รวมปาฐกถาภาษาไทย

ปาฐกถาเรื่อง
ศ.นพ. เสม พริ้งพวงแก้ว ที่ผมรู้จัก
โดย นายอานันท์ ปันยารชุน
อดีตนายกรัฐมนตรี
๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔
ณ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันนี้เป็นวันที่คุณหมอเสม พริ้งพวงแก้ว อายุครบ 100 ปี พอดี

     คุณหมอเป็น ปูชนียบุคคลรุ่นเก่าแก่ผู้หนึ่งในวงการบริหารและการสาธารณสุขของประเทศไทย ตลอดระยะเวลาในช่วงชีวิตที่ผ่านมา ได้เป็นที่ประจักษ์ว่าคุณหมอมีส่วนร่วมและมีบทบาทที่มีคุณค่าต่อสังคมเสมอมา ซึ่งผมในฐานะบุคคลที่รู้จักและศรัทธาในตัวคุณหมอมาเป็นเวลาช้านาน อยากจะขอโอกาสนำเรื่องบางเรื่อง เกี่ยวกับคุณหมอมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้

     มีผู้เคยเล่าให้ผมฟังว่า คุณหมอเคยตั้งปณิธาน 2 ข้อ ไว้กับตนเองว่า หลังจากศึกษาเล่าเรียนสำเร็จแล้ว จะ “ทำงานเพื่ออนาคตของส่วนรวม เพื่อชาติ และประชาชน” และ “เริ่มบุกเบิก อุทิศตัวให้กับบ้านเมืองโดยเริ่มจากท้องถิ่นทุรกันดาร” อุดมการณ์เช่นนี้ ถ้าไม่มีความมานะ อดทน และความตั้งใจจริงแล้ว ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จและถ้าไม่ใช่เป็นคนดีจริงก็จะไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน และเท่าที่ผ่านมานี้ ก็ได้เป็นที่ประจักษ์กับคนในสังคมไทยแล้วว่าคุณหมอเสม พริ้งพวงแก้ว ได้มุ่งมั่นทำในสิ่งที่ท่านได้ตั้งปณิธานไว้หรือไม่

     แรงบันดาลใจที่ทำให้คุณหมอเกิดปณิธานดังกล่าวมาจากสิ่งสำคัญ 3 ประการ ประการแรกจากคำสั่งสอนของมารดาที่ว่า “ชีวิตที่ลำบากเป็นชีวิตที่เจริญ” และ “ควรมีเมตตาช่วยเหลือคนที่เขาทุกข์ยากกว่าเรา” ประการที่สอง จากสิ่งแวดล้อมที่ดีที่คุณหมอได้ประสบมาเมื่อครั้งเด็ก ๆ ที่วังสระปทุม ซึ่งสมัยนั้น สมเด็จพระสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งประทับอยู่ ณ ที่นั้น ได้พระราชทานความเมตตากรุณาช่วยเหลือสงเคราะห์เป็นเนืองนิตย์แก่ชาวบ้านที่เดือดร้อน รวมทั้งได้ทรงอุปถัมภ์คุณหมอและมารดาซึ่งถวายงานอยู่ในวังสระปทุมด้วย ประการที่สุดท้ายจากประสบการณ์ของคุณหมอเองระหว่างเรียนหนังสือ ซึ่งระหว่างปิดเรียนภาคฤดูร้อนได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนชนบท และได้เห็นว่าคนบ้านนอกเขาลำบากกว่าคนในกรุงมาก จึงเกิดความตั้งใจที่ว่า “เมื่อเรียนจบแล้วน่าจะไปที่ที่เขาต้องการเรา”

