๑. ต้องมีคณะกรรมการสรรหา ซึ่งมาจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
๒๑ คน
๒. คณะกรรมการสรรหา จะต้องกำหนดกฎเกณฑ์การสรรหาให้ได้ตามที่พระราชบัญญัติบัญญัติเอาไว้
ซึ่งมีรายละเอียดมาก
๓. ต้องมีคณะอนุกรรมการสรรหา ซึ่งคัดเลือกมาโดยคณะกรรมการสรรหาอีก
๖ คณะ คณะละ ๑๒ คน ซึ่งแต่ละคณะ ต้องเกี่ยวข้องกับด้านต่าง ๆ ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ
เช่น อนุกรรมการการผลิตด้านการเกษตร อนุกรรมการการผลิตด้านการอุตสาหกรรม และอนุกรรมการการผลิตด้านการบริการ
เป็นต้น
๔. คณะอนุกรรมการแต่ละคณะ ต้องคัดเลือกบุคคลจำนวนไม่น้อยกว่า ๓ เท่า
ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ จากผู้สมัครจากองค์กรต่าง ๆ
๕. บุคคลที่คัดเลือกมาแล้วไม่น้อยกว่า
๓ เท่านี้ จะต้องมาคิดเลือกกันเองอีกครั้งหนึ่ง ให้ได้สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ตามจำนวนในท้ายพระราชบัญญัติ
เช่น จากภาคการผลิตด้านการเกษตร ๑๖ คน จากภาคการผลิตด้านอุตสาหกรรม ๑๗ คน จากภาคการผลิตด้านการบริการ
๑๗ คน เป็นต้น
ซึ่งวิธีการสรรหานั้น ท่านสามารถอ่านรายละเอียดได้ในพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาฯ
ที่ได้แจกไปแล้วตอนลงทะเบียน
ส่วนคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ของผู้ที่จะสมัตรเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ
นั้นจะต้องมีคุณสมบัติตามมาตราที่ ๗ ดังนี้
๑. ต้องมีสัญชาติไทย
๒. ต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
ซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี คนวิกลจริต ฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ
๓. ต้องไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง
๓. อำนาจหน้าที่
พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาฯ ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาฯ
ให้เป็นองค์กรสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและสังคม โดยมิใช่เป็นองค์กรเพื่อต่อรองผลประโยชน์ของบุคคลใด
หรือกลุ่มบุคคลใด ไว้ในหมวด ๒ มาตรา ๑๐ ถึง มาตรา ๑๗ ดังนี้
เมื่อสภาที่ปรึกษาฯ
ได้เสนอข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีจัดทำรายงานผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี
และให้เปิดเผยต่อสาธารณชนทราบด้วย (มาตรา ๑๗)
ที่ผ่านมานั้น
รัฐบาลตอบรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาฯ ตามกระบวนการราชการเท่านั้น
แต่ยังไม่ได้จัดทำรายงานผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีเปิดเผยต่อสาธารณชน
เช่น เรื่องแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ นั้น คณะรัฐมนตรีได้นำความคิดเห็นของสภาที่ปรึกษาฯ
ไปปรับแผนที่สภาพัฒน์ร่างมาแล้ว หรือเรื่องความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติสภาการเกษตรแห่งชาติ
ก็ส่งเรื่องไปให้กระทรวงเกษตรฯ และกฤษฎีกาพิจารณาปรับปรุงตามความเห็นของสภาที่ปรึกษาฯ
เท่านั้น ยังไม่ได้จัดทำรายงานผลการพิจารณาและการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีเปิดเผยต่อสาธารณชนเลย
๔.๑ การเชื่อมความสัมพันธ์กับเครือข่าย
จากความเป็นมาในเรื่องการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ จะเห็นได้ว่า การทำงานของสภาที่ปรึกษาฯ
จำเป็นต้องเชื่อมความสัมพันธ์กับเครือข่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะองค์กรที่ส่งสมาชิกสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ
เพื่อทำงานประสานกันในการสะท้อนปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมต่อคณะรัฐมนตรี
เพื่อให้คณะรัฐมนตรี หรือรัฐบาลเข้าใจปัญหา ความต้องการ และแนวทางแก้ปัญหาของภาคประชาชนอย่างแท้จริง
เพราะประชาชนเท่านั้นที่จะรู้และเข้าใจปัญหาและความต้องการของตนเอง และเป็นไปได้ด้วยว่า
