รวมปาฐกถาภาษาไทย

ปาฐกถาพิเศษ
เรื่อง
ความพอดีของวิถีพัฒนาไทย
โดย
นายอานันท์ ปันยารชุน
ประธานสภาสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย / ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ในการสัมมนาเรื่อง
“ความพอดีของวิถีพัฒนาไทย ในกระแสโลกาภิวัตน์”
จัดโดย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๔
ณ ห้องประชุม ๓ ศูนย์ประชุมองค์การสหประชาชาติ กรุงเทพฯ


ท่านผู้มีเกียรติ

การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันในเวทีโลกและเวทีระดับชาติกันมาร่วมทศวรรษแล้ว เวทีโลกได้สรุปเอาไว้ว่าหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นหลักการบนพื้นฐานของการประสานผลประโยชน์ ระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถดำเนินไปด้วยกันได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่กันคนละขั้ว มิใช่ว่ามีการพัฒนาแล้วจะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่ได้ หรือมิใช่มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้วจะต้องไม่มีการพัฒนา

จากมูลฐานข้อเท็จจริงที่ว่า อารยธรรมของโลกมีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง และพัฒนาอยู่ตลอดมา อีกทั้งธรรมชาติของมนุษย์เรา มีสมองที่จะทำงานและคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ และวิธีการผลิตใหม่ ซึ่งเราจะต้องยอมรับว่าในโลกของความเป็นจริง การพัฒนา วิวัฒนาการ จะหยุดยั้งไม่ได้และจะดำเนินต่อไป แต่ที่สำคัญคือจะต้องมีสติ

ในช่วง ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา วิวัฒนาการได้ให้ความสำคัญต่อด้านสิ่งแวดล้อมน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย เพราะแต่ละสังคมไปเพ่งเล็งอยู่ที่ความเจริญ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเติบโตของรายได้ประชาชาติ จนมาถึงจุดที่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อ ๓๐ - ๔๐ ปีที่แล้ว ที่มีการพูดถึงกันอย่างจริงจัง เป็นผลสืบเนื่องจากการที่อุตสาหกรรมและธุรกิจของประเทศที่พัฒนาแล้ว นำพาความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมมาสู่สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นบริษัทน้ำมัน บริษัทปิโตรเคมี และอื่น ๆ

ปัจจุบัน ปัญหานี้เพิ่มพูนทวีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะสังคมของโลกหนักไปทางด้านบริโภคนิยม และเป็นโลกของการแข่งขัน มีทั้งการแข่งขันเพื่อให้มีการพัฒนาขึ้น และแข่งขันเพื่อให้มีอำนาจเหนือกว่ากัน การแข่งขันประเภทหลังทำให้บางส่วนต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดภายใต้กระแสที่เชี่ยวกราก เพราะเป็นการแข่งขันที่ไร้คุณธรรม นำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบของผู้มีอำนาจกว่า เกิดความไร้ระเบียบของสังคมโลก เป็นชนวนไปสู่การต่อสู้ ประหัตประหาร แล้วยังก่อให้เกิดการทำลายล้างทั้งชีวิตมนุษย์ ระบบนิเวศ และระบบวัฒนธรรมอย่างรุนแรงและรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

หากเราปล่อยให้วิถีโลกยังดำเนินไปอย่างนี้ ก็ไม่ต้องมาพูดถึง “ความยั่งยืน” กันให้เสียเวลา จะประชุม Earth Summit อีกกี่ครั้งก็ตาม หรือมีวาระ Agenda อีกกี่ฉบับ ก็ไม่มีความหมาย และเวลาของโลก จะอยู่รอดให้เรามีการประชุมกันถึงอีกกี่สิบครั้งหรือไม่นั้น ผมไม่มั่นใจ

แต่สิ่งที่ผมมั่นใจก็คือ เราจะสามารถสร้างพลังขับเคลื่อนสังคมเล็ก ๆ ของเรา ให้รอดพ้นจากกระแสของโลก ด้วยจุดยืนที่ตั้งมั่น และก้าวไปสู่วิถีของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ถ้าเราลงมือทำวันนี้และนาทีนี้

ผมไม่ได้ชี้นำให้เราเอาตัวรอดแบบที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคมโลกโดยรวม ในความเป็นจริง เราไม่อาจหลีกเลี่ยงการเป็นสมาชิกของสังคมโลก และเรารู้ตัวดีว่าเราไม่ใช่ชาติมหาอำนาจที่จะไปชี้นำหรือควบคุมใครได้ นั่นจึงทำให้เราจำต้องเอาตัวเองออกมาให้พ้นกระแสของความรุนแรง วิถีการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และความไร้ระเบียบของสังคมโลก เราจำเป็นต้องทำ และทำคนเดียวก็ไม่ได้ เราต้องแสวงหาพันธมิตรมาร่วมในขบวนการการอยู่รอดอย่างรับผิดชอบนี้ด้วยกัน

