รวมปาฐกถาภาษาไทย

ปาฐกถา
เรื่อง การเฝ้าระวังป่า ยุทธวิธีสู่ความยั่งยืนของชุมชนและป่า
โดย นายอานันท์ ปันยารชุน
ประธานสภาสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
ประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัลลูกโลกสีเขียว
ในงานสัมมนา “เฝ้าระวังป่า เพื่อโลกสีเขียว”
จัดโดย การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
ณ อาคารสำนักงานใหญ่ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมมีความยินดีมากที่ได้มาพบกับทุกท่าน ณ ที่นี้ ซึ่งไม่ว่าท่านจะมาจากส่วนไหนของประเทศ แต่เมื่อท่านยินดีมารวมกัน ในการสัมมนาครั้งนี้แล้ว ผมเชื่อว่าท่านก็คือคนรักป่า

ผมขอแสดงความยินดีอีกครั้งกับท่านที่ได้รับรางวัล “ลูกโลกสีเขียว” ในวันนี้ ทั้งเจ้าของงานเขียน บุคคล และชุมชน ผมขอเป็นตัวแทนของคนรักป่าที่เข้าร่วมสัมมนาในวันนี้และคนทั้งประเทศ ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้สร้างสรรค์ผลงานและลงมือกระทำเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ ให้ป่ายังคงเป็นรากฐานของวิถีชีวิตชนบท และเกื้อหนุนชีวิตของเมืองต่อไป

ท่านคือผู้มีบทบาทสำคัญ ในการรักษาต้นทุนของการดำรงชีวิตนี้เอาไว้ และรางวัล “ลูกโลกสีเขียว” ที่ทุกท่านได้รับไป ย่อมหมายถึง “ดอกผล” ตอบแทนคุณความดีที่ได้กระทำมา ผมหวังว่าทุกท่านจะยึดมั่นและสืบสานงานที่ทำอยู่ เสมือนคำสัญญาที่ไม่มีใครร้องขอหรือบังคับ แต่เกิดขึ้นโดยความสมัครใจ จากหัวใจที่รักและผูกพันกับผืนป่า ให้ดำเนินต่อไปตราบนานเท่านาน

การสัมมนาในครั้งนี้ ได้กำหนดประเด็นค่อนข้างเจาะจงไปที่ การเฝ้าระวังป่า แค่ด้วยความมุ่งหวังที่ยิ่งใหญ่คือ สีเขียวของโลกนั้นมิใช่เรื่องง่ายแต่ก็มิใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ ซึ่งก่อนอื่นเราจะต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การเฝ้าระวังป่ามิใช่เป็นยุทธวิธีเดียวที่จะทำให้มีป่าสีเขียวอยู่บนผืนโลก แต่ยังคงต้องอาศัยยุทธวิธีอื่น ๆ ทั้งด้านการศึกษาวิจัยการฟื้นฟู และการควบคุมควบคู่กันไป แต่ที่ต้องมาพูดถึงการเฝ้าระวังป่าในวันนี้นั้น เพราะเราได้ละเลยเรื่องนี้กันมานาน ที่ผ่านมาเรามีงานศึกษาวิจัยมากมายจะต้องหาที่เก็บ มีการปลูกป่ากันมาหลายปี ใช้งบประมาณทั้งของรัฐและเอกชนไปปีละหลายสิบล้านบาท เรามีพระราชบัญญัติเกี่ยวกับป่าไม้หลายฉบับ ซึ่งไม่สามารถที่จะทำให้มีผลบังคับใช้ได้อย่างจริงจัง แต่ป่าไม้ของเราก็ยังคงลดลงทุกปี

การเฝ้าระวังป่า ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Forest Watch นั้น มิใช่เป็นการเฝ้ามองแต่เพียงอย่างเดียว แต่ผมอยากให้หมายรวมถึง การเฝ้าระวังป่าอย่างมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายเพื่อดูแลรักษาให้มีการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างสมดุลย์

การเฝ้าระวังป่า ยุทธวิธีสู่ความยั่งยืนของชุมชนและป่า ที่ผมจะกล่าวปาฐกถาต่อไปนี้ หลายท่านคงตั้งคำถามอยู่ในใจแล้วว่าจริงหรือ? ทำอย่างไร? ใครจะเป็นผู้เฝ้าระวัง? ก็คงจะหนีไม่พ้นเจ้าหน้าที่ป่าไม้อีก และจริงหรือที่ว่า หากเฝ้าระวังป่าแล้ว ป่าจะตอบแทนคุณต่อผู้ที่ดูแลรักษาอย่างไม่รู้หมดสิ้น ผมเชื่อว่า คำตอบและตัวอย่างที่ดีก็ได้ประจักษ์แก่สายตาทุกท่านไปแล้วเมื่อสักครู่ และยังชี้ให้เห็นว่าทั้งนักเขียน นักพัฒนา เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ชาวบ้าน และชุมชน ต่างก็คือ พลังในการเฝ้าระวังและรักษาป่าด้วยกันทั้งสิ้น

