รวมปาฐกถาภาษาไทย ปาฐกถาพิเศษ
เรื่อง อุดมศึกษา: คุณภาพทางวิชาการและผลกระทบต่อประเทศชาติ โดย
ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี วันที่ ๒๘ - ๒๙ ตุลาคม
๒๕๓๗ สารจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยและท่านผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาในครั้งนี้
บ่อยครั้งที่ผมได้รับเชิญมาพูดในเรื่องของการศึกษาและโดยเฉพาะในวันนี้ได้รับเชิญมาให้พูดในหัวข้อเรื่อง
การประกันคุณภาพทางวิชาการ ซึ่งโดยความสัตย์จริงแล้วตัวผมไม่ถือว่าเป็นคนมีความเชี่ยวชาญหรือนักวิชาการทางการศึกษาแต่ถ้าเพียงด้านคุณวุฒิผมก็จบแค่ปริญญาตรี
และถึงแม้ว่ามีคำตามหลังมาว่าปริญญาตรีเกียรตินิยมนั้นก็เป็นเกียรตินิยมขั้นต่ำ ๆ
และตัวเองก็รู้ดีว่าถึงแม้จะเรียนไม่เลวนักในสมัยที่อยู่มัธยม แต่เมื่อไปถึงขั้นอุดมศึกษาแล้วนั้นความสนใจที่จะเรียนที่จะขวนขวายค่อนข้างจะน้อยและสิ่งบกพร่องในชีวิตของผมอันหนึ่งก็คือว่า
ตอนที่เรียนนั้นก็รู้สึกว่าเรียนเพื่อให้ได้ปริญญาบัตรเท่านั้น เพื่อจะได้เข้าทำงานได้
แต่จากการทำงานในกระทรวงการต่างประเทศ ๒๓ ปี ภาคเอกชน ๑๕ ปี และก็เข้าไปพัวพันด้านการเมืองอยู่
๒ ปีกว่านั้น ประสบการณ์นั้นทำให้รู้สึกว่า การศึกษาที่เราได้ร่ำเรียนมา และได้เห็นมานั้นโดยเฉพาะในต่างประเทศ
และเมื่อมาเปรียบเทียบกับระบบการศึกษาที่อยู่ในเมืองไทยก็ทำให้ผมรู้สึกมีความสะท้อนอยู่ในใจว่าอะไรคือข้อบกพร่องที่อยู่ในระบบการศึกษาของเมืองไทย
ผมเคยไปพูดในที่ต่าง ๆ หลายครั้งและก็ได้ยกอุทาหรณ์ขึ้นมา ในสมัยหนึ่งที่เขาเรียกว่าสมัยเมืองไทยเริ่มเปิดสมัย
ร. ๕ ซึ่งสอดคล้องกับสมัยเมจิของญี่ปุ่น สมัยเรอเนสซองส์ ตอนนั้นมีหลายคนโดยเฉพาะที่เรียกว่าเป็นผู้สังเกตการณ์ทางฝ่ายตะวันตกเขาได้พยากรณ์หรือคาดการณ์ไว้ว่า
เมืองไทยจะไปได้เร็วกว่าญี่ปุ่นทางด้านพัฒนาก็ดี ในเรื่องความเจริญก็ดี เหตุผลง่าย
ๆ ก็คือเมืองไทยเป็นประเทศที่เปิดให้กระแสลมจากข้างนอกอิทธิพลจากข้างนอกเข้ามาอยู่ในสังคมมากกว่าญี่ปุ่น
ซึ่งเป็นประเทศที่สังคมยังปิดอยู่ ในระยะนั้นทั้งญี่ปุ่นและไทยก็ได้ส่งนักเรียนไปศึกษาต่างประเทศค่อนข้างจะมาก
หลายคนในที่นี้อาจจะเคยมีคุณปู่ คุณตาที่เรียนต่างประเทศ หรือคุณพ่อคุณแม่ เพราะฉะนั้นเด็กนักเรียนไทยที่ไปอยู่หรือเรียนต่างประเทศนั้นมันผ่านมาหลาย
generation แล้ว ญี่ปุ่นนั้นเมื่อก่อนส่งไปเรียนมากแต่ปัจจุบันค่อนข้างน้อย
นอกจากจะไปทำปริญญาโทหรือปริญญาเอก หรือไปทำในสาขาที่ยังบกพร่องอยู่ในระบบการเรียนของเขา
แต่ผมว่าเป็นที่น่าอนาถที่ทุกวันนี้ลูกผมยังอยากให้หลานไปเรียนต่างประเทศอยู่และผมแน่ใจว่าถ้าเกิดระบบการศึกษาของเมืองไทยยังเป็นในรูปนี้
การส่งลูกไปศึกษาในต่างประเทศจะไม่มีวันจบสิ้นไปได้และนับวันจะมากขึ้นเหตุไฉนจึงเป็นเช่นนั้น
เหตุไฉนญี่ปุ่นจึงสามารถปรับปรุงระบบอุดมศึกษา ระบบการศึกษาของเขาให้ทันสมัยมีการพัฒนาไปถึงขั้นที่เป็นเลิศแล้ว
เรียกว่าเทียบเท่ากับอเมริกาหรือยุโรป แต่ของเรายังล้าหลังอยู่มาก และไม่ใช่จะล้าหลัง
ในแง่อเมริกาหรือยุโรปเท่านั้น แต่ขณะนี้ก็ล้าหลังแม้แต่ในระดับภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์
ไต้หวันหรือฮ่องกง ในใจผมคิดว่ามันต้องมีข้อบกพร่องอย่างมาก และในอดีตผมก็ไม่แน่ใจว่าข้อบกพร่องต่าง
ๆ ที่จะมีการปรับปรุงแก้ไขนั้นได้มีการปรับปรุงแก้ไขในลักษณะเป็นการปรับปรุงแก้ไขขั้นพื้นฐานหรือเปล่า
หรือเป็นการปรับปรุงแก้ไขในลักษณะที่ฝรั่งเรียกว่า Cosmetic Changes หรือใช้แบบ Band-Aid
เป็นแผลที่ไหนเลือดตกที่ไหนก็เอาพลาสเตอร์ปิดไว้ชั่วคราวก่อน เพราะฉะนั้นถ้าจะเปรียบระบบการศึกษาของเมืองไทย
ผมไม่ได้พูดถึงระบบของการศึกษาครบวงจรของเรา แต่จะเปรียบเทียบแล้วขณะนี้ ถ้าเปรียบเป็นรูปร่างหน้าตาของคนพลาสเตอร์ก็คงจะเต็มไปหมด