ประชาชนรู้และเข้าใจแนวทางแก้ไขปัญหาของตนเองด้วย หากเขาเหล่านั้น ได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นกันมาอย่างดีแล้วในการแก้ไขปัญหาต่าง
ๆ ในพื้นที่ของตนเอง การแก้ไขปัญหานั้นจึงจะไม่ใช่การแก้ไขปัญหาจากฝ่ายราชการเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น
การที่ภาคประชาชนได้เข้ามาร่วมระดมความคิดเห็นนั้นตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปี
พ.ศ. ๒๕๔๐ ด้วย เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ได้เพิ่มเติมมาตราสำคัญมาตราหนึ่งซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีตที่ผ่านมา
นั่นคือมาตรา ๗๖ ที่ให้รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย
การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ
ในฐานะที่เป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญฉบับปีปัจจุบัน ขอยืนยันว่า ก่อนจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปีปัจจุบันนั้น
ได้มีการแบ่งเป็นคณะทำงานต่าง ๆ ทำการศึกษาเป็นเรื่องเป็นราวเป็นอย่างดีแล้ว พยายามอุดช่องโหว่ในอดีตที่ผิดพลาด
และแก้ไขให้ดีขึ้น ส่วนสภาที่ปรึกษาฯ นั้น เกิดขึ้นจากการถกปัญหาในขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญ
ว่าจะต้องมีองค์กรใดองค์กรหนึ่งซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาชาติบ้านเมือง
โดยเฉพาะทางด้านสังคม ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ซึ่งผิดกับด้านเศรษฐกิจที่มีมากมายหลายหน่วยงาน
แต่การที่รัฐธรรมนูญหมวด ๕ มาตรา ๘๙ กำหนดให้มีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาฯ และให้ดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐนั้น
เป็นเรื่องที่ต้องพึงระวังสำหรับสภาที่ปรึกษาฯ มาก เนื่องจากเป็นองค์กรใหม่ตามที่ได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้น
และการที่มีสมาชิกเพียง ๙๙ คน และส่วนใหญ่ก็มีอาชีพหลักด้วยกันทั้งนั้น จะมีเวลามากน้อยขนาดไหนที่จะพิจารณาให้ความเห็นในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม
ซึ่งกว้างมาก และทรัพยากรต่าง ๆ ก็มีขีดจำกัด ผมไม่คิดว่าสภาที่ปรึกษาฯ จะทำได้ทุกเรื่อง
คงต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป เรื่องใดที่มีผลกระทบต่อส่วนรวม หรือต่อนโยบายโดยรวมของประเทศ
เราก็จะพิจารณาดำเนินการทันที
๔.๒ กรณีข้อร้องเรียนต่าง ๆ สภาที่ปรึกษาฯ จะไม่พิจารณาข้อร้องเรียนทุกเรื่องที่เสนอมา
เนื่องจากข้อจำกัดดังที่ได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะข้อร้องเรียนใดก็ตามที่มีเจ้าภาพอยู่แล้ว
สภาที่ปรึกษาฯ จะไม่ไปทำซ้ำซ้อนกับหน่วยงานนั้น ๆ อีก แต่ถ้าส่งมา เราก็จะส่งข้อร้องเรียนนั้นไปที่หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงให้
และขอเรียนว่าข้อร้องเรียนใดก็ตามที่ไม่กระทบต่อนโยบายโดยรวมของประเทศ สภาที่ปรึกษาฯ
ก็จะไม่พิจารณา และไม่ส่งข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรีเช่นกัน
ถ้าเราไม่มีข้อกำหนดในการทำเช่นนี้ ข้อร้องเรียนต่าง ๆ ก็อาจจะเข้ามามาก ซึ่งอาจเป็นเรื่องของกลุ่มบุคคลกลุ่มเล็ก
ๆ ที่สาระสำคัญไม่กระทบต่อภาพโดยรวมของสังคมหรือนโยบายโดยรวมของประเทศ หรืออาจเป็นเรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งเสียผลประโยชน์ในกลุ่มตน
แล้วใช้เวทีของสภาที่ปรึกษาฯ เป็นเครื่องมือในการเรียกร้องผลประโยชน์ การตั้งสภาที่ปรึกษาฯ
ก็จะไม่เกิดประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ในที่สุดสภาที่ปรึกษาฯ ก็จะไม่มีเวลาทำงานอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน
ตรงกันข้าม หากเรื่องราวใดก็ตามที่มีผลกระทบต่อประเทศชาติ และประชาชนส่วนรวมแล้ว
สภาที่ปรึกษาฯ จะไม่ชักช้าที่จะดำเนินการเรื่องนั้นทันทีเช่นกัน
วิธีการดำเนินการในกรณีข้อร้องเรียนของสภาที่ปรึกษาฯ
นั้น เราจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ จะกี่คนก็แล้วแต่สมัครใจ
ดำเนินการเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องจากทุกฝ่ายมาให้ข้อมูล และถ้าจำเป็นก็จะจัดสัมมนาเพื่อให้เป็นเวทีแสดงความคิดเห็นจากทุกฝ่าย
เพื่อหาข้อสรุปที่ดีที่สุด ผลจะออกมาอย่างไรนั้น ก็จะเสนอเข้าคณะทำงานกิจการสภาที่ปรึกษาฯ
ซึ่งมีผมเป็นประธาน มีรองประธานสภาที่ปรึกษาฯ ทั้ง ๒ ท่าน มีประธานคณะทำงานทุกคณะ
และมีตัวแทนจากสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ซึ่งมาจากทุกฐานอาชีพตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติอีก
๑๒ คน และเสนอเข้าสภาที่ปรึกษาฯ ซึ่งมีสมาชิก ๙๙ คน เป็นลำดับถัดไป เพื่อพิจารณาร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง
จึงจะถือเป็นความถูกต้องและชอบธรรม
๔.๓ ในด้านเศรษฐกิจและสังคม ข้อร้องเรียนบางเรื่อง
เราจะมอบหมายให้คณะทำงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณา ซึ่งมีทั้งหมด ๑๑ คณะ เป็นคณะทำงานประจำสภาที่ปรึกษาฯ
คณะทำงานทั้ง ๑๑ คณะที่ตั้งขึ้นนั้น ก็เพื่อให้ครอบคลุมนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐครอบคลุมนโยบายเศรษฐกิจและสังคม
ได้แก่
๑. คณะทำงานกิจการสภาที่ปรึกษาฯ
๒. คณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์
๓. คณะทำงานเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และการอุตสาหกรรม
๔. คณะทำงานบริการ และการท่องเที่ยว
๕. คณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และพลังงาน
๖. คณะทำงานศึกษา
ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม
๗. คณะทำงานสาธารณสุข และการพัฒนาคุณภาพชีวิต
๘.
คณะทำงานแรงงานและสวัสดิการสังคม
๙. คณะทำงานสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองผู้บริโภค
๑๐. คณะทำงานความสัมพันธ์กับเครือข่ายภาคประชาชน
๑๑. คณะทำงานติดตามและศึกษาปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบ
นอกจากนั้นยังตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นอีกเป็นระยะ
ๆ ตามความจำเป็น ขณะนี้มีทั้งหมด ๑๘ คณะด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น คณะทำงานศึกษาและติดตามการดำเนินงานเขื่อนทดน้ำบางปะกง
คณะทำงานศึกษาและอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง
เป็นต้น ซึ่งคณะทำงานศึกษาและติดตามการดำเนินงานเขื่อนทดน้ำบางปะกงนั้น ได้รับความสนใจจามหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด ลงข่าวติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน และได้ทรงทราบถึงพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงเป็นห่วงพสกนิกรในลุ่มน้ำบางปะกง และมีรับสั่งให้ท่านนายกรัฐมนตรีดำเนินการเพื่อช่วยเหลือในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน
ซึ่งท่านนายกฯ ก็ได้เดินทางไปดูพื้นที่ด้วยตัวเอง และสั่งให้จังหวัดฉะเชิงเทราดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วงภายใน
๓ เดือน นับตั้งแต่วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๕ ซึ่งบัดนี้ก็ครบกำหนดเวลาตามที่ท่านนายกฯ
ให้แล้ว ทางจัดหวัดฉะเชิงเทราก็ได้สรุปผลการพิจารณาแก้ไขปัญหาดังกล่าวส่งไปให้ท่านนายกฯ
แล้ว ซึ่งเท่าที่ทราบนั้น เขื่อนดังกล่าวคงต้องปล่อยให้เป็นอนุสาวรีย์ให้อนุชนรุ่นหลังดูเป็นอุทาหรณ์
และเป็นอนุสาวรีย์ไว้เตือนสติผู้ที่เกี่ยวข้องให้พึงระวังสังวรก่อนทำการสร้างเขื่อนอันต่อ
ๆ ไปด้วย เช่น เขื่อนท่าจีน ผลที่เกิดขึ้นครั้งนี้น่าจะกลายเป็นผลดีต่อนโยบายโดยรวมต่อมาว่า
หากจะสร้างเขื่อนใด ๆ ก็ตามขึ้นอีกในอนาคต กรมชลประทานหรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตควรทำการศึกษาให้ถ่องแท้ถึงผลดีและผลเสียของการสร้างเขื่อนเสียก่อน
ไม่ใช่สร้างเสร็จแล้วค่อยหาทางแก้ไขปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้
๔.๔ ในด้านการเกษตร
เรื่องหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญเป็นพิเศษก็คือเรื่องการเกษตร เพราะการเกษตรเป็นอาชีพของคนไทยมานาน