หากหันกลับมามองสังคมไทยของเราบ้าง ผมว่าตอนนี้เราไร้ระเบียบไม่แพ้สังคมโลกแล้ว มองลงไปสู่สังคมที่เล็กกว่า จนถึงระดับครอบครัว ท่านเห็นอะไรบ้าง สิ่งที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นก็คือความเป็นธรรมชาติของคนที่อยู่ร่วมกันในสังคมระดับต่าง ๆ ท่านจะเห็นว่าแม้แต่ในบ้านหลังเล็ก ๆ ของเรา ก็ยังมีความหลากหลายรวมกันอยู่ แต่ความผาสุกก็เกิดขึ้นได้ สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เราน่าจะคิดดู

สำหรับผมเองแล้ว ความผาสุกและสันติในสังคมจะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจากความเอื้ออาทรและการเคารพซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะการเคารพในเรื่องของความคิด และพร้อมที่จะฟัง พร้อมที่จะได้ยิน และพร้อมที่จะหาทางออกร่วมกัน ทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับวิถีการพัฒนาที่มีความพอดี และหากเกิดคำถามตามมาว่า ความพอดีอยู่ที่ไหน เป็นความพอดีของใคร ความพอดีของนักลงทุน เกษตรกร หรือคนยากจน ทุกท่านทราบดีว่า ความพอดีของแต่ละของแต่ละสังคมไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของแต่ละกลุ่มคนหรือแต่ละประเทศ ก็ต้องมีวิถีและบริบทที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่สำคัญและจะลืมเลือนไปไม่ได้ ก็คือ ความพอดีของการพัฒนาจะต้องอยู่บนพื้นฐานของทุนที่ตัวเองมี ไม่ใช่ทุนที่ไปยืมใครเขามา ไม่ใช่ทุนที่นำมาเข้าจากต่างประเทศ และไม่ได้หมายถึงทุนที่เป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงทุนทั้งหมดของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทุนทรัพยากร ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรคน ทุนทางปัญญา รวมทุนทางวัฒนธรรมและจารีตประเพณีด้วย

ที่ผ่านมา เราไม่ได้ประเมินทุนเหล่านี้อย่างละเอียด เราละเมิดความสำคัญของทุนบางอย่าง ทำให้เราพยายามก้าวกระโดดไปสู่ความมั่งคั่งโดยขาดความมั่นคง ผลที่ตามมาก็คือว่า เราประสบผลสำเร็จหรือความล้มเหลวในเรื่องนี้อย่างไร ถึงเวลาที่ต้องทบทวน แล้วใช้บทเรียนที่เกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่อนาคตที่น่าอยู่มากกว่านี้

และนอกจากนี้ วิถีการพัฒนาที่พอดี จะต้องสอดคล้องกับความเป็นธรรมชาติ ความเป็นธรรมชาติ ก็คือ ความเป็นปรกติ ความเป็นธรรมดา

ความเป็นธรรมชาติจะต้องมีความหลากหลาย ซึ่งตรงกันข้ามกับโลกาภิวัฒน์ที่กำลังลดทอนความหลากหลายของโลกในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทิศทางการพัฒนาหรือเรื่องของวัฒนธรรม ความเป็นธรรมชาติจะต้องมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งทั้งหลาย มีการพึ่งพาอาศัย และมีความเป็นเอกภาพในความหลากหลาย เช่นเดียวกับการพัฒนา หากเราให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เราก็จะต้องให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับระบบนิเวศ ระบบวัฒนธรรม และจริยธรรมของสังคมด้วย

ความเป็นธรรมชาติจะต้องมีความสามารถที่จะจัดการกับตัวเองได้ ซึ่งปัจจุบัน ธรรมชาติพังไปมาก ก็เพราะน้ำมือมนุษย์ที่เข้าไปจัดการหรือไปยุ่งกับธรรมชาติจนเกินความจำเป็น และทำให้ธรรมชาติปรับตัวเองไม่ทัน อีกประการหนึ่งของความเป็นธรรมชาติ ก็คือ การเปลี่ยนแปลง ดังนั้น การที่อ้างว่าต้องรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ให้เหมือนเดิม จึงเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นธรรมชาติ แต่ประเด็นสำคัญของการเปลี่ยนแปลง คือ การคงความสมดุลไว้ให้ได้

ฉะนั้น ทิศทางการพัฒนาไทยในอนาคต จะต้องสำรวจเพื่อรู้จักตัวเอง รู้ทุนของตัวเองให้มากขึ้น และดำเนินไปตามวิถีของธรรมชาติให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และต้องเข้าใจว่า วิถีธรรมชาตินั้นมีวิถีการการเปลี่ยนแปลงของตัวมันเอง ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะหยุดและไม่ก้าวต่อไปอีก

บนพื้นฐานแนวคิดข้างต้น เราจึงจะต้องเปลี่ยนเป้าหมายของการพัฒนาประเทศให้มุ่งไปสู่ความมั่นคงมากกว่าความมั่งคั่ง มั่นคงในด้านเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงระดับชาติ มั่นคงทางด้านจิตใจ ด้านวัฒนธรรม การเมือง และด้านนิเวศ การพัฒนาประเทศที่จะก่อให้เกิดความมั่นคงในทุกระดับได้นั้น สัมมาทัศนะของวิถีการดำเนินชีวิตระดับปัจเจกบุคคลจะต้องเกิดขึ้นก่อน

