รวมปาฐกถาภาษาไทย

ปาฐกถาพิเศษ
การเปิดสัมพันธไมตรีไทย-จีน ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
โดย นายอานันท์ ปันยารชุน
วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๔
ณ สถาบันคึกฤทธิ์ กรุงเทพฯ

     ตั้งแต่เด็ก ผมจำได้ว่ามีประโยคหนึ่งที่ได้มีการกล่าวขานมาตลอดเวลา นั่นคือ “ไทย-จีน มิใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ในสมัยนั้นคำกล่าวขานนี้คงจะสื่อความหมายให้เห็นถึงความใกล้ชิดระหว่างคนไทยกับคนไทยเชื้อสายจีน และในชีวิตประจำวัน ก็ได้เห็นปรากฏการณ์ในความเป็นจริงที่ว่า คนไทย-จีนอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นในเขตบางรัก เยาวราชหรือราชวงศ์

     ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน นั้น มีมานับเป็นพันปี ต่อมาในสมัยสุโขทัย เอกสารของจีนระบุว่าอาณาจักรสุโขทัยได้ส่งคณะทูตพร้อมด้วยของพื้นเมืองไปถวายเป็นกำนัลแก่จักรพรรดิราชวงศ์หยวนในจีน รวม 14 ครั้ง ส่วนจีนได้ส่งทูตไปยังสุโขทัย 4 ครั้ง ซึ่งการติดต่อดังกล่าวส่งผลให้การค้าระหว่าง 2 ประเทศขยายตัว อีกทั้งยังมีการถ่ายทอดความรู้ของจีนมายังไทย โดยช่างจีนได้เข้ามาทำเครื่องปั้นดินเผาจนเป็นที่รู้จักกันในนาม “เครื่องสังคโลก” ซึ่งกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของอาณาจักรสุโขทัยในเวลาต่อมา

     ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทยนั้นได้เพิ่มพูนมากขึ้นในสมัยอยุธยา มีชาวจีนอพยพมาตั้งถิ่นฐานในกรุงศรีอยุธยามากขึ้น การค้าสำเภาระหว่างไทยจีนทำให้กรุงศรีอยุธยามั่งคั่ง และกลายเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศตะวันตกในยุโรปกับประเทศทางตะวันออกคือ จีน

     ในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น คนจีนอพยพมาตั้งรกรากและประกอบอาชีพในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในระยะที่จักรพรรดิแมนจูของราชวงศ์ชิงอ่อนแอ ทำสงครามแพ้มหาอำนาจตะวันตก และภัยอันตรายอันเกิดจากการปราบปรามกบฏภายในและการเกิดสภาพข้าวยากหมากแพงขึ้นทั่วไปในจีน ชาวจีนจึงหาทางอพยพไปหางานนอกประเทศ โดยใช้เรือกลไฟและเรือสำเภาเป็นพาหนะเดินทาง

     ที่ผ่านมาในอดีต สัมพันธภาพระหว่างจีนกับไทยเป็นไปในระดับประชาชนเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปี พ.ศ. 2489 รัฐบาลสาธารณรัฐจีนและรัฐบาลไทยได้เปิดศักราชใหม่คือ มีการลงนามใน “สนธิสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐจีน” ที่กรุงเทพฯ และได้มีการแลกเปลี่ยนเอกอัครราชทูตระหว่างประเทศทั้งสอง นับเป็นครั้งแรกที่ความสัมพันธ์ได้ยกระดับเป็นระหว่างรัฐบาลและระหว่างประเทศ แต่เมื่อรัฐบาลสาธารณรัฐจีนพ่ายแพ้แก่พรรคคอมมิวนิสต์จีน และอพยพรัฐบาลไปตั้งที่ไทเปบนเกาะไต้หวัน ในพ.ศ. 2492 รัฐบาลไทยก็ยังคงรับรองและมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลสาธารณรัฐจีนที่ไทเป จนถึงปี พ.ศ. 2517

     เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง รัฐบาลสาธารณรัฐจีนเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรที่ชนะสงคราม และเมื่อมีการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ ในปี พ.ศ. 2488 จีนก็ได้รับการยอมรับให้เป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ

     ในระยะนั้น รัฐบาลสาธารณรัฐจีนที่ไทเปพยายามจะพยุงไว้ซึ่งสถานะ “มหาอำนาจ” โดยดำเนินนโยบาย “คนจีนโพ้นทะเล” และมีกิจกรรมในเชิงหนุนหลังคนจีนในเมืองไทยให้มีความรู้สึกเป็นจีนมากขึ้น ยังมีผลทำให้คนจีนมีความกระด้างกระเดื่องและเริ่มใช้อิทธิพลของตนในทางการค้าและเศรษฐกิจในเมืองไทย

