รวมปาฐกถาภาษาไทย ปาฐกถา
เรื่อง ธรรมาภิบาลในการจัดการสิ่งแวดล้อม โดย นายอานันท์ ปันยารชุน
ประธานสภาสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย การสัมมนาทางวิชาการ สิ่งแวดล้อมไทย
ภายใต้ภาวะวิกฤต จัดโดย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์
๒๕๔๒ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ผมยินดีที่ได้กลับมาพบกับท่านในเวทีนี้อีกครั้งหนึ่ง
เวทีของการประชุมประจำปีของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ที่ได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปี
พ.ศ. ๒๕๓๗ และได้ว่างเว้นไปเมื่อ ๒ ปีที่ผ่านมา ครั้งก่อน ๆ เราได้สัมมนากันในเรื่องวิกฤตสิ่งแวดล้อม
ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ร่ำรวยในขณะนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้คนตระหนักถึงความสำคัญในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม
ในเมื่อคนจำนวนมากยังมีความเห็นว่าการห่วงใยในเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นการขัดขวางการพัฒนาซึ่งกำลัง
รุ่งโรจน์ กลับมาพบกันในปีนี้ เราอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับเมื่อพบกันครั้งที่แล้ว
เรามีวิกฤตเศรษฐกิจซ้ำเติมเพิ่มขึ้นมา ภายใต้วิกฤตการเงินและเศรษฐกิจนี้ สิ่งแวดล้อมจะยิ่งวิกฤตรุนแรงขึ้น
หรือจะบรรเทาเบาบางลง ย่อมเป็นไปได้ทั้งสองทาง เพราะเมื่อเงินทองขัดสนขึ้น ทรัพยากรที่จะไประดมในเรื่องการทำนุบำรุงหรือฟื้นฟูธรรมชาติและสร้างสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพก็ย่อมจะขัดสนตามไปด้วย
แต่ในขณะเดียวกันเมื่อมีเงินงบประมาณและเงินในตลาดลดลง การลงทุนเพื่อโครงการสิ่งก่อสร้างต่าง
ๆ ย่อมลดน้อยลง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษก็ย่อมลดลงตามไปด้วย ทั้งสองความคิดนี้มีความเป็นไปได้ทั้งนั้น
แต่ถึงแม้เงินจะเป็นปัจจัยที่สำคัญ แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งในการพิทักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อม
คือ การจัดการ ผมได้พยายามผลักดันเรื่องธรรมาภิบาลเสมอมาในเวทีต่าง
ๆ ทั้ง Good governance ในทางการบริหารการเมือง และในทางการบริหารธุรกิจ หรือที่เรียกกันว่า
Good corporate governance ในวันนี้ผมตั้งใจจะพูดในเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง
คือ เรื่องธรรมาภิบาลในการจัดการสิ่งแวดล้อม ทำไมธรรมาภิบาลในการจัดการสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
ที่สำคัญก็เพราะว่าสิ่งแวดล้อมไม่ใช่หัวข้อการสนทนาของนักวิชาการ หรือผู้บริโภคชนชั้นกลางเท่านั้นอีกต่อไปแล้ว
แต่สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของการทำมาหากิน เรื่องของป่า ของดิน ของต้นน้ำลำธาร และเป็นเรื่องของสุขภาพ
และคุณภาพชีวิตของเรา เราในที่นี้หมายถึงพวกเราทั้งหมดไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด และรวมทั้งที่ยังไม่ได้ลืมตาขึ้นดูโลกด้วย เมื่อเป็นดังนี้แล้ว
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องของวิถีชีวิต เป็นเรื่องทางสังคมวัฒนธรรม
