รวมปาฐกถาภาษาไทย

คำบรรยายพิเศษในการประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โดย
นายอานันท์ ปันยารชุน
ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
วันจันทร์ที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ เวลา ๑๗.๐๐ น.
ณ ห้อง Meeting Room 1 - 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

วันที่ ๑๑ กันยายน เหตุการณ์อันน่าสยดสยองที่เกิด ณ นครนิวยอร์ก และกรุงวอชิงตัน นับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยมีใครคาดฝันหรือคาดคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ เหตุการณ์ที่มีการก่อการร้ายแบบสยองขวัญ มีการก่อวินาศกรรมที่ทำให้คนเสียชีวิตนับพันคน มีการทำลายอาคารซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของระบบทุนนิยม และเป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็งทางด้านการทหารของประเทศสหรัฐอเมริกา

เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นเหตุการณ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการจู่โจม และก่อให้เกิดการประหัตประหารชาวอเมริกันบนผืนแผ่นดินใหญ่ของอเมริกา (สมัยคราวสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่อ่าว Pearl Harbor เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหมู่เกาะ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นแผ่นดินใหญ่) เพราะฉะนั้นความตกใจ ความโกรธแค้น ความอาฆาตพยาบาทของคนอเมริกันซึ่งเป็นไปตามวิสัยของปุถุชนนั้น ก็ย่อมต้องมีและนับเป็นหน้าที่ของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่จะต้องพยายามสร้างกำลังใจ ปลอบขวัญ และก็สัญญาที่จะโต้ตอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว

ในระยะเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมาชาวโลกต่างก็ประจักษ์ชัดว่า การโต้ตอบของสหรัฐอเมริกานั้นเป็นการโต้ตอบที่ไม่ถึงกับเป็นลักษณะที่จะทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สามได้ กอปรกับเสียงเตือนจากกลุ่มประเทศพันธมิตร เสียงเตือนจากมิตรประเทศ และเสียงเตือนจากกลุ่มชนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการใช้ระเบิดที่อัฟกานิสถานนั้นก็มีมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วสิ่งที่ชาวอเมริกันเรียกว่า "สงครามต่อสู้การก่อการร้าย" นั้น จริง ๆ แล้วไม่ใช่รูปแบบสงครามอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ แต่เป็นการใช้คำพูดใช้คำว่า "War" เพื่อแทนการต่อสู้เพื่อทำลายล้างการก่อการร้าย และโครงสร้างการก่อการร้าย

"ผมอยากจะคิดว่าการทิ้งระเบิดอัฟกานิสถานนั้นก็คงจะมีไปอีกไม่นานนัก เหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะแรงโต้ตอบและกระแสต่อต้านที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศมุสลิม และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือว่าคุณจะทิ้งระเบิดใส่ภูเขา กับก้อนหินไปได้นานแค่ใด"

ถึงแม้ว่าในขณะนี้รัฐบาลอเมริกันจะแถลงอยู่เสมอว่า สงครามการใช้ขีปนาวุธที่อัฟกานิสถานมิได้เป็นการแก้แค้น แต่เป็นเรื่องของการแสวงหาความยุติธรรม ซึ่งหลายฝ่ายอาจประจักษ์แก่ตัวเองแล้วว่าถ้อยแถลงดังกล่าวเป็นเพียงกุศโลบายทางการทูตเท่านั้น เนื่องจากอัฟกานิสถานเป็นประเทศที่ไม่มีทั้งสรรพกำลังและยุทธปัจจัยที่จะต่อสู้กับยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาได้ สงครามที่เกิดขึ้นนั้นจึงไม่ใช่สงครามที่ก่อขึ้นเพื่อสำแดงผลว่าแพ้หรือชนะ หากแต่เป็นสงครามเพื่อการโต้ตอบการก่อการร้ายที่แสดงออกถึงความเคียดแค้น ซึ่งนับได้ว่าเป็นความพยาบาทในระดับหนึ่ง

ในส่วนของการดำเนินนโยบายเพื่อต่อสู้กับการก่อการร้ายของสหรัฐอเมริกานั้น คาดว่าจะเป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องและใช้เวลาหลายปี โดยในระยะแรกจะเริ่มต้นด้วยการจู่โจมด้วยขีปนาวุธควบคู่ไปกับการผลักดันให้มีการก่อตั้งรัฐบาลผสมในอัฟกานิสถาน ซึ่งรัฐบาลผสมอาจจะประกอบด้วยอดีตพระมหากษัตริย์ พันธมิตรฝ่ายเหนือ และหัวหน้าเผ่าต่าง ๆ