     กอรปกับรัฐบาลไทยในสมัยนั้นก็ได้เริ่มไหวตัวในเรื่องของความเป็น “ไทย” และดำเนินนโยบายในอันที่จะลิดรอนอิทธิพลดังกล่าว

     ผลลัพธ์ต่อมาก็คือ เกิดความวุ่นวายและมีการปะทะกันระหว่างคนไทยกับคนจีนที่เยาวราช ทำให้ธุรกิจการค้าในกรุงเทพฯ หยุดชะงักและเป็นอัมพาตอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาแต่ในอดีต

     ยิ่งเหตุการณ์ทางการเมืองของโลกผันแปรอย่างรวดเร็ว การแบ่งค่ายระหว่างโลกเสรีนำโดยสหรัฐอเมริกา และโลกคอมมิวนิสต์โดยมีสหภาพโซเวียตเป็นหัวหอก มีผลทำให้ภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชียซึ่งมีรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ในแผ่นดินใหญ่ และรัฐบาลสาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวัน เป็นแรงสนับสนุนให้ “สงครามเย็น” ระหว่างกลุ่มโลกเสรีและกลุ่มโลกคอมมิวนิสต์เปลี่ยนสภาพเป็นสงครามจริงในเอเชีย

     เหตุการณ์ที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นสงครามเกาหลีหรือสงความเวียดนาม ยิ่งทำให้การแบ่งพวกแบ่งฝ่ายมีความเร่งร้อนมากขึ้น

     ไทยเรานั้นมีความเกรงกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์ และตกเป็นเหยื่อของสงครามโฆษณาชวนเชื่อ จนทำให้เข้าไปอยู่ข้างโลกเสรีมากขึ้นตามลำดับด้วยการส่งทหารไปร่วมรบในสงครามเกาหลี โดยอยู่ฝ่ายสหประชาชาตินำโดยสหรัฐอเมริกา และยังมีบทบาทในการร่วมกับสหรัฐอเมริกา และเวียดนามใต้ในการสู้รบกับเวียดนามเหนือ ซึ่งรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง นอกจากนั้นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็อยู่ในสภาวะล่อแหลมเช่นเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่เลือกที่จะอยู่ในกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (คืออยู่ในกระบวนการ non-aligned group)

     สำหรับในเวทีโลก คือในองค์การสหประชาชาติ รัฐบาลสาธารณรัฐจีนที่ไทเปก็ยังรักษาสภาพการเป็นสมาชิกของตนได้ต่อไปด้วยการสนับสนุนจากฝ่ายโลกเสรี โดยมีไทยเข้าร่วมด้วย

     รัฐบาลในสมัยนั้นนำโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงแม้จะอยู่ฝ่ายโลกเสรี และดำเนินนโยบายต่างประเทศตามหลังสหรัฐอเมริกา แต่ก็ยังมีความคิดในใจที่จะไม่ถลำตัวเข้าลึกเกินไป และได้เริ่มส่งคณะตัวแทนเดินทางไปติดต่อกับผู้นำฝ่ายจีนคอมมิวนิสต์บนแผ่นดินใหญ่อย่างลับ ๆ เพื่อเป็นการปูทางสำหรับโอกาสข้างหน้าที่จะเกิดขึ้น

     อย่างไรก็ดี การติดต่อดังกล่าวได้หยุดชะงักลงไปในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำเนินนโยบายเป็นปฏิปักษ์ต่อคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจน แรงกระตุ้นนี้เกิดขึ้นจากการที่พรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยด้วยการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เริ่มก่อตัวแข็งขึ้น และเปิดการสู้รบกับกองทหารรัฐบาลไทยในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งภาคอีสาน ภาคเหนือและภาคใต้

     เหตุการณ์เหล่านี้ ยิ่งทำให้คนไทยมองจีนคอมมิวนิสต์ด้วยความหวาดกลัวและเกรงกลัว

     ในช่วงต่อมา มีเหตุการณ์ของโลกหลายเรื่องที่เปลี่ยนไปตามสภาวการณ์ ซึ่งทำให้ภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชียโดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปรับตัวตามไปด้วย เช่น สัมพันธภาพระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตเกิดความแตกร้าว เพราะมีนโยบายขัดแย้งกัน ความเข้มข้นของสงครามเย็นระหว่างยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกากับกลุ่มยุโรปตะวันออกได้ผ่อนคลายไป สหรัฐอเมริกาได้เริ่มการติดต่อกับจีนคอมมิวนิสต์โดยส่งนายเฮนรี่ คิสซิงเจอร์ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ไปพบกับผู้นำฝ่ายจีนคอมมิวนิสต์อย่างลับ ๆ ในพ.ศ. 2514 กับทั้งพรรคจีนคอมมิวนิสต์เริ่มมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นในอันที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศในเอเชียโดยทั่วไป