เป็นเรื่องเศรษฐกิจ และเป็นเรื่องการเมือง เมื่อครั้งที่ผมเป็นผู้นำรัฐบาล
เราได้ให้ความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมและได้ลงมือปรับปรุงพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมที่มีมาแล้ว
๓ ฉบับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ พ.ศ. ๒๕๒๑ และ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาเป็น พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๓๕ ประเด็นสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ การกระจายอำนาจการจัดการสิ่งแวดล้อม
การปรับองค์กร การริเริ่มให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัด
การประกาศเขตควบคุมมลพิษ และการจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เหล่านี้คือเครื่องมือที่สร้างขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลในการจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น เครื่องมือเหล่านี้จะดีพอหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่เราจะต้องเฝ้าประเมินกันต่อไป
แต่ถึงแม้ว่าเครื่องมือเหล่านี้จะดีอยู่แล้ว หรือจะพอมีศักยภาพอยู่บ้างก็ตาม เครื่องมือจะสัมฤทธิ์ผลได้ก็ต่อเมื่อมีผู้ใช้เครื่องมือที่ใช้เป็น
และใช้ได้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วย กฎและระเบียบล้วนคือกติกา แต่การกีฬาใด
ๆ ก็ตาม แม้เมื่อมีกติกาที่ดีแล้ว จะต้องมีกรรมการที่ยุติธรรม มีผู้เล่นที่สามารถ
และน้ำใจนักกีฬาด้วย และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากติกา กรรมการและผู้เล่นก็คือคนดูที่คอยให้กำลังใจหรือทักท้วงทั้งผู้เล่นและกรรมการ
องค์ประกอบเหล่านี้ ทั้งกติกา กรรมการ ผู้เล่น และคนดู ล้วนสำคัญทั้งสิ้น ผมต้องการจะพูดถึงจังหวัดสมุทรปราการเป็นตัวอย่าง
สมุทรปราการเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม
จังหวัดนี้มีประชากรกว่าหนึ่งล้านคน มีโรงงานถึงกว่า ๘,๐๐๐ โรงในปัจจุบัน และที่ตั้งอยู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลลงสู่อ่าวไทย
เนื่องจากเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมนานาขนาด และหลากหลายประเภท รวมทั้งอุตสาหกรรมยุคบุกเบิก
ซึ่งยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยีหรือการจัดการที่สะอาด เช่นโรงงานอุตสาหกรรมในยุคปัจจุบัน
คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจึงได้ประกาศให้จังหวัดนี้ เป็นเขตควบคุมมลพิษตาม พ.ร.บ.
สิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ผมได้กล่าวถึงข้างต้น อานิสงส์ประการหนึ่งจากการเป็นเขตควบคุมมลพิษ
คือ โครงการบำบัดน้ำเสีย รวมมูลค่ากว่า ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท เงินจำนวนมหาศาลนี้มาจากไหน
ส่วนหนึ่งมาจากเงินงบประมาณแผ่นดิน ส่วนหนึ่งมาจากเงินกองทุนสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นมาภายใต้รัฐบาลที่ผมเป็นผู้นำอีกเช่นกัน
และเงินอีกส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้จากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย โครงการที่มีผลต่อสาธารณะชน
จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเมื่อเป็นโครงการขนาดใหญ่มูลค่ากว่า
๒๐,๐๐๐ ล้านบาทเช่นนี้ ตัวโครงการเองจะต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่และจากประชาชนในกลุ่มต่าง
ๆ ด้วย มีแต่เพียงหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในระดับต่าง ๆ ให้การสนับสนุนเท่านั้นยังไม่พอ
ทั้งนี้เพราะธรรมาภิบาลไม่ได้หมายถึงเพียงแต่รัฐบาล หรือการมีหน่วยงานของรัฐที่ดีเท่านั้น
เพราะแม้แต่การมีรัฐบาลที่ดีก็ยังไม่พอเพียงที่จะมี good governance ทั้งนี้เพราะ
good governance ไม่ใช่สิ่งเดียวกับ good government. governance ไม่ใช่ government
แท้จริงแล้วการจะมี good governance ได้ เราจะต้องมีรัฐบาลที่เล็กลงและมีอำนาจความรับผิดชอบลดน้อยลงไป นอกจากนี้กระบวนการในการอนุมัติโครงการ
ในการเตรียมการของโครงการ และในการดำเนินโครงการทั้งหมดจะต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้เอง
มีรายงานในหนังสือพิมพ์บางฉบับเสนอว่า มีความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินโครงการดังกล่าว
โดยเฉพาะประเด็นการจัดซื้อที่ดินเพื่อเป็นที่ตั้งของโครงการ และการเลือกบริษัทที่ปรึกษา
รายงานข่าวระบุว่ามีการกว้านซื้อที่ดินไว้ล่วงหน้า ในราคาต่ำเนื่องจากเป็นพื้นที่น้ำท่วม
และขายให้กับโครงการนี้ราคาสูงผิดปกติ นี่ชี้ให้เห็นว่าประชาชนในพื้นที่ไม่ทราบว่าจะมีโครงการดังกล่าว เรื่องประเภทนี้เกิดขึ้นในแทบทุกพื้นที่ที่มีโครงการบำบัดน้ำเสีย
เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่ควรจะป้องกันได้ถ้าต้องการจะป้องกัน
ทั้งนี้โดยการสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึงให้ดีพอ และให้ประชาชนได้รู้สึกร่วมเป็นเจ้าของโครงการ
ถ้าประชาชนได้ทราบล่วงหน้าอย่างกว้างขวาง เรื่องการเอาเปรียบประชาชน และเอาประโยชน์จากเงินของแผ่นดิน
เช่นนี้ย่อมจะเกิดขึ้นได้โดยยาก ส่วนประเด็นการทุจริตในหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบนั้น
แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่มีมูลหรือไม่ก็ตาม สมควรจะต้องได้รับการตรวจสอบและแถลงอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะชน
ทั้งที่อยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ และประชาชนทั่วไป โครงการบำบัดน้ำเสียรวมจังหวัดสมุทรปราการ
เป็นผลพวงจากการปรับปรุงกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นและเป็นธรรมมากขึ้น
เมื่อเกิดข้อครหาคลางแคลงขึ้นเช่นนี้ สมควรที่จะได้มีการตรวจสอบ และเปิดเผยให้ประชาชนทราบ
ผมต้องการจะย้ำว่ากระบวนการเหล่านี้จะต้องโปร่งใส และในกรณีที่มีผู้กระทำความผิด
จะต้องมีการดำเนินการโดยเปิดเผย ทั้งนี้เพื่อรักษาความถูกต้อง ความยุติธรรม และประโยชน์ของสาธารณะ
ขณะเดียวกันก็เพื่อพิทักษ์เกียรติภูมิของผู้บริสุทธิ์อีกด้วย ทั้งหมดนี้คือกระบวนการในการสร้างธรรมาภิบาล เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ นอกเหนือจากกติกาในการจัดทำโครงการบำบัดน้ำเสีย
รวมที่ผมได้พูดถึงข้างต้นในการควบคุมมลพิษก็จะต้องมีการสร้างกติกาเช่นกัน และกติกานี้จะต้องวางอยู่บนหลักการของความยุติธรรมเช่นกันด้วย
