รวมปาฐกถาภาษาไทย

ปาฐกถาพิเศษ
เรื่อง แก้วิกฤตสิ่งแวดล้อม – แปรแนวคิดสู่การปฏิบัติ
โดย นายอานันท์ ปันยารชุน
ประธานสภาสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
ในงานประชุมประจำปี ๒๕๓๗
ของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๓๗

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ

เป็นที่น่ายินดีสำหรับประเทศไทยที่ว่า ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน เศรษฐกิจบ้านเรากลับเจริญรุดหน้าอยู่ในขั้นที่น่าพึงพอใจ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้คาดการณ์ไว้ว่า เศรษฐกิจปีนี้จะเติบโตถึง ๘.๒ เปอร์เซ็นต์ ทีเดียว โดยรวมแล้วคงพูดได้ว่าภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมกำลังก้าวหน้าไปด้วยดี ทั้ง ๆ ที่การเมืองของเราดำเนินไปโดยไม่ค่อยจะราบเรียบนักอย่างที่เราทราบกันดีอยู่ ซึ่งถ้าว่ากันไปแล้วก็อาจจะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับการเมืองในระบบรัฐสภาที่มีรัฐบาลผสมก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ เป็นระยะที่เราพยายามช่วยกันเสริมสร้างให้ประชาธิปไตยของเราเข้มแข็งขึ้น ก็เลยอาจจะทำให้สถานการณ์ดูสับสน แต่ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะต้องวิตกมากมาย

อย่างไรก็ดีผมว่าเราโชคดีที่มีภาคธุรกิจที่เข้มแข็ง มีนักธุรกิจที่มีความสามารถและประสบการณ์สูงสามารถผลักดันโครงการต่าง ๆ ให้ประสบผลสำเร็จ แม้ว่าจะต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายเพียงไรก็ตาม

แต่เราก็ทราบกันดีว่าบนโลกนี้ไม่มีของฟรี ทุกสิ่งทุกอย่างมีราคาค่างวด ได้มาอย่างก็ต้องเสียอีกอย่างตามกฎธรรมชาติ ความเจริญทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมก็เช่นเดียวกัน เราจ่ายราคาด้วยความร่อยหรอของทรัพยากรธรรมชาติ และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม คำถามก็คือว่าคุ้มกันหรือไม่? เป็นสิ่งที่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ถามมาโดยตลอด แต่เป็นประเด็นที่เพิ่งเริ่มได้รับความสนใจจากประชาชนกลุ่มอื่น ๆ รวมทั้งนักธุรกิจในขณะนี้

ในอดีตเราใช้ทรัพยากรธรรมชาติราวกับว่าได้มาเปล่า ๆ เป็นวัตถุดิบที่ไม่มีต้นทุน นอกจากค่าใช้จ่ายในการนำมาใช้ เมื่อใช้เสร็จแล้ว เราก็ทิ้งกากเสียไป ไม่นำพาว่าจะทำอะไรกับน้ำกับดินหรือกับอากาศของเรา โดยเข้าใจไปว่าการรักษาสิ่งแวดล้อมมีแต่จะเพิ่มรายจ่าย แต่ไม่มีกำไรให้เห็น เวลานี้เราเริ่มจะรู้แล้วว่าเป็นความคิดที่ผิด ทรัพยากรธรรมชาติไม่ใช่ของฟรี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าร่อยหรอ เสื่อมโทรม หรือหายาก อย่างเช่น น้ำสะอาด เป็นต้น ประเทศไทยเคยเป็นที่รู้จักกันว่ามีน้ำท่าบริบูรณ์ ที่ไหนมีน้ำที่นั่นมีปลา แล้วเราไม่เคยขาดแคลนปลา

ดูอย่างแม่น้ำเจ้าพระยาเอง เมื่อ ๑๐ - ๒๐ ปีก่อน ยังมีปลามีกุ้งมากมาย แต่เดี๋ยวนี้ จะตกปลาสักตัวก็แสนจะยากเย็น เพราะอะไร? เพราะว่าเราเอาแต่ใช้ประโยชน์จากเจ้าพระยา เราใช้ดื่มใช้กินใช้อาบ ใช้ว่าย ใช้ล่องเรือ แต่เราลืมที่จะเอาใจใส่ดูแลรักษา เราถ่ายเราทิ้งขยะ เราระบายน้ำเสียและกากเสียต่าง ๆ ลงไปในแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ของเราเอง แล้วเวลานี้เป็นอย่างไร? เวลานี้คุณภาพของน้ำในเจ้าพระยาตั้งแต่นนทบุรีลงไปถึงปากแม่น้ำอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐานไม่สามารถนำมาใช้ได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงสะพานกรุงเทพถึงคลองเตย น้ำจะเน่าเหม็นในหน้าแล้ง

เคยมีการวัดคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามาแล้วหลายครั้ง ผลการวัดต่างพยากรณ์ในทำนองเดียวกันว่า ถ้าหากเราไม่ทำอะไรจริง ๆ จัง ๆ เพื่อแก้ไขแล้ว ในอีกไม่ช้าไม่นาน เจ้าพระยาช่วงล่างนี้ก็จะเน่าจนกระทั่งสัตว์น้ำอยู่ต่อไปไม่ได้ แล้วสายน้ำที่เคยเรียกกันว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ ก็จะไม่ต่างไปจากคลองในกรุงเทพฯ ที่เป็นเพียงท่อระบายน้ำขนาดใหญ่เท่านั้นเอง

แม่น้ำสายต่างๆ ทั่วประเทศเวลานี้ ก็กำลังจะตกอยู่ในสภาพเดียวกับเจ้าพระยา เวลานี้บ้านเมืองเรากลายเป็นดินแดนที่น้ำดีน้ำสะอาดเป็นของหายาก นั่นไม่ใช่เพราะเราขาดสำนึกและสายตาที่มองไกลหรือ? ที่คิดแต่จะสร้างความกินดีอยู่ดีทางวัตถุ แต่ละเลยธรรมชาติ จนกระทั่งกลายเป็นการทำลายทรัพยากรที่ทรงคุณค่าเช่นนี้

ทรัพยากรธรรมชาติไม่ใช่ของฟรี ไม่ใช่สิ่งที่เราจะหยิบฉวยมาใช้แล้วทิ้งขว้างไป โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาและธรรมชาติไม่ใช่วิวสวยที่มองเพียงผ่านตา แต่จะต้องดูแลรักษา เราจะละเลยเสียมิได้ เราควรต้องตระหนักในข้อนี้ถ้าเราต้องการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และถ้าเรายังต้องการเห็นเศรษฐกิจก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน

ยังดีที่เราเริ่มจะเข้าใจแล้วว่า การมีสิ่งแวดล้อมที่ดีจะเป็นกำไรที่เราเก็บเกี่ยวได้ในระยะยาว ชาวประมงจับปลาได้เพิ่มขึ้น ถ้ามีการอนุรักษ์ป่าชายเลน หญ้าทะเล และแนวปะการัง ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลของสัตว์ทะเล และป้องกันชายฝั่งจากความรุนแรงของคลื่นลม เราเริ่มเข้าใจแล้วว่า ถ้าเรามีระบบป่าไม้ที่ดี มีป่าผืนใหญ่เพียงพอและสมบูรณ์ เราก็จะมีพืชพันธุ์นานาชนิดที่เป็นอาหาร หรือนำมาสกัดเป็นยารักษาโรคภัยนานาประการได้

เวลานี้ เรามีงานที่ต้องทำอีกมาก ในการฟื้นฟูคุณภาพของป่าไม้ ดิน น้ำ และอากาศ ความเสียหายต่อทรัพยากรเหล่านี้ได้กลายเป็นปัญหาที่กระทบต่อเศรษฐกิจและต่อความเป็นอยู่ของเราทุกคน

ที่ผ่านมา เราหวังพึ่งให้รัฐบาลแก้ปัญหาเหล่านี้เพราะเชื่อว่าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐบาลโดยตรงซึ่งก็จริงอยู่ แต่จริงไม่ทั้งหมด รัฐบาลแม้จะมีหน้าที่แก้ไขปัญหาที่กระทบต่อประชาชนจำนวนมาก แต่รัฐบาลไม่ใช่เป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมโดยตรง บางหน่วยอาจจะทำบ้าง แต่โดยรวมแล้วไม่ใช่ ผมคิดว่าผมคงไม่ต้องบอกว่า ผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมจริงๆ นั้นคือใครบ้างเพราะถ้าท่านทั้งหลายในที่นี้จะหันมองรอบตัว รวมทั้งตัวท่านเองแล้วท่านก็จะได้คำตอบอันนั้น

