รวมปาฐกถาภาษาไทย

าฐกถาพิเศษ
เนื่อง ในโอกาสการเฉลิมฉลองการครบรอบ ๒๐ ปี
ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต
ระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
โดย นายอานันท์ ปันยารชุน
อดีตนายกรัฐมนตรี
วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๓๙
โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพฯ

ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ท่านปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมมีความยินดีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และกระทรวงการต่างประเทศได้เห็นประโยชน์และร่วมกัน จัดการสัมมนาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับเวียดนามในวันนี้ และให้การสัมมนานี้เป็นกิจกรรมหนึ่งในการเฉลิมฉลองครบรอบ ๒๐ ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศทั้งสอง ซึ่งจะเวียนมาบรรจบในวันที่ ๖ สิงหาคม ศกนี้

ผมได้ทราบว่านอกจากการสัมมนาทางวิชาการนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังได้ประสานงานกับฝ่ายเวียดนามในการจัดกิจการที่สำคัญ ๆ อื่น ๆ เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสดังกล่าว อาทิ การแลกเปลี่ยนสาส์นแสดงความยินดีในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ การทำสารคดีโทรทัศน์เกี่ยวกับพัฒนาการของความสัมพันธ์การส่งคณะนักแสดงทางวัฒนธรรมไปเปิดการแสดงที่กรุงฮานอย และการลงนามความตกลงทางวัฒนธรรมระหว่างกัน

กิจกรรมเหล่านี้แสดงถึงระดับของการติดต่อสัมพันธ์และการร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้าน การสัมมนาการอภิปรายในประเด็นปัญหาทางการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ในวันนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการประมวลทบทวนสิ่งที่ผ่านไป สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อหาแนวทางส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ความร่วมมือในอนาคตเกื้อกูลต่อผลประโยชน์ของกันและกันมากยิ่งขึ้น

เมื่อมองย้อนหลังไปประมาณ ๒๐ ปี คือเมื่อปี ๒๕๑๘ - ๒๕๑๙ สัมพันธภาพไทยกับเวียดนาม อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ บรรยากาศระหว่างประเทศในการเมืองโลกขณะนั้น กำลังผ่อนคลายลงพอประมาณ สหรัฐฯ สหภาพโซเวียต สาธารณรัฐประชาชนจีน กำลังเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ออมชอมและปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างกัน

ในช่วงนั้นรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้การนำของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ภายหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ พยายามที่จะแก้ไขผลแห่งการตัดสินใจทางนโยบายของรัฐบาลเก่า ๆ ในอดีต เพื่อเพิ่มความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการต่างประเทศให้สอดคล้องต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศ รัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในช่วงปี ๒๕๑๘ และรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ในช่วงปี ๒๕๑๙ ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ในการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศ และมีการตัดสินใจที่สำคัญๆ เพื่อรองรับและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กระทันหันฉับพลัน ในประเทศเพื่อนบ้านทั้งสามประเทศคือ เวียดนาม ลาว และกัมพูชา

ผมเชื่อว่า หลายท่านในห้องประชุมนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อายุ ๔๐ ปีขึ้นไป อาจจำได้ถึงความตึงเครียดของสถานการณ์ในขณะนั้น หลายท่านอาจจำได้ถึงกระแสที่เขาเรียกกันเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วนั้นว่า “ขบวนการปลดปล่อยแห่งชาติ” “การปฏิวัติโดยการนำของพรรคคอมมิวนิสต์” ซึ่งเพิ่งมีผลลัพธ์แห่งความสำเร็จในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านขณะนั้น

ในช่วงนั้น ในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๑๘ รัฐบาลเวียดนามใต้ ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐฯ จำต้องยอมจำนนต่อเวียดนามเหนือและเวียดกง สงครามที่ไม่เคยถูกประกาศได้จบลงแล้ว สหรัฐต้องถอนตนเองออกจากสงครามเวียดนามอย่างสิ้นเชิง “อีกฝ่าย” ซึ่งเป็นผู้มีชัยชนะไม่ใช่ฝ่ายเวียดนาม ซึ่งประเทศไทยเคยให้การสนับสนุนหรือมีความคุ้นเคยอย่างน้อยก็ในช่วง ๒๐ - ๓๐ ปี จากปี ๒๕๑๘ ถอยหลังลงไป

