รวมปาฐกถาภาษาไทย

วิพากษ์รัฐบาลเลิก ‘วิสัยทัศน์ฝันหวาน’
‘อานันท์’ ฟันธง ศก. ไทยฟุบ ๕ ปี
วิสัยทัศน์ต้องอยู่ในกรอบความจริง ไม่ใช่มองแต่สิ่งที่อยากเห็น หรือเข้าข้างตัวเอง      

“อานันท์” ระบุ วินาศกรรมสหรัฐทำเศรษฐกิจไทยทรุดนาน ๕ ปีถึงจะฟื้น แนะรัฐบาลต้องทำการบ้านมากขึ้น เลิกนิสัย “วิสัยทัศน์ฝันหวาน” ยอมรับความจริง รับฟังมากขึ้น หวังผลประโยชน์ทางการเมืองให้น้อยลง ตีกันการเมืองแก้รัฐธรรมนูญต้องไม่ถอยหลังเข้าคลอง อัดสื่ออยู่ภายใต้อุ้งมือรัฐบาลและกองทัพ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวในการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เมืองไทยในทัศนะของอานันท์” จัดโดยศิษย์เก่าวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ ๔๒ และหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชนรุ่นที่ ๑๒ ว่า     ภายหลังจากเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมในสหรัฐเมื่อวันที่ ๑๑ ก.ย. ที่ผ่านมา จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและไม่สามารถฟื้นตัวได้ภายใน ๔-๕ ปีนี้     ดังนั้นใครที่คิดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นภายใน ๑-๒ ปี คงต้องผิดหวัง แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่รัฐบาลจะมียุทธศาสตร์อย่างไรในการแก้ปัญหา     โดยตนคิดว่ารัฐบาลต้องทำการบ้านมากกว่านี้ ต้องกล้าเผชิญหน้ากับความจริง และรับฟังมากกว่านี้ รวมถึงต้องคิดให้มาก และหวังประโยชน์ทางการเมืองให้น้อยกว่านี้      “วิสัยทัศน์ต้องอยู่ในกรอบของความเป็นจริงไม่เช่นนั้นวิสัยทัศน์จะกลายเป็นฝันหวาน สถานการณ์ที่แท้จริง จะต้องรับทราบและรับรู้อยู่ตลอด ไม่ใช่มองแต่สิ่งที่เราอยากเห็นหรืออยากให้เป็น มองรูปการณ์แล้วเข้าข้างตัวเอง” นายอานันท์กล่าว

