รวมปาฐกถาภาษาไทย

ปาฐกถาเรื่อง การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
โดย นายอานันท์ ปันยารชุน
ประธานกองทุนสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรม มูลนิธิสิ่งแวดล้อมไทย
ในพิธีเปิดการสนทนานำร่องท่องเที่ยวไทย ปี ๒๐๐๐
จัดโดย กองทุนสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรม มูลนิธิสิ่งแวดล้อมไทย
ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
โดยการสนับสนุนขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์
และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)
วันอังคารที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓
ณ โรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมยินดีที่ได้มาพบกับท่านทั้งหลายในวันนี้ เพื่อการสนทนาอย่างสร้างสรรค์ในเรื่อง “นำร่องท่องเที่ยวไทยในปี ๒๐๐๐”

เมื่อไม่นานมานี้เอง เรายังคิดกันว่าเรื่อง ‘ท่องเที่ยว’ เป็นเรื่องเล่น ๆ ไม่จริงจัง ไม่มีสาระ ความคิดของมนุษย์เรามักจะมาในรูปคู่ตรงกันข้าม เช่น ‘ดี’ กับ ‘เลว’ ‘ขาว’ กับ ‘ดำ’ ‘เรื่องจริงจัง’ กับ ‘เรื่องเล่น ๆ’ ‘เรื่องงาน’ กับ ‘เรื่องเที่ยว’ เราเคยคิดกันว่าคนดีคือคนที่เอาจริงเอาจังและทำแต่งาน มีแต่คนเหลวไหลเท่านั้นที่จะเอาแต่ ‘เที่ยวเล่น’ ‘เที่ยว’ และ ‘เล่น’ มีนัยยะว่าเหลวไหล ไร้สาระ มากกว่าจะมีความหมายถึงการแสวงหาความรู้ หรือการเปิดโลกทัศน์ แต่ทุกวันนี้ความเข้าใจในเรื่อง ‘เที่ยว’ และ ‘เล่น’ ได้เปลี่ยนไป โดยคนได้ตระหนักเห็นด้านที่สร้างสรรค์ของกิจกรรมทั้งสองมากขึ้น

ในทางเศรษฐกิจ ธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่มีบทบาทมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ และต่อเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด ธุรกิจการท่องเที่ยวจึงไม่ใช่เรื่อง ‘เล่น ๆ’ ที่ใครจะคิดถึงอย่างฉาบฉวยได้อีกต่อไป โดยเฉพาะเมื่อการท่องเที่ยวเป็นพระเอกในการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาสู่ประเทศไทย ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดว่า การท่องเที่ยวเป็นเรื่องเบา ๆ ไม่จริงจัง ไม่มีเนื้อหา ไม่สำคัญเท่ากับเรื่องการเงิน การคลัง และการเมือง แต่ผมกลับไม่คิดเช่นนั้น การท่องเที่ยวอาจไม่ใช่เรื่องรุนแรงฉับพลันเท่ากับการขึ้นราคาน้ำมัน การลดค่าเงินบาท การเลือกตั้ง หรือการประท้วง แต่การท่องเที่ยวมีผลกระทบได้รุนแรงและกว้างไกลไม่น้อยกว่ากันเลย ทั้งในเชิงที่เป็นคุณและที่เป็นโทษ เพียงแต่ไม่ได้มีลักษณะ ‘ฉับพลัน’ เท่านั้น ผมจึงได้กล่าวว่าผมยินดีที่วันนี้เราจะสนทนากันในเรื่องการท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวเป็นพระเอกในฐานะกิจกรรมทางเศรษฐกิจมาประมาณ ๒๐ ปีแล้ว และยิ่งมาเป็น ‘วีรบุรุษ’ เมื่อมีภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ดูเหมือนว่าใคร ๆ ก็อยากจะมีธุรกิจการท่องเที่ยวกันทั้งนั้น แต่ละจังหวัดก็ต้องการจะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การท่องเที่ยวไม่ได้สำคัญเฉพาะกับเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่สำคัญต่อประเทศอื่น ๆ ด้วย รวมทั้งประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรป ชาวอเมริกันและชาวยุโรปไม่ได้เป็นแต่เพียงนักท่องเที่ยวเป้าหมายของเราเท่านั้น ประเทศของเขาเองก็เป็นผู้นำในฐานะแหล่งท่องเที่ยวด้วย

