รวมปาฐกถาภาษาไทย ประเทศไทยอีก
๕ ปีข้างหน้ากับ Digital Economy โดย นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี
จัดโดย สมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย (ATCI) วันพุธที่ ๒๘ เมษายน
๒๕๔๒ บริษัท เมโทร ซิสเตมส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ท่านผู้มีเกียรติ ความรู้เป็นรากฐานของการพัฒนาสังคม การเปลี่ยนแปลงสำคัญ
ๆ ของโลก เกิดจากความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้นมาใหม่ ๆ ทั้งสิ้น แท่นพิมพ์ของ Gutenberg
ทำให้สิ่งตีพิมพ์แพร่ไปทั่วทั้งยุโรป สร้างความรู้และปฏิวัติความตื่นตัวของสังคมโลก
ความรู้เป็นทรัพยากรที่ไม่มีการอิ่มตัวต่างกับทรัพยากรของโลกอุตสาหกรรม เช่น อสังหาริมทรัพย์
แรงงานหรือวัตถุดิบที่มีข้อจำกัด ต่างกับทรัพยากรโลกอุตสาหกรรมไม่สูญหายไปจากผู้ครอบครอง
ทอม วัตสัน ผู้ก่อตั้ง IBM มักกล่าวกับเซลล์แมนของเขาว่า ถ้าคนสองคนเอาเงิน ๑ ดอลลาร์มาแลกกัน
ต่างคนต่างจะกลับบ้านด้วยเงินคนละ ๑ ดอลลาร์เท่าเดิม แต่ถ้าทั้ง ๒ คน แลกความคิดเห็นและความรู้ซึ่งกันและกัน
ต่างคนต่างจะมีความรู้เพิ่มขึ้นอีกคนละหนึ่งอย่าง นอกจากนี้ความรู้ยังแตกยอดและเปลี่ยนแปลงไปกับเวลา
Francis Bacon เน้นการใช้ความรู้เพื่อรวมวิทยาการและปรัชญาให้เกิดเทคโนโลยีเพื่อสังคม
จึงได้กล่าวไว้ว่า ความรู้ คือ พลัง (Knowledge itself is power) ซึ่งพลังในวันนั้น
หมายถึงความสามารถที่จะโน้มน้าวและควบคุมธรรมชาติ แต่ความรู้ก็ถูกต่อยอดมาเป็นความรู้
ในเชิงได้เปรียบและเสียเปรียบในสังคม เกิดเป็นพลังในเชิงอำนาจ Bacon เองคงจะผิดหวังถ้าเป็นพลังอำนาจในทางที่ไม่ดีต่อสังคม
ความรู้ได้มาจากข้อมูลที่อาจเป็นได้ทั้งถ้อยคำหรือสิ่งของ เราสามารถให้รหัสตัวเลขแทนข้อมูลทุกชนิด
Pythagoras จึงได้กล่าวไว้ว่า All things are numbers ซึ่งเรากำลังเห็นว่าเป็นจริง
เพราะข้อมูลทุกอย่างที่คอมพิวเตอร์ใช้ทำงาน ต้องเป็นรหัสตัวเลขทั้งสิ้น จึงเป็นที่มาของคำว่า
ดิจิตอล เพราะฉะนั้นสังคมที่ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และการสื่อสารโทรคมนาคมเป็นเครื่องมือ
จึงได้ชื่อว่าสังคมดิจิตอล สังคมดิจิตอล เป็นสังคมที่ใช้ข้อมูลข่าวสาร
(information) กับทุกกิจกรรม การผลิตต้องใช้ information ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มผลผลิต
การค้า ตราสารเงินตรา การบริหาร การสื่อสารบันเทิง การศึกษา ล้วนแล้วแต่ใช้ information
ทั้งสิ้น จึงไม่แปลกใจเลยว่าเทคโนโลยีสารสนเทศและคมนาคม (ICT Information and Communications
Technology) ทำให้ปริมาณการค้าบริการที่มี information เป็นวัตถุดิบเพิ่มขึ้นอย่างเหลือเชื่อในปี
๑๙๙๕ การส่งออกของบริการโลก ซึ่งรวมถึงงานทรัพย์สินทางปัญญา เช่นโปรแกรมคอมพิวเตอร์
