รวมปาฐกถาภาษาไทย

ปาฐกถาพิเศษ
เรื่อง
เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ใน ๔ ปีที่ผ่านมา
๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๔


ท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญ

ท่านประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

ท่านประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ท่านอดีตประธานรัฐสภา

ท่านอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ

และท่านผู้มีเกียรติผู้เข้าร่วมการสัมมนาทุกท่าน

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้มาจนจะครบ ๔ ปีเต็มในวันพรุ่งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้มา ทบทวนเจตนารมณ์เมื่อตอนยกร่างรัฐธรรมนูญกับการใช้รัฐธรรมนูญมาเกือบสี่ปีว่ามีความก้าวหน้า มีความสำเร็จ หรือมีปัญหา อุปสรรคใดบ้าง เพื่อเตรียมการไว้สำหรับการแก้ไขให้ดีขึ้นในปีหน้าซึ่งจะครบ ๕ ปี และรัฐธรรมนูญมาตราสุดท้ายก็ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีอำนาจเสนอความคิดเห็นต่อคณะรัฐมนตรี และต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจริเริ่มการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ว่า สมควรมีการปรับปรุงแก้ไขตัวรัฐธรรมนูญเอง หรือกฎหมายอื่นในประการใดบ้าง เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์หลักคือ การปฏิรูปการเมือง

ผมขอเน้นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นมิใช่ว่าจะแก้ไขอย่างไรก็ได้ตามใจชอบ เจตนารมณ์ของมาตรา ๓๓๖ อันเป็นมาตราสุดท้ายเป็นเจตนารมณ์ที่ชัดแจ้งว่า ต้องการให้แก้ไขเพิ่มเติมให้ดีขึ้น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต้องแก้ไขจุดบกพร่องที่ขัดขวางการปฏิรูปการเมืองที่ทำให้การปฏิรูปล่าช้า หรือเบี่ยงเบนไป

ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่จะทำกันต่อไป เพื่อให้ถอยหลังกลับไปเหมือนก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นการ “ถอยหลังเข้าคลอง” และขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญโดยตรง นอกจากนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างอุปสรรคให้เกิดขึ้นต่อการปฏิรูปการเมือง จะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นการเดินสวนทางกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญโดยตรง นอกจากนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างอุปสรรคให้เกิดขึ้นต่อการปฏิรูปการเมือง จะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นการเดินสวนทางกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญโดยตรง

ท่านผู้มีเกียรติครับ

เรายังคงจำเหตุการณ์เมื่อกว่า ๔ ปี ก่อนได้ว่า ประชาชนทั่วประเทศได้ร่วมกันเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง เพื่อปรับปรุงระบบการเมืองทั้งระบบให้ดีขึ้นโดยประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญอย่างไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์

การปฏิรูปการเมืองจึงเป็นหัวใจของรัฐธรรมนูญฉบับนี้

เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองขึ้น รัฐธรรมนูญได้กำหนดโครงสร้างทางการเมือง และกระบวนการเมืองเสียใหม่ โดยมีมาตรการสำคัญ ๓ ประการ ซึ่งถือเป็นเจตนารมณ์หลักของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ

ประการแรก เปลี่ยน “การเมืองของนักการเมือง” ให้เป็น “การเมืองของพลเมือง”โดยส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองเพิ่มขึ้น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ รัฐธรรมนูญต้องการสถาปนา “การเมืองภาคพลเมือง” ขึ้นคู่ไปกับ “การเมืองของนักการเมือง” นั่นเอง

ประการที่สอง รัฐธรรมนูญต้องการทำให้การเมือง “สุจริต” และ “โปร่งใส” เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น ศรัทธา และความชอบธรรมในการใช้อำนาจ

ประการที่สาม รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้การเมือง “มีเสถียรภาพ” และ “มีประสิทธิภาพ” ในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้มากขึ้น

