รวมปาฐกถาภาษาไทย

คำกล่าวต้อนรับและเปิดงานสัมมนา
เรื่อง การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน
ของ ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๗
ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน พัทยา จังหวัดชลบุรี

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขอต้อนรับทุกท่านด้วยความยินดี ขอให้ทุกท่าน ร่วมแสดงความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ สภาที่ปรึกษาฯพร้อมที่จะรับฟังทุกความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ โดยรวม ต่อชาติ และประชาชน เพราะสภาที่ปรึกษาฯ มิใช่องค์กร เพื่อต่อรองผลประโยชน์ของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลใด หน้าที่ของเรา ก็คือการสะท้อนปัญหาที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม และจัดทำ คำปรึกษาและข้อคิดเห็นเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรี หรือ รัฐบาลนำไป ประกอบ การพิจารณา กำหนดเป็นนโยบาย ในเรื่องที่จะกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม

บัดนี้ สภาที่ปรึกษาฯ ได้ดำเนินงานมาใกล้จะครบวาระ ๓ ปี ในวันที่ ๖ สิงหาคมนี้แล้ว ผลการดำเนินงานก็มีไม่น้อย เฉพาะที่ดำเนินการไปแล้วมีมากกว่า ๔๐ เรื่อง และอยู่ในระหว่างการ ดำเนินการ อีกไม่น้อยกว่า ๑๐ เรื่อง

ตามข้อเท็จจริงนั้น การเป็นที่ปรึกษาฯ ก็คือ การทำงานอยู่ เบื้องหลัง และการให้ความเห็น ก็ไม่จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเห็นชอบด้วยทุกอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องทำก็คือ นำข้อคิดเห็น ไปประกอบการพิจารณากำหนดนโยบาย และต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน

สภาที่ปรึกษาฯ แม้จะเป็นองค์กรใหม่ ที่เพิ่งมีเป็นครั้งแรก ในประเทศไทย แต่ก็เป็นองค์กร ที่รวมบุคคลที่มีความรู้ความสามารถหลายๆ ด้านไว้ในที่เดียวกัน ถึง ๙๙ คน ทั้งในภาคเศรษฐกิจ สังคม ฐานทรัพยากร และผู้ทรงคุณวุฒิ บุคคลเหล่านี้ มีความตั้งใจที่จะนำความรู้ความสามารถในสายอาชีพ ของตน ซึ่งสั่งสมมานาน เสนอข้อคิดเห็นต่อรัฐบาล ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน

บทบาทและการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาฯ ในระยะแรกเริ่มนี้ แม้จะขัดข้องไปบ้าง เหตุก็เพราะสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ มาจากหลากหลายอาชีพ ความคิดเห็นก็ย่อมจะแปลกแยกกันบ้าง คนละทาง สองทาง แต่ในท้ายที่สุด ความคิดเห็นของสภาที่ปรึกษาฯ โดยรวม จะต้องหลอมรวมกัน และเป็นประโยชน์ ต่อประเทศชาติและประชาชน ไม่ใช่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง

การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมีความสำคัญมาก มากจนกระทั่งถูกตราไว้ในมาตราที่ ๗๖ ของรัฐธรรมนูญ เพราะอะไร เพราะในอดีตนั้น ส่วนใหญ่รัฐเป็นผู้กำหนดนโยบายแต่เพียงฝ่ายเดียว ใช้หลักการวางแผนจากบนลงสู่ล่าง ไม่ใช่จากล่างขึ้นสู่บน ไม่ได้ทำการสำรวจตรวจตราความต้องการ ของประชาชนในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด แต่ละภาค แต่กำหนดนโยบายเหมือนกันทั้งประเทศ เหมือนกันทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด และทุกภาค แต่บัดนี้ทุกคน มีความเห็นเหมือนกันว่า การกำหนดนโยบายจะต้องให้ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะจะต้องวางแผนจากล่างขึ้นสู่บน

