รวมปาฐกถาภาษาไทย

การประชุมชมรมนักธุรกิจคาทอลิก (นธค.)
ครั้งที่ ๕๓
วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๑
ณ โรงแรมเฟลิกซ์อโนมา ถนนราชดำริ

พระคุณเจ้าฯ … ดร. สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานชมรมนักธุรกิจคาทอลิก บรรดาสมาชิก ตลอดจนผู้มีเกียรติทั้งหลาย ตอนที่คุณสมศักดิ์ฯ ติดต่อผมไปหลายสัปดาห์นั้น ผมก็ตอบรับในหลักการทันทีว่า ยินดีที่จะมาร่วมสนทนากับท่านสมาชิกทั้งหลาย ตอนนั้นก็ไม่ทราบและไม่ได้คาดการณ์ว่า สัปดาห์นี้จะเป็นสัปดาห์ที่ผมต้องเปิดตัวมากที่สุดมารวมอยู่ในสัปดาห์เดียวกัน โดยไม่ตั้งใจ ตอนนั้นคุณสมศักดิ์ฯ ถามผมว่า จะพูดเรื่องอะไร? ตอนนั้นคือเมื่อ ๒ เดือนที่แล้ว ผมบอกว่าผมเป็นคนมีปัญหา เวลามีใครเชิญผมไปพูด ผมไม่ค่อยชอบที่จะถูกถามว่า จะพูดเรื่องอะไร? เพราะว่า ๒ - ๓ เดือนล่วงหน้า ล่วงหน้านี่ ผมไม่แน่ใจว่าถึงเวลาที่ผมจะพูดแล้ว ผมอยากพูดถึงเรื่องนั้นหรือเปล่า เพราะตามปกติเวลาไปพูดที่ไหนมักจะพูดปากเปล่าเป็นส่วนใหญ่ เรื่องที่จะพูดก็ต้องเป็นเรื่องที่ในขณะนั้นผมสนใจ หรือในขณะนั้นผู้ฟังสนใจ ดังนั้นการที่จะกำหนดว่า จะพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ๓ เดือนล่วงหน้านั้นค่อนข้างอันตรายสำหรับผม เพราะถ้าผมพูดในเรื่องที่ผมไม่อยากพูดในค่ำวันนั้น หรือไม่สนุกที่จะพูดแล้ว คนพูดก็ไม่สนุก คนฟังก็ไม่ชอบ ผมจึงบอกคุณสมศักดิ์ฯ ว่าถ้าถามว่าจะพูดเรื่องไหน บอกว่า พูดเรื่อง “ทัศนะของนายอานันท์ฯ” ก็แล้วกันพอถึงค่ำวันนั้น ผมมีทัศนะเรื่องไหน ผมก็พูดออกมา มันไม่ผิดนะครับ ในขณะเดียวกันคุณสมศักดิ์ฯ เป็นคนรอบคอบ ได้มีจดหมายถึงผมหลายสัปดาห์มาแล้ว เชิญให้ผมมาเป็นองค์ปาฐกบรรยายในหัวข้อเรื่อง “อนาคตประเทศไทยกับแนวคิดธรรมรัฐ” ซึ่งเรื่องธรรมรัฐนี่ผมก็พูดมาหลายปีแล้ว หรือหัวข้อเรื่อง “ทางออกสำหรับนักธุรกิจไทยในภาวะวิกฤต” (ตามแต่ท่านจะเห็นสมควร) ระหว่างที่ผมนั่งรถยนต์ ผมก็นำเรื่องนี้ออกมาอ่านดู ผมก็คิดว่า ผมจะพูดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผมจะพูดทั้ง ๒ เรื่องเลย แต่จะสลับหัวข้อกัน


เรื่องทางออกสำหรับนักธุรกิจไทยในภาวะวิกฤตนี่ ผมคงต้องสร้างฉากเอาไว้บ้างว่า ขณะนี้วิกฤตของเมืองไทยนี่ มันอยู่ที่ไหน ภาวะวิกฤตอยู่ตรงไหน แล้วทางออกมันจะอยู่ทางไหน หลายท่านทราบดีว่า ผมไม่ใช่นักวิชาการ ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่นักการเงินการคลัง ไม่ใช่นักการเมือง เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ผมไม่ใช่นักบริหาร ถ้าเผื่อจะถามว่า ผมนี่เป็นอะไร ผมอาจจะตอบได้อย่างเดียวว่า ผมเป็นคนชอบเรียนรู้ เป็นคนที่มีความสนใจในเรื่องค่อนข้างจะกว้างขวางมากมายหลายหลาก สิ่งอะไรที่ผมไม่รู้ในอดีตหรือในปัจจุบัน ผมพยายามจะเรียนรู้ หลายท่านที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ นักการคลังทราบดีว่า วิกฤตของไทยนั้น มีสัญญาณบอกส่งมานานแล้ว และสัญญาณบอกส่งนั้น ในภาวะเศรษฐกิจที่ดี มันอ่านสัญญาณกันไม่ออก หรือไม่เห็นความสำคัญของสัญญาณ ก่อนมีรัฐบาลอานันท์ ๑ ก็มีสัญญาณแล้ว เศรษฐกิจที่เรียกว่าเฟื่องฟูของเมืองไทยไม่ใช่เศรษฐกิจที่แท้จริง จริงอยู่ ส่วนหนึ่งเป็นความเฟื่องฟู หรืออัตราความเจริญเติบโตของภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง


แต่ฟองสบู่ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นฟองสบู่ของภาคการเงินการคลัง เป็นฟองสบู่ที่สร้างขึ้นมาจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ในปลายปี ๒๕๓๙ สัญญาณที่เราควรจะต้องรับฟัง และควรจะต้องตีความหมายให้ถูกก็คือว่า อัตราการเติบโตทางการส่งออกของเมืองไทยหลังจากที่เติบโตมา ปีละ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ มา ๒๕ ปี แต่ ๒๕๓๙ อัตราการเจริญเติบโตทางส่งออกนั้นไม่มี พวกเราทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนก็ยังคงหลงระเริงเศรษฐกิจฟองสบู่ ตอนนั้นมันน่าจะเริ่มเตือนเป็นครั้งสุดท้ายว่าทำไมการส่งออกถึงไม่มีการเติบโต มันคงมีหลายปัจจัย ที่นำเราไปสู่จุดนั้น ปัจจัยหนึ่งก็คือว่าโครงสร้างทางภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง คือภาคเศรษฐกิจทุกอย่างนอกเหนือจากภาคการเงินการคลัง ดังนั้นสัญญาณที่ให้มาคือว่า โครงสร้างของภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ต้องมีปัญหาแน่ เพราะที่ผ่านมาภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคอุตสาหกรรมนั้น เราต้องอาศัยแรงงานที่ราคาถูก และเราต้องอาศัยอุตสาหกรรมในเรื่องของการประกอบเท่านั้น อุตสาหกรรมในเรื่องของการประกอบนั้น มันมีมูลค่าเพิ่มน้อย เราได้เปรียบเรื่องค่าแรงงานอย่างเดียว แต่ในเมื่อค่าแรงงานของประเทศใกล้เคียงยังต่ำกว่าเราอยู่มากนั้น การได้เปรียบของเมืองไทยก็ร่อยหรอลงไป แต่นอกเหนือจากความผิดปกติของโครงสร้างอุตสาหกรรมของเมืองไทย


