รวมปาฐกถาภาษาไทย

สุนทรพจน์และคำกล่าวเปิดการประชุม
เรื่อง วิถีอนุรักษ์กับการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดย นายอานันท์ ปันยารชุน
ประธานสภาสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
เนื่องในการประชุมสมัชชาเยาวชน แห่งชาติ ครั้งที่ ๑
วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๒
ณ ศูนย์ประชุม องค์การสหประชาชาติ

 

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้รับเชิญให้มากล่าวสุนทรพจน์นำในการประชุมสมัชชาเยาวชน เพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมครั้งที่ ๑๔ ตลอดจนเป็นประธานเปิดการประชุมสมัชชาเยาวชน แห่งชาติในวันนี้

พัฒนาการและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลก ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตมนุษย์ไปจากเดิมอย่างมากมาย จากที่เคยมีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายกับธรรมชาติ มาสู่การดัดแปลงธรรมชาติ เพื่อตอบสนองความต้องการของตน วิถีชีวิตและพฤติกรรมมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว ดำเนินการไปได้โดยอาศัยพลังงานเป็นฐานสำคัญทั้งสิ้น เนื่องจากไม่มีกิจกรรมใดของมนุษย์ที่เกิดขึ้นและดำเนินไปโดยไม่ใช้พลังงานตามธรรมชาติที่มีอยู่ในโลก ดังนั้นวิถีชีวิตหรือพฤติกรรมของมนุษย์กับการใช้พลังงานและผลกระทบจากการใช้พลังงาน จึงมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก มีการคาดการณ์กันว่าหากการใช้พลังงานของโลกยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ ๓.๕ ทุกปี เช่นนี้ทรัพยากรพลังงานแหล่งสำคัญ เช่น ก๊าซธรรมชาติ จะหมดไปจากโลก ภายในเวลาเพียง ๕๐ ปีเท่านั้น

วิถีชีวิตของมนุษย์ ซี่งปรับเปลี่ยนไปสู่การบริโภคที่ใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ เป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนหน้านี้ จึงก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ธรรมชาติ และวิกฤตการณ์มนุษย์ที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนด้วย ผลกระทบดังกล่าวมิใช่เพียงกระทบต่อปริมาณของทรัพยากร ซึ่งมองเห็นได้ว่ากำลังลดลงอย่างชัดเจนเท่านั้น แต่ยังได้เข้าไปทำลายถึงรากฐานความสัมพันธ์ขององค์ประกอบย่อยต่าง ๆ ในระบบนิเวศ ซึ่งเชื่อมโยงกันอยู่อย่างสลับซับซ้อนให้เสียสมดุล จนระบบนิเวศอาจจะไม่ฟื้นตัวได้อีก

สำหรับประเทศไทย ตลอดระยะเวลาของการพัฒนาประเทศ ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ ซึ่งเริ่มเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๔ จนสิ้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๖ รัฐได้มุ่งเน้นการพัฒนา เพื่อมุ่งไปสู่ความทันสมัยตามแบบอย่างตะวันตก เกิดถนนสายหลักและสายรอง เชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายในทุกภูมิภาค มีเขื่อนและโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า เกิดขึ้นหลายแห่ง มีโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้เกิดขึ้นอย่างมากมาย วิถีชีวิตของคนไทย ปรับเปลี่ยนจากสังคมเกษตร ไปสู่สังคมแห่งการบริโภค ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเราเคยมีอย่างอุดมสมบูรณ์จึงถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง

พื้นที่ป่าไม้ของไทยที่ในอดีตที่เคยมีอย่างอุดมสมบูรณ์ ในปัจจุบัน ได้ลดลง เหลือเพียงร้อยละ ๒๕ ซึ่งอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม ขณะเดียวกันการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ ได้ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง

ทรัพยากรน้ำซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อภาคการผลิตของเกษตรกรผู้ยากจน และเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ประสบกับสภาวะขาดแคลน จนรัฐบาลต้องเข้าไปจัดการให้มีการจัดสรรการใช้น้ำ เพื่อกระจายปริมาณน้ำที่มีอยู่จำกัดให้พอเพียง วิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำจืดกำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยและของโลก

เราได้ใช้ทรัพยากรพลังงาน ทั้งถ่านหิน น้ำมันก๊าซธรรมชาติ และพลังงานน้ำ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และตอบสนองความต้องการของประชากรทั้งประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบนิเวศธรรมชาติ สร้างมลภาวะที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยตรง ที่สำคัญมลพิษอันเกี่ยวเนื่องกับการใช้พลังงานในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างน่าวิตก

นอกจากปัญหาความเสื่อมโทรมทางทรัพยากรธรรมชาติ แล้วการขยายตัวอย่างรวดเร็วของชุมชนเมือง โดยไม่สอดคล้องกับอัตราการขยายตัว ของบริการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ จนเกินขีดความสามารถของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ดังกล่าวจะรองรับ ก็ทำให้เกิดปัญหาความแออัด ความสกปรก ขยะมูลฝอย น้ำเสียต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้นลักษณะโครงสร้างและการบริหารจัดการที่ซ้ำซ้อนของภาครัฐเอง ทำให้การควบคุมปัญหามลภาวะและมลพิษทางอุตสาหกรรมด้อยประสิทธิภาพ

