รวมปาฐกถาภาษาไทย คำปราศรัย
ในพิธีเปิดงานนิทรรศการเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อม มุ่งสู่ศตวรรษแห่งชีวิต
ก่อนจะสายเกินไป และงานสัมมนาเรื่อง ปฏิญญาโลก
เพื่อสร้างวัฒนธรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดย ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน ประธานกรรมการสภาสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๔๓ ผมรู้สึกว่าเราพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาที่ยั่งยืนกันมานานมากแล้ว
แต่เหมือนกับว่าคุณค่าและความจำเป็นของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลกที่มีต่อวิวัฒนาการและความเป็นอยู่ที่ดีของชีวิตทั้งมวลยังไม่ได้ฝังลึกลงไปในจิตใจของมนุษย์มากพอ
หลายคนรู้สึกสะกิดใจเมื่อได้ยินใครพูดถึง แต่แล้วก็กลับไปมีพฤติกรรมแบบเดิม ๆ หรือทุกคนจะลืมนึกไปว่าทรัพยากรของโลกนั้นมีจำกัดและมีวันหมดสิ้น
แล้วเมื่อถึงวันนั้นเราหรือลูกหลานของเราจะเป็นอย่างไร? ณ วันนี้ ชุมชนโลกกำลังเผชิญเคราะห์กรรมที่เป็นผลกระทบจากการกระทำของพวกเราเอง
ภายใต้แนวคิดและระบบคุณค่าแบบนิยมวัตถุที่กำกับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของประเทศส่วนใหญ่ในโลก
ทำให้เกิดรูปแบบการผลิตและการบริโภครวมถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ในลักษณะที่เป็นผลให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างรวดเร็วและรุนแรง
แม้การพัฒนาในรูปแบบนี้จะอำนวยผลให้เกิดประโยชน์บ้างสำหรับบุคคลบางกลุ่มบางพวก แต่มันได้นำมาซึ่งความไม่ยั่งยืนไม่เป็นธรรม
ความยากจนอดอยาก ความไม่รู้ การฉ้อโกง อาชญากรรม ความขัดแย้ง การใช้ความรุนแรง และปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางสังคมอื่น
ๆ ทั้งหมดล้วนนำไปสู่ความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัสทั้งต่อสุขภาพร่างกายและความเบิกบานแห่งจิตใจของมนุษยชาติ เพื่อให้ทุกท่านเข้าใจถึงรากฐานของวิกฤตการณ์ที่มนุษยชาติกำลังประสบอยู่ในครั้งนี้
ผมขอถ่ายทอดสาระสำคัญของร่างปฏิญญาโลก (The Earth Charter Benchmark Draft II) ที่ทุกท่านถืออยู่ในมือ
กับประเด็นสำคัญที่เก็บได้จากหนังสือ จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ เล่ม ๑ ทัศนะแม่บทเพื่อการปฏิวัติวัฒนธรรมแบบใหม่
ซึ่งมูลนิธิโกมลคีมทองแปลมาจาก The Turning Point ของ Fritjof Capra เพื่อให้ท่านเห็นว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้อง
เปลี่ยน เพื่อกอบกู้โลกจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ท่านทราบหรือไม่ว่า ณ วันนี้
เรากำลังเผชิญหน้ากับการคุกคามต่อการสูญชาติพันธุ์ของเรา และสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกใบนี้
อันอาจเนื่องมาจากสงครามนิวเคลียร์ หรือจากโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ โดยการระเบิดของนิวเคลียร์และการรั่วไหลของเครื่องปฏิกรณ์
ที่จะทำให้สารกัมมันตภาพรังสีซึ่งเป็นพิษถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม ยิ่งสารพิษเหล่านี้สะสมเพิ่มขึ้นในอากาศ
ในอาหารและในน้ำที่เราบริโภคมากขึ้นเพียงใด เราก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งและโรคทางพันธุกรรมมากขึ้นเพียงนั้น
จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เป็นผลให้เกิดความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรง
และส่งผลกระทบอย่างมีปฏิภาคโดยตรงต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์ โดยนอกจากจะทำให้อากาศเป็นพิษแล้ว