ดังนั้นหลักการ ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้รับผิดชอบ จึงได้รับการยอมรับและมีการประยุกต์ใช้ในหลายประเทศ
ประเทศไทยได้พยายามที่จะสร้างกลไก หรือเครื่องมือเพื่อประยุกต์หลักการดังกล่าว เครื่องมือหนึ่งในการนี้ได้แก่เครื่องมือทางเศรษฐกิจอันได้แก่ภาษี
และค่าธรรมเนียมมลพิษ เครื่องมือเหล่านี้จะจูงใจให้ผู้ก่อมลพิษเปลี่ยนพฤติกรรมของตน
ให้เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมมากขึ้น และในบางกรณียังอาจสร้างนวัตกรรมในการผลิตได้ด้วย
อย่างไรก็ดี เครื่องมือทางเศรษฐกิจที่จะใช้ได้ผลดีนั้น จะต้องพิจารณาถึง ประสิทธิผล
ประสิทธิภาพ ความเสมอภาค และความยืดหยุ่น ซึ่งจะต้องพิจารณาเงื่อนไขของแต่ละประเทศ
และเงื่อนไขของแต่ละประเภทอุตสาหกรรมไป เครื่องมือทางเศรษฐกิจที่ควรจะพิจารณาสำหรับประเทศไทยขณะนี้
ได้แก่ ค่าปรับการปล่อยมลพิษ (Emission Charge) และ ค่าธรรมเนียมเพื่อการจัดการมลพิษ
(Pollution Management Fee) ทั้งนี้โดยกำหนดให้ ค่าปรับการปล่อยมลพิษ มีอัตราสูงกว่าค่าใช้จ่ายที่จะต้องใช้ในการบำบัดมลพิษ
ทั้งนี้เพื่อจูงใจให้ผู้ปล่อยมลพิษยุติการปล่อยมลพิษเนื่องจากจะแพงกว่าค่าใจ้จ่ายในการทำตัวให้สะอาดเสียเอง ส่วน
ค่าธรรมเนียมเพื่อการจัดการมลพิษ คือค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บกับโรงงานที่ปล่อยมลพิษในระดับสูง
และเก็บในอัตราเท่ากับต้นทุนของการบำบัดหรือกำจัดของเสีย และจะจัดคืนให้กับโรงงานที่ต้องการจะสร้างหรือปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดมลพิษลง ในการจะใช้เครื่องมือทั้งสองจะต้องมีการคำนวณอัตราค่าปรับและค่าธรรมเนียมอย่างเหมาะสม
จะต้องมีระบบตรวจสอบ (monitoring) และต้องมีกลไกทางการบริหารและทางกฎหมายรองรับ และสนับสนุนให้ดำเนินการได้จริงและมีประสิทธิภาพ กระบวนการและกลไกที่ควรจะสร้างขึ้นนี้จะต้องคำนึงถึงความยุติธรรม
และการบังคับใช้ให้ได้ผลดีด้วย ซึ่งย่อมขึ้นกับความร่วมมือและความยินยอมพร้อมใจของฝ่ายต่าง
ๆ ของภาครัฐ ธุรกิจอุตสาหกรรม องค์กรเอกชน และประชาชนทั่วไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ แผนสิ่งแวดล้อมจังหวัด เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์
เป็นกลไกในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ผลิต โดยมีผู้ผลิตเป็นกลุ่มเป้าหมาย หรือ
target group ของกลไกนี้ยังมีอีกกลไกหนึ่งซึ่งสามารถจะผนวกกลุ่มเป้าหมายหลาย ๆ กลุ่มเข้าร่วมมือกันได้
กลไกนี้ออกแบบไว้ให้ใช้ในระดับจังหวัด เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น
กลไกนี้คือ แผนปฏิบัติเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัด ซึ่งผมจะเรียกสั้น
ๆ ว่า แผนสิ่งแวดล้อมจังหวัด แผนสิ่งแวดล้อมจังหวัดเป็นกลไกที่ริเริ่มขึ้นจากพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. ๒๕๓๕ อีกเช่นกัน แผนนี้เป็นกลไกสำคัญเพื่อการกระจายอำนาจในการจัดการสิ่งแวดล้อมสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น
ซึ่งเป็นหัวใจของพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๓๕ หลักการนี้ต่อมาก็ได้รับการยืนยันและสนับสนุนจากรัฐธรรมนูญ
พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งเราถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ให้ท้องถิ่นมีอำนาจและความรับผิดชอบในการดูแลรักษาสิ่งเวดล้อมของตน แต่ถึงแม้จะมีการให้จัดทำแผนสิ่งแวดล้อมจังหวัดแล้วก็ตาม
ผมได้ทราบว่าการจัดทำแผนดังกล่าวยังไม่บรรลุเจตนารมณ์ ของการริเริ่มให้จัดทำแผนเท่าที่ควร แผนสิ่งแวดล้อมจังหวัด
จำเป็นจะต้องมีการจัดทำอย่างประสานและสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด เพราะการทำแผนเป็นกิจกรรมเชิงรุก
เป็นการมองไปข้างหน้าซึ่งควรจะต้องมองอย่างรอบด้าน ถ้าการพัฒนามุ่งไปทางหนึ่งและการดูแลสิ่งแวดล้อมมุ่งไปอีกทางหนึ่ง
แผนสิ่งแวดล้อมจังหวัดย่อมจะไม่สามารถสัมฤทธิผลในการพิทักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมได้
แผนในระดับจังหวัดจะต้องเป็นแผนเชิงบูรณาการ (integrated plan) จึงจะพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จริง
ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่ง คือ การให้ประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำแผน
เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของร่วม สร้างการตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างความรับผิดชอบร่วมกัน
และที่สำคัญสร้างการยอมรับในแผน และในโครงการหรือกิจกรรมด้านสิ่งเวดล้อมที่จะเกิดขึ้นตามมาจากแผนนั้น
ๆ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๗๙ ระบุว่า รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสงวน
บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล
รวมทั้งมีส่วนร่วมในการส่งเสริม บำรุงรักษา และคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืน
ตลอดจนควบคุมและกำจัดภาวะมลพิษที่มีผลต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน อาจจะมีคนสงสัยว่าจะทำได้อย่างไร? แผนสิ่งแวดล้อมจังหวัดสามารถจะเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้มาตรา
๗๙ นี้ สัมฤทธิ์ผลได้เป็นอย่างดี เพราะพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ก็มีอยู่แล้ว เพียงต้องปรับปรุงวิธีการปฏิบัติขึ้นบ้างเท่านั้น
ผมอยากเห็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ อยากเห็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ทั้งเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. กระตือรือร้น ทวงถามและเข้าร่วมกับกระบวนการจัดทำแผน
ผมอยากเห็นองค์กรประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นประชาคมจังหวัด หรือองค์กรประชาชน
และชมรมทั้งหลายซึ่งผมเชื่อว่ามีมากอยู่แล้วในหลายจังหวัดในปัจจุบัน ขวนขวายทำความเข้าใจในเรื่องนี้
และประชาสัมพันธ์กับพี่น้องเพื่อนฝูงเพื่อที่จะได้เข้าร่วมช่วยเหลือในการจัดทำแผนดังกล่าว ผมขอยกตัวอย่างจังหวัดสมุทรปราการอีกครั้งหนึ่ง
ถ้าแผนสิ่งแวดล้อมจังหวัดเป็นไปได้อย่างที่ควรจะเป็น กรณีข้อสงสัยหรือความขัดแย้งเกี่ยวกับโครงการบำบัดน้ำเสียรวมดังกล่าวก็ไม่ควรจะเกิดขึ้น
และเมื่อได้เกิดขึ้นแล้วไม่ใช่แต่เพียงหน่วยราชการเท่านั้น แต่ชมรมต่าง ๆ จะต้องลุกขึ้น
