รวมปาฐกถาภาษาไทย

ปาฐกถาพิเศษ
เรื่อง สิ่งแวดล้อมกับคุณธรรมในสังคมไทย
โดย นายอานันท์ ปันยารชุน
ประธานสภาสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
ในงานสัมมนาประจำปี ๒๕๓๙ ของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
วันที่ ๙ กรกฏาคม ๒๕๓๙
ห้องคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ โรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า กรุงเทพฯ

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมมีความยินดีที่ได้มาพบกับท่านทั้งหลาย ณ ที่ประชุมนี้อีกวาระหนึ่ง ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สามของการประชุมประจำปีของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งผมให้ความสำคัญอย่างมากเสมอมา สาเหตุที่ผมให้ความสำคัญต่อการประชุมนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงเพราะผมดำรงตำแหน่งประธานสภาของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเท่านั้น แต่เป็นเพราะผมเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของประเทศไทยและของโลก ทั้งในปีปัจจุบันและในศตวรรษที่จะมาถึง และก็ด้วยเหตุผลนี้เองที่เราก่อตั้งสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยขึ้นมา

ท่านคงจะยังจำกันได้ว่าปีที่แล้วเราประชุมกันเรื่อง “สิ่งแวดล้อมไทยใครจัดการ … รัฐ ธุรกิจ หรือประชาชน” ในวันนี้ เราจะขยายขอบเขตการประชุมออกไปถึงความสัมพันธ์ด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยกับนานาประเทศ และขยายวิสัยทัศน์ของไทยให้กว้างไกลไปจรดศตวรรษที่ ๒๑ ที่กำลังจะมาถึง

แต่ก่อนที่เราจะไปถึงจุดนั้น ผมอยากให้เราหันกลับมามองปัญหาใกล้ตัวที่รัฐได้พยายามแก้ไขกันมาหลายสิบปีแต่ก็ยังไม่ลุล่วง ปัญหานี้ได้แก่ปัญหาการดูแลรักษาป่า

ผมคิดว่าปัญหาพื้นฐานประการแรกของเรื่องการดูแลรักษาป่านี้ อยู่ที่ความเข้าใจความหมายของ “ป่า” คุณค่าของป่ามิได้มีแต่เพียงทรัพยากรไม้อย่างที่เคยเข้าใจกัน แต่ยังรวมถึงสมดุลทางธรรมชาติ และทรัพยากรอันเนื่องมาจากความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ ผมอยากจะชี้ว่าป่าไม่ได้มีประโยชน์แต่กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบบริเวณป่าเท่านั้น เพราะป่าไม่ใช่ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างเดียว แต่เป็นทรัพยากรของประเทศและของโลกด้วย

ที่ผ่านมา รัฐบาลหลายคณะได้มีความพยายาม และมีมาตรการหลายประการในการรักษาพื้นที่ป่า ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้าหมายพื้นที่ป่า หรือการปิดป่า รวมไปจนถึงโครงการ ค.จ.ก. ซึ่งในช่วงสั้น ๆ ที่ผมเป็นหัวหน้ารัฐบาลทำให้ต้องไปเกี่ยวพันด้วยเนื่องจากเป็นโครงการต่อเนื่องมาจากรัฐบาลชุดก่อน มาตรการเหล่านี้ล้วนแต่ไม่ประสบความสำเร็จในการรักษาพื้นที่ป่า