    จากประวัติได้ที่บันทึกไว้ เมื่อคุณหมอจบหลักสูตรแพทย์จากศิริราชในปี พ.ศ. 2478 ได้เกิดโรคอหิวาต์ระบาดในภาคกลางของประเทศไทย คุณหมอซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง 24 ปี ก็อาสาสมัครเข้าร่วมในโครงการปราบโรคระบาดในครั้งนั้น และออกไปตั้งโรงพยาบาลเอกเทศปราบอหิวาต์ระบาดที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยคุณหมอออกไปคนเดียว ไม่มีแม้แต่ผู้ช่วย โรงพยาบาลก็คือศาลาวัดธรรมดานี่เอง ไม่มีเตียง ไม่มีโต๊ะ ตอนแรกก็ไม่ค่อยมีคนมาให้รักษาเลย เพราะชาวบ้านคิดว่าเป็นอหิวาต์แล้วตายแน่ ๆ ไม่ต้องรับการรักษาให้เสียเวลา แต่ชาวบ้านคนหนึ่งเปลี่ยนใจ นำคนไข้รายแรกที่ชาวบ้านคิดว่าน่าจะตายแล้ว แต่อยากให้หมอลองรักษาดู หลังจากคุณหมอให้น้ำเกลือไปตลอดวันตลอดคืน คนไข้ดังกล่าวก็มีชีวิตรอดขึ้นมา จนภายหลังมีคนไข้แห่กันมารับการรักษามากมาย คนไข้แต่ละรายจะต้องได้รับน้ำเกลือถึง 4-5 ลิตร จึงจะมีอาการดีขึ้น จนกระทั่งเกิดสถานการณ์ขาดแคลนน้ำเกลือ อันเป็นอุปสรรคเฉพาะหน้า ซึ่งคุณหมอก็ต้องคิดค้นแก้ปัญหาด้วยตนเองด้วยการผลิตน้ำเกลือขึ้นใช้รักษาคนไข้โดยนำ นวัตกรรมของชาวบ้านในการต้มเหล้าเถื่อนมาดัดแปลงเป็นเครื่องมือในการผลิต ซึ่งก็ได้ผลดีอย่างไม่เคยคาดฝันมาก่อน และไม่เคยปรากฎในวงการแพทย์ของไทยในสมัยนั้น

     ในขณะที่คุณหมอปฏิบัติงานอยู่ที่อัมพวา ก็ได้คิดค้นถึงการป้องกันโรคอหิวาต์ในขณะนั้นเพื่อมิให้เชื้อโรคจากผู้ป่วยแพร่กระจายไปสู่คนอื่น ทำให้การระบาดของโรคในอัมพวาสงบลงในเวลาต่อมา

     ด้วยเจตนาอันแน่วแน่ที่จะต้องเป็นแพทย์ชนบท หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจของโรงพยาบาลเอกเทศที่อำเภออัมพวาแล้ว คุณหมอก็เข้ามารับการอบรมทางการรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำกับคนไข้ในชนบท ณ วชิรพยาบาล ในกรุงเทพฯ  ก่อนย้ายออกไปรับราชการที่นครสวรรค์ ซึ่งที่นครสวรรค์นี่เอง มีเรื่องประหลาด ๆ เกิดขึ้นกับคุณหมออีกเรื่องหนึ่ง

     คุณหมอถูกตามตัวในยามดึกให้ออกไปทำคลอดให้กับชาวบ้าน ซึ่งอาศัยอยู่บนเรือนจับปลากลางบึงบอระเพ็ด ในเรือนหลังนั้นมีกันอยู่ 3 คนเท่านั้น คือ หมอ คนไข้และสามีคนไข้ คุณหมอทำคลอดอยู่นานจนเหงื่อตกก็ยังไม่สำเร็จ สามีคนไข้ก็เหงื่อตกเช่นเดียวกันกับคุณหมอ สุดท้ายก็บอกคุณหมออย่างเหี้ยมโหดว่า “คุณหมอ ถ้าเมียผมตาย คุณหมอกลับบ้านไม่ได้นะ” แต่ในที่สุดคุณหมอก็ทำคลอดจนสำเร็จและรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ครั้งนั้นมาได้ เข้าใจว่าในยามคับขันเช่นนั้นคุณหมอคงจะระลึกถึงคติ 2 ข้อ คือ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” และ ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น”