น้ำและอาหารก็ยังเป็นอันตรายแก่สุขภาพ เนื่องจากถูกพิษจากสารเคมีเข้าไปเจือปนหรือปนเปื้อนในรูปแบบต่าง
ๆ ทุกวันนี้พิษจากสารเคมีจึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนในสังคม ในขณะที่ความแตกสลายของสังคมในลักษณะต่าง
ๆ อันเนื่องมาจากฐานคิดแบบนิยมวัตถุ ความคิดเชิงควบคุมครอบงำทำลายล้าง เพื่อการมีอำนาจเหนือสิ่งที่ด้อยกำลังกว่า
โดยขาดจิตวิญญาณแห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และความเป็นกัลยาณมิตรกับสิ่งมีชีวิตทั้งมวล
ได้ส่งผลต่อจิตใจมนุษย์ทำให้เกิดภาวะท้อแท้สิ้นหวัง โรคประสาทหลอน และอาการผิดปรกติทางจิตอื่น
ๆ ควบคู่ไปกับความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมและทางสังคม เกือบทุกประเทศต่างกำลังเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ
การเกิดภาวะเงินเฟ้อ การว่างงาน รวมทั้งการกระจายรายได้และทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม
ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานของการผลิต คือ พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติกำลังร่อยหรอลงอย่างรวดเร็ว สถานการณ์ปัญหารอบด้านเช่นนี้
ทำให้นักการเมืองไม่ทราบว่าจะจัดการกับปัญหาใดก่อน นักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายกำลังถึงทางตัน
ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ไม่สามารถจัดการกับปัญหาเร่งด่วนที่เกิดขึ้นในสาขาของตนได้โดยลำพังอีกต่อไป
ด้วยความจริงก็คือปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ล้วนเป็นด้านต่าง
ๆ ของวิกฤตการณ์ทางวัฒนธรรมหนึ่งเดียวกัน จากประสบการณ์การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา
คงทำให้หลายท่านตระหนักดีแล้วว่า เทคโนโลยีและเงินตราไม่ใช่สูตรสำเร็จของการแก้ไขวิกฤตการณ์
แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและการบริโภคต่างหากที่น่าจะมีความสำคัญมากกว่า
ดังนั้น ในช่วงของการสัมมนาในวันนี้ ผมจึงหวังว่าคณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ
และผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน จะได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นอย่างเต็มที่เพื่อค้นหาคำตอบ
ต่อคำถามที่ว่าเราจะสร้างวัฒนธรรมการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้นในสังคมไทยได้อย่างไร เราจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ
ระบบคุณค่า พฤติกรรมในการดำรงชีวิต พฤติกรรมการผลิตและการบริโภค ระบบสังคม ระบบเศรษฐกิจ
และระบบการเมืองในลักษณะใด จึงจะสามารถนำพาสังคมไทย และสังคมโลกไปสู่ความมั่นคงยั่งยืน
และสันติสุขของชีวิตทั้งหลายในโลกนี้ ในโอกาสนี้ ผมขอขอบคุณแทนสรรพชีวิตทั้งหลายที่อยู่ร่วมโลกเดียวกับเรา
ที่คณะผู้จัดนิทรรศการและงานสัมมนาในครั้งนี้ ซึ่งได้แก่ สมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพมหานคร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
ได้ทุ่มเทความพยายาม เพื่อที่จะกระตุ้นให้ท่านทั้งหลายให้ตระหนักถึงหายนะของโลกที่เกิดจากการกระทำของเรา
และเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย ขณะเดียวกันก็เปิดเวทีให้พวกเราได้แสดงความเห็นต่อการกำหนดทางเลือกใหม่ของเราเอง
และสุดท้ายผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเราที่มารวมกัน ณ ที่นี้ จะไม่เพียงแต่ตระหนัก
จะไม่เพียงแต่มาช่วยคิดว่าเราควรทำอะไร แต่จะเริ่มทำในสิ่งที่ทำได้ตั้งแต่วันนี้เลย
จะได้ไม่ต้องเสียใจเมื่อทุกอย่างมันสายเกินไป |