ขณะนั้น อะไรก็เกิดขึ้นได้ กำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ ความพร้อมในการสู้รบของเวียดนามมีมากกว่าของห้าประเทศอาเซียนรวมเข้าด้วยกันเสียอีก กล่าวได้ว่าปี ๒๕๑๘ เป็นปีแห่งความสับสน ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นปีที่ได้มีอิทธิพลอย่างมากต่อทิศทางการเมืองภายในประเทศไทย และการปรับทิศทางของนโยบายต่างประเทศของไทย

ผมมีเหตุต้องมาเกี่ยวข้องกับเวียดนามในการปฏิบัติหน้าที่ทางสาธารณะที่สำคัญ ๒ ครั้ง ครั้งแรกในฐานะปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ครั้งที่สองในฐานะนายกรัฐมนตรี

ผมไม่มีความประสงค์หรือเจตนาที่จะเอาตนเองเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นั่นไม่ใช่นิสัยของผม แต่จะขอเป็นการกล่าวถึงจากประสบการณ์และความทรงจำในฐานะที่มีส่วนร่วม ตามภาระหน้าที่และความรับผิดชอบ

ช่วงประมาณกลางปี ๒๕๑๘ พล.ต. ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยศและตำแหน่งขณะนั้น เรียกตัวผมกลับจากสหรัฐอเมริกาเพื่อกลับมาช่วยงาน ภารกิจของปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ดังเช่นข้าราชการประจำทั้งหลาย คือปฏิบัติตามนโยบายและคำสั่งของรัฐบาล

ในช่วงการเปลี่ยนแปลงในเวียดนามและการหารือเพื่อปรับความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม เมื่อเดือน พฤษภาคม ๒๕๑๘ ผมยังทำหน้าที่เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน และเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก แต่ก็ได้ทราบในรายละเอียดในโอกาสต่อมาถึงผลการหารือซึ่งไม่ประสบความสำเร็จนั้น

รัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้ความสำคัญต่อการปรับเปลี่ยนแนวนโยบายต่างประเทศให้สอดคล้องต่อสถานการณ์และความเป็นจริงที่เป็นอยู่ขณะนั้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะรักษาผลประโยชน์และความอยู่รอดของประเทศและส่งเสริมอำนาจต่อรองทางการทูต

ในช่วงปี ๒๕๑๖ - ๒๕๑๘ รัฐบาลได้มอบหมายให้มีการปรึกษาหารือกับผู้แทนทางการทูตของจีนที่นครนิวยอร์ก เพื่อปรับความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้เป็นไปโดยสอดคล้องต่อสภาพการณ์ระหว่างประเทศ สหรัฐฯ เองก็มีการเจรจากับฝ่ายจีนเช่นกัน “ลัทธินิกสัน” เมื่อปี ๒๕๑๒ ส่งสัญญาณชัดเจนว่าสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจที่จะลดบทบาทโดยตรงทางทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงการหาทางยุติสงครามในเวียดนามด้วย

ภายหลังการเจรจากับฝ่ายเวียดนาม เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๘ ไม่บรรลุผล รัฐบาลก็ได้เร่งรัดการตัดสินใจทางนโยบายต่างประเทศสำคัญ ๆ อาทิการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งสำเร็จลุล่วงเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๑๘ และการปิดฐานทัพทหารสหรัฐฯ ในประเทศไทยภายใน ๑ ปี ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศไว้ตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๑๘

ภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้นคือ ต้องเจรจาและดูแลให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและคำสั่งของรัฐบาลในเรื่องดังกล่าวให้สมบูรณ์และเรียบร้อย

อีกเรื่องหนึ่งคือการปรับความสัมพันธ์ทางการทูตกับเวียดนาม

รัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เข้ารับหน้าที่ในเดือนเมษายน ๒๕๑๙ และสานต่อภารกิจต่อเนื่องของรัฐบาลชุดก่อนนั้น นายพิชัย รัตตกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีข้อ ริเริ่มทางนโยบายต่างประเทศหลายประการ และปรารถนาให้มีการเจรจารอบที่สองเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์กับเวียดนามให้เป็นปกติและสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันโดยเร็ว

