รวมปาฐกถาภาษาไทย ปาฐกถาพิเศษ
เรื่อง สิ่งแวดล้อมไทย ใครจัดการ รัฐ ธุรกิจ หรือประชาชน โดย
นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานสภาสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในงานสัมมนาประจำปี
๒๕๓๘ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย Thailand Environment Institute
(TEI) วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๓๘ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ การประชุมประจำปีของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยปีนี้เป็นปีที่สอง
ภารกิจของสถาบันฯ ซึ่งผมมีส่วนร่วมอยู่ด้วย ในฐานะประธานสภาสถาบันฯ ถือว่าเป็นองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมด้วยความมุ่งมั่นที่จะผลักดันแก้ไขให้สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยดีขึ้น
ผมจำได้ว่าในที่ประชุมประจำปีเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ผมได้เน้นให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน
ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ในปีนี้ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยกำหนดเนื้อหาการประชุมภายใต้หัวข้อว่า
สิ่งแวดล้อมไทย... ใครจัดการ รัฐ ธุรกิจ หรือประชาชน นั่นก็คือการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
ใครจะเป็นคนแก้ ถ้าจะตอบว่าต้องร่วมมือกันเหมือนกับปีก่อน ก็ดูจะเป็นข้อสรุปที่ง่ายเกินไปและอาจจะไม่มีผลในทางปฏิบัติ ใครจะเป็นคนจัดการและจัดการอะไร คำถามที่ว่า
ใคร ผมคิดว่าพอจะแยกสมาชิกในสังคมไทยว่าประกอบด้วย สมาชิกกลุ่มใหญ่สามกลุ่ม กลุ่มแรกได้แก่
รัฐ ซึ่งรวมทั้งสถาบันการเมืองและข้าราชการ ซึ่งต้องดูแลการพัฒนาประเทศ รับผิดชอบออกระเบียบข้อบังคับ
หรือกำหนดสิ่งจูงใจเพื่อให้สมาชิกในสังคม ปฏิบัติโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และสามารถรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนสืบไปได้ กลุ่มที่สอง
คือฝ่ายธุรกิจ ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าและผู้ให้บริการ กลุ่มนี้ผลิตสินค้าและบริการมากมายหลายชนิดสำหรับตลาดในประเทศและส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก
ต้องใช้ปัจจัยการผลิตที่เป็นวัตถุดิบ ในกระบวนการผลิตต้องมีของเสียออกมา เช่น น้ำเสีย
ซึ่งในอดีตปล่อยทิ้งไว้ในลำน้ำสาธารณะโดยไม่มีการบำบัด เมื่อนานไปปริมาณน้ำเสียมีมากขึ้น
ความสามารถในการรองรับของแหล่งน้ำ ลดลง น้ำเสียไม่อาจย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ลำน้ำสาธารณะจึงเน่าเสียดังที่เห็นกันโดยทั่วไป กลุ่มที่สาม
เป็นกลุ่มใหญ่คือประชาชนทั้งประเทศ กลุ่มนี้เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ในฐานะผู้ผลิต
ก็ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ใช้ทั้งที่ดิน ใช้น้ำ ทำให้ป่าไม้ถูกทำลาย ดินเสื่อมคุณภาพ
น้ำถูกปนเปื้อนโดยสารพิษจากปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง นอกจากนี้ประชาชนยังมีฐานะเป็นผู้บริโภค
ใช้สินค้า และบริการที่ฝ่ายธุรกิจผลิตออกมา สินค้าดังกล่าวมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม
มากน้อยต่างกันคนกลุ่มนี้อาศัยทั้งในเมืองและชนบท เป็นที่ทราบกันว่าการดำรงชีวิตของคนในเมือง
สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนในชนบท ใช้น้ำมากกว่า ใช้ไฟฟ้ามากกว่า ทิ้งขยะมากกว่า
ในขณะเดียวกัน ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า คนที่ฐานะดีจะใช้ทรัพยากรและมีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนจน
ใช้น้ำมากกว่า ใช้ไฟฟ้ามากกว่า ทิ้งขยะมากกว่า เช่นเดียวกัน คำว่าร่วมมือกันแก้ปัญหาข้างต้น
มิได้หมายความว่าทั้งสามกลุ่มต้องมาปฏิบัติร่วมกันในกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือต้องทำโครงการด้วยกัน
แต่หมายความว่าทุกคนจะต้องลงมือแก้ปัญหา ถ้าทุกคนลงมือก็เท่ากับว่า ร่วมแก้ปัญหาด้วยกัน
ถึงแม้ว่าแต่ละกลุ่มจะมีหน้าที่แตกต่างกัน หน้าที่หลักอย่างหนึ่งของรัฐก็คือชี้นำและเข้าแทรกแซง
เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม เพื่อให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมดีขึ้น ในการจัดการสิ่งแวดล้อม
รัฐต้องกำหนดทิศทางการแก้ปัญหาให้ชัดเจนในด้านนโยบายและกำหนดมาตรการรวมทั้งกลยุทธ์ที่ใช้แก้ไขที่แน่ชัด
มีผลในทางปฏิบัติ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า รัฐจะต้องดำเนินการเองในทุกเรื่อง แต่ต้องกำหนดกรอบที่จะให้สมาชิกในสังคมทั้งธุรกิจและประชาชนปฏิบัติและให้ความร่วมมือ รัฐบาลปัจจุบันก่อนการเลือกตั้ง
ได้เริ่มโครงการบำบัดน้ำเสียในเมืองใหญ่ เน้นในเขตควบคุมมลพิษและในเมืองหลักในภูมิภาคต่าง
ๆ สำหรับในกรุงเทพมหานครเอง ก็ได้ดำเนินการก่อสร้างโรงงานบำบัดน้ำเสียเสร็จแล้วหนึ่งแห่งที่สี่พระยาได้เริ่มโครงการแก้ไขปัญหาน้ำเสียลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
ได้ออกประกาศควบคุมการบำบัดน้ำเสียในอาคารของเอกชนขนาดใหญ่ ๘ ประเภท สำหรับการกำจัดขยะมูลฝอย
รัฐบาลได้ให้ความเห็นชอบโครงการกำจัดขยะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลและในเขตเทศบาล สุขาภิบาล
ในวงเงินกว่า ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท การแก้ปัญหาข้างต้นถือว่าเป็นการเริ่มต้น ขณะที่ปัญหาซึ่งหมักหมมมานาน
เช่น ปัญหาน้ำเสีย ปัญหาการกำจัดขยะ นับวันจะรุนแรงมากขึ้น อย่าลืมว่า การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
เช่นการบำบัดน้ำเสียใน กทม. กว่าจะครอบคลุมพื้นที่ได้ทั้งหมดต้องใช้เวลา ๑๐ ถึง ๑๕
ปีขึ้นไป ดังนั้นการริเริ่มแก้ปัญหาต่าง ๆ ของรัฐมิใช่ทำให้ปัญหาหมดไปเพียงแต่พอจะทุเลาปัญหาลงได้บ้าง
การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องอาศัยความต่อเนื่อง ไม่อาจจะทำสำเร็จในรัฐบาลชุดใดชุดหนึ่งได้ ในวันนี้
ทุก ๆ ท่านคงให้ความสนใจ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่อง การจัดตั้งรัฐบาลที่กำลังดำเนินการอยู่อย่างเข้มข้นในขณะนี้
แต่ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล หรือรัฐบาลใหม่จะประกอบด้วยพรรคการเมืองกี่พรรคก็ตาม
