รวมปาฐกถาภาษาไทย

ปาฐกถา
เรื่อง
"ก้าวต่อไปของการปฏิรูปการเมืองไทย"
โดย
นายอานันท์ ปันยารชุน
๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔


         ท่านประธานรัฐสภา ท่านสมาชิกรัฐสภา ท่านผู้มีเกียรติทั้งชาวต่างประเทศ และชาวไทยที่เคารพทุกท่าน

          สามวันที่ผ่านมา ท่านทั้งหลายได้ใช้เวลาทบทวนการปฏิรูปการเมืองตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในแง่มุมต่าง ๆ อย่างละเอียดทุกแง่ ทุกมุม ทั้งยังเปรียบเทียบกับประสบการณ์จากต่างประเทศ ที่มีการปฏิรูปการเมืองเช่นเดียวกัน ทั้งหมดนั้นเป็นการ "เหลียวหลัง" ไปสำรวจพัฒนาการของการเมืองไทย ๕ ปี หลังการใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนช่วยกันทำขึ้น

          วันนี้ เป็นวันที่เราสมควรจะมา "แลหน้า" ไปในอนาคตว่าก้าวต่อไปของการปฏิรูปการเมืองไทยควรไปในทิศทางใด? ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ การปฏิรูปการเมืองไม่ใช่การกระทำที่เสร็จไปครั้งเดียวด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญ แต่การปฏิรูปการเมืองเป็น "กระบวนการ" ที่อาจเริ่มขึ้นด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก็จริงอยู่ แต่กระบวนการนั้นคงต้องพัฒนาไป จนถึงจุดที่การเมืองสามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของพลเมืองได้อย่างทันท่วงที

          ท่านผู้มีเกียรติครับ

          ระบอบการเมือง ก็คือ ระบบการบริหารสังคมที่เรียกว่ารัฐ ระบอบการเมืองจึงเป็นระบบการตัดสินใจแทนรัฐ ในนามรัฐ และมีผลผูกพันให้คนในสังคมรัฐนั้นต้องทำตาม

          วันนี้ ถ้าประธานาธิบดีบุช ตัดสินใจบุกอิรักแทนสหรัฐอเมริกา คนอเมริกันทุกคนก็ต้องรับผลแห่งการตัดสินใจ ที่ประธานาธิบดีได้ทำในนามสังคมรัฐอเมริกัน และผูกพันคนอเมริกันทุกคน

          เช่นเดียวกัน วันพรุ่งนี้ ถ้ารัฐบาลไทยตัดสินใจขึ้นภาษีเงินได้ หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม เราทุกคนก็ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น

          ระบอบการเมือง ซึ่งเป็นระบบการบริหารและตัดสินใจแทนสังคมรัฐ จึงมีความสำคัญต่อชะตาและอนาคตของคนทุกคนในสังคมรัฐนั้น ด้วยเหตุดังนี้แหละ ที่นักปรัชญาคนสำคัญของโลก ตั่งแต่ยุคก่อนพุทธกาลในอินเดียและในจีน เรื่อยมาจนถึงยุคกรีก ตลอดมาถึงยุคกลาง และยุคใหม่ในยุโรป ใช้เวลาศึกษาและเขียนหนังสือปรัชญาหลายร้อยเล่มเกี่ยวกับการเมืองเพื่อแสวงหารูปแบบที่ดีที่สุดของระบอบการเมือง ที่สร้างความผาสุกอย่างแท้จริง ให้คนทุกคนที่อยู่รวมกันเป็นสังคมรัฐนั้น

          การที่เราทั้งหลายมาพูดถึง "ก้าวต่อไปของการปฏิรูปการเมือง" ก็คือการมาแสวงหาแนวทางร่วมกัน เพื่อให้ระบอบการเมืองรับใช้พลเมืองได้อย่างดีที่สุด

          เป้าหมายและหัวใจของการเมืองก็คือ "พลเมือง" การปฏิรูปการเมืองเองก็มีเป้าหมายสำคัญ ๓ ประการ คือ

          ประการแรก การเพิ่มอำนาจให้พลเมือง ด้วยการขยายสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคในระบอบการเมือง และการเพิ่มส่วนร่วมของพลเมืองในการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น โดยเชื่อว่า ส่วนร่วมของทุกส่วนในสังคม จะนำมาซึ่งการจัดสรรทรัพยากรซึ่งมีจัดอย่างสมดุลและเป็นธรรม และจะส่งผลให้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ว่านั้นมีความยั่งยืน

          ประการที่สอง การทำให้การเมืองมีความโปร่งใส เพิ่มความสุจริต ลดการทุจริตอันทำให้การตัดสินใจในเรื่องสาธารณกิจทั้งหลายผิดเพี้ยนไปจากความถูกต้องที่ตวรจะเป็นและไม่ได้ตอบสนองประโยชน์ของมหาชนอย่างแท้จริง เพราะมีสินบนเข้ามาเกี่ยวข้อง

          ประการที่สาม การทำให้การเมืองมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ ภายใต้การตรวจสอบที่เข้มงวด ทั้งนี้ เพื่อให้ระบอบการเมืองสามารถแก้ปัญหาของบ้านเมืองและพลเมืองได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลอย่างแท้จริง

          ท่านผู้มีเกียรติครับ

          เจตนารมณ์ทั้งสามประการของรัฐธรรมนูญ ต่างมุ่งให้ระบอบการเมืองสามารถรับใช้ และสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง

          สามวันที่ผ่านมา ท่านทั้งหลายได้ทุ่มเทกำลังสมองศึกษา วิเคราะห์ กลไกต่าง ๆ ที่รัฐ-ธรรมนูญสร้างขึ้น เพื่อให้เกิดผลตามเจตนารมณ์ทั้งสามประการ กลไกเหล่านี้จำเป็นและมีความสำคัญยิ่งก็จริงอยู่ เพราะเป็น "วิธีการ" ทำให้การเมืองไทยรับใช้พลเมืองไทยได้ดีที่สุด แต่ถึงจำเป็น ก็ไม่เพียงพอ เราคงยังต้องถามคำถาม ที่ลึกลงไปกว่า "กลไก" อันเป็นเพียง "วิธีการ" ในการปฏิรูปการเมืองว่าระบอบการเมืองไทยที่ได้ปฏิรูปแล้ว ได้สร้างความผาสุกอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้นแก่คนไทยส่วนใหญ่หรือยัง คำถามนี้ ไม่ใช่คำถามเชิงวิธีการอีกต่อไป แต่เป็นคำถามที่ต้องการวัดผลสัมฤทธิ์ของระบอบการเมืองหลังการปฏิรูปว่า ได้บรรลุ "เป้าหมาย" หลัก คือการสร้างความผาสุกอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้นแก่คนไทยทุกคน หรือส่วนใหญ่หรือยัง

          ถ้าคำตอบคือ ใช่ ก็แสดงว่าการปฏิรูปการเมืองได้บรรลุผลอย่างแท้จริง คือมีความสำเร็จทั้ง "เป้าหมาย" ของการปฏิรูปการเมืองและความสำเร็จในการใช้ "กลไก" อันเป็น "วิธีการ"

          แต่ถ้าคำตอบคือ ยัง ระบอบการเมืองภายหลังการปฏิรูปยังไม่บรรลุการทำให้คนส่วนใหญ่มีความผาสุกอย่างแท้จริง ก็แสดงว่าการปฏิรูปการเมืองยังไม่บรรลุผล เรา-ท่าน ก็คงจะต้องร่วมกันผลักดันกระบวนการนี้ต่อไป

          ในเรื่องนี้ ผมใคร่ขอยกสรุปสถานการณ์เศรษฐกิจสังคมในช่วง ๓ ทศวรรษที่ผ่านมา ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๘ ซึ่งมีความว่า

          "... ถึงแม้ว่าการพัฒนาประเทศจะบรรลุเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็ตาม แต่กิจกรรมและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจก็ยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รายได้ต่อหัวของคนไทยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศมาก โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีรายได้ต่อหัวต่ำที่สุดประมาณ ๑๒ เท่า กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด ๒๐ เปอร์เซ็นต์แรกมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๕๔ ในปี ๒๕๓๑ เป็นร้อยละ ๕๙ ในปี ๒๕๓๕ ในขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ต่ำสุดมีสัดส่วนรายได้ลดลงจากร้อยละ ๔.๖ ในปี ๒๕๓๑ เหลือเพียงร้อยละ ๓.๙ ในปี ๒๕๓๕ ช่องว่างระหว่างรายได้และโอกาสที่ได้รับจากผลของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตคนไทยส่วนใหญ่และการพัฒนาประเทศในระยะยาว ..."

          ท่านที่เคารพครับ

          การที่คนส่วนใหญ่ ในสังคมไทยยังยากจน ในขณะที่คนส่วนน้อยมีความเป็นอยู่ที่ดี จะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้หรือ? เพราะถ้าประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนจริง ประชาชนส่วนใหญ่ก็ย่อมต้องได้ประโยชน์จากการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมโดยระบอบการเมือง ไม่ใช่ประชาชนส่วนน้อยได้ประโยชน์เพราะคำว่า "ประชา-ชน" ในอมตวาจาของอับราฮัม ลินคอล์น ย่อมหมายถึงประชาชนทั้งหมด หรือส่วนใหญ่ ไม่ใช่คนส่วนน้อย

          ท่านผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่านครับ

          "ประชาธิปไตยทางการเมือง" เป็นเพียงวิธีการบริหารบ้านเมืองเพื่อให้เกิด "ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคม" อันเป็นความเท่าเทียมกันของประชาชนส่วนใหญ่ในโอกาสที่จะพัฒนา ความเป็นมนุษย์ได้เต็มศักยภาพ

          จะมีประโยชน์อันใดที่จะรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระ ในเมื่อคนจนที่ไร้การศึกษา พูดจาอะไรก็ไม่น่าฟังเท่าคนฐานะดี การศึกษาสูงอย่างท่านทั้งหลาย ณ ที่นี้ คนจนจึงมีสิทธิแต่ไม่มีเสียง ไม่มีเสียงเพราะเสียงของเขาไม่ดังพอที่สื่อมวลชนจะสนใจ ไม่ดังพอที่จะทำให้ผู้มีอำนาจให้ความสำคัญ

          ความจน ความไม่รู้ การไร้เสียง หรือเสียงไม่ดังพอ จึงควบคู่ไปกับสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรม-นูญรับรองไว้ แต่ก็เป็นเพียงสิทธิเสรีภาพในกฎหมายที่เป็นตัวหนังสือ ในขณะที่โอกาสที่จะใช้สิทธิ เสรีภาพเหล่านั้น คนจนมีน้อยกว่าคนมีฐานะดี ยิ่งกว่านั้นคนจนยังต้องพึ่งพาอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่น และนี่ก็จะเป็นที่มาของวัฒนธรรมอุปถัมภ์ในสังคมการเมืองไทย และวัฒนธรรมอุปถัมภ์ก็เป็นที่มาของการซื้อสิทธิ์-ขายเสียง อันทำลายความน่าเชื่อถือของประชาธิปไตยทางการเมือง ให้หมดความชอบธรรมลง

          การทำให้เกิดประชาธิปไตยโดยทางเศรษฐกิจและสังคมด้วยการยกระดับคนส่วนใหญ่ให้ลืมตา อ้าปาก มีทั้งสิทธิ และมีทั้งเสียงอย่างแท้จริง ไม่ต้องพึ่ง ไม่ต้องพิงใคร นอกจากตัวเราเอง จำต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม และเป็นเป้าหมายของประชาธิปไตยทางการเมือง และการปฏิรูปการเมือง

          ดังนั้นการที่สถาบันพระปกเกล้า กำหนดให้การประชุมวิชาการประจำปีหน้าเป็นเรื่อง “ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคม : คนจนกับการพัฒนาประชาธิปไตย” จึงเป็นการเหมาะสม อย่างยิ่ง เพราะนี่ก็คือ ทิศทางที่การปฏิรูปการเมืองควรจะต้องพยายามให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

          เมื่อเกิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคมขึ้นกับคนหมู่มากของบ้านเมืองแล้ว สิ่งนี้ก็จะหันกลับมาส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตยทางการเมือง ให้มีความยั่งยืนอย่างแท้จริง

          ท่านผู้มีเกียรติครับ

          เมื่อเราได้ประเมิน “เป้าหมาย” ของการเมือง หลังการปฏิรูปแล้วว่า ยังไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคมได้ และเรา-ท่าน มีหน้าที่ต้องช่วยกันผลักดันต่อไป

          เราน่าจะหันมาประเมิน “กลไก” อันเป็น “วิธีการ” ที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดขึ้นเพื่อการปฏิรูปการเมืองด้วย

          อันที่จริง ตลอด ๓ วันนี้ ท่านทั้งหลายก็ได้ประเมินแล้ว เสียงจากการประเมินในการประชุมวิชาการครั้งนี้ ส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่ตัวปัญหา ตรงกันข้าม ในภาพรวมแล้ว รัฐธรรมนูญนี้ดีที่สุดเท่าที่มีมา ๑๖ ฉบับ ตรงที่สร้างอำนาจให้พลเมือง มากกว่าการเพิ่มอำนาจให้นักการเมือง แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในระยะ ๕ ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นปัญหาการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่สมบูรณ์อยู่ ดังที่ผมได้เคยชี้ให้เห็นแล้วว่า ยังไม่มีกฎหมายสำคัญ ๆ อีกประมาณเกือบ ๒๐ ฉบับ มารองรับหลักการในรัฐธรรมนูญให้เกิดผลขึ้นอย่างจริงจัง

          ปัญหาบางส่วนเป็นปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก ปัญหาอีกจำนวนหนึ่งเป็นปัญหาทัศนคติของผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนเป็นปัญหาการใช้และการตีความรัฐธรรม-นูญหรือกฎหมาย อันเนื่องจากการขาดคุณสมบัติที่เหมาะสมของผู้ที่อยู่ในองค์กรที่ใช้ และตีความรัฐ-ธรรมนูญเหล่านั้น

          สิ่งเหล่านี้ อาจต้องแก้ไข ปรับเปลี่ยนตามวิถี และครรลองที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งสมควรกระทำโดยเร็วต่อไป

          แต่ที่น่าพิจารณาในวันนี้ก็คือ เริ่มมีเสียงมาจากองค์กรทางการเมือง ที่มีอำนาจริเริ่มการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในประเด็นต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อท่านเหล่านั้น อาทิเช่น การแก้มาตรา ๑๐๗ (๔) ที่ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ๙๐ วันเป็นอย่างน้อย จึงจะลงสมัครรับเลือกตั้งได้ หรือการแก้มาตรา ๑๐๗ (๓) ให้ผู้สมัครเป็น ส.ส. ไม่ต้องจบปริญญาตรีเป็นต้น

          คำถามที่เกิดขึ้น จึงมีว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมขอย้ำว่าอาจกระทำได้นั้น จะแก้ไขเรื่องใด? จะแก้ไขเพื่อใคร? และจะแก้ไขอย่างไร?

          ทั้งสามคำถามนี้ จะต้องมีคำตอบ

          สำหรับคำถามที่ว่า จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเรื่องใดนั้น มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับคำถามที่ว่า จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อใคร แต่ความจริงแล้ว ก่อนที่จะตอบคำถามว่า จะแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องใดนั้น ผู้คิดจะแก้ จะต้องทราบเจตนารมณ์ และความเป็นมาของกลไก หรือวิธีการต่าง ๆ ที่รัฐธรรมนูญร่างไว้ให้ครบถ้วนเสียก่อน แล้วจึงพิจารณาศึกษาว่า กลไกหรือวิธีการที่วางนั้น ก่อให้เกิดปัญหาแก่การปฏิรูปการเมืองหรือไม่ ถ้าก่อให้เกิดปัญหาแก่การปฏิรูปการเมือง เราก็ต้องปรับกลไกเหล่านั้น โดยการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ถ้ากลไกเหล่านั้นไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาแก่การปฏิรูปการเมือง แต่เป็นปัญหาสำหรับนักการเมือง ก็ต้องมาพิจารณาว่า ถ้าเช่นนั้น จะแก้หรือไม่? ถ้าแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเรื่องนั้น ๆ แล้ว ผลที่ตามมาคืออะไร?

          เช่น ถ้าจะแก้มาตรา ๑๐๗ (๔) ที่ต้องการให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง ถึง ๙๐ วัน ก็เพื่อป้องกันการ "ย้ายพรรค" ในระหว่างการประกาศให้มีการเลือกตั้ง ทั้งนี้เพื่อป้องกันการ "ประมูลตัว" ผู้สมัคร ซึ่งจะมีผลต่อเสถียรภาพของพรรคการเมืองประการหนึ่ง และจะมีผลโดยตรง ต่อระบบการซื้อเสียง ขายสิทธิของผู้สมัคร และพรรคการเมืองอีกประการหนึ่ง หากแก้ไขมาตรานี้ เปิดโอกาสให้สังกัดพรรคในเวลาที่สั้น ก็จะเกิดการ "ประมูลตัว" ผู้สมัคร และการ "ต่อรอง" ระหว่างผู้ถูกประมูลตัว กับพรรคการเมืองเดิมที่สังกัดอยู่ และพรรคการเมืองใหม่ที่มาประมูลตัว ซึ่งการต่อรองเหล่านี้ อาจไม่ได้อยู่ที่ผลประโยชน์ต่อประชาชน แต่อยู่ที่ผลประโยชน์ที่ผู้ถูกประมูลจะได้ การแก้ไขเช่นนี้ คงไม่ใช้เพื่อปฏิรูปการเมือง แต่เป็นการแก้เพื่อตอบสนองความต้องการของนักการเมือง

          ส่วนคำถามที่สองที่ว่า "แก้เพื่อใคร?" ก็ชัดแจ้งอยู่ในตัวเองว่า ถ้าการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น เป็นการแก้เพื่อ "พลเมืองทั้งหมดหรือส่วนใหญ่" อันเป็นหัวใจของการเมืองแล้ว ก็สมควรที่จะแก้ไขให้พล-เมืองได้ประโยชน์สูงสุด แต่ถ้าการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น เป็นไปเพื่อตัวแทนที่ประชาชนพลเมืองเลือกตั้งเข้าไป มิได้เป็นไปเพื่อตัวการหรือพลเมืองแล้ว การแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ก็ไม่ใช่การแก้ไขให้เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองที่ดีขึ้น แต่เป็นการแก้ปัญหาของนักการเมือง ซึ่งร้ายกว่านั้น อาจเป็นการแก้ไขให้ทำลายการปฏิรูปการเมืองเลยก็ได้

          ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพครับ

          ตอนที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี ๒๕๓๔ ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น ก็เนื่องมาจากแนวความคิดที่ว่า นักการเมืองผู้ถูกปฏิรูป ไม่อาจปฏิรูปตัวเองได้ เพราะมีส่วนได้เสียเอง ดังคำกล่าวของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ที่ว่า "จงอย่าให้ผู้รับเหมาเขียนสเป็กเอง" ด้วยเหตุนี้ จึงต้องให้สภาร่างรัฐธรรม-นูญ ซึ่งไม่มีส่วนได้เสียในฐานะนักการเมือง มาเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญ

          มาบัดนี้ เราจะให้ตัวแทนแก้กฎเกณฑ์เพื่อประโยชน์ของตัวแทนเอง โดยไม่ฟังเสียงตัวการ หรือประชาชนเลยหรือ?

          สำหรับคำถามสุดท้ายที่ว่า จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอย่างไร? นั้น คำตอบคงมีได้ ๒ นัย

          นัยแรก เป็นคำตอบตามตัวบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๑๓ ซึ่งให้อำนาจคณะรัฐมนตรี หรือ ส.ส. จำนวน ๑ ใน ๕ ของจำนวน ส.ส. ที่มีอยู่ หรือ ๑ ใน ๕ ของ ๕๐๐ คน หรือ ส.ส. และ ส.ว. ร่วมกัน จำนวน ๑ ใน ๕ ของจำนวน ส.ส. และ ส.ว. ทั้งหมด ๗๐๐ คน เป็นผู้เสนอขอแก้ไขเพิ่มเติม โดยให้รัฐสภาประชุมร่วมกัน และต้องใช้มติเกินครึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา ๗๐๐ คน ในวาระที่ ๑ และวาระที่ ๓ การแก้ไขเพิ่มเติมจึงกระทำได้

          นี่เป็นการตอบตามตัวบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญ

          นัยที่สอง เป็นคำตอบที่ไม่ได้เขียนไว้โดยตรงในรัฐธรรมนูญ แต่เกี่ยวด้วยความชอบธรรมทางการเมือง

          ท่านทั้งหลายคงจำได้ดีว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๕๓๙ ซึ่งก่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๑๑ เตรส วรรคสามว่า

          "ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ"

          มาตรานี้เองเป็นหลักให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง ไม่เคยมีมาก่อน จนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกขนานนามว่า "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน"

          แม้ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยืนยันว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญได้ "คำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ"

          เมื่อเป็นเช่นนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ก็จะต้องคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญเช่นเดียวกัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะประชาชนพลเมืองเป็นตัวการ เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยดังปรากฏตามความตอนต้นของมาตรา ๓ ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ..." ดังนั้น การแก้ไขกติกาสูงสุดในการบริหารสังคมรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับชะตา อนาคตของพลเมืองทุกคน ผู้แทนปวงชนที่แท้จริงย่อมต้องกลับไปถามตัวการ คือ ประชาชนซึ่งเลือกตนเข้ามา

          ท่านผู้มีเกียรติครับ

          การกลับไปถามประชาชนดีที่สุดนั้น ก็คือการใช้กระบวนการออกเสียงประชามติตามมาตรา ๒๑๔ ของรัฐธรรมนูญนั่นเอง เพื่อขอปรึกษาความเห็นของประชาชน ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาตรา ๒๑๔ กำหนดระยะเวลาไว้ให้ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สามารถแสดงความคิดเห็น ให้ประชาชนฟังได้โดยเท่าเทียมกัน ในระยะเวลาไม่น้องกว่า ๙๐ วัน และไม่เกิน ๑๒๐ วัน

          การขอประชามติซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๑๔ กำหนดให้มีผลเป็นเพียงการให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีก็จริง แต่น้ำหนักและความชอบธรรมที่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเห็นชอบด้วย ได้รับการยอมรับ และมีความมั่นคงเช่นเดียวกับตอนร่างรัฐ-ธรรมนูญ

          ความจริง ก่อนปี ๒๕๔๐ กลไกการใช้ประชามติในเรื่องสำคัญเช่นนี้ไม่มีกำหนดไว้แต่เมื่อมีกลไกนี้ปรากฏอยู่ในมาตรา ๒๑๔ ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว ประกอบกับ รัฐธรรมนูญมาตรา ๗๖ ก็กำหนดให้ "รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย การ ตัดสินใจทางการเมือง ..." ก็สมควรที่รัฐบาล และรัฐสภาจะใช้กลไกที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ในมาตรา ๒๑๔ ปรึกษาหารือประชาชนอย่างเป็นทางการ

          ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพครับ

          ผู้แทนที่แท้จริงของปวงชน ย่อมไม่รังเกียจปวงชนหรอกครับ ดังนั้น ผมเชื่อว่ารัฐสภาจะดำเนินการใด ๆ ต่อรัฐธรรมนูญ ก็ย่อมต้องคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ

          ท่านผู้เข้าสัมมนาทุกท่านครับ

          ๕ ปีแห่งความพยายามปฏิรูปการเมืองได้ผ่านไปแล้ว ๕ ปีนี้ เป็น ๕ ปี ที่สังคมไทยและคนไทย ได้เรียนรู้ และลิ้มรสของสองสิ่งที่ดูเหมือนจะสวนกัน กล่าวคือ คนไทยลิ้มลองความหวานของ เสรีภาพ และส่วนร่วมทางการเมืองที่เปิดขึ้นอย่างมากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็ได้ลิ้มรสความขมของวิกฤตทางเศรษฐกิจ

          บทสังเคราะห์ของประสบการณ์หวาน-ขม นี้ย่อมอยู่ที่ เรา-ท่าน จะกำหนดทิศทางของสังคมไทย และการเมืองไทยให้ก้าวไปทางใด สำหรับผมแล้ว คิดว่า การปฏิรูปการเมือง เพื่อให้ประชาธิปไตยทางการเมือง สามารถสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคม ให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง น่าจะเป็นบทสังเคราะห์ประสบการณ์หวาน-ขม ดังกล่าวให้กลายเป็นประสบการณ์หวาน-หวานได้ เมื่อเกิดประชาธิปไตยทางการเมือง และประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคมขึ้นอย่างแท้จริง และเมื่อนั้นแหละที่การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมจะรวมเป็นหนึ่งเดียวภายใต้คำว่า "ความยั่งยืนที่แท้จริง"

          ขอบคุณและสวัสดีครับ