นายพิชัย รัตตกุล พร้อมด้วยคณะผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่างวันที่ ๓ - ๖ สิงหาคม ๒๕๑๙ ต่อเนื่องจากการเยือนลาว การเจรจากับฝ่ายเวียดนามบรรลุผลสำเร็จ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองได้ลงนามแถลงการณ์ร่วม ๒ ฉบับ ในวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๑๙ ฉบับแรกกล่าวถึงผลการเยือนและการหารือ ฉบับที่สองเป็นการประกาศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน

ความสำเร็จในการเจรจาครั้งนี้สืบเนื่องจากความสามารถและท่วงทีการเจรจาที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีของคุณพิชัยฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ความเข้าใจในเหตุในผลของนายเหงียน ซุย จินห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม บรรยากาศ สภาพการณ์ และเงื่อนไขที่แตกต่างออกไปในปี ๒๕๑๙

การตัดสินใจต่าง ๆ ทางนโยบายต่างประเทศของไทยในช่วงปี ๒๕๑๘ - ๒๕๑๙ มีความเกี่ยวข้องต่อกันส่งเสริมกัน ไม่มีการตัดสินใจอันใดที่มีขึ้นโดยเอกเทศหรือโดยปราศเงื่อนไขความจำเป็นของสภาพแวดล้อม อีกทั้งการตัดสินใจเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นการปรับความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน และประเทศสังคมนิยมต่างๆ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อความเท่าเทียมกัน ในความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ และการปรับความสัมพันธ์ทางการทูตกับเวียดนามล้วน ตั้งอยู่บนหลักการความเป็นตัวของตนเองและมีสายตากว้างไกลของรัฐบาลพลเรือนทั้งสองในขณะนั้น

อย่างไรก็ดีความสัมพันธ์ไทย - เวียดนาม ได้สะดุดหยุดลงภายหลังการรัฐประหารนองเลือดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ แท้จริงแล้วหลาย ๆ อย่าง ได้หยุดชะงักลงอย่างฉับพลันเป็นเวลา ประมาณ ๑ ปีเต็ม จนกระทั่งรัฐประหารในเดือนตุลาคม ๒๕๒๐ ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการผ่อนคลายขึ้นพอประมาณ

ในช่วงหนึ่งปีนั้น กระบวนการทางประชาธิปไตย ซึ่งอาจจะเคยพัฒนาอย่างสุดกู่ในทุก ๆ ขั้วจนควบคุมแทบไม่ได้ก็ได้ยุติลง ความคิดอิสระในการดำเนินนโยบายต่างประเทศยุติลง ในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ อาชีพรับราชการของผมในกระทรวงการต่างประเทศก็ได้หยุดชะงักลง

ขณะนั้นบุคคลหลายท่านรวมทั้ง นายพิชัย รัตตกุล ในรัฐบาลของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชถูกให้ร้ายป้ายสีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะถูกเข้าใจผิดว่ายอมจำนนต่อประเทศจีน กัมพูชา ลาว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนาม อีกทั้งต่อต้านสหรัฐฯ ขับไล่กองกำลังสหรัฐฯ ออกจากประเทศไทย ผม เพื่อนร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชาหลายคนที่กระทรวงการต่างประเทศ ก็เผชิญกับข้อกล่าวหานี้เช่นกัน ผมและครอบครัวได้รับการกล่าวให้ร้าย การจ้วงจาบ และการคุกคามชีวิต บ้างก็มาจากกระแส บ้างก็มาจากบุคคลซึ่งขังตนเองในเรือนจำแห่งปัญญา ผมถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ถูกให้ร้ายว่าเกลียดทหาร ความผิดของผมคือการปฏิบัติตามนโยบายและคำสั่งของรัฐบาล ในการปรับความสัมพันธ์กับประเทศสังคมนิยมต่าง ๆ และการเจรจาให้ถอนฐานทัพและกำลังทหารสหรัฐฯ ออกจากประเทศไทย

ผมและเพื่อนร่วมงานถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนการกระทำผิด หลังจากพบว่าไม่ผิด ผมก็กลับเข้าปฏิบัติราชการอีกระยะหนึ่งประมาณ ๒ ปี ก่อนลาออกจากราชการที่เคยทำมา ๒๓ ปี

อีกครั้งหนึ่งที่ผมเข้ามาเกี่ยวข้องกับภารกิจทางสาธารณะ คือเมื่อครั้งได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี ๒๕๓๔ และปี ๒๕๓๕ ด้วยเหตุบังเอิญที่สุดในประวัติศาสตร์