อีกซีกหนึ่งที่บอกชัดก็คือว่า ค่าเงินบาทของเมืองไทยคงจะแพงเกินไป เพราะในระยะนั้นด้วยความจำเป็นและผมคิดว่าด้วยความเหมาะสมด้วย ก็ได้มีการเพิ่มอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำมากขึ้นไปทุกปี ๆ จนกระทั่งค่าแรงงานที่ถูกของเมืองไทย ที่เราได้ประโยชน์มาเป็นเวลา ๒๐ ปี และส่วนใหญ่ไม่ใช่ประโยชน์ของผู้ใช้แรงงาน แต่เป็นประโยชน์ของผู้ประกอบธุรกิจที่ใช้แรงงานถูกเป็นสำคัญ ข้อได้เปรียบนั้นหมดไปแล้ว แต่อาจจะมีปัจจัยอีกหลายอย่าง ที่นำไปสู่การที่ทำให้การเติบโตทางการส่งออกน้อยลงไป แต่อย่างว่าครับ ระหว่างที่เศรษฐกิจดีไม่ว่า สัญญาณจะมาแรงอย่างไร จะมาดังอย่างไร เราไม่ให้ความสนใจเต็มที่ สุดท้ายมันก็มาถึงปรากฏการณ์ว่า ค่าเงินบาทของเรานั้นไม่สอดคล้องกับกลไกทางการตลาด ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เราไปหลงละเมอกับเรื่องค่าเงินบาท ต่อสู้ป้องกันค่าเงินบาท จนกระทั่งเงินกองทุนสำรองนั้นหมดไป ผมว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สังคมไทยลืมไม่ได้ จะเป็นการผิดพลาดในเรื่องของการตัดสินใจ จะเป็นการผิดพลาดจากการละเลยหน้าที่ การไม่เอาใจใส่ต่อหน้าที่ หรือเหตุผลใดก็ตาม เมื่อ ๖ เดือนที่แล้วเราตั้งต้นจากที่ว่า ประเทศชาติเสียหายไป ๒๓ พันล้านเหรียญอเมริกัน เงินทุนสำรองที่เคยมีอยู่ ๓๖ พันล้านเหรียญอเมริกัน หมดไปทันที ผลกระทบมันไม่ได้หมดไปตอนนั้น ผลกระทบมันติดต่อมาจนกระทั่งทุกวันนี้


เพราะจากการที่เราไปสัญญาล่วงหน้าในการขายที่เราเรียกว่า SWOP มันเป็นเหตุหนึ่งที่สัญญาที่เราเรียกว่าสัญญา SWOP นั้น มันยังกระทบระบบการเงินของเมืองไทยอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้และต่อไปข้างหน้า เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะมีข้อคิดเห็นว่า รัฐบาลใดก็ตามมีนโยบาย มีมาตรการจะผิดจะถูกอย่างไร จะมีผลเร็วผลช้าอย่างไร เราอย่าลืมนะครับว่า จุดเริ่มต้นของปัญหาคือเมืองไทยพังไปแล้ว เมื่อ ๖ เดือนที่แล้ว ไม่ใช่เผาจริงเผาหลอก เมื่อ ๗ เดือนที่แล้ว เราเผาตัวเอง เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ลืมข้อนี้ ว่าเราเผาจริงตัวเองไปแล้วเมื่อ ๗ - ๘ เดือนที่แล้ว เราก็ต้องตั้งสติ ไม่ว่าใครก็ตามจะมาแก้ภาวะวิกฤตทางการเงินของเมืองไทย อย่าว่าแต่คนเลย เป็นเทวดาก็แก้ยาก เพราะความเสียหาย ความหายนะของชาตินั้น มันไม่สามารถเปรียบเทียบได้เลยในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย หรือประวัติศาสตร์ของประเทศอื่น ๆ เมื่อไม่กี่ปีมานี้ อังกฤษถูกโจมตีค่าเงินปอนด์ รัฐบาลอังกฤษหรือธนาคารชาติอังกฤษป้องกันค่าเงินปอนด์ ซึ่งอังกฤษนี่ใหญ่กว่าของเรามาก เป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าเรามาก เมื่อ ๗ - ๘ ปีที่แล้ว อังกฤษใช้เงินถึง ๙ พันล้านเหรียญอเมริกัน ก็สู้ไม่ได้แล้วก็ต้องยอมลดค่าเงินปอนด์ เมืองไทยเล็กกว่าอังกฤษมาก ใช้อย่างน้อย ๒๓ พันล้านเหรียญ ผมต้องย้ำข้อนี้เพราะว่าคน ไทยมีนิสัยลืมง่าย และถ้าเราไม่ใช้เหตุผลไม่ใช้สติแล้ว เราก็คิดว่า ๖ เดือน ยังไม่เห็นอะไรขึ้นมา หรือแม้แต่ปีหนึ่งก็ยังไม่เห็นอะไรดีขึ้นมาประเด็นที่ผมอยากจะฝากเป็นข้อสังเกตไว้คือ ผมอยากเห็นอะไรต่าง ๆ ดีขึ้นมา ส่วนตัวผมอยากเห็นแสงสว่างที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่หนักหน่วงของเมืองไทย แต่ความหายนะที่ผ่านมาและผลกระทบผลข้างเคียง เราต้องให้ความเป็นธรรม ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้แก้กันภายใน 6 เดือน การทำลายเศรษฐกิจของประเทศทำได้ภายใน ๒ - ๓ วัน แต่เมื่อทำไปแล้วนั้น อย่ามาแอบอ้าง บวก 6 เดือนไม่เห็นผล ประเด็นคือว่ามันเลวลงไปหรือเปล่า อันนั้นคือปัญหาใหญ่ แต่จะฝันหวานว่ามันจะกลับมาดีอย่างที่มันเคยดีเมื่อ ๗ - ๘ ปี ที่แล้ว ลืมมันซะได้ครับ และคนที่รับผิดชอบในการนำความหายนะมาสู่ประเทศชาตินั้น ขอให้มีความเป็นธรรม ขอให้มีคุณธรรม ที่จะไม่โทษคนอื่นที่เขาแก้ปัญหาไม่ได้


ประเด็นต่อไป มันดีขึ้นไหม ๖ เดือนที่ผ่านมา ผมคิดว่าดีขึ้นครับ มันอาจจะไม่ถูกใจผมทุกอย่าง อาจจะไม่ถูกใจพวกคุณทั้งหลาย แต่ว่ามันดีขึ้น ถ้าเราย้อนหลังไปดูเมื่อตอนที่เราปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัว มันไม่ได้ลอยตัวหรอกครับ ที่เราบอกว่า เราจะมี Manage Float มัน Manage ไม่ได้ เงินทุนสำรองไม่มีแล้ว