เจตนารมณ์ทั้งสามประการนี้ ปรากฏอยู่ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญเองที่ว่า

“…ภายหลังจากนั้น สภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญโดยมีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพิ่มขึ้น ตลอดทั้งปรับปรุงโครงสร้างทางการเมือง ให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้โดยได้คำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ”

ท่านที่เคารพครับ

หากเปรียบบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรของมาตรา ๑ ถึงมาตรา ๓๓๖ เหมือนร่างกายมนุษย์ เจตนารมณ์ ๓ ประการดังกล่าว เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองก็เหมือนวิญญาณ มนุษย์ที่มีแต่ร่างกาย ไม่มีจิตวิญญาณ คือมนุษย์ที่ตายแล้วฉันใด รัฐธรรมนูญที่มีแต่ตัวหนังสือเป็นบทมาตรา ต่าง ๆ ไม่มีเจตนารมณ์กำกับก็เหมือนตัวหนังสือที่หาความหมายไม่ได้ ใครจะเติมความหมายหรือตีความอย่างไรก็ได้

ด้วยเหตุนี้ การใช้รัฐธรรมนูญก็ดี การตีความรัฐธรรมนูญก็ดี การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ดี ต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์เป็นสำคัญ การทำให้คนปราศจากจิตวิญญาณ ถือเป็นการฆ่าคนฉันใด การพรากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไปเสียจากเจตนารมณ์ ก็คือการล้มล้างรัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องใช้อาวุธหรือกำลังฉันนั้น

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ

หากเราหยิบเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญเป็นตัวตั้ง แล้วตรวจสอบการใช้การตีความรัฐธรรม- นูญ ในช่วงเกือบ ๔ ปี ที่ผ่านมา เราก็จะพบทั้งความก้าวหน้าและปัญหา

สำหรับความก้าวหน้านั้นมีมากมายจนเกินกว่าจะนำมาพูดในเวลาจำกัดหากจะดูแต่ความก้าวหน้าหลัก ๆ เราจะพบว่า

ในเบื้องแรก การเมืองภาคพลเมืองเข้มแข็งขึ้นกว่าก่อนมีรัฐธรรมนูญมากดังจะเห็นได้ว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า ๕๐,๐๐๐ คนได้เข้าชื่อกันเสนอร่างกฎหมายป่าชุมชนเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อรองรับสิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมตามมาตรา ๔๖ ของรัฐธรรมนูญในอันที่จะบำรุงรักษาและใช้ทรัพยากรป่าได้ ไม่ช้าเราก็คงจะได้ใช้กฎหมายที่ประชาชนริเริ่มเอง

นอกจากนั้น ประชาชนยังมีส่วนร่วมรับรู้ข้อมูลข่าวสารของทางราชการเพิ่มขึ้น ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการแสดงความคิดเห็นและประชาพิจารณาในโครงการสำคัญ ๆ ของรัฐเพิ่มขึ้น ที่สำคัญก็คือประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ได้มีโอกาสเลือกผู้แทนของทุกภาคทุกกลุ่มในสังคมเข้ามาใน “สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” เพื่อสะท้อนความต้องการและความคิดเห็นให้ผู้มีอำนาจบริหารบ้านเมืองทราบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

แม้ระดับท้องถิ่นเอง การกระจายอำนาจไปให้องค์กรปกครองท้องถิ่นเพิ่มขึ้นตามรัฐธรรม-นูญ ก็เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกิจการท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ในประการต่อมา การป้องกันและปราบปรามการทุจริตก็มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเก่ามาก ดังจะเห็นได้จากการที่ ปปช. และศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้ผู้ดำรงตำแหน่ง ๙ คนใน ๑๐ คนที่ไม่ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สิน หรือ หนี้สิน หรือยื่นแต่เป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริง ต้องพ้นจากตำแหน่ง หรือ ต้องห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่ง ๕ ปี เหตุการณ์เช่นนี้ ไม่เคยมีมาก่อนในรัฐธรรมนูญ เร็ว ๆ นี้ กำลังจะมีการพิจารณาคดีอาญาของนักการเมืองโดยศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองต่อไป ขอเราจับตาดูให้ดี