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ถ้าเราจะพิจารณาอย่างเป็นธรรมแล้ว เราจะพบว่า ขบวนการผลิตสินค้านั้นใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสุรุ่ยสุร่าย และก่อให้เกิดกากเสียมากมาย อันเป็นสาเหตุของสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม การบริโภคก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ในเมื่อเราทุกคนเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต จะโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม เราต่างก็มีส่วนในการสร้างมลพิษทั้งสิ้นความแตกต่างอยู่ที่ชนิด ปริมาณ และความเป็นพิษของมลพิษที่แต่ละคนก่อขึ้น ยกตัวอย่างเช่น พวกเราที่อาศัยอยู่ในกรุงอาจจะใช้น้ำคนละ ๓๐๐ - ๔๐๐ ลิตรต่อวัน แต่คนในชนบทใช้เพียงประมาณ ๕๐ ลิตรเท่านั้นหรืออย่างเช่นน้ำเสียที่ระบายจากบ้านเรือนกับน้ำเสียที่ระบายจากโรงงานต่างก็สร้างมลพิษ แต่ก็มีสารปนเปื้อนที่ต่างกัน เป็นต้น

ในเมื่อเราเป็นผู้ก่อ ก็สมควรและยุติธรรมที่เราจะต้องเป็นผู้แก้ปัญหาด้วย ไม่ว่าท่านจะมาจากหน่วยงานราชการหรือธุรกิจเอกชน หรือองค์กรพัฒนาเอกชน ไม่ว่าท่านจะเป็นนักวิชาการ นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ หรือเป็นชาวบ้านธรรมดา ท่านมีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรง ในการรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบนโลกใบเล็กใบนี้ของเรา ผมเชื่อว่าเป็นความชอบธรรมถ้าหากเราต้องยอมรับกฎเกณฑ์บางอย่างที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม แม้จะทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นก็ตาม แน่นอนครับว่าจะต้องมีเงื่อนไขว่า กฎเกณฑ์เหล่านั้นต้องเป็นธรรมต่อชนทุกกลุ่ม

กฎเกณฑ์ดังที่ว่านี้ ได้มีการศึกษามาแล้ว และน่าจะมีการนำมาใช้ในวงกว้าง เพราะเกี่ยวพันกับความชอบธรรมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กฎเกณฑ์นี้ยืนอยู่บนหลักการที่เรียกว่า Polluter Pays Principle เรียกเป็นภาษาไทยได้ว่า ใครทิ้ง-ใครจ่าย เป็นหลักการที่ง่ายและมีเหตุผลที่ยอมรับกันได้

เวลานี้ระบบธรรมชาติ ถ้าเปรียบเป็นคน ก็เป็นคนที่กำลังป่วยไข้ค่อนข้างแสนสาหัส ต้องเยียวยารักษาเป็นการใหญ่ ซึ่งเราก็ได้ทำอยู่บ้างเพียงแต่ว่าเท่าที่ผ่านมา รัฐบาลต้องรับภาระค่ารักษาพยาบาลซึ่งก็ใช้เงินภาษีของเราทุกคนนั่นเอง คำถามมีอยู่ว่าควรอยู่หรือที่พลเมืองทั้งประเทศต้องเป็นผู้รับภาระในอัตราที่เท่าเทียมกัน ทั้ง ๆ ที่เราก่อมลพิษไม่เท่ากัน? ไม่เป็นธรรมกว่าหรือถ้าเราจะรับผิดชอบในส่วนของเราเอง? ใครก่อมลพิษมากก็ควรจะจ่ายมาก ใครก่อน้อยก็จ่ายน้อย ลดหลั่นกันไป

ตามหลักการแล้วก็ควรเป็นเช่นนั้น หากแต่ว่าในทางปฏิบัติจริง ๆ คงจะไม่ง่ายอย่างนั้น ทั้งนี้เนื่องจากสังคมของเรามีความสลับซับซ้อนและมีความเหลื่อมล้ำมากโขอยู่ มีทั้งคนจนและคนรวย มีคนรวยมากและคนรวยน้อย มีคนจนมากและคนที่จนไม่มากนัก ฉะนั้นแล้วบางครั้งเราก็จะใช้หลักการอย่างตรงไปตรงมาจนเกินไปไม่ได้ จำเป็นที่จะต้องพิจารณาตัวแปรหลาย ๆ อย่าง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมที่แท้จริงในสังคม

การใช้หลักการ ใครทิ้ง-ใครจ่าย ซึ่งรวมถึงการเก็บ “ค่าธรรมเนียมมลพิษ” ก็เช่นเดียวกัน เราจำเป็นต้องพิจารณาถึง ความสามารถของแต่ละบุคคลในการจ่าย นั่นหมายความว่า ผู้ที่สร้างมลพิษมากและมีความสามารถในการจ่ายสูง ก็ควรจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมมลพิษในอัตราที่สูง ในขณะเดียวกัน ผู้ที่สร้างมลพิษน้อยและมีความสามารถในการจ่ายน้อย ก็ควรได้รับการอนุโลมให้จ่ายในอัตราที่ต่ำ หรืออาจจะได้รับการยกเว้นไปเลย อันนี้ก็เป็นการใช้แนวคิดที่เรียกว่า “อัตราก้าวหน้า” ซึ่งไม่ใช่แนวคิดใหม่แต่อย่างไร แต่ก็น่าจะใช้การได้ดีอยู่ ในรายละเอียดนั้น ก็เป็นเรื่องที่หลาย ๆ ฝ่ายจะต้องร่วมกันพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้ได้มาตรการที่สร้างความชอบธรรมนี้