การเปลี่ยนแปลงทางความคิด และวิธีการทำงานในการวางแผนพัฒนาฯ ของสภาพัฒน์ ได้เริ่มให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในการวางแผน การพัฒนาประเทศ ที่หน่วยงานราชการตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องถามความเห็นภาคประชาชน ด้วยการจัดประชุม สัมมนา ในเวทีต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร

ในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด แต่ละภาค ความต้องการในการแก้ปัญหาอาจจะเหมือนกัน และอาจจะต่างกัน การกำหนดนโยบายหรือแผนงานต่างๆ จึงควรมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ในจังหวัด และในภาคนั้นๆ รัฐควรให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ มีแผนแม่บทเป็นของตนเอง โดย รัฐเป็นเพียง ผู้ให้ ให้ความรู้ ให้ข้อมูล ให้การสนับสนุนงบประมาณ และให้การสนับสนุน นักวิชาการ สนองความต้องการ ตามความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น

แล้วทำไม สภาที่ปรึกษาฯ จึงให้ความสำคัญต่อปัญหาเรื่อง การทุจริต หรือคอร์รัปชัน ทำไมไม่เป็นเรื่องนั้น ทำไมไม่เป็นเรื่องนี้ คำตอบไม่ยากครับ เพราะปัญหาเรื่องการทุจริตเป็นปัญหาสำคัญของชาติ เป็นปัญหาที่แก้ยาก มีอยู่ในทุกอณูของพื้นที่ ไม่ว่าจะในระดับรากหญ้า หรือในระดับประเทศ หากปล่อยไว้ ไม่รีบหาหนทางแก้ไข ไม่ช่วยกันป้องปราม ไม่ช่วยกันสอดส่องดูแล มันจะลุกลาม จนไม่มีทางแก้ไข เพราะคนทุกวันนี้ ห่างไกลคุณธรรม ห่างไกล ศีลธรรมจรรยา ยึดวัตถุนิยม และบริโภคนิยม

ตั้งแต่เด็ก ผมก็ได้ยินคำว่า คอร์รัปชันแล้ว คุณพ่อผมซึ่งรับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๖ ซึ่งเป็นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช เล่าให้ฟังว่า ในสมัยนั้นมีพระยาสองสามคนมีชื่อเสียงที่ไม่ดีเกี่ยวกับ การฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่จำเป็นต้องพูดถึงมีใบเสร็จหรือไม่มีใบเสร็จ และเมื่อเรื่องนี้ทราบถึงเบื้องพระยุคลบาท พระเจ้าอยู่หัวแค่แสดงอาการทรงกริ้วมากเท่านั้น พระยาสองสามคนนั้นจะอายจนมองหน้าใคร ไม่ติด จนมีคำติดปากว่า "อายเอาหน้าแทบซุกแผ่นดิน" อาการเช่นนี้เป็นค่านิยมของสังคมไทยในอดีต ซึ่งเป็นค่านิยมที่ดี เรียกว่า มีหิริโอตตัปปะ หรือ มีความละอายใจ เกรงกลัวต่อบาป

แต่ปัจจุบันเหตุการณ์ได้เปลี่ยนไป เมื่อพูดถึงการคอร์รัปชัน ก็มักจะอ้างหลักฐานที่เป็นใบเสร็จตาม กฏหมายว่า ถ้าไม่มีหลักฐาน ก็พิสูจน์ไม่ได้ว่า คอร์รัปชัน ผมถามหน่อยเถอะว่า คนฉลาด มีการศึกษาสูง ที่ตั้งใจโกงกินนั้น เขาจะสร้างหลักฐานให้เห็นให้จับได้หรือ? มันมีวิธีการมากมายที่เราพอจะรู้ หรือที่เราไม่รู้อีกมาก แต่มันก็คือการคอร์รัปชัน

แล้วอย่างไรล่ะ ที่เรียกว่า คอร์รัปชัน?