นอกเหนือจากความเข้าใจหรือไม่เข้าใจความหมายของป่าแล้ว ผมคิดว่าหัวใจของปัญหานี้อยู่ที่ความเชื่อเดิม ๆ ที่ว่า มีแต่เจ้าหน้าที่รัฐและธุรกิจเอกชนรายใหญ่ ๆ เท่านั้นที่จะสามารถพิทักษ์ป่าและเพิ่มพื้นที่ป่าได้ ส่วนชาวบ้านในพื้นที่เป็นได้แต่เพียงผู้ทำลายป่าเท่านั้น ไม่มีศักยภาพที่จะรักษาป่าแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทบทวนความเชื่อดังกล่าวเสียใหม่ ทั้งนี้เพราะเราได้เห็นแล้วว่ามาตรการต่าง ๆ ของรัฐที่ผ่านมา แม้กระทั่งการปิดป่าตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ ก็ไม่สามารถรักษาพื้นที่ป่าไว้ได้ ป่าของไทยยังคงลดลงกว่า ๑ ล้านไร่ต่อปี ผมจึงอยากให้เราลองตั้งต้นคิดเสียใหม่ว่าชาวบ้านมีศักยภาพที่จะดูแลรักษาป่าได้ ขณะเดียวกันป่าก็สามารถฟื้นฟูตัวเองได้เช่นกัน เมื่อเรามีสมมุติฐานใหม่เช่นที่กล่าวมานี้ เราก็จะมีโจทย์ชุดใหม่ที่จะเป็นประโยชน์กว่าเดิม โจทย์ชุดใหม่นี้คือ “จะสร้างแรงจูงใจอย่างไรเพื่อที่จะให้ชาวบ้านดูแลรักษาป่าในพื้นที่ของตนเอง” ซึ่งหากสามารถทำได้จะประหยัดงบประมาณด้านการปลูกป่าไปได้มาก และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นแนวทางใหม่นี้จะช่วยลดความขัดแย้งในพื้นที่ชนบทลงอีกด้วย

ผมคิดว่าปัญหาป่านั้นไม่ต่างจากวิกฤตจราจรเท่าใดนัก แม้ว่าเมื่อพิจารณาอย่างผิวเผิน ปัญหาทั้งสองดูเหมือนเป็นคนละเรื่องกัน ปัญหาหนึ่งเกิดในป่าในเขา อีกปัญหาหนึ่งเกิดขึ้นในเมือง แต่ผมกลับเห็นว่าปัญหาทั้งสองคล้ายกันมาก เหตุที่ว่าคล้ายกันนั้นก็เพราะต่างก็เป็นปัญหาเรื้อรังที่ท้าทายความสามารถของรัฐบาลมาแล้วหลายคณะ แก้เท่าไรก็แก้ไม่สำเร็จ แต่สิ่งที่ทำให้ปัญหาทั้งสองเหมือนกันมากที่สุด และผมคิดว่าเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดด้วยก็คือวิธีการแก้ปัญหาที่ผิดเหมือน ๆ กัน

รัฐพยายามแก้ปัญหาการจราจร โดยคิดว่าปัญหานี้มีสาเหตุมาจากการที่มีพื้นผิวถนนไม่เพียงพอกับจำนวนรถยนต์ที่มีมากมายมหาศาล ก็เลยพยายามแก้ปัญหาด้วยการหาทางเพิ่มผิวถนนให้ทันกับความต้องการ เมื่อเพิ่มผิวถนนบนพื้นดินตามปกติไม่ได้ ก็พยายามทำทางยกระดับบ้าง เอาผิวคลองมาทำถนนบ้าง มุมานะเฝ้าคิดประดิษฐ์วิธีพิสดารยิ่งขึ้นไปต่าง ๆ นานา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะรองรับจำนวนรถยนต์ที่มีอยู่ และที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ วันละประมาณ ๗๐๐ คัน เฉพาะในกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ยังไม่รวมจำนวนรถจักรยานยนต์

ผมไม่อยากให้เราลืมว่า แต่ก่อนเราถมคลองกันด้วยซ้ำเพื่อเอามาทำเป็นถนน แนวความคิดที่เอาผิวน้ำมาเป็นผิวถนนนี้ไม่ได้มีอะไรใหม่แต่อย่างใด เราเบียดเบียนคลองจนแทบจะไม่มีคลองเหลือจะให้ถมกันอีก เราเบียดเบียนคลองจนจะไม่เหลือทางน้ำธรรมชาติที่จะช่วยระบายน้ำในฤดูฝน คุณภาพน้ำก็ต่ำจนเกินกว่าจะชื่นชมได้อีกต่อไป สิ่งที่รัฐควรจะทำแต่ไม่ได้ทำคือ ลดความต้องการใช้ผิวถนนลงให้ได้ ลดจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลลงให้ได้ นี่ควรจะเป็นประเด็นสำคัญอันดับแรกในการแก้ปัญหาวิกฤตสัญจร