อย่างไรก็ตามการติดตามที่จะทำลายล้างบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นตัวการในการก่อการร้ายอย่างนายบิน ลาเดน และเครือข่ายนั้น นับได้ว่าเป็นการดำเนินการในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินในอันที่จะปิดโอกาสการแสวงหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนการก่อการร้าย และการเฝ้าระวังเครือข่ายผู้ก่อการร้ายที่อยู่ในประเทศต่าง ๆ รวมถึงการสังเกตการณ์กลุ่มประเทศที่ยังคงให้ความช่วยเหลือหรือยังให้ที่หลบซ่อนแก่เครือข่ายผู้ก่อการร้าย ซึ่งการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจเป็นอย่างมากในระยะ ๖ เดือนถึง ๑ ปีแรก แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นปัจจัยที่ก่อให้เกิดผลกระทบดังกล่าวไม่ใช่ผลพวงอันเกิดจากการก่อวินาศกรรมในสหรัฐอเมริกาเพียงอย่างเดียว เนื่องจากช่วงเวลาก่อนหน้าวันที่ ๑๑ กันยายนนั้น ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาได้ส่งสัญญาณค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ. ๒๕๔๔ อาจจะถดถอย อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจนั้นจะอยู่ในลักษณะที่ต่ำหรือติดลบ ซึ่งเมื่อผนวกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ ๑๑ กันยายน จึงก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจทันที

สิ่งซึ่งจะกลายเป็นผลกระทบในระยะยาวต่อไปนี้ก็คือ "ความไม่แน่นอน" ในหมู่นักธุรกิจและผู้ประกอบการต่างก็ทราบดีว่า "ความไม่แน่นอน" นับเป็นปัญหาสำคัญที่สุดปัญหาในการดำเนินธุรกิจ ความไม่แน่นอนว่าสงครามจะลุกลามหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าไม่ลุกลาม ความไม่แน่นอนว่าการต่อสู้เพื่อปราบปรามการก่อการร้ายนั้นจะยาวนานไปอีกเท่าไรและจะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นใดบ้าง จะมีการขยายขอบเขตการปฏิบัติการทางทหารไปยังประเทศอิรักและอิหร่านหรือไม่ และจะสามารถดำเนินการให้กระบวนการแสวงหาสันติภาพในตะวันออกกลางดีขึ้นหรือเลวลงอย่างไร รวมทั้งการต่อสู้กับขบวนการผู้ก่อการร้ายในประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น IRA ในประเทศไอร์แลนด์ กลุ่มมุสลิม หรือกลุ่มแอลจีเรียนในประเทศฝรั่งเศส ซึ่ง "ความไม่แน่นอน" ในเรื่องดังกล่าวนั้นจะทำให้เรื่องการคาดการณ์ทางด้านธุรกิจ การวางแผน การลงทุน และการติดต่อค้าขายจะถดถอยลงในช่วง ๖ เดือนถึง ๑ ปีแรก

สำหรับลักษณะจำเพาะของระบบเศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกานั้น นับได้ว่ามีความแข็งแกร่งเป็นอย่างมาก GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ) ของอเมริกาอาจจะมีมูลค่ามากกว่าประเทศไทยนับหลายร้อยเท่า รัฐบาลอเมริกันได้มีการกำหนดนโยบายอย่างฉับพลันเพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดจากเหตุการณ์วันที่ ๑๑ กันยายน ซึ่งได้กำหนดงบประมาณพิเศษเพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจเป็นจำนวนกว่าหนึ่งแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามผลสัมฤทธิ์ของนโยบายดังกล่าวก็ยังคงขึ้นอยู่กับตัวแปรสำคัญ "ความไม่แน่นอน" ซึ่งไม่มีผู้ใดจะสามารถยืนยันได้ว่าจะไม่มีการก่อการร้ายเกิดขึ้นอีก และ "ความไม่แน่นอน" นี้จะหยั่งรากลึกอยู่ในจิตใจของประชาชนและนักธุรกิจต่อไปอีกยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนชาวอเมริกัน

สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบทันทีก็คืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบิน ไม่ว่าจะเป็นการผลิตและจำหน่ายเครื่องบินของบริษัทโบอิ้ง หรืออุตสาหกรรมการเดินทาง ซึ่งจะเห็นได้ว่าบริษัทการบินต่าง ๆ ทั้งในอเมริกา และยุโรป หรือแม้แต่สิงคโปร์ ต่างก็ได้รับการกระทบกระเทือนค่อนข้างรุนแรง ในช่วง ๒ - ๓ วันที่ผ่านมานั้น บริษัทการบินส่วนใหญ่ต่างก็ประกาศลดจำนวนเที่ยวบินลงถึงประมาณร้อยละ ๒๐ - ๓๐ จำนวนคนเดินทางก็ลดน้อยลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมโรงแรม และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยทั่วไป