ในวิชาการเงินการคลัง เศรษฐกิจจะ Manage Float ได้ก็ต่อเมื่อมีทุนสำรอง ที่จะไป Intervene บางครั้งบางคราว แต่ในกระเป๋ามันว่างเปล่ารั่วไหลหมดแล้ว การออกมาใช้คำว่า Manage Float นั้น โกหกประชาชน ไม่ใช่ Manage Float นั่นคือ ปล่อยไปตามยถากรรม คือจาก ๒๕.๕๐ บาท/ดอลลาร์ ขึ้นไปครั้งหนึ่งถึง ๕๘ บาท จำไว้นะครับ ครั้งหนึ่งขึ้นไป ๕๘ บาท แล้วกลุ่มพวกผม นักคิดทั้งหลายวิตกขึ้นถึง ๖๕ เมื่อไร ตอนนั้นทุกคนไม่แน่ใจว่าจะขึ้นหรือไม่ ซึ่งขึ้นทุกวัน จนกระทั่ง ๕๘ บาท ถ้าขึ้นถึง ๖๕ บาทเมื่อไร มันไม่ใช่วิกฤตธรรมดาแล้ว และถ้าเกิดดูตัวนี้ตัวเดียวว่า หลังจากที่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีคลัง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ หลายคนที่ไปช่วยงาน ตอนไปอเมริกา ไปคุยกับผู้แทนรัฐบาลประธานาธิบดี ไปคุยกับ IMF WORLD BANK นักการธนาคารในนิวยอร์ก สร้างความมั่นใจตั้งแต่เดือนมีนาคม ต่อมาเงินบาทก็แข็งขึ้นเรื่อย ๆ จาก ๕๘ บาท จนกระทั่ง ๓ - ๔ สัปดาห์ที่แล้วนั้นมีเสถียรภาพอยู่ที่ ๓๘ - ๓๙ บาท/ดอลลาร์ แล้วคนไทยก็บ่นอีกว่า “แข็งไปแล้ว!” คนไทยนี่เอาใจยาก พวกส่งออกบอกว่า “ไม่ได้! ต้องถึง ๔๒ ถึงจะมีกำไร” รัฐบาลผิดพลาด ผมอยากจะย้อนกลับไปเมื่อ ๗ - ๘ เดือนที่แล้ว งานที่หนักที่สุดของเมืองไทยคืออะไร เราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการที่ IMF มาควบคุมเศรษฐกิจของเมืองไทย มาตั้งเงื่อนไขต่าง ๆ เราจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาบอกว่า เมืองไทยควรจะได้รับการเยียวยาอย่างนั้นอย่างนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูก หรือบางคนอาจเลยเถิดไปว่า ไม่ใช่หน้าที่ของ IMF ซึ่ง IMF ตั้งมาเพื่อที่จะมาสร้างเสถียรภาพทางด้านการเงินเท่านั้น ไม่มีหน้าที่จะมาบอกประเทศสมาชิก ซึ่งมีอธิปไตยโดยสมบูรณ์ว่า จะต้องมีการปรับโครงสร้างทางอุตสาหกรรม ปรับโครงสร้างระบบการเงินการคลังข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า เมื่อ ๗ - ๘ เดือนนั้น ประเทศไทยไม่มีสิทธ์ที่จะไปบอกว่า IMF มาก้าวก่ายกิจการภายในของประเทศ มาคุมเศรษฐกิจไทยหรือสิ่งที่บอกมาไม่ถูกต้อง ตอนนั้น เราหมดตัวแล้ว คนที่หมดตัวแล้วนะครับ มันไม่มีอำนาจต่อรอง เราไม่สามารถจะมีความหยิ่ง ความจองหอง ถ้าเรามีอะไรเหลืออยู่ในกระเป๋าบ้าง นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่นี่เราไม่มีแล้วเปรียบเสมือนเราเป็นขอทาน ขอทานไม่มีอำนาจต่อรองกับคนที่จะให้ นั่นคือข้อเท็จจริง อีกข้อหนึ่งที่เราอย่าลืม และแนวนโยบายที่ต้องทำ ไม่ได้ทำเพราะรัก IMF ไม่ได้ทำเพราะคิดว่า IMF เป็นผู้วิเศษ แต่ต้องทำเพราะว่า ตอนนั้นวิ่งไปหาใครไม่ได้แล้ว รัฐบาลมิตรประเทศก็ไม่มีใครอยู่ในฐานะที่จะช่วยเรา เราไม่มีประตู เราไม่มีทางออกแล้ว เราต้องจับองค์กรการเงินระหว่างประเทศไว้เพื่อความอยู่รอด และเพื่อเป็นการสร้างโอกาสที่จะทำให้เราสามารถแก้วิกฤตนี้ได้


เพราะฉะนั้นแนวนโยบายที่ถูกต้องก็คือ ยอมเป็นลูกน้อง IMF ชั่วคราว สร้างความเชื่อมั่นให้กับเขาว่า เรานั้นจะปฏิบัติตามเงื่อนไข สร้างความเชื่อมั่นกับเขาว่าเรานั้นมีเจตจำนงแน่นอนที่จะปฏิรูปในเรื่องต่าง ๆ ที่เขามีความเป็นห่วง ถ้าเราไม่สร้างความเชื่อมั่นให้กับ IMF หรือกับองค์กรการเงินระหว่างประเทศต่าง ๆ มันจะไม่มีสิ่งที่ตามมาในระยะเดือนมีนาคม นั่นคือความเชื่อของตลาด ใครจะเห็นถูกเห็นผิดอย่างไร เรื่องการเปิดเมืองไทย ทั้งทางด้านการเมืองทางด้านเศรษฐกิจ เราไม่สามารถย้อนกลับกระแสของโลกได้ บางสิ่งบางอย่างของการเปิดสังคมทางด้านเศรษฐกิจนั้น เราเสียเปรียบ แต่ชีวิตของคนเรานั้น เราเลือกไม่ได้ แม้แต่ในสังคมหมู่บ้าน ในสังคมเมือง ก็มีคนเสียเปรียบ คนได้เปรียบ การต่อสู้ของคนหรือการต่อสู้ของสังคมระหว่างประเทศ เราต้องเผชิญหน้ากับความเป็นจริง เพราะโลกที่เราบอกว่า ต้องมีความยุติธรรม ต้องมีความโอบอ้อมอารี การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทุกศาสนาสอนมาอย่างนั้น แต่ก็ไม่สามารถขจัดสิ่งที่มันไม่ยุติธรรม หรือข้อบกพร่องต่าง ๆ ของมนุษย์ปุถุชนได้ เพราะฉะนั้นประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า สิ่งที่เราพลาด หรือวิกฤตที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพราะเราเริ่มที่เรียกว่าเปิดตลาดเสรี