ที่ผ่านมาได้มีความพยายามมากมายที่จะผลักดันและเชื้อเชิญให้รัฐ ปรับกระบวนทัศน์ในการจัดการพื้นที่ป่า ลดภาระที่เคยแบก ลดอำนาจที่เคยกุม กระจายไปสู่ชุมชนหรือบุคคลที่ตั้งอยู่ใกล้ชิดกับป่า โดยรัฐเป็นเพียงผู้สนับสนุนและเสริมสร้างพลัง ให้ชุมชนมีความเข้มแข็งที่จะดำเนินรูปแบบในการใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างยั่งยืน ความพยายามเช่นนี้ ก็ได้ปรากฏอย่างชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญ ที่ระบุให้ รัฐมีหน้าที่ต้องให้การส่งเสริม สนับสนุน และเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้บุคคลและชุมชนก็มีสิทธิในการบำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงชุมชนดั้งเดิม ก็สามารถมีสิทธิดังกล่าวต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนได้เช่นกัน ทั้งนี้ให้อยู่ภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้นทุกท่านและทุกชุมชน ล้วนมีสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องมีส่วนร่วมดูแลรักษาป่าด้วยกันทั้งสิ้น

ในเรื่องของการเฝ้าระวังป่า ผมขอกล่าวเฉพาะหลักการ ส่วนกระบวนการ ยุทธวิธีตลอดจนการสร้างกลไกต่าง ๆ ในการประสานความร่วมมือหรือสร้างเครือข่ายนั้น คงเป็นประเด็นที่เวทีสัมมนาในช่วงต่อไปของวันนี้และวันพรุ่งนี้ จะได้ร่วมคิดร่วมทำกันต่อไป

หลักการที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญ ในการที่จะให้เกิดรูปแบบของการเฝ้าระวังป่าที่สามารถยังผลไปสู่การจัดการป่าไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในยุคปัจจุบันนี้ควรประกอบด้วย

ประการแรก คือ การผสมผสานระหว่างองค์ความรู้ เทคโนโลยี และภูมิปัญญาท้องถิ่น

ปัจจุบันเรามีผลงานการศึกษาวิจัยด้านป่าไม้อยู่ค่อนข้างมาก ที่นักวิชาการและนักวิจัย จากหน่วยงานและสถาบันต่าง ๆ ได้ตั้งหน้าตั้งตาทำการศึกษาวิจัยไว้ โดยยังขาดทิศทาง ขาดการผสมผสาน เพื่อการนำไปใช้ในทางปฏิบัติ ผมเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทำการประมวล และสังเคราะห์องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการศึกษาวิจัยเหล่านั้น และกำหนดทิศทางการวิจัยต่อไปให้มีความสอดคล้องและสนองตอบต่อความต้องการที่แท้จริงของประเทศ

สำหรับความสำคัญของเทคโนโลยี ซึ่งผมเห็นว่ามีประโยชน์ที่อยากจะกล่าวถึงในที่นี้ คือ เทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ หรือ GIS (Geographic Information System) และเทคโนโลยีภาพถ่ายระยะไกล (Remote Sensing) หรือภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งปัจจุบันใช้กันอยู่ในบางหน่วยงานเท่านั้น อันที่จริงเรื่องนี้มิใช่เรื่องใหม่ แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจและรู้ว่าจะสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังป่าได้ และนอกจากนี้การใช้เทคโนโลยี การสื่อสารไร้พรมแดนด้วยระบบอินเทอร์เนต (Internet) ก็สามารถช่วยในการสื่อสาร การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็วและกว้างขวางมากขึ้น

ดังนั้น เราจะต้องผลักดันและนำเอาองค์ความรู้ใหม่และเทคโนโลยีเหล่านี้ ลงสู่พื้นดินลงสู่ระดับรากหญ้า ถ่ายทอดให้กับประชาชนและชุมชน ที่เราตระหนักและให้ความไว้วางใจว่า เขาคือผู้มีบทบาทสำคัญในการเฝ้าระวังป่า ได้เข้าใจและสามารถนำไปใช้ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่พวกเขาสั่งสมและสืบทอดกันมาเพื่อการเฝ้าระวังและดูแลรักษาป่าได้อย่างสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน

ประการที่สอง คือ การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับหลักรัฐธรรมนูญ

ผมมีความเห็นว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องเร่งรัดดำเนินการ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนและชุมชน มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังป่าและดูแลรักษาป่าได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการได้ประโยชน์จากป่าด้วย เพราะปัจจุบันยังมีกฎหมายและระเบียบข้อบังคับอีกหลายฉบับซึ่งก็รวมกฎหมายป่าไม้ด้วย ที่ยังไม่ได้ปรับแก้ให้สอดคล้องกับหลักรัฐธรรมนูญ กฎหมายและข้อบังคับได้กลายเป็นอุปสรรค ต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน ปัจจัยเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไข ขณะเดียวกันก็ต้องมีการยกร่างกฎหมายใหม่ขึ้น เพื่อรับรองสิทธิของประชาชนและชุมชนอย่างจริงจัง จึงจะสามารถบังเกิดผลได้อย่างแท้จริง

สำหรับพระราชบัญญัติป่าชุมชนนั้น จะเป็นกฏหมายที่ดีพอหรือไม่ผมอยากให้พิจารณาหลักการและผลประโยชน์โดยรวมอย่างรอบคอบ อย่ามองเพียงการได้ประโยชน์หรือการสูญเสียประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น ผมดีใจที่งานสัมมนาในครั้งนี้ จะได้หยิบยกประเด็นนี้มาอภิปรายกันอีกครั้ง แต่อยากจะฝากไว้ว่ายังมีกฎหมายอีกหลายฉบับ ที่จำเป็นต้องมีการทบทวนและพิจารณาใหม่ว่าได้ให้สิทธิแก่ชุมชนในการเฝ้าระวังป่า และได้ประโยชน์จากป่าได้จริงหรือยัง

ประการสุดท้าย คือ การสร้างความเข้มแข็งขององค์กร

คำว่าองค์กรในที่นี้ ผมหมายถึงองค์กรในหลายระดับ แต่ก็ยังให้ความสำคัญกับองค์กรในระดับชุมชนเป็นอันดับแรก ความสำเร็จในการเฝ้าระวังป่าและดูแลรักษาป่า ขององค์กรระดับชุมชนของเรามีอยู่มากมาย ในวันนี้ชุมชนป่ากาลอ ก็สามารถเป็นตัวอย่างความสำเร็จให้แก่หลายท่านได้ประจักษ์

หลายท่านคงจะจดจำกระแสพระราชดำรัส ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานแก่เหล่าพสกนิกร เรื่องเศรษฐกิจแบบพอเพียง พออยู่พอกิน และมีความเข้มแข็งในการพึ่งพาตนเองได้ ผมคิดว่านี่คือคุณสมบัติที่สำคัญของผู้ที่จะทำหน้าที่เฝ้าระวังป่าทั้งหลายคือ ต้องมีความเข้มแข็งในการพึ่งพาตนเอง และมีความพอเพียง

สำหรับองค์กรในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ผมเห็นว่าจำเป็นต้องริเริ่มให้มีขึ้นในประเทศเรา คือเครือข่ายเฝ้าระวังป่า อันจะเป็นการประสานความร่วมมือขององค์กรต่าง ๆ เครือข่ายจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายประสานเป็นศูนย์การเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งให้กับองค์กรต่าง ๆ และสร้างให้เกิดพลังทางสังคม ที่จะผลักดันให้การจัดการป่าไม้ของประเทศเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม

การรวมกันและจัดตั้งเครือข่ายเช่นนี้ยังไม่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในบ้านเรา แต่ผมอยากจะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับเครือข่ายในต่างประเทศซึ่งมีอยู่มาก บางเครือข่ายก็สนใจในประเด็นสิ่งแวดล้อมหลาย ๆ ด้าน อย่างเช่น กลุ่ม Green Peace บางเครือข่ายก็จัดตั้งขึ้นเพื่อทำงาน และเคลื่อนไหวเฉพาะเรื่องป่าไม้ อย่างเช่นกลุ่ม RAN หรือ Rainforest Action Network สำหรับกลุ่ม RAN เป็นเครือข่ายที่ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา (San Francisco, USA) เป็นเครือข่ายที่มีสมาชิกอยู่ทั่วโลก มุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อปกป้องผืนป่าฝนเขตร้อนทั่วโลก ผมเห็นว่าเป็นกลุ่มที่พัฒนาจนมีความก้าวหน้า มีความเข้มแข็ง มีพลัง มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และได้รับการยอมรับจากสังคม โดยเฉพาะการทำงานเพื่อปกป้องผืนป่าลุ่มน้ำอะเมซอน ในประเทศบราซิล (Amazon Basin, Brazil) และผืนป่าลุ่มน้ำคองโก ประเทศแอฟริกา (Congo Basin, Africa) ด้วยใช้วิธีการระดมความร่วมมือของคนในท้องถิ่น ในการร่วมพิทักษ์ป่าของท้องถิ่น โดยมีเพื่อนสมาชิกทั่วโลกเป็นแนวร่วม

ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่รูปแบบความร่วมมือต่าง ๆ จะเกิดขึ้นในบ้านเราเพราะแต่ละองค์กรไม่สามารถทำงานได้อย่างโดดเดี่ยว เพียงแต่ความรู้สึกรักและหวงแหนป่าก็ไม่เพียงพอในการรักษาป่า จะต้องอาศัยการกระทำ อาศัยพลังแห่งการร่วมมือร่วมใจและประสานสามัคคี ดังเช่น กระแสพระราชดำรัสขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานแก่พสกนิกร เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ที่ผ่านมานี้ พระองค์ทรงย้ำถึงความสำคัญของความพร้อมเพียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ให้ดำรงอยู่ในคุณธรรมของความมีเมตตา หวังดีให้กัน เพราะคนที่มีไมตรีต่อกันจะคิดอะไรก็คิดในทางสร้างสรรค์ มีคุณประโยชน์เกื้อกูลกัน หากกระทำได้เช่นนี้มั่นใจได้ว่าเราจะสามารถรักษาประเทศชาติและความเป็นไทยของเราได้อย่างยืนยาว

แนวพระราชดำรัสนี้คนไทยทุกคนสามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดคุณ ในการดำเนินชีวิตหรือในการทำงานได้ทุกประเภท รวมถึงการเฝ้าระวังป่าและดูแลรักษาป่าด้วยเช่นกัน ซึ่งไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยกำลังคนเพียงไม่กี่คน หรือเพียงไม่กี่องค์กร แต่ยังต้องอาศัยพลังแห่งความสามัคคีของคนทั้งประเทศ โดยมีเมตตาธรรมเป็นที่ตั้ง ทั้งความเมตตาระหว่างเพื่อนมนุษย์ และความเมตตาต่อสรรพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

ที่ผ่านมา เราก็ได้มีโอกาสร่วมประสานความร่วมมือในการทำงาน ระหว่างรัฐและราษฎร์ ด้วยความมุ่งมั่นและเป้าหมายเดียวกัน คือต้องการคืนผืนป่าให้แผ่นดิน ภายใต้โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ ๕๐ ที่มีกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นแกนนำ มีภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษาตลอดจนพลังประชาชนในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการปลูกและฟื้นฟูสภาพป่า เพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสอันเป็นมหามงคลดังกล่าว มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ จนถึงปัจจุบัน

นับเป็นเรื่องที่ดี ที่หน่วยงานหลักในโครงการดังเช่น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. ได้ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จัดการสัมมนาระดมความคิดเห็นแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการจัดการทรัพยากรป่าไม้มาอย่างต่อเนื่อง สำหรับในครั้งนี้การยกประเด็นเรื่องความสำคัญของการเฝ้าระวังป่ามาพูดคุยกัน ผมก็คาดหวังที่จะเห็นความสำเร็จของการสัมมนา มีแนวทางการเฝ้าระวังป่าแบบมีส่วนร่วม ที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง มีกลุ่มเครือข่ายเฝ้าระวังป่า เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อร่วมจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประเทศให้ยั่งยืนสืบไป

การเฝ้าระวังป่าแบบมีส่วนร่วม จึงเป็นความท้าทายของทุกท่าน เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงพลังของชุมชน เป็นนิมิตหมายที่ดีแห่งความร่วมมือร่วมใจ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจะเป็นเครื่องชี้วัดภาวะความอยู่รอดของผืนป่าและสังคมไทย

สุดท้ายนี้ ผมหวังว่า ทั้งรางวัล “ลูกโลกสีเขียว” และกิจกรรมการสัมมนาเรื่อง “การเฝ้าระวังป่า เพื่อโลกสีเขียว” ในครั้งนี้ จะเป็นพลังกระตุ้นให้เกิดการประสานความร่วมมือ จุดประกายความคิดและปลุกจิตสำนึก ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากความผันผวนทางเศรษฐกิจและความทรุดโทรมทางสังคม จะริดรอนกำลังใจหรือส่งผลให้ผู้ที่คอยพิทักษ์รักษาและเฝ้าระวังป่าต้องท้อแท้สิ้นหวังไปบ้าง ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่พร้อมจะเป็นกำลังใจและยืนหยัดเคียงข้างพวกท่านทั้งหลาย