ผมคิดว่าถ้าหากเราต้องจ่ายค่าบำบัดมลพิษที่เราก่อขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ทำไมเราไม่หาทางที่ดีกว่านี้ ที่จะทำให้เราต้องจ่ายค่ามลพิษน้อยที่สุด ซึ่งเป็นการป้องกันที่ต้นเหตุและจะเป็นการลดต้นทุนการผลิตของเรา

เวลานี้มีการพูดกันมากถึงแนวคิดที่เรียกว่า re-engineering หรือการยกเครื่ององค์กร จุดประสงค์ก็เพื่อปรับรูปแบบและระบบองค์กร ให้การบริหารงานเป็นไปโดยคล่องตัว และตัดรายจ่ายให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อคงความสามารถหรือปรับปรุงความสามารถ ในการแข่งขันทางธุรกิจ แนวคิดเดียวกันนี้ สามารถนำมาปรับใช้ได้ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีคนเริ่มคิดเริ่มทำกันแล้ว

บางท่านอาจจะคุ้นเคยอยู่แล้ว กับแนวคิดเรื่องการจัดระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า Environmental Management Systems หรือ EMS แนวคิดนี้มีความคล้ายคลึงกับ re-engineering ในส่วนที่ว่าต้องมีการตรวจสอบทั้งองค์กรอย่างเป็นระบบแล้ว ก็จัดระบบขึ้นมาใหม่โดยมีคณะทำงานชุดต่าง ๆ ที่จะคอยดูแลให้ระบบจัดการสิ่งแวดล้อมนี้ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอและตรงตามมาตรฐานที่กำหนดไว้

การจัดระบบให้มีประสิทธิภาพต้องมีองค์ประกอบหลายประการด้วยกัน จะต้องมีนโยบายและเป้าหมายที่ชัดเจน มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง มีการประเมินผลภายใน และมีการตรวจสอบโดยบุคคลหรือองค์กรกลางเป็นระยะ ๆ แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กรไม่มีความตั้งใจที่แน่วแน่

เป้าหมายหนึ่งของระบบ EMS อยู่ที่การศึกษาขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ ภายในองค์กร เพื่อหาแนวทางที่จะลดมลพิษและลดส่วนเกินหรือของเสียให้มากที่สุด ซึ่งถ้าทำเช่นนั้นได้ก็จะนำไปสู่การประหยัดในหลายๆด้านด้วยกันประหยัดในเรื่องของการใช้วัตถุดิบและพลังงานน้อยลง ประหยัดในเรื่องการก่อกากเสียชนิดต่างๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการลดค่ามลพิษให้น้อยลงด้วย

ระบบนี้เดินตามแนวทางของระบบการจัดการคุณภาพ หรือมาตรฐานสากลที่เรียกว่า ISO 9000 ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินค้าหรือบริการ มีคุณภาพตรงตามความต้องการอย่างสม่ำเสมอ

โดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมส่งออกแล้ว ระบบ EMS เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เวลานี้มีแนวโน้มในการใช้เงื่อนไขของสิ่งแวดล้อมในการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกับการใช้ ISO 9000 แต่อาจจะเข้มงวดมากกว่าถ้าประเทศผู้นำเข้ามีจิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อมสูง นักธุรกิจและนักอุตสาหกรรมควรจะติดตามโดยใกล้ชิด เพราะว่าการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพนั้น นอกจากจะช่วยลดต้นทุนแล้ว ยังเป็นการสร้างภาพพจน์ที่ดีและเปิดโอกาสทางตลาดใหม่ ๆ ได้อีกด้วย

เมื่อพูดถึงเรื่องโอกาสทางการค้าแล้ว ก็ทำให้ต้องพูดถึงอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เราเสียโอกาสและเสียประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากมาย และเป็นเรื่องหนึ่งที่คนกรุงเทพต้องทนทุกข์ทรมานมานาน จนมีการเรียกร้องให้ยกเครื่องกันเสียที ผมไม่ได้หมายถึงระบบราชการซึ่งเป็นเรื่องที่คงจะคุยกันในวันเดียวไม่จบ ผมหมายถึงเรื่องการสัญจรในกรุงเทพฯ ซึ่งผมมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการประชุมวิกฤตสัญจร เมื่อต้นปีนี้เอง