ในระบบเศรษฐกิจหรือการเงินอันนั้นไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่ว่า เมื่อเปิดตลาดเสรีแล้ว เราไม่มีแผนงานรองรับว่า การเปิดตลาดเสรีนั้น ในหลักการที่ถูกต้อง ในทางปฏิบัตินั้น ต้องมีมาตรการกำกับดูแลหรือควบคุม ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สังคมหลายสังคมยังไม่ยอมเข้าใจ ถ้าเรามองดูภาคการเมืองตอนเราร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา เราต้องพยายามสร้างจิตวิญญาณ จิตสำนึกของคนไทยว่า สิ่งที่เราเรียกว่า “สิทธิ” นั้น ด้านหนึ่งจะต้องเป็นสิทธิที่ไม่มีขีดจำกัด แต่อีกด้านหนึ่งคือว่าสิทธินั้น ต้องเป็นสิทธิที่เราใช้ด้วยความรับผิดชอบ สิทธิที่เราใช้จะต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิของผู้อื่น เพราะฉะนั้น ทุกสิทธิจะต้องมีหน้าที่ ทุก ๆ ความอิสระจะต้องมีความรับผิดชอบ หรือเสรีโดยไม่มีขีดจำกัด หรือเสรีที่ไปกระทบความเป็นเสรีของผู้อื่น ปัญหาของประเทศชาติเป็นปัญหาที่หนักหน่วง ทางด้านนักธุรกิจอาจจะถามว่า “เมื่อไรเราจะพ้นวิกฤต ทางออกมีอย่างไร” ปัจจุบันทางด้านรัฐบาลก็สร้างความเชื่อมั่น สร้างความเชื่อถือในตลาดขึ้นมามาก สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับ IMF มีการต่อรองเรื่องเงื่อนไข มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจุดเป้าหมาย มันหลีกเลี่ยงไปไม่ได้ในแง่ของเมืองไทย หรือในประเทศที่ประสบปัญหา ต้นตอของความหายนะก็คือ กิจกรรมที่เกิดขึ้นทางด้านภาคการเงินการคลัง ทั้งทางภาคราชการและภาคเอกชน


แต่นักธุรกิจจะถามว่า “เมื่อไร จะพ้นวิกฤตหรือรัฐบาลจะทำอย่างไร ที่จะพ้นวิกฤต” ผมว่าอันนั้นนักธุรกิจตั้งโจทย์ผิด เพราะส่วนหนึ่งหรือปัจจัยหนึ่งของหายนะนี้มันเกิดจากความประพฤติของเราเอง เกิดขึ้นจากกรรมวิธีการทำธุรกิจของเมืองไทยเอง จริงอยู่ภาครัฐบาล ภาค Public Sector ก็มีส่วนรับผิดชอบ เพียงแต่เปิดตลาดเสรีทางด้านการเงิน แต่ยังเอาดอกเบี้ยสูงอยู่ คนที่ไปยืมเงินดอลลาร์ต่างประเทศ หรือธนาคารต่างประเทศก็วิ่งมาให้ยืมเงินโดยไม่คำนึงถึงความมั่นคงหรือผลตอบแทนของโครงการ เพราะอยากจะให้ยืมเงิน นักธุรกิจไทยแทนที่จะยืมภายในประเทศ ๑๘ เปอร์เซ็นต์ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ไปยืม ๗ เปอร์เซ็นต์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ มีความแตกต่าง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เงินเข้ามาง่าย สบายใจ ค่าเงินบาทไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีอัตราเสี่ยงเลย ตามหลักเศรษฐศาสตร์นั้น ถ้าเราเปิดให้มีเสรี ให้เงินเข้าง่าย ออกง่าย ระบบอัตราต่างประเทศ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนก็ต้องให้มันขึ้นลงง่ายด้วยเช่นเดียวกัน ตราบใดที่ผมยังไม่แน่ใจว่า เงินบาทต่อดอลลาร์ ยัง ๒๕.๕๐ ผมจะมากู้ในเมืองไทยทำไม ผมจะมาเสีย ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ทำไม ผมไปกู้เมืองนอกเป็นเงินดอลลาร์ ผมเอาไปแบ่งปันพี่น้อง เพื่อนฝูง ลูกหลาน ทำเศรษฐกิจฟุ่มเฟือย อสังหาริมทรัพย์สร้างคอนโดไป คนจะอยู่ไม่อยู่ คนจะเช่าไม่เช่าไม่สำคัญ เงินได้มาง่าย ๆ ๗๒ พันล้าน จ่ายดอกเบี้ย ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่มีการเสี่ยง ถ้าเผื่อว่าตอนนั้นเราปล่อยให้เงินบาทลอยตัว ให้เป็นไปตามกลไกทางตลาด ก่อนผมจะไปยืมเงิน ๑๐ ล้าน ๑๐๐ ล้านดอลลาร์ เพื่อเสียค่าดอกเบี้ย ๘ เปอร์เซ็นต์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ผมสบายใจ แต่ถ้าเผื่อตราบใด ผมบอกว่าไม่แน่นะ ตอนเราไปยืมมา ๒๕.๕๐ ถ้าเผื่อมันขึ้นเป็น ๒๘ บาทเมื่อไร จะต้องเอาอีก ๒.๕๐ มารวมกันอีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ที่เราเสีย มันจะเท่ากับ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ที่เรายืมภายในประเทศหรือเปล่านักธุรกิจต้องคิดเรื่องพวกนี้


ทีนี้ถ้าจะบอกว่าเมื่อไรจะหมดวิกฤต ผมไม่ทราบ ผมมาวันนี้ ผมไม่มีข้อมูลอะไรเพิ่มเติมผมไม่ทราบแน่ว่า รัฐบาลจะทำอะไรต่อไป ผมไม่ได้เป็นที่ปรึกษาเป็นทางการ ผมและเพื่อนอยู่ในกลุ่มที่อยากจะช่วยประเทศชาติ ไม่ใช่เป็นคนวิเศษหรือคนที่มีความรู้ความสามารถ แต่ผมคิดว่าเรื่องของการมีส่วนร่วมในการปกครอง ถ้าเผื่อว่าเรามีข้อมูล หรือข้อวิเคราะห์อะไรที่เป็นที่น่าสนใจสำหรับรัฐบาล ผมไม่ทราบว่า จะพ้นวิกฤตเมื่อไร อาจจะหนักมากขึ้นในระยะเดือนสองเดือนนี้ อาจจะดีขึ้นปลายปีนี้ หรืออาจจะไม่ดีขึ้น แต่ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า คนเรานี่ท้อแท้ไม่ได้ ยอมแพ้ไม่ได้ ถ้าเผื่อมีใครมาถามผมว่าจะหมดวิกฤตเมื่อไร และทางออกคืออะไร ในแง่ของนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม ทางออกมิได้อยู่ที่ว่าต้องพึ่งรัฐบาล ทางออกอยู่ที่ว่าปัจจุบันนี้เหตุการณ์เป็นอย่างไร ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ฉันจะปรับปรุงตัวเองอย่างไร นั่นคือการที่เราต้องพึ่งตัวเอง