มันอาจถึงเวลาที่ว่าศัพท์สมัยใหม่เขาใช้ว่า Re-engineering บางคนก็แปลว่ายกเครื่อง
บางคนก็บอกว่ายกเครื่องไม่ถูก แต่มันอาจถึงเวลาที่เราจะต้องเริ่มดูตัวเองแล้วว่าระบบต่าง
ๆ ตั้งแต่ชั้นประถม มัธยม ไปจนถึงอุดมศึกษา มันช่วยให้คนไทยนั้นตามฝรั่งว่า Educated
Person หรือเปล่าหรือเป็นเพียงแต่ทำให้คนไทยนั้นมีความรู้ทางวิชาการ แต่ยังไม่เป็น
Educated Person เพราะฉะนั้นในลักษณะของคำว่า Educated Person คนนั้นไม่จำเป็นจะต้องได้ดีกรีอาจจะเรียนด้วยตัวเองจากการอ่านหนังสือ
จากการฟัง จากการค้นคว้าเอกสารในมหาวิทยาลัย เรื่องคุณภาพเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำคงยาก
ผมเผอิญเกิดมาในครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่เป็นครูใหญ่ และมีอาชีพเป็นครูตลอดมา และผมก็รู้สึกว่าผมโชคดีที่มีคนอย่างคุณพ่อที่เป็นคนค่อนข้างจะมีความคิดเสรี
เพราะฉะนั้นการอบรมที่ผมได้ภายในครอบครัวนั้นเป็นการอบรมที่ปล่อยให้ผมคิด ปล่อยให้ผมทำ
ปล่อยให้ผมตัดสินใจ แต่มีคุณพ่ออยู่เคียงข้างตลอดเวลาที่จะตอบคำถามถ้าเผื่อถามที่จะให้คำแนะนำในกรณีที่เหมาะสมและที่จะรับฟังข้อคิดเห็น
ข้อโต้แย้งและข้อวิจารณ์ของลูก หรือคนที่อ่อนอายุกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดกับตัวผมเอง
๕๐ - ๖๐ ปีมาแล้ว ผมคิดว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกที่ทันสมัยมาก หลายครั้งหลายคราวเราได้รับการวิจารณ์จากต่างประเทศว่า
ระบบการศึกษาของเมืองไทยนั้น ปัญหาอุปสรรคใหญ่คือ ปัญหาคุณค่าทางสังคม หรือปัญหาทางด้านวัฒนธรรม
ระบบวัฒนธรรมครูจะต้องเป็นใหญ่ สิ่งอะไรที่ครูพูดจะต้องถือว่าถูกทั้ง ๆ ที่เห็นว่ามันไม่ถูก
มันไม่จริง นักเรียนก็ไม่กล้าที่จะขัดวัฒนธรรมบางอย่างเป็นวัฒนธรรมที่ดีที่ควรยึดถือต่อไป
การให้ความเคารพต่อครูอาจารย์ของนักเรียนไทยนั้นมีมาก และเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม แต่ผมว่าเราจะต้องแบ่งกันให้ถูกว่า
การเคารพความเป็นครูของเขานั้นมันจะต้องไม่เกี่ยวโยงกับการเคารพว่าเขาเป็นครูที่ดีหรือมีความรู้ที่ดีหรือเขามีความรู้ทางวิชาการที่ดีหรือเปล่า
มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมได้เคยพูดมาและอาจจะพูดในวันนี้อีก เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเราต้องดูตัวเองว่าคุณค่าทางสังคมของเรานั้นหรือวัฒนธรรมบางอย่างมันเป็นคุณค่าทางสังคม
หรือวัฒนธรรมที่เราน่าจะยึดถือต่อไปหรือเปล่า เพราะว่าเราอยู่ในโลกหรือสังคมที่มันเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
โลกของเราในปีนี้ ๒๕๓๗ นั้นไม่เหมือนกับโลกของเราเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว หรือ ๑๐๐ ปีที่แล้ว
เราจะต้องทำอย่างไรที่จะปรับตัวเราเองไม่ใช่เพื่ออยู่ทันกับ ๒๕๓๗ แต่ต้องให้ทันสมัยปี
๒๕๔๐ - ๒๕๔๕ - ๒๕๕๐ ในสมัยที่ผมมีโอกาสอยู่ในรัฐบาลและมีอาจารย์เกษมร่วมเป็นรัฐมนตรีอยู่ด้วย
เราไม่มีเวลาเพียงพอที่จะปรับโครงสร้างต่าง ๆ ทางการศึกษา หรือมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการทางการศึกษาอะไรบางอย่าง
แต่ก็เป็นสิ่งที่ผมครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลาว่า ปัญหาต่าง ๆ ของสังคมไทยนั้น ถ้าจะสืบสาวกันต่อไปแล้ว
มันกลับมาจุดที่ว่าต้องแก้ไขที่จุดของการศึกษาก่อน ไม่ว่าจะเป็นระบบการปกครอง ระบบการเมือง
ระบบสภา ระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม การกระจายอำนาจ การกระจายรายได้สู่ชนบท การแก้ปัญหาคนยากจน
Key answer ก็คือว่า ระดับการศึกษาของเมืองไทยและเราต้องเข้าใจว่าการศึกษาคืออะไร
ถ้าเผื่อเราจะพูดถึงคุณภาพการประกันคุณภาพของการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแล้ว ผมก็อยากเริ่มต้นด้วยการพูดในทำนองที่ว่าคุณภาพอยู่ที่ไหน