ความโปร่งใสในการบริหารบ้านเมืองก็มีมากขึ้นกว่าเก่า ดังจะเห็นได้จากการที่ประชาชนสามารถใช้สิทธิเข้าขอข้อมูลทางราชการมากขึ้น ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ก็ปรับตัวให้ข้อมูลแก่ประชาชนเพิ่มขึ้น

ยิ่งกว่านั้น การที่มีองค์กรตรวจสอบเพิ่มขึ้นถึง ๙ องค์กร ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง กกต. ปปช. ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เหล่านี้ ประชาชนก็ตรวจสอบภาครัฐได้อย่างทั่วถึง และมีช่องทางทำให้ความไม่เป็นธรรม หรือความไม่ชอบมาพากล หมดไปมากขึ้นกว่าในอดีตมาก

ในประการสุดท้าย แม้ว่าจะต้องมีการเลือกตั้งหลายครั้งแต่การทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง การซื้อเสียง ซึ่งเหมือนกับจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองไทยก่อนปี ๒๕๔๐ เพราะมีแต่การพูดถึง แต่ไม่มีการดำเนินการเอาผิด หรือแก้ปัญหาจริงจัง กลับได้รับการแก้ไขไประดับหนึ่งโดย กกต. ซึ่งเอาจริง

การหาเสียงซึ่งเดิมพูดถึงนโยบายน้อยมาก ก็เปลี่ยนมาเป็นการหาเสียงแข่งกันด้วยนโยบาย ซึ่งทำให้การเลือกตั้งมีลักษณะเป็นการเลือกนโยบายมากขึ้นอันจะส่งผลดีระยะยาวต่อการเมือง

รัฐบาลเองก็มีเสียงข้างมากในสภาท่วมทัน ไม่ต้องกังวลต่อปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างรัฐบาลเก่า ๆ ในอดีต และเราอาจได้เห็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่อยู่ครบ ๔ ปี เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็ได้

รัฐสภาเองก็ทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น ไม่ว่าจะเป็นร่างกฎหมายหรือเรื่องอื่น การพิจรณาในสภาก็ไม่ยืดเยื้อยาวนานอย่างในอดีต

หากจะสรุปโดยภาพรวม ระบอบประชาธิปไตยไทยพัฒนาขึ้นกว่าเดิมมากทั้งการเมืองภาคพลเมือง การเมืองของนักการเมือง และ ความทุจริตโปร่งใสจนเราน่าภูมิใจว่า เราไปไกลกว่าประเทศในภูมิภาคนี้มากในทางการเมือง

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพครับ

ไม่มีอะไรที่มีแต่ความสำเร็จสมบูรณ์จนไม่มีที่ติ ในความสำเร็จก็ยังมีปัญหาซ่อนอยู่ รอเวลาที่เราต้องช่วยกันแก้ไขเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์หลักของการปฏิรูปการเมืองตามรัฐธรรมนูญให้จงได้

ปัญหาประการแรกที่ควรให้ความสำคัญก็คือ ความเข้มแข็งของพลเมืองจะเกิดขึ้นได้ด้วยปัจจัย ๔ ประการคือ

หนึ่ง ประชาชนต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เป็นชมรม หรืออย่างอื่น เพื่อให้การต่อรอง กดดันทางการเมืองมีน้ำหนัก เราจะเห็นได้ว่าบางภาค การรวมตัวกันยังไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร เช่นผู้บริโภคซึ่งถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ ชาวนาซึ่งทำนาและขายข้าว หากภาคเหล่านี้รวมตัวกันเข้มแข็งขึ้น เสียงก็จะดังกว่าเดิม อำนาจต่อรองก็จะเพิ่มขึ้น อย่าลืมว่าประชาธิปไตยในมิติหนึ่งก็คือ การสามารถทำให้ผู้ปกครองต้องฟังเรา

สอง การมีส่วนร่วมต้องอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญและสันติ จึงจะเป็นส่วนร่วมที่เหมาะสม ดังนั้น ผู้มีส่วนร่วมต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นด้วย เพราะเราไม่ได้อยู่กลุ่มเดียวในสังคม ดังนั้น ส่วนร่วมที่นำไปสู่ความรุนแรง และการละเมิดกฎหมายจึงควรจะหมดไป และเปลี่ยนเป็นส่วนร่วมที่มีคุณภาพและชอบธรรม เพราะไม่ใช้ความรุนแรงแทน

สาม การมีส่วนร่วมต้องมีฐานอยู่บนความรู้ไม่ใช่อารมณ์ ซึ่งเป็นเรื่องของฝ่ายวิชาการในมหาวิทยาลัยที่ต้องสนใจศึกษาวิจัยปัญหาของบ้านเมืองมากขึ้น และศึกษาอย่างเป็นกลางจริง ๆ ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์อันเป็นเงินวิจัยแต่อย่างเดียว

สี่ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเปลี่ยนทัศนคติ ต้องรับการมีส่วนร่วมอย่างเต็มใจ เพราะการให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นหรือประชาพิจารณ์จะทำให้ได้ข้อมูลและความคิดรอบด้าน ทำให้การตัดสินใจรอบคอบขึ้น การประชาพิจารณ์ที่ถูกต้องจึงยังต้องไม่ตัดสินใจก่อน การตัดสินใจก่อนแล้วไปพยายามชักจูงให้ประชาชนเห็นด้วยไม่ใช่ประชาพิจารณ์ แต่เป็นการประชาสัมพันธ์ซึ่งอาจสร้างความขัดแย้งขึ้นได้ หากผลกระทบโครงการดังกล่าวตกถึงประชาชน

ปัญหาประการต่อมาก็คือ การที่ผู้ที่เกี่ยวข้องยังคงมีทัศนคติและพฤติกรรมแบบเดิมเหมือนก่อนการปฏิรูบการเมือง ดังจะเห็นได้จากปัญหาการซื้อเสียงที่ยังไม่หมดไป การพูดและให้สัมภาษณ์ของนักการเมืองบางคนซึ่งไม่ได้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมไทย ข้าราชการเองก็ยังคงไม่ตื่นตัว ทำอย่างไรมาในอดีตก็ทำอย่างนั้นต่อไป สื่อมวลชนเองก็เสนอข่าวแบบ เก่า ๆ โดยเฉพาะเห็นการอภิปรายในสภา ซึ่งอาจมีเนื้อหาสาระดีกว่าเก่ามาก เป็นเรื่อง “จืดชืด” แต่ถ้าอภิปรายด่ากันก็อาจเป็นเรื่องตื่นเต้นน่าติดตาม ประชาชนบางส่วนก็ยังคงคิดแบบเดิมคือ “รอผู้นำ” ทั้ง ๆ ที่ในระบอบประชาธิปไตยเองนั้น ประชาชนต้องเป็นผู้นำและรัฐบาลต้องเป็นผู้ตามประชาชน

ทัศนคติ และพฤติกรรมเก่า ๆ แบบนี้คงจะต้องปรับปรุง หาไม่แล้วก็จะมีการปฏิรูปแต่ในรูปแบบ แต่เนื้อหาคือพฤติกรรมยังคงเป็นแบบเก่า ๆ ดังนั้น การปรับปรุงทัศนคติและพฤติกรรมอาจต้องเริ่มที่ฝ่ายการเมืองที่ต้องแสดงตนเป็นแบบอย่างที่ดีทั้ง สำนึก และพฤติกรรม ที่จะต้องไม่เดินสวนทางกับการปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะต้องมีทัศนคติประชาธิปไตยคือรับฟังผู้อื่น การ “รับฟัง” ไม่ใช่ “การเชื่อฟัง” คนที่รับฟังผู้อื่นมีแต่ได้กำไร ตรงกันข้ามกับคนที่ปิดกั้นโอกาสการรับฟัง ก็ย่อมมีแต่ขาดทุน เพราะแม้ทรราชที่สุดก็ต้องยังเงี่ยหูคอยฟังประชาชน

พฤติกรรมประการที่สองคือ ความโปร่งใสและความสุจริตต้องอยู่ในมโนสำนึกของนักการเมืองและข้าราชการ ตลอดจนบรรดาพ่อค้า นักธุรกิจทั้งหลาย สำหรับการเมืองกับข้าราชการมีคนพูดมามากแล้ว วันนี้จะขอเน้นที่นักธุรกิจซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหรือทำลายการปฏิรูปการเมืองได้

ท่านผู้มีเกียรติครับ

นักธุรกิจที่ดีย่อมต้องมีศีลธรรม การแสวงหากำไรจะต้องไม่เกิดจากการได้อภิสิทธิ์ เพราะได้สนับสนุนฝ่ายการเมืองหรือข้าราชการ คอรัปชั่นจะมีแต่ผู้รับไม่ได้ ต้องมีผู้ให้ด้วย นักธุรกิจที่มีมโนสำนึกย่อมจะไม่แสวงอภิสิทธิ์หรือการผูกขาดโดยการใช้เงินสนับสนุนการเมืองหรือข้าราชการ แต่ที่ผ่านมา เราต้องยอมรับว่า “ธรรมาภิบาลธุรกิจ” เองมีปัญหาซึ่งส่งผลทำให้นักธุรกิจที่ไม่ดีฉวยโอกาสใช้เงินทองเพื่อให้ได้ซึ่งอภิสิทธิ์ สิ่งเหล่านี้ย่อมทำลายการปฏิรูปการเมืองและธรรมาภิบาลโดยตรง ผมจึงขอเรียบร้องให้นักธุรกิจหันกลับมามีมโนสำนึกที่ถูกต้องต่อบ้านเมืองและสังคม

สำหรับสื่อมวลชนนั้น ผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้ปลดปล่อยพันธะการถูกควบคุมโดยรัฐออกไป เพื่อให้สื่อมวลชนอิสระ สื่อมวลชนอิสระย่อมเสนอข่าวและความเห็นที่ถูกต้องและไม่เป็นฝักเป็นฝ่าย ซึ่งประชาชนจะได้ใช้วิจารณญาณอย่างถูกต้อง เสรีภาพของสื่อมวลชนจึงเป็นหัวใจของประชาธิปไตยเสรี

แต่ความอิสระออกจากรัฐนั้นย่อมไม่เพียงพอ สื่อมวลชนต้องอิสระออกจากนายทุนเจ้าของกิจการด้วย ความจริงในเรื่องนี้รัฐธรรมนูญรับรองเอาไว้ชัดแจ้งในมาตรา ๔๑ ที่ว่า

“พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญโดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือเจ้าของกิจการนั้น แต่ต้องไม่ขัดต่อจรรยาบรรณแห่งการประกอบวิชาชีพ

ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ในกิจการวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ ย่อมมีเสรีภาพเช่นเดียวกับพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนตามวรรคหนึ่ง”

เพื่อให้สื่อมวลชนเป็นอิสระออกจากทุนและรัฐอย่างแท้จริง การรวมตัวของผู้สื่อข่าว คอลัมนิสต์จึงจำเป็น และจะต้องขอให้ออกกฎหมายอนุวัตการตามมาตรา ๔๑ โดยเร็ว เพื่อป้องกันการแทรกแซงทั้งจากทุนและรัฐ