ปัญหาเรื่องน้ำมันก็นับเป็นปัญหาใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง ถึงแม้ในช่วงระยะสองสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลงก็ตาม แต่ก็ไม่มีเครื่องชี้บ่งใดที่สามารถระบุได้ว่าการลดราคาน้ำมันนั้นจะยังคงดำเนินต่อไปอีกนานเท่าใด เพราะมูลเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันลดลงนั้นเกิดขึ้นจากกฎของอุปทานและอุปสงค์ ซึ่งในช่วงที่ไม่มีความแน่นอน ไม่มีการลงทุน หรือไม่มีกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ความต้องการใช้น้ำมันก็ลดน้อยลง ซึ่งส่งผลให้การผลิตน้ำมันลดน้อยลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตามในภาพรวมของธุรกิจภาคพลังงานนั้น คาดว่าจะมีการเพิ่มต้นทุนการผลิตเพื่อนำเม็ดเงินไปเสริมสร้างและพัฒนามาตรการรักษาความปลอดภัยของท่อก๊าซ ท่อน้ำมัน และช่องทางการขนส่ง

นอกจากนี้ ผลกระทบอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยได้แก่ ความเป็นไปได้ที่อุตสาหกรรมเหล็กของสหรัฐอเมริกาอาจจะเรียกร้องให้มีมาตรการกีดกันเหล็กนำเข้าเพิ่มมากขึ้น อุตสาหกรรมการเดินเรือและการขนส่งก็คาดว่าจะได้รับการกระทบกระเทือนเช่นกัน อย่างไรก็ตามผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยนั้นไม่ใช่เป็นผลกระทบในเชิงลบเพียงด้านเดียว เนื่องจากประเทศที่มีประชาชนชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นประเทศอินโดนีเซีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ อินเดีย และมาเลเซียนั้น ความรู้สึกและทัศนคติของคู่ค้าในอเมริกาหรือยุโรปที่ประสงค์จะสั่งซื้อสินค้าจากกลุ่มประเทศดังกล่าวก็อาจลดน้อยลง เพราะเหตุว่าหากสงครามในอัฟกานิสถานยังคงยืดเยื้อและขยายวงกว้างออกไป ก็อาจเป็นไปได้ว่าชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในกลุ่มประเทศดังกล่าวจะเดินทางเข้าร่วมสงครามเพื่อช่วยเหลือชาติมุสลิมด้วยกัน ซึ่งจะทำให้ประเทศมุสลิมเกิดความไม่แน่นอนในเรื่องของขีดความสามารถการผลิตสินค้า และอาจสูญเสียความสามารถในการขนส่งสินค้าได้ในระยะเวลาที่จำกัด ซึ่ง ณ จุดนี้ก็อาจเป็นไปได้ว่าอุตสาหกรรมของประเทศไทยอาจจะได้รับผลประโยชน์จากเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

โดยส่วนตัวแล้ว พบว่าการท่องเที่ยวของประเทศไทย นับว่ามีจุดเด่นและปัจจัยสนับสนุนอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านจะพบว่าประเทศไทยมีความได้เปรียบในหลายแง่มุม อาทิ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสิงคโปร์ที่ถูกขนานนามว่าเป็น Convention City หรือเมืองแห่งการประชุมนั้น พบว่าคนส่วนใหญ่ที่เดินทางไปยังสิงคโปร์นั้นเป็นนักธุรกิจที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อเยี่ยมชมโบราณสถาน วัฒนธรรม หรือสิ่งสวยงามตามธรรมชาติแต่อย่างใด ซึ่งภายหลังจากการก่อวินาศกรรมที่สหรัฐอเมริกา ได้มีการยกเลิกการสำรองห้องพักที่สิงคโปร์เป็นจำนวนมาก โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสิงคโปร์มีการยกเลิกการประชุมใหญ่ที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมถึงสี่พันคน ในขณะที่ประเทศไทยนั้น นับได้ว่ามีผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากคนที่เดินทางมายังประเทศไทยมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเพื่อพักผ่อน หรือดำเนินธุรกิจ โดยนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่เดินทางมายังประเทศไทยมีจำนวนลดลงเพียงเล็กน้อย