ด้วยสภาพพื้นที่และภูมิอากาศที่เหมาะสม พืชพันธุ์ธัญญาหารที่อุดมสมบูรณ์ และประชากรกว่าร้อยละ
๕๐ ของประเทศที่ยังยึดอาชีพการเกษตรเป็นอาชีพหลัก
เหตุการณ์ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนว่าอาชีพการเกษตรเป็นที่พึ่งของคนไทยและเป็นที่พึ่งในยามยากเสมอ
นั่นคือ คนงานจำนวนมากที่ถูกปลดออกจากงาน รวมทั้งเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่จำต้องทิ้งนาทิ้งไร่ไปขายแรงงานในโรงงานต่าง
ๆ ไปทำมาหากินในต่างถิ่น ได้ทยอยเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองกลับไปยังชีพการเกษตรตามที่ตนเองถนัด
ในขณะนั้นอัตราการขยายตัวของการส่งออกลดลงอย่างมาก สินค้าอุตสาหกรรมที่เคยส่งออกได้มากและเป็นอันดับต้น
ๆ กลับส่งออกได้ลดลง และลดลงอย่างมาก แต่สินค้าเกษตรกลับส่งออกได้ และส่งออกได้มากขึ้นด้วย
การที่เศรษฐกิจในขณะนั้นที่ยังมีอัตราการขยายตัวอยู่เล็กน้อยได้ ก็เพราะผลพวงของสินค้าเกษตรนั่นเอง
รัฐและหน่วยงานวางแผนของประเทศ ตลอดจนประชาชนคนไทยทุกคน จึงตระหนักดีถึงความสำคัญของสินค้าเกษตร
และหันมาสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตร และการใช้วัตถุจากสินค้าเกษตรให้มากขึ้น โดยการปรับโครงสร้าง
การผลิตใหม่ เน้นอุตสาหกรรมการเกษตรให้มากขึ้น
นี่คือความสำคัญของการเกษตร
ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษไทย จะเกิดอะไรขึ้นเราก็ยังใช้ผืนดิน ผืนป่า และผืนน้ำ
ทำมาหากินเพื่อยังชีพอยู่ได้ ทรัพย์สมบัติ ที่ปู่ ย่า ตา ยาย ทิ้งไว้ให้ สามารถดำรงชีพอยู่ได้
แม้จะไม่ร่ำรวย แต่ก็มีกิน ท้องอิ่ม แถมมีความสุขที่ไม่ต้องทนกับมลภาวะหรือมลพิษในกรุง
ได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้แก่ผู้เฒ่า ลูก ๆ หลาน ๆ ได้อยู่พร้อมหน้า พร้อมตากัน
ที่น่าเสียดายก็คือ อาชีพการเกษตรยังพัฒนาไปได้ไม่ดีเท่าที่ควร ที่ผ่านมาเกษตรกรยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้
ตรงกันข้าม ยิ่งพัฒนาก็ยิ่งยากจนลงเรื่อย ๆ จำนวนหนี้สินก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
ทั้ง ๆ ที่เกษตรกรเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และอาชีพการเกษตรก็ทำให้คนไทย และประเทศชาติดำรงคงอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงประเทศชาติอื่นด้วย
ไม่ว่าใครจะทำสงครามกับใคร ใครจะก่อวินาศกรรมประเทศใคร ประเทศไทยเราก็มีข้าวกิน ไม่ต้องเดือดร้อน
องค์การอาหารโลก หรือ FAO นั้นได้ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยรวมทั้งอาเซียนเป็นศูนย์กลางอาหารโลก
นั่นย่อมชัดเจนแล้วว่า ทรัพยากรธรรมชาติของเขากำลังจะหมดไปและต้องแสวงหาทรัพยากรแหล่งใหม่ในโลกว่าอยู่ที่ใดบ้าง
และในที่สุดก็พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ที่นี่ ความอุดมสมบูรณ์ของโลกอยู่ที่นี่ ยิ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า
เราจะต้องหวงแหนทรัพยากรของเรา ต้องรวมแรงร่วมใจกันดูแลทรัพยากร ซึ่งขณะนี้มีอยู่ค่อนข้างจำกัดลงไปทุกทีให้ดี
อย่าให้ใครมาทำลาย หรือแย่งชิงไปได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจอย่างมากก็คือ
ข้อมูลที่ท่านพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้เขียนเอาไว้ในหนังสือการพัฒนาที่ยั่งยืน
(Sustainable Development) ข้อมูลนั้นยืนยันว่า สหรัฐอเมริกา สามารถควบคุมอัตราการเกิดหรือการเพิ่มขึ้นของประชากรได้ดี
เพราะขณะนี้มีประชากรเพียงร้อยละ ๕ ของโลก แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า การบริโภคทรัพยากรของสหรัฐอเมริกาจากแหล่งอื่นนอกประเทศนั้นคิดเป็นทรัพยากรของโลกทั้งหมดถึง
๔๐ เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นยังใช้พลังงานทั้งหมดของโลกสูงถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมเขาจึงได้ทำการแสวงหาทรัพยากรไปทั่วโลกอย่างทุกวันนี้
๔.๕
สนับสนุนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในด้านนโยบายการผลิต การค้า การลงทุนนั้น ก็ควรพยายามใช้นโยบายพึ่งพาตนเอง
แนวทางการพัฒนาต้องไม่พัฒนาตามแบบอย่างประเทศอื่น ก่อนจะใช้แบบการพัฒนาของใครก็ตาม
ก็ควรจะพินิจพิเคราะห์ให้รอบคอบและถ่องแท้เสียก่อน จะอย่างไรก็แล้วแต่ การพัฒนาของสังคมไทยเรานั้น
ไม่ควรลืมด้านการเกษตรอย่างเด็ดขาด
การเกษตรโดยทั่วไปต้องอาศัยพื้นดิน ผืนป่า
และผืนน้ำ เป็นลำดับแรก อาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และอาศัยสามัญสำนึกที่ดีต่อตนเอง
ต่อผู้อื่น และประเทศชาติเป็นลำดับถัดมา ทุกอย่างต้องอาศัยพึ่งพิงซึ่งกันและกัน ความเจริญยั่งยืนจึงดำรงอยู่ได้ตลอดไป
ความเห็นแก่ตัวของคนคนหนึ่งอาจทำลายหลาย ๆ สิ่งในสังคมได้ และความยั่งยืนก็จะไม่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้เลย
หากมีคนเห็นแก่ตัวมากขึ้น ๆ และที่สำคัญต้องช่วยกันระมัดระวังอาชญากรทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศด้วย
ในเรื่องความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีนั้น มีความสำคัญไม่น้อย แต่ถ้าใช้มากและใช้อย่างผิด
ๆ ก่อให้เกิดผลร้าย ๆ ตามมาได้เช่นกัน เช่น การใช้ยาฆ่าแมลง การใช้ปุ๋ยเคมี เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตจากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวได้พิสูจน์แล้วว่า
มนุษย์ทำลายธรรมชาติและทำร้ายมนุษย์ด้วยกันเองโดยไม่รู้ตัว สารพิษที่ตกค้างในพืช
ผัก ผลไม้ เป็นผลของการใช้สารเคมีอย่างเห็นได้ชัดเจน มนุษย์จึงหันมาสนับสนุนและรณรงค์ให้ทำการผลิตโดยวิธีธรรมชาติมากขึ้น
เช่น การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยคอก แทนการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งถ้าคิดให้ดีแล้ว จะเห็นว่าปุ๋ยเคมีนั้น
ไทยจะต้องนำเข่าจากต่างประเทศในราคาสูง ผลก็คือ ต้นทุนการผลิตที่สูงตามไปด้วย ราคาสินค้าก็ย่อมสูงตาม
และในที่สุดการแข่งขันทางการค้าของไทยก็จะสู้ประเทศอื่น ๆ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้
นี่จึงนำไปสู่ความคิดที่จะทำการผลิตแบบพึ่งพาตนเอง พึ่งพาสิ่งที่มีอยู่แล้วภายในประเทศ
นั่นคือ การทำเศรษฐกิจแบบพอเพียง
ตัวอย่างอีกอันซึ่งมนุษย์ทำลายธรรมชาติและทำร้ายสิ่งแวดล้อมของตัวเองก็คือ
การทำให้แม่น้ำลำคลองเน่าเสีย ซึ่งเกิดจากการกระทำของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิตด้านการเกษตร
ซึ่งเกิดจากการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง หรือเกิดจากมูลของสุกร ที่ได้ไหลลงไปในแม่น้ำลำคลอง
ภาคอุตสาหกรรม ที่ถ่ายเทของเสียจากการผลิตซึ่งมีสารพิษต่าง ๆ ภาคบริการ หรือแม้แต่ภาคประชาชน
ที่ทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำลำคลอง หนอง บึง ผลที่ตามมานั้นทุกคนทราบดีและประจักษ์กับสายตาตนเองแล้ว
ทั้งแม่น้ำสายหลักอย่างแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง หรือแม่น้ำอื่น ๆ นั้นเน่าเสีย
บางแห่งใช้การไม่ได้ ซึ่งผิดกับแต่ก่อนที่ยังใช้กิน ใช้อาบ ใช้สารพัดประโยชน์ สามารถจับกุ้ง
ตกปลาได้ เดี๋ยวนี้ไม่มีอีกแล้ว ต้องกินกุ้งเลี้ยง ปลาเลี้ยง หรือกินจากสัตว์น้ำทะเลเท่านั้น
ซึ่งนับวันจะน้อยลงไปเรื่อย ๆ และยิ่งการจับนั้นไม่ปรานีหรือละเว้นการจับสัตว์น้ำตัวเล็ก
ๆ หรือกำลังมีไข่ด้วยแล้ว โอกาสที่จะมีสัตว์น้ำเอาไว้กินอย่างยั่งยืนนั่น ก็ยิ่งน้อยลงเป็นเงาตามตัว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นประโยชน์ของการพึ่งพาตนเอง ทางเล็งเห็นถึงความพอเพียงมาหลายนานนับสิบ
ๆ ปี ทรงให้ความสำคัญกับการเกษตรมาโดยตลอด ทรงทำการทดลองการเกษตรด้วยตนเอง ใช้พื้นที่ในเขตพระราชฐานคือวังสวนจิตรฯ
เพื่อทำการทดลอง ทั้งการทำนา การเลี้ยงโคนม เป็นต้น ทรงค้นคิดเทคโนโลยีสารพัดเพื่อตอบสนองต่อการผลิตด้านการเกษตร
เช่น ทำฝนเทียม นำประโยชน์ของหญ้าแพรกมาใช้ประโยชน์พื่อการป้องกันดินและเป็นแนวป้องกันการไหลไปโดยเปล่าประโยชน์ของน้ำ