     ต่อมาในปี พ.ศ. 2480 คุณหมอได้ถูกย้ายไปประจำที่เชียงราย และด้วยความเชื่อมั่นในตัวเองที่มีมากขึ้นจากการเรียนรู้และประสบการณ์ในด้านบริหารจัดการในสถานการณ์คับขันหลาย ๆ ครั้งที่ได้สั่งสมมาจากอัมพวาและนครสวรรค์ ทำให้คุณหมอสามารถขึ้นไปสร้างโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์จนสำเร็จกลายเป็นโรงพยาบาลที่ต้องให้การดูแลรักษาราษฎรถึง 800,000 คน ในจังหวัดเชียงราย  การสร้างโรงพยาบาลดังกล่าวในขณะนั้นแทบไม่ต้องใช้เงินของทางราชการเลยแม้แต่สตางค์แดงเดียว แต่ด้วยลำแข้งของคุณหมอและทุนทรัพย์ของราษฎรชาวเชียงรายทั้งสิ้น  สิ่งที่ทางรัฐบาลจัดหามาให้ก็มีแต่นายแพทย์เพียงหนึ่งเดียวซึ่งในขณะนั้นมีอายุเพียงแค่ 26 ปี

     จังหวัดแดนไกลอย่างเชียงรายซึ่งในขณะนั้นจำต้องใช้การเดินทางโดยรถไฟ 1 คืน กับ 1 วัน จากเมืองหลวงไปลงที่ลำปาง แล้วต้องนอนค้างอีก 1 คืนที่ลำปาง ก่อนต่อรถบรรทุกข้าวหรือสินค้าอีก 12 ชั่วโมง จึงจะถึงตัวจังหวัดเชียงราย  ในระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ 2 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484 – 2488  การเดินทางบางครั้งต้องใช้เวลาถึง 2 – 3  เท่าตัวอันเนื่องมาจากการโจมตีทางอากาศของพันธมิตรคู่สงคราม และการปฏิบัติงานก็ยิ่งยากรำเค็ญกว่าเดิมหลายเท่าเช่นกัน เครื่องไม้เครื่องมือและยาที่ใช้ในการรักษาพยาบาลนั้น ขาดแคลนเป็นอย่างมาก ถึงขั้นจำต้องผลิตของจำเป็นทุก ๆ อย่างขึ้นมาใช้เอง  บ่อยครั้งต้องนำสมุนไพรที่พอหาได้ขึ้นมาใช้แทนยารักษาแผนปัจจุบัน 

     ในระหว่างสงคราม มีผู้บาดเจ็บล้มตายจากการสู้รบบนพื้นดินและการโจมตีทางอากาศเป็นจำนวนครั้งละมาก ๆ  คุณหมอเป็นทั้งผู้ขนคนไข้มาโรงพยาบาล เป็นสัปเหร่อขนศพมาเก็บไว้ชั่วคราวที่โรงพยาบาล  ที่รอดตายก็นำมาทำการบำบัดรักษา ผ่าตัดผู้บาดเจ็บเช้าจรดเย็น เย็นจรดเช้าอยู่หลาย ๆ ครั้ง

     

     ตั้งแต่ พ.ศ. 2480 มาจนถึง พ.ศ. 2494 คุณหมอได้อุทิศตนอย่างที่ไม่เคยบ่งบอกถึงความเหน็ดเหนื่อย จนทำให้โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์สามารถให้บริการทางสาธารณสุขแก่ราษฎรอย่างภาคภูมิครบถ้วน ทั้งคนไข้ชาย คนไข้หญิง หรือแม้กระทั่งพระสงฆ์อาพาธ ในด้านอายุร กรรม ศัลยกรรม สูติกรรม ทันตกรรรม โดยคุณหมอลงมือเองทั้งหมดในระยะต้น ๆ

     และที่เชียงรายนี้เองคุณหมอได้แสดงให้เห็นว่า เป็นผู้มี “คุณธรรมกตัญญูรู้คุณ”  แม้กับคนต่างชาติ กล่าวคือ ในระหว่างสงครามมีมิชชันนารีประมาณ 50 คน หนีกองทัพญี่ปุ่นขึ้นไปเชียงรายเพื่อจะออกไปพม่าและอินเดีย คุณหมอเห็นว่ามิชชั่นนารีเหล่านี้เคยมาช่วยเหลือประชาชนคนไทยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา คุณหมอจึงเสี่ยงช่วยให้คนเหล่านี้หนีออกจากประเทศไทยทั้ง ๆ ที่ทางการสั่งปิดพรมแดนแล้ว แต่ก็ด้วยกุศโลบายที่มิได้ทำให้บ้านเมืองมีความเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้น