เราเคยได้ยินภาษาคอมพิวเตอร์บอกว่า Garbage in garbage out หรือถ้าผมมาจากธุรกิจ
มาจากโรงงาน เรารู้ว่าถ้าวัตถุดิบมันไม่ดี ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาจากเครื่องจักรหรือออกมาจากโรงงานมันก็จะไม่ดี
เพราะฉะนั้นถ้าเผื่อ เราจะพูดถึงการศึกษาแล้วผมว่าเราจะต้องไปที่จุดเริ่มต้น และไม่ใช่เริ่มต้นตอนเข้าอุดมศึกษา
แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นตั้งแต่คลอดออกมา เข้าโรงเรียนชั้นอนุบาลก็ดี ประถมศึกษาก็ดี
หรือมัธยมศึกษาก็ดี มันจะต้องมีการกลั่นกรอง มีการขัดเกลา จะต้องมีการปรับปรุงคุณภาพของเด็กและของวัตถุดิบอันนั้น
จนกระทั่งมาถึงขั้นอุดมศึกษา เรามาแก้ที่อุดมศึกษาไม่ได้ ผมคิดว่าข้อบกพร่องของระบบการศึกษาของเมืองไทยก็คือว่า จุดที่
๑ มีหลายกระทรวง ทบวง กรมและหลายหน่วยงานทำเรื่องเดียวกันและคิดว่าการศึกษานั้นจะสามารถจำแนกประเภทออกไปได้ว่า
ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา หรือการศึกษาพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือการศึกษาทางด้านเทคนิค
ถ้าเผื่อเราจับได้ว่าการศึกษานั้นไม่อาจแบ่งขั้นตอนได้ การแบ่งขั้นตอนเป็นแต่ผลสะท้อนของ
- อายุ
- การผลิตบุคคลที่จะไปทำงานตามประเภทต่าง ๆ
แต่ทั้งหมดนี้
อยู่ภายใต้วงกรอบเดียวกัน ผมไม่เคยเห็นประเทศไหนที่จะมีกระทรวง ทบวง กรม ดูแลเรื่องการศึกษาถึงขั้นนั้น
และผมคิดว่าอันนี้มีผลกระทบถึงคุณภาพของทั้งครูและนักเรียน มีผลกระทบถึงคุณภาพของการบริหารด้วย
ทำไมเราถึงจะมีหน่วยงานหน่วยหนึ่งที่จะมาดูแลทั้งการศึกษาทุกรูปแบบได้หรือไม่ แทนที่จะเป็นกระทรวงศึกษาดูระดับหนึ่ง
และมีกระทรวง ทบวงมหาวิทยาลัย และมีกระทรวงมหาดไทย กรมแรงงาน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
ทำอย่างไรจะสามารถดูว่าทุกอย่างเป็นทรัพยากรมนุษย์ และเราจะต้องจับว่าปัญหานี้ คือปัญหาทรัพยากรมนุษย์
ถ้าเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แล้วนั้น ส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งคือ การศึกษาเท่านั้น แต่การพัฒนานั้น
จะเป็นในรูปแบบของการศึกษาที่เรียกว่า Formal Training หรือจะเป็นการพัฒนาในรูปแบบนอกระบบก็ได้เราจะต้องมองว่าการศึกษานั้นจริง
ๆ แล้วเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน เป็นสิ่งที่ต้องทำให้ประชาชนไทย เด็กไทย มีโอกาสเข้าไปถึง
เป็นหน้าที่ของรัฐแต่ที่เราต้องระวังก็คือ อย่าไปทำให้เป็นแบบของซีลอนหรือศรีลังกา
ที่ไปเริ่มต้นในทางที่ถูกที่ว่า เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษา เพราะฉะนั้นทุกอย่างฟรีหมด
อันนั้นเป็นการก้าวก่ายของรัฐที่เริ่มต้นได้ดี แต่พอถึงระยะหนึ่ง จะปรากฏว่ารัฐไม่สามารถที่จะมีทรัพยากรแบ่งปันให้โครงการนี้เป็นโครงการที่สมบูรณ์
และต่อเนื่องได้ เหมือนกับโครงการ Social Security ต่าง ๆ เมืองไทยกำลังเริ่มตื่นตัวแต่ตื่นตัวช้าไป
๔๐ - ๕๐ ปี เมื่อหลายประเทศกำลังเริ่มตั้งคำถามแล้วว่า โครงการ หรือ โปรแกรม Security
ต่าง ๆ นั้นจริง ๆ แล้ว มันไปช่วยคนจริง ๆ หรือช่วยให้คนงอมืองอเท้า ระบบ Social
Security ในสวีเดนก็ดี นิวซีแลนด์ก็ดี คนก็เริ่มตั้งคำถาม เพราะนับวัน ๆ รัฐรับภาระนี้ไม่ไหวเพราะงบไม่พอ
ในนิวยอร์กก็เช่นกัน เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ ก็มาถึงจุดที่ ๒ ที่ผมอยากจะพูดหรือมองว่า
Education หรือการศึกษาทั้งหมดต้อง Take Integrated Approach ไม่ใช่ Fragmented จะทำอย่างไรที่เราจะสามารถ
Rationalize ของระบบนี้ให้ได้ทำไมถึงมีความจำเป็น มันมีความจำเป็นก็เพราะว่าการบริหารการจัดการงานทุกอย่างคืออะไร
ก็คือเราจะสามารถจัดสรรทรัพยากรของเราเท่าที่มีอยู่จำกัด ภายในเวลาจำกัดเราจะจัดสรรอย่างไร
