รวมปาฐกถาภาษาไทย สารจาก
นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย
ตีพิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าว Transparency Thailand Newsletter ปีที่
๓ ฉบับที่ ๑ เดือนมิถุนายน ๒๕๔๔
ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นเป็นปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดของสังคมไทยในปัจจุบัน รากเหง้าของคอรัปชั่นได้แผ่ขยายและฝังลึกไปสู่สังคมทุกภูมิภาค
บ่มเพาะและเพิ่มพูนปัญหาของชาติในทุกด้าน ทั้งด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ คอรัปชั่นส่งผลเสียต่อคนในสังคมทุก
ๆ คน ไม่ว่าคนคนนั้น จะดีหรือเลว สุจริตหรือทุจริต คอรัปชั่นทำให้เกิดความอยุติธรรมขึ้นในสังคม
เพราะในกระบวนการทุจริตนั้น กำลังมีคนถูกโกง ถูกเอาเปรียบ และได้รับความเดือดร้อน
คอรัปชั่นทำให้การบริหารงานในภาครัฐ และภาคเอกชนไม่เป็นไปตามกติกา ประเทศชาติต้องสูญเสียรายได้ที่พึงมี
ประชาชนผู้เสียภาษีต้องแบกรับภาระ และที่สำคัญ คอรัปชั่นทำให้เกิดความไม่แน่นอน สมาชิกในสังคมเกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน
ผู้คนเสื่อมศรัทธาในกติกาและกฎหมาย เกิดความขัดแย้งแตกแยกจนสังคมล้มเหลว และเมื่อสังคมใดล้มเหลว
สังคมนั้นก็จะอยู่รอดต่อไปมิได้ และไร้ศักยภาพในการพัฒนา ผู้คนปราศจากความสุข ขาดคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้ง
ๆ ที่ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทยมานานหลายสิบปีแต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้
เพราะเรายังไม่มีการแก้ไขปัญหากันอย่างเป็นระบบ ในอดีตที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขปัญหาแบบแยกส่วน
มุ่งเน้นการปราบปราม แต่ละเลยการป้องกัน โดยเฉพาะการป้องกันการแก้ไขปัญหาด้วยมิติด้านค่านิยม
วัฒนธรรม ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นจึงแยกไม่ออกจากประเด็นเรื่องค่านิยม วัฒนธรรม
ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับหลักปฏิบัติด้านคุณธรรมและจริยธรรมของคนในสังคม ปัจจุบันค่านิยมของสังคมกำลังเปลี่ยนไปเนื่องจากสภาวะการแข่งขันทางเศรษฐกิจและลัทธิบริโภคนิยมที่ส่งเสริมให้คนมีค่านิยมเห็นเงินตราเป็นพระเจ้า
และเป็นที่มาของอำนาจ เกียรติยศ และชื่อเสียง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแยกแยะระหว่างอะไรถูก
อะไรผิด อะไรดี อะไรเลว และอะไรควรทำและไม่ควรทำ และเมื่อใดคนในสังคมเริ่มมีความเห็นว่า
คอรัปชั่นเป็นวิถีหนึ่งของชีวิต และจำยอมว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม เมื่อนั้นสังคมก็จะหมดอนาคต
มีแต่ผุและพังต่อไป การแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่นด้วยจริยธรรมและค่านิยม จึงเป็นสิ่งจำเป็นต้องแก้ไขควบคู่กันไปในระยะยาว
ด้วยการเสริมสร้างกลไกทางสังคมที่ทำให้คอรัปชั่นทำได้ยากและเสี่ยงมากขึ้นในทางสังคมและชื่อเสียงด้วยมาตรการต่อต้านทางสังคม
(Social Sanction) องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทยพยายามดำเนินกิจกรรมเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกของคนในสังคมต้องไม่อดทนและไม่จำยอมต่อการทุจริตคอรัปชั่น
แต่ต้องอดทนและมุ่งมั่นในการมุ่งหน้าแก้ปัญหา ทั้งนี้การทำงานใหญ่ต้องใช้ความพยายาม
และใช้เวลาเพื่อทุ่มเทอย่างจริงจังและต่อเนื่องด้วยการประสานความร่วมมือรวมพลังจากทุกฝ่ายในสังคม อานันท์
ปันยารชุน |