"การทำตลาดที่ดีในเรื่องของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเป็นโอกาสที่ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเมืองไทยนั้นเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ ผมยังนึกถึงศัพท์ที่พูดกันทั่วไปว่า no news is good news ซึ่งหมายความว่าข่าวส่วนใหญ่จะเป็นข่าวเลวทั้งนั้น ซึ่งถ้าเผื่อเราไม่มีข่าวอยู่ในโลกนี้ แสดงว่าเราเรียบร้อย ฉะนั้น Thailand is no news, Thailand is good news"

ปัญหาและผลกระทบที่เกิดกับประเทศไทยนั้น ไม่ได้มีเหตุปัจจัยจากเหตุการณ์วันที่ ๑๑ กันยายนเพียงประการเดียว เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงสิ่งที่มาซ้ำเติมปัญหาที่ประเทศไทยสะสมอยู่ ดังนั้นการมองภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทยจะต้องมองภาพก่อนวันที่ ๑๑ กันยายนด้วย ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อ ๔ ปีก่อน ช่างที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินอันเป็นผลมาจากการลงทุนในกิจกรรมเศรษฐกิจที่ไม่ได้เกี่ยวกับการผลิต นวัตกรรม และการตลาดโดยตรง เป็นการลงทุนชนิดที่เรียกว่า "ไม่ลืมหูลืมตา" ในเรื่องกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่ใช่เรื่องของการค้าขายกับต่างประเทศและการผลิตผลิตภัณฑ์ หรือเรียกกันว่า non-traded item ซึ่งได้แก่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัทการเงิน โครงสร้างขั้นพื้นฐาน และโทรคมนาคม ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมมีกำลังการผลิตส่วนเกินเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันอัตราส่วนการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทยลดลงเหลือประมาณร้อยละ ๕๕ - ๖๐ ซึ่งเมื่อกำลังผลิตนั้นเกินความต้องการก็จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยปรับตัวสูงขึ้น

ในช่วงระยะเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจประเภท non-traded item ๔ - ๕ รายการข้างต้นได้ดึงทรัพยากรส่วนใหญ่ของประเทศไปสู่ภาคธุรกิจเหล่านั้นเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรบุคคลและเงินทุน ส่งผลให้เกิดการบิดเบือนในตลาดบุคลากร และตลาดอื่น ๆ เป็นอันมาก ในสมัยนั้นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมต่างก็ทราบดีว่า การสรรหานักการเงินและบัญชีที่มีความเชี่ยวชาญนับเป็นเรื่องยาก เนื่องจากบริษัทการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ และโทรคมนาคม ต่างก็เสนอผลตอบแทนการจ้างงานมากกว่าภาคอุตสาหกรรมถึง ๓ - ๔ เท่าตัว

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจการเงิน โดยเฉพาะธุรกิจการธนาคาร ทำให้ธนาคารส่วนใหญ่เร่งแสวงหาแนวทางการเพิ่มเงินทุนทั้งจากในและต่างประเทศ ระบบสินเชื่อในลักษณะไว้ใจกัน หรือในรูปแบบที่นักธุรกิจให้เครดิตแก่นักธุรกิจกันเองสูญหายไปหมดสิ้น ระบบการให้สินเชื่อทั้งในระบบธนาคารและนอกระบบธนาคารต่างก็หายไปอย่างฉับพลัน ธนาคารเพิ่มเงินทุนได้ มีเงินฝากมากมายแต่ก็ไม่กล้าปล่อยเงินกู้ให้แก่ภาคธุรกิจ ไม่ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นการปล่อยสินเชื่ออย่างไรก็ไม่เป็นผล เนื่องจากธนาคารไม่ได้เป็นหน่วยงานของรัฐบาล ธนาคารเป็นเจ้าของเงินและทรัพย์สินซึ่งต้องแสดงความรับผิดชอบต่อจำนวนเงินนั้นกับผู้ฝาก นอกจากนี้การปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานับเป็นการแก้ไขปัญหาเพียงชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากเป็นการปรับในลักษณะของการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหนี้สินเท่านั้น อาทิ ขยายเวลาการชำระ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย

สำหรับภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจนั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่ได้ดำเนินการในการปฏิรูปโครงสร้างธุรกิจของตัวเองอย่างเป็นรูปธรรม ยังไม่มีการปรับปรุงการบริหารงานให้มีความโปร่งใสมากขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น และเป็นที่ไว้ใจของผู้ที่จะให้เงินทุนมากขึ้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจของประเทศไทยนั้น เป็นภาคที่พึ่งพาเงินกู้จากธนาคารเป็นส่วนใหญ่ ทั้ง ๆ ที่ขณะนี้มีเม็ดเงินอยู่ในระบบธนาคารมากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถนำเม็ดเงินเหล่านั้นมาใช้เพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์ธุรกิจของตนได้ อย่างไรก็ตามส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้ประกอบการไม่มีโครงการใหม่ที่มีโอกาสและความเป็นไปได้มากพอที่ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อให้