  • เชื่อบึ้มสหรัฐทำส่งออกไทยลำบากหนัก
     เขาเห็นว่าสงครามที่เกิดขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐถดถอยเร็วและแรงมากขึ้น ลุกลามไปถึงญี่ปุ่น สิงคโปร์และไต้หวัน ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของไทย ยุทธศาสตร์ของไทยที่เคยพึ่งพาการส่งออกจะยากลำบากมากขึ้น เมื่อตลาดใหญ่กำลังซื้อลด ยกเว้นประเทศจีนที่กระทบน้อยที่สุด ดังนั้นยุทธศาสตร์การส่งออกต้องถูกปรับปรุงโดยการเพ่งเล็งเฉพาะอุตสาหกรรมที่เรามีความได้เปรียบ
  • ปัญหาส่วนใหญ่ผลผลิตอุตสาหกรรมส่วนเกิน
     นายอานันท์ กล่าวว่ารัฐบาลที่ผ่านมาพยายามทำให้เกิดบรรษัทภิบาลในภาคอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าบริษัทเหล่านี้ ที่เคยประสบภาวะวิกฤติจะฟื้นตัวได้เร็วกว่า ๔-๕ ปีที่ผ่านมา ระบบสินเชื่อของไทยพังอย่างละเอียด ทั้งสินเชื่อที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ มีกำลังการผลิตส่วนเกินจำนวนมาก     ตัวอย่างเช่น เหล็กเส้น ความต้องการในประเทศ ๑๘ ล้านตัน แต่กำลังการผลิตสูงถึง ๕๐ ล้านตัน กระดาษ ความต้องการ ๔ แสนตัน กำลังการผลิตสูงถึง ๑ ล้านตัน เม็ดพลาสติก ความต้องการ ๑ ล้านตัน แต่ผลิตได้ถึง ๒ ล้านตัน รัฐบาลต้องมาคิดว่าผลผลิตส่วนเกินเหล่านี้ จะส่งออกได้อย่างไร ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกถดถอยเช่นนี้     ในส่วนของภาคธนาคารก็ไม่ใช่ที่พึ่งพิงของภาคอุตสาหกรรม เพราะธนาคารกำลังคิด และทำอย่างเงียบ ๆ ไม่ให้ประชาชนนำเงินมาฝาก เพราะเขาปล่อยกู้ไม่ได้ โครงการใหม่ ๆ ก็ไม่มี เงินลงทุนใหม่ก็มีน้อย ตอนนี้จึงมีแต่เงินออมจึงไม่มีเงินลงทุน แม้จะพยายามปรับโครงสร้างหนี้แต่เป็นแค่การเลื่อนเวลาลดดอกเบี้ย และแฮร์คัท ไม่ใช่การปรับโครงสร้างธุรกิจอย่างแท้จริง     ดังนั้นในแต่ละภาคอุตสาหกรรมทั้งซีเมนต์ เหล็ก กระดาษและอื่น ๆ ควรปรับโครงสร้างเป็นรายสาขา ไม่ใช่ปรับโครสร้างแค่การเงิน หรือหนี้สินเพียงอย่างเดียว เนื่องจากพายุของโลกาภิวัตน์กำลังโหมเข้ามาอย่างไม่มีขอบเขต จึงต้องพยายามสร้างผลเสียให้น้อยกว่าเดิม     นอกจากนี้ ภาคธุรกิจต้องมีการรวมกิจการกัน ส่วนภาครัฐบาลต้องสร้างแรงจูงใจให้คนชั้นกลางและคนรวย ที่ฝากเงินไว้กับธนาคารไปลงทุนในกลไกอื่น หรือสถาบันอื่นแทนที่จะฝากธนาคารกินดอกเบี้ยเพียง ๒% อาจไปซื้อพันธบัตรประกันภัย กองทุนบำเหน็จบำนาญ โดยรัฐบาลต้องมีแรงจูงใจมากกว่านี้
  • เชื่อ รธน. ฉบับนี้ดีที่สุดในโลก
     ส่วนด้านการเมืองรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ครบ ๔ ปี วันที่ ๑๑ ต.ค. ที่ผ่านมา และในปีหน้าจะครบ ๕ ปี ซึ่งต้องมีการแก้ไข แต่ตนยืนยันว่าการแก้ต้องไม่ถอยหลังเข้าคลองหรือกลับไปหาการเมืองแบบ ๗-๘ ปีที่แล้ว เพราะองค์กรระหว่างประเทศบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นหนึ่งในฉบับที่ดีที่สุดในโลกในขณะนี้ จุดบกพร่องมีอยู่แต่ไม่ใช่อยู่ที่โครงสร้าง เป็นปัญหาเรื่องถ้อยคำและแนวทางการปฏิบัติขององค์กรอิสระที่มีปัญหาในกระบวนการสรรหา     กระบวนการสรรหามาจาก พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ยกร่างไม่ใช่สภาร่างรัฐธรรมนูญ และ ส.ส. เหล่านี้มาจากการเมืองระบบเก่า แต่เขากลับต้องมาเขียนโครงสร้างใหม่ จึงไม่อยากบอกว่า ส.ส. เหล่านี้เป็นจำเลย ดังนั้นถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญ ต้องแก้ที่ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญมากที่สุด
  • อัดสื่ออยู่ใต้อาณัติรัฐบาล-กองทัพ
     นอกจากนั้น สิ่งที่นายอานันท์เป็นห่วงก็คือ แม้กองทัพจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองแล้ว แต่ยังไม่ทิ้งเวทีการทำธุรกิจ รัฐธรรมนูญใหม่มีมาตราส่งเสริมเสรีภาพของสื่อ แต่สื่อปัจจุบันยังอยู่ภายใต้รัฐบาลและกองทัพ ควรจะต้องลดลงในระดับใดได้หรือไม่ คลื่นความถี่ที่อยู่ในอาณัติของรัฐบาลและกองทัพจะทำอย่างไรในอนาคต     กระบวนการปฏิรูปการเมืองจำเป็นต้องอาศัยสื่อที่เป็นอิสระในการเสนอข่าวตามข้อเท็จจริงมากกว่านี้ ตนเชื่อว่าปัญหานี้มีทางออก แต่ต้องเปลี่ยนปรัชญาความคิดของทั้งสองฝ่ายให้คล้ายคลึงกัน “การทุบหม้อข้าวโดยฉับพลันคงทำไม่ได้ แต่อย่างน้อยควรมีจุดเริ่มต้น” นายอานันท์ย้ำ     รัฐธรรมนูญ ๑๕ ฉบับที่ผ่านมา เขียนโดยผู้มีอำนาจ แต่เมื่อ ๔ ปีก่อนเขียนโดยคนสามัญทำให้เกิดการตื่นตัว เพราะพลเรือนรู้สึกเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กระทั่งนักการเมืองบางคนที่คัดค้าน ยังต้องยอมจำนน แต่ตนกลัวว่าเป็นเพียงการซื้อเวลา ไม่ได้เปลี่ยนจิตใจเดิม เพราะรัฐธรรมนูญนี้ทำให้เขาเสียประโยชน์ ทำให้คอรัปชั่นยากขึ้น
  • ชี้เหตุการณ์เดือนตุลาบทเรียนสำคัญ
     ส่วนเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๑๔ ต.ค. ๒๕๑๖ และ ๖ ต.ค. ๒๕๑๙ คือจุดเริ่มต้นจุดพลิกผันของประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะ ๖ ต.ค. ๒๕๑๙ เป็นเหตุการณ์ที่สยดสยองและตนจะไม่มีวันลืม แต่เราต้องถามตัวเองว่าไม่ลืมเพราะอะไร     ส่วนตนไม่ลืมแต่ก็ไม่ใช่เพื่อการล้างแค้นหรืออาฆาตพยาบาท แต่ไม่ลืมเพราะถือเป็นประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของชาติไทย หากวิเคราะห์ให้ดีเราจะได้บทเรียน และเห็นความคิดอ่านของคนไทยบางกลุ่มอำนาจรัฐ ที่ไม่ต้องการสูญเสียอำนาจโดยใช้วิธีทำลายกลุ่มคนหัวก้าวหน้า คนไทยต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันเสาร์ที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