รวมปาฐกถาภาษาไทย

คำกล่าวเปิดการสัมมนาวิชาการประจำปี ๒๕๔๔ เรื่อง
“ยุทธศาสตร์การขจัดปัญหาความยากจน”
โดย คุณอานันท์ ปันยารชุน
ประธานสภาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ร่วมจัดโดย มูลนิธิชัยพัฒนา
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สำนักงบประมาณ
และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ณ โรงแรม แอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จ.ชลบุรี
วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๔


ท่านผู้มีเกียรติ
ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือที่เรียกกันว่า สภาพัฒน์ และสำนักงบประมาณ ได้ร่วมกันจัดการสัมมนาวิชาการประจำปี ๒๕๔๔ เรื่อง “ยุทธศาสตร์การขจัดปัญหาความยากจน” ขึ้นในครั้งนี้

การที่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐที่เป็นหน่วยงานหลัก อย่างสภาพัฒน์และสำนักงานงบประมาณจากภาคการวิจัย อย่างทีดีอาร์ไอ และจากองค์กรที่มีวัตถุประสงค์และผลงานแน่ชัดในการพัฒนาความกินดีอยู่ดีในชนบทและชุมชน อย่างมูลนิธิพัฒนาและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มาร่วมมือกันจัดการสัมมนาในครั้งนี้ ผมถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดียิ่ง เพราะปัญหาที่รุนแรงซับซ้อนและละเอียดอ่อนอย่างปัญหาความยากจน หากปราศจากความร่วมมือไปในทิศทางเดียวและเกื้อหนุนซึ่งกันและกันจากทุกภาคแล้ว ก็ยากที่จะแก้ไข หรือแม้แต่บรรเทาให้เบาบางลงได้ ความยากจนโดยตัวของมันเอง นำมาซึ่งความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต ทำให้เกิดความหวาดกลัว ซึ่งเป็นภาวะของคนไร้อิสรภาพ อย่าเพียงแต่จะคิดว่าความยากจนจะนำมาซึ่งปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอย่างอื่นเลย เพียงแต่การที่ประเทศของเรามีประชากรที่ตกอยู่ในภาวะเช่นนี้ ก็ทำให้สังคมกัดกร่อนและไร้ดุลยภาพได้แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะลดจำนวนของผู้ที่ตกอยู่ในภาวะเช่นนี้ให้น้อยลงมากที่สุด

แต่เมื่อผมเริ่มชีวิตการทำงานเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ผมจำได้ว่าการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย แต่ทำไม ในขณะที่ตัวเลขแสดงความยากจนของประเทศไทยโดยรวมลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาคนยากคนจนยังคงรุนแรง ปัญหาคืออะไร และเราจะแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดได้อย่างไร

ในเบื้องต้น ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตว่า ความยากจนในสมัยนี้ มีหน้าตาแตกต่างไปจากความยากจนที่คนรุ่นผม เคยรู้จักอยู่มาก เพราะเงื่อนไขทำให้จน หรือเงื่อนไขที่ทำให้คนคนหนึ่งรู้สึกแร้นแค้น อับจน และไร้หนทางนั้นซับซ้อนขึ้นมาก ในปัจจุบันคนที่ “จนเงิน” ก็มักจะถูกนำพาให้ “จนโอกาส” “จนความรู้” และ “จนวิถีชีวิต” ไปด้วย ในทางกลับกัน คนที่ “จนโอกาส” และ “จนความรู้” ก็มักจะกลายเป็นคนที่ “จนเงิน” ไปด้วยในที่สุด นี่ประเด็นที่หนึ่ง

ประเด็นที่ ๒ ตลอดระยะเวลา ๔๐ ปีที่ผ่านมา เรามุ่งสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีความหวังว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะนำมาซึ่งรายได้ และการเพิ่มรายได้ก็จะช่วยลดความยากจน ซึ่งความคิดนี้ก็ไม่ผิด เพียงแต่ในกระบวนการดังกล่าว เราขาดการบริหารจัดการบางสิ่งบางอย่าง ทำให้ช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนกว้างมากขึ้น ยิ่งช่องว่างทางรายได้กว้าง การเจริญเติบโตของประเทศโดยรวมก็จะยิ่งช้า และขาดเสถียรภาพ โอกาสที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จะทำให้คนจนลืมตาอ้าปากได้ก็ยิ่งลดน้อยลงตามไปด้วย นอกจากนี้ ถ้าช่องว่างระหว่างรายได้ของคนรวยกับคนจนห่างกันมาก ก็มักจะนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ทางสังคม เช่น ปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรง และปัญหาอาชญากรรม ดังนั้น การแก้ไขปัญหาความยากจน ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่วนเวียนอยู่รอบ ๆ ปัญหาความยากจนนั้น จะรอบด้านไปไม่ได้ หากไม่ได้พิจารณาเรื่องของช่องว่างทางโอกาสประกอบด้วย

