รวมปาฐกถาภาษาไทย

คำกล่าวสุนทรพจน์ของ นายอานันท์ ปันยารชุน
เรื่อง เศรษฐกิจไทยปี ๒๕๔๒: ทิศทางการฟื้นฟูอุตสาหกรรมไทย
วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๑
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ท่านประธานสภาอุตสาหกรรมฯ

ท่านรองประธาน

ท่านสมาชิก และ ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย


เช้าวันนี้ผมกลับมาเยือนบ้านเก่า ยินดีที่ได้มีโอกาสมาพบกับเพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงานที่เคยทำงานร่วมกันในสภาอุตสาหกรรมฯ มาเป็นเวลา ๑๐ กว่าปี เพราะฉะนั้นการมาในครั้งนี้ไม่ได้มาในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี แต่มาในฐานะบุคคลหนึ่งที่โชคดีและมีโอกาสดีที่ครั้งหนึ่งในชีวิตมีโอกาสทำงานให้สภาอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจของเมืองไทย วันนี้ผมได้ดูรายการที่บรรดาผู้ที่จะมาพูด หัวข้อบอกว่าเศรษฐกิจไทยปี ๒๕๔๒: ทิศทางการฟื้นฟูอุตสาหกรรมไทย ในตอนเช้าจะมีผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งในด้านราชการและด้านวิชาการมาอภิปรายหัวข้อเรื่อง เศรษฐกิจไทย: เศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง ตอนบ่ายจะมีรัฐมนตรีมาพูดเรื่องของกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นเมื่อผมดูรายชื่อผู้พูดแล้วล้วนแต่เป็นผู้ที่มีอำนาจและมีความรับผิดชอบในหัวข้อที่ท่านอยากให้ผมมา แต่โดยที่ไม่ได้เป็นนักการเงินการคลัง และนักธุรกิจที่แท้จริง และไม่มีตำแหน่ง อำนาจความรับผิดชอบต่าง ๆ ผมก็รู้สึกว่าอาจจะเหมาะสมมากกว่า ถ้าหากปล่อยให้เรื่องของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่บรรดาผู้รับผิดชอบทั้งหลาย หรือผู้ที่มีความรู้วิชาการอย่างแท้จริงนั้น ควรมาให้ข้อคิดเห็น แต่สิ่งที่ผมจะมาพูดวันนี้นั้นอาจจะไม่เกี่ยวพันกับหัวข้อที่ท่านตั้งไว้โดยตรง ไม่ใช่ในระยะสั้น แต่ในระยะยาว ผมว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นมากและเป็นเรื่องที่บรรดานักอุตสาหกรรม หรือนักธุรกิจไทยจำเป็นต้องใส่ใจไว้แต่บัดนี้ว่าต้องอุตสาหะขวนขวาย ไม่ว่าเราจะรับหรือไม่รับ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ แต่สิ่งที่ผมจะพูดนี้ต้องเกิดขึ้นแน่ ๆ และยิ่งเกิดขึ้นได้เร็วเท่าไหร่ในสังคมไทย โดยเฉพาะสังคมธุรกิจไทยก็จะเป็นเครื่องประกันว่า ในอนาคตนั้น ถ้าหากวิกฤตประเภทนี้เกิดขึ้นอีก ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ ผลร้ายที่ตามมาจะได้รับการประทังและไม่ถึงขั้นวิกฤตหายนะอย่างที่ ปรากฏอยู่ คนจำนวนพัน จำนวนหมื่น กำลังประสบอยู่