ทวงถาม ทำความเข้าใจ และหาความกระจ่างในเรื่องนี้ซึ่งได้เกิดขึ้นในจังหวัดของตนให้ได้
การจัดการป่า เมื่อพูดถึงกรณีของความขัดแย้งอันเนื่องมาจากสิ่งแวดล้อม
การจัดการป่าเป็นประเด็น วิกฤตเรื้อรัง ของประเทศเรา ผมต้องพูดถึงเรื่องป่าทุกครั้งที่มีการประชุมประจำปีของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
ทั้งนี้เพราะยังมิได้มีการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไป ผมมีความหวังว่าวันหนึ่งผมจะไม่ต้องพูดถึงเรื่องนี้อีก
แต่ก็คงจะไม่ใช่เร็ว ๆ นี้ ผมคิดว่าตกมาถึงวันนี้เราคงต้องยอมรับความจริงว่ามีประชาชนของเราจำนวนหนึ่งที่ต้องมีวิถีชีวิตทำมาหากินอยู่กับป่า ผมไม่ได้หมายถึงการทำธุรกิจไม้ในป่าธรรมชาติหรือป่าอนุรักษ์
เรื่องนี้เป็นเรื่องผิด กฎหมายสำหรับประเทศไทย แต่ผมหมายถึงประชาชนในพื้นที่จริง
ๆ ประชาชนที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไร และไม่ได้มีทางเลือกอื่นที่ดีไปกว่าชีวิตที่เขาดำเนินอยู่นั้น
ในกรณีเช่นนี้เราต้องพยายามคิดว่าคนกับป่าน่าจะอยู่ด้วยกันได้ แต่การพูดว่าคนกับป่าอยู่ด้วยกันได้ก็อาจเป็นอันตรายต่อการอนุรักษ์ป่าได้เช่นกัน ประเด็นที่สำคัญเรื่องนี้จึงอยู่ที่ว่าจะให้คนอยู่กับป่าอย่างไร
ทั้งคนและป่าจึงจะอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีฝ่ายใดต้องเดือดร้อน ซึ่งก็คือประเด็นการจัดการนั่นเอง
สูตรสำเร็จในเรื่องนี้ยังไม่มี และก็จะไม่มีด้วยในอนาคต แต่แนวความคิดเรื่องป่ากันชนเป็นแนวความคิดที่ควรจะได้รับการพิจารณาและพัฒนาอย่างเหมาะสม
ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ขอบป่าสามารถมีชีวิต และการทำมาหากินอย่างพอเพียง และขณะเดียวกันก็ดูแลรักษาป่าไม่ให้ใครมาบุกรุกทำลายเอาแต่ประโยชน์ส่วนตน
วิธีการที่ถูกต้องได้ผลที่สุดอาจจะยังไม่มี แต่เราต้องพยายามหาหนทางและศึกษาจากโครงการนำร่องในพื้นที่ต่าง
ๆ เพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการขยายผลในกรณีที่ประสบความสำเร็จต่อไป การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลก ประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากจะฝากให้ในวันนี้
เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมโลก ผมเชื่อว่าหลาย ๆ ท่านในที่ประชุมนี้ตระหนักดีถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลก
ซึ่งเป็นประเด็นที่นานาชาติได้ให้ความสนใจ และการเจรจาระดับนานาชาติก็ได้เกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง
เช่นเดียวกันกับสิ่งแวดล้อมภายในประเทศเราเอง การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกเกี่ยวโยงกับเรื่องการผลิต
การดำรงชีวิต และคุณภาพชีวิต เป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ และเป็นเรื่องทางการเมืองด้วย
เราจึงเห็นได้ว่าการประชุมนานาชาติในเรื่องดังกล่าวเป็นการเจรจาต่อรองกันเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
และการเมืองเป็นหลักด้วย หาใช่เป็นแต่เพียงการตกลงกันเพื่อสร้างความร่วมมือในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมโลกไม่