(software) การให้คำปรึกษามีมูลค่ามากกว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์รวมกันหรือมากกว่าปริมาณรวมของการส่งออกอาหารและน้ำมันโลก
อุตสาหกรรม ICT จึงเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดมหาศาล และเติบโตเร็วที่สุดอันหนึ่ง
อุตสาหกรรม ICT ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ สังคมอย่างมากมาย การแพร่ขยายการใช้เครือข่าย
internet ยิ่งทำให้ตลาด ICT โตขึ้นไปอีก Internet เชื่อมโยงทำให้โลกติดต่อเข้าหากัน
และยิ่งใช้ information เพิ่มขึ้นมากอีก Internet ถูกใช้งานทั้งทางด้านติดต่อธุรกิจและงานส่วนตัว
แทนจดหมายแทนโทรศัพท์ ติดต่อค้นหาข้อมูลข่าวสารจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้ ตลอดจนการใช้เพื่อการบันเทิงและซื้อขายของกัน
โลกได้ก้าวเข้าไปสู่สังคมดิจิตอลแล้ว และเราก็กำลังถูกกำหนดให้เข้าร่วมด้วย ความจริงแล้วส่วนใหญ่ชาติที่พัฒนาแล้ว
จะเป็นผู้กำหนดอนาคตให้กับชาติด้อยพัฒนา ซึ่งก็มีทั้งในแง่ดีและเสีย ข้อดีคือการตัดขั้นตอนการพัฒนา
เพราะการได้รับความรู้ วิทยาการที่ดี ได้แนวทางเศรษฐกิจสังคมที่มีการทดสอบแล้วก่อน
ทำให้เราเดินไปข้างหน้าได้เร็วและง่ายขึ้น แต่ข้อเสียคือเราไม่ได้พัฒนาความคิดและสร้างสิ่งใหม่
ๆ ด้วยตัวเองหรือเป็นผู้นำเลย สังคมดิจิตอลเป็นอีกอนาคตหนึ่งที่ชาติพัฒนาแล้วยื่นมาให้เรา
แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เพราะถ้าหากเราไม่ไปด้วย เราก็จะไม่สามารถแข่งขัน หรืออยู่ร่วมกับสังคมโลกใหม่ได้
สมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย (ATCI) ได้เสนอให้ผู้มีประสบการณ์ ในด้านต่าง ๆ มาเสนอข้อคิดเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจ
สังคม และการเมืองใน ๕ ปีข้างหน้า เพื่อจะให้ผู้เชี่ยวชาญ ICT ถกกันว่าเราจะไปสู่สังคมดิจิตอลได้อย่างราบรื่นอย่างไร
ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่ดี เพราะถ้าเราอยากรู้ว่าจะไปที่ไหนกันได้อย่างไร เราก็จะต้องรู้ตัวเองก่อนว่าเรากำลังอยู่ที่ไหน
จะไม่ขอกล่าวลึกไปในเรื่องใดเป็นพิเศษ เพราะจะได้ฟังจากท่านผู้อภิปรายหลายท่านอยู่แล้ว
แต่จะขอแสดงข้อคิดเห็น ๔ - ๕ ประการในการที่จะก้าวเข้าสู่สังคมดิจิตอล
- อีก ๕ ปีข้างหน้าความเหลื่อมล้ำของสังคมภายใน ยังคงจะมีอยู่ คำถามมีอยู่ว่าสังคมดิจิตอลที่เกิดใหม่นี้
จะกระจายและซึมซับเข้ากับสังคมปัจจุบันได้เร็วมากน้อยแค่ไหน มีการกล่าวกันว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมโลก
ทำให้ระดับความรวยและจนของสังคมห่างกันมากขึ้น มีความเห็นว่าในบ้านเรา สังคมดิจิตอลจะยิ่งแบ่งแยกขั้วต่างของสังคมให้มากขึ้นกว่ายุคอุตสาหกรรม