นิตยสารต่างประเทศเคยตีพิมพ์ว่าเมืองไทยเป็นดินแดนของเซ็กส์และกอล์ฟ ภาพพจน์แบบนี้ต้องเปลี่ยน แต่ภาพพจน์จะเปลี่ยนได้จริงก็ต่อเมื่อความเป็นจริงต้องเปลี่ยนแปลงด้วย ทุกวันนี้เราไม่พูดถึง sex tour กันแล้ว แต่พูดกันถึง Ecotourism คำว่า Eco มาจากคำว่า Ecology หรือระบบนิเวศ Ecotourism ซึ่งเราแปลกันว่า ‘การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ’ จึงหมายถึงการท่องเที่ยวที่มุ่งพานักท่องเที่ยวไปชื่นชมธรรมชาติ และในขณะเดียวกันก็เป็นการท่องเที่ยวที่เคารพธรรมชาติด้วย

สาเหตุที่ Ecotourism เป็นที่นิยมกัน เป็นเพราะคนเมืองเครียดกับวิถีชีวิตในเมืองและถวิลหาธรรมชาติมากขึ้น การเดินป่า ดูถ้ำ ดูนก ดำน้ำ ขี่จักรยาน และการตั้งค่ายเป็นที่นิยมกันมากขึ้นของคนทุกวัย ในขณะเดียวกันการท่องเที่ยวเช่นนี้ ก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบของกิจกรรมการท่องเที่ยวที่จะมีต่อธรรมชาติและระบบนิเวศด้วย มิฉะนั้นแล้ว การที่คนเข้าไปใกล้ธรรมชาติมากขึ้นและยังพกความคิดบริโภคนิยม ความคิดที่เห็นตนเองเป็นใหญ่เหนือสิ่งอื่น ๆ ในระบบนิเวศติดตัวไปด้วย ก็มีแต่จะทำให้ธรรมชาติทรุดโทรมลง นอกจากนี้ถึงแม้ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แต่หากไม่จัดการอย่างระมัดระวังก็ยังอาจมีผลทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ด้วย ที่จริงในเรื่องนี้เราเคยมีประสบการณ์มามาก โดยเฉพาะการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล ประเทศไทยเรามีชื่อเสียงในเรื่องที่มีชายหาดสวยงามหลายแห่ง แต่บางหาดกลับกลายเป็นแหล่งของ Sea, Sand and Sex เช่นที่พัทยา และหาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต

การท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาประเทศโดยตรง ดังนั้นจึงต้องมีเป้าหมายที่ การพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วย ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ หมายถึงการพัฒนาเศรษฐกิจที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสร้างความเป็นธรรม พูดง่าย ๆ ก็คือ การพัฒนาที่ไม่ได้คิดถึงแต่เราเพียงคนเดียว แต่คิดถึงคนอื่น ๆ และคนรุ่นต่อ ๆ ไปด้วย เราจึงต้องคำนึงด้วยว่าการพัฒนาการท่องเที่ยวของเรานั้น จะส่งผลในทางทำลาย หรือในทางส่งเสริมทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมของเราเองกันแน่

ผมจะยกตัวอย่างเรื่อง ๆ หนึ่ง ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่ที่จริงแล้วไม่เล็กเลย เพราะเป็นเรื่องของ “ช้าง”