Allocation Resources นั่นแหละคือการจัดการ นั่นแหละคือการบริหาร ไม่มีสถาบันไหนไม่มีระบบการศึกษาไหนที่จะบอกว่าเงินไม่จำกัดเวลาไม่จำกัด
เพราะฉะนั้นภายใต้ทรัพยากรที่เรามีอยู่ ภายใต้งบประมาณที่เรามีอยู่แต่ละปีของรัฐ
ก็จะต้องแบ่งสรรให้ถูกต้อง แต่ถ้าเราไม่มีระบบการจัดการ ระบบการบริหารที่เป็น Integrated
Approach แล้วทรัพยากรเหล่านั้นก็จะแตกกระจายไป แล้วมันจะไม่ได้ผลตอบแทนที่ควรจะเป็น
จะไม่ Optimal Use จะไม่มี Optimization เพราะฉะนั้นถ้าเราพูดถึงการศึกษา ผมไม่มีความรู้ทางวิชาการที่จะได้ไปบอกว่า
ปัจจุบันนี้คุณภาพของอาจารย์ดีหรือไม่ แต่ผมก็เป็นห่วง ผมได้ยินมหาวิทยาลัยหลายมหาวิทยาลัยแล้วบอกว่าขณะนี้
คณะบางคณะในมหาวิทยาลัยบางแห่งของประเทศไทยเริ่มรับอาจารย์ ที่เกรด ๒ กว่า ๆ แล้ว
ผมฟังแล้วรู้ศึกเศร้าทำไมคนไทยไม่ว่าจะเป็นอาจารย์หรือนักเรียนโดยเฉพาะอาจารย์ถึงเริ่ม
ผมไม่เชื่อคำที่เรียกว่า สมองไหล ผมไม่เชื่อว่ามันเป็นเรื่องของเงินเดือนอย่างเดียว
แต่ผมเชื่อว่าความศรัทธาความนิยมชมชอบ ความนับถือวิชาชีพครูของเรานั้น ค่อนข้างจะเสื่อมคลายไปมาก
วันก่อนผมไปพูดที่เชียงใหม่ หรือขอนแก่นผมจำไม่ได้ ผมบอกว่ากลุ่มครูบาอาจารย์เป็นกลุ่มที่ด้อยโอกาส
และกลุ่มยากจน ผมว่าถึงเวลาแล้วที่สังคมโดยเฉพาะสังคมไทยต้องเริ่มเพ่งเล็งให้ความเอาใจใส่กับเรื่องการศึกษาของเมืองไทยมากกว่าในอดีด
ผมเคยเรียนรัฐบาลชุดนี้ว่า Agenda ของรัฐบาลชุดนี้ผมว่า Priority อยู่ที่การศึกษา
ผมไม่เคยห่วงเรื่องของเศรษฐกิจหรือเรื่องอะไรต่าง ๆ ระบบเศรษฐกิจที่รัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้องมาก
ประเทศยิ่งเจริญช้า ปล่อยให้เอกชนทำไป รัฐบาลช่วยกำกับดูแลเท่านั้น แต่ถ้าเราคิดว่าเอกชนสามารถทำได้โดยที่รัฐไม่ต้องควบคุม
เพราะถ้ารัฐบาลควบคุมเมื่อไร มันจะทำให้การเติบโตหรือความเจริญล่าช้าไปฉันใดฉันนั้น
ทางด้านการศึกษา รัฐบาลซึ่งไม่มีความสามารถในการจัดการในการบริหาร ก็ควรจะเปลี่ยนสภาพตัวเอง
จากผู้ควบคุมมาเป็นผู้กำกับดูแล ปัจจุบันยังอยู่ในสภาพควบคุมอยู่เสมอ พูดกันอย่างตรงไปตรงมา
ระบบราชการไทยนั้นเป็นระบบที่สร้างอำนาจให้กับตนเอง คุณเป็นข้าราชการเมื่อไร คุณเริ่มออกกฎก่อนถ้าเผื่อออกกฎแล้ว
เราก็เป็นคนตีความของกฎนั้นด้วยใครที่ไม่รู้ความหมาย ก็ต้องมาถาม เรามีความภูมิใจว่ามีโอกาสหรือมีสิทธิครอบงำคนอื่นได้บ่อเกิดของคอรัปชั่น
ทุกอย่างเกิดขึ้นจากสังคม ที่มีกฎเกณฑ์มากเกินไป สังคมไหนมีกฎเกณฑ์มากรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องมาก
สังคมนั้นจะมีคอรัปชั่นมาก ถ้าสังคมไหนเริ่มคลี่คลายไปในทางที่เรียกว่า Deregulating
หรือ Decontrol โอกาสเรื่องฉ้อราชบังหลวงก็จะน้อยลง เมื่อพูดถึงเรื่องคุณภาพแล้ว
ผมให้ความสำคัญในเรื่องของการบริหาร ผมไม่ได้มีความสนใจที่จะเอามหาวิทยาลัยออกจากระบบราชการเพื่อความมัน
แต่ผมมองว่าตราบใดที่สถาบันการศึกษายังอยู่ภายใต้ขอบเขตหรือกฎเกณฑ์ของราชการ โอกาสที่จะรักษาคุณภาพหรือความพยายามที่จะเป็นศูนย์ของความเป็นเลิศทางวิชาการจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เพราะว่ากฎเกณฑ์ของราชการนั้น
อย่างผมมีโอกาสระยะ ๑๕ ปีที่ผ่านมานั่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ที่นิด้า นั่งอยู่
๘ - ๑๐ ปี ขณะนี้อยู่ที่ศศินทร์ และจุฬาลงกรณ์ฯ และเคยอยู่ทบวงมหาวิทยาลัย อาจารย์เกษมรู้ดี
เพราะตอนนั้นท่านเป็นนายกฯ คณะกรรมการของนิด้า ผมต้องยอมรับว่าตอนที่ร่างพระราชบัญญัติเหล่านี้ขึ้นมา
ให้มีคณะผู้ทรงคุณวุฒิจากข้างนอกเข้ามานั่งอยู่เป็นกรรมการด้วยนั้น ผมคิดว่าเป็นความตั้งใจที่ดีว่า
ต้องเอาคนข้างนอกเข้ามา แต่ก็แบบไทย ๆ ที่ชอบทำตามแต่แบบฟอร์ม ระบบบอกว่าเอาคนข้างนอกเข้ามาจะได้เป็นประโยชน์