     ในระยะเวลาท้าย ๆ ของการทำงานในชนบท คุณหมอได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมโรงพยาบาลของรัฐบาลในทุกภาคของประเทศไทย โดยร่วมเดินทางไปกับแพทย์ชาวอเมริกัน ชื่อ นพ. เบน ไอสแมน ผู้ซึ่งมีบทบาทช่วยพัฒนาการสาธารณสุขของประเทศของเรา  การเดินทางเป็นแรมอาทิตย์แรมเดือนในครั้งนั้น ทำให้คุณหมอได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ของการสาธารณสุขทั่วประเทศ อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำมาพัฒนาประเทศทางด้านการสาธารณสุขต่อไป

     หลังจากปฏิบัติงานในชนบทรวมกันเป็นเวลา 17 ปี ในปี พ.ศ. 2494 ทางรัฐบาลได้เรียกตัวคุณหมอให้กลับเข้ามาทำงานด้านบริหารและจัดการในกรุงเทพฯ โดยขณะนั้นรัฐบาลมีเป้าหมายของรัฐบาลอยู่ 3 ประการ คือ

  1. การก่อตั้งโรงพยาบาลหญิงและโรงพยาบาลเด็ก ให้บริการทางด้านสูติกรรมเพื่อเพิ่มประชากรของประเทศ ซึ่งในขณะนั้นมีเพียง 18 ล้านคน
  2. การสร้างโรงพยาบาลจังหวัดให้ครบทุกจังหวัด และ
  3. การก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลของกรมการแพทย์เพื่อผลิตพยาบาลไปทำงานในชนบท

     นโยบายทั้ง 3 ข้อนี้เป็นนโยบายทางการเมืองเฉพาะของรัฐบาลในขณะนั้น จึงเป็นโอกาสแรกที่คุณหมอเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองระดับประเทศ และเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลหญิง (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลราชวิถี)   จนเจริญก้าวหน้าทัดเทียมเป็นโรงพยาบาลระดับต้น ๆ ของประเทศ โดยใช้เวลาพัฒนาเพียง 6 ปี เท่านั้น

     คุณหมอได้แสดงความสามารถในการบริหารจัดการให้กับรัฐหลายโครงการ อาทิเช่น

  • ในปีแรกของโรงพยาบาลหญิง สามารถให้บริการกับคนไข้ผู้ป่วยนอกถึง 30,297 รายในขณะที่มีผู้ป่วยใน 3,619 ราย และด้วยแพทย์ประจำเพียง 4 คนเท่านั้น
  • เป็นนายแพทย์คนแรกของโลกที่ทำการผ่าตัดแยกฝาแฝดของไทยเป็นผลสำเร็จ
  • ก่อตั้งการผลิตนักเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลเด็ก วิทยาลัยพยาบาลและอนามัย ส่งพยาบาลไปศึกษาต่อต่างประเทศ
  • ตั้งธนาคารเลือดและน้ำเหลืองครั้งแรกของประเทศซึ่งเริ่มงานติดต่อกันมาตั้งแต่เชียงราย
  • จัดสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัดและอำเภอได้อย่างครบถ้วนทุกจังหวัดและอำเภอ
  • ยกระดับมาตรฐานการแพทย์ไทยขึ้นสู่ความเป็นผู้นำทางการแพทย์ระดับภูมิภาคและระดับโลกโดยใช้เวลาเพียง 10 ปี
  • คิดค้นหลักสูตรแพทยศาสตร์ศึกษาที่เหมาะสมกับสังคมไทยโดยให้รู้จักและเข้าใจสังคมและสิ่งแวดล้อมก่อนการศึกษาเทคนิคการรักษาพยาบาล
  • นำการบริหารงานมูลนิธิต่าง ๆ กว่า 20 มูลนิธิ เพื่อบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ให้กับบ้านเมือง
  • จัดตั้งสาธารณสุขมูลฐานเพื่อพัฒนาสุขภาพอนามัยของประชาชนในระดับหมู่บ้าน จัดตั้งอาสาสมัครสาธารณสุขและผู้สืบข่าวสาธารณสุขประจำหมู่บ้านที่มีจำนวนรวมกันแล้วถึง 600,000 คน
  • จัดตั้งแนวทางพัฒนาด้านสังคมในระยะยาว
  • เป็นผู้แทนของประเทศไทย ทำงานและประสานงานร่วมกับองค์กรด้านสาธารณสุขของต่างประเทศและสหประชาชาติ
  • ริเริ่มโครงการรื้อฟื้นแพทย์อายุรเวทและแพทย์แผนไทยเดิม และใช้สมุนไพรมาบำบัดรักษาโรคซึ่งเป็นบ่อเกิดของการรักษาอีกทางเลือกหนึ่งของชุมชนยากไร้ในปัจจุบันนี้