การอาศัยตัวเอง การปรับนิสัยส่วนตัว การปรับวัฒนธรรมการทำธุรกิจของเมืองไทย การกลับสู่วัฒนธรรมเดิม ๆ ของไทย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ การมีพอกินพอใช้ การมีเพียงพอพยายามละทิ้งวัฒนธรรมแบบบริโภคโดยไม่มีขีดจำกัด


โอกาสนี้เป็นโอกาสของนักธุรกิจนักอุตสาหกรรมของไทย เรามานั่งดูว่า เวลานี้เรามีเวลาว่างมาก การเงินขาดสภาพคล่อง ดอกเบี้ยก็ยังแพงอยู่ เป็นหนี้สินของธนาคาร เงินส่วนตัวก็ติดบริษัทเงินทุนต่าง ๆ กลางคืนก็ไม่สามารถออกไปเที่ยว หรือไปทานอาหารได้มากมาย มีเวลาว่างใกล้ชิดครอบครัวมากขึ้น ก็เป็นโอกาสที่ดีในฐานะผู้บริหาร มานั่งดูตัวเองว่า ที่ผ่านมาบริษัท หรือธุรกิจของตัวเองนั้นผิดพลาดตรงไหน จะแก้ไขได้อย่างไร เพราะถ้าเผื่อไม่เกิดวิกฤตคราวนี้ เรายังหลงระเริงอยู่กับทุกอย่างที่มันยังฟู่ฟ่าอยู่ ไม่มีใครคิดได้ว่าเมืองไทยผ่านมา ๒๕ - ๓๐ ปี มันเป็นการพัฒนา หรือมันเป็นเพียงแต่การทำให้เมืองไทยนั้นทันสมัย เคยมีคนเขียนหนังสือกว่า ๒๕ ปีมาแล้ว เขาใช้เมืองไทยเป็นกรณีศึกษา แต่ผมเห็นชื่อหนังสือแล้วคิดว่า เป็นชื่อที่คนไทยน่าจะนั่งไตร่ตรอง และคิดดูเป็นกรณีศึกษาของเมืองไทย ชื่อหนังสือคือ Modernization or Development ที่ผ่านมาไม่ได้หมายความว่าเมืองไทยนั้น สร้างความยากจนให้มากขึ้น ทิศทางไม่ถึงกับผิดพลาด มันอาจผิดพลาดในเรื่องของการที่มุ่งแต่ทางด้านความทันสมัย มุ่งแต่การเจริญเติบโตทางด้านการส่งออก per capital income ตัวเลขขึ้นมาอยู่เรื่อย ซึ่งก็ขึ้นมาจริง ๆ ความผาสุกหรือความพอเพียงจะเกิดขึ้น มันไม่จริง คนรวย รวยเท่าไรยังไม่พอ คนโกงกินเท่าไร ก็ยังไม่พอ คนมีกิเลส มันก็ยังมีต่อไป เราอาจจะต้องมานั่งดูตัวเองว่า เราเข้าใจคำว่า “พอ” ลึกซึ้งแค่ไหน เราต้องมานั่งตรวจสอบบริษัทตัวเอง ตรวจสอบการบริหารงาน


เมื่อตอนผมเป็นนายกรัฐมนตรี ผมได้ไปพูดกับนักธุรกิจหลายพันคน ผมเป็นคนแรกที่ชี้หน้านักธุรกิจบอกว่า ควรเลิกวิธีปฏิบัติเก่า ๆ นะ ทำบัญชี ๒ บัญชีนั้นเลิกได้แล้ว คิดเสียภาษีให้ถูกต้อง การให้เงินหน่วยราชการ การให้เงินข้าราชการ ให้นักการเมือง เพื่อซื้อโครงการนั้นโครงการนี้ก็ต้องหยุดเช่นเดียวกัน เพราะส่วนหนึ่งของการวิกฤตของเรา ก็เกิดขึ้นเพราะว่ากิจกรรมทางด้านการเมืองของสังคมไทย และกิจกรรมทางด้านธุรกิจของสังคมไทยมันไม่ได้แตกต่างอะไรเลย นักธุรกิจหลายคนอาจจะไปด่าว่านักการเมืองว่าโกงกิน หรือความประพฤติไม่ดี


ผมอยู่ในวงการธุรกิจมานาน ผมก็เห็นเช่นเดียวกัน เพราะนักธุรกิจไทยก็มีส่วนเหมือนกัน ในการสร้างปัญหาประเทศชาติ พฤติกรรมของนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรมของเมืองไทย มีส่วนที่ทำให้เกิดปัญหา ไม่ว่าจะในเรื่องของการไม่เสียภาษีเงินได้ ไม่เสียภาษี VAT ให้เงินกรมศุลกากรซื้อโครงการ ช่วยพรรคการเมืองใต้โต๊ะ มันก็มี เราต้องเปลี่ยนนิสัยนี้ ถ้างั้นทางออกมันอยู่ที่ไหน เราอาจมีความสบายใจตอนนี้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกฎหมายลูกออกมา ๓ ฉบับ ยังต้องมีกฎหมายลูกออกมาอีก ๕-๖ ฉบับ เพราะยังไม่มีองค์กรใดตรวจสอบเลย ยังไม่มีสำนักงาน ป.ป.ป. ใหม่ ยังไม่มีสำนักงานผู้ตรวจสอบแผ่นดินหรือผู้ตรวจงานรัฐสภา ๓ ฉบับที่ออกมาเป็นเพียงแต่ว่าเลือกตั้งได้ แต่อันนั้นมันไม่ใช่ประชาธิปไตย เราจะต้องแน่ใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมาแล้ว ทุก ๆ มาตรามันจะ Function ได้ ทุก ๆ มาตราจะสัมฤทธิผลได้ไม่ใช่กฎหมายลูก ๓ ฉบับเท่านั้น