ความรวยความจน คนมีคนไม่มี ความสงบเรียบร้อยกับอาชญากรรมสังคม ความใฝ่ฝันและความผิดหวังกลับจะเห็นเด่นชัดขึ้น
เรื่องของคนมีและไม่มี จะเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมเรา คนส่วนใหญ่ของเรายังมีฐานะยากจน
ความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ หรือโอกาสได้ใช้เกือบไม่มีเลย เครื่องคอมพิวเตอร์ยังแพงและจำเป็นน้อยกว่าปัจจัยสี่ที่เขายังมีไม่พอด้วยซ้ำ
บริการการสื่อสารยังไม่ทั่วถึงและราคายังสูงกว่าที่จะให้คนจนเหล่านี้มีโอกาสใช้ได้
แต่คนไม่มีโอกาสเหล่านี้ จะมีโอกาสเห็นและรับรู้จากภาพความจริงและจากสื่อต่าง
ๆ ว่าคนที่มีโอกาสมีความสุขและได้เปรียบเขามากนัก ซึ่งจะเป็นการสร้างความคาดหวังที่เลื่อนลอยเพิ่มต่อไปอีก
ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายให้รัฐ และผู้วางแนวนโยบายจะต้องทำทุกอย่างเพื่อลดช่องว่างนี้ให้ได้
- อีก ๕ ปีข้างหน้า เราจะต้องใช้เวลาในการปรับระดับสังคมภายในและภายนอกมากขึ้นอีก
สังคมดิจิตอลจะเปิดประตูให้เราเข้าไปสู่สังคมโลกมากขึ้น ข้อมูลของแต่ละประเทศมีมากมายให้รู้เห็น
ให้เปรียบเทียบถึงนโยบาย และความสามารถของรัฐที่ประสบความสำเร็จกว่าเรา เปรียบเทียบถึงประสิทธิภาพของเศรษฐกิจและสังคมเรากับคู่แข่ง
ทำให้คิดว่าจะเป็นความกดดัน หรือเป็นการท้าทายให้เรามุมานะขึ้น ความรู้สึกชาตินิยมกับแรงผลักดันให้คล้อยตามโลกและกติกาใหม่
ๆ ของโลก จะสร้างความกังวลให้แก่รัฐและสังคมไทยมากน้อยแค่ไหน รัฐจะต้องเรียนรู้และสร้างความเข้าใจกับสังคมว่าการอยู่ร่วมกันในสังคมโลก
ไม่แตกต่างกับครอบครัวที่ต้องมีการเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกันเป็นสิ่งจำเป็น
และเมื่อทำด้วยความยุติธรรมย่อมไม่เป็นการสูญเสียอธิปไตย การเจรจาต่อรองผลประโยชน์
จะไม่จำกัดเพียงภายในประเทศต่อไปอีก รัฐจะต้องพัฒนาทักษะของการโน้มน้าวและเจรจาระดับนานาชาติทุกแขนงของเศรษฐกิจสังคมให้ดีและมากขึ้น
- การลดช่องว่างระหว่างประสิทธิภาพขององค์กรเอกชนและรัฐ สังคมดิจิตอลเป็นสังคมของผู้มีความรู้และสังคมบริการที่ดี
เป็นความหวังที่จะให้ทุกคนยืนอยู่ในระดับเดียวกัน แต่บริการของเอกชนและบริการของรัฐนับวันกลับจะห่างไกลกันมากขึ้น
องค์กรเอกชนมีการลงทุนใช้เทคโนโลยีและปรับปรุงองค์กรให้มีประสิทธิภาพล้ำหน้ากว่าภาครัฐมาก
ปฏิบัติการรวดเร็ว กระชับตัว ให้ความสำคัญกับลูกค้าและใช้เครือข่าย ICT ทำทุกอย่างที่จะได้มาซึ่งบริการที่ดี
แต่องค์กรรัฐยังคงปฏิบัติการในรูปเดิม มีกฎระเบียบขั้นตอนมาก งานล่าช้าไม่เป็นที่พึงพอใจแก่ประชาชน
ยังใช้ ICT เพื่อลดแรงงานและเวลาเพื่องานภายในมากกว่าภายนอกอยู่ ไม่มีการใช้ ICT
เพื่อลดขั้นตอนปฏิบัติงานและบริการประชาชนให้ฉับไวขึ้น เป็นการสูญเสียทรัพยากรและเวลาของสังคมที่วัดเป็นเงินไม่ได้