ในช่วงเวลาสั้น ๆ ทั้งสองห้วงเวลาในปี ๒๕๓๔ และ ปี ๒๕๓๕ ผมทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีภารกิจและความรับผิดชอบก็กว้างขวางขึ้น ผมไม่จำเป็นต้องเข้าไปดูในรายละเอียดในด้านการต่างประเทศ คุณอาสา สารสิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้มีความสามารถและประสิทธิภาพสูง

การงานที่เกี่ยวข้องกับเวียดนามก็มีบ้างตามกาละและเทศะ บรรยากาศของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับเวียดนาม และอีกสองประเทศในอินโดจีน เมื่อปี ๒๕๓๔ - ๒๕๓๕ ต่างไปจากช่วงปี ๒๕๑๘ - ๒๕๑๙ ทั้งนี้ ปัจจัยภายนอกที่สำคัญคือการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ได้ส่งผลเอื้ออำนวยต่อการปรับปรุงความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับเวียดนามในด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง จนกระทั่งเวียดนามเข้าเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน

นับตั้งแต่สิ้นปี ๒๕๒๙ เป็นต้นมา เวียดนามได้หันมาทดลองวิธีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ ตามกลไกการตลาดแม้จะยังคงสังคมนิยมไว้ และในทำนองเดียวกันก็ได้ขยายขอบเขตการติดต่อและการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศตะวันตก และบัดนี้ก็เข้าเป็นประเทศสมาชิกล่าสุดของอาเซียน ความเคลื่อนไหวนี้เป็นไปโดยสอดคล้องต่อสภาพการณ์ปัจจุบัน

ในช่วงปี ๒๕๓๔ - ๒๕๓๕ ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนามก็ได้เจริญรุดหน้า ความตกลงสำคัญ ๆ ระหว่างรัฐบาลจำนวนครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด ๑๓ ฉบับ จนถึงวันนี้มีขึ้นและลงนามไว้ไว้ในห้วงเวลา ๒ ปี ดังกล่าว

นอกจานี้ การเยือนระดับหัวหน้ารัฐบาลระหว่างกัน ก็มีขึ้นในช่วงนี้เช่นกัน นายหวอ วัน เกียต เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของเวียดนาม ภายหลังการยุติลงของสงครามเย็น ที่มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๓๔ หลังจากนั้น คือในเดือนมกราคม ๒๕๓๕ ผมก็ได้เดินทางไปเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีของไทยเยือนเวียดนาม นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อปี ๒๕๑๙

ผมได้ใช้เวลาของท่านพอประมาณ ในการเดินทางย้อนกลับไปสู่เหตุการณ์ต่าง ๆ เมื่อประมาณ ๒๐ ปีที่แล้ว ด้วยเหตุและผลของปัจจัยภายในและภายนอกประเทศทั้งของเราและของเขา และของคนอื่น ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนามได้พัฒนาและก้าวขึ้น จากการเผชิญหน้าภายหลังสงครามเวียดนามเมื่อปี ๒๕๑๘ และการเป็นปฏิปักษ์กันในช่วงความขัดแย้งในกัมพูชาในระยะเวลาหนึ่ง เข้าสู่ยุคปัจจุบันซึ่งเป็นยุคของการแข่งขันและการร่วมมือกัน

อีกครั้งหนึ่ง ผมขอแสดงความยินดีต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีดำริริเริ่มจัดการสัมมนาทางวิชาการ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับเวียดนาม เพื่อเป็นกิจกรรมหนึ่งในการเฉลิมฉลองการครบรอบ ๒๐ ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการสัมมนาการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ระหว่างวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติจากส่วนราชการภาคเอกชน สถาบันการศึกษาคณะทูตต่างประเทศ สื่อมวลชนและสาธารณชน ที่ได้รับเชิญวันนี้จะนำไปสู่การเสนอแนวทางใหม่ ๆ ในอันที่จะพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ให้กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้นโดยสอดคล้องต่อผลประโยชน์ส่วนรวมของไทยและเวียดนามและมิตรไมตรีระหว่างประเทศทั้งสองในปัจจุบันและทศวรรษต่อ ๆ ไป