รวมปาฐกถาภาษาไทย

ปาฐกถา
เรื่อง สิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมกับธรรมรัฐ
โดย นายอานันท์ ปันยารชุน
ประธานสภาสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
การสัมมนาโต๊ะกลม
แนวทางในการจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรม
จัดโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๑
ณ โรงแรม ดิ อิมพีเรียล ควีนส์พาร์ค

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมยินดีมากที่ได้พบกับทุกท่าน ณ ที่นี้ทุกท่านที่ได้รับเชิญมาล้วนเป็นผู้ที่จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันงานสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมของสังคมไทยอยากจะเรียนว่าผมฝากความหวังไว้กับท่านทุกคน

ทุกวันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้าวิกฤต บ้างก็ว่าเป็นวิกฤตทางการเงิน บ้างก็ว่าเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจ ผมคิดว่าถ้าเราสามารถมองเห็นวิกฤตนี้ได้เพียงเท่านี้ ก็น่าจะอธิบายได้ว่าเป็นเพราะสังคมเราถูกนำโดยความคิดทางเศรษฐศาสตร์และการเงินมานาน ผมเพียงแต่อยากจะชี้จะย้ำให้เห็นว่าพวกเรามักจะถูกปลูกฝังให้เห็นอะไรอยู่เพียงด้านเดียว เมื่อเรามองเห็นอะไรได้เพียงด้านเดียว แน่นอนว่าเราก็ย่อมแก้ปัญหาอยู่เพียงด้านเดียวเป็นหลัก สิ่งที่เราจะต้องทบทวนสำหรับวิกฤตครั้งนี้คือ วิธีการพัฒนาของประเทศไทย และวิธีคิดของคนไทย

เราพัฒนาถนน สะพาน ไฟฟ้า ประปา แล้วจึงมาให้ความสำคัญกับโรงพยาบาลและการศึกษา เราจะพัฒนาอุตสาหกรรม พัฒนาพื้นที่ แต่หัวใจของการพัฒนาอย่างหนึ่งที่ในอดีตนักพัฒนาไม่พูดถึง นักวางแผนไม่พูดถึง ไม่กล้าที่จะพูดถึง คือ การพัฒนาทางการเมือง ซึ่งคือ การสร้าง Good governance หรือที่แปลกันว่าธรรมรัฐ ทำอย่างไรจึงจะให้เกิดระบบการบริหารสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และเป็นธรรม ทั้งในวิถีทางศาสนาและสังคม วิกฤตที่เกิดขึ้นครั้งประวัติศาสตร์นี้เป็นผลมาจากปัญหานี้โดยตรงที่สุด วิกฤตนี้เกิดขึ้นเพราะเราไม่มีระบบการบริหารสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ เราไม่มีระบบการบริหารสาธารณะที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และเราไม่มีระบบการบริหารงานสาธารณะที่เป็นธรรม

แต่เดิมเราเรียกการบริหารสาธารณะนี้ว่าการปกครอง ต่อมาเราเรียกว่าการบริหารรัฐกิจหรือรัฐประศาสนศาสตร์ วิวัฒนาการของคำที่ใช้นี้ชี้ให้เห็นถึงความหมายที่เปลี่ยนแปลงของงานดังกล่าว จากการมองว่าเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจ “ปกครอง” ประชาชน เปลี่ยนมาเป็นการมองว่าข้าราชการคือ ผู้ทำงานบริหาร จัดการ และบริการให้กับประชาชน ซึ่งหมายความว่า นักการเมือง และข้าราชการไม่ใช่เจ้าของอำนาจ

ถ้าจะถามว่า Good governance จะเป็นจริงได้จะต้องมีอะไรบ้าง หลาย ๆ คนอาจจะตอบว่าจะต้องมีรัฐบาลที่ดี ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ถูกไม่หมด สำหรับสังคมที่อยู่ในระบบการปกครองที่มีการเลือกตั้ง ทั้งนี้เพราะในระบบดังกล่าว การที่เราจะมีรัฐบาลที่ดีได้จริง เราจะต้องมีประชาชนที่เข้มแข็งและมีคุณภาพด้วย ฝรั่งเขามีคำพูดว่า “People get the government that they deserve.”

ผมอยากจะชี้ว่า ถ้าเราจะมี Good governance ได้จริง เราจะต้องมี conscientious, concerned และ committed citizens นั่นคือ ต้องมีประชาชนที่มีสำนึกในความผิดชอบ รู้ผิด รู้ถูก (conscientious) สำนึกแล้วต้องเป็นห่วงเป็นใย รู้ร้อนรู้หนาว ไม่ดูดาย (concerned) และเมื่อไม่ ดูดายแล้วจะต้องมีพันธะที่มุ่งมั่น หรือ commitment ที่จะช่วยกันทำให้บ้านเมืองนี้ดีขึ้นไม่ใช่เพียงแต่ต้องการจะเห็นบ้านเมืองนี้น่าอยู่ขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่ต้องการจะวิจารณ์เท่านั้น แต่ต้องมุ่งมั่นที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการลงมือกระทำให้บ้านเมืองของเราดีขึ้น ไม่มีอะไรที่เราจะได้มาง่าย ๆ เพียงด้วยการหลับตาและอธิษฐานเช่นในเทพนิยาย แต่เราต้องลงแรงให้ได้มา ทั้งแรงสมอง แรงกายและแรงใจ

ผมเคยพูดอยู่เสมอว่าสังคมไทยต้องมีนิติธรรม (rule of law) กลไกการตรวจสอบ กลไกการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร กลไกทางการเมือง และการบริหารจัดการอื่น ๆ ที่จักทำให้เกิดการรับผิดชอบในการตัดสินใจของตน (accountability) การมีส่วนร่วมของประชาชน ความโปร่งใส ประสิทธิภาพ และจริยธรรมทางการเมือง เพื่อให้มี Good governance ในทางปฏิบัติได้จริง วันนี้ผมต้องการจะเน้นว่า เบื้องหลังการรับผิดชอบในการตัดสินใจของตน (accountability) การมีส่วนร่วมของประชาชน ความโปร่งใส ประสิทธิภาพ และจริยธรรมทางการเมือง คือวิธีคิดที่มุ่งประโยชน์ของสาธารณะเป็นสำคัญ วิธีคิดที่เราในฐานะประชาชน หรือพลเมืองจะต้องมี เราจะเรียกว่าการปฏิรูปปัจเจกชน การปฏิรูปชุมชน หรือการปฏิรูปสังคมก็ได้ ดังที่ผมเคยกล่าวไว้ว่า “กระแสความคิดทางสังคมเป็นพลังที่สำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลงทิศทางและอนาคตของสังคม”

วิธีคิดของเราเป็นอย่างไรขึ้นกับวัฒนธรรมของสังคมของเรา และวัฒนธรรมของสังคมเราจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นกับวิธีคิดของคนในสังคมนั้น

ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมเป็นเช่นนั้น ต่างก็เป็นทั้งปัจจัยผลักดันและเป็นผลผลิตของกันและกัน

เรามักจะลืมไปว่าสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ มีทั้งสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ (nature environment) และสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม (cultural environment) ที่ผ่านมาเรามักจะมองสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมเป็นคนละเรื่อง แยกต่างหากจากกันโดยสิ้นเชิง สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติได้รับการเอาใจใส่มากกว่าสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรม ดังจะเห็นได้จากเวทีสิ่งแวดล้อมนานาชาติ และจากการจัดสรรงบประมาณของเราเอง ทั้ง ๆ ที่สิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมให้คุณค่าในการหล่อหลอมสมาชิกชองสังคม และยังให้ความรู้สึกปิติที่วัตถุให้ไม่ได้ (spiritual fulfillment ) เราไม่ควรลืมว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิต species เดียวเท่านั้นที่จะมีความอิ่มเอมใจเช่นนี้ได้ สิ่งมีชีวิตประเภทอื่นไม่สามารถมี cultural หรือ spiritual enrichment

แต่เป็นที่น่าเสียใจว่า วัฒนธรรมของเราใน “ยุคพัฒนา” ที่ผ่านมาเป็นวัฒนธรรมของปลาใหญ่กินปลาเล็ก ใครมือยาวสาวได้สาวเอา เป็นวัฒนธรรมที่ไม่เข้าใจความงามหรือความดี เข้าใจแต่บาท ดอลลาร์ และเยน สังคมที่มีวัฒนธรรม ตื้น ๆ และฉาบฉวยเช่นนี้ ผนวกกับวิธีการพัฒนาที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่ำรวยมั่งคั่งเป็นหลัก ประเทศไทยจึงได้เห็น “คนรวยยิ่งรวยขึ้น คนจนยิ่งจนลง” และคนเคารพเงินมากกว่าคุณความดี