แต่เมื่อเอาเข้ามาแล้วก็ไปเน้นกฎเกณฑ์ จนกระทั่งว่าคนข้างนอกเข้ามาแล้วไม่รู้จะเอาเขาเข้ามาเพื่อทำอะไร
ผมไปนั่งเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแล้วตอนที่ผมออกจากการเป็นนายกฯ หลายสถาบันเชิญให้ผมไปเป็นนายกสภามหาวิทยาลัย
ผมไม่มีเวลาแต่ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่แน่ใจว่า ผมไปแล้วทำประโยชน์อะไรให้กับสถาบันนั้นบ้าง
เพราะว่าคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย เมื่อเข้าไปนั่งแล้วให้ทำอะไร โดยเฉพาะจากคนข้างนอก
ให้ไปนั่งเพื่ออนุมัติรายชื่อบุคคลจบปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ซึ่งเราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสอนเลย
ก็ไปเป็น Rubber Stamp ให้ไปอนุมัติกฎ ระเบียบพัสดุ การจัดตั้งคณะโน้นคณะนี้ ซึ่งเขาทำมาเป็นเวลา
๒ ปี เมื่อมาถึงแล้วเสนอเป็นปึ๊ง ๆ แบบนั้นนักธุรกิจคนข้างนอกเข้าไปแล้วเขารู้สึกว่าเสียเวลา
อันเป็นข้อบกพร่องของสังคมไทยที่ชอบทำตามรูปแบบ แต่ไม่รู้เหตุผลหรือจุดประสงค์เป็นอย่างไร
สิ่งเหล่านี้ผมไม่อยากพูดว่าเป็นการบกพร่องของการศึกษา แต่ส่วนหนึ่งเป็นการบกพร่องที่ว่าคนไทยเราชอบทำอะไรฉาบฉวย
ชอบทำตามรูปแบบแต่ไม่นึกไม่เข้าถึงประเด็นสาระ แม้แต่ระบบการเมืองขณะนี้ ระบบพรรคการเมือง
ระบบสถาบันรัฐสภา หลายสิ่งหลายอย่างเอาแต่รูปแบบไม่ไปถึงสาระ กลับมาเรื่องคุณภาพ
พูดถึงการจัดการหรือการบริหารงานมหาวิทยาลัยนั้น ถ้าเผื่อต้องทำตามแบบราชการแล้ว
ผมว่าไปไม่รอด ยกตัวอย่างบางครั้งที่เราบอกว่าเราทำตามรูปแบบ สมัยหลังจาก ๑๔ ตุลา
เราก็บอกว่าประชาธิปไตยเบิกบาน เห่อเรื่องการเลือกตั้งการบริหารงานในมหาวิทยาลัยในตอนนั้น
จนถึงวันนี้ต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น อธิการบดี คณบดี แต่ละแห่งที่ใช้ระบบการเลือกตั้งผู้บริหารปวดหัวทั้งนั้น
ไม่ว่าจะเป็นขอนแก่น เชียงใหม่ รามคำแหง หรือที่ไหน ๆ ไม่ถึงกับยกพวกตีกัน แต่อาจารย์แบ่งเป็น
๒ พวก ๒ ฝ่าย ตั้งชื่อพรรค ฝ่ายไหนชนะอีกฝ่ายแพ้ก็บอกว่า ฉันแพ้ ฉันไม่ให้ความร่วมมือ
มันสร้างความแตกแยกโดยไม่เข้าเรื่อง ผมก็ไม่เคยเห็นที่ไหนว่าระบอบประชาธิปไตยจะต้องไปใช้ในการบริหารสถาบันการศึกษา
และคุณภาพจะอยู่ที่ไหน ถ้าเผื่ออาจารย์คนไหนที่ไม่มีศิลปะหรือวาทะศิลป์ที่จะทำให้เขาชนะการเลือกตั้งได้
เขาอาจจะเป็นอาจารย์ที่ดีมีคุณภาพ มีความรู้ทางวิชาการ แต่ก็ไม่สามารถมีอำนาจทำการบริหารได้
มันสร้างความแตกแยกไม่เป็นเอกภาพ สร้างความอิจฉาริษยา ส่วนใหญ่ทั่วโลกนั้นการเลือกอธิการบดี
คณบดี เขาใช้วิธีการที่เรียกว่า Search Committee คนไม่ต้องสมัครด้วยซ้ำ แต่คุณหา
Search Committee ที่ประกอบด้วยคนทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย ไปเลือกใครมาก็ได้ ของฝรั่งไปเลือกมหาวิทยาลัยอื่นมาด้วยซ้ำ
เพราะเขาคิดว่า เรื่องของคุณภาพของคนนั้นไม่ได้อยู่ที่เรื่องปริญญาอย่างเดียว แต่มีเรื่องของประสบการณ์และประสบการณ์ที่ได้มาจากหลาย
ๆ แห่ง มันจะดีกว่าที่คุณเจริญเติบโตมาในสถาบันเดียว เพราะฉะนั้นจะเห็นเสมอว่านักวิชาการ
Professor Lecturer ของมหาวิทยาลัยต่างประเทศนั้นเขาเรียนที่นี่ปริญญาตรี ปริญญาเอกไปจบที่นั่น
๕ ปีแรก เขาสอนที่นี่ อีก ๑๐ ปีต่อมาสอนอีกแห่งหนึ่ง วนไปเวียนมาจนกระทั่งอาจจะกลับมาที่เก่าก็ได้
การที่ประสบการณ์ตามสถาบันต่าง ๆ การที่ได้เห็นโลกกว้างขึ้น ไปเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของที่ต่าง
ๆ จะช่วยให้คนเรามีวิสัยทัศน์ จะช่วยทำให้เราเป็น All-rounder จะทำให้คนคนนั้น เมื่ออยู่ในตำแหน่งคณบดีหรืออธิการบดีของมหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่งแล้วจะใช้ประสบการณ์ที่ตัวเองผ่านมาแก้ปัญหาของสถาบันนั้นได้มาแต่งเติมปรับปรุง
แต่ของเรา ผมมีความรู้สึกว่า เนื่องจากยังเป็นลักษณะที่คุณอยู่ กระทรวงไหนคุณก็อยู่กระทรวงนั้น
คุณอยู่มหาวิทยาลัยไหน คุณก็อยู่มหาวิทยาลัยนั้น หลายแห่งที่ประชุมทางด้านการศึกษา
หรือทางด้านอื่น ๆ คุยกันเอง ครูกับครู นักวิชาการกับนักวิชาการ ผู้บริหารกับผู้บริหารคุยกันเอง
ไม่มีการเปิดหน้าต่างให้ลมหรืออากาศข้างนอกเข้ามาสัมผัสกับพวกคุณเลยน้อยมาก ผมไม่ใช่เป็นครั้งแรก
ขอบคุณที่เชิญผมมา ผมไม่มีความรู้ทางวิชาการ ผมอาจจะพูดนอกประเด็น แต่ผมจะให้ความเห็นบางอย่างเป็นความเห็นที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรง
แต่ถ้าเผื่อความเห็นหรือข้อคิดเห็นของผมไปสามารถกระตุ้นพวกคุณหรือนักวิชาการหรือผู้มาประชุมทั้งหลายสามารถไปคิดต่อในประเด็นที่กำลังศึกษาหารือกันอยู่
ผมถือว่าผมทำหน้าที่แล้วมันมีความจำเป็นที่เราจะต้องตรวจสอบ ตัวเองนั้นอย่าตรวจด้วยตัวเองจะต้องตรวจสอบโดยคนอื่น
ที่ไม่มีผลได้และผลเสีย เพราะถ้าตรวจสอบตัวเอง คุณภาพของตัวเอง โดยบุคคลที่มีทั้งส่วนได้และส่วนเสีย
การตรวจสอบนั้นจะไม่ Objective การตรวจสอบจะต้องทำจากบุคคลคณะอื่นข้างนอกที่ไม่มีส่วนได้เสีย
และมีความอิสระ การบริหารสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะอุดมศึกษาที่ภาษาสมัยใหม่ว่าอยู่ในกำกับของทางราชการ
แต่ไม่เป็นของราชการนั้น เป็นการเล่นคำพูด ซึ่งผมก็ยินดีซึ่งใช้คำว่า อยู่ในกำกับของทางราชการ
จะสามารถทำให้สถาบันมหาวิทยาลัยนั้นได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นทาสให้สามารถบริหารเรื่องของบุคคล
การเงิน งบประมาณ แต่ผมอยากจะพูดว่านับวันต่อไปก็คงเป็นเรื่องของหลักสูตรด้วย ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าการควบคุมหลักสูตรของกระทรวงศึกษาก็ดี
หรือของทบวงมหาวิทยาลัยก็ดีเป็นวิธีการที่ถูกต้อง มันอาจจะถึงเวลาที่เราจะต้องนั่งคิดว่ามันเป็นไปได้ไหม
และมันจะดีกว่าไหมที่จะให้ท้องถิ่นนั้น โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยนั้น เขาดูแลเรื่องนี้ด้วยตัวของเขาเอง
เพราะผู้บริหารของท้องถิ่น สถาบันในท้องถิ่น หรือผู้บริหารของสถาบัน ในสาขาต่าง ๆ
ก็สามารถรู้ถึงความต้องการ รู้ถึง Needs และ Aspiration ของคนมากกว่า มากกว่าคนที่อยู่ในส่วนกลาง
ปัจจุบันนี้การพยายามจะสร้างระบบที่เรียกว่า Community College ซึ่งผมก็คิดว่าเป็นทางที่ดี
ไม่ใช่ว่าให้คนมาหาสถาบันการศึกษาแล้ว แต่สถาบันการศึกษาจะต้องวิ่งไปหาคน แต่ถ้าวิ่งไปหาคนในท้องถิ่นเราจะต้องรู้ด้วยว่าเขาต้องการอะไร
ตลาดต้องการอะไร ผมคิดว่าเรื่องหลักสูตรเป็นจุดอ่อนค่อนข้างจะใหญ่อันหนึ่งของระบบการศึกษาไทย
ผมเห็นหลานผมเรียน ป. ๓ ป. ๔ หรือมัธยม ๑ ผมสงสารมากว่าวัน ๆ ใช้เวลาในเรื่องของการทำการบ้าน
การเรียนพิเศษ และได้ไม่คุ้มค่า ผมเคยยกตัวอย่างสมัยอยู่อังกฤษใหม่ ๆ เข้าเรียนโรงเรียนมัธยม
ผมจบ ม. ๗ ไปเป็นนักเรียนที่เรียนดีสอบได้ที่ ๑ - ๒ อยู่เสมอ และครั้งหนึ่งตอนอยู่
ม. ๗ นั้นไม่ทราบจะเรียนอะไร เลยไปเข้า ม. ๗ ด้านอักษรศาสตร์และตั้งแต่เด็ก ๆ ผมเกลียดไวยากรณ์ไทย
อีกวิชาคือการย่อภาษาไทย แต่วิธีการสอนหรือหลักสูตรขณะนั้น คะแนนที่ให้กับไวยากรณ์ไทยก็ดี
หรือย่อไทยก็ดีเป็นคะแนนที่ค่อนข้างต่ำ เพราะฉะนั้นถ้าเราได้คะแนนดีทางด้านคณิตศาสตร์
หรืออะไรอย่างอื่นแล้วนั้น ความด้อยของเราในเรื่องไวยากรณ์ก็ดีหรือการย่อภาษาไทยนั้นมันไม่กระทบกระเทือนถึงคะแนนขั้นสุดท้าย
ผมไปถึงอังกฤษเมื่ออายุ ๑๖ ปี ภาษาอังกฤษในระดับเด็กไทยนั้นผมดีพอประมาณ แต่พอถึงอังกฤษแล้วไปเทียบเท่ากับมัธยม
๖ เราก็รู้ในทันทีว่าเรียนมาทางภาษาอังกฤษนั้นใช้ไม่ได้เลย ซึ่งอันนี้ก็ไม่ใช่ความผิดอะไร
เพราะผมไปเมื่อค่อนข้างจะโตแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่ต้องทนทุกข์ทรมานมาก คือการเรียนภาษาอังกฤษค่อนข้างมากทีเดียว