รัฐบาลที่กำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้งควรสานต่อ ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ทั้งในการจัดสรรงบประมาณและการผลักดันให้มีการลงทุน เพื่อฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบต่อไป สำหรับภาคธุรกิจ
ผมเชื่อว่านักธุรกิจเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล สามารถวิเคราะห์เหตุการณ์ในอนาคตสามารถทำนายความต้องการของตลาด
มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง น่าจะเข้าใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้าใจสิ่งแวดล้อม
เข้าใจสาเหตุ เข้าใจวิธีการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม สามารถนำกลไกทางการตลาดเข้าร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศได้ ผมอยากให้นักธุรกิจมีความเข้าใจว่า
ทรัพยากรธรรมชาติหรือจะเรียกว่า สิ่งแวดล้อมเป็นของที่มีค่ามหาศาลไม่ว่าอากาศบริสุทธิ์
น้ำสะอาด ป่าไม้ ลำน้ำสาธารณะ สิ่งเหล่านี้แม้ว่าการซื้อขายในตลาด ไม่อาจจะระบุราคาได้ครบ
แต่มีคุณค่า ไม่ว่าจะคิดจากประโยชน์ใช้สอยโดยตรงหรือโดยทางอ้อม เช่นป่าไม้ให้ความชุ่มชื้น
ให้แหล่งน้ำ ให้ทิวทัศน์สวยงาม ทั้งหมดล้วนให้คุณค่าเกินกว่าราคาแผ่นไม้ที่ซื้อขายกันในท้องตลาด ผู้ประกอบการต้องเข้าใจว่าสิ่งแวดล้อมทุกอย่างมีคุณค่า
ต้องใช้อย่างมีความรับผิดชอบ การปล่อยน้ำเสียลงลำน้ำสาธารณะโดยไม่มีการบำบัด เพราะไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายในการบำบัดผลสุดท้ายน้ำเน่า
รัฐบาลส่วนกลางหรือเทศบาลส่วนท้องถิ่น ต้องทำการบำบัดโดยใช้งบประมาณของรัฐ ซึ่งเป็นเงินภาษีอากรของคนทั้งประเทศ
ควรที่จะใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมช่วยเหลือราษฏรผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาส กลับต้องนำเงินภาษีที่มีจำกัดมาบำบัดน้ำเสียที่
โรงงานระบายทิ้ง ซึ่งควรจะเป็นภาระและความรับผิดชอบของธุรกิจต้นกำเนิดเสียเอง เคยมีผู้กล่าวไว้ว่าเหตุผลที่สำคัญที่ระบบสังคมนิยมล่มสลาย
เพราะการคิดราคาสินค้าทุกชนิดต่ำกว่าราคาตลาดหรือไม่สะท้อนภาวะตลาดเข้าในกระบวนการผลิต
ระบบดังกล่าวไม่อาจจะดำเนินการไปได้นาน เพราะไม่ยอมรับความจริง ไม่ยอมรับว่าสินค้าทุกชนิดมีราคา
ต้องคิดตามราคาตลาด แต่ในเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ราคาตลาดอย่างเดียวยังไม่พอ
เพราะคุณค่าของป่าดงดิบ คุณค่าของลำธารธรรมชาติตีค่าเป็นตัวเงินไม่ได้ ดังนั้นธุรกิจในยุคนี้ต้องมีสายตาที่กว้างไกล
ต้องตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมที่จะรับภาระของตัวเองในฐานะผู้ผลิต ไม่ปล่อยให้ขบวนการผลิตหรือสินค้าที่ออกสู่ตลาด
ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมของส่วนรวม หันมามองกลุ่มสุดท้ายบ้าง ประชาชน ถือว่าเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดที่จะมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
ผมเชื่อเสมอว่าสิ่งแวดล้อมเป็นของประชาชนทุกคน ดังนั้นหากประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมแล้ว
การพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่กับการเอาใจใส่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ต้องยอมรับว่าการให้ประชาชนส่วนใหญ่มีบทบาทในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไม่ง่าย