เรื่องความเสียหายทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากจราจรติดขัดนั้นทางคณะกรรมการจัดระบบจราจรทางบกได้ประเมินไว้ว่า ใน แต่ละปี เราต้องสูญเงินประมาณ ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท จากการเผาผลาญเชื้อเพลิงอย่างสิ้นเปลืองและการเสียเวลาไปบนท้องถนน นอกจากนี้ เราต้องสูญเสียโอกาสอื่น ๆ รวมทั้งการลงทุนจากต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าอีกประมาณ ๒๐,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี นี่ยังไม่ได้รวมถึงความเสียหายต่อภาพพจน์ของประเทศ ซึ่งประเมินเป็นตัวเงินไม่ได้ ในฐานะที่กรุงเทพฯ เป็นนครหลวงที่มีระบบจราจรที่สับสนวุ่นวายและมีมลพิษทางอากาศมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ น่าจะเป็นอุทาหรณ์อย่างดีแก่เราในเรื่องการวางแผนพัฒนาเมือง เพราะเป็นผลกระทบที่เห็นเด่นชัดที่สุดของการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ที่ขาดการวางแผนรองรับทางโครงสร้างและวิถีชีวิตประชาชน เวลานี้หลายจังหวัดกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วและเริ่มประสบปัญหาจราจร ดังนั้นการแก้ไขปัญหานี้จึงมีความสำคัญ ในการสร้างบทเรียนและแบบอย่างที่เมืองอื่นจะนำไปใช้ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยความผิดพลาดที่ได้เกิดขึ้นที่นี่

ในเรื่องปัญหาโครงสร้าง มีการพูดกันมากแล้วในหลาย ๆ เวที เป็นปัญหาซึ่งประกอบด้วยหลายสาเหตุด้วยกัน เป็นต้นว่า ถนนไม่พอกับจำนวนรถ การพัฒนาและการเติบโตของเมืองที่เป็นไปอย่างสะเปะสะปะไร้ทิศทาง การมีผังเมืองที่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ การไม่มีระบบโครงข่ายถนนที่ดี การมีระบบขนส่งมวลชนที่ไม่สามารถสนองความต้องการของประชาชน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้คนหันไปพึ่งรถยนต์ส่วนตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ

การประชุมวิกฤตสัญจรเมื่อต้นปีก็มีการพิจารณาถึงเรื่องเหล่านี้ และได้รับข้อคิดเห็นและเสนอแนะที่เป็นประโยชน์มากมายแต่ประเด็นหนึ่งที่สำคัญอย่างมากไม่ได้รับการพิจารณามากเท่าที่ควรนั่นคือผลกระทบของมลพิษทางอากาศอันเนื่องจากจราจรวิกฤต

เรื่องอากาศเป็นพิษกำลังจะเป็นปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงและส่งผลกระทบต่อสังคมมากขึ้นเรื่อย เมื่อไม่นานมานี้ท่านอาจจะได้อ่านข่าวเกี่ยวกับตำรวจจราจรที่ต้องล้มป่วยลง จนต้องออกจากราชการไป อันเป็นผลโดยตรงของการที่ต้องยืนโบกรถกลางถนนทั้งวัน ผมมีตัวเลขเกี่ยวกับสุขภาพของตำรวจจราจร ซึ่งทำให้เห็นภาพว่าตำรวจจราจรของเราต้องทำงานที่เสี่ยงต่อสุขภาพเพียงไร

ในการตรวจสุขภาพตำรวจจราจรทั่วกรุงเทพฯ เมื่อปี ๒๕๓๓ พบว่า จากจำนวนผู้เข้ารับการตรวจ ๑,๗๔๒ คน เกือบครึ่ง คือ ๗๐๔ คน หรือ ๔๐.๔๑ เปอร์เซ็นต์ มีอาการผิดปกติ โรคที่พบเป็นโรคเกี่ยวกับปอด ตาเป็นต้อ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โพรงจมูกอักเสบ ภูมิแพ้ โรคหัวใจ โรคโลหิตจางและข้น และความผิดปกติของหู

สองปีต่อมา คือปี ๒๕๓๕ มีผู้เข้ารับการตรวจ ๑,๗๕๑ คน จำนวนผู้มีสุขภาพผิดปกติเพิ่มขึ้นเป็น ๔๓.๖๓ เปอร์เซ็นต์ หรือเท่ากับ ๗๖๔ คน ที่น่าเป็นห่วงคือว่า หลายคนเป็นมากกว่าหนึ่งโรค