ผมเคยออกรายการทางโทรทัศน์ครั้งหนึ่ง เป็นรายการทางด้านการเมือง พิธีกรถามผมว่า การกินตามน้ำ ใช่คอร์รัปชันหรือไม่ ผมสะอึก แต่ผมเข้าใจว่า ผู้ถาม ถามด้วยความตั้งใจ ไม่ใช่ด้วยความไม่รู้คำตอบของผมก็คือ กินตามน้ำก็คอร์รัปชัน เหนือน้ำก็คอร์รัปชัน ใต้น้ำก็คอร์รัปชัน กินคอมมิชชัน ก็คอร์รัปชัน กินล่วงหน้าก็คอร์รัปชัน กินให้หลังก็คอร์รัปชันทั้งนั้น ผมจึงหวังว่า สังคมไทยจะไม่สงสัยในประเด็นนี้ แต่เข้าใจ และประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้อง

ผมถามตัวเองว่า หลักนิติธรรมหรือกฎหมายนั้น จะแก้ปัญหาเรื่องคอร์รัปชันได้หรือไม่ หรือ รัฐธรรมนูญ จะแก้ปัญหาทุกอย่างได้หรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่ได้ ผมว่ามันเป็นไปไม่ได้ ที่สังคมใดจะ แก้ปัญหาด้วยตัวบทกฎหมายเพียงอย่างเดียว แม้แต่ในประเทศที่เจริญแล้วก็เช่นกัน เพราะอะไร เพราะสังคมนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นกับปัจจัยอีกหลายประการ เราจึงต้องสร้างกลไกบางอย่างขึ้นมาเพื่อคานอำนาจ

การเรียกร้องและการให้สินบน การเบียดบังเงินหลวง ไม่ว่าจะทำคนเดียวหรือเป็นเครือข่าย ที่เรียกว่า กินเหนือน้ำ กินใต้น้ำ อันนี้ชัดเจนว่า เป็นคอร์รัปชันแน่นอน แต่สำหรับในกรณีที่คลุมเครือ กว่านั้น ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมดังนี้

สมมติว่า นาย ก. ชนะการประมูล โดยที่ผมไม่ได้ช่วยอะไรเลย ขาวสะอาดทุกอย่าง แต่เมื่อชนะแล้ว นาย ก. มีน้ำใจ เอาของขวัญมาให้ผม ถ้าของสิ่งนั้นเป็นของที่มีมูลค่าเล็กน้อย เช่น ปากกา ๑ ด้าม ก็อนุโลมได้ในสังคมไทย แต่ถ้าเป็นรถยนต์ หรือทองคำ หรือ บ้าน หรือตั๋วเครื่องบินไป-กลับยุโรป อเมริกา หรือที่อื่นๆไม่ได้แน่นอน อันนี้เป็นการให้ประโยชน์ ถึงแม้จะเป็นการให้ประโยชน์หลังเหตุการณ์ แต่จะผูกพันคนคนนั้นในการวินิจฉัย ในการพิจารณากรณีต่อๆ ไป ในอนาคตเราอาจจะพูดว่า เราไม่ได้ขอนี่ เขาเอามาให้เอง เรากิน ตามน้ำน่ะ กินแบบนี้ผิดแน่นอนครับ

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ แต่หลายคนยังไม่เข้าใจ เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย นั่นคือ ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือ Conflict of Interest

คำว่า Conflict of Interest ไม่มีคำแปลในภาษาไทยที่ชัดเจน จึงทำให้สงสัยอยู่เสมอว่า มัน คืออะไรกันแน่ แต่ผมจะพยายาม ขยายความให้ฟังดังนี้

Conflict of Interest คือ ความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์สาธารณะ