     จุดเปลี่ยนที่สำคัญในหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ก็คือผลการออกเสียงเกี่ยวกับความเป็นตัวแทนของจีนในสหประชาชาติในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 26 ในปีพ.ศ. 2514 คือรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้รับชัยชนะ มีผลทำให้รัฐสมาชิกในสหประชาชาติจำนวนไม่น้อยที่หันไปรับรองรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์บนผืนแผ่นดินใหญ่ ทำให้สถานะของรัฐบาลจีนไต้หวันอ่อนตัวลงไปอย่างชัดเจน

     รัฐบาลไทยในสมัยนั้นมี จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี และ ดร. ถนัด คอมันตร์ เป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ในวันที่มีการลงคะแนนออกเสียง “ความเป็นตัวแทนของจีนในสหประชาชาติ” คณะผู้แทนไทยก็ยังออกเสียงสนับสนุนรัฐบาลสาธารณรัฐจีนในไต้หวันต่อไป แต่เมื่อร่างข้อมตินั้นตกไป และมีการนำเสนอร่างข้อมติให้รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นตัวแทนในสหประชาชาติ ดร. ถนัด คอมันตร์ ซึ่งยังประชุมสหประชาชาติอยู่ ได้สั่งให้คณะผู้แทนไทยงดเว้นออกเสียงในร่างข้อมติดังกล่าว ซึ่งในอดีตไทยเราเคยคัดค้านการเป็นตัวแทนของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนตลอดมา การงดเว้นออกเสียงครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณอย่างเป็นทางการต่อรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ว่า ไทยมิต้องการแสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อไปแล้ว

     หลังจากนั้น ดร. ถนัด คอมันตร์ ได้มีคำสั่งเป็นการภายในให้ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ เริ่มเปิดเวทีการพบปะอย่างลับ ๆ กับผู้แทนถาวรสาธารณรัฐประชาชนจีนในขณะนั้น คือ เอกอัครราชทูตฮวง หัว เพื่อหาทางคลี่คลายอุปสรรคต่าง ๆ ที่มีมาแต่อดีต อันจะนำไปสู่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตต่อไป

     ในช่วงต่อมาอีก 2-3 ปี ทั้ง ๆ ที่สงครามในเวียดนามก็ยังไม่เสร็จสิ้น แต่ภาพในอนาคตของความสำคัญและบทบาทของสาธารณรัฐประชาชนจีนในเวทีการเมืองระหว่างประเทศปรากฏเด่นชัดมากขึ้น การติดต่อระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ไม่ใช่เรื่องการเมือง ก็เริ่มมีขึ้นตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนคณะนักกีฬาปิงปอง แบดมินตัน ฟุตบอล บาสเกตบอล คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แม้แต่การติดต่อขอซื้อน้ำมันดิบในราคามิตรภาพจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

     สำหรับความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น นอกเหนือจากประเทศในยุโรปตะวันตก ในทวีปอเมริกาและแอฟริกาแล้ว รัฐบาลต่าง ๆ ของประเทศในเอเชียก็เริ่มขับเคลื่อนที่จะเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนมากขึ้น ญี่ปุ่นสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515  ออสเตรเลียในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2515  มาเลเซีย ในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 ฟิลิปปินส์ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2518  สิงคโปร์และอินโดนีเซียเริ่มติดต่อกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นทางการ  แต่โดยที่ทั้งสิงคโปร์และอินโดนีเซียยังมีปัญหาภายในประเทศเกี่ยวกับเรื่องคนจีน จึงยังไม่มีการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตในช่วงนั้น

     ในขณะเดียวกัน ในเมืองไทยเองก็มีการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของรัฐบาล  ภายหลังจากที่มีรัฐบาลทหาร และรัฐบาลแบบประชาธิปไตยครึ่งใบติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ก็ได้เกิดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบโดยมี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช  เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2518 และ พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศในขณะนั้น) เป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ

     นับเป็นบุญของเมืองไทยที่บังเอิญมีนายกรัฐมนตรีเป็นนักการเมืองอาชีพที่นอกเหนือจากการเป็นผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี สังคมศาสตร์ ศาสนาและศิลปวัฒนธรรม  แล้วยัง เป็นผู้รอบรู้การเมืองระหว่างประเทศเป็นอย่างดีมาเป็นหัวหน้ารัฐบาล และมีความกล้าหาญที่จะตัดสินใจปรับนโยบายการต่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่เสี่ยงกับความรู้สึกต่อต้านของหน่วยราชการบางหน่วยและประชาชนจำนวนไม่น้อย

     ในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2518 นายกรัฐมนตรีไทยได้แถลงในสภาผู้แทนราษฎรว่า ปรารถนาที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน คำแถลงนี้เป็นการส่งสัญญาณให้รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ทราบถึงนโยบายใหม่ และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ได้แสดงท่าทีตอบรับสนองคำแถลงนี้

     ความปรารถนาของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ที่จะปรับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน และระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา ดังปรากฏในคำแถลงนโยบายในรัฐสภาดังที่ได้กล่าวข้างต้น ได้รับแรงกระตุ้นเพิ่มขึ้นจากอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคในช่วงนั้น  กล่าวคือ กรณีเรือมายาเกซ

     ในบ่ายวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 เรือบรรทุกสินค้าและเวชภัณฑ์สหรัฐอเมริกาชื่อ มายาเกซ ถูกเขมรแดงยึดและลูกเรือถูกจับเป็นประกัน ระหว่างเดินเรืออยู่ในน่านน้ำใกล้ชายฝั่งกัมพูชาเพื่อมายังท่าเรือสัตหีบ สหรัฐอเมริกาจึงส่งนาวิกโยธินจากโอกินาวามายังฐานทัพอู่ตะเภา ในช่วงวันที่ 14-15 พฤษภาคม เพื่อช่วงชิงลูกเรือมายาเกซที่ถูกควบคุมตัวอยู่บนเกาะในเขตกัมพูชา

     การปฏิบัติการในการนี้ไม่เป็นผลสำเร็จ เจ้าหน้าที่สหรัฐเสียชีวิตไป 41 คน และสูญหายไปจำนวนหนึ่ง รัฐบาลไทยเห็นว่าเป็นการไม่ถูกต้องที่สหรัฐฯ ได้ใช้ดินแดนไทยเพื่อดำเนินการดังกล่าว และจากการตั้งข้อสังเกต สหรัฐฯ ก็ยอมรับว่าใช้ฐานทัพไทยจริง และอ้างว่าได้รับความเห็นชอบจากกองบัญชาการทหารสูงสุดของไทยแล้ว

     นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ จึงได้เชิญอุปทูตสหรัฐฯ  มาพบเพื่อมอบบันทึกช่วยจำประท้วงอย่างเป็นทางการต่อการกระทำของรัฐบาลสหรัฐฯ และเรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนกำลังดังกล่าวออกไปทันที

     ต่อมา พลตรีชาติชาย รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ได้เชิญอุปทูตสหรัฐฯ มาพบเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม เพื่อแจ้งเป็นทางการว่า โดยที่มีการละเมิดบูรณภาพแห่งดินแดนไทย รัฐบาลไทยจะทบทวนความร่วมมือและข้อผูกพันระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ทั้งหมด จนกว่าจะมีการถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากประเทศไทยอย่างสมบูรณ์ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2519 และในวันเดียวกันนั้น  ก็ได้มีคำสั่งให้เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน เดินทางกลับกรุงเทพฯ เพื่อร่วมในการทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐ (วิธีการเรียกทูตกลับโดยไม่กำหนดระยะเวลา เป็นวิธีการทางการทูตในการแสดงความไม่พอใจ)

     เอกอัครราชทูตไทยเดินทางออกจากกรุงวอชิงตันในวันที่ 19 พฤษภาคม และกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2518  ต่อมาประธานาธิบดีเจอรัล ฟอร์ด ของสหรัฐอเมริกา รายงานต่อรัฐสภา ชี้แจงถึงความจำเป็นที่สหรัฐฯ ต้องดำเนินการโดยฉับพลันและเข้าใจถึงปัญหาที่สร้างให้แก่รัฐบาลไทย สหรัฐฯ  และย้ำว่ายังคงมีนโยบายที่จะเคารพต่ออธิปไตยและเอกราชของไทย รวมทั้งให้คำมั่นว่าเหตุการณ์ทำนองนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก  ซึ่งในเรื่องนี้นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ได้ให้สัมภาษณ์แสดงความพอใจต่อการแถลงของประธานาธิบดี ฟอร์ด

     กรณีมายาเกซแสดงให้เห็นชัดถึงความเคารพต่อหลักการ ความเชื่อมั่นในจุดยืน และวิจารณญาณของนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในอันที่จะรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนไทย นอกเหนือไปจากนี้ ยังแสดงความเข้มแข็งและความเด็ดเดี่ยวที่จะยืนหยัดต่อสู้มิตรประเทศมหาอำนาจ เพื่อรักษาความถูกต้องชอบธรรมอันเป็นการแสดงให้เป็นที่ประจักษ์ถึงความเป็นตัวของตัวเองของนายกรัฐมนตรีไทยด้วย