แต่เสรีภาพก็ต้องควบคู่ไปกับความรับผิดชอบ สื่อมวลชนก็ต้องรับผิดชอบตัวเองให้มากกว่าเดิม องค์กรวิชาชีพต้องเข้มแข็งพอจะควบคุมกันเอง และคุ้มครองสมาชิกจากการแทรกแซงของทุกฝ่ายในเรื่องนี้ แม้เราจะมีความพยายามดังกล่าวอยู่ก็ต้องยอมรับว่าองค์กรวิชาชีพนี้ยังไม่มีความเข้มแข็งอย่างแท้จริง และที่สำคัญคือเจ้าของกิจการยังมีบทบาทอย่างสูงอยู่ในองค์กรดังกล่าว

ดังนั้น ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องปฏิรูปสื่ออย่างจริงจัง เพราะความสำเร็จของการปฏิรูปการเมืองย่อมขึ้นอยู่กับสื่อที่เป็นอิสระ เป็นกลาง มีคุณภาพและความรับผิดชอบด้วย

ท่านที่เคารพครับ

ประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากฝากไว้วันนี้ก็คือ การตีความรัฐธรรมนูญขององค์กรต่าง ๆ ต้องยึดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่พึงตีความไปในทางที่ให้กฎหมายไร้ผล หรือสวนทางกับการปฏิรูปการเมือง ดังเป็นข่าวฮือฮาในอดีตมาหลายครั้งหลายครา โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ กกต. และ ปปช. ซึ่งเป็นสถาบันสำคัญของบ้านเมืองนั้น ต้องเป็นเสาหลักแห่งการปฏิรูปการเมืองให้ได้ ไม่พึงตีความหรือประพฤติการใด ๆ ที่จะสวนทางหรือทำลายความศรัทธาในการปฏิรูปการเมือง

อย่าลืมว่า ถ้าไม่มีการปฏิรูปการเมือง ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ องค์กรเหล่านี้ก็เกิดขึ้นไม่ได้ดอกครับ เมื่อองค์กรเหล่านี้เกิดขึ้น และดำรงอยู่ได้เพราะรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนตั้งขึ้นและมอบอำนาจให้ จึงต้องใช้อำนาจนั้นรักษาเจตนารมณ์และความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญไว้ให้ดีที่สุด พฤติกรรมใดจะทำให้สงสัยหรือความเสื่อมศรัทธาต้องไม่กระทำ หากไม่ เจ้าของอำนาจที่แท้จริงคือประชาชนอาจตรวจสอบท่านได้ ที่สำคัญที่สุดก็คือ ท่านต้องพิทักษ์การปฏิรูปการเมืองและรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ทำตัว “เป็นรัฐธรรมนูญ” เสียเอง

ท่านผู้มีเกียรติครับ

การปฏิรูปการเมืองเริ่มเมื่อ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ และยังไม่จบสิ้นครับ หนทางยังอยู่อีกยาวไกลกว่าจะถึงเป้าหมาย แต่ถ้าเรา ประชาชนชาวไทยทุกคนช่วยกันผลักดัน การไปสู่เป้าหมายก็จะเร็วขึ้น ผมจึงขอเรียกร้องให้เรา – ท่าน ผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงแห่งอำนาจสูงสุดช่วยกันพิทักษ์การปฏิรูปการเมือง และผลักดันให้ไปถึงเป้าหมายโดยเร็ว ปีหน้า จะเป็นปีที่พิสูจน์ว่าคนไทย สังคมไทยจริงจังเพียงใดกับการปฏิรูปการเมือง เพราะเป็นปีที่จะมีการพูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญมากที่สุด โปรดระลึกว่า การพิจารณาใด ๆ ต้องพิจารณาภาพรวมและเป้าหมายการปฏิรูปการเมือง ไม่พึงแยกส่วนและการกระทำการใด ๆ อันเป็นการบั่นทอนหรือทำลายการปฏิรูป

ผมหวังว่า เราจะช่วยกันติดตามกระแสการเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด และพร้อมกับบอกทุกฝ่ายว่า เราต้องการการปฏิรูปการเมืองที่แท้จริง

สวัสดีครับ