กฎหมายลูก ๓ ฉบับที่ออกมาเป็นเพียงแต่บอกว่า ถ้าจะมีการเลือกตั้งใหม่ต้องมีกฎหมายลูก ๓ ฉบับนี้ แต่ประเด็นที่ว่า ควรจะมีเลือกตั้งเมื่อไร ไม่เกี่ยวกับกฎหมายลูก ๓ ฉบับ มันจะต้องมีกฎหมายลูกอีกหลายฉบับ และเราจะต้องแน่ใจว่า ทุก ๆ มาตราไม่ว่าจะในเรื่องของสิทธิมนุษยชนสิทธิทางด้านการเมือง หน้าที่และความรับผิดชอบ ไม่ว่าในเรื่องของขบวนการทางการเมือง การเลือกตั้งการตรวจสอบจะต้องออกมาพร้อมกัน เมื่อนั้นเราจึงจะเห็นถึงผลที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีคำถามต่อไปว่าประชาธิปไตยพอไหม รัฐธรรมนูญที่ดีหรือไม่ดีก็แล้วแต่พอไหม คำตอบบอกว่าไม่พอ ประเทศชาติอยู่ได้ไม่ได้ อยู่ที่ว่าเราบอกว่าเราเป็นประชาธิปไตย มันอยู่ไม่ได้โดยการที่เราบอกว่าเรามีรัฐธรรมนูญ ทุกประเทศในโลกนอกจากเกาหลีเหนือกับคิวบาเท่านั้น ที่อาจจะบอกว่าไม่สนใจเรื่องประชาธิปไตย ทุกประเทศบอกว่าเวลานี้ฉันเป็นประชาธิปไตย รัสเซีย ฮังการี เชโกสโลวะเกีย จีน เวียดนาม เป็นประเทศประชาธิปไตยหมดแล้ว ถ้าจะเถียงกันว่าประชาธิปไตยกินได้ไหม บางคนบอกว่ากินได้ แต่กว่าจะอธิบายว่ากินได้ ก็ต้องอธิบายขบวนการไปอีกนาน เพราะคนจนคนด้อยโอกาสในทุกสังคมนั้น เขายังมองไม่เห็นว่า เขากินอะไรได้จากประชาธิปไตย เขาจะสามารถส่งลูกหลานไปโรงเรียนได้ไหม มีเครื่องแบบนักเรียนได้ไหม หรือลูกไปแล้วไม่มีเงินกินอาหารกลางวัน เจ็บป่วยรักษาพยาบาลอย่างไร เกิดอุบัติเหตุขึ้นมาเขาจะพึ่งใคร ในสังคมซึ่งยังกระท่อนกระแท่นอยู่ ประชาชนก็ยังหวังพึ่งรัฐมากไม่ได้ เพราะรัฐเองก็มีภาระมาก เราก็อาจจะต้องพ้นกลับไปสู่วัฒนธรรมเดิม ๆ ของไทย หรือ ค่าสังคมของไทยแบบชาวบ้าน แบบชนบทมากขึ้น การอยู่ร่วมกัน การเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน การแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน


แต่ประชาธิปไตยอันเดียวไม่พอเพราะหลายคนเห็นว่ายังกินไม่ได้ สุดท้ายอะไรที่จะเป็นเครื่องทดสอบว่า สังคมไหนที่มีการจัดการที่ดีพอที่จะแก้ไขปัญหาในเรื่องของความยากจน ปัญหาของผู้ด้อยโอกาส อะไรต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาความอยุติธรรมทางสังคม วิธีการจัดการที่ดีที่สุดคือ Good Governance คือธรรมรัฐ คำนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะ IMF หรือ World Bank หรือ Asian Development ไม่ได้เกิดขึ้นจากนายอานันท์ฯ หรือใครทั้งนั้น แต่มันเกิดขึ้นเพราะว่าทุกสังคมต้องมีการจัดการการบริหารที่ดี ที่ยุติธรรม มีจริยธรรม มีความโปร่งใส จะนำไปสู่การแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ ของสังคม และการลดปัญหาการขัดแย้งระหว่างคนในสังคม สิ่งเหล่านี้จะนำมาสู่ประชาชนที่แท้จริงเบื้องล่าง และจะพิสูจน์ได้ว่า สังคมเราไม่ว่าภาครัฐหรือภาคเอกชนจะสามารถ deliver ได้หรือไม่ อันนั้นเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ เขากินรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่ถ้ามีการบริหารงานที่มีความโปร่งใส มีความรับผิดชอบหลายสิ่งหลายสิ่งหลายอย่างก็จะดีขึ้น แต่ Good Governance นั้น มิใช่เฉพาะทางด้านภาครัฐบาลเท่านั้นก็เพราะว่าเมืองไทยไม่มี Good Governance ทางภาคธุรกิจปัญหามันจึงมีอยู่ อะไรคือธรรมรัฐ?


ธรรมรัฐคือการแสดงออกว่า ฉันเป็นเจ้าของ ทางด้านภาคการเมือง เริ่มต้นจากว่าฉันเป็นเจ้าของประเทศ ฉันเป็นเจ้าของสิทธิอธิปไตย ถ้าเกิดเราเป็นเจ้าของแล้ว เราจะต้องดูแลเรื่องการเลือกตั้ง การมีผู้แทน การมีรัฐบาล คนที่เป็นรัฐบาล เป็นผู้แทน เป็นตัวแทนจากเราเขา ไม่ได้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย อำนาจอธิปไตยอยู่ที่ประชาชน อยู่ที่พวกเรา ๆ ทั้งหลายพวกนี้เป็นตัวแทน เราต้องมีสิทธิตรวจสอบได้ เราต้องมีสิทธิลงโทษเขาได้ เขาขึ้นอยู่ที่เรา เขาไม่ใช่เป็นเจ้านายเรา ไม่ได้เป็นผู้สั่งเรา เขาต้องทำตามความปรารถนาของเรา เราต้องมีส่วนร่วม เราต้องอยู่ในขบวนการพิจารณาเรื่อง เราต้องอยู่ในขบวนการตัดสินใจ เราเห็นว่าควรจะมีกฎหมายอะไร เรามี ๕๐,๐๐๐ คน เราลงชื่อกันเสนอกฎหมายได้ จะผ่านหรือไม่ผ่านเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เราเสนอกฎหมายได้ อันนั้นเป็นการแสดงออกถึงสิทธิการเป็นเจ้าของประเทศในระบบการเมือง


