดี อยู่ในทางสายกลาง การตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล มีความเข้มแข็ง มั่นคงและยั่งยืน พร้อมปรับสภาพให้รับมือกับความไม่แน่นอน และความผันผวนจากภายนอกประเทศ โดยอาศัยความรอบคอบ รอบรู้ ความร่วมมือ ความสุจริต และความเพียรในการพิจารณาทางเลือก ประเมินและบริหารความเสี่ยง ตลอดจนพิจารณาข้อจำกัดในการตัดสินใจ เมื่อได้หลักพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเช่นนี้แล้ว ก็เป็นที่แน่ชัดว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำไปปฎิบัติใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศได้ในทุกภาค ในภาคสังคม ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็นำไปเป็นหลักได้ การกระจายรายได้ให้เกิดความพอเพียงระหว่างคนที่มีมากกว่ากับคนที่มีน้อยกว่า การกระจายอำนาจในการปกครอง ส่งเสริมให้ครอบครัวและชุมชนเข้มแข็ง มีความสม่ำเสมอ มีสติ มีเหตุผลในการตัดสินใจ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกรอบในการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาในภาคเศรษฐกิจและสังคมใด หากมีความ “พอเพียง” เป็นหลักยึดให้เกิดความพอดีแล้ว การปรับตัวสำหรับอนาคตก็จะทำได้โดยง่าย การก้าวต่อไปข้างหน้าก็จะรอบคอบ ระมัดระวัง

ประเด็นหนึ่ง ที่ผมคิดว่าสำคัญมากก็คือ แม้ว่าคำในพระราชดำรัสจะติดปากพวกเราอยู่ว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” องค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจ แต่อยู่ที่ “วิถีชีวิต” วิถีการดำรงชีวิตของคนไทย ที่ตัดขวางสังคมในทุกระดับ ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และประเทศ ผมคิดว่าเราคุ้นกับการโทษปัจจัยภายนอกในการมองหาสาเหตุของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ที่มักได้ยินเสมอก็คือ การเข้าใจประเด็นบุญทำกรรมแต่งแต่เพียงผิวเผิน อะไรเกิดขึ้นก็โทษกรรม ถือเป็นปัจจัยภายนอกที่พ้นตัว ทั้งที่ในทางพุทธศาสนา กรรมก็คือการกระทำ การกระทำของใคร ก็การกระทำของเราแต่ละบุคคล ผมคิดว่า คนไทยต้องเปลี่ยนทัศนคติการมองหาสาเหตุจากปัจจัยภายนอกให้ได้ ก่อนที่จะโทษคนอื่นหรือพึ่งคนอื่น ควรจะต้องกลับมาดูตัวเองว่าทุกอย่างอยู่ที่เรา เกิดจากเรา เราจึงต้องพึ่งตัวเอง ดังกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า อย่ายืมจมูกคนอื่นหายใจ อย่ายืนบนขาของคนอื่น ถัดจากการไม่ยืนบนขาของคนอื่นก็คือการเรียนรู้ที่จะยืนบนขาของตัวเอง นอกจากจะไม่พึ่งคนอื่นแล้ว ต้องเปลี่ยนทัศนคติไม่ตามคนอื่นจนเกินพอดีด้วย ไม่ใช่เห็นใครมีอะไรหรือทำอะไรก็ตาโตไปกับเขาหมดโดยขาดสติ ใครลงทุนอะไรก็ทำตามหมด อันนี้ในทุกระดับนะครับ ทั้งระดับบุคคลและระดับระบบ ควรหันกลับมาถามตัวเอง มากำหนดที่ตัวเองมากกว่า ดังที่พระธรรมปิฏกหรือท่านประยุทธ์ ปยุตโต ได้เขียนไว้ในหนังสือ “ทางออกจากระบบเศรษฐกิจที่ครอบงำสังคมไทย” ตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ ว่าการเข้าถึงเศรษฐศาสตร์ก็โดยธรรม ธรรมะในที่นี้ไม่ใช่จริยธรรม แต่คือสัจธรรมตามธรรมชาติ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือ ธรรมชาติตามความจริงที่เราควรพิจารณาให้ถ่องแท้ แยกแยะองค์ประกอบต่าง ๆ ให้ทั่วถึง เพื่อหาทางออกจากวิกฤติและดำรงชีวิต ตลอดจนปฏิบัติตนในแนวที่แตกต่างจากเดิม ที่กล่าวมานี้ ก็เพื่อจะโยงให้เห็นว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ว่าด้วยแก่น ว่าด้วยคุณค่า เช่นสติ ความรอบคอบ พอดี และทางสายกลาง และว่าด้วยสติปัญญา เป็นแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทดลองแล้ว ในโครงการในพระราชดำริต่าง ๆ ของพระองค์ จนทรงเห็นจริงว่าสามารถใช้ได้ เมื่อเราเข้าใจถึงแก่นเช่นนี้ การพัฒนากรอบและเครื่องมือที่เหมาะสมกับสภาพของโลกปัจจุบัน ก็เป็นข้อท้าทายของเราทุกคน

สุดท้ายนี้ผมขอกล่าวถึงจุดมุ่งหมายปลายทางของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างสั้น ๆ ถ้าเปรียบเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแก่น แนวปฏิบัติต่าง ๆ เช่น เกษตรทฤษฎีใหม่ก็คือเครื่องมือ หลักชัยก็คือการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable development สิ่งเหล่านี้เป็นความยั่งยืนซึ่งมีที่มาจากความตระหนักว่าในระบบมีข้อจำกัดในด้าน input มิใช่มีทรัพยากรด้านต่าง ๆ มาถมลงไปได้โดยไม่มีที่สิ้นสุด เป็นความยั่งยืนที่เกิดจากความเข้าใจว่า input และ output ต้องสมดุลกัน ต้องใช้ input และ บริหาร output อย่างมีสติ อย่างรอบคอบ อย่างพอดี และอย่างพอเพียง

ผมขอฝากไว้เพียงเท่านี้ และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านจะร่วมกันระดมความคิดอย่างสร้างสรรค์ ในระยะเวลาวันครึ่งนี้ เพื่อทำความเข้าใจ ทำความเข้าใจกับตัวเอง ทำความเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างถ่องแท้ กับความหมายของ “เศรษฐกิจพอเพียง” และช่วยกันพิจารณาถึงการประยุกต์ใช้ปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” สำหรับแนวทางการพัฒนาประเทศทางด้านต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และยั่งยืนสู่สหัสวรรษใหม่ที่กำลังมาถึง

บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้ว ผมขอเปิดการสัมมนาทางวิชาการประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๒