     จากการที่เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน และมีตำแหน่งควบคู่เป็นผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติด้วย เดินทางกลับมาราชการที่กรุงเทพฯ เพราะกรณีเรือมายาเกซ ช่างสอดคล้องกับจังหวะที่ไทยกำลังจะขับเคลื่อนความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ

     วันหนึ่งในช่วงที่กลับมาราชการที่กรุงเทพฯ  รัฐมนตรีชาติชาย เรียกเอกอัครราชทูตไปพบที่ห้องทำงาน และบอกว่าเพิ่งไปพบนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์มา และเห็นพ้องต้องกันที่จะให้เอกอัครราชทูตในฐานะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ เดินทางไปเจรจากับผู้แทนรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนที่กรุงปักกิ่งเพื่อปรับปรุงสัมพันธภาพระหว่างรัฐบาลและประเทศทั้งสอง

     เพื่อให้บรรลุผลดังกล่าว ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติได้ขออนุมัติรัฐมนตรีฯ จัดตั้งกลุ่มทำงานในกระทรวงต่างประเทศขึ้น เพื่อศึกษา วิเคราะห์และจัดทำร่างความตกลงปรับความสัมพันธ์ที่จะนำไปเจรจากับฝ่ายจีน กับทั้งยังได้ติดต่อผ่านทางคณะทูตถาวรจีนประจำสหประชาชาติ ขอทราบปฏิกิริยาของรัฐบาลจีน ในเรื่องที่ฝ่ายไทยพร้อมที่จะเปิดการเจรจาฟื้นฟูความสัมพันธ์

     ต่อมารัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้แสดงความพร้อมและยินดีต้อนรับผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ภายหลังวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2518 เพื่อเจรจากับฝ่ายจีนที่กรุงปักกิ่งเกี่ยวกับตัวบทแถลงการณ์ร่วมไทย-จีน  และจะมีการลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสองประเทศ ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 ขณะเดียวกัน ฝ่ายจีนก็ได้มอบร่างแถลงการณ์ของฝ่ายจีนให้แก่ฝ่ายไทยตามคำขอร้องของฝ่ายไทย

     ร่างของฝ่ายจีนมีสาระสำคัญ 3 ประเด็นด้วยกัน คือ
            1.  ยืนยันหลักปัญจศีล
            2.  รับรองว่ารัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายรัฐบาลเดียวของจีน
            3.  ปัญหาไต้หวัน ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน

     สำหรับฝ่ายไทย ข้อวิตกกังวลและประเด็นที่ต้องการความชัดเจนจากฝ่ายจีน คือ
            1.  การสนับสนุนของจีนต่อพรรคคอมมิวนิสต์ไทย
            2.  การถือสัญชาติของชาวจีนในประเทศไทย 

     คณะผู้แทนไทยซึ่งประกอบด้วย หัวหน้าคณะ คือ นายอานันท์ ปันยารชุน ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ นายชวาล ชวณิชย์ รองอธิบดีกรมการเมือง นายเตช บุนนาค หัวหน้ากองเอเชียตะวันออก กรมการเมือง นายสุจินดา ยงสุนทร เลขานุการโท กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และนายธนิต อัครสุต กองเอเชียตะวันออก ได้เดินทางไปถึงกรุงปักกิ่งในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2518

     คณะผู้แทนจีนประกอบด้วย เอกอัครราชทูต เคอ หัว อธิบดีกรมเอเชีย เป็นหัวหน้าคณะ นายเฉิง จุ้ยเชิง รองอธิบดีกรมเอเชีย และข้าราชการอื่น ๆ 

     ในวันแรกของการประชุม คือวันที่ 18 มิถุนายน คณะผู้แทนไทยได้เสนอร่างแถลงการณ์ร่วมของฝ่ายไทยให้ฝ่ายจีนพิจารณา และอธิบายเจตนารมณ์ของเอกสารดังกล่าว ก่อนหน้าการประชุมครั้งที่ 2 ในวันที่ 20 มิถุนายน ฝ่ายจีนได้แจ้งให้ฝ่ายไทยทราบว่า นายกรัฐมนตรี โจว เอิน ไหล ขอเชิญ นายกรัฐมนตรีไทยไปเยือนจีนเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 เพื่อร่วมลงนามในแถลงการณ์ร่วมระหว่าง 2 ประเทศ และเมื่อเริ่มการประชุมผู้แทนจีน ได้นำเสนอร่างแถลงการณ์ร่วมของจีนโดยรวมข้อเสนอในร่างของไทยเข้าไว้ในฉบับเดียวกัน