ผมอยากจะบอกว่าปัญหาป่าก็เช่นเดียวกัน พื้นที่ป่าในประเทศนี้ลดลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง แม้จะมีคำสั่งปิดป่ามาแล้วหลายปีก็ยังยุติการทำลายป่าไม่ได้ ถ้าสาเหตุของการทำลายป่าคือการทำไม้ เราก็ต้องพิจารณาว่าไม้เหล่านี้เอาไปทำอะไร ในปี ๒๕๓๙ นี้ ประเทศไทยมีความต้องการไม้ท่อนถึง ๑๔.๗ ล้านตัน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น ๑๘.๓ ล้านตันในปี ๒๕๔๕ และท่านทราบหรือไม่ว่าปัจจุบันนี้ ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าไม้รายสำคัญเป็นอันดับสี่ของโลก ผมจึงอยากจะบอกว่า แทนที่รัฐบาลจะคอยมาไล่ปลูกป่าให้ทันกับป่าที่ถูกทำลายไป ซึ่งได้เห็นกันอยู่แล้วว่าทำไม่ได้ เราควรจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคไม้ของเราลงด้วย ซึ่งหมายถึงว่ารัฐควรมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาเพื่อหันเหพฤติกรรมเดิม ๆ ที่เป็นตัวการในการทำลายป่าเหล่านี้

นอกจากนี้ ผมอยากจะเตือนว่า ป่าไม่ได้มีเฉพาะไม้เท่านั้น สาเหตุของการสูญเสียพื้นที่ป่าที่สำคัญไม่น้อยกว่าการตัดไม้ ได้แก่การรุกล้ำที่ดิน คนจนรุกล้ำพื้นที่ป่าเพราะต้องการที่ดินทำกิน แต่คนรวยและนักธุรกิจนั้นเอาเปรียบป่าเพราะต้องการเก็งกำไร เนื่องจากป่าเป็นสมบัติสาธารณะ เป็นของเราทุกคน รัฐจึงต้องลุกขึ้นมาปกป้องพื้นที่ป่าที่มีคนบางกลุ่มใช้สร้างผลประโยชน์ส่วนตนอยู่

ผมได้เรียนตั้งแต่ต้นว่า วันนี้เราจะพูดกันถึงอนาคต อนาคตอันใกล้ที่พอจะมองเห็นกันได้ ได้แก่เรื่องการค้าระหว่างประเทศ แม้ว่าโลกทุกวันนี้จะให้ความสำคัญกับระบบการค้าเสรี แต่ตัวแปรใหม่ในเรื่องนี้ได้แก่ เงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมของการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้า ในอนาคตอันไม่ไกลนัก คู่ค้าต่างประเทศสามารถที่จะใช้ประเด็นการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาการเลือกสินค้า โดยเฉพาะประเทศในยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือ การจัดการระบบธุรกิจที่คำนึงสิ่งแวดล้อมนั้น กำลังจะเป็นเรื่องหลักเรื่องหนึ่งในการค้าระหว่างประเทศ

ทุกท่านคงจะทราบดีว่า ผมสนับสนุนการมีเสรีภาพมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในทางการเมือง เสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ตลอดจนถึงเรื่องการค้าเสรี ในเรื่องการค้ากับสิ่งแวดล้อมนี้ บางท่านอาจจะเห็นว่าเป็นการที่ประเทศที่เจริญแล้วเอาข้อเรียกร้องด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นเครื่องกีดกันประเทศที่ยังมีแรงงานราคาถูกกว่า เพื่อประโยชน์ในการแข่งขันทางการค้าของตน และเพื่อเอาเปรียบประเทศอย่างเรา ผมเองก็ยังเคยชี้ให้เห็นว่ามีการกระทำเช่นนี้เกิดขึ้นแล้วจริง อย่างไรก็ดี ถ้าเรามองเรื่องนี้เห็นการสร้างความกดดันกับประเทศไทย ผมอยากจะถามว่าความกดดันที่จะให้มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าขึ้น ที่มีการลดปริมาณของเสียจากกระบวนการผลิตให้น้อยลงนั้น จะส่งผลเสียและจะทำลายประเทศไทยได้อย่างไร

ถ้าเราพิจารณาเรื่องนี้ด้วยทัศนคติของคนที่มองโลกในแง่ดี เราก็ย่อมจะเห็นว่า นักธุรกิจไทยมีทางออกที่สามารถทำได้โดยไม่ลำบาก เนื่องจากองค์กรมาตรฐานสากลก็ได้ชี้ทางออกไว้ให้แล้ว อันได้แก่มาตรฐาน ISO 14000 มาตรฐาน ISO 14000 เป็นอนุกรมมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม มาตรฐานที่สำคัญในอนุกรมนี้คือ มาตรฐาน ISO 14000 ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Environmental Management System เป็นมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่กิจกรรมการออกแบบ การตลาด การผลิต การส่งมอบลูกค้า และการบริการ โดยมุ่งให้องค์กรมีการพัฒนาปรับปรุงสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

ผลโดยตรงที่ธุรกิจที่ใช้มาตรฐานนี้จะได้รับคงไม่ใช่เพียงแค่การขยายโอกาสของการจำหน่ายสินค้าของตนในตลาดต่างประเทศเท่านั้น การใช้ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้ม-ค่าที่มีของเสียน้อยลงและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ย่อมจะช่วยลดต้นทุนของกิจการนั้น ๆ เองลงด้วย ในขณะเดียวกันการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ยังเป็นการแสดงออกถึงสำนึกที่ผู้ประกอบการมีต่อส่วนรวม สังคมก็ย่อมจะขอบคุณธุรกิจนั้น ๆ ภาพพจน์ที่ดีต่อธุรกิจนั้นเอง ก็ย่อมจะเป็นผลพลอยได้ที่ติดตามมา ผลที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ผมอยากให้เราให้ความสนใจ คือการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะช่วยอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติของประเทศเรา

คุณสมบัติประการหนึ่งของการเป็นนักธุรกิจที่ดี คือการสามารถมองเห็นโอกาสทางธุรกิจในเรื่องต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา คือความว่องไวต่อการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการตลาด หรือการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเทคโนโลยี ผมอยากจะเรียนว่าการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมคือ โอกาสทางธุรกิจอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เป็นเพียงค่าใช้จ่าย หรือการเพิ่มต้นทุนตามที่นักธุรกิจบางท่านเข้าใจกัน ธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจจัดหาน้ำสะอาด อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ระบบควบคุมมลพิษ ระบบกำจัดกากสารพิษ ธุรกิจการกำจัดขยะ การให้บริการที่ปรึกษา และการติดตามตรวจสอบปริมาณมลพิษ เป็นธุรกิจที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี ๒๕๓๘ ที่ผ่านมา ธุรกิจสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง ๒๕,๐๐๐ ล้านบาท และมีแนวโน้มในการเติบโตขึ้นอีกถึงปีละ ๒๐ - ๒๕ เปอร์เซ็นต์ นับได้ว่าเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรให้กับผู้ลงทุน และยังนับเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมของส่วนรวมด้วย เรียกได้ว่าธุรกิจนี้ทำให้ท่าน “ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งกล่อง” นักลงทุนจากต่างชาติได้เข้ามาเก็บเกี่ยวโอกาสนี้ในประเทศไทยอยู่แล้ว ผมอยากจะเตือนว่านักธุรกิจไทย จะต้องตื่นตัว กระฉับกระเฉงและว่องไว ต่อการเปลี่ยนแปลงที่มาจากความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมนี้

เมื่อผมพูดถึงการค้าระหว่างประเทศ และสิ่งแวดล้อม ผมพูดถึงเรื่องในอนาคตก็จริง แต่เป็นเรื่องที่อยู่ใกล้เรามาก เหตุที่เห็นว่าใกล้ก็เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ของเรา ธุรกิจของเรา เศรษฐกิจของเราโดยตรง ส่วนเรื่องที่ผมอยากจะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นเรื่องในอนาคตเช่นกัน แต่เป็นอนาคตที่สำหรับบางท่านแล้วอาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวเราอยู่สักหน่อย แต่ถึงอย่างไรก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ผมกำลังพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลก

นักวิทยาศาสตร์ได้พบว่าโลกทุกวันนี้มีก๊าซที่ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจกมากกว่าที่เคยมีในอดีต และคาดว่าสภาวะดังกล่าวจะทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น ซึ่งจะส่งผลในระยะยาวต่อสภาพภูมิศาสตร์ เช่นการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลและพื้นที่ชายฝั่ง นอกจากนี้อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไปจะส่งผลต่อวัฎจักรของพืชหรือสิ่งที่มีชีวิตอื่น ๆ ได้อีกด้วย เนื่องจากสภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่จะส่งผลต่อโลก และประชาชนของโลกในนานาประเทศ สหประชาชาติจึงได้ดำเนินการให้มีข้อตกลงระหว่างประเทศที่เรียกว่า อนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศ เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า United Nations Framework Convention on Climate Change เพื่อประสานความร่วมมือจากนานาประเทศในการรับมือกับปัญหานี้

ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ที่เป็นภาคีของอนุสัญญานี้มีหน้าที่สำรวจว่าประเทศของตนปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจกอย่างไรบ้าง และดูแลให้มีก๊าซดังกล่าวอยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชั้นบรรยากาศ ทั้งนี้ด้วยการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับปริมาณและแหล่งที่มาของก๊าซแต่ละชนิด สนับสนุนให้มีการศึกษาในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ของปัญหานี้ และกำหนดนโยบาย แผนงาน และกลยุทธ์ในการควบคุมก๊าซเรือนกระจก

หัวใจของเรื่องนี้อยู่ที่ว่าก๊าซที่ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจกนี้ที่สำคัญได้แก่คาร์บอนได-ออกไซด์ และมีเทน แหล่งที่มาสำคัญของก๊าซทั้งสองในประเทศไทย ได้แก่การทำนาข้าว การตัดไม้ทำลายป่า และการใช้พลังงานฟอสซิล เช่นน้ำมัน ถ่านหิน และลิกไนต์ โดยเฉพาะการใช้พลังงานเพื่อการจราจรและอุตสาหกรรม ดังนั้น ท่านจะเห็นได้ว่ากิจกรรมในประเทศไทยที่ส่งผลต่อการเกิดสภาวะโลกร้อน ก็คือกิจกรรมการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ผ่านมานั่นเอง

และนี่เองคือสาเหตุที่บางประเทศไม่กระตือรือร้น ที่จะให้ความร่วมมือในการควบคุมปริมาณก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากเกรงว่าจะไปหยุดยั้งการพัฒนาหรือลดมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชนในประเทศของตนเอง แต่ผมกลับคิดว่าแทนที่จะเกี่ยงกันหรือโยนกลองกันไปมา แต่ละประเทศควรจะตั้งคำถามต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการพัฒนาในประเทศของตนเองมากกว่า ว่าทำอย่างไรจึงจะยังสามารถพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชนของเราให้สูงขึ้น โดยไม่ทำลายบรรยากาศของโลก เช่นเดียวกับที่เรากำลังพยายามพัฒนาประเทศ โดยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติไปพร้อมกัน ผมคิดว่าคำถามในแนวทางนี้จะเป็นเรื่องที่ท้าทายกว่า สร้างสรรค์กว่า และควรแก่การพิจารณามากกว่า

การยุติหรือยับยั้งการตัดไม้ทำลายป่าที่ผมได้พูดถึงไปแล้วข้างต้น เป็นช่องทางที่สำคัญในการป้องกันปัญหาโลกร้อน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สำคัญมาก เพราะนอกจากจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ยังช่วยลดมลพิษและส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ในปัจจุบันความสามารถของคนไทยในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพยังอยู่เพียงกึ่งกลางระหว่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลก กับประเทศจีนซึ่งมีประสิทธิภาพด้อยที่สุด สถิตินี้ชี้ให้เห็นว่าเรายังมีหนทางอีกมาก ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานของเรา

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพิทักษ์ป่า การค้าระหว่างประเทศ หรือสภาวะโลกร้อนที่ผมได้กล่าวมาข้างต้น ล้วนเกี่ยวข้องกับ “ความคิด” ของเราซึ่งจะไปกำหนดพฤติกรรมการบริโภค การผลิต และการจัดการสิ่งแวดล้อมในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอถือโอกาสทบทวนความคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมของคนไทยเราในที่ประชุมนี้

ผมเชื่อว่าทุกท่านในที่ประชุมนี้ตระหนักดีว่า “สิ่งแวดล้อม” มีค่าใช้จ่าย มีต้นทุนทางสังคม มีผู้ได้และมีผู้เสียประโยชน์ มีความขัดแย้งแย่งชิงกัน ดังนั้นสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมทั้งหมด ผมอยากจะย้ำว่า สิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องที่จะนึกถึงต่อเมื่อมีเวลาว่างเท่านั้น ที่ผ่านมาคนมักจะจัดสิ่งแวดล้อมไว้ในลำดับท้าย ๆ โดยเห็นเป็นเรื่องไม่สลักสำคัญ แต่ถึงกระนั้นก็ควรจะพูดถึงเหมือนกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนเป็นผู้มีการศึกษา มีอารยธรรม ในทำนองเดียวกับการพูดถึงเรื่องสิทธิสตรี สิทธิเด็ก หรือศิลปวัฒนธรรม ซึ่งผมเชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้เห็นเป็นเรื่องเร่งด่วนแต่อย่างใด ใครก็ตามที่มีความคิดอย่างนี้ ผมอยากขอให้ทบทวนความคิดของท่านเสียใหม่

เนื่องจากสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่มีผู้ได้และผู้เสียประโยชน์ ดังนั้นรัฐจึงต้องเข้ามากำกับ จัดวางกติกา เพื่อจัดสรรประโยชน์ และสร้างความเป็นธรรม แต่การที่รัฐมีหน้าที่กำกับ ไม่ได้หมายความว่ารัฐจะต้องเป็นผู้นำ หรือผู้ทำไปเสียทุกเรื่อง และยิ่งไม่ได้หมายความว่ารัฐจะต้องทำถูกไปหมดอีกเช่นกัน หลายท่านอาจจะมีความเห็นว่า ปัญหาของประเทศไทยอยู่ที่นักการเมืองขาดเจตจำนงที่แน่วแน่ที่จะผลักดันสังคมไปในทางที่เจริญที่ดีงาม ผมคิดว่าความเห็นนี้คงจะไม่ผิด แต่ผมอยากจะชี้ว่าในระบอบประชาธิปไตยที่เราอยากจะมีกันนั้น เจตจำนงทางการเมืองจะต้องมาจาก เจตจำนงของสังคมเป็นหลัก ทั้งนี้หมายความว่าประเทศไทยจะต้องมีประชาชนที่มีเจตจำนงร่วมกันเพื่อสังคมส่วนรวมเสียก่อน เพื่อชี้นำนักการเมืองและรัฐบาลของเรา

