รวมปาฐกถาภาษาไทย สุนทรพจน์
เรื่อง บทบาทของนักธุรกิจในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดย นายอานันท์
ปันยารชุน ประธานสภาสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในโอกาส เครือไทยสงวนวานิชครบรอบ
๕๐ ปี ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๓๙ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมโอเรียนเต็ล ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง
ที่คุณวิกรม ชัยสินธพ ประธานกรรมการ เครือไทยสงวนวานิช เชื้อเชิญให้ผมมากล่าวสุนทรพจน์เนื่องในโอกาสที่เครือไทยสงวนวานิชมีวาระครบรอบ
๕๐ ปี แก่ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านในวันนี้ อันประกอบไปด้วยผู้นำนักธุรกิจ ข้าราชการ
สื่อมวลชน ในหัวข้อ บทบาทของนักธุรกิจในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อสังคม
และการพัฒนาประเทศ เมื่อประเทศไทยพัฒนาก้าวหน้า ความสำคัญของการจัดการสิ่งแวดล้อมก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
แม้ว่ามีการพูดถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่ก็ยังแก้ไขได้อย่างจำกัดเท่านั้น ยกตัวอย่างที่เห็นชัดในช่วงนี้
คือ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทุกคนทั้งผู้สมัครอิสระและผู้สมัครสังกัดพรรคการเมือง
ต่างพยายามรณรงค์ด้วยการเสนอโครงการใหม่ ๆ ที่ต้องใช้งบเพื่อสิ่งแวดล้อมนับแสนล้าน
ซึ่งชี้ชัดว่าการลงทุนแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมานั้นยังไม่เพียงพอ และไม่ทันต่อปัญหาที่ทวีเพิ่มขึ้นทุกวัน วิกฤตสิ่งแวดล้อม ทำไมประเทศไทยจึงต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น
ผมเชื่อว่าทุก ๆ ท่านในที่นี้เห็นพ้องต้องกันอยู่แล้วว่า สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทยนั้นเสื่อมโทรม
ไม่ว่าจะเป็นมลพิษในเมือง พื้นที่ป่าไม้ แหล่งน้ำ คุณภาพดิน และทรัพยากรทางทะเล ซึ่งความเสื่อมโทรมทั้งหมดนี้
ส่งผลคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งเรื่องความแออัด ความสกปรก มลพิษทางอากาศและทางน้ำ
รวมทั้งความยากจนในชนบทเนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอลง ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไขในทางปฏิบัติให้เห็นผลในเร็ววัน ถ้าดูจากใกล้
ๆ ตัวก่อน เช่น อากาศเป็นพิษถึงขั้นวิกฤตในเขตกรุงเทพมหานคร ปัญหาฝุ่นละอองเพราะการจราจรติดขัด
มีเขม่าดำจากเครื่องยนต์ดีเซล อีกทั้งการเร่งการก่อสร้างถนน ทางด่วน รถไฟฟ้ารวมทั้งตึกรามบ้านช่องโดยไม่สนใจและไม่รับผิดชอบต่อฝุ่นละอองที่เกิดขึ้น
การเติบโตและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ถนนบางสายของกรุงเทพมหานคร
เช่นริมถนนพหลโยธินมีปริมาณฝุ่นเกินกว่ามาตรฐานถึง ๗ เท่า และจากผลการสำรวจโรงพยาบาลในเมืองหลวงของเราพบว่า
ประชากรใน กรุงเทพมหานคร มีอาการของโรคภูมิแพ้เกินกว่า ๑ ล้านคน นอกจากเรื่องของฝุ่นและมลพิษทางอากาศ
มลพิษทางน้ำเป็นปัญหาที่ทวีความวิกฤตขึ้นทุกขณะ จากอดีตที่เมืองไทยเคยขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำมีแม่น้ำหลักสายใหญ่ไหลผ่านทางใจกลางเมืองหลวง
แต่ปัจจุบันจากการวัดคุณภาพน้ำพบว่า แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างคุณภาพน้ำต่ำกว่ามาตรฐาน
ที่ปากคลองพระโขนงเคยมีคุณภาพน้ำถึงขั้นวิกฤต ในฤดูร้อนปริมาณโคลีฟอร์ม แบคทีเรีย
ซึ่งเป็นดรรชนีวัดความสกปรกของน้ำ มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีผลต่อสุขภาพของผู้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำโดยตรง ปัญหาขยะเป็นปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่ง
เพราะปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั่วประเทศต่อวันมีปริมาณขยะเกินกว่า ๓๓,๐๐๐