     ตลอดระยะเวลาการเจรจา หัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้ยึดหลักนโยบายรัฐบาลที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลโดยเคร่งครัด คือ

            1.  ให้ได้มาซึ่งแถลงการณ์ร่วมที่ทัดเทียมกับมาเลเซียและฟิลิปปินส์ทำขึ้นกับจีน โดยปรับให้เข้ากับสถานการณ์ในประเทศไทย และเพื่อผลประโยชน์มากที่สุด
            2.  มิให้แสดงว่าไทยไม่ไว้ใจสาธารณรัฐประชาชนจีนจนกระทั่งจะเป็นการบาดหมางฝ่ายจีน
            3.  มิให้ปรากฏข้อความในแถลงการณ์ร่วมที่มีลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยามฝ่ายไต้หวัน

     การเจรจาเป็นไปในบรรยากาศที่สร้างสรรค์และเต็มไปด้วยไมตรีจิต  และมีข้อสังเกตดังต่อไปนี้

            1.  โดยสรุป สาระและหลักการในร่างแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน คล้ายคลึงกับที่มาเลเซียและฟิลิปปินส์ทำกับจีน แต่มีการปรับปรุงข้อความบางตอนให้หนักแน่นยิ่งขึ้น
            2.  เรื่องการไม่ใช้กำลังหรือแสดงท่าทีข่มขู่ว่าจะใช้กำลังในกรณีพิพาท แต่จะใช้วิธีสันติเท่านั้น เป็นการขยายความของหลักปัญจศีล  ฝ่ายไทยได้พยายามจะเติมข้อความเกี่ยวกับกฎบัตรสหประชาชาติเข้าไว้ด้วย แต่ยอมถอนข้อความ เมื่อฝ่ายจีนขอร้องว่า จีนไม่สามารถรับกฎบัตรสหประชาชาติบางข้อที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ โดยเฉพาะข้อความที่ให้เอกสิทธิ์บางประการแก่มหาอำนาจรวมทั้งจีนเองด้วย
            3.  ฝ่ายไทยได้ยินยอมเปลี่ยนข้อความที่อาจแสดงว่าไทยไม่ไว้ใจจีน หรือข้อความที่ฝ่ายจีนอ้างว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศที่สาม ใช้เป็นเครื่องบั่นทอนความเข้าใจอันดีระหว่างไทยกับจีน
            4.  เรื่องรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของจีนแต่รัฐบาลเดียว ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และการปิดสำนักผู้แทนของทางการ ณ ไทเปภายในหนึ่งเดือน เป็นไปตามสูตรมาตรฐานที่มาเลเซียและฟิลิปปินส์ตกลงกับจีน
            5.  เรื่องการรับรองซึ่งกันและกัน ฝ่ายจีนแถลงรับรองรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและเห็นชอบที่จะเคารพเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศไทย
            6.  เรื่องสัญชาติจีน โดยที่กฎหมายสัญชาติของไทยยอมรับการถือสองสัญชาติ ฝ่ายจีนจึงแถลงรับทราบว่า ชาวจีนที่พำนักอยู่ในประเทศไทยได้อยู่ร่วมกับชาวไทยมานับเป็นศตวรรษอย่างราบรื่นและฉันมิตร โดยเคารพนับถือในกฎหมายของบ้านเมืองและขนบธรรมเนียมประเพณีชาวไทย และฝ่ายจีนแถลงแต่เพียงฝ่ายเดียวว่าจีนไม่รับรองการถือสองสัญชาติ ส่วนกรณีชาวจีนผู้ซึ่งพำนักอยู่ในประเทศไทยที่เลือกจะรักษาไว้ซึ่งสัญชาติจีนด้วยความสมัครใจของตนเองนั้น รัฐบาลจีนโดยปฏิบัติตามนโยบายที่มีมาอย่างสม่ำเสมอ จะเรียกร้องให้บุคคลเหล่านั้นปฏิบัติตามกฎหมายแห่งราชอาณาจักรไทย เคารพขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีของชาวไทย และอยู่ร่วมกับชาวไทยอย่างฉันมิตร สิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของบุคคลดังกล่าวจะได้รับความคุ้มครองโดยรัฐบาลแห่งประเทศจีน และความรับนับถือจากรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

     เมื่อการเจรจาร่างแถลงการณ์ร่วมเสร็จสิ้นเรียบร้อย หัวหน้าคณะผู้แทนไทยและเอกอัครราชทูตเคอ หัว อธิบดีกรมเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศจีน ได้ลงนามย่อเป็นทางการ โดยเป็นที่เข้าใจกันว่า ทั้งสองฝ่ายจะนำเสนอรัฐบาลของตนเพื่อพิจารณาขั้นสุดท้าย คณะผู้แทนไทยได้เดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อค่ำวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2518

     ในบ่ายวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2518  รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศและหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้ไปรายงานเรื่องการเจรจาและชี้แจงร่างแถลงการณ์ร่วมต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ   และเมื่อสภาความมั่นคงฯ ให้ความเห็นชอบแล้ว ในวันรุ่งขึ้น คือวันอังคารที่ 24 มิถุนายน จึงได้มีการเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติเป็นทางการในเรื่องร่างแถลงการณ์ร่วมและขออนุมัติให้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีนำคณะผู้แทนไทยไปเยือนกรุงปักกิ่งอย่างเป็นทางการ เพื่อลงนามแถลงการณ์ร่วมกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนในนามของรัฐบาลทั้งสองต่อไป

     คณะผู้แทนไทย นำโดยนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช  พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ และผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ พร้อมด้วยปลัดกระทรวงเกือบทุกกระทรวง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อีกจำนวนมาก ได้เดินทางเข้ากรุงปักกิ่งในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2518

     การต้อนรับของฝ่ายจีนเป็นไปอย่างสมเกียรติ และสมกับที่ประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย มีการติดต่อและสัมพันธ์กันมาร่วมกว่าพันปี คนไทยคนใดที่ได้อยู่และเห็นพิธีต้อนรับ ณ สนามบินกรุงปักกิ่ง จะต้องซาบซึ้งและประทับใจกับเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างลืมมิได้

     โดยที่ในระยะนั้น นายกรัฐมนตรี โจว เอิน ไหล ของจีน พักรักษาตัวอยู่และไม่แข็งแรงพอที่จะทำหน้าที่เจ้าภาพได้ จึงได้มอบหมาย เติ้ง เสี่ยวผิง รองนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพแทนตน และเป็นหัวหน้าคณะของจีนพบปะและเจรจากับนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์

     ในขณะเดียวกัน ความชราและสุขภาพของประธานเหมา เจ๋อตุง ก็ทำให้ไม่ทราบล่วงหน้าว่า นายกรัฐมนตรีของไทยจะได้มีโอกาสเข้าพบประธานเหมาได้หรือไม่ (คือไม่มีในกำหนดการ) แต่ในเช้าวันที่ 1 กรกฎาคม ระหว่างกำลังเยือนสถานที่แห่งหนึ่ง   ทางฝ่ายไทยได้รับแจ้งเป็นทางการว่า  ประธานเหมาพร้อมที่จะพบสนทนากับนายกรัฐมนตรี  ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  ทันที่นั้น    นายกรัฐมนตรี  ม.ร.ว. คึกฤทธิ์   รัฐมนตรีต่างประเทศชาติชาย ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ และนายประกายเพชร อินทุโสภณ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ก็ได้เดินทางไปจงหนานไห่

     เมื่อไปถึงและถูกนำตัวเข้าไปที่ห้องโถง ประธานเหมา และล่ามแปลยืนต้อนรับอยู่ในห้องโถง คณะของไทย 4 คน ต่างเดินเข้าแถวไปจับมือกับประธานเหมา เสร็จแล้วเฉพาะนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ และรัฐมนตรีชาติชาย 2 คนเท่านั้น ที่ได้รับเชิญให้ไปสนทนากับประธานเหมาเป็นการเฉพาะ

     โดยที่ฝ่ายไทย ไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าร่วมฟังการสนทนา จึงไม่มีการจดบันทึกสาระของการสนทนา นอกจากคำบอกเล่าที่นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ถ่ายทอดให้ผู้ใกล้ชิดได้รับทราบเป็นการส่วนตัวว่า  ประธานเหมาให้การต้อนรับและสนทนาอย่างเป็นกันเอง  ส่วนนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ก็เข้าพบและวิสาสะในลักษณะถ่อมตนกับผู้ที่มีวัยสูงกว่า

     ในหนังสือ 35 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ผู้เขียน อาจารย์จุลชีพ ชินวรรโณ ได้อ้างคำบอกเล่าว่า  ประธานเหมาเริ่มการทักทายว่า  “ท่านนายกฯ มาหาคอมมิวนิสต์อย่างข้าพเจ้า ไม่รู้สึกกลัวหรือ” ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ตอบว่า “หามิได้ ข้าพเจ้าเลื่อมใสท่านประธานเหมามานานแล้ว ข้าพเจ้ามิใช่คอมมิวนิสต์ แต่ข้าพเจ้ามาหาเพื่อน” ทั้งสองสนทนากันเกือบ 1 ชั่วโมง ประธานเหมากล่าวในตอนท้ายว่า “ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง จะลุกจะนั่งก็ปวด อีกไม่นานก็จะตาย” ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ตอบว่า “อย่าพูดเช่นนี้เลย โลกมนุษย์มิอาจขาดผู้ร้ายหมายเลขหนึ่งอย่างท่านได้” ประธานเหมาหัวเราะชอบใจ

