รวมปาฐกถาภาษาไทย

แนวปาฐกถาพิเศษของ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี
เรื่อง “บทบาทภาคธุรกิจเอกชนกับปัญหาคอร์รัปชัน”
ในการเสวนาระหว่างภาคธุรกิจเอกชนและสำนักงานป.ป.ช.
วันจันทร์ที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๖
ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์

ท่านผู้มีเกียรติ

ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญให้มาพูดกับท่านผู้มีเกียรติในการเสวนาระหว่างภาคธุรกิจเอกชนกับคณะกรรมการและผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช. เรื่อง “บทบาทภาคธุรกิจเอกชนกับปัญหาคอร์รัปชัน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคคลซึ่งอยู่ในภาคธุรกิจเอกชนได้ให้ความสำคัญของปัญหาการทุจริตที่เป็นปัญหาระดับชาติ มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการพัฒนาประเทศ รวมทั้งเป็นการระดมความคิดเห็นในการร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจเอกชนเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอีกด้วย

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่จะหยิบยกมาพูดคุยกัน ด้วยภารกิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งถือกำเนิดมาจากรัฐธรรมนูญที่เราเรียกว่าฉบับประชาชนมุ่งเน้นในเรื่องของการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ พฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติของเจ้าหน้าที่ของรัฐ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการต่อต้านการทุจริต และการเสริมสร้างทัศนคติค่านิยมในความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งการเสวนาในวันนี้นับเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนในภาคธุรกิจเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นที่จะร่วมกันต่อต้านการทุจริตนั่นเอง

ท่านที่เคารพ ดังที่ผมได้เรียนไว้ตอนต้นแล้วว่า การทุจริตคอร์รัปชันเป็นภัยร้ายแรงต่อประเทศชาติและประชาชน ถ้าผู้ให้และผู้รับสมยอมซึ่งกันและกันย่อมเป็นการส่งเสริม สนับสนุน เหมือนมะเร็งร้ายที่ค่อย ๆ เพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นวัฒนธรรมไปในที่สุด แล้วถ้าปล่อยให้ลุกลามต่อไปจนยากที่จะเยียวยารักษาแล้ว ประเทศชาติบ้านเมืองของเราจะตกอยู่ในสถานะลำบาก ด้วยพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนบางกลุ่มที่คอยจ้องฉกฉวยแสวงหาโอกาสเอาประโยชน์ใส่ตน ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคน รวมกระทั่งรัฐบาล การคอร์รัปชันทำลายสิทธิที่พึงมี ความเสมอภาคหายไป ความยากจนเพิ่มขึ้น ความร่ำรวยตกอยู่กับกลุ่มคนที่มีอำนาจและโอกาส การใช้ทรัพยากรเบี่ยงเบน รายได้ลดแต่รายจ่ายกลับเพิ่ม สวนทางกับคุณภาพของชีวิตที่ตกต่ำลง การลงทุนทั้งภายในและข้ามชาติก็ลดลงเช่นกัน ที่น่าเศร้าใจหลายคนคิดว่าคอร์รัปชันเป็นเรื่องธรรมดา รับได้ สูญสิ้นทั้งคุณธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรม นับเป็นอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ต่อการพัฒนาคนและพัฒนาชาติ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยของเราไม่มีคอร์รัปชัน หรือปลอดคอร์รัปชัน เราต้องยอมรับสภาพความเป็นจริง และร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขปัญหาให้จงได้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนที่ดีมีความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่และอาชีพการงาน ให้ความสำคัญที่จะจัดการกับปัญหาคอร์รัปชัน ดังเช่นพวกท่านที่อยู่ในที่นี้ยังมีอีกมากมาย และนี่จะเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่จะผลักดันให้งานป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้เป็นอย่างดี ถ้าทุกคนคิดว่าเป็นเรื่องของเรา

เมื่อมีการจัดอันดับประเทศที่มีคอร์รัปชันมากที่สุด ประเทศไทยของเรามักจะอยู่ในอันดับต้น ๆ เกือบทุกครั้ง ปัญหานี้จะเกี่ยวโยงกับภาพลักษณ์ของประเทศโดยเฉพาะในเรื่องของความมั่นคงและความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ หนีไม่พ้นที่จะเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านธุรกิจการค้าที่จะต้องถดถอยตามไปด้วย การทำธุรกิจค้าขายสินค้าคุณภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่เพื่อให้คงซึ่งความอยู่รอดก็มีการวิ่งเต้น มีการเสนอคอมมิชชัน มีค่าน้ำร้อนน้ำชา ผลสุดท้ายมาบวกรวมเป็นราคาต้นทุนที่ผลักให้ผู้บริโภคคือประชาชนอย่างเราต้องซื้อสินค้าในราคาแพง ผมเชื่อว่าท่านที่ประกอบธุรกิจนอกจากเป็นผู้ประกอบการแล้วท่านก็เป็นผู้บริโภคด้วย แล้วพวกเราก็ตกอยู่ในวงจรน่ารังเกียจนี้ด้วยโดยปริยาย