ตกมาถึง ”ยุคเศรษฐกิจฟองสบู่” ยุคที่บางประเทศในเอเซียเป็นเสือเศรษฐกิจซึ่งดูผิวเผินราวกับว่าถนนในเมืองไทยปูลาดด้วยแผ่นทองคำ ทั้งทุนต่างประเทศและชาวต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทย ใคร ๆ ก็ล้วนดูจะเป็นเศรษฐีมีทรัพย์กันทั้งนั้น เราจึงได้เห็น “วัฒนธรรมการบริโภค” เป็นวัฒนธรรมนำในสังคมไทย

วัฒนธรรมบริโภคนิยม ผนวกกับวิธีคิดแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา และการที่สังคมยอมรับวัฒนธรรมปลาใหญ่กินปลาเล็ก ทำให้เรามีรัฐบาลที่สื่อมวลชนตั้งฉายาตามลักษณะการบริโภคให้ เช่น รัฐบาล buffet, รัฐบาล fast food แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้ลุกขึ้นมาทำอะไร มีแต่จะหัวเราะสนุกไปกับฉายาเหล่านี้ จนกระทั่งวันนี้ วันที่เศรษฐกิจล้มครืนระเนระนาด ทุกคืนรายการสนทนาทางโทรทัศน์จะต้องมีคำถามว่าประเทศไทยจะไปรอดไหม มีเพียงอารมณ์ขันเท่านั้นคงจะไม่พอ

ผมไม่อยากให้ใครเห็นว่าวัฒนธรรมเป็นเพียงเรื่องการร้องรำทำเพลง การสันทนาการหรือการใช้เวลาว่างเท่านั้น แต่วัฒนธรรมหล่อหลอมเรา เหมือนที่ได้หล่อหลอมบรรพบุรุษของเรา และจะหล่อหลอมลูกหลานของเรา โดยที่เราอาจจะรู้ตัวบ้าง หรืออาจจะไม่รู้ตัวเลย เหมือนที่เรามักไม่ค่อยสำนึกว่าเรากำลังหายใจ วัฒนธรรมคือลมหายใจของเรา

การพัฒนาอย่างยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม จะเป็นจริงได้ต่อเมื่อเรามีวิธีคิดแบบใหม่ มีสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากวัฒนธรรมที่นำสังคมเราอยู่ในปัจจุบัน วัฒนธรรมมือใครยาวสาวได้สาวเอา วัฒนธรรมบริโภคนิยมที่ผมได้พูดถึงข้างต้น

สิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมที่ผมอยากจะเห็น และชักชวนทุกท่านให้มาร่วมมือกันสรรค์สร้าง คือ สิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมที่สร้างคนคุณภาพ ที่ความสุขของเขาไม่ได้เกิดจากการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น แต่เกิดจากการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม เพื่อสังคม เพื่อสาธารณะ และเกิดจากความอิ่มเอมใจในการได้ชื่นชมคุณค่าความงดงามของงานศิลปะ ไม่ใช่เกิดจากการได้บริโภคสินค้าราคาแพงเกินเอื้อม สังคมของเราจะต้องมีคนดี คนคุณภาพ และประชาชนจะต้องมีความสุข ทั้งสุขกายและสุขใจ และสำคัญที่สุด รู้จักคำว่า “พอ”

เราจะต้องมีพลเมืองที่มีเกียรติภูมิ แต่เกียรติภูมินี้ไม่ได้หมายถึงว่า “สถาบันของข้าใครอย่าแตะ” ไม่ได้หมายถึงการรับน้องใหม่แบบวิปริตและอ้างว่าเป็นธรรมเนียม แต่เกียรติภูมิของเราจะต้องมีรากเหง้ามาจากความดีงาม และจากความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ (identity) ของเรา ในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ของท้องถิ่น ของชุมชน

ผมอยากจะเสนอว่าการจะให้ได้มาซึ่งสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมที่พึงปรารถนานี้ นอกจากเราจะได้มาด้วยการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมที่คนไทยโชคดีมีบรรพบุรุษสร้างสมไว้ให้แล้ว เรายังมีหน้าที่ที่จะต้องเพิ่มพูนจากมรดกเดิมด้วยการสร้างขึ้นมาใหม่ด้วย ผมอยากจะเห็นนวัตกรรม (innovation) ด้านสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมอย่างน้อย ๓ ประการ ดังต่อไปนี้

หนึ่ง วัฒนธรรมเอเชียและวัฒนธรรมไทยที่งดงาม คือความผูกพันที่เรามีให้กับครอบครัว เครือญาติ และชุมชนของเรา ปัจเจกชนผูกพันตัวเองอยู่ในเครือข่ายของชุมขนได้ด้วยความรัก ความเคารพนับถือ และความไว้วางใจในกันและกัน เชื่อถือในคำพูดและคำมั่นสัญญา ดังจะเห็นได้ว่าในอดีตธุรกิจของคนเอเซียไม่ได้ใช้เอกสารสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นประกันเช่น ทุกวันนี้ ทั้งนี้เพราะสามารถอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันและกันเป็นหลัก ผมอยากจะเรียกร้องให้เราหันกลับมาให้ความสำคัญกับคุณค่าความผูกพันเหล่านี้ โดยจะต้องขยายความรักความผูกพันนี้ให้ครอบคลุมถึงสังคมทั้งสังคม ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มของเราเท่านั้น

สอง เราจะต้องแสวงหาความสมดุลย์ระหว่างอดีต และอนาคต ของวัฒนธรรมไทยไห้ได้นี่คือภาระกิจของปัจจุบัน เราจะพึ่งพาหาประโยชน์แต่กับอดีตเท่านั้นคงจะไม่ได้ เมื่อมนุษย์และสังคมเปลี่ยนแปลงทุกวัน การจะให้สิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมหยุดนิ่งคงที่ย่อมเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่ท้าทายเราอยู่ก็คือคำถามที่ว่า ทำอย่างไรเราจึงจะมีการจัดการที่ดี พอเพียงที่จะสามารถประสาน “การอนุรักษ์” เข้ากับ “การพัฒนา” สิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมให้ได้ ท่ามกลางวิกฤตในปัจจุบัน เราต้องมีความคิดและยุทธศาสตร์ใหม่ ต้องมองให้เห็นว่าวัฒนธรรม คือ ทุน และเราสามารถพัฒนาจากทุนทางวัฒนธรรมนี้ได้ ดังนั้นงานศิลปวัฒนธรรมจึงไม่ใช่ ”ภาระ” ที่จะต้องแบก แต่เป็น “ทุน” เป็นสมบัติที่เรามี ในขณะเดียวกันเราก็ต้องเข้าใจว่า การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม เช่น สถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์นั้น ไม่ใช่เพียงเพื่อสนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยวแต่ประการเดียวเท่านั้น แต่เพื่อการจรรโลงไว้ซึ่งคุณค่าทางวัฒนธรรมด้วย

สาม เมื่อเราพูดถึงมรดกทางวัฒนธรรม (cultural heritage) ในประเทศไทย เราต้องยอมรับว่า ประสบการณ์ที่ผ่านมา ชาวบ้านมีส่วนร่วมในงานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมน้อยมาก งานดังกล่าวดูจะล่องลอยอยู่เหนือประชาชนเหนือชาวบ้าน อย่างไรก็ดี ผมหวังว่าทุกท่านจะตระหนักว่านอกจากประชาชนจะเป็นเจ้าของมรดกของชาติร่วมกันแล้ว ประชาชนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นผู้มีบทบาทโดยตรงในการที่จะอนุรักษ์ พัฒนา หรือ ทำลายมรดกนั้น ๆ ด้วย ดังนั้นในการจะพิทักษ์บริเวณพื้นที่สถาปัตยกรรมหรือศิลปกรรมที่เป็นเป้าหมาย จึงควรจะได้คำนึงถึงแนวทางที่จะพัฒนาประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ ไปพร้อมกัน ผมอยากจะเห็นประชาชนในพื้นที่ได้เข้าร่วมในกระบวนการวางแผนอนุรักษ์-พัฒนา ในการดำเนินกิจกรรมและได้รับประโยชน์จากงานอนุรักษ์-พัฒนาสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมในพื้นที่ของเขาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม มิฉะนั้น การที่จะพิทักษ์รักษา และพัฒนาสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมให้ประสบความสำเร็จก็จะไม่สามารถเป็นจริงได้ จะเป็นได้แต่เพียงแค่ความฝันเท่านั้น

เมื่อ ๓ ปีที่แล้ว ผมได้รับเชิญให้ไปแสดงปาฐกถาที่การประชุมเรื่อง Future of Asia’s Past ซึ่งจัดขึ้นโดย Siam Society, Asia Society และ Getty Conservation Institute ผมได้กล่าวไว้ว่า ผมอยากจะเห็นประเทศไทย มีองค์กรเอกชนอิสระที่ลุกขึ้นมาดูแลงานสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรม เช่นเดียวกับที่ประเทศอังกฤษมี National Trust

องค์กรดังกล่าวตั้งขึ้นมาเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีที่แล้ว (ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๙๕) ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมของเมืองอันเนื่องมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมและการเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมือง มีคนกลุ่มหนึ่งที่มีวิสัยทัศน์เป็นห่วงเป็นใยสภาพแวดล้อม ทั้งทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมของประชาชน เป็นห่วงว่าอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสุนทรียภาพจะถูกรื้อถอนทำลาย หรือดัดแปลงไป และเป็นห่วงว่าพื้นที่เปิดโล่ง (open space) ต่าง ๆ ที่มีคุณค่าทางธรรมชาติ จะถูกรุกล้ำทำลายด้วยการพัฒนาทางเศรษฐกิจ คนกลุ่มนี้ได้ลุกขึ้นมาก่อตั้งองค์กรอิสระ เพื่อพิทักษ์สถาปัตยกรรม และอาคารตัวอย่างของประวัติศาสตร์ยุคต่าง ๆ ของสหราชอาณาจักร และพิทักษ์ภูมิทัศน์ โดยเฉพาะพื้นที่ธรรมชาติฝั่งทะเล

National Trust เป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรอิสระที่ทำงานเพื่อรักษาสมบัติของชาติของสังคม เพื่อให้คนรุ่นนั้น และต่อเรื่อยมาจนถึงคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต ได้เข้าไปเยี่ยมชม ศึกษา อาคารและบริเวณพื้นที่ต่าง ๆ ได้รักษาไว้ เพื่อให้เข้าใจประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของตน องค์กรนี้พิทักษ์ทั้งสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรม ให้ทั้งความสุขและการศึกษากับประชาชน ด้วยการเปิดสถานที่ให้ผู้สนใจเข้าชมในลักษณะการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ มีการจัดเดินเที่ยว การออกค่ายและจัดทำละครสำหรับเด็กเป็นต้น ปัจจุบันองค์กรนี้มีอายุ ๑๐๔ ปี และมีสมาชิกมากกว่า ๒ ล้านคน

ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วรุนแรงของประเทศไทย ผมจึงอยากเห็นคนไทยลุกขึ้นมาทำอะไรที่สร้างสรรค์เพื่อสาธารณะ เพื่อรักษามรดกของสังคมเช่นนี้บ้าง

วันนี้ผมจึงยินดีที่สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย อาสาลุกขึ้นมาก่อตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรม ซึ่งผมมองเห็นว่ามีลักษณะเช่นเดียวกับ National Trust คือเป็นองค์กรเอกชนอิสระที่อาสาทำงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ซึ่งเป็นสมบัติของชาติไว้เพื่อสังคมไทย ถ้าใครจะถามผมว่ากองทุนสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมนี้จะมีอายุยั่งยืนได้ถึงหนึ่งศตวรรษหรื่อไม่ คำตอบย่อมจะอยู่ที่ก้าวแรก นั่นคือการสัมมนาโต๊ะกลมในวันนี้

ผมเชื่อมั่นว่าท่านทั้งหลายที่มาร่วมสัมมนาในวันนี้ ล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความสามารถ ประสบการณ์ และความสนใจ ในการปรับปรุงงานสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมและมีความตั้งใจ ความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนงานวัฒนธรรม และลงมือกระทำให้บ้านเมืองของเราน่าอยู่ขึ้น และมีความเจริญรุ่งเรืองด้านวัฒนธรรมมากขึ้น ในการที่ท่านให้เกียรติมาร่วมสัมมนากับเราในวันนี้ มามีส่วนในการจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย นับเป็นนิมิตหมายที่ดีอย่างยิ่ง ผมหวังว่า เราจะมีการสัมมนาที่ดีที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมของสังคมไทยร่วมกันต่อไป

ผมขอจบปาฐกถานี้ด้วยคำพูดของ Mr. Abba Eban อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอล ด้วยประโยคที่ว่า “History teachers us that men and nation behave wisely once they have exhausted all other alternatives.”