ทุกวันนี้ ผู้คนจำนวนมากดำเนินวิถีชีวิตของตนจนเกินความพอดี ขัดแย้งกับความเป็นธรรมชาติ กระเสือกกระสนแข่งขัน ไขว่คว้าเพื่อบริโภคและครอบครองทรัพย์สินจนเกินความจำเป็น หาได้มีความพอเพียงในชีวิต หลายต่อหลายคนได้ทุ่มเทต่อการทำงานเพียงเพื่อให้เกิดความมั่งคั่ง แต่ชีวิตกลับขาดความมั่นคง แล้ว จะมีประโยชน์อะไร

ซ้ำร้าย วิถีการพัฒนาที่ไม่มีความเป็นธรรมชาติ มีการแข่งขันที่เอารัดเอาเปรียบ ไร้คุณธรรม และผูกขาด ทำให้สังคมเราไร้ระเบียบมากขึ้น สร้างความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันระหว่างบุคคลขยายมากขึ้นเรื่อย ๆ เกิดปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้น ระบบนิเวศเสื่อมโทรม จริยธรรมเสื่อมถอย และระบบครอบครัวล่มสลาย

เสียเวลาที่จะตั้งคำถามว่า สัมมาทัศนะของพวกเราและของผู้นำในสังคมไทยในเรื่องการพัฒนาเกิดแล้วจริงหรือ เพราะคำตอบชัดเจนอยู่แล้ว

ณ นาทีนี้ เราจะต้องเปลี่ยนแปลงวิถีการพัฒนาแบบเดิม การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงและยั่งยืนถาวร ตามที่ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติได้บันทึกไว้นั้น ส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มเกิดจากชายขอบก่อนเสมอ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากศูนย์อำนาจแม้จะเกิดขึ้นมากครั้ง แต่ไม่มีความยั่งยืน เพราะฉะนั้น ผมจึงให้ความสำคัญกับพวกเราที่ทำงานในลักษณะชายขอบทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรสาธารณะ องค์กรพัฒนาเอกชน หรือองค์กรประชาชน ซึ่งจะต้องทำงานต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ และคงจะต้องทนฟังคำติเตียน หรือคำพูดที่ถากถางจากคนบางกลุ่มในสังคมไทยต่อไป

ผมมีความยินดี ที่ได้เห็นความห่วงใยของคนรุ่นหนุ่มสาว และได้รับรู้ถึงอุดมคติขององค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรประชาชนซึ่งถือเป็นความหวัง คนรุ่นนี้จะต้องต่อสู้กันอีกนาน ขออย่าย่อท้อ ควรผนึกกำลังกัน เพื่อจะได้มีพลังในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จุดประกายวิถีการพัฒนาเพื่อความมั่นคง บนพื้นฐานของความเป็นธรรมชาติดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และจะต้องยอมรับข้อเท็จจริงของโลก ที่มีการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา มีการวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี ที่จะมีส่วนให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจมีความสอดคล้องกับการรักษาระบบนิเวศได้

สุดท้าย ผมขอฝากไว้ว่า หากประชาชนไม่ให้ความสนใจอย่างจริงจังต่อกระบวนการพัฒนาประเทศ แต่กลับเรียกร้องถึงการมีส่วนร่วมโดยไม่รู้จักหน้าที่และมองเป็นองค์รวม ปล่อยให้เป็นเพียงภาระหน้าที่ของรัฐดำเนินการไปตามลำพัง ความคาดหวังที่จะได้เห็นการพัฒนาที่จะนำประเทศไปสู่ความมั่นคง เกิดความผาสุกและสันติของทุกกลุ่มคนในสังคม ก็ย่อมเกิดได้ยาก ในทางกลับกัน หากภาครัฐซึ่งพูดถึงการมีส่วนร่วมอยู่เสมอ บอกว่ารับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่กลับไม่ได้ยิน แสดงความไม่พอใจหรือไม่นำไปใช้ ก็ไร้ประโยชน์เช่นเดียวกัน

ฉะนั้น เราทั้งหลายจะต้องร่วมกันคิด แต่หากมีความเห็นที่แตกต่างกัน นั่นก็คือ ความเป็นธรรมชาติที่ต้องเรียนรู้เพื่อหาทางออกร่วมกัน ในโลกของความจริงไม่มีใครได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ข้อยุตินั้นทุกคนต้องมีส่วนได้ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละฝ่ายมีความคิดเห็น มีสติเพียงพอที่จะพยายามประสานผลประโยชน์ ซึ่งจะต้องไม่ทิ้งหลักการ รวมถึงคิดเพื่อหาทางออก และเมื่อได้ข้อยุติแล้วจะต้องช่วยกันทำ โดยต้องทำมากกว่าที่คิด การพัฒนาที่เราคาดหวังจึงจะเกิดขึ้นอย่างสัมฤทธิ์ผล

ผมขออวยพรให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น และขอเปิดการสัมมนา ณ บัดนี้

ขอขอบคุณครับ