สำหรับในเรื่องของการลงทุนนั้น ขณะนี้นักลงทุนแสดงท่าทีอย่างชัดเจนในเรื่องของความไม่แน่ใจต่อปัจจัยต่าง ๆ ของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการชะลอการลงทุนและมีเงินทุนใหม่ที่ก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยน้อยมาก และถึงแม้บริษัทข้ามชาติและบริษัทในประเทศไทยจะมีการลงทุนเพิ่มเติม แต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนกับสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ในเมืองไทยเมื่อ ๑๐ - ๑๕ ปีที่แล้ว ซึ่งมีเงินทุนต่างประเทศเข้าสู่เมืองไทยถึงปีละกว่า ๑๐,๐๐๐ - ๑๕,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในสมัยที่เรียกกันว่า "เศรษฐกิจฟองสบู่" ประเทศไทยมีการลงทุนโดยตรงเป็นจำนวนมาก ซึ่งมูลค่าการลงทุนอาจมากถึงร้อยละ ๓๐ - ๔๐ ของ GDP ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่สูงเกินไป ในขณะที่ปัจจุบันมูลค่าการลงทุนอาจปรับลดลงเหลือเพียงร้อยละ ๑๐ ของ GDP เท่านั้น รัฐบาลในปัจจุบันพยายามที่จะคิดใหม่ ทำใหม่ แล้วก็มีการเริ่มดำเนินนโยบายในสิ่งที่รัฐบาลนี้เรียกว่าเป็นการเดินทางควบคู่กันไป คือการหาเงินทุนจากต่างประเทศควบคู่ไปกับการเพิ่มขีดความสามารถของกำลังซื้อภายในประเทศ ซึ่ง ณ เวลานี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่านโยบายที่เป็นการเดินทางขนานเส้นทางนั้นจะมีผลสัมฤทธิ์มากน้อยเพียงใด

"คำถามหนึ่งที่พวกเราทุกคนควรถามตัวเราเองก็คือว่า ทิศทางของประเทศไทยนั้นควรจะเดินไปทางไหน สิ่งที่ผมกำลังจะพูดนั้น ผมไม่ได้บอกว่าควรจะต้องเป็นทางนี้หรือทางนั้น แต่เป็นสิ่งที่อยากให้พวกท่านทั้งหลายไปนั่งคิดดู"

แนวทางในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้นสามารถแบ่งออกเป็น ๒ ทฤษฎีหลัก คือทฤษฎีที่เริ่มต้นจากการที่เชื่อว่าวิกฤตเศรษฐกิจไทยนั้น ไม่ถึงกับร้ายแรงมากเกินไป เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ และประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะแก้ไขได้ด้วยตนเองโดยวิธีการของตัวเอง ในขณะที่อีกทฤษฎีหนึ่งเป็นทฤษฎีที่ว่าด้วยข้อสงสัยที่ว่าประเทศไทยจะแก้ไขเศรษฐกิจได้ด้วยตนเองและโดยวิธีการของตัวเองได้หรือไม่ หรือจำเป็นจะต้องใช้เงินทุนจากต่างประเทศ เพราะที่ผ่านมานั้น การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ มักจะมุ่งเน้นไปยังภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่น่าจะเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ซึ่งก่อให้เกิดความไม่แน่นอนต่อตลาดการส่งออกและนับเป็นการซ้ำเติมให้ปัญหาของประเทศไทยมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาภาพรวมการส่งออกของประเทศไทย พบว่าประเทศไทยยังอยู่ในฐานะที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านอยู่มาก คู่ค้ารายใหญ่ของประเทศไทยได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศอาเซียน และกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกของประเทศไทยคิดเป็นร้อยละประมาณ ๒๒ ๒๐ ๑๙ และ ๑๖ ตามลำดับ โดยจุดเด่นของสินค้าส่งออกจากประเทศไทยได้แก่ความหลากหลาย และยังมีสินค้าภาคการเกษตรร่วมอยู่ด้วย ซึ่งในกลุ่มสินค้าอาหารนั้นไม่ว่าจะเป็นก่อนหรือหลังเหตุการณ์วันที่ ๑๑ กันยายน ยังคงรักษาระดับการส่งออกได้เป็นอย่างดี อาที ไก่ กุ้ง ปู ปลา และข้าว ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์นั้น ร้อยละ ๖๒ ของสินค้าขาออกเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวโยงกับเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ซึ่งมีตลาดหลักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งการส่งออกของสิงคโปร์ได้ปรับตัวลดลงมาเป็นเวลาหลายไตรมาสแล้ว สำหรับสัดส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม IT ของประเทศไทยนั้นมีสัดส่วนร้อยละ ๓๑ ของการส่งออกทั้งหมด ซึ่งร้อยละ ๓๑ ของประเทศไทยนั้นก็ไม่ใช่ร้อยละ ๓๑ ในแง่ของการผลิต เพราะส่วนใหญ่ไทยยังต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศเพื่อนำมาประกอบและส่งออกอีกทอดหนึ่ง ดังนั้นหากการส่งออกผลิตภัณฑ์ IT ของไทยลดลง สิ่งที่ไทยจะเสียหายก็คือค่าแรงงานเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์และเกาะไต้หวันนั้นจะมีความเสียหายเป็นอย่างมาก เพราะประเทศดังกล่าวเป็นผู้ผลิตทั้งชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ที่สำเร็จรูปแล้ว จะเห็นได้จากการส่งออกในไตรมาสที่ ๓ ของสิงคโปร์ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ ๖ และเป็นที่คาดการณ์กันว่าปี พ.ศ. ๒๕๔๔ เศรษฐกิจของประเทศสิงคโปร์จะถดถอยประมาณร้อยละ ๑ - ๒ ซึ่งไต้หวันก็มีสถานการณ์เช่นเดียวกับสิงคโปร์