สมมติว่า วันนี้ ผมเป็นอธิบดี แต่วันรุ่งขึ้นเกษียณ ไปนั่งเป็นกรรมการบริษัทที่ผมเคยควบคุม อย่างนี้ไม่ได้ ไม่ว่า จะเป็นสุรา บุหรี่ บริษัทการเงิน จะเป็นหนึ่งวันหลังจากเกษียณหรือแม้แต่ ๒ เดือนหลังเกษียณ ก็ไปรับเป็นผู้จัดการบริษัทที่เคยควบคุมหรือเป็นประธาน อย่างนี้ไม่ได้

หรือสมมติว่า ผมรับราชการอยู่ มีหน้าที่อนุมัติแบบก่อสร้าง แต่เงินเดือน ไม่พอใช้ จึงไปเปิดบริษัท เป็นคนเขียนแบบที่ผมนั่นแหละเป็นคนอนุมัติ อย่างนี้ก็ไม่ได้ ซึ่งกรณีแบบนี้ใช้อยู่แพร่หลาย ในเทศบาลต่างๆ โดยเฉพาะใน กทม.

หรือผมรับราชการเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัท ห้างร้าน แต่ผมกลับมีกิจการของผม เป็นผู้ทำบัญชี สอบบัญชีให้กับบริษัทที่ผมต้องตรวจสอบเสียเอง อย่างนี้ก็ผิดเช่นเดียวกัน เพราะการมี ส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้การตัดสินใจไขว้เขว และมีอคติได้

หรือผมเป็นหัวหน้าตำรวจสถานีตำรวจ แล้วผมตั้งบริษัทรถเมล์ในตรอกในซอยที่เป็นอาณาเขตของผม หรือตั้งบริษัทดูแลความปลอดภัยของสถานที่ในเขตที่อยู่ภายใต้โรงพักนั้น อันนี้ก็ไม่ถูกอีก แต่ทุกกรณีที่ยกตัวอย่างขึ้นมานั้น เราคงจะต้องยอมรับความจริงว่า ไม่ใช่กรณีที่สมมติขึ้นในใจ แต่ เป็นตัวอย่างจากชีวิตจริง ที่ทำกันมาเป็นเวลาหลายปี และก็ยังทำกันอยู่ในปัจจุบัน

หัวใจของการขัดแย้งทางผลประโยชน์ จึงอยู่ตรงที่จะต้องรู้จักแยกแยะ เรื่องส่วนรวมออกจากเรื่องส่วนตัวให้ได้ และยังต้องไม่พาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เสี่ยงว่าผลประโยชน์ส่วนตัวจะเบี่ยงเบนการตัดสินใจ จะคิดแต่เพียงว่า เรามีความยุติธรรมเพียงพอ ใช้มาตรฐานจริยธรรมส่วนตนอย่างเดียวนั้นไม่ได้ ในทางตรงข้ามกลับจะต้องพาตัวเองออกให้ห่างจากสถานการณ์นั้นๆ ไม่ให้เกิดข้อครหาขึ้นได้กับเรา

การคอร์รัปชันนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในเรื่องของการคอร์รัปชันในทางการเงินอย่างเดียว อย่างเรื่องการรับสินบน การฉ้อราษฎร์บังหลวง การรับเงินใต้โต๊ะ แต่ยังหมายถึงความเสื่อมโทรมทาง คุณธรรม หรือไม่รับรู้เรื่องคุณธรรมและจริยธรรมในชีวิตของคนคนนั้น ไม่รู้ไม่สนใจว่า อะไรถูกอะไรผิด

การคอร์รัปชันเป็นเรื่องซับซ้อน และโยงใยกับผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคลหลายฝ่าย แพร่กระจายไปในแทบทุกส่วนของการดำรงชีวิต การแก้ปัญหาจึงต้องแก้อย่างเป็นองค์รวม ซึ่งผม ขอเสนอเป็นแนวทางไว้ สักห้าหกประการคือ