ประมาณ ๓ - ๔ ปีมานี้ เราได้ยินเรื่องน่าสลดใจเกี่ยวกับช้างอยู่หลายครั้ง มีตั้งแต่ช้างตกเหวตาย ช้างอาละวาด ช้างบุกรุกไร่สวนของชาวบ้าน จึงถูกชาวบ้านทำร้ายบ้าง ฆ่าให้ตายบ้าง ถึงกับนั่งยางช้างก็ยังมี รวมทั้งช้างที่ถูกนักล่าสัตว์ป่าล่าเอางาและชิ้นส่วนอวัยวะอื่น ๆ ระยะหลังมานี้ คนกรุงเทพฯ ไม่ใช่แต่เพียงอ่านข่าวเห็นข่าวเกี่ยวกับช้างเท่านั้น แต่เรายังได้เห็นช้างจริง ๆ เดินอยู่บนถนนคอนกรีตในกรุงเทพฯ บ้างก็บาดเจ็บเพราะตกท่อ บ้านผมอยู่ที่ถนนสุขุมวิท แต่เดิมสุขุมวิทเป็นย่านพักอาศัยที่สงบร่มเย็น เดี๋ยวนี้กลายเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญทั้งกลางวันและกลางคืน และมีปัญหาการจราจรติดขัดอยู่แทบตลอดเวลา บนถนนที่วุ่นวายนี้ นอกจากจะมีรถยนต์ รถขนส่ง และรถไฟฟ้า ซึ่งทันสมัยที่สุดแล้ว ปัจจุบันยังมีช้างเดินให้เห็นอยู่ทุกวัน ที่จริงกรุงเทพฯ เป็นแหล่งสุดท้ายของช้าง ช้างเดินทางอพยพไปเมืองอื่น ๆ อยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ แม้แต่จังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นเกาะยังมีช้างอยู่หลายเชือก ทำมาหากินกับนักท่องเที่ยว

ช้างเคยเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย และเคยมีบทบาทในการปกป้องแผ่นดิน ในสมัยอยุธยา ช้างช่วยพระมหากษัตริย์ปกป้องแผ่นดินในยามรบทัพจับศึก คงจำกันได้ว่าเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระมหาอุปราชาของพม่า ในปี พ.ศ. ๒๑๓๕ นั้นพระองค์ทรงช้างเจ้าพระยาปราบไตรจักร ตกมาในยุคล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ในสมัยราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความจำเป็นที่อาณาจักรไทยจะต้องมีเขตดินแดนทางภูมิศาสตร์ที่แน่ชัด เพื่อการเจรจากับมหาอำนาจตะวันตกในเรื่องเขตแดน จึงได้ทรงเตรียมการสำรวจเพื่อการจัดทำแผนที่เขตแดนประเทศราชหัวเมืองลาวเพื่อต่อกรกับฝรั่งเศส ได้ทรงมีพระบัญชาให้ผู้เชี่ยวชาญชื่อเจมส์ แมคคาร์ธี ซึ่งได้รับพระราชทานยศเป็นพระวิภาคภูวดลนำคณะขึ้นไปสำรวจพื้นที่เพื่อจัดทำแผนที่ใน พ.ศ. ๒๔๒๗ พระวิภาคภูวดลใช้ช้างนำคณะสำรวจเดินทางขึ้นไปถึงหลวงพระบาง แผนที่สยามที่จัดพิมพ์ขึ้นตามมาตรฐานสากลเป็นครั้งแรก อันเป็นผลงานของพระวิภาคภูวดลนั้นพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ในปีเดียวกันนั้นเอง ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาช้าง ร.ศ. ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๔๔๓)

นอกจากจะเป็นสัตว์พาหนะที่รับใช้แผ่นดิน ช้างยังเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองดังจะเห็นได้ว่า ในตราแผ่นดินจะมีรูปช้างอยู่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช้างเผือกนั้นเป็นสัญลักษณ์ของพระบรมเดชานุภาพ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ. ๑๑๐ (พ.ศ. 2434) ธงสยามมีลักษณะเป็นธงพื้นแดง ตรงกลางเป็นรูปช้างเผือกหันหน้าเข้าเสาธง และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เมื่อผู้ใดพบช้างเผือก จะนำถวายพระเจ้าอยู่หัว ช้างเผือกเหล่านี้จะได้รับพระราชทานยศ ‘พระ’ และ ‘พระยา’ ดังเช่น พระยาเศวตวรวรรณฯ (ในรัชกาลที่ ๕) พระเศวตวรลักษณ์ฯ (ในรัชกาลที่ ๕) พระเศวตวชิรพาหะฯ (ในรัชกาลที่ ๖) พระเศวตคชเดชน์ดิลกฯ (ในรัชกาลที่ ๗) และพระเศวตอดุลยเดชพาหนะฯ (ในรัชกาลที่ ๙) นอกจากนี้ ช้างเผือกยังเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องราชอิสริยาภรณ์สายหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ข้าราชการ โดยมีมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกเป็นชั้นสูงสุด