"ผมพูดถึงการปฏิรูปอุตสาหกรรมในเมืองไทย และผมคิดว่าภาคเอกชนต้องเป็นผู้นำในเรื่องนี้ จะไปปล่อยให้รัฐบาลคิดใหม่ทำใหม่อยู่เรื่อยไม่ได้ เพราะยิ่งไปยุให้คิดใหม่ทำใหม่เขาก็ยิ่งคิดใหม่ทำใหม่ทุกวัน สิ่งที่เราต้องการก็คือคิดใหม่และทำให้เสร็จ คิดใหม่พร้อมกันหลาย ๆ เรื่องได้ แต่ต้องทำให้เสร็จซักเรื่องหนึ่ง สองเรื่อง หรือสามเรื่อง"

รัฐบาลในปัจจุบันนับเป็นรัฐบาลแรกของประเทศไทยที่พูดถึงนโยบายที่พยายามจะหาข้อเท็จจริงและวิเคราะห์ แต่ที่ยังขาดไปก็คือการทำอะไรให้ครบจบกระบวนการ เนื่องจากการสร้างวิสัยทัศน์นั้น นับเป็นสิ่งที่ดีและให้ความหวังกับคน แต่สิ่งที่ยากก็คือการเปลี่ยนวิสัยทัศน์ออกมาเป็นมาตรการและนโยบายที่เป็นรูปธรรม สามารถมีผลลัพธ์ได้ และสามารถประเมินผลได้ ซึ่งภายใน ๒ - ๓ เดือนภายหลังจากที่กำหนดวิสัยทัศน์แล้ว รัฐบาลควรจะเร่งดำเนินการกำหนดมาตรการและนโยบายให้เป็นรูปเป็นร่างด้วย ภาคเอกชนต้องริเริ่มในเรื่องของการปฏิรูปโครงสร้างภาคธุรกิจของตนเอง และต้องนำหลักการดี ๆ ของธรรมาภิบาลและบรรษัทภิบาลมาปรับใช้

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการสำรวจข้อคิดเห็นจากนักธุรกิจต่างประเทศ พบว่าประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่มีปัจจัยหลายด้านที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติสบายใจที่จะมาลงทุน ส่วนหนึ่งก็คือภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในส่วนรวมนั้นมีความหลากหลายของตลาดส่งออก เป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยธัญญาหาร มีเสถียรภาพ และเป็นสังคมที่เปิด สังคมที่ให้เสรีภาพกับสื่อ สังคมที่ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหรือความเห็นที่ขัดแย้ง ไม่มีปัญหาเชื้อชาติ ไม่มีปัญหาศาสนา ซึ่งถึงแม้จะมีปัญหาอยู่บ้างแต่ก็นับว่าเป็นปัญหาทั่ว ๆ ไปเหมือนอย่างที่นานาประเทศจะพึงมี