สถิตินี้ทำให้ต้องวิตกแทนผู้มีอาชีพนี้เป็นอย่างยิ่ง ผมคิดว่าเราควรต้องมีมาตรการที่จะให้ความมั่นคงทางสุขภาพและชีวิตแก่คนเหล่านี้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

มีรายงานแพทย์เพิ่มมาว่า คนใช้ถนนทั่วไปก็ประสบโรคภัยเหล่านี้ในอัตราที่สูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะ โรคภูมิแพ้ และอาการปวดหัวและมึนงง

โรคและอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากอากาศเป็นพิษเหล่านี้น่าจะเรียกโดยรวมได้ว่า โรคจราจรเป็นพิษ เนื่องจากมลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นจากพาหนะบนท้องถนนเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่ายังไม่มีการประเมินความเสียหายทางการเงินที่เกิดจากความเจ็บไข้เหล่านี้ แต่ก็แน่ใจได้ว่าคงจะเป็นจำนวนมาก เพราะนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาแล้ว ยังมีความเสียหายที่เกิดขึ้นในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำงานต่อไปหรือเลี้ยงครอบครัวได้ และต้องอยู่กับอาการป่วยไข้ตลอดไป ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับตำรวจจราจรในข่าวเป็นความเสียหายทางด้านสังคม ทางคุณภาพชีวิต และทางจิตใจที่ไม่สามารถจะประเมินค่าได้

นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ปัญหาวิกฤตสัญจรควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

วิธีแก้ไขปัญหาทางโครงสร้างในเรื่องนี้มีผู้เสนอกันมามากแล้ว วันนี้เราก็จะได้ฟังข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรม โดยมองจากผลกระทบของมลพิษทางอากาศเป็นหลัก

ผมเองจะตั้งข้อสังเกตจากอีกมุมมองหนึ่ง คือมุมมองทางด้านวิถีชีวิตที่แปรเปลี่ยนไปเนื่องจากการพัฒนาของเมือง จะเรียกว่ามุมมองทางวัฒนธรรมก็คงได้

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า โดยปกติ คนไทยมีนิสัยโอบอ้อมอารี เผื่อแผ่เพื่อนบ้าน มีน้ำใจต่อกัน และมีความเกรงใจกันอันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของไทย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเราขาดความเข้มแข็งทางระเบียบวินัย

เมื่อเมืองพัฒนาไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งกรุงเทพฯกลายเป็นมหานครที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก วิถีชีวิตในเมืองก็เปลี่ยนไป แต่เราขาดความพร้อมในการรับความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วนี้ นิสัยคนไทยที่เคยมีน้ำใจต่อกันก็เริ่มลดน้อยถอยลง ต่างคนต่างก็จะเอาแต่ใจตัว ความเกรงใจกันหดหายไป ไม่เผื่อแผ่คนอื่นเหมือนที่เคยมา ทำให้เกิดความขัดแย้งด้านอุปนิสัยในตัวเอง แล้วก็กลายเป็นความขัดแย้งในหมู่คนที่ต้องอยู่ร่วมกัน ใช้ถนนร่วมกัน

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่รัฐก็ไร้ระเบียบวินัย ไม่เคร่งครัดในการรักษากฎหมาย และกฎระเบียบที่ถูกกำหนดขึ้น เพื่อเสริมสร้างระเบียบวินัยในสังคม ทำให้สถานการณ์ยิ่งสับสนอลหม่านมากขึ้น

ขณะที่เรากำลังรอการแก้ไขปัญหาจากทางภาครัฐอยู่นี้ผมคิดว่าเราต้องช่วยเหลือกันเองก่อนโดยฝึกฝนให้รู้รักษาระเบียบวินัย เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างไร กลับจะทำให้รู้สึกดีขึ้นต่อคนรอบข้างและต่อตัวเราเองด้วย ในระยะยาวจะช่วยให้สังคมเราพัฒนาไปด้วยความเรียบร้อยและมั่นคง

ในเรื่องนี้ผมคิดว่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองควรมีบทบาทนำ เพราะเป็นผู้รักษากฎหมายและต้องเป็นแบบอย่างให้ประชาชน ถ้าหากเจ้าหน้าที่ไม่รักษากฎระเบียบของสังคมเองแล้ว คงจะเป็นการยากที่จะให้ประชาชนเชื่อฟังและเคารพในกฎระเบียบนั้น