ประการแรก

เราต้องไม่มองปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน แยกส่วนออกจากปัญหาอื่นๆ ของระบบ การคอร์รัปชันเป็นเรื่องซับซ้อน เป็นบ่อเกิดและ เป็นแหล่งหมักหมมของปัญหาอื่นๆอีกมากมายก็จริง แต่ในขณะเดียวกัน การคอร์รัปชันก็เป็นภาวะสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพของระบบด้วย เราจึงต้องมองว่า ปัญหาการทุจริต ปัญหาความยากจน ปัญหาการศึกษา ปัญหาระบบการบริหารในภาคราชการ ปัญหาความไม่โปร่งใส ในการประกอบธุรกิจ หรือแม้แต่ปัญหาความไม่เข้มแข็งในภาคประชาสังคมเหล่านี้ ล้วนเป็นเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้ ในมุมมอง ของการแก้ปัญหาทุจริต จะต้องคำนึงถึงบริบทของปัญหาอื่นๆ ประกอบกันไปด้วย การแก้ปัญหาของระบบก็ต้องคำนึงถึงเงื่อนไข อิทธิพล และบทบาทการทุจริต คอร์รัปชัน ที่มีต่อสภาพปัญหานั้นๆ เราจึงจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างครบวงจร

ประการที่สอง

เราต้องมองว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นปัญหาหลายระดับ

ในระดับบุคคล ปราการด้านการทุจริตก็คือ จริยธรรม และคุณธรรม ประจำใจ อันนี้เป็นเรื่องของอุปนิสัย เป็นเรื่องของการอบรม การที่พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ เพื่อนฝูง และผู้ใหญ่ในสังคมทำให้ดูเป็น ตัวอย่าง เป็นผลผลิตของกระบวนการในระยะยาว

ในระดับสังคม เป็นเรื่องของการกำหนดลักษณะความสัมพันธ์ ซึ่งรวมถึง ค่านิยม ความเชื่อ และธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ด้วย ลักษณะความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่กำหนดได้ด้วยระบบความคิด และความเข้าใจ ดังนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาการทุจริต มาตรการเชิงสังคมอันดับแรกของผมคือ เราต้องทำให้คนในสังคมรู้เห็นตรงกันว่า การกระทำอย่างไรจัดว่าเป็นการคอร์รัปชัน อะไรไม่ใช่คอร์รัปชัน

ประการที่สาม

สังคมจะต้องสร้างกลไกของข้อมูลข่าวสารให้เกิดความโปร่งใส ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ และทันต่อสถานการณ์ได้ อาจมีข้อยกเว้นบ้างสำหรับความลับของทางราชการ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็ต้องกำหนดให้ชัดเจนและรู้โดยทั่วกัน ไม่ใช่ให้อยู่ในดุลยพินิจ ของเจ้าหน้าที่เพียงบางคน การเปิดเผยข้อมูล จะทำให้ทุจริตได้ยากขึ้น

นอกจากนั้น จะต้องสร้างกลไกให้ประชาชน ตั้งคำถามได้ ในกรณีที่ส่อแววการทุจริต พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารก็ดี การกำหนดให้รัฐบาลต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินก็ดี การเปิดเผยการประชุมสภาก็ดี หรือการเปิดเผยเงินบริจาคและรายชื่อผู้บริจาคให้กับพรรคการเมืองก็ดี กลไกเหล่านี้ล้วนกำหนดขึ้น เพื่อสร้างความโปร่งใสทั้งสิ้น

ประการที่สี่

สังคมต้องมีสื่อที่เป็นอิสระ ไม่คอร์รัปชัน ไม่รับเงินเป็นพวกของใคร คอลัมนิสต์ต้องมีความรับผิดชอบต่อทั้งผู้อ่านและผู้ที่ตกเป็นข่าว ข่าวที่เสนอต้องเป็นข้อเท็จจริงและเป็นธรรม แยกข้อเท็จจริงออกจากข้อคิดเห็น