เราจะลดช่องว่างทางรายได้ได้อย่างไร ประสบการณ์จากทั่วโลก ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยสำคัญคือ แนวนโยบายของรัฐครับ นโยบายของรัฐบาล รวมถึงทิศทางการพัฒนา การเพิ่มโอกาสและศักยภาพ ให้ผู้คนและสังคมของตน ตลอดจนการเพิ่มการมีส่วนร่วมของทุกกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ยากจน

ข้อสังเกตประการที่ ๓ แม้ว่านโยบายของรัฐจะสำคัญมากต่อการแก้ปัญหาความยากจน แต่การรอเพียงนโยบายหรือการดำเนินการของภาครัฐนั้นไม่เพียงพอ เพราะเท่ากับว่าเรายังรอคอยปัจจัยภายนอกอยู่ การขจัดปัญหาความยากจนจะต้องมองหลายระดับ ทั้งระดับบุคคล ไม่ว่าจะเป็นความพยายามพึ่งพาตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งในระดับชุมชนในการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็งและกระบวนการเรียนรู้ และในระดับนโยบายของรัฐ

ความพยายามและความร่วมมือกันในทั้ง ๓ ระดับ จากทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการพัฒนา ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และที่สำคัญอย่างยิ่ง การฟังเสียงจากตนจนเอง เป็นกุญแจไปสู่ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความยากจนที่ปฏิบัติได้จริงและยั่งยืน

ในชีวิตผมไม่เคยรำคาญอะไรมากเท่าการแบ่งขั้วอย่างผิวเผิน ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งขั้วในเชิงอุดมการณ์อย่างในอดีต หรือการแบ่งขั้วใด ๆ ในทศวรรษนี้ ผมเชื่อว่าการแบ่งขั้วที่รุนแรงที่สุด จะอยู่ที่การแบ่งแยกระหว่างคนรวยกับคนจน และไม่ใช่เพียงระหว่างคนรวยเงินกับคนจนเงินเท่านั้น แต่ระหว่างคนรวยโอกาสกับคนจนโอกาส คนรวยกับคนจนความรู้และกระบวนการเรียนรู้ และคนรวยวิถีชีวิตกับคนจนวิถีชีวิต ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วครับที่เราจะต้องหาหนทางอย่างน้อย ๔ ประการ คือ

หนึ่ง ลดคนจนเงิน จะด้วยมาตรการการช่วยเหลือจากภาครัฐ หรือการเสริมสร้างโอกาสในทางใดก็แล้วแต่ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ทำให้รายได้มีมากกว่ารายจ่ายและทำให้เงื่อนไขการเกิดรายได้หรือรายจ่ายนั้น ไม่ต้องเพิ่งพาเม็ดเงินเพียงอย่างเดียว

สอง ตัดหรือบรรเทาความสัมพันธ์ระหว่าง “เงิน” “โอกาส” “ความรู้” และ “วิถีชีวิต” อย่าให้ความจนในรูปแบบหนึ่งต้องนำมาซึ่งหรือสะท้อนถึงความจนในรูปแบบอื่นไปด้วย

สาม สร้าง “โอกาส” “ความรู้” และ “วิถีชีวิต” ที่สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและเพียงพอในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในลักษณะที่ไม่ต้องมีเงินเท่านั้นเป็นเงื่อนไขนำ

และประการสุดท้าย สร้างเงื่อนไขในสังคมที่จะทำให้ช่องว่างในสังคมลดน้อยลงให้มากที่สุดทั้งทางด้านเงินทอง รายได้ โอกาส ความรู้ และความสามารถในการมีวิถีชีวิตที่มีคุณภาพและพอเพียง

ผมเห็นว่า สาเหตุหลักประการหนึ่งของความยากจนในเมืองก็คือ ความยากจนในชนบท และสาเหตุใหญ่ของความยากจนในชนบท ก็คือ การขัดสนที่ทำกิน ภาวะเงื่อนไขในการทำมาหากินที่เปลี่ยนไป ทำให้คนจนที่มีแต่แรงงาน ต้องรับจ้างอย่างไม่มีแหล่งรายได้ที่แน่นอน ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเอง หลายส่วนต้องอพยพจากความเป็นคนจนในชนบทมาแสวงหาสภาพชีวิตที่ดีกว่าในเมือง เพียงเพื่อจะพบว่า การเป็นคนจนในเมืองมีข้อจำกัดอีกมากมายนัก ทำให้เกิดปัญหาสังคมอื่น ๆ ตามมา

เราจะทำอย่างไรให้คนไทยทุกคน อย่างน้อยถึงไม่มีเงินก็มีที่ดิน มีสภาพแวดล้อมในการทำมาหากินที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างพออยู่พอกิน เราจะสร้างเงื่อนไขอย่างไรให้คนจนสามารถเพิ่งพาตนเองได้เขามีโอกาส ให้เขาอยู่ในสังคมนี้อย่างคนที่มีศักดิ์ศรี ไม่ใช่อย่างผู้ร้องขอและไม่ใช่อย่างขอทาน ให้เขามีความสามารถในการตั้งรับกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันได้อย่างมั่นคงพอสมควร จริงอยู่ คนเราเกิดมามีความพร้อมไม่เท่ากันหรอกครับ แต่สังคมจะต้องทำให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน โอกาสที่จะแสวงหาความรู้ โอกาสที่จะแสวงหาโอกาสในชีวิต โอกาสที่จะร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมตัดสินใจและร่วมมือลงปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าคนจนก็จะต้องไร้โอกาสหรือยากจนอยู่อย่างนั้นตลอดกาล เงื่อนไขเหล่านี้เราสร้างได้ และจะต้องสร้างให้เกิดขึ้นในสังคมของเรา

ข้อสังเกตประการสุดท้าย ก็คือ ดังที่ท่านได้เห็นแล้วว่า ปัญหาความยากจนไม่สามารถแยกออกได้จากปัญหาอื่น ๆ ในสังคม เช่นเดียวกัน หัวข้อในการสัมมนาวิชาการประจำปีแต่ละปี ก็ไม่สามารถแยกออกจากกันโดยเด็ดขาดได้ ในปี ๒๕๔๑ เราพูดกันถึงเรื่อง “จากวิกฤติสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ในปี ๒๕๔๒ เรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” และเมื่อปีที่ผ่านมา เรื่อง “สังคมโปร่งใสไร้ทุจริต” การสร้างกระบวนการที่ต่อเนื่องเป็นวัตถุประสงค์ของผู้จักการสัมมนา เพื่อจุดหมายปลายทางเดียวกัน นั่นคือ การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สมาชิกในสังคมสามารถดำรงชีวิตได้อย่างสันติสุข ในสังคมที่เป็นธรรม ที่ให้เกียรติและที่ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการพัฒนาตนเองไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในชีวิต

วัตถุประสงค์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการสัมมนาวิชาการประจำปี ก็คือ การสร้างเวทีเชื่อโยงให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ไม่ว่าจะเป็นในห้องประชุม ที่ล็อบบี้โรงแรมหรือที่โต๊ะอาหาร เพื่อนำไปสู่แรงบันดาลใจในการแก้ปัญหาไปสู่ความรู้สึกผูกพันธ์ว่าเราไม่ได้แก้ปัญหาอยู่เพียงลำพัง แต่มีอีกหลายฝ่ายที่ทำหน้าที่ของตนอยู่ ผมคาดหวังว่าการสัมมนาของเราจะเป็นจุดเริ่มต้นและจุดต่อเนื่องของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นำไปสู่ความร่วมมือในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป ดังนั้น ผมจึงตั้งความหวังไว้ว่า เมื่อเรากลับไปจากพัทยาในครั้งนี้ เราจะได้มาตรการ ได้เครือข่าย และได้วิธีการนำมาตรการและยุทธศาสตร์ที่ร่วมกันกำหนดขึ้นไปดำเนินการและปรับแต่งต่อไปอีก เพื่อนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุด

ผมดีใจมากที่ได้ทราบว่า การสัมมนาครั้งนี้พยายามสะท้อนมุมมองจากคนจนและคนด้อยโอกาสให้มากที่สุด ได้มีการจัดทำวีดิทัศน์ และในขั้นตอนการเตรียมการสัมมนา ก็ได้สนับสนุนให้สมาชิกในชุมชนเป็นผู้วิจัยสถานการณ์ความยากจนในท้องที่เอง มีการจัดเวทีประชุมปฏิบัติการเพื่อรับฟังมุมมองจากตัวแทนคนจน ๒ ครั้ง และมีการจัดนักวิจัยไปศึกษาข้อมูลโดยการใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้าน ๑๐ หมู่บ้าน เป็นเวลา ๒ เดือน ดังที่ท่านจะได้รับฟังผลในช่วงเสียงสะท้อนจากคนจนในลำดับต่อไป สิ่งที่คนด้อยโอกาสในสังคมของเราต้องการก็คือคนฟังครับ ฟังในสิ่งที่เขาพูดจริง ๆ เพราะ ไม่มีใครฟังเขา เขาจึงต้องออกมาตามท้องถนน ออกมาประท้วง ซึ่งหลายครั้งก็จบลงด้วยความรุนแรงความแตกร้าว และความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันในสังคม ทำให้สายใยที่ถักทอความเป็นหนึ่งของสังคมบางเบาลงทุกที และถ้าสายใยนี้ขาดลงเมื่อไหร่ ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน ก็ไม่มีสังคมจะให้อยู่อย่างแน่นอน

ผมขอฝากข้อสังเกตต่าง ๆ ไว้เพียงเท่านี้ บัดนี้ ถึงเวลาอันสมควรแล้ว ผมขอเปิดการสัมมนาวิชาการประจำปี ๒๕๔๔

ขอบคุณครับ