แต่ยังคงเป็นภาระให้ประชาชนรับต่อไป
ปัญหาประสิทธิภาพของการบริหารรัฐเป็นปัญหาค้างคาที่ทราบและเข้าใจกันดี
แต่การแก้ไขเป็นไปอย่างล้าช้า และถูกต่อต้านกันมาก เพราะกลัวการเปลี่ยนแปลง กระทบต่อความมั่นคงของตำแหน่ง
กลัวเทคโนโลยี ตลอดจนกลัวสูญเสียอำนาจ เพราะฉะนั้นจะต้องมีการปฏิรูประบบราชการให้เร็วขึ้น
ต้องสามารถให้ความรู้และบริการประชาชน ให้ได้ทัดเทียมกับที่ภาคเอกชนกำลังกระทำอยู่
รัฐจะต้องพัฒนาและดึงดูดเจ้าหน้าที่ ICT ที่มีความรู้และคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการ
จัดตั้งองค์กรที่มีทักษะในการช่วยให้ก้าวไปสู่สังคมดิจิตอลง่ายและเร็วขึ้น
- สร้างบรรยากาศให้คุ้นเคยกับเทคโนโลยีเพื่อจัดระเบียบและกติกาใหม่ของสังคม สังคมดิจิตอลต้องการเรียนรู้
มีระเบียบและกติกาใหม่ คนรุ่นปัจจุบันจะต้องปรับเปลี่ยนให้ยอมรับคอมพิวเตอร์ ในขณะที่วงการคอมพิวเตอร์พยายามทำทุกอย่าง
ให้การใช้เทคโนโลยีง่ายและเป็นธรรมชาติมากขึ้นแต่ยังต้องใช้เวลา แต่การใช้คอมพิวเตอร์ของทุกวันนี้ไม่ใช่การเรียนวิชาเขียนโปรแกรม
หรือปลุกปล้ำกับเทคโนโลยีที่ยุ่งยาก เราใช้คอมพิวเตอร์เพื่อเก็บข้อมูล พิมพ์เอกสาร
ค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งวิชาการ การใช้ง่ายขึ้นมาก อุปกรณ์ทุกชนิดมีคอมพิวเตอร์ฝังตัวอยู่
การใช้คือเพียงการอ่านคำอธิบาย หรือเข้าใจสัญลักษณ์ของเครื่องและเลือกกดปุ่ม คนรุ่นปัจจุบันต้องหัดใช้
ATM เครื่องเสียงหรือโทรทัศน์ โทรศัพท์ไร้สาย และจอ PC ที่พ่วงต่อกับ Internet ให้เป็นธรรมดา
ความคุ้นเคยเช่นนี้จะทำให้การใช้เครือข่ายดิจิตอลเป็นที่ไว้วางใจและแพร่หลายได้เร็วขึ้น
การทำธุรกิจค้าขายบนเครือข่าย Internet ที่เรียกกันว่า Electronic
Commerce" ต้องการกติกาใหม่ ใครคือผู้ขาย ใครคือผู้ซื้อ ใครรับผิดชอบว่าซื้อขายกันไม่ผิดตัว
ใครรับผิดชอบในการจ่ายเงิน ดิจิตอล ยังเป็นปัญหาทั้งโลก แต่ปัญหาจะถูกขจัดไป เช่นเดียวกับเมื่อสมัยที่คนเราเริ่มรู้จักการใช้ตัวเลขแทนรหัสหรือก้อนกรวด
มีปัญหาต่อต้านในการใช้มาก เพราะตัวเลขถูกบิดเบือนแก้ไขกัน จนเกือบเป็นที่ยอมรับไม่ได้
กฎหมายปัจจุบันต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพื่อรองรับกฎกติกาใหม่ และป้องกันอาชญากรรมหรือความผิดพลาดเพื่อปกป้องประโยชน์ให้กับสังคม
กฎกติกาใหม่จะต้องสอดคล้องกับนานาชาติ เพราะสังคมดิจิตอลเป็นสังคมที่ไร้พรมแดน การปรับปรุงแก้ไขระเบียบการค้า
กฎหมาย กติกาสังคมต้องมีอีกมาก แต่จะต้องทำพร้อมกันทั้งภายในและภายนอกประเทศ รัฐจะต้องพัฒนาความรู้และความสามารถของบุคลากรทางด้านเทคโนโลยี
และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้สามารถต่อรองกติกาและเงื่อนไขระดับชาติได้ เพราะนอกจากการต่อรองทางด้านเกษตรแล้ว