     ส่วนทางด้านการเมืองและนิติบัญญัติ คุณหมอได้อุทิศตนเพื่อสาธารณประโยชน์ให้ไว้กับชนรุ่นหลัง อาทิเช่น

  • ระหว่างปี พ.ศ. 2516 - 2518 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2 สมัย   และระหว่างปี พ.ศ. 2523 - 2526 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอีก 2 สมัย ซึ่งในสมัยนั้นการคัดเลือกผู้บริหารระดับสูงของประเทศจะอยู่บนรากฐานของ “คุณธรรม ความสามารถ” และเป็นคนที่ประชาชนเคารพนับถือเท่านั้น คุณหมอได้ปฏิรูปโครงสร้างของกระทรวงสาธารณสุขได้สำเร็จในระยะเวลาอันสั้น สามารถรวบรวมการป้องกันและรักษาโรคภัยไข้เจ็บเข้าด้วยกัน ก่อเกิดประสิทธิภาพสูงสุด คล่องแคล่ว คล่องตัวยิ่งขึ้นในการให้บริการสาธารณสุขทั่วประเทศทั้งส่วนกลางและชนบท ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลวงที่สุดของกระทรวงและใช้ปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบันนี้
  • ริเริ่มแผนพัฒนาการสาธารณสุขแห่งชาติ เน้นการกระจายบริการทางสาธารณสุขไปสู่ท้องถิ่นชนบทให้มากขึ้น พร้อมทั้งจัดตั้ง “โครงการพัฒนาสังคม” ให้แก่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้ทุกส่วนราชการผนึกกำลังกันแก้ปัญหาในชนบทอย่างมีแบบแผนและขั้นตอน
  • ชักชวนประชาชนให้เข้ามามีบทบาทร่วมแผนการพัฒนางานด้านการเมืองและต่อต้านขจัดความไม่ถูกต้องทางการเมืองของสังคมของเราในอดีตและปัจจุบัน
  • เป็นศูนย์กลางของ “ผู้ที่รักความถูกต้อง รักความเป็นธรรมในสังคม” โดยเป็นประธานก่อตั้ง “ศูนย์รวมน้ำใจไทย” เพื่อรณรงค์หาเงินทุนช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยพิบัติจากการนองเลือดทางการเมืองหลายครั้ง ก่อนหน้าที่ทางหน่วยงานของรัฐจะออกมารับผิดชอบเสียอีก

     เรื่องดี ๆ เกี่ยวกับคุณหมอเสม พริ้งพวงแก้ว ยังมีอีกมากมาย และอีกหลาย ๆ ด้าน และคงจะมีผู้ที่ชื่นชม ศรัทธาในตัวคุณหมอเสม พริ้งพวงแก้ว อีกจำนวนไม่น้อยที่อยากจะมาแสดงมุทิตาจิตต่อคุณหมอในโอกาสครบรอบ 100 ปี ในวันนี้ และสำหรับผม ในฐานะที่ได้เคยวิสาสะและร่วมงานกับท่านในหลายโอกาส อยากเห็นคนในสังคมไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ยึดถือแนวทางการทำงานและการปฏิบัติตนของท่านผู้นี้เป็นแบบอย่าง กล่าวคือ ท่านเป็นผู้สนับสนุนทางความคิดและให้กำลังใจอย่างสำคัญแก่คนรุ่นใหม่ ให้กล้าทำใน “สิ่งที่ก้าวหน้าและถูกต้อง”  ท่านเป็นนักบริหารที่แก้ไขปัญหาอย่างเด็ดขาดภายใต้สภาวะที่คับขัน เป็นนักต่อสู้เพื่อความดีโดยไม่เคยท้อแท้กับอุปสรรคใด ๆ  และท่านเป็นผู้ที่ “ไม่เคยยอมให้อิทธิพลหรืออามิสใดๆ มามีอำนาจเหนือความถูกต้องและผลประโยชน์ของประชาชน”