ทางด้านส่วนตัวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมไปเป็นประธานการประชุมสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ผมได้มีโอกาสพูดในที่ประชุม บอกบางสิ่งบางอย่างที่สถาบัน วิจัยเพื่อการพัฒนากำลังดำเนินการอยู่ หรือจะดำเนินการต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการตามคำเชิญของรัฐบาลหรือตามความสนใจเป็นพิเศษของรัฐบาล เราจำต้องคิดว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นในเมืองไทยเป็นการผิดพลาดของคนจำนวนมากทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายเอกชน และคงไม่มีใครสามารถหาสาเหตุที่แท้จริงว่ามันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ หรือเกิดขึ้นเพราะใคร หรือแม้แต่เกิดขึ้นเพราะเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ แต่มันเป็นการเกิดขึ้นจากเหตุการณ์หลาย ๆ เหตุการณ์ เกิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายปี และเป็นความบกพร่อง ความผิดพลาด ทั้งที่จะมีเจตนารมณ์บริสุทธิ์หรือมีเจตนารมณ์ไม่บริสุทธิ์ของคนจำนวนมาก แต่ถ้าเราจะฟื้นฟูเศรษฐกิจของเราในเมืองไทยนั้น คำถามที่ต้องถามก็คือว่า เราฟื้นฟูไปสู่ทิศทางใด


ถ้าเกิดภูมิปัญญาของเราบอกว่าเราจะฟื้นฟูกลับไปที่เดิม กลับไปเมื่อ ๑๘ เดือนที่แล้วหรือ ๓ ปีที่แล้ว จริงหรือเปล่า ถ้าดีจริงเราก็ควรฟื้นฟูกลับไปจุดนั้น แต่คนส่วนใหญ่คงจะมองเห็นว่า สิ่งที่เราเรียกว่าเศรษฐกิจฟองสบู่นั้น เป็นเศรษฐกิจที่มีภาพมายา มองจากข้างนอกหรือมองจากตนเอง ผลประโยชน์ของตัวเองในบางด้านอาจเป็นเศรษฐกิจที่ดีแต่จริง ๆ แล้วเป็นภาพลวงตา เป็นเศรษฐกิจที่ผมเรียกว่าท่าดีทีเหลว เป็นเศรษฐกิจที่ไม่มีความยั่งยืน เป็นเศรษฐกิจที่ไม่ได้อาศัยความพอเพียง เป็นเศรษฐกิจของคนโลภ ของคนอยากได้ ของคนแก้ปัญหาระยะสั้น เพระฉะนั้นในการสัมมนาทั่ว ๆ ไปรวมทั้งการสัมมนาในวันนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโจทย์ที่เราต้องตั้งให้กับสังคมไทย หรือสังคมอุตสาหกรรมของเมืองไทยนั้นว่าเราจะอยู่รอดเพื่อดำเนินการฟื้นฟูนั้น ฟื้นฟูไปเพื่อให้เศรษฐกิจอยู่รอด หรือยั่งยืนเป็นเศรษฐกิจที่พอเพียง เป็นเศรษฐกิจที่อาศัยคุณธรรมและวัฒนธรรมดั้งเดิมของเมืองไทยในแง่ที่ดีและต้องเป็นเศรษฐกิจที่ไม่ใช่ว่าคนรวย รวยอย่างไม่รู้เรื่อง และคนจนก็จนอย่างไม่มีวันได้ผุดได้เกิด ถ้าเป็นเศรษฐกิจที่ปรากฏมาแล้วในระยะเวลา ๒๐ ปีที่ผ่านมาเป็นเพียงแต่เศรษฐกิจที่ให้โอกาสแก่ผู้มีโอกาสเท่านั้น แต่เป็นเศรษฐกิจที่ตัดโอกาสหรือลดโอกาสคนที่มีโอกาสน้อยอยู่แล้ว เป็นเศรษฐกิจที่ทำให้คนรวยรวยมากขึ้นโดยไม่มีเหตุผล เป็นเศรษฐกิจที่ทำให้ความยากจนของคนกว่า 40 % ในเมืองไทยยากจนมากขึ้น


ผมพูดในลักษณะที่กว้างแต่สิ่งแรกที่ผมอยากให้นักธุรกิจของเมืองไทย โดยเฉพาะนักอุตสาหกรรมของเมืองไทยนั้นได้ตระหนักอยู่เสมอและมีความจำเป็นต้องจดจำไว้ในอนาคตก็คือ ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของบริษัทก็ดี ของภาคอุตสาหกรรมก็ดี จะไม่มีความยั่งยืน จะไม่มีความมั่นคงถาวร ถ้าหากความเจริญ ความก้าวหน้า หรือความร่ำรวยนั้นเป็นการทำนาบนหลังคน หรือไม่ได้คำนึงถึงสัดส่วนผลประโยชน์ที่พนักงาน ลูกจ้าง และคนยากจนทั้งหลายเขาควรจะได้รับ ถ้าเผื่อเราดูตามสถิติทั่วไปแล้ว ประเทศที่กำลังพัฒนาไม่ว่าจะในอเมริกาใต้ หรือแม้แต่ในยุโรปบางประเทศ ในเอเชียเป็นส่วนใหญ่ การพัฒนาในแบบที่เราทำมาในอดีตนั้นเป็นการพัฒนาที่ไม่ได้ให้ความสำคัญหรือให้ความสำคัญไม่พอ ผลที่ตามมาในทางด้านสังคม การโยกย้ายคนในชนบทเข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมในกรุงเทพฯ รายได้อาจจะดีขึ้นแต่เขาเสียอะไรไปหลายอย่าง เขาเสียชีวิตครอบครัวที่ต้องแยกย้ายไป หรือถ้าเอาครอบครัวมาสูญเสียบางสิ่งบางอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องเด็กไร้ที่อยู่ ไม่ว่าเป็นเรื่องยาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เพราะฉะนั้น สังคมเศรษฐกิจหรือสังคมอุตสาหกรรมของทุกประเทศนั้น จะต้องเป็นสังคมที่ไม่คำนึงถึงกำไรโดยการทำธุรกิจเป็นสิ่งที่ชอบธรรม เป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าผิดศีลธรรม นอกเหนือไปจากพฤติกรรม หรือการปฏิบัติทางการค้าธุรกิจที่ไม่เป็นศีลธรรมจริง แต่การมีกำไรเป็นสิทธิของพวกท่าน ตราบใดที่กำไรนั้นเป็นกำไรที่ได้มาโดยความชอบธรรม เป็นกำไรที่แบ่งปันผลประโยชน์ให้ผู้อื่นด้วย ทำไมผมถึงย้ำถึงข้อนี้มากนัก เพราะผมเห็นว่าสังคมธุรกิจ สังคมอุตสาหกรรมของเมืองไทยนั้น นับวันนับวันนอกเหนือจากการบริหารที่ดีที่เราเรียกว่า Good Management มีการประชาสัมพันธ์ที่ดี มีการบริหารการเงินที่ดี และมีอะไรที่ดี ๆ หลายอย่าง แต่สิ่งเหล่านั้นเพียงพอหรือไม่


คงไม่มีใครจะปฏิเสธได้ว่าวิกฤตที่เราประสบในปัจจุบันนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะพวกเรากันเอง จะเป็นด้วยความเห่อเหิมโดยไม่ใช้เหตุผล หรืออย่างที่นายกรีนสแปน ประธานของ The Fed ของอเมริกันใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Irrational Exuberance เพราะมันไม่มีเหตุผลที่นักธุรกิจยืมเงินอย่างไม่คำนึงถึงคุณค่าของโครงการที่ตัวเองยืมอย่างแท้จริง หรือยืมเงินมาเพื่อโครงการแต่ไม่ได้ใช้ตามโครงการที่ถูกต้องและหลายสิ่งหลายอย่างมันสื่อให้เห็นอะไร สื่อให้เห็นว่าธุรกิจของเมืองไทย อุตสาหกรรมของเมืองไทยยังขาดตัวสำคัญอยู่ตัวหนึ่ง และตัวนั้นก็คือ Good Governance ซึ่งบางครั้ง บางคนใช้คำว่า ธรรมรัฐ บางคนใช้คำว่า ธรรมภิบาล ผมไม่แน่ใจว่าภายใน ๑ ปีนี้คำไหนจะติดในสังคมไทย แต่ระหว่างที่เลือกกันอยู่ว่าจะใช้คำไหนและบางคนอาจจะไม่ชอบเลย ไม่ใช้สักอย่างหนึ่ง อันนี้ก็เป็นสิทธิของเขา แต่เราจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าหากอุตสาหกรรมไทย ธุรกิจของไทยเรามี Good Governance ในอดีตไม่ใช่ว่าปัญหาจะไม่มีวิกฤตก็คงมี แต่ผลกระทบก็คือน้อยลงไป และอะไรคือธรรมรัฐ อะไรคือธรรมาภิบาล เป็นสิ่งที่เราจับต้องไม่ได้ ไม่เหมือนไมโครโฟน ไม่เหมือนโต๊ะ ไม่เหมือนเก้าอี้ แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่า Abstract Idea อาจจะจับไม่ได้ แตะต้องไม่ได้ ดมกลิ่นไม่ได้ แต่เรารู้องค์ประกอบ แต่ก่อนที่เราจะรู้องค์ประกอบธรรมาภิบาลนั้น เราจะต้องรู้เสียก่อนว่า Concept ของ Good Corporate Governance มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าไม่เข้าประเด็นนี้ ในประเด็นพื้นฐานว่า Good Governance มันเกิดมาได้อะไร เราจะไม่มีทางบรรลุถึงความเข้าใจของวิธีการของมันได้


เราจะใช้คำว่า Good Governance ในลักษณะของระดับชาติก็ดี ในระดับ สังคมใหญ่ก็ดี หรือในระดับสังคมเศรษฐกิจก็ดี Good Governance มันเริ่มต้นจากข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็นที่ว่าถ้าเผื่อในระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย หรือบางคนอาจจะชอบใช้คำว่า มาจากปวงชนชาวไทย แต่ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันใช้ว่า เป็นของปวงชนชาวไทย นักการเมือง หรือผู้แทนที่เราส่งเข้าไปในสภานั้น เป็นแค่ตัวแทน คนที่เป็นรัฐมนตรีก็เป็นแค่ตัวแทนของเรา ในระบบการเมืองปัจจุบันและในอนาคต บุคคลที่เข้าไปอยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง เขาเข้าไปในลักษณะตัวแทนประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจ ถ้าเผื่อเริ่มจากจุดนั้นเราจะเข้าใจ ถ้าเผื่ออำนาจอยู่ที่เรา เราก็มีโอกาสตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะเรียกร้องหรือเริ่มต้นขบวนการที่ถอดถอนเขาได้ เพราะอำนาจอยู่ที่เรา และเมื่ออำนาจอยู่ที่เรา เราก็มีสิทธิต่าง ๆ เราก็มีความเป็นเจ้าของเกิดความรู้สึกขึ้นมา ฉันใดก็ฉันนั้น


ในวงการอุตสาหกรรม วงการธุรกิจ ถ้าเราเริ่มต้นใช้ Concept ของ Good Corporate Governance นักธุรกิจไทย นักอุตสาหกรรมไทย ก็ต้องเริ่มปรับตัวเอง ปรับวิธีคิดของตนเอง ผมไม่ได้บอกว่าวิธีคิดเก่านั้นผิด เพราะว่าเมื่อสังคมอุตสาหกรรมของเมืองไทยเริ่มต้นจากครอบครัว เริ่มต้นจากพี่น้อง เริ่มต้นจากเพื่อนฝูง มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าในระยะเวลา ๓๐ - ๔๐ ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมไทย หรือธุรกิจของไทยก็จำต้องยึดถือครอบครัว พี่น้องและเพื่อนฝูง แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป วิวัฒนาการของสังคม ซึ่งนับวัน นับวัน ความเป็นเจ้าของครอบครัวจะน้อยลง ความเป็นเจ้าของพี่น้องจะน้อยลงไป และความเป็นเจ้าของระหว่างบรรดาเพื่อนฝูงก็จะน้อยลงไป การมีตลาดหลักทรัพย์ก็ดีที่มีการกำหนดว่าคนข้างนอกจะถือหุ้นกี่เปอร์เซ็นต์ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นวิวัฒนาการของมันในตัว


เมื่อเป็นวิวัฒนาการของประเทศนี้แล้ว ตามทิศทางนี้ นักธุรกิจไทยไม่ว่าจะเป็นเจ้าของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือนอกตลาดหลักทรัพย์ ก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดแล้วว่าการเป็นเจ้าของบริษัทของเรา นับวันความเป็นเจ้าของจะขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้น ไม่ได้อยู่กับครอบครัว มิได้อยู่กับพี่น้อง เท่านั้นยังไม่พอ ความเป็นเจ้าของบริษัทหรือความเป็นเจ้าของธุรกิจนั้นไม่ได้ขึ้นกับผู้ถือหุ้นอย่างเดียว ยังขึ้นอยู่กับผู้ใช้สินค้าที่เราผลิตด้วย คือ ผู้อุปโภคและบริโภค บางคนอาจจะบอกว่านี่เป็นวิธีคิดใหม่รับไม่ได้ อันนี้เป็นกระแส กระแสของวงการธุรกิจ ซึ่งนับวัน นับวัน ใครที่รับไม่ได้ก็ต้องเรียนรู้ วันหนึ่งในอนาคตจะต้องรับ จะรับกระแส หรือรับความคิดเท่านั้นยังไม่พอ ก็ต้องมีการเตรียมการไว้ก่อน เพราะนับตั้งแต่เราเริ่ม Good Corporate Governance เจ้าของไม่ได้อยู่ที่เจ้าสัว ไม่ได้อยู่ที่ครอบครัว ไม่ได้อยู่ที่พี่น้อง ไม่ได้อยู่ที่เพื่อนฝูง แต่เจ้าของเป็นบุคคลข้างนอก ซึ่งเราอาจไม่รู้จัก ไม่เห็นหน้า ไม่รู้ตัวตน แต่ตราบใดที่เขาเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ ความเป็นเจ้าของอยู่ที่เขา


เมื่อความเป็นเจ้าของไม่ได้อยู่ที่เรา ไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายบริหาร ไม่ได้อยู่ที่ครอบครัว แต่อยู่ที่คนข้างนอก มันก็เข้าลักษณะเดียวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เมื่อคนข้างนอกหรือผู้ถือหุ้นเขาเป็นเจ้าของ เขาก็มีสิทธิหลายอย่างที่ในอดีต ครอบครัวก็ดี หรือฝ่ายบริหารก็ดี ไม่ได้ให้เขารู้ ไม่ได้ให้เขาเห็น ดีไม่ดีปิดบังเขาด้วย หลอกลวงเขาด้วย สิ่งเหล่านี้ต้องค่อย ๆ หมดไปและจะหมดไป เมื่อประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตยมากขึ้นเท่าใด ผู้ถือหุ้นก็จะเรียกร้องสิทธิการเป็นเจ้าของบริษัทของตนเองมากขึ้นในการเป็นเจ้าของ เขาต้องการอะไร เขาต้องการข้อมูล เขาต้องการความโปร่งใส เขาต้องการมีตัวแทนในคณะกรรมการ ปัจจุบันนี้ตลาดหลักทรัพย์ เขาก็ใช้มาตรฐานที่ใช้กันทั่วไปในประเทศที่เจริญแล้ว บริษัทที่ตลาดหลักทรัพย์ภายในปลายปี ๒๕๔๒ บริษัทที่ตลาดหลักทรัพย์จำต้องมีคณะตรวจสอบบัญชีภายในที่เรียกว่า Internal Audit Committee แต่ถึงแม้บริษัทที่ไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ถ้าเป็นธุรกิจที่จะเจริญเติบโตต่อไปก็น่าจะเตรียมไว้ละครับ ว่าการมี Internal Audit หมายความว่าอะไร และต้องทำอะไรบ้าง นับวัน นับวัน ผู้ถือหุ้นก็จะเรียกร้องให้มีความโปร่งใส