ที่ผมกล่าวมาข้างต้น เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงบทบาทที่สำคัญของช้างใน วัฒนธรรมไทย แม้แต่คณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ ยังได้จัดตั้ง ‘คณะอนุกรรมการการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย’ และได้สถาปนาวันที่ ๑๓ มีนาคม เป็นวันอนุรักษ์ช้างไทย

ช้างเหล่านี้เป็น ช้างบ้าน หรือ ช้างเลี้ยง คือช้างที่มาอยู่กับมนุษย์เสียแล้ว ไม่ได้อยู่ป่าอย่างบรรพบุรุษ ในปัจจุบัน ทั้งประเทศไทยมีช้างเลี้ยงอยู่ทั้งหมดประมาณ ๓,๐๐๐ เชือก กระจายอยู่ใน ๔๑ จังหวัดในภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ ทุกวันนี้ช้างเลี้ยงมีหน้าที่ช่วยเจ้าของหรือควาญช้างในกิจกรรมการท่องเที่ยว เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ที่เฉลียวฉลาดและสอนง่าย จึงสามารถฝึกให้ทำการแสดงต่าง ๆ และให้พานักท่องเที่ยวชมป่า แต่อาชีพเหล่านี้ก็คงมีไม่พอ เราจึงเห็นช้างมาเดินขายกล้วย ขายความสงสาร ขอทานอยู่ในเมือง การจะแก้ปัญหาช้างในเมืองด้วยการสกัดช้างไม่ให้เข้ากรุงเทพฯ และผลักดันช้างที่อยู่ในกรุงเทพฯ ให้ออกไปนั้น ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่สาเหตุ จะแก้ปัญหาช้างเลี้ยง จะต้องแก้ปัญหาปากท้องของคนเลี้ยงช้างเป็นสำคัญ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ มีช้างเลี้ยงอยู่จำนวนมาก จังหวัดสุรินทร์ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องการแสดงช้างมาช้านานและมีการเลี้ยงช้างมานานนับร้อยปี มีช้างเลี้ยงอยู่ประมาณ ๒๐๐ เชือก สุรินทร์เป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย ชาวสุรินทร์มีรายได้เฉลี่ยเพียง ๑๓,๕๐๐ บาทต่อคนต่อปี หรือเท่ากับ ๑,๑๒๕ บาทต่อคนต่อเดือน หรือ ๓๗.๕๐ บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งเป็นจำนวนที่เล็กน้อยมาก ยังไม่พอเป็นค่าทางด่วนขั้นแรกในกรุงเทพฯ ด่านเดียวเสียด้วยซ้ำ แต่ถ้าหากควาญช้างนำช้างเข้าเมือง เพื่อให้คนลอดท้องช้าง หรือเพื่อขายกล้วยให้คนที่ผ่านไปมาซื้อเลี้ยงช้าง เขาจะมีรายได้เฉลี่ยวันละ ๕๐๐ บาท จะผลักดันช้างและเจ้าของช้างออกนอกเมืองได้อย่างไร ถ้าหากรายได้แตกต่างกันมากกว่า ๑๐ เท่าเช่นนี้