อีกส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ก็คือ ความยุ่งยากสลับซับซ้อนของระบบราชการที่มีรูรั่วเปิดช่องโอกาสให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่เอื้ออำนวยให้ผู้สุจริตสะดวกในการติดต่อประสานงาน การอนุญาตหรือเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ดุลยพินิจให้ละเว้นการปฏิบัติตามระเบียบ แบบแผนของรัฐเพื่อลดต้นทุนการผลิต หรือจัดสรรทรัพยากร ผลประโยชน์ด้วยความไม่เป็นธรรม ตลอดจนสนับสนุนให้ประกอบธุรกิจที่ผิดกฎหมาย หากประสานผลประโยชน์ลงตัวระหว่างกันแล้ว คอร์รัปชันจะคงอยู่กับเราตลอดไป การทุจริตเป็นนิสัยทั้งฝ่ายผู้ให้และผู้รับ หากร่วมมือกันปิดกั้นผู้สุจริตที่ไม่มีผลประโยชน์ตอบแทนไม่ให้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก และคอยจ้องหาช่องว่างและโอกาสเพื่อเอารัดเอาเปรียบตักตวงผลประโยชน์โดยมิได้คำนึงว่าตัวเองจะเป็นผู้ที่ทำให้ระบบของสังคมเสียหายร้ายแรงอย่างไร ในไม่ช้าผู้ประกอบธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริตก็จะอยู่ในสภาพเสียเปรียบคู่แข่งขัน มิอาจทานกระแสอยู่ได้ จะพากันหมดกำลังใจ และจำนวนจะลดน้อยไปจากสังคม ผู้ทุจริตคือผู้ชนะ ชนะบนความพ่ายแพ้ของประชาชน และประเทศชาติ

สังคมไทยนอกจากไม่เข้มงวด เอาจริงเอาจัง อย่างตรงไปตรงมาแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้บังคับใช้กฎหมายยังหย่อนยานในเรื่องของการบังคับใช้ เลือกที่จะบังคับใช้กับผู้ใด เมื่อใดก็ได้ เพราะไม่มีการควบคุมตรวจสอบ จึงไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย ปัญหาเล็กน้อยที่เกิดขึ้นจากการกระทำผิดระเบียบวินัยมักจะถูกมองข้ามไปเป็นอย่างมาก จนเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา ก่อให้เกิดพฤติกรรมเคยชิน ผู้ที่อยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายไม่เกรงกลัว และเพิกเฉยที่จะปฏิบัติให้ถูกต้อง เพราะรู้ว่าสามารถทำให้เกิดการยกเว้น ไม่ใช้บังคับกับตนได้ ผลเสียหายที่ถูกสั่งสมมาเป็นเวลานานอาจทำให้ถึงจุดวิกฤติ และเมื่อนั้นประเทศชาติอาจย่อยยับไปได้ในที่สุด ด้วยกฎหมายอาจมีปัญหาหรือช่องว่างบ้าง อาจล้าสมัยไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบันบ้าง แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ตัวบุคคลที่มีอำนาจในการใช้กฎหมาย ซึ่งสามารถใช้ดุลยพินิจอย่างกว้างขวาง นอกจากไม่พัฒนาแล้วยังใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง รวมไปถึงวิธีและกระบวนการที่จะนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายก็ยังไม่โปร่งใสและชอบธรรม ที่จะนำไปสู่สังคมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่พึงประสงค์ด้วยส่วนลึกของจิตสำนึกที่รู้ผิดชอบชั่วดีได้ ระบบอุปถัมภ์ และระบบคุณธรรมที่พูดกันมาทุกยุคทุกสมัยยังคงมีการรักพี่เสียดายน้อง ลูบหน้าปะจมูกกันอยู่

ฉะนั้น ไม่ว่าจะด้วยระบบของราชการที่เอื้ออำนวยต่อการคอร์รัปชัน หรือการบังคับใช้กฎหมายที่เกิดจากตัวผู้ใช้กฎหมาย จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไข จำเป็นจะต้องมีบทลงโทษอย่างเด็ดขาดและจริงจัง จำเป็นที่สังคมจะต้องมีส่วนร่วมในการเฝ้ามอง บนพื้นฐานความเสมอภาคในสิทธิของมนุษยชน มีส่วนรับรู้และแสดงจุดยืนของความพอใจหรือไม่พอใจจากผลของการกระทำและโทษที่ได้รับ หวังเพียงแต่ว่าในอนาคต แนวโน้มที่ดีเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้น และได้รับการรณรงค์ให้ประชาชนได้รับรู้ ชักจูงกันไปในทางที่ถูกต้องดีงาม รวมพลังกันต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบและหันมายกย่องส่งเสริมผู้ประพฤติปฏิบัติชอบให้เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคมต่อไป

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผู้บริหารบ้านเมืองของเราในปัจจุบันจะประกาศตนเป็นศัตรูกับการคอร์รัปชัน ประกาศการกวาดล้างผู้มีอิทธิพล แต่เราก็ต้องยอมรับความจริงว่า คนที่คอร์รัปชัน คนที่มีอิทธิพลนั้น มีอยู่ในทุกฝ่ายของกลุ่มการเมือง รวมทั้งในฝ่ายรัฐบาลด้วย ดังนั้นการปราบปรามของรัฐบาล จะทำอย่างเสมอภาค จริงใจแค่ไหน อย่างไรนั้น การกระทำและเวลาจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่ารัฐบาลต้องการทำจริงหรือเพียงแค่หาเสียงหรือต้องการสลายพลังของฝ่ายตรงข้าม เพื่อความมั่นคงของตนเองเท่านั้น

ในส่วนของการเสวนาในวันนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งผมได้เรียนมาแล้ว ผมต้องขอร้องท่านผู้มีเกียรติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจเอกชน ให้ช่วยกันเสนอข้อคิดเห็นในการแก้ไขปัญหา เป็นหูเป็นตา ป้องกันในส่วนนี้ ถ้าปราศจากความร่วมมือของพี่น้องประชาชน และภาคธุรกิจเอกชนแล้ว ย่อมจะไม่สามารถขจัดปัญหาเหล่านี้ให้หมดสิ้นไปได้ นอกจากนี้บทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งของภาคธุรกิจเอกชนที่ประกอบการค้าขายสินค้าผลิตภัณฑ์ และการบริการ ย่อมจะต้องมีกิจกรรมส่งเสริมการขาย การทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ หากผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวคำนึงถึงการสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเสริมสร้างทัศนคติค่านิยมในเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม โดยเฉพาะในเรื่องของความซื่อสัตย์สุจริต สนับสนุนยกย่องคุณค่าของคนดี ก็จะเป็นการส่งเสริมให้สังคมของเรามุ่งไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง

การไม่สนับสนุนและไม่เข้าร่วมวงจรเลวร้ายของการทุจริต รวมทั้งการเป็นหูเป็นตา ชี้ช่องเบาะแส อาจจะถูกกลั่นแกล้งจากกลุ่มอิทธิพลอันจะเป็นผลสะท้อนในทางลบต่อกิจการธุรกิจการค้านั้น ดูเหมือนว่าเราต้องการผู้กล้าหาญเป็นอย่างยิ่ง กล้าที่จะยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง กล้าที่จะเป็นตัวแทนของสังคมโดยส่วนรวมที่จะจรรโลงประเทศชาติให้มั่นคงถาวร กล้าที่จะรักษาซึ่งแผ่นดินเกิดไว้ให้ลูกหลานได้อยู่อาศัย ผู้มีอิทธิพลจะยิ่งใหญ่สักเพียงใด ก็ไม่สามารถยืนอยู่ได้ ถ้าพลังประชาชนได้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวที่จะต่อต้านและต่อสู้ด้วยเหตุและผล

ผมยังเชื่อมั่นว่าปัญหาคอร์รัปชันนี้เกิดจากบุคคลบางกลุ่มเท่านั้นที่ยังไม่สามารถควบคุมความต้องการและความพอเพียงส่วนตนได้ ปัญหานี้จะต้องอาศัยคุณธรรมและจริยธรรมเข้ามาเป็นตัวกำหนดแนวทางในการดำเนินชีวิตควบคู่ไปด้วยอย่างเหนียวแน่น ต้องหยั่งรากลึงลงไปในบุคคลตั้งแต่แรกเกิด ในสถาบันครอบครัวและต่อเนื่องไปในสถาบันการศึกษา และสถาบันอาชีพการงานต่าง ๆ อย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยจะต้องถือเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติที่จะต้องดำเนินการอย่างชัดเจนและจริงจังให้ได้ผลเป็นรูปธรรม องค์กรของรัฐและเอกชนทุกภาคส่วน รวมทั้งองค์กรอิสระจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง อย่างน้อยอยากจะขอให้คำพูดที่มีมาอย่างยาวนานที่ว่า “ค่าน้ำร้อน น้ำชา” หรือ “รับใต้โต๊ะ” จะได้หมดไปจากสังคมไทยของเราเสียที

ในโอกาสสุดท้ายนี้ ผมขอให้กำลังใจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ยังเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่เหลือน้อยเต็มทีแล้ว ที่ยังคงทำงานอย่างเข้มแข็งเป็นอิสระ รักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของหลักการการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ และขอร้องท่านผู้มีเกียรติอีกครั้งว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องช่วยกันสกัดกั้นและต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ ทุกวิถีทาง ที่สามารถจะกระทำได้ และยึดมั่นในอุดมการณ์อย่างจริงจังทั้งภาครัฐคือผู้รับ และภาคธุรกิจเอกชนคือผู้ให้ได้ก็จะเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ถึงวันนี้ธุรกิจระดับชาติต้องการตลาดที่มีการแข่งขัน ประสิทธิภาพ คุณภาพสินค้า การบริการ และความจริงใจ ซื่อสัตย์ต่อกัน เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึง ถ้าทั้งสองผนวกกันไม่รับไม่ให้ คนจะรับไม่รับ คนจะให้ไม่ให้ ก็จะไม่มีรับไม่มีให้ ถ้าเราสามารถปลูกฝังให้เกิดในจิตใต้สำนึกของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และนักธุรกิจ ผมขอเรียนว่าการทุจริตคอร์รัปชันจะต้องลดน้อยลงอย่างแน่นอน