ปัจจุบันรัฐบาล สภาก็ได้ออกพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร ซึ่งรัฐบาลจะต้องให้กับประชาชน ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้ถือหุ้นก็อยากที่จะรู้ว่าเหตุใดบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในรูปนี้ รูปนั้น เหตุใดผู้บริหารชั้นผู้ใหญ่ ถึงมีการเปลี่ยนตัวจากนาย ก เป็นนาย ข เหตุใดนาย ค จึงได้เงินเดือนเท่านี้ เหตุใดถึงไม่ไปลงทุนในด้านนี้ ด้านนั้น เมื่อความต้องการที่จะรู้ข้อมูลมากขึ้น ทั้งข้อมูลและตัวเลขที่สมบูรณ์ ที่ทันท่วงที และที่ตรงไปตรงมา จริงอยู่ก็มีข้อมูลบางอย่างของธุรกิจ ของบริษัทที่จะเปิดเผยไม่ได้ เช่น โครงสร้างของราคาสินค้าที่ตัวเองผลิต อาจจะมีหลายอย่างที่เราเรียกว่า Trades Secret แต่ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่ต้องเปิดเผยได้เพราะฉะนั้นการที่จะเป็น Good หรือการที่จะมี Good Corporate Governance นั้นก็ใช้หลักการเดียวกันกับการมี Good Governance ของประเทศ หรือ ธรรมาภิบาล คือต้องมีความโปร่งใสต้องมีการตรวจสอบ ไม่ใช่ตรวจสอบด้วยกันเอง แต่เป็นการตรวจสอบจากคนอื่น คือต้องมีคานอำนาจซึ่งกันและกันที่ฝรั่งเรียกว่า Check and Balance จะต้องมีการรับผิดชอบในการตัดสินใจของตน การตัดสินนั้นผิดพลาดได้ การตัดสินใจที่ผิดพลาดทำจากความบริสุทธิ์ใจได้ ไม่ใช่ว่าการตัดสินใจที่ผิดพลาดในปัญหาบ้านเมือง หรือในปัญหาเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมนั้น คนคนนั้นจะต้องเป็นคนไม่ดี หรือเลวเสมอไป มันคนละเรื่องกัน การตัดสินใจที่ผิดพลาดอาจมาจากคนดีก็ได้ มาจากคนซื่อตรงก็ได้ มาจากคนที่หวังดีก็ได้ แต่ถ้าเผื่อมีการตัดสินใจที่ผิดพลาดไป คนนั้นไม่ว่าจะเป็นคนดีอย่างไร ก็ต้องรับผิดชอบในความผิดพลาดของการตัดสินใจของตน และจะต้อง Accountable กับสังคมนั้น ไม่ว่าจะเป็นสังคมระดับชาติ ในวงการเมืองหรือสังคมในระดับอุตสาหกรรม หรือธุรกิจ การมีธรรมาภิบาลนั้น ครอบคลุมไปถึงการมีกฎเกณฑ์ที่ถูกต้องด้วย ก็ต้องมีกฎเกณฑ์ที่เป็นธรรมเช่นเดียวกัน