แต่ยังมีช้างอีกส่วนหนึ่ง ที่เรียกว่า ช้างป่า ซึ่งถึงแม้ไม่ต้องมาเดินอยู่ในเมือง ก็ต้องทนทุกขเวทนาเหมือนกัน เพราะต้องอดอยาก อดน้ำ อดอาหาร เนื่องจากมนุษย์บุกรุกป่า ทำให้พื้นที่ป่าร่อยหรอลง เมื่อเราเริ่มต้นการพัฒนาประเทศ ด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เรามีพื้นที่ป่าประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่ประเทศ แต่ในปัจจุบันเราเหลือพื้นที่ป่าเพียงประมาณ ๒๐ - ๓๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เมื่อคนเข้าไปเปลี่ยนพื้นที่ป่าและพื้นที่รอบ ๆ ป่าไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรมบ้าง ทำเขื่อนบ้าง ทำถนนบ้าง หรือแม้แต่ทำสถานที่ท่องเที่ยว ช้างก็ต้องอพยพหลบเข้าไปในพื้นที่ที่สูงขึ้น และไปสู่พื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์น้อยกว่า เมื่อถึงฤดูแล้ง ช้างป่าเหล่านี้ขาดน้ำ ขาดอาหาร ก็ต้องลงมารุกรานพืชไร่ สร้างความเดือดร้อนกับชาวบ้าน เมื่อพื้นที่ป่าลดลง บ้านของช้างก็ร่อยหรอลงด้วย

คนไทยเราเองพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการทำลายป่า ทั้งเพื่อเกษตรกรรมและเพื่อการทำไม้ คนไทยเราเองเป็นคนเอาช้างไปลากไม้ทำไม้ ซ้ำเติมให้พื้นที่ป่าซึ่งเป็นบ้านที่แท้จริงของช้างลดลง ปัจจุบันเรามีช้างเลี้ยงประมาณ ๓,๐๐๐ เชือก และมีช้างป่าเพียงประมาณ ๒,๐๐๐ เชือก จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีช้างป่าเหลืออยู่น้อยกว่าช้างบ้านถึงประมาณ ๑,๐๐๐ เชือก เมื่อมีการทำป่าไม้กันอย่างไร้ขอบเขต จนเกิดน้ำท่วมใหญ่ในภาคใต้ กระทั่งรัฐบาลต้องประกาศนโยบายปิดป่า คนเลี้ยงช้างเหล่านี้ก็หมดอาชีพเดิม ต้องพาช้างซึ่งเคยใช้ลากไม้มาแสดงให้นักท่องเที่ยวดูบ้าง มาขอทานในเมืองบ้าง และไม่มีใครเหลียวแลทุกข์สุขของช้างเหล่านี้อย่างเป็นจริงเป็นจัง ในทางกฎหมายช้างป่าอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติรักษาช้างป่า พ.ศ. ๒๔๖๔ ซึ่งมีอายุเกือบ ๘๐ ปีแล้ว และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ภายใต้กฎหมายนี้ ช้างมีฐานะเป็นสัตว์คุ้มครองแต่ไม่ใช่สัตว์สงวน กฎหมายเหล่านี้ไม่สามารถคุ้มครองช้างได้จริง ดังปรากฏว่าระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๘ - ๒๕๒๒ ช้างถูกลักลอบล่าจากป่าอนุรักษ์ถึง ๙๑ เชือก และระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๐ - ๒๕๓๔ ช้างถูกฆ่าและจับออกจากป่าอนุรักษ์ถึง ๘๖ เชือก

ช้างบ้านที่มาเดินอยู่ในเมืองอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ. ๒๔๘๒ พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ และพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งไม่ใช่กฎหมายที่มุ่งหมายเพื่อการดูแลคุ้มครองช้างแต่ประการใด มีแต่เพียงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๘๑ ที่กำหนดโทษผู้กระทำการทารุณต่อสัตว์ หรือฆ่าสัตว์โดยได้รับทุกขเวทนาอันไม่จำเป็น กฎหมายนี้ครอบคลุมสัตว์โดยทั่วไป ไม่ได้เฉพาะเจาะจงที่ช้าง

เรื่องของช้างเป็นตัวอย่างหนึ่งของผลจากการพัฒนาประเทศไทย และเราได้เห็นแล้วว่า ประวัติศาสตร์ของช้างไทย ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจของมนุษย์ เป็นประวัติศาสตร์ที่น่าเวทนาอย่างยิ่ง

ช้างที่ต้องทิ้งป่า ทิ้งบ้าน มาเดินตามถนนสุขุมวิท ขอทาน ขายความสงสาร จึงเป็นสัญลักษณ์ของภาคที่ถูกย่ำยี ภาคที่ถูกละเลยทอดทิ้ง ในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ในอดีต ช้างเคยเป็นสัญลักษณ์ของศักดิ์ศรี สัญลักษณ์ของความสง่างาม สัญลักษณ์ของความเป็นผู้นำ แต่วันนี้ ช้างได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความล้มเหลว และความไม่เป็นธรรมในการพัฒนาของไทย ทุกวันนี้ เมื่อเราเห็นช้างเดินอยู่บนถนนในกรุงเทพฯ เรารู้สึกเวทนา ทั้งนี้เพราะเราไม่เพียงแต่สงสารช้างเท่านั้น แต่เรายังรู้สึกอับอายด้วย

ผมอยากจะเรียกร้องให้เรา ส่งช้างกลับบ้าน คืนช้างสู่ป่า

การห้ามช้างเข้ากรุงเทพฯ อาจจะช่วยให้เราไม่ต้องเห็นช้างให้รู้สึกเวทนา แต่ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรให้ช้างเลย ช้างอาจต้องย้ายไปหากินในเมืองอื่น ๆ หรือแม้แต่ในประเทศอื่น ถ้าจะแก้ที่สาเหตุ ก็ต้องทำนุบำรุงคนในชนบทของเราให้มีช่องทางทำมาหากินได้ดีกว่านี้ ไม่ต้องมาพึ่งความสงสาร หรือขายความอับอายของคนกรุง และจะต้องทำนุบำรุงป่า ให้ช้างอยู่ในป่าได้ ไม่ต้องอพยพไปอยู่ในถิ่นที่อุดมสมบูรณ์น้อยกว่าเดิม และไม่ต้องมารบกวนพืชไร่ของชาวบ้าน

ถ้าธุรกิจการท่องเที่ยวของเราพัฒนาไปในวิถีทางเดียวกับที่เราทำกับช้าง ทำกับป่า คือ ใช้กติกามือใครยาวสาวได้สาวเอา ตัวใครตัวมัน ไม่ต้องคิดถึงคนอื่น ๆ และคิดแค่สั้น ๆ ไม่คิดถึงคนรุ่นหลัง ๆ เหมือนที่เราใช้ช้างจนหมดประโยชน์แล้วก็ทอดทิ้งไม่ดูแล เหมือนที่เราบุกป่าจนเหลือป่าไม่พอสำหรับเป็นบ้านช้าง ถ้ายังทำเช่นนี้ โดยไม่ปรับปรุงวิธีคิดของเราเสียใหม่ ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่นของเราจะไม่เหลือ ทั้ง ๆ ที่ ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่า ภูเขา แม่น้ำ ลำคลอง และวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น วัดวาอาราม สถาปัตยกรรม งานศิลปกรรม หัตถกรรมท้องถิ่น และดนตรีพื้นบ้าน เหล่านี้นี่แหละคือขุมทรัพย์ของการท่องเที่ยว หากเราขุดใช้จนหมดเสียแล้ว เราก็จะไม่เหลืออะไรเป็นต้นทุนให้กับธุรกิจการท่องเที่ยวของเราได้อีก

ผมอยากให้เราเรียนรู้จากประสบการณ์ของเรา อยากให้เรามีความจำ ทั้งที่เป็นความทรงจำที่ดี และความทรงจำที่เจ็บปวด เพื่อที่เราจะไม่พลาดพลั้ง และกระทำผิด ซ้ำซาก

ผมจะถือโอกาสนี้พูดถึงการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ซึ่งจัดขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาประเด็นการค้าเสรี (Trade Liberalization) การท่องเที่ยวจัดเป็นการค้าประเภทหนึ่ง และจะตกอยู่ภายใต้การพิจารณาการค้าเสรีได้ด้วย ที่สำคัญการท่องเที่ยวของไทยใช้ราคาถูกเป็นจุดขาย เป็นข้อได้เปรียบทางการค้า เช่นเดียวกับสินค้าประเภทอื่น ๆ จากประเทศไทย