ปัจจุบัน มีคนพูดถึงการนำเสนอข่าวแบบเจาะลึก หรือ Investigative Reporting กันมากว่า เป็นวิธีขุดคุ้ยการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การนำเสนอข่าวแบบเจาะลึก ต้องอาศัยทักษะและความชำนาญที่แตกต่างจากการนำเสนอข่าวทั่วไป เพราะเบาะแส ไม่ชอบมาพากลจะแฝงตัวอยู่ใน ข้อมูลต่างๆที่กระจัดกระจาย นักข่าวจึงต้องรู้จักจับแพะชนแกะให้ถูก

ประการที่ห้า

สังคมต้องสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้น เพราะสิ่งนี้ เป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง เพราะผู้ที่เสียผลประโยชน์ในท้ายที่สุดก็คือประชาชนนั่นเอง

แล้วประชาชนคือใครล่ะ ก็คือ คุณ คือผม คือเราทุกๆ คนนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ ชาวไร่ ชาวนา คือคนที่ถอดหมวกแล้วทุกคน เขาคือประชาชนที่อยู่ในสังคมนี้ ประชาชนต้องตื่นตัว ต้องกระตือรือร้นที่จะรับรู้ ตรวจสอบกระบวนการตัดสินใจในภาครัฐ ที่สงผลกระทบต่อชีวิตของเรา ต้องสนับสนุน การมีส่วนร่วมของคนอื่น ต้องสร้างภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง มีทัศนคติต่อส่วนรวม ที่ถูกต้อง ต้องมีคุณธรรม จริยธรรม อย่างที่กล่าวแล้วในตอนต้น สังคมต้องสร้างปัจจัยพื้นฐาน สร้างโอกาสทางการศึกษา และการดำรงชีวิตที่ดี การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน มิใช่เป็นวาระ ของรัฐบาลแต่เพียงผู้เดียว แต่ต้องเป็นวาระของประชาชน

ประการสุดท้าย

ต้องพัฒนาการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยทั้งในสาระ และกระบวนการ และต้องมีกลไก ที่เข้ากับหลักการของธรรมาภิบาล เรื่องนี้จะเห็นได้จากประเทศที่เจริญแล้วอย่างประเทศฟินแลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน หรือแคนนาดา ในทางตรงข้ามประเทศที่อยู่รั้งท้ายในเรื่องนี้ได้แก่ประเทศที่มักจะมีผู้นำที่เป็นเผด็จการ หรืออยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคม กลไกธรรมาภิบาลยังไม่เข้มแข็ง

ปัญหาคอร์รัปชั่นไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้ไขได้ภายในวันหรือสองวัน อาจต้องใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี หรือยี่สิบปี หรือมากกว่านั้น และก็ไม่ใช่จะแก้ไขได้ด้วยคนหรือสองคน แต่ต้องรวมพลังกัน ร่วมแรงร่วมใจกันทุกคน ในการสอดส่องดูแล และก็ไม่ควรย่อท้อด้วย เพราะถ้าปล่อยให้มันเกาะกินสังคมไทยไปเรื่อยๆ ไม่มีการคานอำนาจ ไม่ช่วยกันป้องปราม ไม่ช่วยแก้ไข ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป ผม ไม่อยากจะนึกถึงเลยครับ

กฎแห่งกรรม จะมีอยู่จริงหรือไม่ ผมไม่กล้ายืนยัน แล้วแต่ความเชื่อ ความศรัทธาของแต่ละคน และจะเร็วเหมือนติดจรวด อย่างที่ชอบพูดกันหรือเปล่า ผมก็ไม่แน่ใจ ผมก็ตอบไม่ได้อีก ที่แน่ๆก็คือ ทุกๆ คนต้องช่วยกันและช่วยกันอย่างจริงจัง และช่วยกันอย่างเป็นระบบด้วย

ผมขอทิ้งไว้แค่นี้ให้ท่านช่วยกันคิดต่อไป ท้ายที่สุดนี้ ผมขออวยพรให้การสัมมนาในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี มีความสมานฉันท์ และเอื้ออาทรต่อกันทุกฝ่าย

สวัสดี