เมื่อเป็นดังนี้แล้ว จึงยิ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องขวนขวายหาความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวทั้งในเชิงสิ่งแวดล้อม
เชิงเศรษฐกิจ และเชิงการเมือง เพื่อที่จะได้ร่วมพิทักษ์โลก โดยในขณะเดียวกันก็ไม่เพลี่ยงพล้ำในเวทีเศรษฐกิจและการเมืองโลก
ดังเช่นที่เราได้เพลี่ยงพล้ำไปแล้ว ในเรื่องทางการเงิน เมื่อประเทศไทยต้องยอมปรับค่าเงินบาทตามราคาในตลาดโลก
อันนำไปสู่การลดค่าเงินบาท และวิกฤตเอเซีย ซึ่งได้ลามข้ามทวีปไปถึงประเทศบราซิลแล้วนั้น
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้วิจารณ์การบริหารการจัดการของภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนของไทยว่าขาดประสิทธิภาพ
ขาดความรับผิดชอบ ไม่โปร่งใส และไม่สุจริต หรือเรียกโดยรวมว่าไม่มี Good governance
นั่นเอง แต่สิ่งหนึ่งที่ IMF ไม่ได้พูดถึงคือ Global Monetary Governance หรือธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการการเงินในเวทีโลก
ซึ่งยังคงเป็นระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาอยู่ ประเทศที่ตามไม่ทันก็จะต้องเพลี่ยงพล้ำไปเอง
แต่เราไม่ควรที่จะยินยอมรับกติกาดังกล่าวนี้ เพราะกติกาทั้งหลายนั้นสร้างขึ้นโดยน้ำมือมนุษย์โดยมีปรัชญาใดปรัชญาหนึ่งเป็นรากฐานเสมอ ผมคิดว่าเราไม่ควรจะยอมรับกติกาโลกที่ตั้งอยู่บนปรัชญาที่เห็นว่าปลาใหญ่กินปลาเล็กเป็นเรื่องที่ถูกต้อง
แต่เราควรจะสนับสนุนกติกาที่จะช่วยให้พลเมืองโลกล้วนสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
เราควรจะสนับสนุนกติกาโลกที่มีรากฐานอยู่บนการสร้างสังคมโลกที่เป็นธรรมและเท่าเทียม เมื่อพูดว่าเป็นธรรมและเท่าเทียม
ผมไม่ได้หมายความว่าคนทั้งโลกจะต้องมีเงินเดือนหรือรายได้ที่เท่ากัน แต่ผมหมายความว่าถ้าคนคนหนึ่งอายุ
๔๕ ปี และทำงานอย่างขยันขันแข็ง ซื่อสัตย์สุจริต และจ่ายภาษีเต็มมาตลอดเวลา ๒๕ ปีของการทำงาน
อยู่มาวันหนึ่งต้องกลายเป็นคนว่างงาน ต้องพบว่ามูลค่าของรายได้ของตนตกลงเหลือเพียงครึ่งเดียว
และยังกลายเป็นคนมีหนี้สินที่ยังไม่ทราบว่าจะปลดเปลื้องได้อย่างไรภายในเวลา ๑๕ ปีที่เหลืออยู่ของชีวิตการทำงานก่อนวัยเกษียณ
ในขณะที่คนบางคนอาศัยตำแหน่งหน้าที่ พรรคพวก และช่องว่างทางกฎหมายต่าง ๆ หลบเลี่ยงภาษี
หารายได้โดยทุจริต และกลายเป็นมหาเศรษฐีไปในช่วงเวลาสั้น ๆ กรณีเช่นนี้ ผมเห็นว่าไม่เป็นธรรม ที่ผมพูดถึงเรื่องนี้
ไม่ใช่เพื่อให้ท่านสิ้นหวัง แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า มีอะไรที่เราจะต้องทำ ต้องช่วยกันทำอีกมากเพื่อทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น
และในฐานะที่ท่านมีหน้าที่การงานหรือมีความสนใจในด้านสิ่งแวดล้อมจึงได้มาชุมนุมกัน
ณ ที่นี่ในวันนี้ ส่วนหนึ่งที่ท่านจะช่วยได้ คือ การเข้าร่วมในการสร้างธรรมาภิบาลในการจัดการสิ่งแวดล้อม
ไม่ว่าจะเป็นในระดับท้องถิ่น ในระดับชาติ หรือในระดับโลก สุดแต่ว่าท่านนั่งอยู่ในตำแหน่งใดจุดใด
แต่ที่แน่นนอนที่สุด ผมเรียกร้องให้เราประสานมือกัน ผมขอยุติปาฐกถาเรื่องธรรมาภิบาลในการจัดการสิ่งแวดล้อม
ด้วยประโยคของ David Starr Jordan (๑๘๕๑ - ๑๙๓๑) ที่กล่าวไว้ว่า Wisdom is
knowing what to do next. Virtue is doing it. |