การคิดหาแนวทางป้องกันน้ำท่วมโดยให้ทำโครงการแก้มลิง เป็นต้น ทรงเตือนสติคนไทยอยู่เสมอให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมและประเทศชาติ
ทรงเล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ของน้ำ ทรงเตือนสติให้ทุกคนเห็นประโยชน์ของผืนป่าและอย่าทำลายผืนป่า
อย่าทำลายแหล่งน้ำสะอาด เพราะเราต้องอาศัยเพื่อกิน เพื่อใช้ เพื่อทำการเกษตร เพื่อการอุตสาหกรรม
และอื่น ๆ อีกนานัปการดังที่กล่าวมาแล้ว แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจในพระองค์ท่าน ปฏิบัติตามพระกระแสรับสั่งและดำเนินตามรอยพระบาท
แม้คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงก็ยังแปลความกันไปต่าง ๆ นานา
บัดนี้ ทุกคนเริ่มมองเห็นและประจักษ์ชัดว่า
"เศรษฐกิจพอเพียง" มีความสำคัญเพียงใด แม้แต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่
๙ ก็ได้นำปรัชญานี้มาบรรจุไว้ในแผนพัฒนาฯ ด้วยเป็นต้น ซึ่งแผนดังกล่าวนี้ ได้ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นจากสภาที่ปรึกษาฯ
ก่อนประกาศใช้แล้ว ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายสภาที่ปรึกษาฯ ยังขาดเพียงขั้นตอนในการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติเท่านั้นว่า
กระทรวงเกษตรฯ จะแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติได้ดีเพียงใด ได้ผลเป็นรูปธรรมหรือไม่ ซึ่งในขั้นตอนของการร่าง
"แผนพัฒนาการเกษตร" ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่
๙ นั้น สภาที่ปรึกษาฯ ก็มิได้ละเลยเช่นกัน สภาที่ปรึกษาฯ โดยคณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์
ก็ได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาให้ความเห็นเช่นกัน
นอกจากนี้ยังได้ให้ความสำคัญต่อร่างกฎหมายอีกหลายฉบับ
ได้แก่ร่างพระราชบัญญัติสภาการเกษตรแห่งชาติ ร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม)
ของกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ ร่างพระราชบัญญัติการประมง ร่างพระราชบัญญัติสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตร
ร่างพระราชบัญญัติวิสาหกิจชุมชน แต่ร่างพระราชบัญญัติที่เสนอไปยังคณะรัฐมนตรีนั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติสภาการเกษตรแห่งชาติ
ร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์การเกษตร รวมทั้งการได้มีการให้ความเห็นในเรื่องของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ
๕๘,๐๐๐ ล้านบาท ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรหลังพักชำระหนี้ ส่วนร่างกฎหมายอื่น
ๆ ที่กล่าวมาแล้วและไม่ได้เสนอ ครม. นั้นเพราะไม่มีความเห็นเพิ่มเติมจากที่ร่างไว้แล้ว
จึงไม่ส่งความเห็นใด ๆ ไป
นี่เป็นเพียงผลงานส่วนหนึ่งที่สภาที่ปรึกษาฯ ได้ทำผ่านมาแล้ว
นอกจากนั้นสภาที่ปรึกษาฯ ยังได้ให้ความเห็นในด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม
เช่น การแปรสัญญาโทรคมนาคม นโยบายการบินพาณิชย์กับการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ
การจ้างเหมา (turn key) ดำเนินการก่อสร้างทางหลวงวงแหวงกาญจนาภิเษกด้านใต้ นโยบายแรงงานต่างด้าว
และอื่น ๆ อีก รวมทั้งกำลังดำเนินการในเรื่องข้อร้องเรียนของผู้ค้าปลีกรายย่อย ข้อร้องเรียนเรื่องปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร
เป็นต้น
การจัดสัมมนาครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน เป้าหมายสำคัญก็คือ การรวบรวมปัญหา
ความต้องการ และแนวทางแก้ปัญหาของเกษตรกรเพื่อการกำหนดแนวทางการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนจากภาคการเกษตรโดยตรง
ซึ่งได้รวบรวมมาจากทุกภาคของประเทศแล้วในการจัดสัมมนาที่ผ่านมา คือที่จังหวัดเชียงใหม่
ขอนแก่น พัทลุง และนครนายก ปัญหาส่วนใหญ่ก็มีความคล้ายกันในหลักการ ซึ่งมีอยู่ ๘
ปัญหาคือ
๑. ปัญหาการขาดที่ดินทำกิน
๒. ปัญหาการจัดการน้ำเพื่อการผลิต
๓.
ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตร
๔. ปัญหาหนี้สินเกษตรกร
๕. ปัญหาการสหกรณ์
๖.
ปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
๗. ปัญหาประมงชายฝั่ง
๘. ปัญหาการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการพัฒนา
ปัญหาทั้ง ๘ ประการนี้เป็นปัญหาหลักที่จะต้องสรุปให้เป็นรูปธรรมในการสัมมนาครั้งนี้
และแน่นอนว่าการแก้ไขปัญหาจะต้องใช้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ทุกคนยอมรับและตระหนักแล้วว่า
จะพาให้ประเทศชาติไปได้ตลอดรอดฝั่ง จะทำให้การพัฒนาการเกษตรมีความยั่งยืนได้ แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืนนั้น
ต้องอาศัยปัจจัยหลายประการ ปัจจัยประการสำคัญคือมนุษย์นั่นเอง มนุษย์ต้องอยู่คู่กับทรัพยากรธรรมชาติ
หากไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ มนุษย์ก็อยู่ไม่ได้ มนุษย์จึงต้องมีสามัญสำนึกในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างระมัดระวัง
เพื่อให้มีใช้ได้ตลอดไปจนถึงชั้นลูกชั้นหลาน ไม่ว่าทรัพยากรนั้นจะเป็นดิน น้ำ ป่าไม้
หรือแร่ธาตุใด ๆ ก็ตาม
การพัฒนาประเทศที่ผ่านมานั้นไม่ว่าจะเป็นประเทศใด ๆ
ในโลกนี้ มักจะมุ่งการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก และการพัฒนาเศรษฐกิจก็มักอาศัยการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นหลัก
ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวมักทำลายทรัพยากรธรรมชาติไปพร้อม ๆ กัน รวมทั้งการทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย
ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีของโลกตะวันตก แต่ปัจจุบันมนุษย์เริ่มเชื่อแล้วว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นไม่ควรทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
เพราะการทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมก็จะย้อนกลับมาทำลายตัวมนุษย์เองนั่นแหละ
ท่านพระธรรมปิฎกท่านเขียนข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรในหนังสือดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจมากคือ
ป่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญของโลก ป่านั้นหมดไปปีละ ๑๐๕ ล้านไร่ พื้นที่เพาะปลูกกลายเป็นทะเลทรายปีละ
๓๖ ล้านไร่ พันธุ์สัตว์ พันธุ์พืช สูญไปปีละประมาณ ๕,๐๐๐ ชนิด เพราะป่าถูกทำลาย มีอุทกภัยหรือน้ำท่วมบ่อยขึ้น
และรุนแรงขึ้น พร้อมกับเกิดภาวะขาดแคลนน้ำบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นด้วย เนื่องจาน้ำเหือดหาย
แม่น้ำและแหล่งน้ำทั้งหลายแห้งไป หรือมีปริมาณน้อยลง มีภัยแล้งมากขึ้น
นอกจากนั้นการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
(ตั้งสติ) อย่างประเทศที่เจริญแล้วในซีกโลกตะวันตก เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา มีความเจริญมากทางภาคอุตสาหกรรม
ของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมก็ย่อมมีมาก ขยะก็มาก ไม่มีที่เผาทำลายขยะ จึงบรรทุกใส่เรือแล่นไปทั่วน่านน้ำมหาสมุทรเพื่อหาที่ทิ้งในประเทศอื่น
นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นที่แสดงถึงความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ที่เอาของเสียไปทิ้งที่บ้านเมืองคนอื่น
นี่คือตัวอย่างที่ไม่เพียงสร้างปัญหาให้บ้านเมืองตนเองเท่านั้น แต่ยังสร้างปัญหาให้กับชาวโลกอีกด้วย
นี่เป็นตัวอย่างของการพัฒนาทางด้านวัตถุเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีผลตามมามากมายในด้านสังคม
ทำให้ด้านจิตใจเสื่อมทราม ในที่สุดมนุษย์ก็เริ่มจะมองเห็นแล้วว่า วิถีการพัฒนาที่ผ่านนั้นไม่ถูกต้องและไม่ถูกทาง
พวกที่มองเห็นปัญหาดังกล่าวนี้อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ยุคนั้นเกิดฮิปปี้ขึ้นมาจำนวนหนึ่ง
ฮิปปี้เหล่านี้หันมาใช้ชีวิตแบบธรรมชาติ ธรรมชาติมากจนกลายเป็นหลุดโลกไป ซึ่งไม่ใช่วิธีทางที่ถูกต้อง
ขาดความพอดี เพราะมันไม่ใช่วิถีชีวิตที่เดินทางสายกลาง
ตัวอย่างอีกอันหนึ่งซึ่งเป็นผลพวงของการพัฒนาทางด้านวัตถุเพียงด้านเดียวก็คือ
สถิติการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แม้แต่ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน
สถิติการฆ่าตัวตามก็สูงขึ้นด้วย กล่าวคือสูงขึ้นจาก ๓,๖๐๒ คน ในปี ๒๕๓๔ เป็น ๕,๑๘๙
คนในปี ๒๕๔๓ หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๔.๐๖
การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจที่ผ่านมานั้น
เราเน้นอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก กล่าวคือ มุ่งเน้นการขยายตัวในภาคการผลิตด้านต่าง
ๆ ซึ่งมักพูดถึงการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติขยายตัวเท่านั้นเท่านี้เปอร์เซ็นต์
ขยายตัวสูงถึง ๒ หลัก ซึ่งเป็นผลมาจาการขยายตัวของการส่งออก โดยเฉพาะของสินค้าอุตสาหกรรม
ซึ่งทุกคนก็จะดีใจและภูมิใจ แต่ผลที่ตามมาเป็นอย่างไรทุกคนคงซาบซึ้งดีแล้ว เพราะในที่สุดการพัฒนาก็ต้องเปลี่ยนโฉมหน้ามาเน้นด้านการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ผมไม่ได้ตำหนิว่า ที่ผ่านมาแล้วนั้น รัฐบาลไม่ดี หรือสภาพัฒน์ไม่ดี วางแผนผิดพลาดหมด
ผมเองเคยรับหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรี เคยเป็นรัฐบาลมาด้วยสมัยหนึ่งเมื่อ ๑๐ ปีมาแล้วต้องยอมรับว่าในยุคสมัยนั้น
การวางแผนการพัฒนาเขาก็มองสภาวการณ์ในขณะนั้นว่าต้องเน้นการพัฒนาไปในด้านใด เมื่อเหตุการณ์ได้ผ่านพ้นมาแล้วพอสมควรจึงจะเห็นชัดเจนว่าการวางแผนที่ผ่านมานั้นจะต้องเน้นสิ่งใด
ไม่ควรเลียนแบบการพัฒนาของประเทศใด ขณะนี้ทุกคนตระหนักดีแล้วว่า การวางแผนการพัฒนานั้นไม่ใช่มองไปไกลแค่
๕ ปี อย่างที่เคยปฏิบัติมาแล้ว แต่ต้องมองให้ไกลไปถึง ๒๐ ปีหรือมากกว่านั้น และต้องวางแผนโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วย
ในการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาฯ ในระยะต่อไปนั้น สภาที่ปรึกษาฯ ยังยึดหลักการดำเนินงานภายใต้แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
ตามหมวด ๕ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทุกประการ โดยจะดำเนินการในเรื่องที่มีผลกระทบต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ
และจะดำเนินการในเรื่องที่ยังไม่มีเจ้าภาพเท่านั้น เพื่อไม่ให้ดำเนินการซ้ำซ้อนกับหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐองค์กรอื่น
การดำเนินการของสภาที่ปรึกษาฯ นั้น อาจจะดำเนินการเองตามลำพัง หรือร่วมมือกับองค์กรอื่นก็ได้
เช่น เรื่องความยากจน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยก็ให้ความสนใจศึกษาไว้บ้างแล้วซึ่งเป็นส่วนของนักวิชาการ
และเรื่องนี้ยังไม่มีเจ้าภาพที่เป็นหน่วยงานราชการเข้ามาดูแลอย่างเป็นองค์รวม สภาที่ปรึกษาฯ
ก็จะเข้ามาดำเนินการโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนด้วย การสัมมนาครั้งนี้ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการรวบรวมปัญหา
และหาแนวทางแก้ไขปัญหาของประชาชนส่วนหนึ่ง แต่ปัญหาความยากจนของประชาชนไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นในส่วนที่ได้รวบรวมไว้แล้วเท่านั้น
ยังมีปัญหาที่เกี่ยวข้องอีกหลายประการ เช่น เรื่องการศึกษา เรื่องสาธารณสุข เรื่องสวัสดิการของคนงาน
เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นต้น และการจะธำรงรักษาความเป็นไทยให้คงอยู่ตลอดไปด้วยแล้ว
ก็ต้องรักษาและอนุรักษ์สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ และวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ต่อไป