ตัน แค่เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครต่อวันมีมากกว่า ๗,๐๐๐ ตัน ถึงแม้ทางกรุงเทพมหานครเชื่อว่าสามารถจัดเก็บได้ถึงร้อยละ
๙๕ แต่ท่านทั้งหลายคงเห็นว่า ขยะใน กรุงเทพมหานคร นั้นยังกองล้นเกลื่อนกลาดอยู่ตามถนน
และในตรอกซอกซอย จะพูดได้อย่างไรว่า กรุงเทพของเรานั้นสะอาด น่าอยู่ น่าอาศัย ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ผมกล่าวมานั้น
เป็นปัญหาต่อเนื่องที่พอกพูนทวีความวิกฤตขึ้นทุกวัน เพราะในขณะที่ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
ผลักดันให้ประชาชนในชนบทมุ่งหน้าเข้าสู่หัวเมืองที่เป็นแหล่งงานที่สร้างรายได้สูงกว่าทำให้เมืองใหญ่แออัดขยายตัวอย่างไม่มีระบบ
ขาดการควบคุม ส่งผลให้เกิดมลพิษขึ้นหลายรูปแบบดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งท้ายที่สุดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษทั้งหมดนั้น
ก็จะส่งผลกระทบกลับมาที่คุณภาพชีวิตของพวกเราทุกคน หน้าที่ของใครในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศนั้น
เรามักเข้าใจกันว่า เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐโดยตรง ซึ่งเป็นความเข้าใจได้ที่ถูกต้องอยู่บ้าง
แต่ไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้องทั้งหมดแม้รัฐมีหน้าที่แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อส่วนรวม
แต่รัฐไม่ใช่ผู้ก่อปัญหาทั้งหมด และจุดสำคัญของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น จะคอยตามแก้ไขอย่างเดียวไม่พอ
ต้องช่วยกันป้องกันและลดปริมาณการก่อมลพิษให้น้อยลง ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่จึงจะบรรเทาเบาบางลดน้อยลงได้
เมื่อพิจารณากันเช่นนี้แล้ว เราทุกคนในฐานะที่อยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน ล้วนมีส่วนในการสร้างมลพิษด้วยกันทั้งสิ้น
อาจจะมีความแตกต่างอยู่บ้าง ที่ชนิดปริมาณ และความเป็นพิษของมลพิษที่แต่ละคนมีส่วนก่อขึ้น
จึงเป็นเรื่องสมควรแล้ว ที่ประชาชนคนไทยทุกคนจะต้องแบกภาระรับผิดชอบใส่ใจแก้ไขปัญหาร่วมกัน บทบาทของภาคธุรกิจอยู่ตรงไหน ทำไมภาคธุรกิจจึงต้องแสดงบทบาทในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
ผมขอตอบแทนในฐานะที่ผมเป็นนักธุรกิจคนหนึ่ง ผมเชื่อว่าภาคธุรกิจเป็นภาคสำคัญในการพัฒนาประเทศ
ถ้าหากภาคธุรกิจสามารถพัฒนาธุรกิจของตนเอง ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้
ประเทศไทยของเราจะสามารถพัฒนาเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน ผมเชื่อว่าประเทศไทยมีภาคธุรกิจเข้มแข็ง
ดูได้จากมูลค่าสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าถึงหนึ่งล้านสี่แสนล้านบาท อีกทั้งการลงทุนในภาคเอกชน
เมื่อปลายปี ๒๕๓๘ ก็ขยายตัวเพิ่มสูงถึง ๑๔.๒ % ผมจึงเชื่อว่า ภาคธุรกิจสามารถมีบทบาทนำในสังคมนี้ได้
เนื่องจากภาคธุรกิจมีศักยภาพสูง สามารถระดมทุนและมีประสบการณ์ในการบริหารโครงการขนาดใหญ่ให้ประสบผลสำเร็จแม้ว่าต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายเพียงใดก็ตาม
ในสภาพการณ์ปัจจุบันเรื่องสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลก เราต้องปรับกลยุทธการพัฒนาที่มุ่งเน้นให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็วแต่เพียงอย่างเดียว
มาใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจัง บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ท่านทั้งหลายจะต้องแสดงบทบาทนำในอีกด้านหนึ่ง
เพื่อฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนา เพื่อเป็นการคืนกำไรให้แก่สังคมที่เกื้อหนุนเรามา ในโลกนี้ไม่มีของฟรีอีกแล้ว
ผมย้ำประโยคนี้อยู่เสมอเพราะเป็นความจริงที่เราไม่อาจปฏิเสธการได้มาซึ่งความเจริญทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ
มีภาพความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรากฎให้เห็นอยู่โดยทั่วไป
ผมจึงคิดว่าควรจะมีกฎระเบียบเพื่อบังคับให้ผู้ที่มีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อมเหล่านี้
ต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง จากอดีตด้วยเหตุผลที่เคยคิดกันว่า ทรัพยากรธรรมชาติเป็นของได้มาเปล่า
ๆ การแสวงหาวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำที่สุด เช่น การลักลอบตัดไม้ในป่าสงวนแห่งชาติ
การขุดแร่โดยไม่มีการปรับสภาพหน้าดินหลังจากใช้แร่หมดแล้ว หรือการตั้งโรงงานริมฝั่งแม่น้ำ
แล้วสูบขึ้นมาใช้โดยไม่จำกัดปริมาณ เมื่อใช้เสร็จแล้ว ขบวนการผลิตก็แปรสภาพวัตถุดิบ
กลายเป็นน้ำเสียทิ้งออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ของเสียเหล่านี้จะทำลายแหล่งน้ำ ทำลายสภาพความสมบูรณ์ของดิน
หรือเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศรอบ ๆ ตัวถ้ายังหวังที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างยั่งยืน
เราจำเป็นต้องตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและรักษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อมรอบ
ๆ สถานประกอบการให้มากขึ้น ดังนั้น ต้องเปลี่ยนความคิดที่เคยคิดเสียใหม่อย่างเป็นธรรม
ด้วยหลักการ ใครทิ้ง - ใครจ่าย เมื่อเรานำวัตถุดิบจากธรรมชาติมาใช้เพื่อสร้างผลผลิตและกำไร
หากใช้แล้วเกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม เราต้องพร้อมที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมด้วย ผมเชื่อมั่นว่าด้วยหลักการ
ใครทิ้ง - ใครจ่าย ในสายตาของนักลงทุนทางธุรกิจเป็นหลักการที่ยุติธรรม ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
และจำเป็น อีกทั้งยังบ่งบอกว่า ท่านเป็นผู้ที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และนี่คือ
บทบาทที่ผมอยากสนับสนุนให้ท่านเข้าร่วมเพื่อช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย
ในวันนี้ ผมขอกล่าวถึง ๔ แนวทางที่ท่านนักธุรกิจทั้งหลาย อาจพิจารณานำไปเลือกใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในองค์กรของท่านได้ แนวทางที่
๑ การจัดการระบบสิ่งแวดล้อม การจัดการระบบสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นแนวทางกว้าง
ๆ สำหรับธุรกิจ และอุตสาหกรรมทุกประเภท โดยเริ่มจากการจัดทำนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในองค์กรก่อน
และกำหนดแต่งตั้งบุคลากรเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมขององค์กรโดยเฉพาะ เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานให้เกิดผลในขั้นตอนปฏิบัติ
จนสามารถป้องกันการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หลักการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ว่านี้จะช่วยทำให้การนำวัตถุดิบจากธรรมชาติมาใช้อย่างเหมาะสม
และคุ้มค่ามุ่งเน้นการลดกากของเสียให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งสามารถเลือกทำได้หลายวิธีด้วยกัน
เช่น ใช้เทคโนโลยีที่สะอาด โดยมีการเปลี่ยนหรือติดตั้งอุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
และสามารถประหยัดพลังงาน ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมสิ่งทอในปัจจุบัน มีระบบคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมการผสมสีอย่างได้ผล
ทำให้การใช้สีน้อยลง ส่งผลให้สามารถลดปริมาณสีที่ออกมากับน้ำทิ้ง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบ
ๆ โรงงานเสมอ หรือเลือกใช้วิธีการผลิตสินค้าที่สามารถลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง
เช่น การนำวัตถุดิบในกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่ หรือ ที่เรียกว่ารีไซเคิล เช่น อุตสาหกรรมฟอกหนังที่ต้องใช้โครเมียม