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมต้องการจะพูดถึงในที่นี้ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะเป็นพื้นฐานของงานทุกชิ้นทุกโครงการ นั่นคือข้อมูลข่าวสาร เวลานี้เราอยู่ในช่วงเวลาของโลกที่เรียกว่ายุคแห่งข้อมูลข่าวสาร เพราะฉะนั้นความสำคัญของข้อมูลเป็นอย่างไรนั้น คงไม่ต้องย้ำมาก นักบริหารที่ดีไม่ว่าจะอยู่ภาครัฐหรือเอกชนตระหนักดีว่า ไม่ว่างานหรือโครงการอะไรก็แล้วแต่ หากปราศจากข้อมูลที่แม่นยำ เชื่อถือได้และเพียงพอแล้ว ก็จะประสบผลสำเร็จได้ยากเพราะขาดพื้นฐานสำคัญในการตัดสินใจ

แต่การจะได้ข้อมูลที่ดีถูกต้องมานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว แม้ว่าจะมีแหล่งข้อมูลมากมายให้เลือก มี technology และมีเครื่องมือ hitech สารพัดชนิดก็ตาม ถ้าหากเราไม่รู้จักวิธีรวบรวมและเลือกสรรข้อมูลที่เหมาะสมตามวัตถุประสงค์ ข้อมูลที่มีอยู่มากมายมหาศาลก็เปรียบเสมือนคลื่นรบกวนในบรรยากาศที่ไม่สามารถจะแปลงเป็นคำพูดได้

ในด้านสิ่งแวดล้อม มีวิทยาการชนิดหนึ่งที่ช่วยในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เรียกว่าสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ Geographic Information System เรียกสั้น ๆ ว่า GIS วิทยาการชนิดนี้เป็นการทำแผนที่ ทำให้เราเห็นสภาพชัดว่า เรามีทรัพยากรอะไรบ้าง อยู่ที่ไหน มากน้อยเพียงไร และเราสามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์หรือไม่อย่างไร

ปัจจุบันมีเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัย ที่ช่วยให้วิทยาการด้านนี้ก้าวหน้าไปเป็นอย่างมาก แต่การมีอุปกรณ์ที่ดีไม่ได้หมายความว่า เราจะได้ข้อมูลที่เราต้องการหรือใช้ประโยชน์ได้เสมอไปหากว่าเราขาดคนที่เข้าใจวิธีใช้ เหมือนกับว่าเรามี computer ที่มีพลังมหาศาลอยู่เครื่องหนึ่ง พร้อมด้วย software ที่ล้ำลึกแต่ขาดคนที่ใช้เป็น ก็เป็นเพียงวัตถุราคาแพงชิ้นหนึ่งเท่านั้นเอง ในขณะเดียวกันถึงแม้เราจะมีเครื่องมือและมีคนชั้นยอด แต่หากระบบองค์กรหรือผู้บริหารไม่เข้าใจถึงความสำคัญของข้อมูลที่ได้มาก็ไม่มีประโยชน์อีกเช่นเดียวกัน

นั่นเป็นเรื่องของเครื่องมือบุคลากรและระบบองค์กรซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการใช้สอยในด้านต่าง ๆ ยังมีอีกมิติหนึ่งในเรื่องข้อมูลที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากันหรืออาจจะสำคัญกว่าด้วยซ้ำ แต่บางคนอาจจะมองข้ามไป นั่นคือสิทธิในการรับรู้ข่าวสารและเข้าถึงข้อมูลของประชาชน

ความสำคัญของเรื่องนี้จะมีความเด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่การพัฒนาอุตสาหกรรมกำลังรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว เพราะนั่นหมายถึงความจำเป็นในการใช้ทรัพยากรมากขึ้นเร็วขึ้น ซึ่งหมายความว่า อันตรายต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่เนื่องจากว่าทรัพยากรธรรมชาติในประเทศและสิ่งแวดล้อม ถือว่าเป็นสมบัติของประชาชนทุกคนร่วมกัน เพราะฉะนั้นประชาชนจึงควรมีสิทธิจะรับทราบว่าเรามีทรัพยากรอะไรบ้าง และใครกำลังทำหรือมีแผนจะทำอะไรอยู่

สมัยรัฐบาลของผม ผมได้ย้ำอยู่เสมอถึงเรื่องความโปร่งใสของหน่วยราชการ และได้พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นเพราะผมตระหนักดีว่า สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่จะขาดเสียไม่ได้ในระบอบประชาธิปไตย

สิทธิอันนี้จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศ จะช่วยลดความขัดแย้งในสังคมได้ ถึงแม้ว่าในระหว่างการตัดสินใจ อาจจะมีความคิดที่ขัดแย้งกันมากมาย แต่เมื่อมีการตัดสินใจไปแล้วโดยที่ทุกคนมีส่วนร่วม เราทุกคนก็ต้องร่วมรับผิดชอบต่อผลพวงต่าง ๆ ที่ตามมา