ประการแรก ผมอยากจะเตือนว่า โลกของเรายังไม่มีการอภิบาลด้วยเมตตาธรรมหรือยุติธรรม แต่ยังเป็นโลกที่แต่ละชาติจะต้องปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ไม่ว่าจะมีจำนวนประชากร มีรายได้ มีความรู้ หรือมีประวัติศาสตร์ต่างกันเพียงใด ในสังคมโลก กฎที่ว่ามือใครยาวสาวได้สาวเอายังคงเป็นกฎหลัก ดังนั้นแต่ละประเทศจึงต้องคอยดูแลปกป้องประโยชน์ของตนเอง อย่าคิดว่าประเทศ คน หรือบริษัทที่เขาร่ำรวยกว่าเรา มีความรู้มากกว่าเรา เขาจะช่วยเหลือเรา ดูแลเรา เพราะความร่ำรวยและความรู้ไม่ได้รับประกันเมตตาธรรมหรือยุติธรรม แต่ประเทศที่มีความรู้มากกว่า ร่ำรวยกว่า และมีประวัติศาสตร์ของอำนาจมานานกว่า สามารถคิดวิธีและสามารถกำหนดกฎเกณฑ์กติกาได้ดีกว่าเรา สังคมโลกยังคงใช้กฎ ‘อำนาจคือธรรม (might is right)’ ‘อำนาจ’ ในที่นี้มีได้หลายรูปแบบ ไม่ใช่แต่เพียงกำลังทางทหารเท่านั้น แต่ยังหมายถึง อำนาจทางเศรษฐกิจ ความรู้ และเทคโนโลยี เป็นต้น เราจึงยิ่งต้องระมัดระวังตัวไม่ให้เพลี่ยงพล้ำได้โดยง่าย

ผมไม่อยากเห็นเราคนไทยตกอยู่ในตลาดโลกภายใต้การค้าเสรี และมีชะตากรรมดุจเดียวกับช้างไทยภายใต้การพัฒนาที่ผ่านมาของประเทศไทย

ประการที่สอง ผมอยากจะพูดถึงเรื่องความจำหรือสำนึกทางประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับความทรงจำของเราในเรื่องช้าง สังคมไทยยังมีสำนึกด้านประวัติศาสตร์น้อย ผมเชื่อว่าถ้าเรามีสำนึกทางประวัติศาสตร์มากขึ้น มีความทรงจำยาวนานขึ้น เราก็จะมีสำนึกเรื่องความรับผิดรับชอบ (accountability) มากขึ้นด้วย

อีก ๒๐ ปีข้างหน้า ผมยังไม่อยากให้เราลืมวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อเราลดค่าเงินบาทในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ หรือ โคบอลต์-๖๐ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ นี้ และผมอยากเห็นความรับผิดชอบของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนหรือในภาครัฐเอง

ผมหวังว่าการสนทนาในเย็นวันนี้จะก่อให้เกิดแนวทางใหม่ ความคิดใหม่ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมขึ้นในประเทศไทย ผมหวังว่าทุกท่านที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการท่องเที่ยวจะมีความห่วงใยในสิ่งแวดล้อม ในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เคารพในวัฒนธรรมท้องถิ่น และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยระลึกถึงเรื่องช้างเป็นอุทาหรณ์

ในโอกาสที่สายัณห์สนทนาของเราในวันนี้ เป็นกิจกรรมเพื่อการระดมทุนด้วยในฐานะประธานของกองทุนสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรม ผมขอขอบคุณผู้ร่วมจัดอันได้แก่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ขอขอบคุณองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือ UNESCO ที่ให้การสนับสนุนกิจกรรม ขอขอบคุณบริษัทต่าง ๆ ที่ช่วยอุปถัมภ์กิจกรรมนี้ และทุกท่านที่เข้ามาร่วมกิจกรรมกับเรา และขอเปิดการสนทนา ณ บัดนี้