ซึ่งทำให้เกิดเป็นกากสารพิษหลังจากการผลิต ขณะนี้สามารถแก้ปัญหาโดยการเติมสารเคมีปรับสภาพโครเมียมในน้ำเสียให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่
เป็นการลดปริมาณกากสารพิษที่จะปนเปื้อนไปกับน้ำทิ้งได้เช่นกัน เน้นการจัดระบบด้านสิ่งแวดล้อม
ทั้งในแง่การใช้วัตถุดิบอย่างประหยัด และในด้านการลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นจากการผลิต
แม้ว่าในบางวิธีการอาจจะต้องมีการลงทุนเพิ่ม แต่การลงทุนที่ว่านั้นจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดของเสียภายหลัง
จึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อเริ่มจากนโยบายของสำนักงานใหญ่สามารถนำไปถ่ายทอดให้กับบริษัทในเครือ
หรือเป็นเงื่อนไขให้บริษัทคู่ค้าเข้ามาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย เมื่อมีการจัดระบบสิ่งแวดล้อมที่ดีจะส่งผลให้สินค้าหรือบริการมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด การผลิตตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศประหยัดไฟเบอร์
๕ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดทางโทรทัศน์แทบทุกวัน ซึ่งประสบความสำเร็จเพราะเป็นการรณรงค์ประหยัดพลังงานที่ได้ผล
ซึ่งผู้ผลิตให้ความร่วมมือใส่ใจปรับปรุงสินค้าที่ประหยัดพลังงาน ผู้ซื้อสินค้าได้ประโยชน์โดยตรง
เพราะค่าไฟฟ้าต่อเดือนลดลง สินค้าเบอร์ ๕ จึงเป็นที่นิยมในเวลาอันรวดเร็ว นี่คือ
ตัวอย่างที่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในตลาดที่สามารถเข้าถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมในด้านปฏิบัติจริง
มีผลทำให้บริษัทคู่แข่งที่ไม่สามารถผลิตสินค้าที่ลดการใช้กระแสไฟฟ้าได้ต้องมีการปรับตัวกันขนานใหญ่ หากท่านเป็นนักธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล
ผมคิดว่าการส่งเสริมให้องค์กรของท่านห่วงใยเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ดี และควรเตรียมการลงทุน
เพื่อสร้างระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่วันนี้ อย่าคิดว่าค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน
เพราะยิ่งเริ่มต้นช้า ค่าใช้จ่ายในการลงทุนแก้ไขจะเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญ เมื่อเกิดระบบสีเขียวขึ้นในองค์กร
ภาพพจน์ของบริษัทจะดีขึ้น เพราะบริษัทของท่านจะมีส่วนช่วยรับผิดชอบในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
และป้องกันต้นเหตุของการเกิดมลพิษอย่างจริงจัง แนวทางที่ ๒ มาตรฐาน ISO 14000 เรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะแค่ในประเทศไทย
แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ผมเชื่อว่าหลายท่านคงเริ่มคุ้นกับศัพท์ ISO 14000
ที่องค์การมาตรฐานระหว่างประเทศ ได้กำหนดรายละเอียดของการจัดตั้งระบบมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับธุรกิจ
อุตสาหกรรมและกิจกรรมอื่น ๆ ทุกประเภท ตั้งแต่การกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมของบริษัท
การวางแผนการดำเนินการ ตรวจสอบโดยองค์กรภายนอก ISO 14000 กำลังเป็นที่ยอมรับของสังคมโลก
โดยเฉพาะประเทศที่มีธุรกิจการส่งออกเป็นนโยบายหลักของการพัฒนาประเทศ กฎระเบียบต่าง
ๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับด้านการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยทั่วไปมักเน้นการกำหนดมาตรฐานของปริมาณ
และความเข้มข้น มลพิษที่อนุญาตให้ปล่อยทิ้งออกมาจากขบวนการผลิต ซึ่งเป็นการควบคุมที่ปลายเหตุ
แต่มาตรฐาน ISO 14000 นี้จะเน้นการจัดการทั้งระบบ ตั้งแต่เริ่มขบวนการผลิต จนกระทั่งสิ้นสุดออกเป็นสินค้า
และต่อเนื่องครอบคลุมถึงการใช้สินค้าดังกล่าว เมื่อใช้จนหมดอายุแล้ว จะทิ้งที่ไหน
กำจัดอย่างไร เป็นการวางแผนจัดการอย่างครบวงจรชีวิตของสินค้าแต่ละชิ้น โดยเน้นการนำกลับมาใช้ใหม่
แทนที่จะทิ้งในกองขยะ ดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ผลดีในการนำระบบ ISO 14000 ไปใช้ในองค์กรนั้นมีหลายประการ
ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนในระยะยาว การเพิ่มคุณภาพของสินค้าและการให้บริการ ความโปร่งใสเปิดเผยต่อผู้ถือหุ้น
ประชาชนในท้องถิ่น และสาธารณชนโดยทั่วไป เงื่อนไขของมาตรการการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้
มีผลกระทบต่อการค้าของประเทศไทยอย่างแน่นอน เพราะในขณะที่ประเทศไทยติดต่อทำการค้ากับต่างประเทศมากขึ้น
คู่ค้าต่างประเทศสามารถที่จะใช้ประเด็นการจัดการสิ่งแวดล้อม มาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาการเลือกซื้อสินค้า
เช่น ปัญหาการห้ามนำเข้ากุ้งของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยยกประเด็นเรื่องผลกระทบต่อการอยู่รอดของเต่าทะเลมาเป็นเงื่อนไข
ทำให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการส่งออกกุ้งของประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ อีก ๒๙
ประเทศ ด้วยเหตุผลที่ว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาจะไม่ยอมให้มีการนำเข้ากุ้งจากประเทศที่ไม่มีการติดตั้งเครื่องตรวจจับเต่าทะเลในเรือประมง
หรือถ้าการขยายพื้นทำนากุ้งนั้นมีการบุกรุกป่าชายเลน ซึ่งผู้ประกอบการในที่ทำการส่งออกกุ้ง
รวมทั้งในประเทศไทยจะต้องแก้ไขขบวนการผลิตที่เป็นเงื่อนไขนั้นให้ได้ หากผู้ประกอบธุรกิจไม่รีบปรับตัวอาจจะเสียเปรียบทางการค้า
เพราะผู้ซื้อโดยเฉพาะประเทศทางแถบยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือจะหันไปซื้อสินค้าจากประเทศคู่แข่งที่มีมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าแทน
การจัดการระบบธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องหลักเรื่องหนึ่งในการค้าระหว่างประเทศแล้ว
ธุรกิจองค์กรใดที่นำระบบ ISO 14000 ไปใช้ก่อนจะเป็นที่ยอมรับของสังคม เพราะได้ถือว่าได้ทำประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมและต่อองค์กรเอง แนวทางที่
๓ การระดมทุนเพื่อลดมลพิษ ในวงการธุรกิจ ท่านทั้งหลายทราบกันดีแล้วว่าการระดมทุนเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อมก็เช่นเดียวกัน ผมได้กล่าวถึงวิกฤตสิ่งแวดล้อม คำถามมีอยู่ว่าเมื่อเราเห็นความสำคัญแล้วประเทศไทยมีงบเพียงพอในการลงทุนแก้ปัญหาหรือไม่
ในงบประมาณของรัฐบาลที่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ตั้งงบด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมไว้ประมาณ
๒๓,๔๘๕ ล้านบาท งบดังกล่าวเท่ากับ ๒.๔ เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณแผ่นดินประเทศซึ่งยังไม่เพียงพอ
การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยองค์กรของรัฐโดยลำพัง จะทำให้ประเทศไทยต้องวิ่งไล่ตามปัญหา
ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะเน้นกลไกทางตลาด ซึ่งสามารถระดมทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงกว่ามาช่วย
หลักการใครทิ้ง - ใครจ่าย จึงเป็นการนำไปสู่การนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างเช่น โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม บ้านจัดสรร อาคารสำนักงาน นอกจากการลงทุนลดมลพิษ
และการกำจัดมลพิษในกิจกรรมของตนเองแล้ว ยังจะต้องรับผิดชอบในการจ่ายค่าน้ำทิ้ง ด้วยหลักการใครใช้มากจ่ายมาก
ผลดีที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ เราทุกคนจะได้อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่ มีสุขภาพกาย
และสุขภาพใจที่ดีขึ้น การคิดค่าธรรมเนียมด้านสิ่งแวดล้อมนั้น อันที่จริงเริ่มมีการนำมาใช้ในประเทศไทย
แต่ยังไม่แพร่หลาย เช่น ที่เมืองพัทยา หรือเขตเทศบาลป่าตอง จังหวัดภูเก็ต มีการจัดเก็บธรรมเนียมค่าบำบัดน้ำทิ้งจากครัวเรือนและโรงแรม
สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมล้วนต้องเสียค่าบำบัดน้ำทิ้งประจำเดือนเช่นกัน
ซึ่งผมเชื่อว่าการคิดค่าธรรมเนียมด้านสิ่งแวดล้อมนี้ จะมีผลผลักดันทำให้ธุรกิจหันมาใส่ใจมลพิษ
ลดของเสียที่ก่อขึ้น ที่สำคัญกว่านั้นจะเป็นการระดมทุนให้รัฐมีงบเพิ่มขึ้น เพื่อสามารถเร่งรัดแก้ไขปัญหามลพิษที่หมักหมมมานานให้ลุล่วงได้โดยเร็ว การจ่ายค่าธรรมเนียมสิ่งแวดล้อม
ถึงแม้ว่าจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นบ้าง แต่ธุรกิจไม่ควรผลักภาระไปที่ผู้ซื้อผู้บริโภคทั้งหมดทำให้ราคาของสินค้าและการบริการเพิ่มสูงขึ้น
การจ่ายค่าธรรมเนียมอย่างเป็นธรรม ถือได้ว่าเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ผลดีจากการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม
จะทำให้สินค้าและบริการของท่านเป็นที่ยอมรับมากขึ้นด้วย นอกจากเรื่องค่าธรรมเนียมแล้ว
ในภาคการเงินการคลังก็สามารถมีส่วนแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน เช่น การจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม
เพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในบางประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษ
มีการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อสิ่งแวดล้อมเพื่อลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ที่มีนโยบายส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่แน่ชัด ถือเป็นการส่งเสริมให้บริษัทมหาชนสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แนวคิดที่ว่านี้จากการศึกษาของมูลนิธิเอเชียในประเทศไทย
โดยทำการสำรวจความคิดเห็นทั้งผู้ลงทุนรายย่อยและบริษัทหลักทรัพย์ทั่วไป ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนอยู่แล้ว
ถ้าทำเช่นนี้ได้ก็หมายความว่า บริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์จะเป็นตัวอย่างของบริษัทสีเขียว
ทำให้ผู้ถือหุ้นทั้งรายใหญ่และรายย่อย ล้วนมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย ในขณะนี้สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
ร่วมมือกับธนาคารพัฒนาแห่งเอเซีย เพื่อผลักดันเรื่องกองทุนสีเขียวให้เกิดเป็นรูปธรรม
การที่ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียให้ความสนใจ เรื่องกองทุนดังกล่าว เพราะเล็งเห็นว่าไม่ใช่เป็นการช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในไทยเท่านั้น
หากประสบความสำเร็จ วิธีการเดียวกันนี้จะสามารถนำไปใช้กับประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว
แต่ขณะเดียวกันมีปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม เช่น ประเทศจีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียได้ด้วย การระดมทุนเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันคิดและผลักดันออกมาให้เป็นรูปเป็นร่างในเร็ววัน
เพราะการแก้ไขปัญหาทุกวันนี้เราวิ่งตามปัญหามาตลอด หากทุกฝ่ายไม่ช่วยกันปล่อยให้รัฐเป็นผู้แก้ปัญหาแต่ผู้เดียว
ประเทศไทยจะไม่สามารถระดมทุนแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ทัน แนวทางที่ ๔ การร่วมมือของนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า
ในปัจจุบันเริ่มมีผู้นำภาคธุรกิจจากบริษัทชั้นนำ สนับสนุนแนวความคิดของการร่วมมือในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว
เช่น คณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งผมเป็นประธานอยู่ ได้เริ่มทำงานกันมา
๓ ปีแล้ว คณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย เป็นกลุ่มทำกิจกรรมที่ไม่หวังผลกำไร
ได้รับแบบอย่างการดำเนินการมาจากคณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมโลก ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเจนีวา
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ยึดหลัก การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อคลี่คลายปัญหาสิ่งแวดล้อมอันหมายถึง
การดำเนินธุรกิจที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กร ในปัจจุบันนี้มีบริษัทธุรกิจเข้าร่วมถึง
๖๐ บริษัท ในคณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งเป็นแขนงธุรกิจที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาประเทศ
อาทิ ธนาคาร ๕ แห่ง บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ๕ แห่ง การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิต
การรวมตัวกันของบริษัทกลุ่มนี้ เพื่อร่วมผลักดันการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม
อีกทั้งเพื่อเป็นแบบอย่างต่อผู้นำธุรกิจรุ่นหลัง หรือนักธุรกิจวัยหนุ่มสาวที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจให้หันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม กิจกรรมที่ทำออกมาเป็นรูปโครงการมีหลายโครงการ
เช่น โครงการฉลากสีเขียว โครงการ ISO 14000 โครงการเทคโนโลยีสะอาด โครงการหมู่บ้านปลอดภัยจากสารพิษ
โครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมคลองหลอด โครงการสนับสนุนและพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ความร่วมมือกันในภาคธุรกิจเอกชนในลักษณะนี้กำลังเป็นที่สนใจและปฏิบัติกันอยู่ในประเทศแถบเอซียตะวันออก
ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไต้หวัน แม้แต่ประเทศเวียดนามเองก็สนใจ
ที่จะจัดตั้งคณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมขึ้นมาในรูปแบบเดียวกัน และโดยได้ส่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผน
นำคณะมาดูงานของคณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อเป็นตัวอย่างนำไปจัดตั้งในประเทศของตนเอง
ผมขอถือโอกาสนี้ เชิญชวนนักธุรกิจทั้งหลายที่สนใจ เข้าร่วมทำงานกับคณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย
เพื่อร่วมแรงร่วมใจทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกัน สรุป การลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมกลายเป็นธุรกิจใหม่ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศไทย
เมื่อปลายปี ๒๕๓๘ มีมูลค่ามากถึง ๒๕,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มการเติบโตอีกปีละ
๒๐ - ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ธุรกิจสิ่งแวดล้อม รวมถึงธุรกิจจัดหาน้ำสะอาด อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน
ระบบควบคุมมลพิษ และกำจัดกากสารพิษ ธุรกิจการกำจัดขยะ การให้บริการที่ปรึกษาและการติดตามตรวจสอบปริมาณมลพิษ
นับได้ว่า เป็นธุรกิจที่สร้างงาน สร้างกำไรให้กับผู้ลงทุน และยังมีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมของส่วนรวมด้วย จากที่ผมกล่าวมาทั้งหมด
ไม่ใช่ต้องการให้ท่านทั้งหลายสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเพราะมาตรฐานต่างประเทศ หรือการกีดกั้นทางการค้า
กำลังบีบบังคับให้เราต้องใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม จนต้องปรับมาตรฐานให้เหมือนเมืองนอกเขา
แต่ที่ผมกล่าวมาทั้งหมด เพื่อชี้ให้เห็นว่า ทำไมนักธุรกิจไทยไม่เริ่มต้นช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
และจัดการระบบสิ่งแวดล้อมในกิจกรรมของตนเอง ก่อนที่ภาครัฐหรือตามมาตรฐานสากลจะมาบังคับให้จำเป็นต้องปฏิบัติตาม
เราทุกคนจำเป็นต้องเข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหาตั้งแต่วันนี้ เพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
ซึ่งเคยอุดมสมบูรณ์ของไทยให้คงอยู่เพื่อเป็นมรดกของลูกหลาน และเป็นสมบัติของชาติสืบไป |