งานพัฒนาสิ่งแวดล้อมก็เหมือนกับงานพัฒนาประชาธิปไตย ต่างก็ต้องอาศัยประชาชนที่มีความรับผิดชอบ ต่างก็ต้องอาศัย การมีส่วนร่วมของประชาชน ผมเคยพูดเอาไว้แล้วว่าประชาธิปไตย ไม่ได้หมายถึงเพียงการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง วันนี้ผมขอบอกว่าการพัฒนาสิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้หมายถึงเพียงการประกาศว่าเราอยากมีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่านั้น เช่นเดียวกับที่ประชาธิปไตยจะเป็นจริงได้ ก็ต่อเมื่อประชาชนมีส่วนร่วม การพัฒนาสิ่งแวดล้อมจะเป็นจริงได้ ก็ต่อเมื่อประชาชนมีส่วนร่วมเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการประหยัดพลังงาน การเต็มใจจ่ายค่าบำบัดน้ำเสีย การดูแลกระบวนการผลิต หรือการบริโภคสินค้าของตัวเราเอง เป็นต้น

ในกรอบของเวลาในทศวรรษหน้า ในกรอบของตำแหน่งของประเทศไทยในเวทีโลก ไทยควรจะมีบทบาทอย่างไร?

ผมเคยรับราชการในกระทรวงต่างประเทศ ผมจึงเห็นความสำคัญของตำแหน่งของประเทศไทยในการแข่งขันในเวทีโลกอย่างชัดเจน ผมไม่ค่อยห่วงนักธุรกิจ ไม่ห่วงบทบาทของคนกลุ่มนี้ในเวทีการค้าระหว่างประเทศ เพราะคนกลุ่มนี้มีความสามารถ มีข้อมูลทันสมัย มีเรี่ยวแรงดีมากอยู่แล้ว แต่ที่ห่วงที่สุดคือคนจนในชนบท นี่คือส่วนที่รัฐและพวกเราจะต้องใส่ใจอย่างมาก ว่าจะปรับตัว เปลี่ยนแปลงทันต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกหรือไม่

ผมห่วงว่าประเทศไทย จะแยกออกเป็นสองส่วนยิ่งกว่าทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งแข่งขันในตลาดโลก เมื่อทำการผลิต ก็ผลิตเพื่อตลาดนอกประเทศไทย เมื่อบริโภคก็บริโภคสินค้าที่ประเทศไทยอาจไม่ผลิตเองอีกต่อไปแล้ว แต่ประเทศจีน เวียดนาม พม่า จะเป็นผู้ผลิตแทน ไม่นิยมบริโภคสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานไทย แต่จะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่สั่งตรงจากประเทศตะวันตกเท่านั้น จึงจะถือว่ามีคุณภาพดีพอ แต่อีกส่วนหนึ่งนั้น ยังอยู่กับความยากจนในชนบทหรือขายแรงงานในหัวเมืองต่าง ๆ ด้อยโอกาสที่จะแสวงหาคุณภาพชีวิตทัดเทียมกับผู้คนในส่วนแรก

ผมเคยพูดเอาไว้ในปี ๒๕๓๕ เมื่อสมัยที่ผมเป็นผู้นำรัฐบาลว่า “กระแสความคิดทางสังคมเป็นพลังที่สำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลงทิศทางและอนาคตทางสังคม ความคิดในอดีตนั้น ใครมีอำนาจคนนั้นคือความยิ่งใหญ่ แต่ปัจจุบันนี้ อำนาจของสังคมคือความอิสระในความคิดอ่าน ความอิสระในการออกความเห็น ความอิสระในการรับรู้และรับทราบข่าวสารที่ถูกต้องและสมบูรณ์ พลังความคิดหรือกระแสความคิดนี้จะเดินหน้าต่อไป ไม่มีใครสามารถจะมายับยั้งหรือหยุดยั้งกระแสความคิดนี้ได้”

วันนี้ ผมขอยืนยันในความเชื่อนี้ และอยากจะบอกว่า สังคมจะพัฒนาไปทิศทางใด อยู่ที่พลังความคิดของสังคมนั้น วันนี้ผมขอให้พวกเราที่อยู่ในภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาชนเอง ร่วมมือกันสร้างพลังความคิดใหม่ในเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยการสร้างสำนึกเพื่อส่วนรวม เราต้องสร้างเจตจำนงร่วมของสังคมให้ได้ เราต้องไม่หวังที่จะร่ำรวย อยู่ดีกินดี แต่เพียงลำพังเรา ครอบครัวของเรา และพวกพ้องของเราเท่านั้น แต่สิ่งที่คนไทยต้องสร้างขึ้นมาให้ได้ คือ สำนึกร่วม เจตจำนงร่วมของสังคม ถ้าทำไม่ได้ เราก็รักษาสิ่งแวดล้อมไม่ได้ ถ้ารักษาสิ่งแวดล้อมไม่ได้ เราก็พัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไปไม่ได้ เช่นเดียวกัน ถ้าเราสร้างจิตสำนึกร่วมของสังคมไม่ได้ เราก็จะมีสังคมประชาธิปไตยไม่ได้ ประเทศไทยก็จะยังเวียนว่ายอยู่ในวังวนของปัญหาเก่า ๆ ปัญหาจราจร ปัญหาป่าหดหาย ปัญหาการมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐมนตรีที่คิดถึงแต่จังหวัด และเขตเลือกตั้งของตัวเอง แต่ไม่ตระหนักว่าตนมีหน้าที่เพื่อสังคมไทยทั้งประเทศ

เราทราบกันดีว่าประเทศไทยยังมีปัญหาอยู่มาก ในฐานะที่ผมเองเคยอยู่ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในฐานะข้าราชการประจำและนักการเมือง โดยมีอาชีพเป็นนักการทูตอยู่ ๒๓ ปี และบังเอิญได้เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่สองสมัย และก็มีประสบการณ์ในภาคธุรกิจอยู่เกือบ ๒๐ ปีด้วย ผมผ่านทั้งร้อนและหนาวมาแล้วไม่น้อยกว่าใครก็ตามที่อายุ ๖๐ กว่าปีเท่ากับผม จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ผมยังมีความเชื่อมั่นในความดี ผมยังมองโลกในแง่ดี และอยากจะบอกทุกท่าน ณ ที่นี้ว่า ทั้งเราเองและลูกหลานของเรา จะต้องมีความเชื่อมั่นในความดี ในคุณธรรม ในจริยธรรม เราต้องช่วยกันสร้างคนที่มีคุณภาพ และคุณภาพของคนที่เราจะต้องมี ต้องไม่ใช่ความสามารถที่จะเพิ่มพูนรายได้ได้มาก ๆ หรือความสามารถในการหาช่องทาง หาอภิสิทธิ์ หาประโยชน์ใส่ตนให้ได้มากที่สุด เร็วที่สุด ดังที่เทิดทูนกันอยู่ในทุกวันนี้ แต่เราต้องมีคนที่มีคุณภาพใหม่ ที่คิดแบบใหม่ คือ ไม่ใช่คิดเพื่อตัวเองเท่านั้น แต่คิดเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ของสังคม คนคุณภาพใหม่ที่พร้อมจะเข้ามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในทางการเมือง ในการพัฒนาประเทศ และในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม คนคุณภาพใหม่ที่ผมหมายถึงนี้ จะต้องเป็นคนมีคุณธรรม มีจริยธรรม และต้องเคารพในเกียรติภูมิของตนเอง พร้อม ๆ กับที่เคารพในสิทธิของคนอื่น

ผมเชื่อว่าวิกฤตจราจร วิกฤตป่า วิกฤตสิ่งแวดล้อม วิกฤตใด ๆ ก็ไม่วิกฤตเท่า วิกฤตคุณธรรม การปฏิรูปการจัดการสิ่งแวดล้อม หรือการปฏิรูปการเมือง จะไม่มีความหมายแต่อย่างใด หากไม่มีการปฏิรูปความคิด ปฏิรูปจริยธรรม ปฏิรูปคุณภาพคนของเราเสียก่อน ประเทศไทยจะต้องมีคนที่มีคุณภาพ และผมอยากเห็นคนคุณภาพใหม่เริ่มต้นที่นี่ เริ่มต้นจากทุกท่านในที่ประชุมนี้