ที่ผมได้กล่าวมาทั้งหมดนี้คงแสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการร่วมมือกัน ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม

ในส่วนของรัฐบาลนั้น ได้ดำเนินการในเรื่องนี้บ้างอยู่แล้วแต่ควรต้องปรับปรุงระบบและลดขั้นตอนลง เพื่อจะได้ดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พยายามก้าวให้พ้นขั้นตอนการศึกษาหรือวางแผน ให้ไปถึงขั้นตอนการปฏิบัติ เพื่อทำให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมไทยดีขึ้น ให้คนไทยเห็นและจับต้องได้

ในส่วนของภาคธุรกิจเอง ถึงแม้จะได้นำความเจริญทางเศรษฐกิจมาสู่ประเทศชาติ แต่เราคงต้องยอมรับกันว่า เรามีส่วนในการสร้างความเสียหายอย่างมหันต์ต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะดูไม่ยุติธรรมต่อรุ่นลูกรุ่นหลานของเรา ถ้าเราทิ้งให้สิ่งแวดล้อมอยู่ในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน กลายเป็นภาระที่รุ่นต่อไปในอนาคตต้องแบกรับแทน

ภาคธุรกิจมีศักยภาพสูงในการพัฒนาประเทศ ดังที่ได้แสดงให้เห็นโดยทั่วกันแล้ว ธุรกิจสามารถมีบทบาทนำในสังคมนี้ได้ บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะแสดงบทบาทนำในอีกด้านหนึ่งในด้านของการฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นการคืนกำไรให้แก่สังคมที่เกื้อหนุนเรามา

เป็นที่น่ายินดีว่า มีคนจำนวนมากในสังคมนี้ที่เห็นด้วยกับแนวความคิดนี้ รวมทั้งผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำของประเทศ ๕๐ บริษัทที่ประกอบเป็นคณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไทยที่ผมเป็นประธานอยู่


เพื่อจะให้บรรลุถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน เราได้ถือแนวความคิดนี้เป็นหลักการในการกำหนดแนวทางปฏิบัติ ๑๐ ประการด้วยกัน สาระสำคัญของแนวทางดังกล่าว ก็คือ

  • เราจะร่วมรับผิดชอบและถือเป็นหน้าที่ในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น โดยช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมตามความสามารถของแต่ละคน
    - เราจะถือเป็นนโยบายที่จะป้องกันการก่อมลพิษและลดผลกระทบต่อต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นจากสินค้าหรือบริการของเราในทุกขั้นตอนของวงจร ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการกำจัดกากของเสีย
    - เราจะคำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน ตลอดจนความเสี่ยงภัยที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนโดยรอบ
  • เราจะให้ความร่วมมือกับภาครัฐและองค์กรเอกชนอื่น ๆ ในการปฏิบัติ ตามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ
    - เราจะให้ข้อมูลแก่สาธารณชน เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและ การบริโภคสินค้าหรือบริการของเรา
    -เราจะวางนโยบายด้านธุรกิจและการจัดซื้อ โดยส่ง เสริมผู้ค้าให้คำนึงถึง สิ่งแวดล้อม และร่วมพัฒนาความ สามารถคู่ค้าในด้านสิ่งแวดล้อม
    - นอกจากนี้ เราจะร่วมมือกับธุรกิจและบริษัทอื่น ๆ ในการริเริ่มโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในประเทศ

ผมอยากจะเชื้อเชิญให้ธุรกิจในทุกสาขาถือเอาแนวทางเหล่านี้เป็นหลักในการดำเนินกิจการ ถึงแม้ว่าเราจะต้องเสียค่าใช้จ่ายบ้าง ผมก็เชื่อมั่นว่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่เราจะเห็นผลกำไรในระยะยาว เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของการทำบุญทำกุศล แต่เป็นเรื่องของความอยู่รอดและอยู่ดีกินดีของเราทุกคน อยู่ดีในสภาพแวดล้อมที่ยังดำรงความเป็นธรรมชาติ และกินดีโดยไม่ต้องห่วงกังวลถึงพิษภัยจากสารอันตรายต่าง ๆ

เมื่อผมเห็นท่านทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้นำในวงการต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมใจสละเวลามาประชุมที่นี่ในวันนี้ ผมก็มีความหวังมากขึ้นว่าเรามีความห่วงกังวลในเรื่องเดียวกัน ผมเชื่อว่าเราจะสามารถร่วมมือกัน ลงมือปฏิบัติในสิ่งต่างๆที่จะฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมและอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของเราทุกคน