รวมปาฐกถาภาษาไทย อานันท์
ปันยารชุน มองโลกหลังวินาศกรรมสหรัฐ 'เศรษฐกิจโลกทรุดไป ๖
เดือนถึง ๑ ปี สัมภาษณ์พิเศษ นายอานันท์ ปันยารชุน หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔ - อยากทราบความคิดเห็นต่อการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่
๑๑ กันยายน
เรื่องก่อการร้ายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาในประวัติศาสตร์เป็นเวลานานแล้ว
และนิยามได้ยากว่าอะไรคือการก่อการร้าย ถึงกับมีคำพูดเปรียบเทียบว่าในแง่มุมมองมุมมองหนึ่ง
ในสายตาของคนคนหนึ่ง หรือในสายตาของกลุ่มกลุ่มหนึ่ง ก็เป็นผู้ก่อการร้าย แต่ในสายตาของฝ่ายตรงกันข้าม
กลับมองเป็นผู้ต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ปัญหานี้ก็ถกเถียงกันมานาน แล้วมันก็อยู่ในประวัติศาสตร์
ที่เราคุ้นเคยกันมา เช่น สมัยที่มีคำแถลงที่เราเรียกว่า คำประกาศ บัลโฟร์ (ค.ศ. ๑๙๑๗)
ในอังกฤษ ซึ่งนำไปสู่การสถาปนารัฐอิสราเอล เพราะในประวัติศาสตร์คนยิวเป็นเชื้อชาติมากว่าสองพันปี
เป็นเชื้อชาติที่อยู่ที่แถวตะวันออกกลาง และครั้งหนึ่งก็เคยอยู่อย่างสงบสุขกับพวกอิสลาม
แต่เนื่องจากเรื่องของศาสนา เนื่องจากเรื่องอะไรต่างๆ ก็ปรากฏว่าคนยิวต้องลี้ภัยออกไปอยู่ทั่วโลก
ทุกหนทุกแห่ง ไม่มีชาติของตัวเอง คนยิวที่ไปอยู่ทั่วโลกแล้วยังไปมีฐานะดี
เป็นคนฉลาด มีชื่อเสียงทั้งด้านการธนาคาร ทางด้านสื่อ การเมือง เพราะฉะนั้นจึงมีอิทธิพลมากหน่อย
ดังนั้น ตอนที่จะไปสถาปนาอิสราเอลขึ้นมา คนยิวก็มีการตั้งแก๊งเหมือนกัน อย่างอดีตนายกรัฐมนตรีอิสราเอล
เบกิน (นายเมนาเฮม เบกิน อดีตนายกรัฐมนตรีอิสราเอล) อย่างที่อังกฤษเองก็เคยมีแก๊งที่อาจเรียกว่าผู้ก่อการร้ายได้เหมือนกัน
ตอนที่อังกฤษครอบครองปาเลสไตน์อยู่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และคนยิวที่หนีภัยอื่นๆ
จากแถวยุโรปตะวันตก ยุโรปตะวันออก ไปตั้งรกรากอยู่ที่ปัจจุบันเป็นของปาเลสไตน์ ก็มีการต่อสู้แบบกองโจรหรือผู้ก่อการร้ายเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นพวกผู้นำอิสราเอลในปัจจุบันหรือผู้นำปาเลสไตน์ปัจจุบัน ครั้งหนึ่งในชีวิตในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ
ต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของชาติของตัวเอง ก็ต้องใช้วิธีการของการก่อการร้าย
ในแอฟริกา ประชาชนลุกฮือขึ้นมาเพื่อที่จะกอบกู้อิสรภาพ ก็มีการก่อการร้าย
ปัจจุบันก็มีทั่วไปหมด ทั้งในอินเดีย ปากีสถาน ในแคชเมียร์ ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์
อินโดนีเซีย แต่ที่มันแตกต่างไปก็คือว่าการก่อการร้ายวันที่ ๑๑ กันยายน ที่นิวยอร์กนั้น
แตกต่างจากการก่อการร้ายในอดีตอยู่สอง-สามประการ ประการแรกคือ ในอดีตเวลาก่อการร้าย
จะมุ่งไปที่ว่าต้องการฆ่าคนนั้น ฆ่าคนนี้ ประการที่สองคือต้องการทำให้ทรัพย์สินหรือวัตถุที่ตัวเองต้องการให้เสียหาย
โดยจะมีจุดประสงค์ที่ค่อนข้างจะแคบ มีวงจำกัด และรู้ว่าต้องการฆ่าใคร ประหารใคร ต้องการทำลายวัตถุอะไร
ไม่ว่าจะเป็นตึกรามบ้านช่อง สถานีตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นร้านสรรพสินค้า หรืออะไรก็แล้วแต่
และอยู่ในวงจำกัด ประการที่สามคือ ช่วยให้การต่อรองในการเจรจาในขั้นต่อไปนั้น
ตัวเองอยู่ในฐานะที่ดีขึ้น แต่การก่อการร้ายที่นิวยอร์กนั้น เป้าหมายไม่มีใคร
จะบอกว่าเป้าหมายคือต้องการฆ่าคนเป็นหมื่นๆ แต่ก็เป็นคนหมื่นแสนที่ตัวเองไม่รู้จัก
คนเหล่านั้นไม่ได้มีส่วนในการเป็นฝ่ายตรงกันข้าม ไม่เหมือนกับการก่อการร้ายต่อฝ่ายตรงกันข้ามโดยตรง
จะบอกว่าเป็นการก่อการร้ายต่อคนอเมริกันก็ไม่ถูก เพราะว่าชาติอื่นมีเยอะแยะ เพราะรู้ว่ามีคนชาติอื่นทำงานอยู่เยอะแยะ
เพราะฉะนั้นเป้าหมายไม่ได้อยู่ที่จำนวน ไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล ไม่ได้อยู่ที่ตัวเชื้อชาติ
อันที่สองเป้าหมายเรื่องของวัตถุ สถานที่ ก็ไม่ใช่ ตึกเวิลด์เทรดฯมันไม่ได้ทำอะไร
มันไม่ใช่สถานีตำรวจ ไม่ใช่จุดยุทธศาสตร์ หรือแม้แต่กระทรวงกลาโหมสหรัฐ หรือเพนตากอน
ก็อาจมีลักษณะใกล้กับเป็นจุดยุทธศาสตร์มากขึ้น แต่มันก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นในเมื่อจำนวนก็ไม่ใช่
ตัวบุคคลก็ไม่ใช่ สถานที่ก็ไม่ใช่ แล้วอะไร อันนี้สำคัญ อะไรก็คือว่า เป็นการทำลายสัญลักษณ์บางอย่าง
เป้าหมายก็คือ สัญลักษณ์ของอเมริกา กับสัญลักษณ์ของระบบที่ฝ่ายก่อการร้ายมีความรู้สึกว่าเป็นปฏิปักษ์และประหัตประหารตัว
สัญลักษณ์อันแรกก็คือว่า นิวยอร์ก ถือว่าเกือบจะเป็นเมืองหลวงของโลก โดยเฉพาะในแง่ของระบบการเงิน
และระบบการเงินนี้ มันมีอะไรที่เป็นสัญลักษณ์ดีๆ ด้านหนึ่งอาจเรียกว่า ตลาดหลักทรัพย์วอลล์สตรีต
ที่มีชื่อเสียงกิตติศัพท์ของการเป็นถนนการเงิน ถนนธุรกิจการเงินที่เป็นที่รู้กันทั่วโลก
และยังเป็นเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ที่จะต้องมีบริษัทธุรกิจการเงิน ธุรกิจการค้าอยู่ในตึกมากมาย
เป็นสัญลักษณ์ของความร่ำรวยของอเมริกัน ของนิวยอร์ก ต้องเรียกว่าเป็นสัญลักษณ์ของระบบทุนนิยม
ถ้ามองให้ลึกซึ้งแล้ว ระบบทุนนิยมใครเป็นผู้เกื้อกูล ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์มาก ก็เผอิญชนชาติยิวซึ่งมีความเก่งกาจทางธุรกิจ
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการเงิน หรือธุรกิจการค้า เพราะฉะนั้นก็เกิดจากความคิดที่ว่าระบบทุนนิยมนั้น
๑.เป็นระบบของสหรัฐอเมริกา ที่อเมริกาเผยแพร่จะให้ไปทั่วโลก ๒.นำความร่ำรวยมั่งคั่งมาสู่อเมริกาและมาสู่คนยิว
และ ๓.ระบบทุนนิยมนี้ สภาวะปัจจุบันคือทุนนิยมบวกกับระบบโลกาภิวัตน์แล้ว ในแง่มุมมองของฝ่ายหนึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อกลุ่มที่คัดค้าน
ส่วนที่เพนตากอนก็เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจทางทหารของอเมริกา ในการวางแผนคราวนี้นั้น
ผมมองว่าการทำลายสัญลักษณ์นี้ ถือว่าเป็นลักษณะการวางแผนที่ต้องการทำร้ายจิตใจของประชาชนคนอเมริกันมากที่สุด
เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าอเมริกาไม่สามารถที่จะป้องกันตัวเองได้ ไม่ว่าจะมีกำลังทหาร
ไม่ว่าจะมีกำลังทางการเงิน ไม่ว่าจะมีกำลังในทุกๆ อย่างในโลกนี้ และตัวเองก็อยู่ในฐานะที่ล่อแหลมต่อการถูกโจมตีเช่นเดียวกัน
สิ่งเหล่านี้ทำให้การก่อการร้ายเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน มันแตกต่างกับการก่อการร้ายในอดีตหรือในประวัติศาสตร์
- เป็นจุดเริ่มต้นของการปะทะกันระหว่าง ๒ อารยธรรมหรือไม่
ไม่ แต่ถ้าหากทำอะไรไม่รอบคอบ
ถ้าเป็นการตอบโต้โดยความโกรธ ความแค้น ความพยาบาท ความอาฆาต อย่างนั้นอาจจะนำไปสู่การต่อสู้ระหว่างอารยธรรมสองอารยธรรมได้
แต่เราต้องเข้าใจว่าระหว่าง ๓-๔ วันแรกนั้น ประธานาธิบดีบุชไม่มีทางเลือกทางใดทางหนึ่ง
เพราะประชาชนเสียขวัญแล้ว ขวัญแตกกระจุยแล้ว เพราะฉะนั้นมีอยู่ทางเดียวทางด้านจิตวิทยาคือการทำให้ประชาชนมีขวัญดีขึ้นมาใหม่
หรือตั้งสติได้ ก็คือต้องพูด ต้องทำ ปลุกกำลังใจอย่างเดียว เหมือนกับเป็นเชียร์ลีดเดอร์
ตอนนั้นประชาชนหมดหวัง ประชาชนไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้น และคนอเมริกาไม่เคยถูกโจมตีอย่างนี้เลย
เพิร์ล ฮาร์เบอร์ ก็เป็นการโจมตีฐานทัพเรือ มาโจมตีเรือรบที่จอดอยู่ในลำน้ำ อันนั้นเป็นการทำสงครามแบบธรรมดา
มีเป้าหมายที่ชัดเจน ขณะเดียวกันก็มีผลพลอยได้ที่จะทำให้คนอเมริกันหวั่นไหวและสั่นสะเทือนในแง่ของจิตใจมาก
แต่กว่าจะรู้ก็เหตุการณ์เลยมาแล้ว ๓ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง หรือเห็นอีกทีก็หน้าหนังสือพิมพ์วันรุ่งขึ้น
แต่คราวนี้เป็นครั้งแรกที่เห็นเลยว่าเครื่องบินชน เพราะฉะนั้นความสั่นสะเทือนใจก็มีมาก
บุชก็ต้องออกมาในเรื่องของการแก้แค้น เรื่องของการดำเนินการต่างๆ ที่จะเอาผิดกับพวกนี้
แต่เราจะเห็นได้ว่าแต่ละวัน แต่ละอาทิตย์นั้น ถ้อยคำของบุชก็อ่อนลง อ่อนลง สี่ห้าวันแรกก็จะพูดถึงแต่เรื่องการแก้แค้น
การตอบโต้ ว่าจะต้องนำตัวมาลงโทษให้ได้ วันต่อๆ มาก็พูดถึงเรื่องของความยุติธรรม
ลักษณะของผู้นำเขาเก่ง เขาสามารถจับชีพจรของคนได้ เขารู้ว่าขณะนั้นคนต้องการอะไร
ชีพจรของคนมันเต้นไม่เหมือนกัน สามสี่วันหลังจาก ๑๑ กันยายนเต้นอีกอย่าง พอมาเริ่มตั้งสติได้ก็เต้นอีกอย่าง
อีกสองอาทิตย์ สามอาทิตย์ให้หลังก็เต้นอีกอย่าง เพราะฉะนั้นผู้นำของสหรัฐอเมริกาก็จับชีพจร
สี่ห้าวันแรกก็ออกมาแรง เพื่อให้ขวัญที่หายไปกลับคืนมา พอเริ่มตั้งสติได้ ก็เริ่มใช้เหตุผลมากขึ้น
ว่าไม่ใช่เรื่องของการแก้แค้นพยาบาท แต่เป็นเรื่องของการต้องนำความยุติธรรมกลับคืนสู่โลก
โดยว่าสงครามครั้งนี้ไม่ใช่สงครามที่ทำกันแบบในอดีต ไม่ใช่สงครามที่ดูในทีวีแล้วเห็นชัดว่ามีการโจมตีทางอากาศที่โคโซโวเป็นอย่างไร
โจมตีอิรักเป็นอย่างไร มีกองทัพบกเข้าไป ที่ใช้คำว่า war นั้น จริงๆ แล้วไม่ได้หมายความว่าสงครามอย่างเดียว
อย่างในอดีตที่เคยใช้คำว่า war of property ประกาศสงครามกับความจน หรือ war on drugs
ประกาศสงครามกับยาเสพติด แต่เผอิญคำว่า war ภาษาไทยแปลว่าสงคราม พอมาใช้คำว่าสงคราม
คนไทยก็เลยหวั่นไหวไปด้วย ซึ่งอันที่จริงแล้ว war ในที่นี้เป็นเพียงการประกาศการต่อสู้
การต่อสู้กับความไม่ดี ความร้ายเหล่านี้ ทั้งด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเงิน
ด้านการทูต ด้านการข่าวทุกอย่าง ส่วนการระดมพลนั้น เป็นลักษณะที่เรียกว่าเป็นการข่มขวัญมากกว่า
เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่าตัวผู้นำของเขาสามารถจับชีพจรความรู้สึกของคนได้ ตอนที่ฟังข่าวว่า
ทางยุโรปก็เตือนสติแล้ว อิสลามก็เตือนสติแล้วว่าอย่าทำอะไรผลุนผลัน อย่าทำอะไรโฉ่งฉ่างเกินไป
มิฉะนั้นจะนำไปสู่ข้อยุติที่ว่าเป็นสงครามระหว่างอารยธรรม ตอนนี้บุชออกมาพูดแล้วว่า
ไม่ใช่บิน ลาเดน คนเดียว แต่รวมถึงเครือข่ายของบิน ลาเดน ด้วย หมดจากนี้แล้วก็มีเครือข่ายอื่นๆ
ด้วย ดังนั้น เราต้องเข้าใจว่าทุกรัฐบาลทุกประเทศที่ให้การสนับสนุนการปราบปรามผู้ก่อการร้ายนั้น
เขาก็มีปัญหากันทั้งนั้น อังกฤษก็มีปัญหาเรื่องการก่อการร้ายของพวกไอร์แลนด์ ฝรั่งเศสก็มีปัญหาการก่อการร้ายของพวกแอลจีเรีย
อียิปต์ก็มีปัญหา ซาอุฯ จีน รัสเซียก็มีปัญหา เพราะฉะนั้นเมื่อทุกคนพอพูดเรื่องการก่อการร้าย
นอกเหนือจากวันที่ ๑๑ กันยายนแล้ว ทุกคนก็มีปัญหา อินเดียก็มี ปากีสถานก็มี เพราะฉะนั้นทุกประเทศมีหมด
ดังนั้นเวลาพูดว่าเปิดฉากการต่อสู้กับการก่อการร้าย ตัวตั้งที่ทุกคนรับได้ก็อาจจะเป็นวันที่
๑๑ กันยายนที่นิวยอร์ก แต่เสร็จแล้วทุกคนก็มีระเบียบวาระเป็นของตัวเอง ทรรศนะต่อคำปราศรัยของนายกรัฐมนตรีโทนี่
แบลร์ แห่งอังกฤษ ผมว่าเป็นลักษณะของ(การทำ) สงครามที่ผมไม่อยากใช้คำว่าสงครามจิตวิทยา
แต่เป็นสงครามที่มันต้องเริ่มด้วยการขู่กันทางคำพูด ด้วยการวางยุทธศาสตร์ว่าการพูดแนวนี้แนวนี้
ต้องการให้เกิดผลอะไรขึ้น อย่างเช่นตอนแรกออกมาบอกว่า รัฐบาลทาลิบันต้องยอมส่งตัวบิน
ลาเดน ออกมา พอปากีสถานเข้าไปหา บอกว่าอเมริกาไม่ยอมแน่ หากไม่ยอมส่งตัวก็จะถูกโจมตีแน่
อย่าไปคิดว่าเจรจาได้ ทาลิบันก็ออกมาบอกว่าไม่รู้ด้วยซ้ำว่า บิน ลาเดน อยู่ที่ไหน
แต่พอทั้งอเมริกัน ทั้งอังกฤษ ทั้งนาโต้ ทั้งอียูพูดมากขึ้น ได้รับการสนับสนุนจากประเทศต่างๆ
มากขึ้น ทางทาลิบันก็ออกมาบอกว่ารู้ว่าบิน ลาเดน ตอนนี้อยู่ที่อัฟกานิสถาน อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของเขา
แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยที่อยู่ได้ เพื่อความปลอดภัยของบิน ลาเดน ฝ่ายหนึ่งก็ลดลง
อีกฝ่ายก็ขึ้นเสียงมากขึ้น เหมือนมวยไทยที่เรียกว่าต้องมีการดูท่าทีก่อนที่จะลงมือชก
ขณะนี้ก็เรียกว่าอยู่ในระยะนั้นเท่านั้น ถ้าหากเห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งกำลังขวัญเสีย
อีกฝ่ายหนึ่งชักจะเสียเปรียบ ถึงจะจู่โจม แต่บุชเองก็ออกมาบอกแล้วว่าจะไม่ใช่เป็นการบอมบ์
แต่เป็นการส่งคอมมานโดเข้าไปโจมตีเป็นจุดๆ ไป หรือช่วยเหลือฝ่ายพันธมิตรฝ่ายเหนือ
และย้ำอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นสงครามที่ใช้เวลายาวนานมาก ก็เหมือนกับสงครามการต่อสู้กับความจนหรือสงครามต่อสู้กับยาเสพติด
ที่ไม่มีวันจบ เพราะแต่ละประเทศก็มีปัญหาของตัวเอง แต่ประเด็นสำคัญคือเราต้องเรียนรู้ว่า
ทำไมพวกนี้ถึงต้องยอมตายเพื่ออุดมการณ์บางอย่าง หรือเพื่อแสวงหาสิ่งที่ตัวเองต้องการบางอย่าง
แม้แต่อเมริกาเองก็ต้องนั่งคิดว่า ทำไมถึงเอาชนะสงครามเวียดนามไม่ได้ ทั้งๆ ที่อำนาจทางทหารมากกว่าเป็นร้อยเป็นพันเท่า
ทำไมคนเวียดนามถึงไม่ยอมโงหัว อังกฤษก็ต้องคิดว่าทำไมไอริชถึงไม่ยอมโงหัว
รัสเซียก็ต้องคิดว่าทำไมเชชเนียถึงไม่ยอมโงหัว หลายประเทศก็ต้องคิดเรื่องนี้ ถ้าไม่ถึงข้อยุติที่ว่า
เขาไม่ยอมโงหัวเพราะ ๑.เขามีอุดมการณ์ที่ลึกซึ้ง ซึ่งเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
๒.เขารู้สึกว่าเขาไม่มีทางออก ทางอื่นแล้ว งั้นตายเขาก็ไม่ว่า คนเวียดนามก็ยอมตาย
คนอิสราเอลก็ยอมตาย คนปาเลสไตน์ก็ยอมตาย ต่างคนต่างมีความทุกข์ทรมานใจในชีวิตของตัวเองอย่างสุดยอดแล้ว
ไม่สามารถรับอะไรได้แล้ว แม้แต่ตายก็ไม่ว่า แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร มีการตั้งข้อสังเกตว่าสลัดอากาศที่ปฏิบัติการครั้งนี้ไม่ใช่คนที่ถูกกดขี่
คนพวกนี้เขารู้สึกว่าเขาสงสารคนที่ถูกกดขี่ เป็นพวกมีอุดมการณ์ ไม่ใช่ว่าพวกนี้ถูกหรือผิด
แต่วิเคราะห์ว่า ต้นปัญหาหรือรากเหง้าของปัญหาอยู่ที่ไหน ทางออกเพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลาม
ควรมีการปฏิบัติการทางทหารหรือไม่ ถ้าจะเป็นการปฏิบัติการทางทหาร ก็ควรเป็นปฏิบัติการที่มีขอบเขต
เฉพาะเป้าหมายจำกัด เพราะว่าอเมริการู้ดีว่าจะไปบอมบ์อย่างเวียดนาม โคโซโว หรืออิรัก
ถ้าไปบอมบ์อัฟกานิสถานนั้น พื้นที่ของอัฟกานิสถานนั้นเข้าข้างคนในประเทศที่จะต่อสู้
อย่าลืม อังกฤษแพ้ไม่สามารถเอาชนะอัฟกานิสถานได้ถึงสองครั้งในประวัติศาสตร์ เมื่อสิบปีที่แล้ว
รัสเซียก็เข้าไป แต่ก็พ่ายแพ้กลับมา สถานะพื้นที่อำนวยความสะดวกให้กับคนในดินแดนอย่างมาก
มีทหารนายพลรัสเซียคนหนึ่งบอกว่าเคยไปรบให้รัสเซียที่อัฟกานิสถาน เขาบอกว่าอัฟกานิสถานคล้ายกับว่าพระเจ้ารวบรวมหินก้อนใหญ่เล็กทั้งหลายในโลกแล้วนำมาทิ้งไว้ที่อัฟกานิสถาน นอกจากสงครามด้านกำลังทหาร
สหรัฐเองยังใช้กลไกทุกอย่าง ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองบีบทุกประเทศ ทั้งที่ประเทศที่ให้ความร่วมมือยังไม่เคยมีหลักฐาน
และไม่มีกระบวนการตามหลักสากล ผมไม่รู้รายละเอียด แต่สหประชาชาติซึ่งกำลังประชุมอยู่ขณะนี้
สหประชาชาติก็มีการพิจารณายกปัญหาเรื่องก่อการร้ายมานานแล้ว ปัจจุบันมีสนธิสัญญาหรือมีความตกลงทั้ง
๑๒ สัญญาแล้ว ที่พยายามจะให้ประเทศภาคีลงนามและสัตยาบัน แล้วนำไปปฏิบัติ ขณะนี้อเมริกาเองคนส่วนใหญ่ก็บอกว่าจะทำอะไรก็ต้องอิงกับสหประชาชาติด้วย
ผมว่าอเมริกาเองก็ต้องระวัง การที่เขาจะทำอะไร เขาอย่าไปตกหลุมพรางที่ว่าสิ่งที่เขาทำมันเกินขอบเขตไปจนกระทั่งสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่เขาอยากจะปราบ
สมมุติคุณไปว่าคนคนหนึ่งว่าทำไม่ถูก แต่การที่จะจับคนคนนี้เข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม
เราต้องไม่ทำในสิ่งที่เขาได้ทำไปแล้ว อย่างนั้นก็ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรับได้ ไทยจำเป็นต้องปรับนโยบายประเทศบางส่วนหรือไม่
ผมว่าไม่ต้อง ก็พูดไปสิ เราเข้าร่วมในการต่อสู้การก่อการร้าย เราจะร่วมมือกับสหประชาชาติ
ผมไม่รู้ว่าเราลงนามในสนธิสัญญาหรืออะไร อะไรก็ตามอิงกับสหประชาชาติไว้ เราไม่ได้อิงกับอเมริกา
ขณะนี้อเมริกาก็พยายามอิงกับสหประชาชาติเหมือนกัน ถ้ามีการโจมตี ขอใช้สนามบิน
ไม่ต้องไปตอบอะไร คนเราสามารถตอบได้น้อยหน่อยจะดีกว่านี้ ไปตอบในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น
ไปตอบในสิ่งที่ถ้าอย่างนั้น ถ้าอย่างนี้ เท่ากับเป็นการขุดหลุมให้ตัวเองสิ่งอะไรที่ยังไม่เกิดขึ้นไปตอบทำไม
แต่ในสถานะปัจจุบันรู้สึกว่าประเด็นที่เคยพูดกันว่าเขาจะมาขอสนามบินใช้นั้น ผมว่าไม่มีแล้ว
เพราะว่ากรณีนั้นต้องเป็นการโจมตีทางอากาศอย่างหนักหน่วง ซึ่งขณะนี้ก็คงไม่เป็นอย่างนั้น
ส่วนการขอความร่วมมือในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายหรือการมีมาตรการด้านการเงิน การธนาคาร
การฟอกเงิน มาตรการทางด้านตรวจตราดูแลคนเข้าคนออกประเทศให้มากขึ้น ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องทำอยู่แล้ว ที่ต้องระวังคือ โทรทัศน์ไทยกับวิทยุไทยและหนังสือพิมพ์ไทย
พอขึ้นชื่อว่าข่าวต่างประเทศแล้วก็เอาข่าวของฝรั่งมาลงทั้งดุ้น ประชาชนคนไทยก็เกิดความหวั่นไหว
เกิดความกลัวเกรงไปพอๆ กับคนที่นิวยอร์ก ทั้งที่ไม่ได้เกิดที่เมืองไทย บางครั้งเราต้องตั้งสติอย่าไปให้ความสนใจมากเกินไป เหตุการณ์ครั้งนี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากน้อยแค่ไหน
มีแน่นอน ๖ เดือน ถึง ๑ ปี นี่ เศรษฐกิจโลกทรุด ที่จริงมันก็เริ่มทรุดอยู่แล้ว
แต่พอเจออันนี้ก็ยิ่งทรุด วันนี้กรีนสแปน (นายอลัน กรีนสแปน ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาหรือเฟด)
ก็ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยอีก เป็นครั้งที่ ๙ แล้ว แต่ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นเท่าไหร่ การตรวจสอบบัญชีผู้ก่อการร้าย
จะมีผลต่อการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศหรือไม่ ไม่น่าจะกระทบ คนที่บริสุทธิ์ก็ไม่ต้องไปกลัวสิ่งเหล่านี้ ที่มา:
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔ |