รวมปาฐกถาภาษาไทย

ทิศทางเศรษฐกิจไทยในยุคโลกานุวัตร
โดย ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน
วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๓๘
ณ จุลดิศ หาดใหญ่พลาซ่า

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

อำเภอหาดใหญ่และอีกหลาย ๆ อำเภอเมืองในภาคใต้ เป็นสิ่งสะท้อนถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองไทย แต่ในขณะเดียวกันเป็นการสะท้อนถึงการพัฒนาที่ค่อนข้างรวดเร็ว และอาจจะไม่มีระเบียบมากนักเป็นการสะท้อนถึงการพัฒนาเศรษฐกิจที่อาจไม่ดูแลทั่วถึงกับที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม

ได้กล่าวถึง Globalization ซึ่งราชบัณฑิตสภาใช้บัญญัติว่า โลกาภิวัตน์ และได้กล่าวถึงความเป็นมาและความหมายของคำนี้ เมื่อประมาณ ๒๐ ปีมีนักเขียนชาวแคนาดาได้เขียนหนังสือขึ้นมามองไปสู่อนาคต และในบทหนึ่งได้เปรียบเทียบโลกของเราอันเป็นผลสืบเนื่องทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะความก้าวหน้าที่เรียกว่า IT (Information Technology) เช่น เรื่อง Computer, Networking, Telecommunication Satellite และอื่น ๆ ทำให้สามารถติดต่อข่าวสารหรือมีการสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเมื่อในอดีตอะไรที่เกิดขึ้นในยุโรป แอฟริกาอาจได้รับสองวันให้หลังหรือสองสัปดาห์ให้หลัง แต่เนื่องจากความก้าวหน้าของ IT นั้นสามารถทำให้สิ่งสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น ณ ที่ที่หนึ่ง จุดหนึ่ง ในโลกนี้สามารถสื่อสารไปจุดจุดหนึ่ง ได้ในฉับพลันไม่ใช่เป็นเวลาชั่วโมงหรือเป็นเวลาวันแต่ในเวลาวินาที

นับวันสิ่งต่าง ๆ ที่ดูในโลกนี้แม้จะมีความกว้างขวางแต่ด้วยความก้าวหน้าของ Information Technology เปรียบเหมือนอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน เรียกว่า Global Village

จากความฉับพลันในด้านข่าวสารทำให้เกิดวิวัฒนาการด้านความคิดซึ่งของเก่า ๆ จะต้องทิ้งไป แต่อย่างไรก็ตามถ้าทิ้งของเก่ายังไม่รู้ของใหม่นั้น คือภัยอันตราย

ฉะนั้นเราอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์นั้น การเรียนจะไม่เสร็จสิ้น การขวนขวายความรู้จะต้องไม่หยุดยั้งและการแสวงหาคำตอบใหม่ ๆ ของปัญหาเก่า ๆ จะต้องมีอยู่ต่อไป