ฉันใดฉันนั้น ทางด้านภาคธุรกิจก็ใช้หลักการเดียวกัน เพราะเจ้าของธุรกิจไม่ใช่ครอบครัวไม่ใช่อาเตี่ย อาม้า ไม่ใช่ของผู้บริหารเจ้าของธุรกิจ คือผู้มีหุ้นส่วน โดยเฉพาะที่ผมพูดถึงคือบริษัทที่เป็นบริษัทมหาชน ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ต้องมีข้อยกเว้น บริษัทที่เขาเป็นของครอบครัวเขาก็มีอยู่ และนั่นก็เป็นเรื่องของเขา ในครอบครัวเขาจะโกงกินเขาจะแบ่งแยกอย่างไร จะเอาเปรียบพี่น้องกันอย่างไรนั่นเป็นเรื่องของเขา แต่เมื่อที่ผู้ถือหุ้นมาจากภาคประชาชนด้วย ในลักษณะบริษัทมหาชน หรือลักษณะกึ่งมหาชน เจ้าของไม่ใช่ผู้จัดการ ไม่ใช่กรรมการผู้จัดการเจ้าของคือผู้ถือหุ้น และเมื่อเจ้าของคือผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นต้องมีสิทธิ์ตรวจสอบ มีสิทธิ์เรียกร้องความโปร่งใส ต้องมีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องข้อมูลที่สมบูรณ์และข้อมูลที่ถูกต้อง มีสิทธิ์ที่จะดูบัญชีที่ถูกต้องไม่ใช่ ๒ บัญชี บัญชีที่ให้ข้อมูล ให้รายละเอียด และให้ตัวเลขที่ได้มีการตรวจสอบจากบุคคลที่สามซึ่งไว้ใจได้ ไม่ใช่มาจากบริษัทตรวจสอบที่เป็นเพื่อนฝูงที่มีความเกรงใจ ถ้าเราจะสร้างสังคมซึ่งเป็นสังคมเปิด เป็นสังคมที่ต้องอาศัยกลไกทางตลาด สิ่งที่ตลาดต้องการคือ ข้อเท็จจริง ข้อมูลที่ถูกต้อง ที่สมบูรณ์ เพราะตลาดนั้นจะมีปฏิกิริยากับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าเรื่องการเมือง หรือเรื่องเศรษฐกิจค่อนข้างจะไวมาก โดยเฉพาะในยุคคอมพิวเตอร์เทคโนโลยี ตลาดไม่มีหัวใจ ตลาดจะมีปฏิกิริยากับข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์ที่ถูกต้อง ถ้าเผื่อระบบใด ระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ ระบบธุรกิจ ไม่ป้อนข้อมูลที่ถูกต้องและทันเวลา ไม่หมกเม็ดที่ไหน ตลาดจะ Respond ในทางที่ถูกต้องไปสั่งตลาดไม่ได้ แต่ถ้าเผื่อหมกเม็ดหมกตัวเลขหมกข้อมูล ตลาดจะงง ตลาดรับไม่ได้ เมื่อตลาดรับไม่ได้ ตลาดงง ก็เกิดความสงสัย ไม่มั่นใจ ในยามเศรษฐกิจดี ความสงสัยความไม่มั่นใจไม่มีผลกระทบเศรษฐกิจที่ดีเท่าไร แต่ยามเศรษฐกิจไม่ดี ข้อสงสัย ความไม่มั่นใจ มันจะทำให้สิ่งซึ่งไม่ดีอยู่แล้วนั้น เลวมากยิ่งกว่าความจริง เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อถามว่า ทำไมต้องมีบัญชีเดียว ทำไมต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องสมบูรณ์ ทำไมต้องมีการเปิดเผยข้อมูล อันนั้นทำเพื่อคุณเอง ทำเพื่อความอยู่รอดของบริษัทเอง ในโลกสมัยใหม่นั้น ตกแต่งตัวเลขไม่ได้ ตลาดจะไม่เข้าใจ ต้องสร้างความมั่นใจในตลาด ต้องให้ตลาดเชื่อถือ ถ้าเผื่อตลาดมั่นใจ ตลาดเชื่อถือเราแล้ว เราไปรอด เราต้องให้ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท มีข้อมูลที่ถูกต้อง มีตัวเลขที่ถูกต้อง เราต้องมั่นใจว่าฝ่ายบริหาร กรรมการบริษัทต้องทำงานด้วยความซื่อตรง ด้วยจริยธรรม ไม่ได้ช่วยพวกพ้อง ช่วยเพื่อนฝูง ช่วยญาติพี่น้อง สิ่งเหล่านี้ถ้าภาคธุรกิจของไทยไม่เปลี่ยนตัว ไม่เปลี่ยนแปลงนิสัยอยู่ไปไม่ได้


ปัจจุบันนี้ ภาคธุรกิจภาคอุตสาหกรรมบางภาค ซึ่งไม่ควรจะอยู่ในฐานะที่มีความลำบากเลย การผลิตก็ดี การส่งออกก็ดี แต่เนื่องจากไม่มี Good Cooperate Governance ภาคธุรกิจภาคนี้ ใช้เงินกว่า ๑๕,๐๐๐ ล้านบาท ที่เราเรียกว่า over financing เพราะ เงินที่กู้ยืมมาไม่ได้ใช้ในภาคธุรกิจที่แท้จริงของตัวเอง เงินที่กู้ยืมมาจากธนาคารนั้น เอาไปใช้ในกิจกรรมอื่นธุรกิจอื่น ที่ไม่ตรงกับการขอยืมเงินจากธนาคาร นี่คือปัญหาของเมืองไทย


เราไม่มี Good Cooperate Governance ปัจจุบันเราก็มีปัญหาต่อไป สภาพคล่องไม่มี ผมก็บอกกับทางรัฐบาลว่า ขณะนี้ ความเชื่อถือก็มีพอประมาณแล้ว เงินบาทก็มีเสถียรภาพดีพออัตราแลกเปลี่ยนก็นิ่งอยู่พอใช้ ที่มันเพิ่มจาก ๓๘ - ๓๙ มาเป็น ๔๒ มันไม่ใช่เหตุการณ์ของเมืองไทย เป็นเหตุการณ์ของอินโดนีเชีย เหตุการณ์ของญี่ปุ่น ซึ่งเราควบคุมไม่ได้ แต่นี่เป็นกลไกทางตลาด แต่เราต้องเริ่มดูแล้วว่า เพราะการแก้ไขปัญหา ภาคการเงิน การคลัง หรือสถาบันการเงินนั้นมันเริ่มต้นมาดีอยู่แล้ว มันอาจมาค่อนทางหรือครึ่งทางแล้ว แต่ยังไม่จบ มันต้องไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าเราไม่เริ่มดู ภาคเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิตที่แท้จริงแล้ว มันก็จะพังกันทั้งประเทศและสิ่งที่ทำกันมาดีอย่างตลอดในเรื่องของภาคการเงิน การคลัง มันก็จะเสียไปด้วย ฉะนั้นเราต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง จะต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อจะให้ดูว่า ภาคผลิตที่มันตกไป ๒๐ เปอร์เซ็นต์ เมื่อเดือนที่แล้วมันต้องกลับตัวมาให้ได้ ภาคส่งออกที่มีปัญหา ได้รับ order มาไม่มีเงินซื้อวัตถุดิบ ไปทำ packing order ก็ไม่ได้ บริษัทใหญ่ไม่มีปัญหา บริษัทผมไม่มีปัญหา แต่ยังมีบริษัทส่งออกอีกหลายร้อยหลายพันที่ฐานะการเงินไม่ดี รัฐบาลก็ได้ออกมาตรการมาเรื่อย ๆ เมื่อวานซืนนี้ก็ออกมาว่า จะใช้เงินคงคลัง ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท และต่อไปก็จะมีมาตรการต่าง ๆ ในเรื่องของ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ใช้เวลา ๔ - ๕ เดือนกว่าจะได้รับคืนมา ก็จะต้องมีมาตรการมีระบบที่จะให้ได้รับเงินคืนมาเร็วขึ้น หรือไม่ได้รับเงินคืนมาเร็วก็อาจจะทำให้ภาษี VAT ที่ติดค้างอยู่ ทำเป็น TAX CREDIT ซึ่งไปหักลบกันข้างหน้าได้ และอาจจะมีมาตรการอีกหลายอันเกี่ยวกับเรื่อง packing credit อาจจะให้ธนาคารส่งออกของเมืองไทย ดำเนินการโดยตรงกับผู้ส่งออกเพราะขณะที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ยอมปล่อยเงินที่เข้าสู่ระบบ เงินที่เพิ่มทุน ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย เงินที่ได้มาจาก World Bank จาก IMF หรือ Asian Development Bank ในเรื่องของ Social Sector มันเข้ามาเมืองไทยจริง แต่ไม่ได้เข้าระบบการเงิน เพราะมันเข้ามาแล้ว มันก็ไปอยู่ตลาดขายธนาคารชาติและกองทุน นักลงทุนก็ดูดไปอีก เพราะเขายังได้ดอกเบี้ยอยู่ ๒๐ - ๒๒ เปอร์เซ็นต์ เพราะอย่างนั้นไม่เห็นมีความจำเป็นต้องออกพระราชกำหนดฉบับนั้นออกมา เพื่อที่จะเปลี่ยนสภาพหนี้จากระยะสั้นของกองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงิน มาเป็นหนี้ระยะยาว มันไม่ได้สร้างหนี้ให้ประเทศชาติเพิ่มเติม แต่มันเป็นการเปลี่ยนสภาพหนี้และอย่ามานั่งเถียงว่า หนี้นี้เป็นของภาคเอกชน หรือหนี้ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นหนี้อะไร ก็คือหนี้ของประเทศ ทุกคนต้องแบกภาระ ทั้งคนจนคนรวย อย่ามาแบ่งแยกเมืองไทย ด้วยพื้นที่ภาคอีสานหรือภาคใต้ อย่ามาแบ่งแยกคนไทยเรื่องศาสนา มันไม่เคยมีวัฒนธรรมนี้ในสังคมไทย สิ่งที่ไม่เคยเป็นปัญหาในสังคมไทย อย่ามาสร้างให้มันมีปัญหามากขึ้น