เพราะประเทศไทยประกอบไปด้วยคนจำนวนมากถึง ๖๐ ล้านคน ฐานะและความเป็นอยู่ต่างกัน ปัญหาของแต่ละคนต่างกันมองเห็นปัญหาต่างกัน
คนอยู่ในอาคารชุดกลางเมืองกับคนอยู่บ้านจัดสรร ใต้ทางด่วนมองเห็นปัญหารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนต่างมุมกัน
คนทำไร่เลื่อนลอยในเขตป่าอนุรักษ์กับคนฐานะปานกลางในเมืองมองเห็นประโยชน์ของป่าไม้ต่างกัน
ถ้าเป็นอย่างนี้เราจะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมป้องกันการทำลายป่าร่วมกันอย่างไร การสร้างจิตสำนึกร่วมกันจำต้องอาศัยเวลา
เพื่อให้คนส่วนใหญ่ ที่ต่างพื้นฐานการศึกษา ต่างพื้นฐานการประกอบอาชีพ ได้เข้าใจในผลประโยชน์ของประเทศร่วมกันเสียก่อน ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดก็คือ
การรณรงค์ประหยัดไฟฟ้า คงจะทราบแล้วว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี
ปีละกว่า ๑,๐๐๐ เมกะวัตต์ ทำให้เป็นภาระหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องจัดหาพลังไฟฟ้าเพิ่มขึ้นให้เพียงพอ
ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีวันสิ้นสุด จะต้องใช้ทรัพยากร ธรรมชาติมาเป็นเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็นถ่านหินน้ำมัน
ก๊าซ ทำให้ทรัพยากรดังกล่าวร่อยหรอไป และในกระบวนการผลิตไม่ว่าใช้เชื้อเพลิงใด ต่างก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมปล่อยมลพิษทางอากาศออกมาทั้งนั้น ทางแก้ไขในเรื่องนี้คงจะมิใช่จัดหาพลังงานเพิ่มขึ้น
เมื่อมีความต้องการเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่จะต้องพิจารณาจัดการด้านผู้ใช้ไฟฟ้าที่จะให้มีการประหยัด
ซึ่งปัจจุบันได้มีการริเริ่มบ้างแล้ว โดยมีการรณรงค์ทางโทรทัศน์และสื่อมวลชนอื่น
ๆ ให้ผู้ใช้เลือกซื้อเครื่องไฟฟ้าที่ประหยัดไฟไม่ว่าหลอดไฟ ตู้เย็น เตารีด ซึ่งถ้าทำได้
มิใช่จะเป็นการลดค่าไฟฟ้าอย่างเดียว แต่จะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ด้วย ตัวเลขแสดงชัดเจนว่า
ความต้องการหลอดไฟฟ้าชนิดประหยัดหรือหลอดผอมมีมากขึ้น ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ.
๒๕๓๕ ๒๕๓๙ ถ้าสามารถชักจูงให้เปลี่ยนหลอดไฟกันทั้งประเทศ และเปลี่ยนบัลลาสต์เป็นชนิดประหยัด
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ประมาณว่าจะสามารถประหยัดไฟฟ้าได้ถึง 348 เมกะวัตต์ ต้นทุนผลิตไฟฟ้าโดยเฉลี่ย
๒๕ ล้านบาทต่อ ๑ เมกะวัตต์ เท่ากับจะประหยัดเงินได้ถึง 8,700 ล้านบาท ลดการสร้างโรงงานไฟฟ้าไปหนึ่งโรง
รวมทั้งลดมลพิษที่จะต้องระบายออกเป็นจำนวนมาก และยังจะประหยัดค่าไฟฟ้าในบ้านอีกด้วย ความรับผิดชอบร่วมกัน การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทุกฝ่ายต้องมีความรับผิดชอบ
ต้องร่วมมือกัน มิใช่เกี่ยงกันว่าเป็นหน้าที่ของรัฐเพราะเก็บภาษีไปแล้ว หรือโยนความรับผิดชอบให้กับประชาชน
เพราะขยะและน้ำเสียส่วนใหญ่มาจากบ้านเรือน หรือกล่าวหาว่า โรงงานจะต้องรับผิดชอบ
เพราะปล่อยน้ำเสียมากและยังได้กำไรจากการผลิตอยู่แล้ว ถ้าเกี่ยงกันอย่างนี้ก็ยากที่จะแก้ได้ การที่จะร่วมมือจะต้องเข้าใจปัญหา