ในสมัยที่ผมเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในระยะของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๗ ผมและคณะผู้บริหารประเทศขณะนั้น จึงให้ความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ ไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยตระหนักดีว่า หากทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย สภาวะแวดล้อมก็จะขาดสมดุล แล้วคุณภาพชีวิตของคนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริง จะดีได้อย่างไร จึงได้ออกพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นกฎหมายเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมฉบับแรกของประเทศ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ พร้อมกับออกพระราชบัญญัติการส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานในปีเดียวกัน

แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะคงไว้ซึ่งสมดุลของคุณภาพสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรพลังงานและคุณภาพชีวิตของประชาชนไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องอาศัยความพยายาม และความร่วมมือจากทุกฝ่าย และจากคนทั้งประเทศ ที่จะต้องช่วยกันหาความพอดี ระหว่างวิถีอนุรักษ์ กับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ปัจจุบัน เรากำลังอยู่ในระยะของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญที่สุดของชาติ นับว่าเป็นทิศทางการพัฒนาที่ถูกต้อง โดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งเป็นทุนทางสังคมอันสำคัญ ที่จะต้องเติบใหญ่ขึ้นมาเป็นกำลังหลัก ต้องแบกรับภาระในการพัฒนาชาติบ้านเมืองต่อไปในอนาคต จะต้องรู้จักหน้าที่ที่จะพัฒนาตนเอง ให้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและปรับตัวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคข้อมูลข่าวสาร แต่อย่างไรก็ตาม ลำพังเพียงความเก่งอย่างเดียว คงจะไม่เพียงพอ คนเก่งที่เห็นแก่ตัว คิดแต่จะใช้ความเก่ง เพื่อสร้างความร่ำรวยให้ตนเอง มองผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้งก็จะทำให้บ้านเมืองเสียหาย และสังคมจะเกิดช่องว่าง ผมอยากเห็นเยาวชนเติบโตขึ้นเป็นคนดีมีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ สุจริต มีความรักในศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีของไทย ภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยและมีวิถีชีวิตอย่างไทย ซึ่งเป็นวิถีแห่งสังคมที่อยู่กับธรรมชาติอย่างพึ่งพิงด้วยความเป็นกัลยาณมิตร ที่สำคัญ จะต้องเติบโตขึ้น และมีคุณธรรมในการตัดสินใจกำหนดวิถีชีวิต สังคมจึงจะอยู่รอด เป็นสังคมที่ร่มเย็นอย่างแท้จริง และในบรรดาคุณธรรมเพื่อการอยู่รอดทางสังคมนั้น ความเป็น ประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึงการเคารพในสิทธิหน้าที่และการยอมรับในเหตุผลที่ถูกต้อง โดยมองประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง จะเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความเป็นปึกแผ่น และลดกระแสความขัดแย้งในสังคม ที่กำลังระบาดอยู่อย่างแพร่หลาย ในขณะนี้

การที่เยาวชน จะเตรียมตนเองให้พร้อมรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของประเทศและของโลกดังกล่าว ต้องแสวงหา การเรียนรู้ เพิ่มเติมจากประสบการณ์ตรง ลำพังความรู้ที่ได้จากห้องเรียนหรือจากการอ่านตำราไม่เพียงพอ เยาวชนจะต้องนำความรู้ที่มีอยู่ออกมาสู่การปฏิบัติ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ โดยการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ ใช้สถานการณ์ปัญหาที่มีอยู่จริงเป็นห้องเรียน

ห้องเรียนแห่งชีวิต ดังกล่าว นอกจากจะทำให้เยาวชน ได้รับความรู้และประสบการณ์อย่างฝังแน่นแล้ว ผลจากการได้ร่วมกันทำงานจะสร้างความเป็นเพื่อน และความสนิทสนมซึ่งกันและกัน จนทำให้เราเกิดการเรียนรู้เรื่องกฏระเบียบของสังคม ที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีประการสำคัญ จะทำให้รู้จักปรับเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับวิถีการอนุรักษ์ และค้นหาความสมดุลในการพัฒนาได้อย่างลงตัว

ดังนั้น การที่เยาวชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศได้รวมตัวกันจัดตั้งสมัชชาเยาวชน เพื่อร่วมกันอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น และประเทศชาติ จึงนับเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เป็นพัฒนาการอันยิ่งใหญ่ของสังคมไทย ผมขอแสดงความชื่นชมต่อสมัชชาเยาวชน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ที่ได้ให้การสนับสนุนการจัดตั้งสมัชชาเยาวชน และจัดการประชุมสมัชชาเยาวชนแห่งชาติครั้งนี้ขึ้น ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเวทีเยาวชนแห่งนี้จะยั่งยืน และพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ สร้างค่านิยมใหม่ ให้กับสังคมผมขอให้เยาวชนทุกคนที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ จงเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการประชุม และผนึกกำลังกันเป็นเครือข่ายที่แน่นแฟ้น เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาวิกฤตพลังงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาส่วนรวม ที่กระทบกระเทือนความเป็นอยู่ของคนไทยทั้งประเทศอย่างจริงจัง เพื่อประโยชน์ต่อท้องถิ่นและประเทศชาติ และที่สำคัญที่สุด เพื่อเป็นมรดกอันล้ำค่า ให้กับอนุชนคนรุ่นหลังของเราสืบไป

ผมขอเปิดการประชุมสมัชชาเยาวชน เพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ณ บัดนี้ ขอให้การประชุมครั้งนี้จงสัมฤทธิ์ผลสมดังวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