เรายังเป็นรองในการต่อรองทางด้านเทคโนโลยีมาก (ITA, IPR, Rule of Origin)
- การต่อสู้ทางการเมือง และการเรียกร้องประชาธิปไตยเต็มใบ จะยังคงมีต่อไป รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยร้อยเปอร์เซ็นยังอยู่ไกลกว่าที่จะมองเห็น
แต่เราไม่จำเป็นต้องรอเรื่องนี้ที่จะให้ชาติพัฒนาและรุ่งเรือง เราต้องการรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ
โปร่งใส สุจริต และมีความเป็นผู้นำที่เด็ดเดี่ยว สังคมดิจิตอลที่จะทำให้ประชาชนมีความรู้
ค้าขายติดต่อกันได้สะดวก และเชื่อมโยงกับโลกภายนอกได้อย่างไร้รอยต่อ จะเกิดขึ้นได้เมื่อรัฐสนับสนุน
ต้องมีนโยบายและความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติให้เป็นผล รัฐจะต้องเป็นผู้นำและลงทุนในการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดปริมาณวิกฤติ
(critical mass) เพื่อลดค่าใช้จ่ายของส่วนรวมในระยะยาว และให้เกิดการใช้เทคโนโลยีอย่างแพร่หลาย
สังคมดิจิตอลเป็นอีกระลอกหนึ่งของการพัฒนาของโลกที่จะเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง
ไม่ใช่เป็นสิ่งตายตัว แต่จะเป็นเพียงการโอบล้อม และปฏิรูปสังคมให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสมกับช่วงกาลเวลา
ICT และ Internet ในวันนี้ทำให้เราเห็นว่า สังคมจะเชื่อมโยงใยกันเป็นเครือข่าย ดิจิตอล
เพื่อให้สังคมโลกได้ร่วมกันเรียนรู้ร่วมกันทำธุรกิจ และเป็นอยู่กันอย่างสงบสุข แต่ยังจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกันตลอดไป
เพราะประวัติศาสตร์บอกเราว่า นวัตกรรมที่ตั้งใจไว้ในวันนี้มักจะเปลี่ยนประโยชน์ไปในวันหน้าอย่างคาดไม่ถึง
เช่นเดียวกับประโยชน์ของพลาสติกมีมากหลายเท่ากว่า ความตั้งใจเริ่มต้นของโรลส์รอยที่จะให้เป็นเพียงปุ่มประดับหัวเกียร์ให้แวววาวเท่านั้น
แม้กระทั่ง Internet เองก็เกิดขึ้นมาจากเครือข่ายงานทหารและข่ายวิจัยพัฒนาของสหรัฐ
โดยไม่มีใครคาดคิดว่าจะกลายเป็นเครือข่ายเศรษฐกิจสังคมโลกในปัจจุบัน
โดยสรุป
สังคมดิจิตอลเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเทศไทยต้องการผู้นำในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความพร้อมของสังคมใหม่นี้
เป็นการทดสอบถึงความสามารถของเรา ที่จะเรียนรู้และปรับตัวเข้าสู่สังคมโลก ซึ่งจะต้องเริ่มต้นจากรัฐในการสร้างบรรยากาศให้เกิดความร่วมมืออย่างใกล้ชิดจากภาพเอกชน
การเปลี่ยนแปลงนี้จะต้องเกิดขึ้นรวดเร็วให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก มิฉะนั้นเราจะเสียเปรียบในการแข่งขัน
เพราะสังคมดิจิตอลเป็นสังคมที่จะต้องชิงไหวชิงพริบกันในเชิงความรู้ในเวลาที่จำกัด
|