อย่างไรก็ตามนักลงทุนที่ประสงค์จะลงทุนในประเทศไทยเมื่อช่วง ๑๐ ปีที่แล้วกับปัจจุบันนั้น มีความแตกต่างอยู่พอสมควร นักอุตสาหกรรมส่วนใหญ่คงจำได้ดีว่าเมื่อช่วง ๑๐ ปีที่แล้วนั้น ธุรกิจจะดีหรือไม่ดีอย่างไร ธนาคารต่างประเทศก็มาร้องขอให้กู้เงินเพิ่ม ซึ่งนักอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็ไม่ปฏิเสธ เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวดอกเบี้ยในต่างประเทศมีอัตราที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยภายในประเทศ ส่งผลให้หนี้ภาคเอกชนมีมูลค่าสูงกว่าแปดสิบพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ถึงแม้ปัจจุบันหนี้ภาคเอกชนจะปรับตัวลดลงค่อนข้างมากก็ตาม แต่ในความเป็นจริงนั้น หนี้ดังกล่าวนับว่าไม่ได้ลดลงซักเท่าใดเนื่องจากรัฐบาลเป็นผู้รับภาระหนี้บางส่วนแทนเอกชน

การจะดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยนั้น ขึ้นอยู่กับความจริงจังของรัฐบาลในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ ความชัดเจนที่รัฐบาลจะนำพาประเทศไปสู่ระบบสังคมเปิดหรือจะเป็นรัฐบาลที่เอาแต่ความคลั่งชาติ ความหลงชาติ มาเป็นเหตุผลกีดกันทางการค้า พ.ร.บ. ใหม่ที่ประกาศบังคับใช้ในเรื่องธุรกิจโทรคมนาคมอันมีสารัตถะถึงการเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนการถือหุ้นของต่างประเทศจากร้อยละ ๔๙ มาเป็นร้อยละ ๒๕ ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างออกไปยังผู้ลงทุนต่างประเทศ ความไม่ชอบมาพากลและพฤติกรรมของผู้ใช้อำนาจทางการเมืองและผู้ประกอบธุรกิจ การติดโยงกับธุรกิจผูกขาด ธุรกิจบางประเภทซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าหากไม่มีการมอบเงินใต้โต๊ะหรือเหนือโต๊ะ ธุรกิจอันนั้นก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันธุรกิจโทรคมนาคมก็อยู่ในข่ายนี้ ส่งผลให้ผู้บริโภคโทรคมนาคมเป็นผู้ที่เสียเปรียบที่สุด ต่อไปหากมีการแปรเรื่องของสัญญาโทรคมนาคมตามแนวทางที่อาจจะเกิดขึ้น ผู้บริโภคจะไม่ได้รับอะไรเลย ในขณะที่รัฐจะสูญเสียรายได้กว่า ๒ - ๓ แสนล้านบาท โดยรวมแล้วผู้ลงทุนในปัจจุบันต่างก็ต้องการเห็นว่ารัฐบาลจะส่งสัญญาณที่แน่นอนว่าจะเอาจริงเอาจังในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และธรรมาภิบาลที่จะเกิดขึ้นนั้น จะต้องเป็นธรรมาภิบาลที่เกิดขึ้นทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างแท้จริง

"เราอาจจะบอกได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอเมริกานั้น ต่อไปผลค่าตอบแทนของการลงทุนในอเมริกานั้นจะถดถอยลงไป เงินทุนหรือ equity นั้น จะไหลมาเทมาไปสู่ประเทศทั้งหลาย ประเทศไทยจะมานั่งฝันหวานคอยรับเงินอย่างเดียวไม่ได้ ใครเขาจะเอาเงินมาลงทุนหากพื้นฐานของการบริหารที่ดี ที่มีประสิทธิภาพ ที่ซื่อตรงต่อผู้ถือหุ้น ที่เงินไม่เข้ากระเป๋าตัวเอง มันยังไม่ปรากฏขึ้น"

ปีที่แล้วประเทศจีนมีเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากกว่า ๕๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ จีนเริ่มดำเนินการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจเข้าสู่ภาคเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาจีนได้ดำเนินการ privatize ไปแล้วเป็นมูลค่ามากกว่า ๒๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐฯ

"ผู้นำประเทศจีนทุกครั้งที่เจอกับผู้ลงทุน หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินของอเมริกัน เขาจะพูดเสมอว่า เขาหลงทางมา ๕๐ ปี มัวแต่ไปตามอุดมการณ์ทางการเมืองของประเทศ ซึ่งประสบความล้มเหลว แต่เขาอยากเห็นอีก ๕๐ ปีข้างหน้า จีนจะเลือกทางที่ถูก ว่าจีนจะเลือกใช้ระบบที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ระบบนี้ทำให้ ๑. คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น ๒. ทำให้รายได้ของคนดีขึ้น ๓. ทำให้ผลิตผลของประชาชนดีขึ้น และ ๔. เป็นระบบที่เสริมสร้างนวัตกรรมของคน เป็นระบบที่สนับสนุนคนที่มีความรู้ เขาบอกเขาอยากเป็นอเมริกาในอีก ๕๐ ปีข้างหน้า"