ถ้าพูดถึงทิศทางของเศรษฐกิจไทยนั้นขอเริ่มต้นว่า ปัจจุบันโลกเราซึ่งเล็กลง ๆ ที่เราจะอยู่ใน Global Village ในยุคโลกาภิวัตน์นั้นอย่างโดดเดี่ยวหรือเปล่า คำตอบเราไม่ใช่อยู่โดดเดี่ยว เมืองไทยมีการพัฒนาเศรษฐกิจต่อเนื่องมาเป็นเวลา ๓๐ ปี และในระยะ ๑๐ ปี ที่ผ่านมาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองไทยเฉลี่ยประมาณ ๘ - ๙ เปอร์เซ็นต์ และโดยเฉพาะเมื่อ ๓ - ๔ ปีก่อน อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ย ๑๒ - ๑๓ เปอร์เซ็นต์ เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว รายได้ต่อหัวของประชาชนประมาณ ๘๕๐ เหรียญอเมริกัน ปัจจุบัน ๒๐ ปีที่ผ่านมา รายได้ของประชาชน ๒,๓๕๐ เหรียญอเมริกัน ถ้าเราดูตัวเลขน่าจะพอใจ เศรษฐกิจเติบโตประชากรมีรายได้มากขึ้น แต่สิ่งที่ควรจะสะกิดใจคนไทยโดยเฉพาะคนที่เรียกว่า มีแล้วและอาจจะพอแล้วหรือมีแล้วแต่ไม่มีวันพอ ถ้าดูตามสถิติของธนาคารโลก จะพบว่าคนที่จนที่อยู่ภายใต้ poverty line ยังไม่ได้ลดลงไปเลยมีอยู่ ๑๐ ล้านเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว อาจจะเหลือ ๙ ล้านลดลงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่น การกระจายรายได้และการแก้ปัญหาทางสังคม เขาอยู่ในระดับที่ดีกว่าเรา แต่อาจจะพูดถึงความภูมิใจในประเทศไทย ปัจจุบันในประเทศไทยมีอุตสาหกรรมมากมาย ปีนี้มีอุตสาหกรรมส่งออกจะมีการส่งออกเกิน ๔๐ บิลเลียน (billion - พันล้าน) เหรียญอเมริกัน หรือเท่ากับ แสนล้านบาท และถ้าจะจัดการเจริญเติบโตทางด้านการส่งออกนั้น เมื่อปีที่แล้วมีการคาดหมายว่าจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้น ๑๔ เปอร์เซ็นต์ แต่ในปัจจุบัน ๙ - ๑๐ เดือนที่ผ่านมานี้อัตราการเจริญเติบโตการส่งออกเพิ่มขึ้นถึง ๒๔ เปอร์เซ็นต์ นอกเหนือการเติบโตที่เกินความคาดหมายแล้ว องค์ประกอบของสินค้าส่งออกก็เปลี่ยนแปลงไปมาก ซึ่งมองไม่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างและลักษณะของอุตสาหกรรมไทย ซึ่งน่าจะเป็นทางที่ดีต่อไปในอนาคต ถ้าจะดูฐานะการเงินการคลังของเรา เราก็อยู่ในฐานะมั่นคงเรามีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ๒๗ ล้านเหรียญอเมริกัน ถึงแม้ว่าเราจะมีหนี้สิน ๔๒ - ๔๓ ล้านเหรียญอเมริกัน แต่ Debt-Service Ratio นั้นอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ deficit ของ current account นั้นตกลงประมาณ ๔.๗ เปอร์เซ็นต์ ของ GDP ของเมืองไทย

ปัญหาจากการพัฒนาในรูปนี้จะก่อให้เกิดปัญหาสังคมเพิ่มขึ้นทวีคูณ เช่น ปัญหาการศึกษาของระบบของจำนวนสถาบันการศึกษา คุณภาพการศึกษา การสาธารณสุข ความยากจนในชนบท ความยากจนในเมืองแหล่งชุมชนแออัด เด็ก โสเภณี ปัญหาการแตกแยกของชีวิต ครอบครัวของคนไทย อันเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย ต่างคนต่างอยู่ สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการ การพัฒนาทางเศรษฐกิจ อยากจะย้ำว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยว ยิ่งมีการพัฒนาเศรษฐกิจ ยิ่งมีการส่งออกมากขึ้น เศรษฐกิจของไทยก็พัวพันเข้าไปอยู่กับเศรษฐกิจโลก เพราะฉะนั้นถ้าเศรษฐกิจของไทยเข้าไปพัวพันกับเศรษฐกิจโลกมากเท่าใดและหลีกเลี่ยงไม่ได้ คำตอบก็คือเราไม่ได้โดดเดี่ยว เราไม่อาจคุมชะตาชีวิตไว้ได้ด้วยตนเอง เราจะต้องขวนขวายสอบถามหาความรู้เกี่ยวกับประเทศอื่น เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในวงจรการเศรษฐกิจของประเทศ เราจะต้องเข้าไปเล่นเกมเดียวกับเขา เล่นกติกาใหม่ เช่นในรูปของ GATTS อาจเป็นกติกาที่เราไม่ชอบไม่เห็นด้วย เราจะต้องกระโจนเข้าสู่เวทีของต่างประเทศ

โลกเรานี้ต้องอยู่ด้วยการ Give and take เราต้องมีบทบาทมากขึ้นในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศเข้าไปร่วมในการร่างกติกาตั้งแต่แรก เราจะต้องมีบทบาทร่วมกัน เราต้องปรับปรุงกระบวนการบริหารของเราปรับปรุงกระบวนการการผลิตของเรา ปรับปรุงกระบวนการการวินิจฉัยของเรา ที่จะทำให้เรานั้นอยู่ในฐานะได้เปรียบ หรืออยู่ในฐานะที่จะเข้าไปแข่งขันในเวทีของโลกได้

การเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเริ่มจากอาณาจักรคอมมิวนิสต์ในยุโรปล่มสลายลงเมื่อสหภาพโซเวียตและประเทศบริวารในยุโรปตะวันออก หลังจากใช้ระบบนี้มาเป็นเวลา ๕๐ ปี ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนขั้นพื้นฐานในประเทศเหล่านั้นได้ ลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งในหลักการอาจจะฟังแล้วสวย พิสูจน์ได้เห็นว่าลัทธินี้ในวิถีทางปฏิบัติ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนขั้นพื้นฐานได้ ลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่ได้ล้มเพราะการเมืองหรือเพราะจุดประสงค์ทางการเมือง ลัทธิคอมมิวนิสต์ล้มลงไปเพราะความล้มเหลวในเรื่องที่จะให้ประชาชนมีการกินดีอยู่ดี ลัทธิคอมมิวนิสต์พิสูจน์ได้เช่นการมีสิทธิเท่าเทียมกันคือการจนเท่ากัน

การวางแผนจากหน่วยงานกลางลงไปข้างล่างอย่างเดียว สิ่งที่เรียกว่า Central planning เป็นไปไม่ได้ในโลกนี้ หรือไม่มีการกระจาย อำนาจไม่มีการกระจายความรับผิดชอบ ไม่มี Feedback หรือ Input มาจากข้างล่างและจากทุกท้องที่ ฉะนั้น จึงเป็นจุดจบของลัทธินี้ และเกิดกระแสคลื่นความคิดและการปฏิบัติอย่างกว้างขวางนับแต่ต่อไปนี้ ประเทศเหล่านี้จะดำเนินนโยบายใหม่ คือ นโยบายเปิดสังคมทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจนำ Market economy มาใช้ นำสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่อยู่ในลัทธิคอมมิวนิสต์มาใช้ เช่น การแข่งขัน การไม่ผูกขาดทางการค้าแต่เพียงผู้เดียว การลดกฎเกณฑ์ Decontrol, Deregulation การที่รัฐบาลหรือรัฐไม่เข้าไปทำธุรกิจด้วยตนเอง

ในระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมานั้นประเทศจีนและเวียดนามใช้ระบบเศรษฐกิจเปิด แต่ต้องการควบคุมทางการเมืองต่อไปอีกระยะหนึ่งเท่านั้น เพราะตามธรรมชาติเมื่อมีการเปิดระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมืองก็จะเปิดต่อไปด้วย เหมือนเกิดขึ้นมาแล้วในเกาหลี ไต้หวัน และไทยเราเอง โดยที่เราอาจจะไม่รู้สึกตัวว่าในปัจจุบันนี้ถึงแม้ว่าจะมีข้อบกพร่องในเรื่องรัฐสภา ในเรื่องคุณภาพของรัฐสภาหรือในเรื่องระบบการปกครองทั่วไป แต่ถ้าจะพูดกันจริง ๆ แล้วเราก็มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเมื่อ ๕ ปี มากกว่าเมื่อ ๑๐ ปี มากกว่าเมื่อ ๑๕ ปี สิทธิเสรีภาพทางการเมืองของไทยอยู่ในระดับที่ไม่น่าอาย ถัดไปเมื่อสงครามเย็นหมดไป เมื่อการเป็นเจ้าโลกสองเจ้าโลกหมดไป เดี๋ยวนี้เหลือเจ้าโลกเดียวที่นำคนไม่เป็น นำเข้าป่าหลายครั้งเศรษฐกิจของหลาย ๆ ประเทศโดยเฉพาะเศรษฐกิจของ Asia & pacific นั้นในระยะ ๒๐ ปีข้างหน้า หรือศตวรรษหน้านั้นจะใหญ่ที่สุดในโลกแทนที่อเมริกา ความสำคัญของยุโรปจะลดน้อยลงไปตามลำดับความสำคัญ ของ Asia and pacific จะมีมากขึ้นปัจจุบันการค้าของไทยใน Asia and pacific นั้นมากกว่าการค้าในยุโรปและอเมริกาความสำคัญของญี่ปุ่นจะค่อย ๆ ลดน้อยลงไป เราจะมีตัวเล่นใหม่ ๓ ตัวคือ

หนึ่ง พื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือประเทศอาเซียนและประเทศเพื่อนบ้านของเรา ไม่ว่าจะเป็นเวียดนามหรือพม่า หรือภาคใต้ของจีน

สอง จีน มีพลเมือง ๑,๒๐๐ ล้านคน เมืองจีนในระยะ ๒๐ ปีข้างหน้านั้นจะต้องมองว่าไม่ใช่ประเทศเดียว จะเป็นอย่างประเทศไทย ๕ - ๖ ประเทศ และจะมีขนาด Economy ที่ใหญ่กว่าประเทศไทย ๓ - ๔ ประเทศ เพราะฉะนั้น size ของ Economy ของจีนจะใหญ่มากใน ๒๐ ปีข้างหน้า จีนจะแทนที่ ญี่ปุ่น ประเทศจีนเป็น Engine of Growth ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การค้าการติดต่อจะมีอีกมาก ควรจะมองว่า ภาษาจีน (Mandarin) เป็นภาษาระหว่างประเทศ โดยเฉพาะรวมถึงภาษาญี่ปุ่น จะเป็นภาษาการค้าระหว่างประเทศที่จะขวนขวายเรียนรู้ ควรจะปลูกฝังค่านิยมให้เด็กสามารถเลือกเรียนภาษาเยอรมัน ญี่ปุ่น จีน ได้ตามความต้องการ

ตัวเล่นอีกตัวคือ อินเดีย มีพลเมือง ๘๐๐ - ๙๐๐ ล้านคน มีพื้นฐานทางอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างมั่นคงกว่าอุตสาหกรรมอีกหลายประเทศเพราะใน ๕๐ ปีที่ผ่านมาอินเดียได้ดำเนินนโยบายที่จะสร้างอุตสาหกรรมพื้นฐานด้วยตนเอง ไม่ยอมไปซื้อ License ของคนอื่น เขามีคณาจารย์ นักวิชาการ มีนักวิจัยจำนวนมากมาย มีขีดความสามารถของ Space Technology อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมหนักต่าง ๆ คุณภาพของเครื่องจักร ขีดความสามารถอาจจะต่ำกว่าในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น แต่สามารถพูดด้วยความภาคภูมิใจว่าเทคโนโลยีนั้นเขาพัฒนาขึ้นมาด้วยตนเอง

ฉะนั้นถ้าเรามองออกไปข้างหน้าถึงยุคโลกานุวัตรนั้น เหตุการณ์จะเปลี่ยนไปมาก Major players ตัวสำคัญของวงการธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงไปหันมามองทิศทางทางเศรษฐกิจของไทย จะต้อง

  1. ตามกระแสโลก
  2. ต้องผลิตสินค้าที่มีการแข่งขันที่ได้เปรียบ (Competitive Advantage)

คนชั้นกลางจะมีมากขึ้น กำลังชื้อจะมากขึ้น ผลิตภัณฑ์พวก Consumer product อนาคต แจ่มใสมากรัฐบาลต้องมีนโยบาย

  1. กิจกรรมนโยบายรองรับธุรกิจใหม่
  2. เปลี่ยนรูป, ฐาน Restructure, โครงสร้างภาษีของไทย
  3. เปลี่ยนรูป, ฐาน Restructure, อุตสาหกรรมของเราด้วย
  4. ระบบภาษีขาเข้า & สินค้าวัตถุดิบต้องปรับปรุงแก้ไข
  5. การพัฒนาบทบาทในเวทีการค้าระหว่างประเทศหรือในเวทีการเมืองระหว่างประเทศให้เหมาะกับขนาดของประเทศและ Economy
  6. การพัฒนาบุคลากรต้องปฏิรูปการศึกษา เช่น นำกลไกทางการตลาดมาใช้ ให้ภาคเอกชนจัดการศึกษา จัดการเงิน การคลัง การกำหนดหลักสูตรและอื่น ๆ อีกมากมาย


สิ่งที่พูดมาทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัญหาที่น่าหนักใจ ถ้าเราไม่มีคำตอบโดยเร็ว ๆ นี้ สิ่งที่พูดมาทั้งหมดอาจจะไม่เป็นจริงสำหรับเมืองไทย……….*