ต้องมีจิตสำนึก ต้องมีความรับผิดชอบ ตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นต่อไปนี้มีทั้งตัวอย่างที่ร่วมกันรับผิดชอบและประสบความสำเร็จ
และตัวอย่างที่น่าจะประสบความสำเร็จถ้าทำความเข้าใจกันให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันตั้งแต่ต้น ตัวอย่างแรกเป็นเรื่องการใช้น้ำมันไร้สารเพื่อลดปริมาณสารตะกั่ว
ซึ่งใช้เติมน้ำมันเบนซินเพื่อเพิ่มค่าออกเทนให้สูงขึ้น สารตะกั่วจะออกมาบนท้องถนนพร้อมกับไอเสียรถยนต์
เมื่อสูดเข้าไปจะมีผลต่อสมองและระบบประสาทโดยเฉพาะสำหรับเด็ก ถ้าได้รับไปมากจะทำให้มีพฤติกรรมผิดปกติ
ความจำเสื่อม รัฐบาลจึงเริ่มจำหน่ายน้ำมันไร้สารตะกั่ว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๔
จนถึงปัจจุบันโดยได้รับความร่วมมือจากผู้ใช้รถเพิ่มขึ้น ตัวเลขเมื่อสิ้นมีนาคมปีนี้
มีผู้ใช้รถใช้เบนซินไร้สารตะกั่ว ประมาณร้อยละ ๖๗ ของน้ำมันเบนซินที่ใช้ทั้งหมด การยอมรับของผู้ใช้รถทั้งในเรื่องน้ำมันไร้สารและการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องแปรสภาพไอเสีย
ทำให้ปริมาณสารตะกั่วในอากาศในกรุงเทพฯ ที่วัดได้ในปี ๒๕๓๗ ลดลงจากปี ๒๕๓๓ ถึงร้อยละ
๗๑ ทำให้ระดับตะกั่วในอากาศในกรุงเทพมหานคร ลดต่ำลงอยู่ภายในมาตรฐานมลพิษที่กำหนดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์
เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างในทางตรงกันข้าม เรื่องการระเบิดและย่อยหิน
ซึ่งเรื่องนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้อนุรักษ์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น ๑ เอ และ ๑ บี ทว่าผู้ประกอบการระเบิดและย่อยหินหลายรายได้รับสัมปทานในพื้นที่
๑ บี จึงได้รับอนุญาตให้ดำเนินการถึงวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๓๘ ที่ผ่านมาเท่านั้น ในเรื่องนี้ผู้ประกอบการได้ร่วมมือกันร้องเรียนขอผ่อนผันให้ระเบิดและย่อยหินในเขตสัมปทานต่อ
โดยอ้างว่าลงทุนไปมากแล้ว เลิกไม่ได้เพราะจะขาดทุน ถ้าเลิกจะส่งผลกระทบถึงการก่อสร้าง
ทำให้ขาดวัสดุสำหรับสร้างถนนและเหตุผลอื่น ๆ ซึ่งท้ายสุดรัฐบาลต้องอนุญาตให้ดำเนินการต่ออีกสามเดือน
จะเห็นได้ชัดว่า ถ้าประเทศไทยจะต้องการอนุรักษ์พื้นที่ป่าธรรมชาติไว้ให้ได้ หลักการในการอนุรักษ์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น
๑ ก็ต้องดำเนินการให้ได้ผล ในการนี้หากขาดความร่วมมือ การเสียสละจากผู้ประกอบการ
โดยดูผลประโยชน์ใกล้ตัวเป็นหลักก็จะนำไปสู่การเรียกร้อง การต่อรองสร้างแรงกดดันให้รัฐยอมผ่อนปรนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ทำให้ประเทศต้องสูญเสียพื้นที่ป่าต่อไป การที่จะฟื้นฟูสภาพพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น ๑ บี
ให้กลับมีสภาพป่าดังเดิม ก็เป็นไปไม่ได้ การประชุมประจำปีของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย การประชุมประจำปีของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยในวันนี้
จะเสนอผลการศึกษาในสองเรื่องใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผมกล่าวมาแล้วทั้งหมด เรื่องแรก
เป็นเรื่องของการผลิตไฟฟ้า ปัจจุบันความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี
ปัญหาในการจัดหาไฟฟ้าเพิ่ม มิใช่เป็นปัญหาของการลงทุนผลิตกระแสไฟฟ้า เพราะผลิตแล้วขายได้
แต่ถ้าต้องขยายการผลิตทุกปีปัญหาก็จะตามมา เช่น จะผลิตที่ไหน ใช้เชื้อเพลิงอะไร มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน
ใครจะเป็นผู้ผลิตทางด้านผู้ใช้ไฟฟ้า ก็ต้องสร้างจิตสำนึกให้ประหยัดไฟฟ้า เพราะจะทำให้ปริมาณการใช้ลดลง
แต่ก็ลดได้ระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการไฟฟ้าจะสูงขึ้นต่อไป
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ จึงมีนโยบายให้เอกชนหรือผู้ผลิตอิสระเข้ามาผลิต แล้วการไฟฟ้าฝ่ายผลิตรับซื้อต่อ
ในการนี้รัฐบาลก็ต้องดูแลติดตามให้บริษัทเอกชน รับผิดชอบเกี่ยวกับระดับมลพิษที่ปล่อยออกมา
การศึกษาที่จะเสนอต่อที่ประชุมในวันนี้ จะชี้ทางเลือกว่า ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันก็จะสามารถกำหนดแผนการจัดการไฟฟ้าในอนาคตให้มีประสิทธิภาพ
โดยมีต้นทุนต่ำและมีผลต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดได้ เรื่องที่สอง เป็นเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
ตั้งแต่ในระดับหมู่บ้าน ตำบล เทศบาล สุขาภิบาล ซึ่งสอดรับกับนโยบายกระจายอำนาจการจัดการสิ่งแวดล้อมสู่ระดับจังหวัด
ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ต้องการให้โอกาสคนในพื้นที่จัดการกันเอง
เพราะเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรง ประเด็นอยู่ที่ว่าประชาชนจะมีส่วนเข้าร่วม จัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร
โดยประชาชนเจ้าของพื้นที่เป็นผู้นำ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ตาม ต้องพึ่งพิงอาศัยความสนใจของผู้บริหาร
เช่นผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหลักดังเช่นทุกวันนี้ การศึกษาเรื่องนี้จะชี้ให้เห็นว่าการให้ชุมชนจัดการเอง
ควรจะทำอย่างไรจึงจะแน่ใจว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับ ส่วนรวม การกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ภูมิภาค
จะทำให้สิ่งแวดล้อมในต่างจังหวัดดีขึ้นจริงหรือไม่ สิ่งที่อยากเห็น ผมเคยแสดงความคิดเห็นไว้หลายครั้งในเรื่องแนวปฎิบัติในการจัดการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
ในฤดูหาเสียงตลอด ๒ เดือนที่ผ่านมา ท่านที่สนใจติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมือง จะได้ยิน
ได้ฟังว่า ทุกพรรคล้วนเน้นนโยบายที่จะฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาความยากจนในชนบทด้วยกันทั้งนั้น
ผมเชื่อว่าถ้าต้องการพัฒนาสิ่งแวดล้อม จะต้องแก้ที่ปัญหาพื้นฐาน ในวันนี้ ผมขอเน้นอยู่
๔ เรื่องด้วยกัน ๔ เรื่องที่ผมอยากเห็นให้เกิดขึ้นในประเทศไทยของเรา สิ่งที่อยากเห็นเรื่องแรก อยากให้ทุกคนตระหนักและเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ให้เข้าใจว่าไม่ว่า จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างไรก็ตาม จะต้องมีต้นทุน ต้องมีค่าใช้จ่าย หลักการ
ใครทิ้ง - ใครจ่าย ซึ่งเป็นทั้งหลักการพื้นฐานในพระราชบัญญัติ ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ฉบับที่เจ็ด ฉบับปัจจุบัน ในทางปฏิบัติยังไม่มีการนำมาใช้ ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องยอมรับและช่วยรับภาระในการปฏิบัติตามหลักการนี้
เช่น ยอมเสียค่าธรรมเนียมน้ำทิ้งในเขตกรุงเทพมหานคร.และในเมืองใหญ่ ๆ ทั้งนี้ให้เก็บในอัตรา
ก้าวหน้า บ้านไหนใช้น้ำมาก ต้องเสียค่าน้ำทิ้งในอัตราที่สูงกว่าบ้านที่ใช้น้ำน้อย
ผมได้กล่าวแล้วว่า การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมใช้เวลานานมีค่าใช้จ่ายนับแสนล้าน ดังนั้นหากทุกคนร่วมมือกันรับภาระด้านการเงิน
ประเทศไทยก็จะระดมทุนได้เร็วขึ้น เพื่อที่จะฟื้นฟูให้สิ่งแวดล้อมของเรามีคุณภาพทัดเทียม
ไม่น้อยหน้าประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สิงคโปร์ หรือ ญี่ปุ่น สิ่งที่อยากเห็นเรื่องที่สอง ผมอยากให้ธุรกิจเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมากขึ้นหลายคนคงเคยได้ยินว่าองค์การมาตรฐานระหว่างประเทศ
(ISO) ได้กำหนดมาตรฐานเรียกเป็นหมายเลข ที่รู้จักกันมากคือมาตรฐานระบบการบริหารคุณภาพของโรงงาน
(ISO 9000) ซึ่งมีการยอมรับกันในทุกประเทศที่มีการส่งออก ในประเทศไทยมีโรงงานที่ได้รับมาตรฐานนี้ประมาณ
๑๐๐ ราย ขณะที่เราเพิ่งเริ่มได้ยิน ISO 9000 สังคมโลกในขณะนี้กำลังกำหนดมาตรฐานใหม่
ซึ่งเน้นเฉพาะสิ่งแวดล้อมคือ ISO 14000 ซึ่งจะกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงงาน
ตั้งแต่นโยบายของบริษัทการวางแผนการดำเนินงาน การตรวจสอบ และการแก้ไขด้านสิ่งแวดล้อม ธุรกิจไทยจะต้องตื่นตัวก้าวให้ทันโลก
พร้อมที่จะกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมของบริษัทของตัวเอง โดยไม่ต้องรอให้มีแรงกดดันจากรัฐหรือจากภายนอกประเทศ
บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ๓๔๕ บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทมหาชน ควรทำตนให้เป็นตัวอย่าง
เริ่มทำรายงานสิ่งแวดล้อมประจำปีของบริษัท เพื่อเสนอต่อผู้ถือหุ้นและเผยแพร่ให้สาธารณชนได้ทราบ
การลงทุนลดมลพิษไม่ว่าทางน้ำหรือทางอากาศ หรือในเรื่องกากสารพิษ โรงงานสามารถกำหนดเป้าหมายการลดมลพิษได้เอง
โดยไม่ต้องรอให้รัฐออกมาตรฐานบังคับ ธุรกิจควรเน้นการร่วมมือกับรัฐ ในการลดมลพิษมากกว่าการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพพจน์ของบริษัทเป็นหลัก สิ่งที่อยากเห็นเรื่องที่สาม ผมอยากเห็นการกระจายอำนาจในการจัดการสิ่งแวดล้อมจากส่วนกลางไปสู่ภูมิภาคและสู่ท้องถิ่นในที่สุด
ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง กระจายอำนาจในที่นี้มิได้หมายความว่า
เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลแล้วก็สามารถกระจายอำนาจได้
ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ส่วนกลางยังเป็นผู้กำหนดแทบทุกเรื่อง รวมถึงการใช้ที่ดิน การวางผังเมือง
การอนุญาตให้ตั้งโรงงาน ในขณะที่ท้องถิ่น ในระดับตำบลและหมู่บ้านถูกละเลยไม่มีอำนาจในการร่วมตัดสินใจ การกระตุ้นให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อม
สามารถกระตุ้นให้เกิดขึ้นได้ โดยการเผยแพร่ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม อันที่จริงสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน
ถือได้ว่าเป็นเจตนารมณ์พื้นฐานของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. ๒๕๓๕ ดังนั้นรัฐและธุรกิจควรถือเป็นหน้าที่ ที่จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการพัฒนาต่าง
ๆ ให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจตั้งแต่เริ่มขบวนการตัดสินใจในการเลือกพื้นที่ ประสบการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่ผ่านมา
ล้วนบ่งชัดว่า การปิดบังซ่อนเร้นข้อมูล จะทำให้กลุ่มมวลชนต่าง ๆ เกิดความระแวง ซึ่งทำให้ขบวนการตัดสินใจต้องล่าช้าออกไป
ดังนั้นการเปิดเผยข้อมูล จึงเป็นหนทางเดียวที่สังคมขนาดใหญ่ของประเทศไทย ที่มีพลเมืองมากเป็นอันดับที่
๑๗ ของโลก พึงยอมรับเพื่อให้การจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศ เดินไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สิ่งที่อยากเห็นเรื่องที่สี่
ผมอยากให้เข้าใจว่าสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงแต่จะหมายถึงสิ่งต่าง
ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติเท่านั้นแต่ยังรวมถึงสิ่งที่มนุษย์สร้างหรือกำหนดขึ้นด้วย
ผลการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ทำให้เรามีศิลปกรรมเป็นสมบัติที่แสดงความลึกซึ้งในศิลปะ
แสดงความเฉียบแหลมของปัญญา และสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่สั่งสมกันมาของชุมชนหรือประเทศนั้น
ๆ คุณค่าที่ปรากฏในความงามของศิลปกรรม เรียกได้ว่าทัดเทียมกับความงามที่เราพบจากธรรมชาติ ประเทศไทยมีอุทยานทางประวัติศาสตร์
มรดกทางวัฒนธรรมและศิลปกรรมจากยุคสมัยต่าง ๆ ในอดีตอยู่มากมายไม่น้อยหน้าใคร สมบัติเหล่านี้ควรได้รับการทนุถนอม
ดูแล ให้ความสำคัญ เพราะผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงนั้นไม่ใช่เพียงแค่พวกเราทั้งหมดในปัจจุบัน
แต่ยังรวมถึงคนรุ่นก่อนหน้าเรา และคนรุ่นต่อ ๆ ไปในอนาคตอีกด้วย ความตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน
จะต้องไม่จำกัดเฉพาะสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ต้องไม่หยุดอยู่เฉพาะการเห็นความสำคัญของน้ำ
ของป่า ของอากาศ สิ่งแวดล้อมที่มาจากธรรมชาติเหล่านี้เปรียบเหมือนกาย คือเป็นครึ่งหนึ่งของชีวิต
เราจะต้องไม่มองข้ามความสำคัญของจิตใจ คือศิลป วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์เป็นผู้สร้าง
ให้มาประกอบกันเข้าจึงจะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ สรุป สิ่งแวดล้อมไม่ใช่เป็นแฟชั่น
แต่เป็นปัญหาของชาติ ที่เราต้องร่วมมือแก้ไข ทั้งในทศวรรษนี้และทศวรรษต่อ ๆ ไป แต่ผมเชื่อในพลังของสังคมไทย
เชื่อว่าประเทศไทยอยู่ในฐานะที่จะฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศให้ดีขึ้นได้ถ้าคนในสังคม
รัฐ ธุรกิจ และประชาชนร่วมมือกัน วันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ผู้มีใจรักสิ่งแวดล้อมมารวมตัวกัน
ณ ที่นี่เพื่อที่จะร่วมกันเป็นพลังผลักดันให้การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทย เดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง
เพื่อประโยชน์ของเราทุกคน |