สิ่งที่ผู้นำประเทศจีนกล่าวข้างต้นนั้นจะจริงหรือไม่จริงก็แล้วแต่ แต่จากถ้อยแถลงดังกล่าวนับได้ว่าเป็นการส่งสัญญาณอันชัดเจนไปยังนักลงทุนชาวอเมริกันและชาวยุโรปว่า ประเทศจีนได้กำหนดทิศทางที่ชัดเจนในการพัฒนาเศรษฐกิจของตนเอง รวมทั้งพร้อมดำเนินการไปในทิศทางดังกล่าวอย่างเต็มที่ ณ วันนี้ประเทศจีนได้กำหนดทิศทางแล้ว หากประเทศไทยยังคงดำเนินการในลักษณะเหยียบเรือสองแคม ซึ่งด้านหนึ่งก็ระบุว่าไทยจะเปิดเสรีทางการค้า ในขณะที่อีกด้านหนึ่งกลับชมเชยผู้นำประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ จะส่งผลให้นักลงทุนเกิดความสับสน และเมื่อเกิดความสับสนก็เกิดความไม่แน่ใจตามมา ซึ่งก็นำกลับมาสู่ตัวแปรสำคัญที่ระบุข้างต้นก็คือ "ความไม่แน่นอน" ซึ่งนับเป็นอุปสรรคของการลงทุน

รัฐบาลควรส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าจะปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ด้วยการนำหลักของบรรษัทภิบาลมาใช้ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นว่าเงินที่นำมาลงทุนนั้นจะไม่เข้าไปสู่กระเป๋าของเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารบางคนเท่านั้น แต่จะเป็นการใช้เงินที่มีความโปร่งใส ที่มองถึงผลประโยชน์ของธุรกิจในส่วนรวม ซึ่งรัฐบาลควรจะมีมาตรการหลายด้านนอกเหนือไปจากการชี้นำเพียงอย่างเดียว รัฐบาลควรจะอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม นำหลักธรรมาภิบาลและบรรษัทภิบาลมาปรับใช้ในภาครัฐและภาคธุรกิจเพื่อสร้างให้เป็นจุดเด่นนอกเหนือไปจากการที่ประเทศไทยมีประชาธิปไตย

"หากเงินทุนจากต่างประเทศไหลมายังประเทศไทย กิจกรรมทางด้านธุรกิจและเศรษฐกิจก็จะมีมากขึ้น โครงการดี ๆ จะมีมากขึ้น จะมีคุณภาพมากขึ้น และเมื่อถึงบัดนั้นแล้ว ธนาคารไทยก็จะปล่อยเงินเอง แต่สิ่งที่เราต้องรู้ก็คือว่าการปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยนั้น ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเท่านั้น ไม่ใช่บริษัทแต่ละบริษัททำ บริษัทแต่ละภาคธุรกิจจะต้องทำรวมกัน อุตสาหกรรมเหล็กของเมืองไทยมีผู้ผลิตกว่า ๓๐ ราย ในขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กของประเทศญี่ปุ่นซึ่งใหญ่กว่าเรามากกลับมีผู้ผลิตรวมตัวกันเหลืออยู่ ๒ - ๓ รายเท่านั้น ทุกวันนี้คุณเปิดหนังสือพิมพ์ หรือรับชมรับฟังข่าวสารจาก CNN BBC จะได้ยินอยู่เสมอว่าธนาคารนั้นรวมตัวกับธนาคารนี้ บริษัทนั้นรวมตัวกับบริษัทนี้ มันไปในทางนั้นหมด ดังนั้นแล้วต่างคนต่างสู้ก็จะทำไม่ไหว และต่างคนต่างสู้ก็จะตายกันทั้งหมด แต่ใจผมยังเชื่อว่าเมืองไทยยังมีโอกาสอีกมาก ขอให้คิด ขอให้ทำ และก็ขอให้มีความเชื่อมั่นว่า จะทำอะไรนั้นอย่านึกถึงแต่กระเป๋าตัวเอง เพื่อนฝูง พรรคพวก แต่ขอให้นึกถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจนั้นทั้งหมด ธุรกิจเจริญ เจ้าสัวก็เจริญขึ้น หลงจู๊ก็เจริญขึ้น ผู้ถือหุ้นก็เจริญขึ้น เศรษฐกิจของประเทศก็จะเจริญขึ้น"