ถ้าเผื่อเรามีเรื่องเหล่านี้เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว ในแต่ละบริษัทหรือในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ การคานอำนาจซึ่งกันและกันภายในวงการธุรกิจ หรือในบริษัท การตรวจสอบข้อมูล การได้รับข้อมูล การได้ตัวเลข การตรวจสอบตัวเลข การรับผิดชอบในการตัดสินใจด้วยตนเอง ถ้าเผื่อเรามีสิ่งเหล่านี้ก่อนวิกฤตการที่ผ่านมาปีกว่านั้น สัญญาณเตือนว่า เตือนภัยของเราจะดังมากกว่าในอดีต หลายท่านคงจะจำได้ว่าวิกฤตเริ่มต้น บางคนบอกว่าเริ่มต้นเมื่อปี ๑๙๙๔ ตอนที่รัฐบาลจีนประกาศค่าเงินหยวน หรือบางคนอาจบอกว่าวิกฤตในเอเชียเริ่มต้น ๒ ปีต่อมา ตอนที่ญี่ปุ่นหรือตอนที่สหรัฐอเมริกา มีนโยบายให้เงินดอลลาร์แข็ง หรือบางคนอาจบอกว่าวิกฤตของเราเริ่มตั้งแต่ธนาคารชาติไม่ได้ทำอะไรกับธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ หรือบางคนอาจบอกว่าเกิดจากเหตุการณ์อื่น เพราะแต่ละคนมีมุมมองที่แตกต่างกัน แต่ละคนมีธุรกิจอุตสาหกรรมไม่เหมือนกัน ดังนั้นจุดเริ่มต้นวิกฤตของแต่ละคน แต่ละอุตสาหกรรมจะไม่ได้อยู่ที่ศูนย์เดียวกัน จะเกิดจากจุดที่แตกต่างกัน ในเวลาที่ต่างกัน แต่ถ้าเรามีธรรมาภิบาลมี ระบบที่เป็นผลลัพธ์หรือที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ของการเชื่อมโยงของปัจจัยต่าง ๆ ที่ควรจะมีในธรรมาภิบาล ถ้าเรามีข้อมูลที่สมบูรณ์ และทันการณ์ เราอาจจะรู้ปัญหาของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการก่อนจะเกิดเหตุ และถ้าเรามีข้อมูลตัวเลขที่แน่นอน การทดสอบก็จะเริ่มก่อนที่จะมีการทดสอบอย่างจริงจัง ปัญหาคงไม่บานปลายอย่างนี้ สิ่งเหล่านี้ผมอยากจะฝากให้เป็นข้อคิดของท่านทั้งหลาย และไม่ได้บอกว่าธรรมาภิบาลเป็นสิ่งที่นักธุรกิจหรือนักอุตสาหกรรมอยากได้เท่านั้น และคนจนไม่ได้อะไรเลย อันนี้เป็นการตั้งคำถามแปลก ๆ ในสังคมไทย ถ้าเผื่อในระดับชาติมีธรรมาภิบาลที่ดี ถ้าเผื่อในสังคมมีธรรมาภิบาลที่ดี อุตสาหกรรมเจริญรุ่งเรือง ธุรกิจเจริญรุ่งเรือง ผลประโยชน์จะตกอยู่กับคนทุกชั้น วรรณะ ทุกท้องถิ่น ไม่ว่าในเรื่องการมีงานทำ การมีรายได้มากขึ้น ไม่ว่าในเรื่องการมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น


สิ่งที่ผมพูดมาไม่ได้บอกว่าทำเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ จริง ๆ แล้วธรรมาภิบาลของเมืองมีมาแต่ดั้งเดิม ในประวัติศาสตร์ไทยที่พระมหากษัตริย์ปกครองโดยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชมีอำนาจเต็มที่ มีอำนาจโดยสมบูรณ์ เมื่อมีอำนาจเต็มที่โดยสมบูรณ์ ทำอะไรทำได้ โอกาสที่จะปกครองแผ่นดินในทางที่ผิด ในทางที่ไม่มีศีลธรรม ไม่มีจรรยาธรรม ในทางไม่ดีมีมากเหลือเกิน แต่ทำไมในประวัติศาสตร์ไทยพระเจ้าแผ่นดินโดยส่วนใหญ่ถึงปกครองประชาราษฎร์ ปกครองแผ่นดินจนประชาชนมีความรักใคร่ มีความนับถือ เพราะแต่เดิมมาสังคมไทย การปกครองของพระเจ้าแผ่นดินนั้นปกครองโดยใช้ทศพิธราชธรรม ในสายตาของผม เมืองไทยเรามี Good Governance หรือมี Royal Governance มาแต่ดั้งเดิมในประวัติศาสตร์ไทย มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจครบสมบูรณ์ ปกครองในระบบสมบูรณาญาสิทธิราช แต่พระเจ้าแผ่นดินเมืองไทยนั้น ปกครองโดยใช้ทศพิธราชธรรมตลอดมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน เรื่อง Governance เริ่มพูดในสังคมตะวันตกเมื่อ ๔๐ ปี ถ้าเผื่อไปเปิด Dictionary พจนานุกรมของภาษาอังกฤษในอดีต ไปเปิดคำว่า Governance จะหาไม่เจอจะมีแต่คำว่า Government หรือมีคำว่า Governance แต่ก็ยังอธิบายไม่ค่อยถูก เพราะยังมีความสับสนแม้แต่ในสังคมยุโรป ในอเมริกา ในต่าง ๆ ศัพท์คำว่า Governance ที่เราพยายามใช้คำว่า ธรรมาภิบาล หรือธรรมาภิรักษ์ เป็นของธรรมดา เดินไปตามถนนในอเมริกา อังกฤษ หรือเนเธอร์แลนด์ ถามคำว่า Governance ผมรับประกันว่าตอบได้ไม่กี่คนว่าคืออะไร และหลายคนอาจจะพูดถึงเรื่อง Government แต่ในประวัติศาสตร์ไทย ตามจารีตประเพณีของเมืองไทยนั้น เรามีทศพิธราช ธรรมมาเป็นเวลาช้านาน และเป็นสิ่งที่พระองค์ท่านปฏิบัติอยู่เสมอ อันนี้ไม่ใช่ของใหม่ของเมืองไทย ไม่ใช่เพราะนายอานันท์ไปเรียนเมืองนอกมา เลยเอาความคิดของเมืองนอกมาใช้ มันเรื่องที่ว่าจะต้องขวนขวายว่า อะไรเป็นสิ่งที่ดีงามในเมืองไทย ในอดีต ในวัฒนธรรมของเรา เราก็เอามาใช้


ผมก็อยากฝากไว้ว่า มาแน่ครับ อย่าคิดหวังว่า รัฐบาลจะช่วยแก้ปัญหา ของเราได้ทั้งหมด เพราะส่วนหนึ่งของการมี Good Governance ในระดับชาติหรือการมีธรรมภิบาลในระดับชาติก็คือ รัฐบาลต้องเล็กลง อำนาจความรับผิดชอบจะต้องน้อยลง อำนาจความรับผิดชอบจะอยู่ที่พวกเรามากขึ้น จะอยู่ที่องค์กรเอกชน และองค์กรที่ไม่ใช่ของรัฐ ฉันใด ฉันนั้น ในทางด้านบริษัท อำนาจการบริหารก็จะตกอยู่ในมือผู้ถือหุ้นมากขึ้น นับวัน นับวัน ผมเห็นได้เลย สิ่งที่เราเรียกว่ากรรมการอิสระ ซึ่งผมเห็นบริษัทมีกรรมการอิสระได้ แต่เราก็ต้องเตรียมครับ วันหนึ่งคำว่ากรรมการอิสระไม่ใช่กรรมการ 10 คนที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา เข้ามาเล่นกันเอง กรรมการอิสระจะเป็นตัวแทน สิ่งที่เราเรียกกันว่า Minority Shareholder คือ ผู้ถือหุ้นฝ่ายข้างน้อย


สุดท้ายนี้ครับ รัฐบาลจะดีจะเลว รัฐบาลจะถูกจะผิด ความอึดอัดใจ ความท้อแท้ ความผิดหวัง อยู่ในหัวใจของคนจำนวนมาก แต่เราต้องเริ่มทำใจว่า นับวันนับวัน อย่าไปพึ่งรัฐบาลอย่างเดียว พึ่งตัวเองมากขึ้น พึ่งการบริหารที่ดี พึ่งผู้บริหารอาชีพ พึ่งพนักงานที่มีการศึกษา พึ่งข้อเท็จจริง ข้อมูล และตัวเลขที่แท้จริง พึ่งการพัฒนาตัวเองในเรื่องของการเพิ่มทักษะและการฝึกอบรม พึ่งคุณธรรมและจริยธรรมของตนเอง และสุดท้ายท่านใดยังไม่มีหนังสือพระมหาชนก ที่สอนให้คนรู้จักความเพียร ความไม่ท้อแท้ ออกไปซื้อเถอะครับ แล้วเอามาอ่าน อ่านเป็นครั้งเป็นคราว อ่านซ้ำอ่านซาก อ่านแล้วกำลังใจจะมีขึ้น อ่านแล้วความศรัทธาจะมีขึ้น ความศรัทธาที่เรามีกับความเพียร ความไม่ท้อแท้ และความอดทน