ต้องเรียนพิเศษเสาร์ อาทิตย์ อะไรต่าง ๆ เพราะตามเด็กของเขาไม่ทัน แต่ก็มีวิชาหนึ่งที่เวลาสอบ
ที่อังกฤษสมัยก่อนเขาเรียกว่า G.C.E. คือ General Certification Education เวลาสอบภาษาอังกฤษเขามีวิชาที่มีการเรียนในชั้นเวลาสอบถือว่าเป็นแขนงของการสอบที่สำคัญมาก
ซึ่งเรียกว่า Precis Writing คือการย่อความผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมโรงเรียนอังกฤษถึงให้ความสำคัญกับวิชานี้มาก
ในเมื่อเรารู้อยู่แล้วว่าวิชาย่อภาษาไทย เราเขียนชุ่ย ๆ ไป ใน ๑๐ คะแนนเขาให้ ๕ คะแนน
มันก็ผ่านไปได้ ผมไม่เคยเห็นว่าทำไม จนกระทั่ง พอเรียนอยู่ได้สักปีภาษาอังกฤษดีขึ้น
ก็เริ่มมองเห็นว่าที่อังกฤษเขาทำอะไรเขามีเหตุผลและเหตุผลของการให้ความสำคัญของ Precis
Writing หรือการย่อความนี้ เพราะอะไร เพราะการย่อความนั้นเขาจะให้เอกสารหรือหนังสือมา
๕ หน้า และหลักของการย่อความคือเราจะต้องสรุปสาระของกระดาษ ๕ หน้าหรือ ๑๐ หน้านั้น
โดยไม่ใช้คำที่ปรากฏอยู่ในข้อความเดิม เราต้องหาคำใหม่ขึ้นมาและเขียนในภาษาของเรา
ทำไมถึงมีความสำคัญมากเพราะจากลักษณะง่าย ๆ ที่เราย่อความภาษาอังกฤษนั้น คุณสามารถเทสต์นักเรียนได้ถึง
๓ อย่างคือ หนึ่ง เด็กอ่านแล้ว Vocabulary ในหัวมีพอที่เข้าใจสิ่งที่อ่านนั้น เพราะถ้าเผื่ออ่านแล้วปรากฏว่าคำนั้นก็ไม่รู้คำนี้ก็ไม่รู้
และไม่มี Dictionary เปิดนั้น ก็หมายความว่า Vocabulary ของเด็กที่สอบนั้นไม่พอเพียงนั่นเทสต์ข้อแรก
ข้อที่สองเด็กคนนั้นอาจจะรู้ Vocabulary แต่อ่านแล้วจะเข้าใจหรือเปล่า เพราะถ้าเผื่ออ่านไม่เข้าใจก็ไม่สามารถย่อได้
เทสต์ข้อสาม เด็กคนนั้นอ่าน Vocabulary แล้วถ่ายทอดได้หรือเปล่าในภาษาของเขาเอง เพราะฉะนั้นการเรียนในระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยอังกฤษนั้น
มันทำให้เรื่อง Precis Writing เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะต้องใช้จด Lecture เพราะถ้าไม่เข้าใจจะจดไม่ได้
คุณต้องจดตามความเข้าใจของคุณเอง หรือคุณไปทำ Paper Work คุณต้องไปค้นคว้าจากหนังสือแล้วต้องไปเขียนให้เป็นภาษาของคุณเองทุกอย่างมันกลับมาที่
Precis Writing หมด แต่ผมไม่ทราบว่า ที่อเมริกาเขาทำกันอย่างไร ที่อเมริกาเขาอาจจะใช้
Tick มากกว่า แต่อันนี้เป็นรากฐานของการเรียนระดับอุดมศึกษาของอังกฤษคุณจะต้องเก่ง
Precis Writing เพราะว่าคุณต้องจด Lecture หรือทำรายงานต่าง ๆ พอมาถึงเมืองไทยผมไม่ทราบว่าแบบนี้ในเรื่องย่อความ
ภาษาไทยนั้นในโรงเรียนประถมหรือมัธยมยังให้ความสำคัญหรือเปล่า และคะแนนจะเป็นแค่ไหนผมก็ไม่ทราบ
แต่ผมคิดว่าเราจะต้องมาในเรื่องของ Curriculum ในเรื่องของหลักสูตรว่าหลักสูตรที่เราให้
ๆ กันไว้นั้น หนึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระให้นักเรียนเกินไปหรือเปล่า และสิ่งที่เราบังคับให้เขาเรียน
สิ่งที่กำหนดโดยกระทรวงศึกษาก็ดี หรือทบวงมหาวิทยาลัยก็ดี สอดคล้องกับความเป็นจริง
สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของสังคมหรือไม่ เพราะอันนี้ก็ย้อนกลับมาถึงเรื่องการจัดสรรทรัพยากร
ซึ่งทรัพยากรในที่นี้ ผมไม่ได้หมายถึงทรัพยากรในเรื่องงบประมาณอย่างเดียว แต่หมายถึง
Allocation of Time ด้วยโลกเราเปลี่ยนแปลงแต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง คือเวลาที่มีอยู่
คือวันหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมง ไม่มีวันไหนที่จะมี ๒๕ ชั่วโมงหรือ ๒๘ ชั่วโมง เพราะฉะนั้นเราจะทำอย่างไร
แบ่งเวลาอย่างไร ให้เวลาที่เด็กเรียนวันละ ๕ -๖ ชั่วโมงก็ดี หรือสิ่งที่เด็กกลับไปบ้าน
ทำการบ้านวันละ ๑ หรือ ๒ ชั่วโมงก็ดี ให้ผลตอบแทนในทางที่ดีที่สุด ผมเคยถามเจ้านายพระองค์หนึ่งว่าทำไมเรียนหนังสือกันมาก