เราต้องพูดให้รู้ จะเถียงกันในเรื่องของนโยบายเรื่องมาตรการ จะเล่นการเมืองอย่างไรแล้วแต่อย่าเอาปัญหาที่ไม่เคยเป็นปัญหามาเป็นปัญหาในสังคมไทย ปัจจุบันเรามีปัญหามากมายอยู่แล้ว เมื่อวานนี้ทางธนาคารชาติก็ปรับกฎระเบียบออกมาใหม่ เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ เพราะที่ผ่านมา ถ้าบริษัทใดบริษัทหนึ่งติดอยู่เป็นจำเลยในเรื่องของหนี้สูญสงสัย (NPL) บริษัทนั้นตายทั้งเป็น ธนาคารไม่เข้ามายุ่งไม่ให้เงินเพิ่มเติม เมื่อเราเปลี่ยนระดับมาตรฐาน NPL เป็นระดับมาตรฐานของโลก แต่ที่ผ่านมา การตีความหนี้ที่สงสัยจะสูญมันก็ไม่ใช่มาตรฐานของโลก เพราะมาตราฐานของโลกนั้น ก่อนที่จะคำนวณ ว่าหนี้ที่สงสัยว่าจะสูญนั้น เราคำนวณมาอย่างไร ธนาคารพาณิชย์ของไทยส่วนใหญ่ ถ้าเป็น Cooperate Loan มันไม่มีทุนไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ในกฎใหม่นี้ การคำนวณหนี้สูญสงสัยนั้น สามารถเอาหลักทรัพย์ค้ำประกันไปคำนวณด้วยความเป็นธรรมและมาหักลบจากจำนวนหนี้สูญสงสัยได้ เพราะฉะนั้นบริษัท ๆ ที่มีหนี้สูญสงสัย ๑๐๐ ล้านบาท ถ้าบริษัทนั้นมีหลักประกันที่ดินตึกแถวอะไรต่าง ๆ ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ก็มีการนำไปคำนวณตามกฎใหม่ถ้าเผื่อคำนวณออกมาได้ว่า หลักทรัพย์มีมูลค่า ๕๐ ล้านบาท บริษัทนั้นแทนที่จะมีหนี้สงสัย ๑๐๐ ล้านก็เป็น ๕๐ ล้าน ภาระของบริษัทก็น้อยลงไป ภาระของธนาคารพาณิชย์ที่ต้องหาเงินทุนเพื่อให้ได้ ตามสัดส่วนของหนี้สูญสงสัยมันก็น้อยลงไป และเป็นการส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ เริ่มจับเข่าคุยกันกับบริษัทที่มีปัญหา เพราะบริษัทที่มีปัญหานั้น อาจจะมี ๕ โครงการ ๓ โครงการ อาจจะใช้ไม่ได้เอาเงินไปให้ลูก ให้ญาติ โกงกัน Management ไม่ดี แต่อาจจะมีอีก ๒ โครงการที่ดี แต่มันเกิดปัญหาสภาพคล่อง


ธนาคารพาณิชย์ก็สามารถดึงจากระดับหนี้สินสงสัยให้น้อยลงไป เพราะเอาหลักทรัพย์ประกันไปตีราคาได้ ธนาคารพาณิชย์จะมาจับเข่าคุยกับเราว่า ๓ โครงการนั้นอย่าไปยุ่ง แต่อีก ๒ โครงการนี้ยังดีอยู่เอาเงินมาสมทบ เพื่อ ๒ โครงการนั้นฟื้น และเงินที่มา Restructure ใหม่ก็จะไม่คิดเป็นส่วนหนึ่งของหนี้ที่สงสัยว่าจะสูญ มาตรการเหล่านี้ นอกเหนือจากสิ่งที่เราคิดว่าเราจะได้เงินจากต่างประเทศเข้ามา เป็นการดำเนินการเพื่อหวังจะแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง เพื่อนำไปสู่การทำให้ดอกเบี้ยลดลง ปัจจุบันภาวะเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับควบคุมได้ เมื่อ ๖ เดือนที่แล้วเราคิดภาวะเงินเฟ้อไว้ ๗ - ๑๔ เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันนี้เหลือ ๑๑ - ๑๒ เปอร์เซ็นต์ ทางภาคธุรกิจก็บอกว่า ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องภาวะเงินเฟ้อมากมายเท่าไร แต่ในเรื่องของรัฐบาลช่วยไม่ได้ที่เขาต้องห่วงใยในเรื่องนี้ เพราะมันเป็นปัญหาที่กระทบความยากจนของคนในประเทศด้วย รัฐบาลมีมาตรการออกมาเรื่อย ๆ แต่รัฐบาลอธิบายไม่เป็น เมื่อมันออกมาแล้ว ก็ไม่ได้การันตีเสมอไปว่ามันจะได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยในสายตาของผมมันเป็นทิศทางที่ถูกต้อง และเป็นสิ่งที่จะต้องกระทำ และต้องหวังว่าโหงวเฮ้งของเมืองไทยดีพอที่จะทำให้เรารอดพ้นวิกฤต