     ท่านนายกรัฐมนตรี พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้นำประเทศไทยไปสู่ระบบการเมืองโลกใหม่ด้วยความสง่าผ่าเผย ท่านมองเห็นและเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างดี และใช้โอกาส จังหวะเวลา การทูตและยุทธศาสตร์ ในการปรับสถานะของประเทศชาติให้ทันกับความผันแปรขนานใหญ่ของเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

     ท่านไม่ลืมเพื่อนเก่า แต่แสวงหาเพื่อนใหม่ ท่านทราบดีว่าความเป็นอริซึ่งกันและกันระหว่างไทยกับจีน  ส่วนหนึ่งเป็นผลโดยตรงจากการที่ไทยเราถูกดูดโดยสถานการณ์ไปเข้าวงจรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งในระยะนั้นเป็นศัตรูกับจีน การแถลงนโยบายรัฐบาลไทยในรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์จึงได้กล่าวว่า

     “รัฐบาลนี้จะส่งเสริมการดำรงอยู่ร่วมกันโดยสันติ โดยยึดหลักการที่จะเป็นมิตรกับทุกประเทศที่มีเจตนาดีต่อประเทศไทย ไม่คำนึงถึงความแตกต่างในอุดมการณ์ทางการเมืองและระบบการปกครอง และจะยึดหลักความยุติธรรมและความเสมอภาคเป็นสำคัญ ทั้งจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกันเพื่อให้เกิดดุลยภาพในความสัมพันธ์กับประเทศอภิมหาอำนาจ รัฐบาลนี้จะดำเนินการเพื่อให้มีการรับรองและมีความสัมพันธ์เป็นปกติกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จะให้มีการถอนทหารต่างชาติออกจากประเทศไทยในระยะเวลา 1 ปี โดยคำนึงถึงสถานการณ์ในภูมิภาคนี้ และเจรจากันอย่างฉันมิตร”

     ข้อความดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนไปทั้งสหรัฐอเมริกา (เพื่อนเก่า) และจีน (เพื่อนใหม่) ว่าไทยกำลังพยายามจะแสวงหาความสมดุลระหว่างมหาอำนาจทั้งสอง โดยจะลดระดับความสัมพันธ์ทางทหารกับสหรัฐฯ และจะเปิดความสัมพันธ์เป็นปกติกับจีน สามสิบหกปีผ่านมาหลังจากแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 ไทยก็ยังสามารถคบค้ากับทั้งสองประเทศได้ในระดับใกล้เคียงกัน และกับไต้หวันเพื่อนเก่า ไทยก็มิได้กระทำใด ๆ ในอันที่จะแสลงน้ำใจไปมากกว่าที่จำเป็น คือ การยกเลิกความสัมพันธ์ทางการทูต

     ผลลัพธ์ของการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้ปัญหาการที่พรรคคอมมิวนิสต์ไทยจับอาวุธขึ้นสู้กับฝ่ายรัฐบาลด้วยการสนับสนุนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน อ่อนตัวจนสลายไปเอง และปูทางให้ไทยสามารถปรับความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนลาวไปได้ด้วยความราบรื่น นอกจากนั้นยังส่งผลให้การเจรจาเปิดความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นไปได้โดยไม่ยากนัก

     ปัจจุบันความสัมพันธ์ไทย-จีนในทุกด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ การค้า ศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งการทหาร เป็นไปอย่างแน่นแฟ้น การติดต่อทั้งระดับประมุขของประเทศ รัฐบาล องค์กรเอกชนและประชาชน เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ และนำประโยชน์มาสู่ประเทศทั้งสองอย่างน่าพึงพอใจ จนทำให้คำว่า “ไทย-จีนมิใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” กลับมามีความหมายจริงจังอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย-จีน

     วันนี้วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554 มีการเฉลิมฉลองในวาระ 100 ปี ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช พวกเรามาพร้อมกันด้วยความรัก เคารพ และภาคภูมิใจ เพื่อสดุดีความเป็นรัฐบุรุษ ผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลของท่านอัจฉริยะบุรุษผู้นี้ ชื่อของท่านจะจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ในฐานะผู้บุกเบิกเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน อันนำประโยชน์คุณูประการมาสู่รัฐบาล ประชาชนของทั้งสองประเทศ ความทรงจำในคุณงามความดีของท่านจะอยู่ในหัวใจของเราตลอดไป