ทำไมต้องทำการบ้านถึงค่ำคืน เสาร์-อาทิตย์ต้องเรียนพิเศษ พระองค์ท่านก็ตอบว่า หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการเขา
ผมก็ถามนักวิชาการพวกอาจารย์หลายคนก็ให้คำตอบซึ่งผมก็ยังไม่เข้าใจนักว่าเขาบอกว่าจะไปโทษกระทรวงศึกษาฯ
ก็ไม่ได้ เพราะหลักสูตรที่ให้ไว้ต้องการเตรียมให้คนเข้ามหาวิทยาลัยได้ ผมก็เลยไม่รู้ว่ามันผิดตรงไหน
มันมีจุดบกพร่องตรงไหน ทางนี้ก็อ้างว่าถ้าไม่มีหลักสูตรประถม หรือมัธยม หลักสูตรมัธยมที่เป็นอย่างนี้
ก็เพราะมันจำเป็นต้องให้เป็นอย่างนี้ เพราะถ้าไม่เช่นนั้น จะไม่เป็นการเตรียมให้เด็กเข้ามหาวิทยาลัยนั้นของทบวงมหาวิทยาลัยได้
ก็ต้องกลับมาที่หลักสูตรของมหาวิทยาลัยว่า หลักสูตรของมหาวิทยาลัยนั้นเหมาะสมหรือเปล่า
ผมคิดว่าระบบการศึกษาทุกแห่งเขาได้กำหนดไว้ว่าหลักสูตรนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก วิชาที่เรียน
ลักษณะการเรียน ลักษณะ Contents ของวิชาต่าง ๆ นั้น แต่ไหนแต่ไรเรารู้สึกว่าระบบการศึกษาของอังกฤษ
อเมริกา ญี่ปุ่นก็ดี เป็นระบบการศึกษาที่ดีที่สุด แต่ปรากฏว่าในระยะ ๒๐ ปีที่ผ่านมาทั้ง
๓ ประเทศจนกระทั่งทุกวันนี้ ต่างมีการตรวจสอบตัวอย่างว่า ที่ว่าของเราดีนั้นดีจริงหรือ
และหลังจากตรวจสอบเรื่องความเป็นธรรมโดย Objectivity แล้วทุกประเทศก็ลงความเห็นว่า
ของตัวเองไม่ดีจริง อย่างที่คิดและอย่างที่คนอื่นคิด หรืออย่างที่ต่างชาติคิด ดังนั้นเขาจึงมีการปรับปรุงตลอดเวลา
อย่างเมืองไทยผมแน่ใจระบบการศึกษาไม่ดีเท่าไหร่ และผมได้พูดสนุก ๆ อยู่เสมอว่า เมืองไทยยังโชคดี
คงมีคนฉลาด ๆ มากนะ ระบบการศึกษา หรือวงการแพทย์เราก็ยังมีหมอที่เก่งอยู่ เรายังมีคนเก่งกาจมากมายทีเดียว
แต่ถ้าระบบการศึกษาดีกว่านี้ ผมว่าเมืองไทยมีโอกาสที่จะทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์
ใต้หวัน และฮ่องกง ผมไปเกาหลีเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ซึ่งผมคิดว่า ผมไม่รู้ระบบการศึกษาของเขาดีเท่าไหร่
ไม่รู้เขาจัดการอย่างไร แต่ผมคิดว่าของเขาดีกว่าเมืองไทยแน่ ผมคุยกับรัฐมนตรีช่วยกระทรวง
Planning เขากล่าวว่าระบบการศึกษาของเขายังไม่ดีนัก คงจะต้องมีการตรวจสอบใหม่ ซึ่งผมยังไม่เคยเห็นกระแสคลื่นนี้ในการศึกษาของไทย
หรือแม้แต่ในมหาวิทยาลัยของไทย ผมเห็นมีการประชุมหลายครั้ง เป็นการประชุมวิชาการ
และผมได้เอกสารมาดู แต่ละคนจะส่งให้ผมเป็นปึ๊ง ๆ สิ่งที่ผมอยากจะถามคือว่า ประชุมเสร็จแล้วมีข้อเสนออะไรหรือเปล่า
อันนี้ไม่ใช่โจมตีรัฐบาลนี้ ผมคิดว่ารัฐบาลตั้งแต่ ๖๐ ปีที่ผ่านมาก็เป็นเช่นนี้ ดังนั้นอาจจะถึงเวลาที่ไม่ใช่ว่าเป็นการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเท่านั้น
แต่จะต้องมี Action Plan แล้วและ Action Plan ต้องเขียนให้ชัดด้วยว่าจะต้องมีมาตรการอย่างไร
ผมว่าไม่ใช่ Action Plan มันเป็นเพียง Objective ซึ่งดูได้ง่าย ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วว่าจะใช้
Re-engineering หรือไม่ผมไม่ทราบ แต่ผมว่า Community ของสถาบันมหาวิทยาลัยก็ดี หรือของระบบการศึกษาไทยก็ดี
มองเห็นว่ามันมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลง เมื่อนั้นแหละความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้
เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงไม่กล้าเผชิญความจริง และไม่กล้าที่จะทำอะไรที่ไม่มีการประกันที่แน่นอน
คนไทยจะทำอะไรต้องแน่ ๒ บวก ๒ ต้องเป็น ๔ ถ้ามีข้อสงสัยว่า ๒ บวก ๒ แล้วไม่ใช่ ๔
อาจเป็น ๕ ก็ไม่กล้าตัดสินใจ แต่ผมว่านับวัน ๆ จะช้าลงไป และนับวัน ๆ นั้น ถ้าเกิดไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบในทุก
ๆ ด้านโดยเฉพาะ ด้านการบริหารของสถาบันแล้ว จะมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
และการแก้ไขปัญหาของสังคมไทยด้วย |